ขอบคุณบทความจาก ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
รำไพพรรณีใต้ร่มพระบารมี “สมเด็จป้า” ณ สวนสี่ฤดู
ในบรรดา “เรือนหมู่” หรือ “สวน” ที่ประทับในสวนดุสิตของเจ้านายฝ่ายใน ซึ่งได้เกริ่นถึงไว้ในตอนที่แล้ว มีพระตำหนักสวนสี่ฤดู ของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักนี้เอง ใน พ.ศ.2450 ปีเดียวกันกับที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ยุโรป หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในภายหลัง) พระชันษา 2 ปี ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวอยู่ในพระราชอุปการะของสมเด็จฯ พระองค์นั้น ผู้ทรงเป็น “สมเด็จป้า” ของท่านหญิง เนื่องด้วยทรงเป็น พระภคินี (พี่สาว) ร่วมพระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมหมื่นสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระยศขณะนั้น) พระบิดา
การ “ถวายตัว” นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของความนิยมในอดีตที่มีการมอบบุตรธิดาบางคนให้อยู่ในการเลี้ยงดูของบุคคลที่เคารพนับถือ และเป็นการที่เด็กจะได้รับการอบรมสั่งสอนในทางที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับเด็กหญิงนั้น การอยู่ในพระอุปการะของเจ้านายฝ่ายในเป็นหนทางหนึ่งจะได้รับการอบรมกิริยามารยาท ตลอดจนศิลปะวิทยาต่างๆ อันจำเป็นสำหรับการครองเรือนอย่างมีเกียรติต่อไป ด้วยในสมัยนั้น เพิ่งจะเริ่มมีโรงเรียน
พระตำหนักสวนสี่ฤดูนั้น ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองเม่งเส็งและถนนส้มมือใกล้กับพระที่นั่งอัมพรสถาน ลึกเข้าไปในสวนดุสิตจากถนนราชวิถี จากคำบอกเล่า ร่องรอยชิ้นส่วนที่พอจะเหลืออยู่ ทราบว่าเป็นเรือนไม้สองชั้นหลังคาปั้นหยา ทาสีชมพูแก่ มีพระเฉลียงโดยรอบ บานพระแกลเป็นกระจกและไม้บานเกล็ด มีบันได 2 ข้าง แต่ละข้างมี 3 ส่วน คือ โถงกลาง ส่วนของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทางทิศใต้ และส่วนของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ในภายหลัง) ทางทิศเหนือ โดยห้องบรรทมทั้งสองอยู่ชั้นบน มีห้องสรงห้องเดียวด้านหลัง ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าหญิงฯ ยังต้องเสด็จไปสรงน้ำหลังเขาหน้าพระตำหนัก13 ที่ชั้นล่างตรงกับที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กั้นเป็นห้องของ ท้าววรคณานันท์ (หม่อมราชวงศ์ปั้ม มาลากุล) ผู้เป็นผู้ใหญ่ดูแลปกครองสำนักฯ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีและหม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ ซึ่งทรงเป็นหม่อมเจ้ารุ่นเล็ก “หลานป้า” และ “หลานอา” ของสมเด็จฯ โดยตรงตามลำดับ ประทับอยู่กับคุณท้าว เล่าขานกันว่าท่านหญิงทั้งสองพระวรกายยังเล็ก น่ารักมาก ประทับบนใบบัววิคตอเรียใบใหญ่ แล้วฉายพระรูปเป็นที่ระลึก14
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ พระราชทานความเอ็นดูและห่วงใยหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีและหม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพอยู่เสมอ และทรงเอาพระทัยใส่อบรมอย่างใกล้ชิด รับสั่งให้ขึ้นเฝ้าฯ ไปทรงเล่นและเสวยบนพระตำหนัก และบางครั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรทมร่วมกับพระองค์บนพระแท่นด้วย15
หลังจากที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 6 ได้ทรงย้ายจากพระตำหนักสวนสี่ฤดูไปประทับรักษาพระองค์อยู่ที่พระตำหนักวังพญาไท (พระราชวังพญาไท ในบริเวณโรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้าฯ ในปัจจุบัน) หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีได้โดยเสด็จไปประทับที่ชั้นล่างของพระตำหนักนั้นด้วย16 เป็นที่มาแห่งพระราชหฤทัยผูกพันระหว่างพระองค์กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชฯ ผู้ได้สำเร็จการศึกษากลับมาจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2457
เมื่อฤดูกาลผันเปลี่ยน
ในปี พ.ศ.2461 สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยธรรมราชาพระองค์นั้น ได้ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีฯ และได้เสด็จไปประทับ ณ วังศุโขทัย วังส่วนพระองค์ริมคลองสามเสน ในระยะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ย้ายพระตำหนักสวนสี่ฤดูไปปลูกที่วังนั้น ด้านทิศตะวันออกของสนามใหญ่ โดยมีบันไดสองข้างเช่นเดิม และสมเด็จพระศรีพัชรินทิราฯ ได้เสด็จฯไปประทับที่นั่นเป็นครั้งคราวก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตในปีถัดมา17
ครั้นสยามไร้ซึ่งองค์ประชาธิปกอีกทั้งองค์รำไพพรรณีตั้งแต่ พ.ศ.2476 จนกระทั่งสมเด็จฯ เสด็จฯ กลับมาใน พ.ศ.2492 พระตำหนักสวนสี่ฤดูซึ่งเป็นไม้ได้ทรุดโทรมลง จึงเป็นที่กล่าวขานกันในหมู่คนวังศุโขทัยว่าเป็น “บ้านผีสิง” ซึ่งน่าจะเป็นอุบายของผู้ใหญ่ ไม่ให้เด็กไปเล่นแถวนั้น เพราะเกรงว่าจะมีชิ้นส่วนหล่นลงมาทับ18
ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จกลับจากสวนบ้านแก้วที่ประทับในชนบทจังหวัดจันทบุรี มาประทับที่วังศุโขทัยเป็นการถาวร เมื่อ พ.ศ.2511 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักสวนสี่ฤดูเพื่อนำชิ้นส่วนไปปลูกสร้างกุฏิวัดราชาธิวาสวิหารถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ด้วยพระบรมราชสรีรังคารบรรจุอยู่ในพระอุโบสถ19
ต่อมาสำนักพระราชวังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อสร้างพระตำหนักสี่ฤดูตามแบบที่ใกล้เคียงของเดิม ณ แปลงเดิมในสวนดุสิต เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 สร้างเสร็จและเปิดการจัดแสดงสิ่งของที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเนื่องในวโรกาสนั้น เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.254020 หากแต่ว่า ปัจจุบัน พระตำหนักนี้ไม่ได้เปิดให้ชมแล้ว เนื่องเพราะตั้งอยู่ใกล้กับพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร เสด็จออกให้บุคคลสำคัญๆ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท
พินิจสรรพศิลป์ภูมิปัญญา
อย่างไรก็ตาม ในบริเวณสวนดุสิตในเส้นทางสู่พระที่นั่งวิมานเมฆยังมีพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายในอยู่หลายพระองค์ที่บริเวณเกาะกวางและเกาะสน ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงวัตถุสิ่งของต่างๆอันเป็นศิลปหัตถกรรมของทั้งไทยและต่างประเทศที่หลากหลาย ซึ่งเลือกชมได้ตามความสนใจเฉพาะบุคคล เช่น ผ้าโบราณในราชสำนัก เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงโบราณ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นาฬิกาโบราณและของที่ระลึกจากต่างประเทศ เป็นต้น พระตำหนักเหล่านี้มีขนาดย่อมและมีความน่ารักแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่พึงสังเกตก็คือ พื้นไม้กระดานแผ่นใหญ่ บันไดที่ออกแบบให้ขึ้นลงได้สะดวก และช่องลมเหนือหน้าต่างสำหรับระบายอากาศแม้เมื่อปิดหน้าต่าง
นอกจากนั้น ที่ริมกำแพงด้านนอกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ยังมีพิพิธภัณฑ์ช้างต้น และหอแสดงผ้าไทยพื้นบ้านจากทุกภาคตั้งอยู่ด้วย หอนี้ผมยังไม่ได้ไปดู แต่เป็นทีว่าใช้เทคนิคการแสดงที่ทันสมัยน่าชม และขาดเสียไม่ได้คือ การขึ้นไปพระที่นั่งนั้นเพื่อพินิจนิทรรศการ “ศิลปแผ่นดิน” ซึ่งแสดงผลงานการสืบสานงานช่างศิลป์หลากหลายแขนงแต่โบราณของชาวบ้านซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯให้มาฝึกทักษะจนสามารถทำงานประสานกันด้วยฝีมือยอดเยี่ยมวิจิตรตระการตาอย่างน่าพิศวง ชวนให้ตั้งคำถามว่าที่ว่า “คนไทยทำงานเป็นทีมไม่เป็น” นั้นจริงเสมอไปหรือ คนไทยทำเป็นในเงื่อนไขใดบ้าง? อนึ่ง ทราบว่าจะมีนิทรรศการศิลปแผ่นดินชุดใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้
พิศจิตรกรรมประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2451 ตามแบบอิตาเลียน เรอเนซองส์และแบบนีโอคลาสสิกด้วยหินอ่อนจากเมืองคาราร่า ประเทศอิตาลี เป็นอาคารเพดานสูงสองชั้น มีโดมประธานตรงกลางและโดมเล็กๆอีก 6 โดมโดยรอบ เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงพระราชวังดุสิต หากแต่สร้างเสร็จในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2458 พระที่นั่งองค์นี้ นอกจากน่าสนใจเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีจิตรกรรมบนเพดานโดมซึ่งวาดโดย แกลิเลโอ คินี และซี. ริโกลี ชาวอิตาลี เป็นภาพเรื่องราวประวัติศาสตร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 ที่โดดเด่นงามสง่าเป็นพิเศษเห็นจะเป็นภาพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกประทับบนหลังช้างเสด็จกลับราชการเมืองเขมร และทรงปราบดาภิเษกเป็นรัชกาลที่ 1 ภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนา นิกายต่างๆ ซึ่งเข้าเฝ้าฯทั้งสองข้าง แสดงนัยแห่งพระราชจรรยาที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภ์ของทุกศาสนาโดยไม่รังเกียจกีดกัน แลภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกประเพณีการมีทาสไพร่21 ให้ราษฎรได้รับรู้ตระหนักถึงความเป็นไท ภาพเขียนเหล่านี้ แม้ชาวต่างประเทศยังเอ่ยปากชื่นชมว่า นอกจากงดงามแล้ว ยังทำให้เขาเข้าอกเข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นมาของสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ไฉนเลยเราคนไทยจะพลาดโอกาสไม่สัมผัสให้เป็นบุญตาและประดับสติปัญญา
นามนั้นสำคัญไฉน
ผู้อ่านสงสัยว่าเหตุใดผู้เขียนจึงใช้ว่า “สวนดุสิต” เป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆที่ในชื่อบทความใช้ว่า “พระราชวังดุสิต” จึงขอไขความว่า ด้วยเหตุที่เป็นชื่อซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อแรกสร้างและเพื่อเน้นความเป็นสวน แต่ในความจริงในประวัติศาสตร์คือ เมื่อเสด็จฯมาประทับบ่อยครั้งขึ้นได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วังสวนดุสิต” บ่งบอกว่าเป็นวังส่วนพระองค์ไม่เกี่ยวข้องกับการจะเป็นของหลวงในอนาคต ครั้นเมื่อ พ.ศ.2449 พระที่นั่งอัมพรสถานสร้างเสร็จและเสด็จฯประทับ อีกทั้งวังสวนดุสิตมีพระที่นั่งต่างๆเพียงพอแก่การประกอบพระราชพิธีได้ จึงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนนามเป็น “พระราชวังสวนดุสิต” ใน พ.ศ.2452 ซึ่งมีความหมายว่าเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อได้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมในต้นรัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯให้ขานนามว่า “พระราชวังดุสิต” โดยให้ตัดคำว่า “สวน” ออกไป22
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผนวก “สวนจิตรลดา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบุกเบิกสร้างเป็นที่ประทับ เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต โดยพระองค์เองได้เสด็จประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นครั้งคราว23 แต่มิได้โปรดเกล้าฯ ให้ขานนามพระตำหนักนั้นว่าพระที่นั่ง แม้จนถึงทุกวันนี้
ในตอนต่อไป จะได้ดำเนินเรื่องต่อว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงครองราชย์แล้ว ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจใดบางที่น่าสนใจ ณ สถานที่ต่างๆในบริเวณ พระราชวังดุสิต ซึ่งได้ผนวกสวนจิตรลดาเข้าไว้ด้วยแล้วนี้
เชิงอรรถ
13. พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต. (อ้างแล้ว), หน้า 54, 58 และ 61.
14. เล่มเดียวกัน, หน้า 59 และ 62
15. ราชเลขาธิการ, สำนัก. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, กรุงเทพ: อมรินทร์, 2531, หน้า 6-7.
16. เล่มเดียวกัน, หน้า 6.
17. สัมภาษณ์ หม่อมหลวงประอร (มาลากุล) จักรพันธุ์ หลานสาวท้าววรคณานันท์ (ม.ร.ว.ปั้ม มาลากุล) ซึ่งเป็นผู้ถวายงานรับใช้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ อยู่โดยตลอดตั้งแต่เสด็จฯ กลับมาจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2492, สิงหาคม 2555.
18. หากแต่หนังสือ พระตำหนักสวนสี่ฤดูฯ ได้ข้อมูลมาว่ามีข้างเดียว (หน้า 10) ผู้เขียนทราบในฐานะที่เคยเป็นเด็กอยู่ในวังศุโขทัย
19. สัมภาษณ์หม่อมหลวงประอร, สิงหาคม 2555 และพระตำหนักสวนสี่ฤดูฯ หน้า 63.
20. พระตำหนักสวนสี่ฤดูฯ, คำนำ
21. คำแผ่นพับ พระที่นั่งอนันตสมาคม, มปท.มปป.
22. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว.,ณพิศร กฤตติกกุล และดรุณี แก้วม่วง. พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525, หน้า 369.
23. เล่มเดียวกัน, หน้า 373.
[พช./พระราชวังสวนดุสิตร.7/ต.ค 2555]
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น