ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การสละราชสมบัติและพระตำหนักในอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

 

“ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ

อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป

 แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลาย

ของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยฉะเพาะ[1]

เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและ

โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

            พระราชประสงค์ในการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๗๗   ณ พระตำหนักโนล   ประเทศอังกฤษ นับเป็นการยุติสภาวะความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕  ดังข้อความวรรคข้างต้นที่ได้รับการอ้างถึงอย่างกว้างขวาง

            เหตุผลของการสละราชสมบัติวิเคราะห์ได้จากข้อความพระราชหัตถเลขาจำนวน ๖ หน้าคือ  การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นมิได้ทำให้เกิดเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน  เพราะคณะผู้ปกครองมิได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง  การกำหนดนโยบายต่างๆ ตกอยู่ในอำนาจของผู้ก่อการฯ ทั้งสิ้น  เมื่อแรกที่มีการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น  พระบาทพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินยอมให้คณะผู้ก่อการฯ ปกครองประเทศภายใต้พระปรมาภิไธยของพระองค์ เพราะทรงวางพระทัยว่าคณะผู้ก่อการฯจะปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญ  ซึ่งตรงกับพระราชประสงค์ที่จะให้มีการปกครองตามระบอบดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไป  โดยมิให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งอาจจะนำผลร้ายเกิดขึ้นในภายหลัง  ดังนั้น จึงทรงโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของคณะราษฎร เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างสงบสุขและราบรื่น    
            ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า  แนวโน้มทางการเมืองในเวลาต่อมา มิได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและหลักความยุติธรรม  ดังนั้น จึงทรงพยายามให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อ “ขจัดการเล่นพวก”  โดยทรงยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท  คือ สมาชิกประเภทที่ ๑    เป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง  และสมาชิกประเภทที่ ๒  เพื่อถ่วงดุลทางการเมืองซึ่งกันและกันโดยพระองค์จะทรงพระราชทานการแนะนำตามที่ทรงเห็นสมควร  แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงมีโอกาสแนะนำการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ เลย   และสมาชิกทั้งสองประเภทกลายเป็นกลุ่มคนพวกเดียวกับคณะราษฎร  ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตยที่ผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐเป็นคนกลุ่มเดียวกัน  ทำให้การเมืองสยามมีความปั่นป่วนและยังก่อให้เกิดเหตุการณ์การใช้กำลังทหารก่อรัฐประหารตามมา                   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามเรียกร้องต่อฝ่ายผู้มีอำนาจทางการเมืองเพื่อปรับเปลี่ยนให้การปกครองดำเนินไปตามวิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริง  โดยให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะมีเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญอันก่อให้เกิดผลได้ผลเสียแก่ประชาชน  แต่ก็มิได้รับการสนองตอบ  ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการออกกฎหมายปราบปรามบุคคลที่คาดว่าจะเป็นภัยแก่คณะผู้ก่อการฯเอง โดย มีการตั้งศาลพิเศษที่มิได้มีการพิจารณาความผิดอย่างเปิดเผยในศาลสถิตยุติธรรม  ซึ่งนับเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง
             เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า  การเมืองขณะนั้นมิได้เป็นการปกครองตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยและหลักความยุติธรรมแล้ว นอกจากนี้พระองค์ไม่ทรงอาจคุ้มครองประชาชนตามหลักการของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญได้  โอกาสสุดท้ายที่จะทรงแสดงให้เห็นว่า  พระองค์ไม่ทรงเห็นพ้องด้วยการกระทำของคณะผู้ก่อการฯ  และไม่ทรงยินยอมให้ใช้ “วิธีการปกครองเช่นนั้น” ในพระนามของพระองค์อีกต่อไป  คือ การปลีกพระองค์ออกจากราชบัลลังก์  เพื่อทรงตอกย้ำหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามที่ทรงยึดถือ ให้ “ดำรงความหมาย” ต่อไป แม้เมื่อไม่มีพระองค์แล้ว กับได้ทรงอำนวยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่สืบต่อมาในฐานะสถาบันพระประมุข

            หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสละราชย์  ประมาณ ๑๐ วัน ได้ทรงมีพระราชโทรเลขตอบหนังสือกราบบังคมทูลฯของรัฐบาลเรื่องสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับทราบเรื่องการทรงสละราชสมบัติ ความว่า

“ ..ข้าพเจ้าและพระชายาขอขอบใจรัฐบาลที่แสดงความหวังดีมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ข้าพเจ้าและรัฐบาลไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ในปัญหาต่างๆ ซึ่งเรามีความเห็นแตกต่างกัน ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลมั่นใจว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความโกรธขึ้งหรือแค้นเคือง เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเลย และขอให้คณะรัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จทุกประการ...”

             หลังสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับในประเทศอังกฤษต่อไปจนสวรรคต  บทความนี้ขออธิบายถึงพระตำหนักในประเทศอังกฤษ ดังนี้

            ๑) พระตำหนักโนล ตั้งอยู่ที่ตำบลแครนลี จังหวัดเซอร์เร่ย์ ใกล้เมืองกิลล์ฟอร์ด ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๕ ไมล์ ทรงเช่าจากลอร์ดและเลดี้แสกวิลล์ (Lord and Lady Sackville)  เป็นคฤหาสน์ขนาดใหญ่สีเทา มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาโร๊ค หน้าต่างสูงแบบฝรั่งเศสมีปล่องไฟสูงจำนวนมาก อาณาบริเวณโดยรอบกว้างขวางสวยงามด้วยพฤกษานานาพันธุ์ ปัจจุบันคฤหาสน์แห่งนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นสถานพักฟื้น เรียกว่า โนล พาร์ค เนอร์สซิ่งโฮม ยังคงมีสวนไม้ดอกไม้ประดับนานาชนิด ชาวบ้านในแถบนั้นยังคงเล่าขานถึงล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ด้วยความประทับใจในพระราชจริยวัตร ดังได้ตั้งชื่อห้องชุดของสถานพักฟื้นขอเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ว่า "The Siam Suite" ตำหนักโนลมีความสำคัญในพระราชประวัติเพราะเป็นสถานที่ทรงลงนามสละราชสมบัติ  เนื่องจากมีลักษณะเป็นตึกที่ทึบไม่ค่อยเหมาะสมกับพระอนามัย อีกทั้งค่าเช่าค่อนข้างสูง ทรงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง ดังนั้น เมื่อจะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อไป อย่างไม่มีกำหนด จึงทรงเสาะแสวงหาที่ประทับที่อื่น

            ๒) พระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์  เป็นพระตำหนักที่ทรงซื้อ ตั้งอยู่ในตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) ทางเหนือของจังหวัดเซอร์เร่ย์  แต่ใกล้เมืองสเตนส์ (Staines) ซึ่งอยู่ในจังหวัดมิลเดิลเซกซ์ (Middlesex) ขนาดของพระตำหนักเล็กลง แต่ก็ยังใหญ่โตและมีเนื้อที่กว้าง ด้วยทรงพระราชดำริว่า ยังต้องทรงดำรงพระเกียรติยศในฐานะอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่ก็ได้ทรงอนุโลมตามประเพณีท้องถิ่นแถบนั้นซึ่งมักตั้งชื่อบ้านโดยมีคำว่า Glen นำหน้า ตามลักษณะภูมิประเทศ โดย Glen หมายถึงหุบเขา จึงพระราชทานนามพระตำหนักนี้ว่าเกล็นแพ็มเมิ่นต์ (Glen Pammant) ซึ่งทรงกลับตัวอักษรมาจากวลีที่ว่า ตามเพลงมันซึ่งสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า Tam Pleng man อันหมายถึงว่า  แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้นเพราะทรงสละราชย์แล้ว

            ๓) พระตำหนักเวนคอร์ต (Vane Court) ทรงซื้อและเสด็จเข้าประทับเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นตึกผนังถือปูนสีขาวประกบด้วยท่อนไม้โอ้ค (Oak beamed) ทาสีดำแบบทิวเดอร์ (Tudor) คานค้ำพื้นชั้นบนที่เพดานเป็นท่อนซุงใหญ่ แต่ถูกเวนคืนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากใกล้สมรภูมิในการสงคราม

            ๔) พระตำหนักหลังสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จปกเกล้าฯประทับ คือ พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House) มีลักษณะเป็นบ้านคหบดีธรรมดา     กระทั่งวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักหลังน้อย ด้วยพระหทัยวาย สิริพระชนม์ได้  ๔๘ พรรษา


พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House)  สถานที่สวรรคต มีลักษณะเป็นบ้านคหบดีธรรมดา 
 

                        ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมภาพและเรื่องราวรายละเอียดของพระตำหนักในประเทศอังกฤษได้ที่นิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศได้ทุกวันในเวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ยกเว้นวันจันทร์



[1] สะกดตามต้นฉบับพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันพุธที่ 13 มีนาคม 2556 ดิฉันได้มีโอกาสไปถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวที่รายการวิทยุรัฐสภา
และขอขอบคุณเนื้อหาเกี่ยวกับพระตำหนักในประเทศอังกฤษจาก ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั