ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอังกฤษ
 
             
               ในระหว่างการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า  ครั้งที่ 14 ประจำปี 2555  เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555  ช่วงการอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ  “การปฏิรูปรัฐสภา : มุมมองจากต่างประเทศ”  รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ  ชุมพล  ผู้นำเสนอเกี่ยวกับ “การปฏิรูปรัฐสภาในอังกฤษ”  ได้ขอโอกาสให้ข้อมูลเกี่ยวกับการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินทรงสดับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ  เพื่อเป็นการราชสดุดีในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพครบ 119 ปีในวันนั้น  รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ  ได้กรุณาถอดความเป็นภาษาไทย  ดังต่อไปนี้

            ผมขออนุญาตเริ่มการอภิปรายของผมด้วยการนำเสนอบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องในทางอ้อมกับเนื้อหาหลักของการอภิปรายของผมในวันนี้  เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ท่านผู้มีเกียรติได้ร่วมกับผมในการถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยมาเป็นชื่อของสถาบัน

            วันนี้เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพครบ 119 ปี ของพระองค์  ข้อมูลชิ้นหนึ่งจากหนังสือที่มีอยู่ในข้อมูลพระปกเกล้าศึกษา  พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้เราทราบว่า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ
เยี่ยมรัฐสภาประเทศอังกฤษ
 

            เมื่อพ.ศ. 2477  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมรัฐสภาของอังกฤษที่กรุงลอนดอน  เนื่องในวาระที่เสด็จประพาสประเทศในทวีปยุโรปถึง 9 ประเทศ ในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญพระองค์แรกของสยาม

          ในวันที่ 8 พฤษภาคม  พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934)  พระองค์เสด็จฯประทับที่ชั้นบนของสภาผู้แทนราษฎร (จากการเลือกตั้ง) ของอังกฤษและได้ทรงสดับการประชุมของสภานั้นขณะกำลังอภิปรายประเด็นต่างๆ  ยิ่งไปกว่านั้น  พระองค์ได้เสวยพระกระยาหารกลางวันที่อาคารรัฐสภาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาขุนนาง (วุฒิสภา) ของอังกฤษจำนวนหนึ่ง  ด้วยการนี้พระองค์ได้ ทรงเป็นพระราชาพระองค์แรกของโลกที่ได้เสวยพระกระยาหารที่อาคารรัฐสภาของอังกฤษ 

            หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินี  ไปยังบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง (10  Downing street) ที่ทำการและที่พักของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ  ณ ที่นั้น  ได้ทรงพระราชปฏิสันถารกับ นายเจมส์ แรมเซย์ แมคดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald) นายกรัฐมนตรีคนแรกจากพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคแนวประชาธิปไตยสังคมนิยมของอังกฤษ  รัฐมนตรี  ผู้นำฝ่ายค้าน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง  ในระหว่างที่เสวยพระกระยาหารกลางวัน 

ตลอดระยะทางการเสด็จประพาสในทวีปยุโรป  พระองค์ได้ทรงแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กับบุคคลต่างๆหลากหลาย  คือ เจ้านายชั้นสูงในพระราชวงศ์ต่างๆของยุโรป  นักการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน  รวมถึงมุสโสลินีแห่งอิตาลี และ ฮิตเลอร์แห่งเยอรมัน  อีกทั้งปัญญาชน อาทิ นายออลเดิส ฮักซลี่ (Aldous Huxley) ผู้ประพันธ์นวนิยายแนวอนาคตศึกษาเรื่อง Brave New World  ซึ่งเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ 2 ปีก่อนหน้านั้น  และนาย เอช.จี.เวลส์ (H.G. Wells) นักประพันธ์นวนิยายแนววิทยาศาสตร์เรื่อง The Time Machine เป็นต้น

            ดังนั้น ภาพที่ได้คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตั้งพระราชหฤทัยมุ่งที่จะทรงแสวงหาความรู้ความเข้าใจในทางตรงเกี่ยวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางแนวความคิด ซึ่งกำลังเชี่ยวกรากอยู่ในยุโรปในเวลานั้น ไม่กี่ปีก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้น

            จะเห็นได้ว่า  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่หลากหลายเหล่านี้  ด้วยพระราชหฤทัยสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของสยาม  และด้วยความใส่พระราชหฤทัยยิ่ง  แม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้น  กำลังทรงตริตรองว่าจะทรงสละราชสมบัติหรือไม่

            พระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติมาจากที่ประทับซึ่งทรงเช่า ใกล้กรุงลอนดอน  เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1935) สิบเดือนหลังจากเสด็จฯเยือนรัฐสภาอังกฤษ

            การทรงปฏิบัติพระราชภารกิจหน้าที่ด้วยพระราชหฤทัยมั่นในสิ่งที่ทรงเห็นว่าถูกว่าควร เต็มพระปรีชาสามารถ และด้วยพระราชมานะและขันติธรรม   ตราบจนถึงที่สุด  เป็นพระอุปนิสัยที่โดดเด่นขององค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

            สมควรที่เราจะได้รำลึกถึงพระองค์ในแง่นี้  ในวันนี้

 

                                                                                    [พช./ราชสดุดี ร.7 kpi/พ.ย. 2555]

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...