ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระราชวังดุสิตกับพระปกเกล้าศึกษา (3)


 
 
 
 
ม.ร.ว.พฤทธิสาณ  ชุมพล

ในสองตอนที่แล้ว ได้พาท่องไปตามสถานที่ต่างๆในพระราชวังดุสิต โดยได้เพียงแต่แทรกเนื้อหา “พระปกเกล้าศึกษา” เข้าไว้ตามสมควร ในตอนนี้ จะได้เข้าสู่รัชสมัยของพระองค์ โดยเล่าถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงประกอบ ณ สถานที่ต่างๆเหล่านั้น โดยใช้ข้อมุลจากหนังสือ จดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวันฯทั้งสองภาค1 เป็นส่วนใหญ่

ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับราชสมบัติในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2468 นั้น พระองค์ได้ย้ายพระราชฐานจากวังศุโขทัย วังส่วนพระองค์ที่ริมคลองสามเสน ไปประทับที่พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวังเป็นปฐม

ครั้นเมื่อได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 แล้ว หลายเดือน จึงได้ทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ศกนั้น ที่ห้องอาวุธ พระที่นั่งอัมพรสถาน มีพิธีสงฆ์แล้ว “เวลา 6 นาฬิกา 51 นาที 51 วินาที” หลังเที่ยง เป็นประถมฤกษ์ เสด็จขึ้นเถลิงพระแท่นบรรทมเป็นพระฤกษ์พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี”23 จากนั้นเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียร ต่อมาประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยเจ้านาย ฝ่ายหน้า สมเด็จฯเสวยพร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน และในเวลากลางคืนมีการฉายภาพยนตร์

ห้องพระบรรทมนั้น อยู่ที่ชั้นสองของพระที่นั่งอัมพรสถาน โดยมิได้ทรงใช้ห้องพระบรรทมของสมเด็จพระปิยมหาราชที่ชั้นสาม24

แม้ว่าพระที่นั่งอัมพรสถานจะเป็นที่ซึ่งทรงใช้เป็นสถานที่หลักในการทรงงานราชการแผ่นดิน เมื่อประทับอยู่ในพระนคร ก็ตาม แต่ก็ปรากฎว่าบ่อยครั้ง พระองค์และสมเด็จฯได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่วังศุโขทัย ซึ่งทรงถือเป็น “บ้าน” ส่วนพระองค์ เป็นระยะๆ บางครั้งเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือไม่ก็เสด็จฯไปทรงเทนนิสที่นั่นเป็นบางวัน แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เมื่อเสด็จฯ กลับมาจากวังไกลกังวล หัวหิน ได้เสด็จฯ เข้าประทับที่วังศุโขทัย และ 2 เดือนหลังจากนั้นทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน25 (ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมไว้ในพระราชวังดุสิตแล้ว) โดยมิได้เสด็จฯ กลับไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานอีกเลย เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการที่พระราชสถานะได้เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2476 (นับศักราชตามเดิม) ได้เสด็จประพาสยุโรปและแล้วทรงสละราชสมบัติขณะที่ประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ

 

พระราชกรณียกิจสำคัญๆที่พระที่นั่งอัมพรสถานฯ อนันต์ฯและอภิเษกดุสิต

หากศึกษาพระราชกิจรายวันฯ จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลง                          พระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงเป็นประธานในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา แทบทุกสัปดาห์ ในขณะที่เสด็จฯไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเป็นประธานในการประชุมเสนาบดีสภา แทบทุกสัปดาห์เช่นเดียวกัน อีกทั้งเสด็จออกให้ขุนนางเฝ้าฯที่พระที่นั่งอนันต์ฯบ่อยครั้งด้วย แสดงว่าเหล่านั้นเป็นพระราชกรณียกิจที่ต้องทรงปฏิบัติและได้ทรงปฏิบัติเป็นประจำ ในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”จึงไม่เป็นความจริงดังที่ นักวิชาการชาวต่างประเทศคนหนึ่งเขียนไว้ว่า พระที่นั่งอนันต์ฯ แทบไม่ได้ใช้เป็นท้องพระโรง26

นอกจากนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมยังเป็นที่ซึ่งเสด็จออกให้ทูตจากต่างประเทศเข้าเฝ้าฯอย่างเป็นที่การเพื่อทูลเกล้าฯถวายสาส์นตราตั้ง โดยที่สมเด็จพระบรมราชินีมิได้เสด็จออกด้วย แต่ทูตจะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จฯ เป็นการเฉพาะพระองค์ในวันเดียวกันหลังจากนั้นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน โดยภริยาทูตเฝ้าฯ สมเด็จฯในวันอีกหนึ่ง

บ่อยครั้ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดเกล้าให้เสนาบดีเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานกิจการของแต่ละกระทรวงเป็นองค์ๆ คนๆไปที่พระที่นั่งอัมพรสถาน

สำหรับในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาในช่วงวันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปีนั้น นอกจากพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังแล้ว ในตอนค่ำวันที่ 9 เสด็จออกที่พระที่นั่งอัมพรฯในการเลี้ยงพระกระยาหารแก่เจ้านายฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจัดเลี้ยงคณะทูตที่พระราชวังสราญรมย์ ที่ทำการของกระทรวงแล้วเสด็จออกที่ พระที่นั่งอนันต์โดยมีเจ้านายชั้นบรมวงศ์ตามเสด็จ “มีพระราชปฏิสันถารแก่ ทูตานุทูตและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตามสมควรแล้ว พระราชทานงานเลี้ยงของบรรดาผู้ที่มาสโมสรสันนิบาต มีการโห่ถวายไชยแล้วเป็นเสร็จการ” 27 (ตัวสะกดตามต้นฉบับ) นับว่าแตกต่างไปจากในปัจจุบันที่งานสโมสรสันนิบาตรัฐบาลเป็นผู้จัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล

ส่วนในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในช่วงวันที่ 20 ธันวาคมของทุกปีนั้น จัดที่พระที่นั่งอัมพรสถานโดยมีงานช่วงเย็นวันที่ 20 เป็นพิธีสงฆ์ที่ห้องประชุมและในเวลากลางคืนมีภาพยนตร์ฉาย วันรุ่งขึ้น ณ ที่เดียวกันเวลาประมาณ 11.00 น. มีพิธีสงฆ์ ทรงบาตร พระราชทานฉัน สังเวยเทวดาและทรงประเคนเครื่องไทยธรรม ที่น่าสนใจคือ สมเด็จฯ “เสด็จเข้าสู่ที่สรงสนานในพระที่นั่งข้างใน” ตอนบ่ายมีงานสโมสรสันนิบาตที่สนามสวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง และตอนค่ำเสด็จออกที่ท้องพระโรงหลัง พระที่นั่งอัมพรสถาน ทอดพระเนตรละคร การจัดงานเฉลิมฯสมเด็จฯจึงนับว่าเป็นการภายในกว่าของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว28

สำหรับในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ นักษัตร เมื่อ พ.ศ.2472 นั้น จัดเป็นงานใหญ่ระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน โดยนอกเหนือจากพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังแล้ว ได้เสด็จออกพระที่นั่งอัมพรฯให้ข้าราชการกรมราชเลขาฯเข้าเฝ้าถวายของที่ระลึกในวันที่ 9 ก่อนเสด็จฯยังพระราชอุทยานสราญรมย์(ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งพระราชวังดุสิต)ให้ลูกเสือและนักเรียนชายหญิงอุปชาติ(ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรเดียวกันแต่ต่างรอบกับพระองค์) ปีมะเส็ง พ.ศ.2460 รวม 3,518 คน เฝ้าฯถวายพระพรชัยและรับพระราชทานพระบรมราโชวาทและเสมา29  แสดงถึงพระราชหฤทัยเมตตาแผ่ไพศาลแก่เด็กและเยาวชนอันเป็นพระอุปนิสัยประจำพระองค์ พระบรมราโชวาทเนื้อหาว่าด้วย ลักษณะเฉพาะเอาอย่าง มีความบางตอนว่า

...เราจะเรียนแต่เอาอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเรียนคิดเองด้วยจึงจะเจริญแท้...ไม่ใช่แต่เรียนจำตามที่สอนเท่านั้น ต้องฝึกใช้ความคิด ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย...การที่จะเจริญเข่าเขาได้จริง เราต้องเก่งเท่าเขา ต้องคิดอะไรให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์โลกได้ด้วยอย่างเขา... 30

ครั้นวันรุ่งขึ้น ตอนค่ำ เสด็จออกพระที่นั่งอัมพรฯ พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารแก่เจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเลี้ยงทูตานุทูต ณ วังสราญรมย์ แล้วเฝ้าฯ ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันต์ฯ และเสด็จออกท้องพระโรงหน้างานพระที่นั่งอัมพรฯ ในอุทยานสโมสรเจ้านายข้าทูลละอองธุลีพระบาท ราชสกุล ราชินิกุล ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน อุปชาติปีมะเส็งเฝ้าฯ อีกทั้งในวันที่ 12 เสด็จออกพระที่นั่งอนันต์ฯ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท สหชาติปีมะเส็ง พ.ศ.2436 (ปีนักษัตรรอบเดียวกันกับพระองค์) ทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน 496 คนเฝ้าฯ พระราชทานแหนบลูกศรกับซองบุหรี่มีรูปงูลงยาสีเขียวอย่างทั่วถึง

ในช่วงขึ้นปีใหม่ตามคติเดิม คือ วันที่ 1 เมษายน จะเสด็จออกที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชทานนำพระมหาสังข์และทรงเจิมเจ้านายฝ่ายใน ฝ่ายหน้าเป็นสิริมงคลเป็นประจำ

นอกจากพระที่นั่งอัมพรฯและพระที่นั่งอนันต์ฯแล้ว ยังโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีบางประเภท           ที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ที่เป็นประจำคือ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชทานน้ำ       มหาสังข์และทรงเจิมพระยาแรกนาที่นั่น แต่การจรดพระนังคัลกระทำที่ทุ่งพญาไทตามที่เป็นมาแต่เดิม และในงานที่มีเพียงครั้งเดียวในรัชกาล คือ งานพระราชพิธีสมโภชช้างสำคัญ คือ พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ พระที่นั่งนี้ก็ได้รับการใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญคือเป็นที่ออกพระราชบัลลังก์ที่มุขหน้า มีมหรสพตอนกลางคืนของวันที่ 15 และ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2470 ส่วนพิธีพระและพราหมณ์ ในการสมโภชนั้น กระทำที่หน้าโรงช้างต้น31 นอกจากนั้น พระที่นั่งอภิเษกฯยังใช้เป็นประกอบพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาด้วย

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าทรงเลือกที่จะใช้พระที่นั่งทั้งสามซึ่งสร้างไว้แต่สมัยรัชกาลที่ 5 และที่ 6 และตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กัน ตามความเหมาะสมแก่โอกาส สถานะของบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ และกิจกรรม มิได้ทรงทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์แต่อย่างใด

การเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีสาบานต่อธงชัยเฉลิมพลและสวนสนามของทหาร ณ พระลานพระราชวังดุสิต(ลานพระบรมรูปทรงม้า) เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทรงประกอบเป็นประจำทุกปี ในเดือนตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงม้าพระที่นั่ง ส่วนสมเด็จฯประทับรถม้าพระที่นั่งตามเสด็จท้ายขบวน เสร็จพิธีแล้วทั้งสองพระองค์ประทับรถม้าพระที่นั่งเสด็จฯกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน

อีกงานหนึ่งซึ่งประทับรถม้าในขบวนซึ่งมีนายทหารเชิญธงกระบี่ธุชพระครุฑพ่าห์ขึ้นม้านำ คือ การเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน เช่นที่วัดเบญจมบพิตรฯ วัดประจำพระราชวังดุสิตฯ เป็นต้น

ส่วนในวันสวรรคตของสมเด็จพระปิยมหาราชนั้น เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่ง ประทับที่พระลานฯทรงวางพวงมาลา แล้วเสด็จทรงประกอบพิธีสงฆ์ที่พระที่นั่งอนันต์ฯ โดยที่น่าสนใจ โปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้าที่ยังเยาว์ทอดผ้ารายร้อย พระสงฆ์ 200 รูปด้วย

ในตอนหน้า จะได้เล่าขานถึงพระราชกิจส่วนพระองค์ ซึ่งทรงประกอบ ณสถานที่ต่างๆ ในบริเวณพระราชวังดุสิต ตลอดจนถึงสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงโดยอาจไม่ได้ตั้งใจถึงความเกี่ยวพันระหว่างพระองค์กับสถานที่นั้น ซึ่งปรากฏขึ้นหลายสิบปีหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว.

 เชิงอรรถ

22. บรรเจิด  อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยูหัว รัชกาลที่ 7 ภาคต้น และภาคปลาย, กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์และจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2537.

23. เพิ่งอ้าง, หน้า 142.(ตัวสะกดตามต้นฉบับ)

24. ศิริน  โรจนสโรช. “พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชนิเวศน์สี่รัชกาลและสองสมเด็จเจ้าฟ้าฯ” เอกสารต้นฉบับของสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ตุลาคม 2555, หน้า 23.

25. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บ.ก.) จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันฯ, 2537, หน้า 874. รายงานพระราชกรณียกิจเสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดาฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2475 และต่อเนื่องไป

26. Peleggi, Maurizio. Lords of Things: The Fashioning of The Siamese Monarchy’s Modern Image, Honolulu, University of Hawai’; Press,2002, p.103. Peleggi ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไว้ในหน้าเดียวกันว่าพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระที่นั่งอนันต์ฯในรัชกาลที่ 9. เขาเข้าใจผิดด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงม้าไม่เป็น

27. บรรเจิด, อ้างแล้ว, หน้า 148-149

28. เพิ่งอ้าง, หน้า 174

29. บรรเจิด, อ้างแล้ว, หน้า 619-629

30. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี/วัชรินทร์การพิมพ์, 2536, หน้า 152-153.

31. สำหรับรายละเอียดพระราชพิธีสมโภชช้างสำคัญนี้ โปรดดู บรรเจิด อ้างแล้ว หน้า 322-334.

ภาพจาก: พระราชวัง, สำนัก. (อภินันท์  โปษยานนท์) จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในพระราชสำนัก, กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ป, 2536.

                                                                                                                [พช./พระราชวังดุสิต ร.7 (3)/มค2556]

 

               

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั