ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

รัชกาลที่ 7 เสด็จฯยุโรป พ.ศ.2476 – 2477(5) : เพื่อตัดสินพระทัยว่าจะสละราชสมบัติหรือไม่


ขอบคุณบทความจาก ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล


             คราวที่แล้ว ผมได้เล่าว่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2476 หลังจากที่ได้มีการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนฯแล้วพระยาพหลฯได้เป็นนายกรัฐมนตรีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานนายเจมส์แม็กซเตอร์ว่า ต้องพระราชประสงค์จะเสด็จฯไปให้ไกลเพื่อจะทรงมีความเป็นอิสระเพียงพอที่จะทรงใช้การขู่ว่าจะสละราชสมบัติเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาลและคณะราษฎร ให้เข้าสู่ระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญแบบที่ทรงเข้าพระราชหฤทัย

เมื่อเหตุการณ์สมมติได้เกิดขึ้น

         สองเดือนต่อมา ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 “เหตุการณ์สมมติ” ของพระยาพหลฯได้อุบัติขึ้น ทหารหัวเมืองเช่นจากนครราชสีมาได้ยกพลมาประชิดพระนครที่ทุ่งดอนเมือง ยื่นคำขาดให้รัฐบาลพระยาพหลฯลาออก ด้วยเหตุที่ไม่ได้ทำตามนโยบายที่แถลงไว้ว่าจะต่อต้านคอมมิวนิสต์และได้ปล่อยให้มีผู้หมิ่นพระเกียรติยศ การณ์ปรากฏว่า มีเจ้านายในพระราชวงศ์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงแสดงองค์เป็นผู้นำกองกำลังพระวรวงศ์เธอพระองค์นั้นทรงเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ได้ทรงลาออกตั้งแต่ พ.ศ.2474 เพราะไม่พอพระทัยที่งบประมาณของทหารถูกปรับลด

           การที่พระองค์เจ้าบวรเดชทรงเป็นผู้นำกองกำลังเช่นนั้นนับเป็นการฝืนสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงปรามไว้ ไม่ให้เจ้านายพระองค์ใดมีส่วนในการกระทำการต่อต้านรัฐบาล ด้วยเหตุที่ว่า นั่นย่อมนำความหายนะมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะเป็นที่เข้าใจว่าเป็นความพยายามหวนกลับสู่ระบอบการปกครองเดิม

           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงตกอยู่ในภาวะคับขันยิ่ง ทางฝ่ายรัฐบาลได้ทำการต่อสู้และประกาศย้ำว่าตนเป็น “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการสื่อว่า รัฐบาลคาดหวังว่าพระองค์จะทรง สนับสนุนรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชก็ได้สื่อให้บรรดาทหารฝ่ายตนเข้าใจว่าพวกเขากำลังรบเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมีความคาดหวังเช่นกันว่าพระองค์จะทรงเข้าข้างฝ่ายตน

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงวางพระองค์ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งกำลังรบกันอยู่ โดยยังคงประทับอยู่ต่อไปที่หัวหิน ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยยิ่งที่มีการสู้รบระหว่างไทยกันเองจนยังความสูญเสียแก่ทั้งสองฝ่าย และในเมื่อต่างฝ่ายต่างประกาศว่าจงรักภักดีต่อพระองค์ พระองค์จึงได้ทรงเสนอพระองค์เองเป็น “คนกลาง” ในการเจรจาสงบศึก แต่ไม่มีฝ่ายใดตอบสนอง ต่อมาฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบในสนามรบและกำลังส่งเรือรบไปรับเสด็จฯกลับพระนคร อีกทั้งมีการเคลื่อนกำลังพลที่เพชรบุรีใกล้ที่ประทับ ในวาระนั้น องค์ประชาธิปกราชันได้เสด็จฯจากหัวหินสู่สงขลาด้วยเรือเล็กกลางดึก ใช้เวลา 2½ วัน จึงเสด็จถึงที่หมาย

            ครั้นวันที่ 23 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้ปราบปรามกบฏสำเร็จ พระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จฯ ลี้ภัยไป อินโดจีนของฝรั่งเศส รัฐบาลจับกุมคุมขังกบฏได้ 600 กว่าคนและในต้นเดือนพฤศจิกายนได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476 ขึ้นเพื่อจัดการกับผู้ที่กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า “ได้กระทำการด้วยประการใดๆเป็นปฏิปักษ์ ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยมหรือหวาดหวั่นต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” ด้วยการส่งเรื่องให้คณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนวินิจฉัยเสร็จสรรพในตนเอง โดยไม่ให้มีการอุทธรณ์ฎีกา นับเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กระบวนการยุติธรรมและศาลยุติธรรมปกติ และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

            เมื่อได้มีการเลือกตั้งทางอ้อมสู่กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯโดยเรือเดินสมุทรของเอกชนคืนสู่พระนครเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมาชิกสภาฯประเภทที่ 2 ตามรายนามที่รัฐบาลถวายตรงตามจำนวน โดยมิได้เปิดโอกาสให้ได้พระราชทานคำแนะนำแต่อย่างใด แล้วทรงประกอบพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรในวันรุ่งขึ้น จากนั้นสภาฯ ได้คัดเลือกให้พระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

หลังเกิดเหตุการณ์สมมติ

จึงถึงอีกวาระหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯรับสั่งถึงการเสด็จฯไปยังสถานที่ห่างไกล

            วันที่ 26 ธันวาคม รัฐบาลได้อนุญาตให้ เซอร์อาร์. ฮอลแลนด์ (Sir R. Holland)และนายเจมส์แบ็กซเตอร์ (คนเดิม)ที่ปรึกษาชาวอังกฤษเข้าเฝ้าฯ ในโอกาสนั้นได้ทรงอธิบายบทบาทของพระองค์ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาพระราชทาน ความตามบันทึกที่ฝรั่งรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ1 โดยสรุปว่า พระองค์ได้ตัดสินพระราชหฤทัยไม่เข้ากับฝ่ายใดในช่วงนั้น เพราะนั่นย่อมเป็นการที่พระองค์ทรง “ลงมาสู่เวทีการเมือง” และ “อาจนำอันตรายมาสู่ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้” อีกทั้งจะทรงอยู่ในฐานะเบี้ยของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตามที่สามารถควบคุมพระองค์ไว้ได้ จึงได้ทรงเสนอพระองค์เป็น “คนกลาง” อำนวยให้เกิดการเจรจากัน แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่แยแส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าเขามีทางชนะในสนามรบ และฝ่ายกบฏก็โกธรเคืองพระองค์ที่ไม่เข้าข้างและพวกเขาจึงแพ้ เป็นอันว่าไม่ว่าพระองค์จะทรงทำหรือไม่ทำอะไร พระองค์ก็ไม่มีทางทำถูกอยู่ดี ส่วนการเสด็จฯไปสงขลานั้น ทรงยอมรับว่าเป็นไปอย่างปัจจุบันทันด่วนในภาวะคับขัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดูจะได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทรงทำถูกต้องแล้ว ผู้คนเริ่มเชื่อว่าพระองค์ “ไม่เห็นด้วยโดยเด็ดขาดกับความพยายามใดๆที่จะกลับไปสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นใหม่”

           วิเคราะห์ได้ว่า ในการทรงเสนอพระองค์เองเป็น “คนกลาง” พระองค์ได้ทรงเลือกที่จะเน้นสาระของบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญแทนที่จะทรงแสดงความสนับสนุนรัฐบาลพระยาพหลฯโดนอัตโนมัติตามนัยแห่งตัวรัฐธรรมนูญ และในการเสด็จฯไปสงขลา องค์ประชาธิปก ได้ทรงนำองค์พระมหากษัตริย์ไปไกลและเป็นต่างหากจากความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง เท่าที่จะทรงทำได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ทำหน้าที่ในระบอบรัฐธรรมนูญ กระนั้นก็ตามพระองค์ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งมองจากแง่มุมของตนเองว่าไม่ทรงเข้าข้างตน

           ฝรั่งรายงานต่อไปว่า รับสั่งว่าการเลือกตั้งดูจะได้จัดอย่างยุติธรรมพอใช้และส.ส.เลือกตั้งส่วนใหญ่ดูจะไม่มีความคิดสุดขั้ว จึงน่าจะคานอิทธิพลของหลวงประดิษฐ์ฯฯได้บ้าง ในขณะที่ฝ่ายทหารในคณะราษฎรเองก็อาจยังระแวงหลวงประดิษฐ์ฯ อีกทั้งทุกฝ่ายดูจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ยังเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของรัฐธรรมนูญ หากแต่ประเด็นสำคัญที่จะบ่งบอกอนาคตก็คือ อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ต้องหากบฏ พระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำให้ลดโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทษประหารชีวิตซึ่งต่างประเทศจะรับไม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนจากรัฐบาล จึงทรงเกรงว่าจะมีความเคียดแค้นชิงชังและการล้างแค้นกันจนเสียเลือดเนื้อยิ่งขึ้นไปอีก พระองค์จึงจะเสด็จฯออกไปต่างประเทศสักพักหนึ่ง เพราะหากประทับอยู่ในประเทศก็ยากที่จะทรงหลีกเลี่ยงการที่พระนามจะถูกอ้างโดยผู้ที่คบคิดกันต่อต้านรัฐบาล การเสด็จฯไปน่าจะเป็นโอกาสให้สถานการณ์ผ่อนคลายลง ทรงยอมรับว่า สองปีที่ผ่านมาพระองค์เคร่งเครียดมาก และอย่างไรเสียก็ต้องเสด็จฯไปผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตร ซึ่งแพทย์แนะนำให้ทรงพักผ่อนประมาณสองเดือนก่อนหน้า

          แม้ว่าจะไม่ได้รับสั่งเรื่องการสละราชสมบัติในคราวนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะการเข้าเฝ้าฯนั้นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้อนุญาตมีทางทราบข้อมูลการสนทนา แต่ก็พออนุมานได้ว่า เหตุผลที่ได้แสดงในพระราชหัตเลขาเมื่อเดือนสิงหาคมพระราชทานนายแบ็กซเตอร์ ซึ่งเข้าเฝ้าฯอยู่ด้วยในคราวนี้ น่าจะยังคงมีอยู่ในพระราชหฤทัย

        สองสัปดาห์กว่าๆหลังจากนั้น คือเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2476 (นับศักราชตามเดิม)พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สู่ทวีปยุโรป

       เป็นอันจบการต่อรูปต่อ(jigsaw puzzle)ของผมให้เห็นว่าการเสด็จฯยุโรปนั้นมีวัตถุประสงค์ประการที่ 3 คือเพื่อตัดสินพระราชหฤทัยว่าจะทรงสละราชสมบัติหรือไม่ อยู่ด้วย แต่เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์ค้าง ผมขอเสนอบทวิเคราะห์อย่างรวบรัดว่าเป็นอย่างไรจึงได้ทรงสละราชสมบัติจริงๆ

         วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเปิดฉากการเจรจากับรัฐบาลที่กรุงเทพฯถึงเงื่อนไขหากรัฐบาลไม่ต้องการให้ทรงสละราชสมบัติ โดยพระราชบันทึก 2 ฉบับ ซึ่งพระราชทานพระยาราชวังสันที่ปารีสในวันนั้น2 ผมวิเคราะห์ว่า3 ณ บัดนั้น พระองค์แน่พระราชหฤทัยแล้วว่ารัฐบาลไม่ได้ยอมรับว่าทรงมีพระราชสิทธิสามประการ อีกทั้งกำลังดำเนินมาตรการต่างๆที่ขัดต่อหลักการปกครองโดยหลักนิติธรรมและมีแนวโน้มที่จะเป็นคณาธิปไตยหรือเผด็จการโดยคณะบุคคล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย พระองค์จึงได้ทรงท้วงติงตรงๆและทรงแสดงพระราชดำริอย่างแข็งขัน ว่าจะทรงสละราชสมบัติ เพื่อที่จะทรงทดสอบสถานการณ์เป็นขั้นสุดท้ายว่าควรหรือไม่ที่จะทรงสละราชสมบัติจริงๆ เท่ากับว่า เมื่อทรง “ขู่”ว่าจะสละราชสมบัตินั้น ทรงพร้อมอยู่แล้วที่จะทรงสละราชสมบัติหากหลักการของระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยึดถือ

           ในเมื่อพระราชสิทธิไม่ได้รับการยอมรับ จึงต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงทราบต่อไปว่า พระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงมีเผื่อไว้เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญนั้น คณะราษฎรและคณะรัฐบาลจะให้ทรงมีหรือไม่ จึงได้ทรงตั้งข้อเรียกร้องที่จะให้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายมีความเป็นจริงเป็นจังขึ้นกว่าที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและในเมื่อปวงชนยังไม่มีอำนาจอธิปไตยเต็มที่ พระมหากษัตริย์ควรจะได้ “รักษาการ”แทนปวงชนในการมีส่วนเสียงในการเลือกสรรสมาชิกสภาฯประเภทแต่งตั้ง อีกทั้งหากจะยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญจริงๆแล้ว ก็ชอบที่จะมีการปกครองโดยหลักนิติธรรมสถิตอยู่เป็นมั่นเหมาะพร้อมกันไป เพราะหลักนิติธรรมคือรากฐานของระบอบรัฐธรรมนูญ และประชาราษฎรก็ควรที่จะยังคงมีสิทธิของเขาตามประเพณีในอันที่ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้โดยตรง อันอาจนำมาซึ่งความเป็นธรรมเหนือความยุติธรรมตามกฎหมาย(ที่อาจมิได้เป็นไปโดยหลักนิติธรรม)ด้วย นอกจากนั้นได้พระราชทานคำแนะนำเป็นมั่นเหมาะให้ดำเนินการลดโทษ “ นักโทษการเมือง” และ(ในเมื่อชัดเจนแล้วว่าคณะราษฎรเป็นพรรคการเมืองโดยพฤตินัย)ให้เปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้กลับเข้าสู่บรรยากาศของการแข่งขันทางการเมืองโดยสันติ ประชาธิปไตยจะได้มีโอกาสวิวัฒน์ขึ้นต่อไป

          เมื่อคำร้องขอแทบทุกข้อของพระองค์ได้รับการปฏิเสธ พระองค์จึงทรงมั่นพระทัยว่าความพยายามอย่างต่อเนื่องจนถึงที่สุดของพระองค์ที่จะจรรโลงระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญไม่ประสบผลสำเร็จ และในเมื่อพระองค์เองยังเป็นที่ระแวงสงสัยอยู่ร่ำไป องค์ประชาธิปกจึงตัดสินพระราชหฤทัยมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477(นับศักราชตามเดิม)มาจากประเทศอังกฤษ นับเป็นการทรงปลีกพระองค์เองออกจากราชบัลลังก์เพื่อที่สถาบันพระมหากษัตริย์จักได้คงอยู่ และในภายหน้ามีโอกาสหล่อหลอมระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นหนทางแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแนวคิดการมีพระมหากษัตริย์กับแนวคิดการมีประชาธิปไตย เพราะเป็นที่พิสูจน์แล้วในหลายประเทศว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย แต่สามารถมีคุณูปการต่อระบอบนั้นได้หลายประการ

          ในโอกาสหน้า จะได้ย้อนไปพาท่านผู้อ่านตามรอยเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป.

เชิงอรรถ

1. “Notes on Sir R. Holland and Mr. Baxter’s Audience with H.M. the King of Siam.”, F.O.371/18206 ตีพิมพ์เป็นภาคผนวก ข. ใน วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ม.ล..แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว:การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. กทม.:สถาบันพระปกเกล้า, 2548,หน้า 192 – 197.

2. ดูรายละเอียดใน พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละสมบัติ. กทม. : สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2536. ฉะนั้นเป็นอันว่าในวันที่ 20 นั้น ยังประทับอยู่ที่ปารีสดังที่ผมได้นำสืบไว้ก่อนหน้านี้.

3. ศึกษารายละเอียดได้จากบทความขนาดยาวของผู้เขียน PrudhisanJumbula, “Prajadhipok : the King at the Transition to Constitutional Monarchy in Siam” in Suchit Bunbongkarn(ed.), The Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand, Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University, 2012 (forthcoming).

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...