ม.ร.ว.
พฤทธิสาณ ชุมพล
“พระราชกิจส่วนพระองค์ในบริเวณพระราชวังดุสิต” คือ เนื้อหาของตอนสุดท้ายของบทความนี้ ซึ่งแตกต่างจากของตอนอื่นๆ ตรงที่จะช่วยให้เห็นถึงพระอุปนิสัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มากขึ้น
โดยเรียบเรียงจากคำบอกเล่าด้วยวาจาและข้อเขียนของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว
น้ำพระทัยดี มีเมตตากรุณา
“ท่านทรงพระสนับเพลาแพรจีนและฉลองพระองค์ชั้นในหรือกุยเฮงสีนวล ทรงมีพระวรกายเล็ก มีพระมัสสุ พระฉวีผ่อง[1]
พระเนตรฉายแววแจ่มใส
แสดงถึงว่ามีน้ำพระทัยดี
เต็มไปด้วยเมตตากรุณา
ท่านเสด็จมาประทับตรงพื้นใกล้ๆที่ฉันนั่งอยู่ สมเด็จฯ ทรงเตือนให้ฉันเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนและกราบถวายตัว พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับฉันว่า
“สีดาจะมาอยู่ด้วยกันแล้วหรือ?”
ฉันยิ้มแหย ไม่ตอบเลย
แล้วท่านก็เสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องนี้เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ
ที่อื่น... “ [2]
นี่คือข้อความที่หม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง
(สวัสดิวัตน์) ชุมพล ทรงไว้เกี่ยวกับวาระที่ท่านหญิงเข้าเฝ้าฯถวายตัวเป็นข้าในพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พ.ศ. ๒๔๖๙
ปีถัดจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์
ในวันนั้น
ท่านหญิงในวัย ๘ ปี
เสด็จจากตำหนักพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ซึ่งเป็นที่พำนักของพระสุจริตสุดา
(เปรื่อง สุจริตกุล) พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ได้เลี้ยงดูท่านหญิงมาตั้งแต่อายุ ๒
ขวบครึ่ง ตำหนักนั้นอยู่บน
“เกาะกวาง” ใกล้พระที่นั่งวิมานเมฆ ท่านหญิงเสด็จด้วยเรือพาย ตามคลองเล็กๆจนถึง “อ่างหยก” ขึ้นบนบกที่ท่าน้ำ ”เรือนต้น” แล้วทรงพระดำเนินจากที่นั่นไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน
แสดงว่ายังมีการใช้เรือเป็นพาหนะสัญจรภายในพระราชวังดุสิต ในสมัยนั้น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระเมตตาชุบเลี้ยงเด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่
แต่ไม่ทั้งหมดเป็นหม่อมเจ้าชาย มาตั้งแต่ยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรส
และเรื่อยมาแม้เมื่อทรงครองราชย์แล้ว
หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เป็นอีกองค์หนึ่ง
ซึ่งได้เข้าถวายตัวในช่วงใกล้ๆ กับท่านหญิงสีดาฯ
ท่านชายทรงเล่าไว้ว่า
รับสั่งกับเสด็จพ่อของท่านชายว่า [3] “เด็กคนนี้น่าเอ็นดูดี เอามาให้ฉันเลี้ยงเถอะ[4]
และแล้วท่านชายซึ่งเดิมรู้สึกกลัวเกรง “พระเจ้าแผ่นดิน”
อยู่บ้างก็ทรงพบว่า
“พระทัยดีและมีเมตตารักใคร่เด็กๆ
ผมจึงคลายใจลง” [5]
อีกพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต [6]
พระราชกิจกับเด็กๆ :โรงเรียนในบ้าน (home
school)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเลี้ยงดูเด็กๆเหล่านี้ไว้ใกล้ชิดพระองค์ “อยู่กับท่านตลอด
ยกเว้นตอนไปเรียนหนังสือและรับประทานอาหาร
แต่เวลาน้ำชาก็ร่วมด้วยเสมอ
มีจานช่องแจกแต่ละคน” [7] ในเวลาเช้า เด็กๆจะเข้าเฝ้าฯในห้องพระบรรทม
ขณะที่กำลังเสวยพระกระยาหารเช้า ท่านหญิงสีดาทรงเล่าว่า “พอเสวยเสร็จ
เขาก็ยกลงมาให้เราได้กินกัน..สนุกมาก...ทรงเพลิดเพลินกับการรุม “โจ๊ะ”
ของพวกเรา... พวกเราก็คุยกับท่าน
แต่ส่วนมากก็คุยกันเอง หรือเล่นเกมส์อะไรกัน ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษ เช่น เสือตกถัง เป็นต้น...”
