คราวที่แล้วได้กล่าวถึงว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชดำริเรื่องการสละราชสมบัติไว้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2475 และเมื่อมีผู้ทัดทาน ได้ทรงแบ่งรับแบ่งสู้ โดยรับสั่งว่า ขึ้นอยู่กับว่าอาการของพระเนตรจะเป็นอย่างไร และว่าคณะราษฎรจะทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในพระองค์(อีก)หรือไม่
คราวนี้เรามาดูกันว่าต้องทรงคิดคำนึงถึงเรื่องนี้อีกเมื่อใดบ้าง โดยผมขอแบ่งเป็น 3 กาลด้วยกันโดยเรียกว่า เหตุการณ์สมมติ ก่อนเกิดเหตุการณ์สมมติ และหลังเกิดเหตุการณ์สมมติ ตามลำดับ[1] ซึ่งจะนำเรากลับไปที่การเสด็จฯประพาสยุโรป
เหตุการณ์สมมติ
ในช่วงที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” คณะอนุกรรมการร่างฯของสภาผู้แทนราษฎรดำริจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในประเด็นนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย โดยรับสั่งว่าได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานตั้งพระราชหฤทัยแต่ครั้งที่ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ซึ่งเป็นตามราชประเพณี ย่อมเท่ากับว่าพระองค์และพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปต้องรักษารัฐธรรมนูญ [2]
ในเรื่องนี้ต่อมาอีกหลายสิบปี นายปรีดี พนมยงค์ เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อรับสั่งเช่นนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา
หัวหน้าคณะราษฏร กราบบังคมทูลถามในรายละเอียด จึงรับสั่งตอบว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย พระยาพหลฯกราบบังคมทูลต่อไปว่า “คณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไป จะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมาแล้วจะทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าฯอย่างไร รับสั่งว่าพระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏ... ถ้าพวกนั้นยังบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติ...” [3] (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)
หากเป็นจริงตามนี้ ก็เป็น “เหตุการณ์สมมติ”ที่ได้นำมาซึ่งการทรงแสดงพระราชดำริเรื่องการสละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง
รัฐธรรมนูญที่ “พระราชทาน”เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475นั้นเป็นอย่างไร ผมจะขอข้ามไปในบทความนี้ [4] ขอชี้ให้เห็นแต่เพียงว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะไม่ได้ “พอพระราชหฤทัยมาก” ดังที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาอ้างไว้ หากแต่ทรงตกอยู่ในสภาพที่ต้องทรงปล่อยให้หลายประเด็นผ่านไป เพื่อที่ระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญจะได้มีโอกาสวิวัฒน์ต่อไป สมดังที่ทรงมีพระราชปณิธานมาตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว ดังความในพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษพระราชทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ไม่นานหลังวันที่ 10 ธันวาคม ว่า
“ถ้าฉันได้ให้รัฐธรรมนูญ บรรดาผู้ที่ต้องการอำนาจ และได้อำนาจมาแล้วในเวลานี้ ก็จะยังคงอยู่นอกสังเวียน (left in the cold) และอาจจะได้เกิดการก่อกวน (agitation) ร้ายแรงเพื่อให้มีสาธารณรัฐ (republic)และการลุกฮือ(rising)แบบที่แย่กว่าที่เป็นก็ได้” [5]
ต่อไปนี้จะนำเสนออย่างค่อนข้างรวบรัดว่าอะไรบ้างที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผู้ซึ่งผมขอเสนอว่า ทรงถือว่านอกเหนือจาก “พระราชอำนาจ”ซึ่งทรงมีอยู่จริงอย่างน้อยนิดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้ว พระองค์ยังทรงมีสิ่งที่กษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของอังกฤษมีโดยธรรมเนียมปฏิบัติ (convention) กล่าวคือ “พระราชสิทธิสามประการ” (The trinity of rights) ที่จะรับปรึกษาหารือ ให้คำแนะนำ/กำลังใจ และเตือนสติ ผู้ที่มีอำนาจจริงในทางการปกครอง ทั้งนี้ ในขณะที่บัดนั้นสยามมีรัฐธรรมนูญแบบกฎหมายบัญญัติ ซึ่งมิได้ระบุพระราชสิทธิเหล่านั้นไว้ และนี่เองเป็นความเข้าใจที่แตกต่างกันระหว่างพระองค์กับคณะราษฎร อันนำมาซึ่งความขัดแย้งกันโดยต่อเนื่อง เป็นความขัดแย้งของการที่ไม่ได้ทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ว่า “ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ” นั้น คือ อย่างไร
ก่อนเกิดเหตุการณ์สมมติ
หลังวัน “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ประเด็นปัญหาสองอย่างผสมผสานกันเป็นความขัดแย้งซับซ้อนซ่อนเงื่อน คือ การห้ามไม่ให้มีพรรคการเมืองกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) ในทั้งสองเรื่อง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีได้ใช้คำทรงแนะนำที่พระราชทานแก่เขาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ฝ่ายเขามีความได้เปรียบในคณะรัฐมนตรี ผลเป็นความแตกแยกกันเองในคณะรัฐมนตรีและในหมู่ผู้นำคณะราษฏร แต่ที่สำคัญทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง และทรงถูกตั้งข้อสงสัยว่าทรงลำเอียงทางการเมืองรายละเอียดเป็นอย่างไร กรุณาศึกษากันเอาเอง [6]
ผมขอตั้งข้อสังเกตแต่เพียงว่า ในบทพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นได้ทรงไว้ชัดเจนด้วยว่า “เป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ซึ่งจะเป็นการถูกต้องหรือไม่นั้นก็เป็นแต่ความคิดของข้าพเจ้าเท่านั้น” และการที่ทรงวิจารณ์อย่างแข็งขันนั้น น่าจะเป็นเพราะทรงเห็นว่าประเด็นทางการเมืองได้กลายเป็นประเด็นทางการชาติ ซึ่งองค์พระประมุขของชาติจะต้องทรงทำอะไรบางอย่าง ดังที่ได้ทรงสรุปว่า เค้าโครงการฯ “แทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติบ้านเมืองดังกล่าวนั้น จะกลายเป็นสิ่งนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จนกลายเป็นความหายนะถึงแก่ความพินาศแห่งประเทศและชาติบ้านเมือง อันเป็นมรดกที่เราคนไทยได้รับมาแต่บรรพบุรุษ” และทรงแนะนำให้ทำการลงประชามติอย่างเป็นอิสระเสียก่อน หากจะประกาศใช้ [7] ด้วยในขณะนั้นยังไม่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ต่อมา สืบเนื่องจากความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีและคณะราษฎรในเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 (อันเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ตามวิถีเดิม) รัฐบาลพระยามโนฯ โดยเสียงข้างมากของคณะรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯถวายพระราชกฤษฎีกา “ปิดสภา” และพักการใช้รัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้องไว้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทางอ้อมสู่กึ่งหนึ่งของสภา ยังผลให้รัฐบาลทำหน้าที่นิติบัญญัติกับหน้าที่บริหารพร้อมกันไปเป็นการชั่วคราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ และโดยมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยุบสภารองรับ แต่ก็ได้ทรงตกเป็นที่คลางแคลงใจว่าทรงเข้าข้างพระยามโนฯ แม้โดยรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเอง
จากนั้น “สี่ทหารเสือ” ผู้นำฝ่ายทหารรุ่นผู้ใหญ่ในคณะราษฎร ได้เล่นเกมชิงไหวชิงพริบชิงอำนาจกันเอง โดยใช้วิธีการยื่นใบลาออกจากราชการทหารและคณะรัฐมนตรีพร้อมกัน เป็นการบีบพระยามโนฯและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้มอบความได้เปรียบแก่ฝ่ายตน และเมื่อทรงทำตามคำกราบบังคมทูลแนะนำของพระยามโนฯผู้ได้ตั้งนายทหารคนอื่นเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองแทนทันที ก็ได้ยังความไม่พอใจถึงขีดสุดแก่พระยาพหลฯ หนึ่งใน “สี่ทหารเสือ”
สัปดาห์ถัดมาในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯโดยกองกำลังทหารนำโดยหลวงพิบูลสงคราม (ต่อมา คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ซึ่งพระยามโนฯเข้าใจผิดว่าเป็นฝ่ายตน ได้ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนฯ แล้วเปิดสภาออกพระราชบัญญัติย้อนหลังยกเลิกการ “ปิดสภา”โดยให้เหตุผลว่าพระราชกฤษฎีกา “ปิดสภา”นั้น “มิได้อาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ซึ่งทำให้เสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ” [8] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตกอยู่ในภาวะที่ต้องทรงยอมต่อการรัฐประหาร ซึ่งจะว่าไปเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และทรงยอมตามคำกราบบังคมทูลแนะนำของพระยาพหลฯ ผู้ซึ่งบัดนั้นทรงอำนาจการปกครอง ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยให้พระราชบัญญัตินั้นมีผลใช้บังคับ
พระยาพหลฯยังได้วางหมากให้ทรงไม่มีทางเลือกอีกครั้ง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกฯรักษาการ โดยอ้างว่าเขาไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกในขณะเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ในการนั้นพระยาพหลฯกำลังอ้างอยู่ในทีถึงการที่รัฐบาลพระยามโนฯได้ออกคำสั่งห้ามทหารเป็นสมาชิกพรรคกับการเมืองในคราวที่มีประเด็นการตั้งพรรคการเมือง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงตกอยู่ในภาวะที่ต้องทรงยอมให้พระยาพหลฯผู้ทรงอำนาจที่แท้จริง ควบสองอำนาจต่อไป โดยไม่อาจทรงอ้างถึงหลักการที่ว่าในระบอบรัฐธรรมนูญ ทหารประจำการไม่พึงมีตำแหน่งทางการเมือง
เห็นได้ชัดว่า ในช่วงแรกของการทดลองใช้ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญนั้น การจะหาความพอดีระหว่างการทรงใช้ “พระราชสิทธิ”และ “พระราชอำนาจ”กับการปฎิบัติหน้าที่ถวายคำแนะนำและพิจารณาคำทรงแนะนำของผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้นไม่ง่ายเลย ผู้นำทางการปกครองทั้งหลายต่างก็คาดหวังให้พระมหากษัตริย์ทรงมอบสิ่งที่ตนต้องการแก่ตน เท่ากับว่าเขาถือว่าทรงอยู่ “ใต้”รัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ร่าง มิน่าเล่าจึงปรากฏรายงานว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้รับสั่งในภายหลัง ก่อนเสด็จฯประพาสยุโรปเพียง 2 สัปดาห์ ว่า
“ที่อังกฤษเขามีคำกล่าวว่า พระราชาไม่อาจทำอะไรผิด แต่ในสยาม ดูเหมือนว่าพระราชาไม่อาจทำอะไรถูกต้องเลย”
ในทางการปกครองตามอำเภอพระทัย แต่ทรงทำโดยมีคำแนะนำจากรัฐมนตรี ผู้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำนั้น
พระราชาจึงไม่ต้องทรงรับผิดชอบ จึงกล่าวได้ว่าไม่อาจทำอะไรผิด - ผู้เขียน)
จากนั้นพระยาพหลฯ ได้กรุยทางให้หลวงประดิษฐ์ฯ (ซึ่งได้เดินทางไป “ดูงาน” ในต่างประเทศในช่วงที่มีความขัดแย้งคุกรุ่นเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ)ได้เดินทางกลับมา ด้วยการล้างข้อหาที่ รัฐบาลมโนฯ ตั้งว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อพระยาพหลฯกราบบังคมทูลขอพระราชทานความเห็นพ้อง คราวนี้รับสั่งว่าไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของพระองค์แต่เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี
จึงมาถึงวาระที่สาม (เท่าที่เราทราบ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพินิจเรื่องการสละราชสมบัติ โดยในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานนายเจมส์ แบ็กซเตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษาการคลังชาวต่างประเทศของรัฐบาลสยาม ความว่า “มีสัญญาณอยู่มากมายว่า คณะราษฎรจะไม่ให้ความสนใจแก่ความเห็นหรือความปรารถนาของข้าพเจ้าแม้แต่น้อยนิด” และหลังจากที่ได้ทรงวิเคราะห์สถานการณ์และท่าทีของฝ่ายต่างๆทางการเมืองอย่างละเอียดแล้ว ทรงสรุปว่า “ไม่มีทางหันหลังกลับไป(สู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงเห็น “เป็นความบ้าคลั่งดีๆนี่เอง”) จะต้องรวบรวมความพยายามทุกประการไปที่การทำให้รัฐธรรมนูญใช้การได้” [10]
ทรงไว้ด้วยว่า ความอ่อนแอที่สำคัญที่สุดของพวกนิยมเจ้า (The Royalists) ก็คือการไม่มีผู้นำ เพราะผู้นำตามธรรมชาติของเขาคือเจ้านาย แต่เจ้านายจะทำการนำไม่ได้ เพราะหากทำ ย่อมเป็นจุดจบของสถาบันพระมหากษัตริย์ (สอดคล้องกับที่ทรงเห็นด้วยกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่าพระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง)
นอกจากนั้น ยังทรงเล่าว่า “พระมหากษัตริย์มีอิทธิพล (influence) ต่อมโนฯบ้างและได้ใช้อิทธิพลนั้นอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะฟังเสมอไป เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อิทธิพลของพระองค์ย่อมเป็นได้แต่ในทางลบ รัฐบาลปัจจุบันไม่ขอและไม่ได้ตั้งใจจะรับฟังคำแนะนำของพระองค์ ในการที่พระมหากษัตริย์จะสามารถใช้อิทธิพลเชิงลบของพระองค์ พระองค์จะต้องมีความเป็นอิสระระดับหนึ่งที่จะกระทำการ พระองค์จะต้องไม่วางพระองค์อยู่ในสภาพที่จะถูกบังคับได้โดยง่าย อาวุธที่แข็งแรงที่สุดของพระองค์คือการขู่ว่าจะสละราชสมบัติ ซึ่งได้ใช้มาแล้วหลายครั้ง (แต่) จะได้ผลจริงก็ต่อเมื่อมีโอกาสที่จะทำสิ่งที่ขู่จริงๆ ซึ่งก็คือจะต้องไปอยู่ในที่ซึ่งปลอดภัยและเฝ้ามองสถานการณ์จากที่นั่น” (เน้นข้อความโดยผู้เขียน และพึงสังเกตว่าทรงใช้คำว่า “The King” ไม่ใช่คำว่า “I”)
ในคราวหน้าจะได้เล่าถึงพระราชปรารภ เรื่องการสละราชสมบัติ ซึ่งมีขึ้นก่อนเสด็จฯประพาสยุโปเล็กน้อย และเป็นในช่วง “หลังเกิดเหตุการณ์สมมติ” คาดว่าจะเป็นตอนสุดท้ายของการพิจารณาวัตถุประสงค์ของการเสด็จฯประพาสยุโรป
เชิงอรรถ
1. ผมได้วิเคราะห์ไว้ละเอียดกว่านี้ใน Prudhisan Jumbala, “Prajadhipok : The King at the Transition to Constitutional Monarcly in Siam” in Suchit Bunbongkarn (ed.) The Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand, Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University,2012(forthcoming).
2. อ้างในชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฎิวัติ 2475,กทม : มูลนิธิโครงการตำราฯ, 2547, หน้า 208.
3. อ้างใน เพิ่งอ้าง หน้า309.
4. เช่น นอกจากศึกษาจากตัวรัฐธรรมนูญแล้ว อาจศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง Kobkua Suwannathat-Pian, Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development 1932-2000, London and New York : RoutledgeCurzon,2003,pp.33-45 กับ ชาญวิทย์ และธำรงศักดิ์ อ้างแล้ว,บทที่ 2.
5. Chula Chakrabongse, Prince, Lords of Life; A History of the Kings of Thailand, Bangkok : DD Books,1980,p.316.
6. เช่นจากชาญวิทย์ และธำรงศักดิ์ อ้างแล้ว หน้า 349-386. แต่ก็โดยมีทัศนวิจารณ์.
7. พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” ในนายสุจินดา (นามแฝง ของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์) พระปก เกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย, กทม: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2519, หน้า 493 และ 497.
8. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 50 หน้า 395.
9. เอกสารจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศ F.O. 371/18206 ในภาคผนวกของวัลย์วิภา จรูญโรจน์, ม.ล. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ,กทม: สถาบันพระปกเกล้า, 2548, หน้า 193.
10. F.O. 371/17176 ใน เพิ่งอ้าง หน้า 198-202.
[ พช./ ร7.เสด็จยุโรป 4/ กทม 2555 ]
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น