จดหมายเหตุข่าวฯ ฉบับนี้เป็นฉบับประจำเดือนมีนาคม เดือนที่เมื่อ 77 ปีมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 (พ.ศ.2478 นับตามปฎิทินปัจจุบันสมัย) มาจากที่ประทับในประเทศอังกฤษ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้เริ่มอธิบายขยายความว่าเหตุใดผมจึงเห็นว่า วัตถุประสงค์ประการที่ 3 ของการเสด็จฯ ประพาสยุโรป คือ เพื่อตัดสินพระราชหฤทัยว่าจะทรงสละราชสมบัติหรือไม่
ในตอนที่แล้ว ผมได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยการสืบสาวให้เห็นว่า เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จฯประพาสประเทศต่างๆในยุโรปแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯจากสวิตเซอร์แลนด์ถึงกรุงปารีสเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2477 และประทับอยู่ที่นั่นอย่างน้อยถึงวันที่ 20 กันยายน 2477 ส่วนที่ว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 3 สัปดาห์นั้น ทรงประกอบพระราชกิจใดไม่ปรากฏรายละเอียด แต่มีพระราชกิจหนึ่งที่สำคัญ ดังจะได้ไขให้ทราบ ณ บัดนี้
ในวันที่ 26 กันยายน พระยาราชวังสัน(ศรี กมลนาวิน)อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ได้มีจดหมายถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ที่กรุงเทพฯ โดยทางไปรษณีย์อากาศ อ้างถึงการที่ได้เฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่หลายครั้ง และถึงการที่เมื่อวันที่ 20 เขาได้รับพระราชทานพระราชบันทึกสองฉบับพร้อมกัน เนื้อหาเป็นการทรงเปิดการเจรจากับรัฐบาลว่ามีเงื่อนไขใดบ้างที่ต้องพระราชประสงค์จะให้รัฐบาลตอบสนอง หากไม่ต้องการให้ทรงสละราชสมบัติ[1]
พระยาราชวังสันนั้นเพิ่งจะได้เดินทางไปรับตำแหน่ง ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2477 ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ โรงแรมพาลาศ เมืองเบอร์เกนสต้อคก์ ที่ประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ [2]นับเป็นคนไทยนอกขบวนเสด็จฯ ส่วนพระองค์คนเดียวที่ปรากฏว่าได้เฝ้าฯที่ประเทศนั้น (นอกจาก
ข้าราชการสถานทูตจากปารีสที่ไปเพียงแต่รับเสด็จฯ)เขาเคยเป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งมหาจักรี จึงเป็นผู้ที่ทรงรู้จักดีพอสมควร แต่ข้อสำคัญสำหรับช่วงนั้นก็คือ นอกจากจะพึ่งไปรับตำแหน่งอัครราชทูตแล้ว เขายังเป็นพี่ชายของหลวงสินธุ์สงครามชัย(สินธุ์ กมลนาวิน)หัวหน้าฝ่ายทหารเรือของคณะราษฎร พระยาราชวังสันเขียนไว้ในจดหมายข้างต้นว่า “ผมเองกราบบังคมทูลขอให้พระองค์ท่านใช้ผมเป็นคนกลางสำหรับพูดจาเรื่องนี้”[1]
เหตุการณ์ครั้งนั้น จึงนับเป็นครั้งแรกที่การสละราชสมบัติ มีเค้าว่า อาจเกิดขึ้นจริงได้ แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีพระราชดำริเรื่องนี้ ครั้งแรกเป็นเมื่อใด ผมต้องพาท่านผู้อ่านกลับมาที่กรุงเทพฯ
ต้นเรื่องพระราชดำริ
เท่าที่ทราบ ครั้งแรกที่ทรงแสดงพระราชดำริ คือเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2475 หกวันที่หลังจากคณะราษฎรได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้รับสั่งแก่ผู้แทนรัฐบาลใหม่และคณะราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ ในวังศุโขทัย ความโดยสรุปจาก “บันทึกลับ” ของเจ้าพระยามหิธร(ลออ ไกรฤกษ์)ราชเลขาธิการเกี่ยวกับการเฝ้าครั้งนั้น[1]ว่าทรงมีพระราชปณิธานมาตั้งแต่ทรงรับราชสมบัติแล้วว่า “เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยาม” แต่แล้วด้วยเหตุต่างๆยังมิได้พระราชทาน จนกระทั่งคณะราษฎรได้ยึดอำนาจพระองค์จึง “เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทำความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก” อีกทั้งเมื่อได้ทรงฟังและทอดพระเนตรประกาศของคณะราษฎร “ที่กล่าวหาร้ายกาจมากมาย อันไม่ใช่ความจริงเลย” แล้ว “ไม่อยากจะรับเป็นพระมหากษัตริย์” แต่โดยทรงมีพระราชปณิธานอันแรงกล้า “เหมือนเทวดาสั่ง” ดังกล่าวแล้ว “จึงจะทรงอยู่ต่อไปจนรัฐบาลใหม่เป็นปึกแผ่น เมื่อถึงเวลาจะทรงลาออกจากกษัตริย์”
เหตุที่ทรงจะลาออกนั้น วิเคราะห์จากพระราชดำรัสได้ว่า ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า พระเกียรติยศของพระองค์เองได้เสื่อมลงแล้ว จึงควรที่จะทรงถอนพระองค์เองจากพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ เพื่อที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะมีโอกาสดำรงเกียรติยศที่จำเป็นในฐานะสถาบันประมุขในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งในระบอบนั้น พระมหากษัตริย์กับรัฐบาลต้องพึ่งพาอาศัยกัน นอกจากนั้นทรงตระหนักตั้งแต่ช่วงนั้นแล้วว่าเป็นการยากที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปได้โดยราบรื่น เพราะประวัติศาสตร์โลกชี้ให้เห็นได้โดย
ชัดเจนว่า ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ที่จะทรงดำรงตำแหน่งอยู่ได้ตลอดไป...”[1] ดังที่ทรงเล่าไว้เองในหนึ่งในพระราชบันทึกสองฉบับที่พระราชทานพระยาราชวังสันพร้อมกันเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2477 ดังกล่าวถึงแล้วข้างต้น
ดังนั้นในช่วงท้ายของการเข้าเฝ้าฯ ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงได้รับสั่งตอบคำกราบบังคมทูลให้ทรงงดการสละราชสมบัติไว้ก่อน ดังนี้
“จะดูก่อน ไม่ทราบอาการแห่งพระเนตรจะทุพพลภาพเพียงไร เพราะการผ่าตัดพระเนตร(ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2474 – ผู้เขียน)ไม่ได้ผลสมคาด ถึงไม่มีเหตุเรื่องเปลี่ยนการปกครอง ก็ได้ทรงพระราชดำริที่จะลาออก การต่อไปไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพระเนตรดีและแสดงให้เห็นว่าคณราษฎรไม่ทำให้พระองค์เสื่อมความนิยม ก็อาจจะอยู่ต่อไป ในชั้นนี้ขอแบ่งรับแบ่งสู้ไว้ก่อน”[2](ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
สรุปได้ว่า จะทรงสละราชสมบัติหรือไม่ประการใด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการ คือ หนึ่ง อาการแห่งพระเนตร และ สอง คณะราษฎรจะทำให้เพราะองค์เสื่อมความนิยม(อีก)ในภายหน้าหรือไม่
ต้นเรื่องแห่งพระราชดำรินี้ จำเป็นต้องนำมาประกอบเป็นบริบทระยะยาวของการที่ได้ทรงสละราชสมบัติจริงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ซึ่งหากติดตามเหตุการณ์หลังเดือนมิถุนายน พ.ศ.2475ก็จะเข้าใจเรื่องราวจาก “มุมมอง” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ดีขึ้น
ในการนี้พึงชูประเด็นให้เห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญคือ การที่สยามจะมีการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในการนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องสามารถดำรงเกียรติยศไว้ได้ จึงจะเป็น “เกียรติยศงดงามแก่ชาติ” ดังนั้นในวันดังกล่าว จึงได้ทรงมีพระราชปุจฉาไว้ด้วยว่า เมื่อเขียนประกาศดังนั่นแล้ว “ทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic (สาธารณรัฐ – ผู้เขียน) เสียทีเดียว”[3] ทิ้งไว้ให้ผู้แทนคณะราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ อยู่หน้าพระพักตร์ได้ถามใจตนเอง แต่ก็เป็นการทรงแสดงอยู่ในทีด้วยว่า ไม่ทรงมั่นในพระราชหฤทัยว่าความประสงค์ของเขาคือ Constitutional Monarchy จริงหรือไม่ จึงต้องมีพระพิริยะอุตสาหะเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป เผื่อจะทรงสามารถช่วยอำนวยให้ Constitutional Monarchy เกิดมีขึ้นจริงในสยาม ดังพระราชปณิธานที่ทรงมีมาแต่ต้นรัชกาล ทั้งๆที่ทรงตระหนักดีว่าโอกาสที่พระองค์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปมีไม่มาก ก็ตามอนึ่งการที่ทรงมีพระราชปณิธานเช่นนี้ก็เพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ ซึ่งย่อมไม่แปลกแต่อย่างได ในเมื่อพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยการสืบราชสันตติวงศ์ จึงทรงมีหน้าที่รักษาสถาบันนั้นไว้
ทั้งนี้ Constitutional Monarchy ในโลกยุครัชกาลที่ 7 และแม้ในปัจจุบันนี้ เป็นระบอบประชาธิปไตยประเภทหนึ่ง หรือแบรนด์ (Brand)หนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะตรงที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่เหมือนกับระบอบประชาธิปไตยประเภทอื่นๆ ที่เป็นแบบสาธารณรัฐ(Republic) และมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ไม่ว่าเขาจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วยหรือไม่ก็ตาม
ผมขอจบบทความตอนนี้ลงด้วยข้อความจากหนังสือ The Monarchy and the Constitution ของ Vernon Bogdanor นักวิชาการชาวอังกฤษที่ว่า “ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดทั้งสอง(สถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย – ผู้เขียน) ได้รับการแก้ไขโดยความคิดเกี่ยวกับระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ(Convention)ชุดหนึ่ง ซึ่งจำกัดพระวิจารณญาณของกษัตริย์ไว้เพื่อให้การกระทำที่เป็นเชิงสาธารณะ(Public Acts) ของพระองค์แท้จริงแล้วเป็นการกระทำของบรรดารัฐมนตรี...หลักการที่ว่ากษัตริย์พึงต้องกระทำบนฐานของคำปรึกษาที่รัฐมนตรีถวายนั้น ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่ว่า บรรดารัฐมนตรีเองกระทำภายในกรอบและฐานคติของการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ”[4](เน้นข้อความโดยผู้เขียน)
พึ่งสังเกตว่า เขาใช้คำว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติ” คือสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นปกติวิสัยไม่ใช่ “กฎหมาย” กับคำว่า “ระบอบรัฐธรรมนูญ” อันเป็นหลักการไม่ใช่ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นกฎหมาย จำไว้ให้ขึ้นใจ จะได้เข้าใจว่าทำไมสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นหลังเดือนมิถุนายน พ.ศ.2475 จึงได้นำไปสู่การสละราชสมบัติ.
[1] “บันทึกลับ” ของพระยามหิธร สำเนา ต้นฉบับลงนามโดยเจ้าพระยามหิธร ตีพิมพ์เต็มฉบับใน สนธิ เตชานันท์ ผู้รวบรวม. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า. 2545 (พิมพ์ครั้งที่ 4). หน้า 314 – 232.
ก
[1] “พระราชบันทึก 1”และ “พระราชบันทึก 2” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2536. หน้า 8 – 14 (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 9 - 13).
[2] จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ.2476 – 2477 ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. มปท. 2526. หน้า 292. เข้าใจว่าอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ดูแลสวิตเซอร์แลนด์ด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น