[8]
ในตอนเย็น
บางครั้ง พระองค์จะเสด็จลงเล่นน้ำกับเด็กๆ
“สมัยนั้นยังไม่มีสระว่ายน้ำในบ้าน
ที่พระที่นั่งอัมพร มีเป็นสระแรกในเมืองไทย เครื่องกรองน้ำและเคมีฆ่าเชื้อก็ยังไม่มี ก็ยังโปรดทรงเล่นน้ำในสระนี้กับพวกเด็กๆเสมอ แม้ว่าจะสกปรก มีกบ เขียดลงไปไข่เต็ม...”[9]
นอกจากนั้นโปรดให้เด็กๆได้เล่นกีฬา
เช่น เทนนิส แบตมินตัน และสควอช (Squash)
ซึ่งทรงเองด้วย
และให้เด็กๆได้รู้จักเก็บรักษาอุปกรณ์กีฬา
เด็กๆจึงได้ทั้งออกกำลังกายและฝึกวินัยไปด้วย บางวันก็โปรดให้เด็กๆแจวเรือออกไปที่เขาดินวนาที่ซึ่งมีศาลาทรงไทยหลังย่อมๆปลูกไว้เป็นที่ทรงพระสำราญพระอิริยาบถ[10]
หากไม่มีพระราชกรณียกิจ ก็จะทรงเล่านิทานแฝงคุณธรรมให้เด็กๆ ฟัง เช่น
เรื่องทาร์ซาน (Tarzan)
ซึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์และธรรมชาติ และการผจญภัยในป่า ท่านชายการวิกทรงเล่าว่า “ทรงทำเสียงประกอบตามบทบาทของตัวละครด้วย”
[11] ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าทรงวางพระองค์เสมือนทรงเป็นพ่อที่ใกล้ชิดกับลูกๆ อีกทั้ง ท่านหญิงสีดาฯ ทรงเล่าว่า แม้จะทรงมีเด็กๆเล่นกัน
คุยกันอยู่รอบพระองค์
ขณะที่ทรงอ่านหนังสืออยู่อย่างเป็นพระกิจวัตรประจำก็ตาม
ก็ยังทรงสามารถแทรกเข้ามารับสั่งในเรื่องที่พวกเขากำลังคุยกันอยู่ได้เสมอ “ ทรงเป็นสุภาพบุรุษแท้ ทรงมีน้ำพระทัยกว้าง (ใจ sport) ทรงฟังความคิดเห็นของทุกๆคน
แม้ของเด็กๆ...ทรงมีนิสัยค่อนข้างเงียบ
แต่บางคราวกับผู้ที่ทรงคุ้นเคย
ก็ทรงสนุกสนาน
และทรงเป็นกันเองมาก...” [12]
ในด้านการเรียนหนังสือนั้น ทรงจัดห้องๆหนึ่งของพระที่นั่งอภิเศกดุสิตเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ชาย มีครูจากโรงเรียนดีๆ
และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าไปสอน
โดยต้องพระราชประสงค์จะทรงทดลองจัดเป็นโรงเรียนนำร่องด้วย จึงมีการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ นอกจากนั้นมีการเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และการสอนพระพุทธศาสนาและศีลธรรม รวมทั้งการออกกำลังกายทุกวัน [13]
ส่วนเด็กผู้หญิงซึ่งรวมถึงบุตรีข้าราชบริพารในพระองค์ เรียนหนังสือกับครูผู้หญิง
เป็นต่างหากจากเด็กผู้ชาย
นอกจากการเรียนหนังสือแล้ว บ่อยครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เด็กๆ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย เมื่อเสด็จไปทรงกีฬา หรือแม้แต่งานพระราชพิธี ดังที่หม่อมเจ้าการวิกทรงเล่าว่า
ต้องทรงเป็นมหาดเล็กแต่งเครื่องแบบตามเสด็จ คอยรับพระมาลา
เมื่อทรงถอด หรือพระแสง (ดาบ) มาเชิญไว้
เป็นต้น[14]
เด็กผู้หญิงก็จะทำหน้าที่เสริมนางพระกำนัลตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
ได้ออกงานรับพระราชอาคันตุกะในโอกาสที่เป็นกึ่งทางการด้วย จึงได้ฝึกการใช้ภาษาต่างประเทศไปในตัว
ทั้งนี้รวมถึงเมื่อเสด็จประพาสดินแดนบ้านใกล้เรือนเคียง [15]
การทรงเปิดโอกาสให้เช่นนี้ได้อำนวยให้เด็กๆในพระราชอุปการะทั้งชายและหญิงเติบโตเป็นผู้ที่มีความมั่นใจและรู้จักกาลเทศะในการสมาคมกับผู้คนทั้งในโลกจารีตและในโลกสมัยใหม่
ในการจัดการศึกษาอบรมแก่เด็กๆ นี้ มิได้ทรงละเลยสุนทรียศาสตร์โดยได้โปรดเกล้าฯ
ให้นักดนตรีไทยเดิมชั้นนำ เข้าไปฝึกสอนการเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เช่น จะเข้ ซอ ฆ้อง และระนาด จนกระทั่งปรากฏว่า หม่อมเจ้าการวิกทรงฆ้องได้ดีถึงขนาดที่โปรดเกล้าฯให้ได้ร่วมวง”อัมพร”
วงดนตรีส่วนพระองค์สำหรับพระองค์เอง
และสมเด็จฯนั้นทรงซอ
และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทย ๓ เพลง
ซึ่งเพลงแรกคือ “ราตรีประดับดาว” (เถา)
ซึ่งบรรเลงออกอากาศทางวิทยุซึ่งเพิ่งมีขึ้นในสมัยนั้น มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า
“เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง” ซึ่งหมายถึงว่า “ในหลวง” ทรงแต่ง มากกว่าใน
“วังหลวง” คือ พระบรมมหาราชวัง
หากแต่น่าจะเป็นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระราชวังดุสิต
การทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นพระจริยวัตรประจำทุกวันพุธและวันศุกร์ ซึ่งเด็กๆก็จะเฝ้าอยู่แทบพระบาท ทรงอธิบาย “หนังเงียบ” ให้พวกเขาเข้าใจ
หรือบางครั้งทรงซอคันเล็ก
ซึ่งราชสกุลบริพัตรทูลเกล้าฯถวาย (“ซอตุ๋น”) คลอเบาๆ ระหว่างพักพระราชทานเลี้ยง “ไอศกรีมโซดา”
ซึ่งเด็กๆชื่นชอบมาก
พระราชกิจ ณ สวนจิตรลดา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ผนวกรวมสวนจิตรลดาเข้าไว้ในพระราชวังดุสิต
และได้ทรงใช้เพื่อประโยชน์อย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างสนามกอล์ฟหลวงขึ้น เข้าใจว่าเมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๔๗๓ เพื่อเป็นสนามสำหรับเสด็จไปทรงกอล์ฟเป็นการส่วนพระองค์กับเจ้านายและข้าราชบริพาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
ก็ได้ทรงสนองพระราชนิยมด้วย
เมื่อการกีฬากอล์ฟกลายเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ข้าราชบริพาร อีกทั้งชนชั้นนำอื่นๆทั้งบุรุษและสตรี
เรื่องการเล่นกอล์ฟจึงเป็นข้อสนทนากันในราชสำนักจนเกินกาลเทศะ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งกล่องค่าปรับขึ้น อาการดังกล่าวจึงลดลง นอกจากจะทรงใช้ส่วนพระองค์แล้ว ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัด
และเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันกอล์ฟชิงถ้วยชนะเลิศแห่งสยาม ซึ่งเป็นถ้วยพระราชทานเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ อีกด้วย
โดยในขณะนั้น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นนายกกรรมการ
สมาคมกอล์ฟแห่งสยาม นายทิม กันภัย
เป็นผู้ชนะเลิศ และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่
๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔
เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแข่งขันกอล์ฟชนะเลิศแห่งคณะกอล์ฟสมัครเล่นกับการแข่งขันชนะเลิศฝ่ายสตรี และพระราชทานรางวัลด้วย[16]
ประการที่สอง
ด้วยเหตุที่การถ่ายภาพยนตร์เป็นพระราชกิจส่วนพระองค์ที่โปรดมากพอๆ
กับการทรงถ่ายภาพนิ่งอีกทั้งมีเจ้านายและชนชั้นนำอื่นๆ นิยมเช่นกัน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการประชุมนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นเพื่อก่อตั้งสมาคมขึ้นเป็นศูนย์กลาง เสด็จฯเป็นองค์ประธานในที่ประชุม เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้ชื่อว่า
“สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม”
ใช้อักษรย่อว่า “ส.ภ.ส”
ภาษาอังกฤษว่า Amateur Cinema Association of Siam
(A.C.A.S) เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสำนักอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา สมาชิกประชุมกันเดือนละครั้ง
เพื่อนำภาพยนตร์ฝีมือของตนไปฉายให้ได้ติชมกัน โปรดเกล้าฯให้ทำแหนบหรือเข็มชนิดหนึ่งด้วยทองคำแบบตราอาร์มมีอักษรลงยาในวงตราว่า
ส.ภ.ส. เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง
มีพระมหามงกุฏอยู่เบื้องบนของตัวอักษร ลงยาว่า “ส.ภ.ส”
ในกรอบสี่เหลี่ยมติดกันคล้ายแผ่นฟิล์มภาพยนตร์
ต่อมาสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต และกรมพระกำแพงเพชรทรงเป็นสภานายกตามลำดับ มีคณะอนุกรรมการแผนกขายของ และแผนกห้องสมุดภาพยนตร์
โดยแผนกขายของมีหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา
(สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ในภายหลัง) ทรงเป็นอนุกรรมการ ครั้งหนึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์ “อัมพร” ของหลวง
เรื่องการเสด็จประพาสเกาะบาหลี เมื่อ พ.ศ.
๒๔๗๒
ออกฉายและยังได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเป็นตอนๆ จนตลอดด้วย
ซึ่งมีรายงานว่า “พระราชกระแสแจ่มใสไพเราะ และยังพระราชทานความขบขันอีกหลายตอน”[17]
ประการที่สาม
ได้โปรดเกล้าฯให้ย้าย โรงเรียนเยาวกุมาร จากพระที่นั่งอภิเศกดุสิตไปที่กรมมหาดเล็กในสวนจิตรลดา
( ซึ่งต่อมาในรัชกาลปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุอ.ส. (อัมพรสถาน)
พระราชวังดุสิตและปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมราชองครักษ์) ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นผู้หนึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปเป็นนักเรียนที่นั่น เล่าว่า”ในนั้นเป็นสนามกอล์ฟ
เป็นป่าทั้งนั้น...มีนักเรียนอยู่ ๑๕ คน ๑๖ คน...ผมยังจำได้ปี ๒๔๗๕ โรงเรียนเล่นละคร ผมเป็นนกโพราดก
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
เสด็จประทับทอดพระเนตร เสร็จแล้วก็(ทรง) เอาเด็กๆมานั่งตักด้วย ถ่ายรูปกัน วันนั้นเสด็จฯกลับ ๒ ยาม เด็กๆก็วิ่งดันหลังรถ ร้องไชโย
ไม่มีใครเหนื่อย” [18] ครั้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้เลิกโรงเรียนนี้ไป
คงเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งในการนั้นได้เสด็จออกสีหบัญชร
เมื่อมีการเชิญรัฐธรรมนูญออกให้ประชาชนได้เห็นที่บริเวณปะรำที่สนาม
พระราชพิธีนั้นตลอดจนพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และสมโภชรัฐธรรมนูญ ณ
พระที่นั่งองค์ดังกล่าว
ได้โปรดเกล้าฯให้บันทึกเป็นภาพยนตร์ไว้ด้วย
โดยได้เสด็จฯทรงอำนวยการเตรียมการถ่ายภาพยนตร์ด้วยพระองค์เอง
ต่อมาหนึ่งปีให้หลัง คือ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
พระองค์ได้เสด็จฯไปทรงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งกึ่งหนึ่ง แต่งตั้งกึ่งหนึ่ง ครั้งแรกที่พระที่นั่งอนันต์ โดยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา สภาฯได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประชุม
และพระที่นั่งอภิเษกดุสิตเป็นที่ตั้งของสำนักงาน ตราบจนกระทั่งได้สร้างอาคารรัฐสภาปัจจุบัน เสร็จในพ.ศ. ๒๕๑๗ ในบริเวณหลังพระที่นั่งอนันต์
ทั้งนี้ เลขาธิการรัฐสภาได้มีดำริตั้งแต่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างรัฐสภานี้ใน
พ.ศ. ๒๕๑๒
ว่าสมควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นด้วย แต่ปรากฏว่า มีข้อขัดข้องต่างๆเรื่อยมา
ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับสถานที่ตั้งว่าจะเป็นที่หน้าอาคารหลังใหม่ หรือในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ในที่สุดตกลงได้สร้างที่หน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานเช่นกัน และแต่เดิมเป็นที่ตั้งของ “ฝ่ายหน้า”
(บุรุษ) มีทิมดาบกรมวัง เป็นต้น อยู่ด้านในของประตูประสิทธิ์สุรเดช ถัดไปจากโรงช้างต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๒๓[19]
บทความนี้ได้เล่าขานมาถึง
๔ ตอนว่า
พระราชวังดุสิตมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเกือบตลอดพระชนมชีพอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุนี้
การที่พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ตั้งสถิตอยู่ในเขตพระราชฐานของพระราชวังดุสิตเช่นนี้ จึงเหมาะสมอยู่แล้ว ด้วยอยู่ใกล้กับสถานที่ซึ่งเคยทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ อีกทั้ง
เมื่อรัฐสภาย้ายที่ทำการไปแล้วในภายหน้า
ทำเลที่ตั้งริมถนนอู่ทองในก็สามารถที่จะได้รับการบริหารจัดการให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ไปถวายราชสักการะได้ทุกเมื่อเชื่อวันมากกว่าที่จะกระทำได้ในปัจจุบัน เฉกเช่น
ที่ทำได้ในกรณีของพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕
ที่ลานพระราชวังดุสิต และรัชกาลที่
๖ ที่หน้าสวนลุมพินี
สถานที่สองแห่งซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับพระองค์นั้นๆ
[พช/พระราชวังดุสิต+ร.๗ (๔)/ม.ค. ๒๕๕๖]
[1] พระสนับเพลาแพรจีน = กางเกงแพรแบบจีน ; เสื้อกุยเฮง = เสื้อคอกลม
ผ่าอกตลอด ติดกระดุม ; พระมัสสุ = หนวด; พระฉวี =
ผิว.
[2] “อัตชีวประวัติ ในที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส . กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔ ) จำกัด, ๒๕๓๓, หน้า ๔๓.
[3] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรษฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ
[4] “นรุตม์” (ลำดับเรื่อง) ใต้ร่มฉัตร
: หม่อมเจ้าการวิก
จักรพันธุ์. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์,
๒๕๓๙, หน้า ๓๓.
[5] เพิ่งอ้าง , หน้า 34.
[6] พระโอรสใน
สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระอนุชาในพระมารดาเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อทรงสละราชสมบัติแล้ว
ได้ทรงจดทะเบียนพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯเป็นพระราชบุตรบุญธรรม.
[7] มจ. สีดาดำรวง อ้างแล้ว,
หน้า ๔๕. ประมาณ 16.00-17.00 น. “เวลาน้ำชา”
หมายถึงเวลาน้ำชาตอนบ่าย (afternoon tea) ตามแบบอังกฤษ
ซึ่งมีแซนด์วิช ขนมปังปิ้ง และขนมให้รับประทานพร้อมกัน แต่ในราชสำนักอาจมี ของว่างแบบไทย เช่น
ปั้นสิบ ไส้กรอกปลาแนม หรือเกี๊ยวน้ำ
เป็นต้น ด้วย ทั้งอาจจัดที่สนามหญ้า หรือระเบียง
(ดูภาพประกอบ)
[8] ที่เดียวกัน.
[9] ที่เดียวกัน.
[10] เลื่อน เทพหัสดิน ณ อยุธยา,
คุณหญิง. “
เรื่องเล่าจากแม่ : กุลสตรีห้าแผ่นดิน” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ
ณ เมรุวัดโสมนัสราชวรวิหาร วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕. กรุงเทพฯ : บริษัทจรัลสนิทวงศ์การพิมพ์จำกัด,๒๕๕๕, หน้า ๑๐๕.
[11] ใต้ร่มฉัตร (อ้างแล้ว),หน้า ๓๘.
[12] หม่อมเจ้าสีดาดำรวง (อ้างแล้ว), หน้า ๔๕.
[13] ใต้ร่มฉัตร, (อ้างแล้ว), หน้า ๓๗.
[14] ใต้ร่มฉัตร, (อ้างแล้ว) ,หน้า ๓๙.
[15] หม่อมเจ้าสีดาดำรวง. (อ้างแล้ว),หน้า ๕๐. เช่น
การร่วมในการพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายใน แก่เจ้าชายเฟดริค
มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ที่ พระที่นั่งอัมพรสถาน
ซึ่งเสด็จมาเยือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นต้น
[16] บรรเจิด
อินทุจันทร์ยง (บก.) จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันฯ ภาคปลาย. (กรุงเทพฯ
: วัชรินทร์การพิมพ์, #*$%ม หน้า ๗๕๙
และ ๘๓๓.
[17] โดม สุขวงศ์ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกับภาพยนตร์” ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเรื่อง สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษาและฝ่ายวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๗ – ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
หน้า ๑๔ -๑๙.
[18] ระพี สาคริก, ศาสตราจารย์. คำบรรยายเรื่อง “วิทยาการเพื่อชีวิตและสังคม”
ในการสัมมนาผู้รับทุนการศึกษาฯ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ ใน รายงานกิจการประจำปี
๒๕๔๗ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รัฐสภา,
๒๕๔๘, หน้า ๑๒- ๑๓.
[19] ศึกษาเรื่องจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จาก
หะริน หงสกุล,
พลอากาศเอก ”พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ตีพิมพ์ซ้ำใน รายงานประจำปี
๒๕๕๐ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รัฐสภา, ๒๕๕๑,หน้า ๙ - ๒๗.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น