ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์รายวันในสมัยรัชกาลที่7


                                            ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร[1]

๑. ลักษณะรูปเล่ม  รูปเล่มของหนังสือพิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๗  เปลี่ยนไปเหมือนกันหมด คือ จากเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นแบบเล่มใหญ่ ขนาดมาตรฐานของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศทั่วไป  แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๗  หนังสือพิมพ์มีขนาดแผ่นเล็กลง  ภาษาวิชาการหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเรียกว่า  Tabloid newspaper คือใช้แผ่นกระดาษขนาดเล็ก ซึ่งเป็นขนาดของหนังสือพิมพ์อเมริกันที่ออกในสมัยเริ่มแรก   รูปแบบของหนังสือพิมพ์ประเภทนี้  ได้แก่  หนังสือพิมพ์ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งนายหรุ่น อินทุวงศ์ เป็นเจ้าของ  นายเจต สมมา เป็นบรรณาธิการ  เป็นหนังสือพิมพ์จำนวน ๘ หน้า ราคาขายปลีกฉบับละ ๑  สตางค์  หนังสือพิมพ์เสรีภาพ ของบริษัทสยามฟรีเปรส  ม.จ. พงส์รุจา รุจวิชัย เป็นบรรณาธิการ  มีจำนวน ๑๖ หน้า  ราคาฉบับละ ๓ สตางค์  หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ของ นาย ต. บุญเทียม  ราคาฉบับละ ๑๐ สตางค์  และหนังสือพิมพ์หลักเมือง ของนาย ต. บุญเทียม เช่นกัน มี ๒๘  หน้า ราคา ๕  สตางค์

๒. การพาดหัวข่าว  สมัยนี้ได้เริ่มมีการพาดหัวข่าวสำคัญในหน้าแรก  ทำให้สร้างความสนใจแก่ผู้พบเห็นและอยากอ่านข่าวในฉบับมากขึ้นโดยหัวข่าวมีการใช้ถ้อยคำกะทัดรัดและคลอบคลุม ทำหน้าที่ย่อเรื่อง หรือสรุปเนื้อข่าวให้กับผู้อ่าน  ลักษณะการเขียนพาดหัวข่าวเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่นักหนังสือพิมพ์อเมริกัน นิยมทำกัน

๓. การเขียนวรรคนำ (Lead) ในสมัยนี้มีหนังสือพิมพ์บางฉบับเขียนวรรคนำ จากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศนอกเหนือไปจากการพาดหัวข่าวหรือโปรยข่าวแล้ว วรรคนำของข่าวจะช่วยให้ได้รู้เรื่องส่วนรวมทั้งหมดของข่าวโดยเร็ว เป็นการสรุปย่อใจความสำคัญของเรื่องไว้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน   เมื่อไร ทำไม  ถ้าผู้อ่านสนใจก็จะอ่านรายละเอียดในเนื้อข่าวต่อไป  วรรคนำจะมาก่อนข่าวและสรุปเนื้อข่าวไว้สั้นๆเพียงประโยค หรือ ๒ -  ประโยคเท่านั้น  จากเนื้อข่าวจริงๆซึ่งอาจจะมีหลายคอลัมน์

. มีรูปภาพประกอบ   รูปภาพที่ลงประกอบในหนังสือพิมพ์รายวันในสมัยนี้แบ่งออกเป็น    ประเภท ด้วยกัน คือ

๔.๑ ภาพถ่าย  ได้แก่ภาพบุคคลสำคัญทั้งในประเทศและของต่างประเทศ เช่น ภาพพระบรมฉายาลักษณ์  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบรมราชินี  พระรูปพระบรมวงศานุวงศ์  และภาพเจ้านายต่างๆ  ที่มีเป็นข่าวเรื่องราวเกิดขึ้น ภาพบุคคลสำคัญต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เช่น หนังสือพิมพ์หลักเมือง มักลงข่าวเรื่องประเทศจีน  หนังสือพิมพ์ศรีกรุง หน้า๑๔ทุกฉบับจะลงภาพข่าวทั้งในประเทศและภาพที่ส่งมาจากต่างประเทศเป็นประจำ มีคำอธิบายสั้นๆใต้ภาพ เพื่อให้รู้ว่าเป็นภาพใคร และ หนังสือพิมพ์เกราะเหล็กฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ตีพิมพ์ภาพพระราชพิธีแรกนาขวัญ และมีคำอธิบายใต้ภาพ เป็นต้น

๔.๒ ภาพล้อ  เป็นภาพล้อเลียนการเมืองบ้างเรื่องเหตุการณ์บ้าง  เรื่องเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรที่รัฐบาล หรือเจ้าพนักงานควรจะได้แก้ไข  ซึ่งมีการเขียนเป็นภาพล้อประกอบกลอน เพลงยาว และลำตัดการเมือง ได้แก่ ลำตัดประกอบภาพ ของแก่นเพ็ชร ซึ่งตีพิมพ์ประจำในหนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก เช่น ฉบับวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ มีภาพล้อคนไทยซื้อหมูจากคนจีน แล้วมีคำอธิบายว่า “เริ่มถูกขูดเลือด” เป็นต้น

๔.๓ ภาพการ์ตูน   เป็นภาพเขียนการ์ตูนเรื่องต่างๆ เช่น การ์ตูนเรื่อง พระไชยสุริยา  เขียนโดย ส.จุฑะรพ ลงเป็นประจำในหนังสือพิมพ์ สยามหนุ่ม หน้า ๒๐  ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายใช้เนื้อที่ครึ่งหน้าปนไปกับข่าว นอกจากเรื่องวรรณคดีแล้ว  ยังมีการ์ตูนสำหรับเด็ก เช่น เรื่อง “นักสืบข่าว” นิยายการ์ตูน ๖ ตอนจบ วาดโดย นายสวัสดิ์ จุฑะรพ ลงในสยามหนุ่ม เช่นกัน     

๔.๔ มีการให้สัมภาษณ์ข่าว  ในสมัยนี้ใช้คำว่าอินเตอร์วิวข่าวเริ่มมีตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. ๒๔๗๔  เป็นการลงข่าวให้สัมภาษณ์โดยตรง เช่น การให้สัมภาษณ์ของสมุหพระนครบาลที่ตักเตือนบรรดาหนังสือพิมพ์ทั้งหลายใน หนังสือพิมพ์ประชาชาติ[2] เป็นต้น

พัฒนาการและปูมหลังของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับดังกล่าวมาโดยสังเขปนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมการเมืองของไทยมาโดยตลอด  เมื่อแรกเริ่มหนังสือพิมพ์เป็นแขนงหนึ่งของวิทยาการสมัยใหม่ที่ผู้ปกครองและประชาชนหัวก้าวหน้าเล็งเห็นประโยชน์ที่นำมาใช้ในการสื่อสาร  ตลอดจนสะท้อนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มคนผู้รู้หนังสือ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์นับเป็นหลักฐานชั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นบทความ ข่าวสาร รูปภาพ หรือรูปการ์ตูนล้อการเมืองจึงมีฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบกับหลักฐานอื่นๆได้เป็นอย่างดี

การใช้หนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองนั้นอุบัติขึ้นพร้อมๆกันกับระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว  ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีแต่การใช้หนังสือพิมพ์สนับสนุนรัฐบาลไม่มีการโจมตีกันในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์อย่างลำหักลำโค่นซึ่งจริงๆแล้วเป็นการกล่าวเช่นนี้ อาจเป็นการมองในแง่บวกเกินไป เพราะหนังสือพิมพ์มีการโจมตีเจ้านาย พระราชวงศ์และขุนนางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕-๖ อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของรัฐบาลคือ  หนังสือพิมพ์ “เดลิเมล์” รายวัน  เพราะพระคลังข้างที่ให้ทุนไปดำเนินการ  เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดี อีกฉบับหนึ่งคือ “พิมพ์ไทย” หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล[3]ยอดการจำหน่ายจึงไม่ค่อยดีนัก  เพราะคนไม่นิยมอ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของรัฐบาล  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์จะให้มีหนังสือพิมพ์สักฉบับที่ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาธิปไตยแก่ประชาชนทีละน้อย 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนักหนังสือพิมพ์หนุ่มผู้มีชื่อเสียงและมีแนวเขียนและแนวความคิดทันสมัยที่เรียกว่า “หัวก้าวหน้า”  แห่งยุคคือ นายกุหลาบ  สายประดิษฐ์  ข้อเขียนโด่งดังของเขา คือ “มนุษยภาพ”  ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง  แนวความคิดของเขาล้ำยุคเกินไป  จนทำให้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สั่งปิดหนังสือพิมพ์ดังกล่าว แม้จะเป็นเรื่องของรัฐบาลสมัยนั้นแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กลับทรงพอพระทัยในข้อเขียนและแนวคิดของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลก  พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้นายกุหลาบ  สายประดิษฐ์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันสักฉบับ  แต่เรื่องทั้งหมดต้องเป็นความลับสุดยอดเพราะการสนับสนุนปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยก็คือ การทำลายพระราชบัลลังก์ของพระองค์เอง  ผู้ที่รับพระบรมราโชบายไปดำเนินการเกลี้ยกล่อมนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ คือ หลวงดำรงดุริตเลข (เอี่ยม มาริกุล) เวลานั้นดำรงตำแหน่งปลัดกรมราชเลขานุการในพระองค์ (หลวงดำรงดุริตเลขเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “นครสาร”  รายวันยุคสงคราม อยู่ที่ถนนสุรศักดิ์ สีลม นายสังข์ พัฒโนทัย เคยเขียนประจำอยู่ระยะหนึ่ง นายวิลาส มณีวัตร เคยเป็นบรรณาธิการเมื่อ “นครสาร” ใกล้อวสาน นายสนิทและนางเสริมศรี เอกชัย ก็เคยเป็นบรรณาธิการและนักข่าวที่นี่ด้วย) หลวงดำรงฯอาศัยนายเทียน เหลียวรักวงศ์ ผู้เป็นน้องเขยเป็นตัวเชื่อมเข้าไปหานายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และเขาก็ตกลงใจรับทำงานสนองพระราชประสงค์  น่าเสียดายที่หลวงดำรงฯกำหนดวันที่จะนำนายกุหลาบเข้าเฝ้าที่วังไกลกังวล(หัวหิน) เป็นการส่วนพระองค์ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕[4] แต่ก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เสียก่อน จึงทำให้แนวพระราชดำริในการเผยแพร่ประชาธิปไตยผ่านทางหนังสือพิมพ์ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์

