ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๗ ถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต




                                                                                     สวนไกลกังวล

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๕     (พระราชหัตถเลขาฉบับนี้รัชกาลที่ ๗ ทรงเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕
                                        แล้วประมาณ ๘ เดือน เพราะยังนับเดือนเมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้น มี.ค.ยังใช้พ.ศ.เดิม)


ถึงลูกที่รัก                            ( หมายถึงพระโอรสบุญธรรม คือ พระองค์จิรศักดิ์สุประภาต  )

อาทิตย์นี้ฉันไม่ได้หนังสือจากเล็กอีกเปนอาทิตย์ที่ ๒ คงเปนเพราะเมล์แต่ก็เจ้ากรรมที่สุดที่มักจะยุ่งอย่างนี้  พร้อมกับเวลาที่ฉันไม่สบายที่สุดเสมอ  หนังสือฉบับก่อนที่เขียนไปนั้น  เล็กอาจเห็นว่าฉันตื่นอะไรต่างๆ  ไม่เปนเรื่อง  แล้วก็ไม่มีเหตุยุ่งอะไร  เพราะว่ากว่าหนังสือจะไปถึงเล็กเรื่องจะมีหรือไม่มีก็แล้วไปแล้ว  อย่างไรก็ดี  พวกเราอยู่กันที่นี่กลัวกันจริงๆ  และตกใจกันจริงๆด้วย  เราทุกคนรู้ไม่ได้เลยว่าจะถูกเชือดคอเมื่อไร  เสียวกันอยู่เสมอ  พอมีลืออะไรกันทีหนึ่งก็ตกใจกันแทบตาย  เพราะจะไม่เชื่อเสียงลือก็ไม่ได้  เข็ดจากคราวก่อนที่ไม่เชื่อกัน  แล้วก็เกิดขึ้นจริงๆ  เวลานี้มีเสียงลืออะไรก็ต้องเชื่อหมด ฉันเองก็เชื่อแน่ว่าความยุ่งยากในเมืองไทยจะต้องมีต่อไปอีกอย่างน้อย ๒๐ ปี  เพราะอะไรๆมันยุ่งๆไปหมด  ไม่มีใครไว้ใจกันหมดทั้งเมืองไทย  เวลานี้เปนนรกแท้ๆ


ข่าวลือหลังนี้ที่น่าเชื่อถือก็มีมาก  และที่เหลวก็มี  เสียงลือที่มีมาก็ว่าจะจับฉันเซ็นอะไรต่างๆในงานฉัตรมงคล  เช่นเซ็นให้คณะราษฎรเป็น dictator  ถึงกับเตรียม cabinet ไว้แล้วด้วยซ้ำ  เสียงลืออันนี้จึงน่าเชื่อมาก  และพวกคณะราษฎรก็กลัวพวกคณะชาติจะลุกขึ้นเล่นอะไรเต็มทีแล้ว  นอกจากนี้ว่าจะให้ฉันยกพระคลังข้างที่ให้แก่ชาติให้หมด  แล้วให้ abdicate  เขาจะประกาศเปน  republic และจะจับพวกเจ้าและฉันขังไว้เปนตัวประกัน  บางทีเสียงก็ว่าจะจับพวกเจ้าฆ่าให้หมด  ซึ่งเห็นจะพูดมากไป  เพราะถ้าทำดังนั้นฝรั่งก็เข้ามาแน่  พวกเจ้ากลัวกันมากเลยหนีจากกรุงเทพเปนจำนวนมาก ข้าราชการที่หนีไปก็มีบ้าง  เสียงลือคราวนี้น่าเชื่อถือมากเพราะพระยาพหล   ราชวังสัน  พระยาฤทธี ก็ไปเสียจากกรุงเทพทั้งนั้น  เลยพากันว่าหนี  เพราะไม่เห็นด้วยกับอีกพวก  แต่ก็ไม่กล้าจะคัดค้าน  เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วมาพระยามโนลงมาที่นี่ ก็ว่าไม่ม่เรื่องอะไรเลย  อะไรๆก็เรียบร้อยหมด  แกว่าเหตุที่เกิดลือกันมากมายนี้ มีอยู่นิดเดียวดคือเวลานี้  เขากำลังพิจารณา economic policy  กันอยู่เปนรูป five year plan แบบบอลเชวิกทีเดียว  การประชุมเรื่องนี้  พระยาราชวังสันนัดประชุมอนุกรรมการที่กระทรวงกลาโหม  ที่จริงไม่มีใครเห็นด้วยเลย  พระยามโนก็มาออดจะให้ฉันกลับกรุงเทพให้ได้  ตามที่เราเดากันไว้แล้ว  และออกจาก threaten  เอาด้วยว่าถ้าไม่กลับจะลาออก  เพราะคนจะหมดความเชื่อถือในรัฐบาล  ฉันเกี่ยงว่าให้แกจัดการให้คนสำคัญบางคนในคณะราษฎรลงมาเฝ้าฉันที่นี่จะได้หมดสงสัย  และให้เรียกพระยาพหลและพระยาราชวังสันกลับเสียด้วย  แกก็ออกจะอึดอัดแต่ก็รับว่าจะไปลองดูเราเดากันว่าคงไปจัดคนสำคัญนั้นลงมานี่ไม่ได้  เพราะกลัวถูกยิงตายกลางทาง  ถ้าเปนเช่นนั้น  ฉันก็จะไม่ไปเหมือนกัน  เพราะที่จริง unfair  เหลือเกินที่จะให้ฉัน risk อะไรทุกอย่าง  บอกป่วยก็ไม่ได้  บางคนบอกป่วยได้ บางคนกลัวตายได้ 


พวกเขา รักชาติ เขาก็หาอำนาจใส่ตัว   หาเงินเข้ากระเป๋า  ส่วนฉันนั้นถ้า รักชาติ ต้องปล่อยอำนาจให้หมด  ต้องยอมเปน slave และต้องยอมลดรายได้  และมีเงินเท่าไรก็ต้องให้เขาหมด  ดูมันเปน square deal เลยไม่ไหวจริงๆ เมื่อแย่งอำนาจเอาไปแล้วก็ควรไปรักษาเอาไว้ให้ได้  ทำไมต้องมาคอยร้องให้เราช่วยบังคับให้คนไทยเปนบ่าว  ฉันฉุนเหลือเกิน  อยากเล่นบ้าอะไรต่างๆ จัง  แต่ยังกลัวนิดหน่อยว่าพวกเจ้าจะถูกเชือดคอหมดเท่านั้นเอง  แต่การที่คนจะทน sacrifice อะไรต่างๆนั้นมันมี  limit พอ  ถ้าข่มขี่กันนัก  ก็เห็นจะต้องเล่นบ้าเอาจริงสักที  เวลานี้ฉันไม่สบาย  อีกหน่อยก็ตายเปนแน่        ฉันผอมเหลือแต่กระดูก  น้ำหนักลดตั้ง ๔ kilo และนอนไม่หลับกินไม่ได้เลย  ที่กรุงเทพเขาพยายามทำเปนว่าเงียบเรียบร้อยไม่มีเรื่องอะไรเลย  เช่นมีการปล่อยทหารออกเที่ยว  และเลิกการเล่นรถเปนกลกลางคืน เปนต้น แต่การเงียบอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีเรื่องอะไรเลย  วันที่ ๑๑ เดือนนี้เรือรบฝรั่งเศสจะเข้าเยี่ยมเมืองไทยจะอยู่ราว ๓ วัน  บางคนเห็นว่าถ้าเรากลับไปกรุงเทพเวลานั้นจะไม่มีอันตราย  แต่เราก็กลัวกันอยู่บ้างว่าจะหา excuse อะไรต่างๆมา  พูดไม่ให้เรากลับจนกว่าเขาจะพร้อมที่จะทำอะไรกัน  ซึ่งนัยว่าจะทำก่อนเรือรบฝรั่งเศสมาหรือทำเมื่อกลับไปแล้ว  การที่เขาจะทำอะไรสำเร็จได้ดีหรือไม่นั้น  ข้อสำคัญมันต้องอยู่ที่จับตัวฉันเปนประกันได้หรือไม่  เราได้ข่าวว่าเขาจะส่งคนลงมาที่หัวหิน  ผ่อนลงมาเปน tourist  ทีละน้อย  เพราะเวลานี้ก็เปนน่าฮาลีเดแล้ว  ความจริงเวลานี้ก็มีคนมากขึ้นเอาจริงๆด้วย  แต่ก็ไม่ทราบว่าใครเปนใคร   แต่ที่เปน spy แน่ๆ ๒ คน  นอกจากนี้เขาส่งนายทหารเรือ ๒ คน  ทหารบก ๑ คน  และพลทหาร ๒ คน  ลงไปทางใต้ว่าจะไปสุไหงโกลกเลยสงขลาลงไป  และพวกหีบไม้โตๆลงไปด้วย ๖ หีบ  เราสงสัยกันว่าอาจเปนดินระเบิดสำหรับระเบิดทางรถไฟกันไม่ให้เราหนีได้หรืออาจจะเปนปืนและลูกกระสุนก็เปนได้  ฉันถามพระยามโนเรื่องนี้  ออกจะทำหน้าตื่นหน่อยๆ   แล้วบอกว่าบางคนในคณะราษฎรเขาส่งคนของเขาลงไป  สำหรับแก้ในการที่พวกคณะราษฎรไป lecture ผิดๆเอาไว้  ตอบนี้โกหกแน่ๆเพราะทราบจากวิบุลย์ว่า พระยามโนบอกเขาว่าส่งปืนลงไปให้พวกคณะราษฏรทางใต้เพื่อจะป้องกันไม่ให้มีเหตุยุ่งอะไรขึ้นได้  ที่จริงเราเคยรู้กันทีหนึ่งแล้วว่า  พวกปัตตานีไม่พอใจในการเปลี่ยนแปลงคราวนี้เลย  อาจเปนเรื่องนี้ก็ได้  และ at the same time เลยกันไม่ให้เราหนีได้ด้วย  การที่ฉันเชื่อว่าเวลานี้อาจจะมี plot อะไรจริงๆนั้น  เพราะมีเหตุว่าคณะราษฎรกำลังคลอนเต็มที  และคนเกลียดมากขึ้นทุกวัน  มีคนคิดจะล้มอยู่มาก  ที่เปนอย่างนี้ทำให้ฉันนึกว่าเขาคงอยากจะจับตัวฉันเปนตัวประกันแล้วจะปราบพวกคณะชาติ  เราอยู่ที่นี่ก็คิดแปลนอะไรกันต่างๆ  จนหัวยุ่งเสมอ  แต่เรื่องแปลนเหล่านี้  จะไม่เล่าเพราะกลัวถูกเปิดหนังสือแต่อย่างไรก็ดี  เราจะพยายาม give a damned good fight ก่อนยอมให้ถูกจับง่ายๆ  ฉันรู้สึกว่า crisis คราวนี้จะเปนคราวที่สุดในชีวิตของฉัน   ถ้ามันเรียบร้อยไม่มีอะไรจริงๆก็เห็นจะเงียบไปได้นาน  แต่ถ้าเกิดเรื่องยุ่งขึ้นก็อาจตายเลยหรือหนีไปได้  แต่น่าจะไม่เปน King อยู่ต่อไปเปนแน่  คนทุกคนดูรู้สึกว่าจะต้องมี crisis อะไรก่อนสิ้นปีนี้  และถ้ามี election เรียบร้อยก็อาจหมดยุ่งกันไปคราว ๑


กว่าหนังสือจะไปถึงเล็ก  เรื่องมันคงเสร็จกันไปแล้วเล็กอาจเห็นฉันพูดมากไป  ตื่นมากไปก็ได้  หรือจะได้รับเมื่อฉันตายแล้วก็เปนได้เหมือนกัน  ถ้าฉันต้องตายในคราวนี้  ฉันอยากขอให้เล็กทำอะไรสักอย่าง คือ  ต่อไปถ้าเล็กมีลูกขอให้ใช้นามสกุลว่า ศักดิเดชน์   ซึ่งเปนชื่อของฉัน  และจะเติมเข้ากับ ภาณุพันธุ์ ก็ได้  แต่ฉันอยากให้มันมีติดอยู่ว่า เล็กเปนลูกของฉันจะทำให้สบายใจมาก  เสียใจที่เรื่องสนุกไม่มีเสียเลย  เพราะเรากำลัง gloomy กันจัง  นั่งมึน  และขรึมกันโดยมาก  เพราะ คอย !  คอย !   คอย ! วันตาย  เมื่อถึงเวลา fight จริงๆ สบายกว่ามาก   


                                                                                                                             คิดถึงเหลือเกิน
                                   จากพ่อ
                                   ประชาธิปก


                                                                                                                                                                                        


                                                                                                                               


(หมายเหตุ คัดมาจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงมณี สิริวรสาร)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...