แม้ว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ระหว่างพ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๕)  จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์พ.ศ.๒๔๗๐ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ว่า

 “....เราไม่ต้องการปิดปากหนังสือพิมพ์ แต่ต้องการให้ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ...” [5]

จากหลักฐานเอกสาร  พบว่ามีการปฏิบัติต่อกลุ่มหนังสือพิมพ์อย่างค่อนข้างยืดหยุ่น  ส่วนมากแล้วจะเป็นการเรียกมาตักเตือนมากกว่ามุ่งสั่งปิด  แม้ว่าจะมีหลักฐานการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และหนังสือพิมพ์สยามรีวิวรายสัปดาห์ก็ตาม

 



 [1] นักวิชาการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   เรียบเรียงจาก    สุภาพันธ์  บุญสะอาด. ประวัติหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ ,๒๕๑๗ น. ๘๔-๙๑.
[2]สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย โดยคณะทำงานประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย
กรุงเทพฯ : มติชน ,๒๕๔๙ ,น.  ๑๓๐.
[3]หนังสือพิมพ์ไทย  กรุงเทพฯเดลิเมล์ บางกอกไทม์ และสยามอ๊อบเซอร์เวอร์, นสพ. ทั้ง ๔ ฉบับนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นประจำประมาณปีละ ๘,๐๐๐ บาท  ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ๖ แล้ว  โดยมีกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗  มีกลุ่มหนังสือพิมพ์ต่างๆ แสดงความจำนงขอรับเงินอุดหนุน โดยกลุ่มแรก คือ นายเพิ่ม บุนนาค  เจ้าของกัมมันโต และนายหอม นิลรัตน์  ณ อยุธยา เจ้าของไทยหนุ่ม  ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐โดยระบุว่าหนังสือพิมพ์ของพวกตนประสบปัญหาขาดทุนจะขอพระราชทานเงินอุดหนุนฉบับละ ๘,๐๐๐ บาทเช่นกัน    กลุ่มที่สองคือ นายมานิต วสุวัต เจ้าของศรีกรุงและสยามราษฎร์ แสดงความจำนงขอรับเงินอุดหนุน โดยมีสาระระบุว่าหากรัฐบาลมีความประสงค์ใดๆยินดีจะจัดการให้   นับแต่ปีพ.ศ. ๒๔๗๐  เป็นต้นมา รัชกาลที่ ๗ เลิกวิธีให้เงินอุดหนุนหนังสือพิมพ์ แต่จะซื้อเป็นราย ๓ เดือนเป็นรายๆไปแทน
[4]อ้างมาจาก  นายหนหวย, เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ.หน้า ๔๑๗-๔๑๘.
[5]กจช.ร.๗รล. ๑๙.๑/๑ พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๗ ถึง เจ้าพระยายมราช เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั