ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
การตากอากาศชายทะเลเป็นรสนิยมของชนชั้นสูงที่แพร่เข้ามาพร้อมกับชาวตะวันตก
ผ่านความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่และการคมนาคมทางรถไฟ
การเริ่มต้นไปตากอากาศชายทะเลในสยามเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
จากการเรียกร้องของชาวอังกฤษในกรุงเทพฯที่ต้องการสถานที่พักผ่อนชายทะเล
เพื่ออากาศบริสุทธิ์และการรักษาสุขภาพ
เช่นเดียวกับการขอให้ทางการตัดถนนเพื่อขี่ม้าออกกำลังกายและการขอเช่าที่ดินแถบทุ่งพญาไทเพื่อการสร้างสนามม้า
การขยายตัวออกไปด้วยเส้นทางคมนาคมทางรถไฟสายใต้ที่สร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๖ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสถานพักตากอากาศที่ชื่อว่า “หัวหิน”
ทางรถไฟสายใต้เปิดเดินทางจากสถานีบ้านชะอำ-หัวหิน
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔
ก่อนหน้านั้นได้เปิดเดินรถไฟจากสถานีธนบุรี-เพชรบุรี เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๖ และจากสถานีเพชรบุรี-บ้านชะอำ เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔
(สงวน อั้นคง ๒๕๑๔.: ๔๐๑)
การขยายเส้นทางรถไฟถึงหัวหินทำให้ชนชั้นสูงไม่ต้องนั่งเรือออกอ่าวไทยไปเกาะสีชังให้ลำบากเช่นสมัยก่อน การโดยสารรถไฟมาหัวหินมีความสะดวกมากกว่า สามารถขนข้าทาสบริวารเดินทางมาด้วยกันทั้งขบวน
ลักษณะภูมิประเทศอันงดงามของชายหาดบริเวณนี้เป็นเหตุจูงใจให้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง
คหบดีจากกรุงเทพฯ
เริ่มมาสร้างบ้านพักชายทะเล
พระราชวังของพระมหากษัตริย์
เช่น พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และวังไกลกังวล ส่วนบรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงก็นิยมสร้างบ้านพักในบริเวณนี้เช่นกัน
ความเหมาะสมของการเป็น “สถานที่ตากอากาศ”
ของหัวหินปรากฏอยู่ในพระวินิจฉัยของพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงและเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ว่า
“อากาศในตำบลนี้แห้งมากและเย็นสบายผิดกว่าที่อื่น
ไม่มีที่ใดในพระราชอาณาเขตร์ที่มีอากาศแห้งและความร้อนหนาวของอากาศจะเป็นปรกติ
ไม่ผันแปรเท่าที่ตำบลนี้
เป็นที่สำหรับคนป่วยไปพักรักษาตัวแลคนธรรมดาไปพักตากอากาศ...” ( กรรณิการ์ ตันประเสริฐ :๒๕๔๖: ๓-๔)
นับตั้งแต่นั้นมาหัวหินก็เติบโตเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง
กลายเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
ปัจจุบันก็ยังมีการจัดเทศกาลเพลงแจ๊ส (Jazz Festival)
ตามพระราชนิยมและมีการถือครองที่ดินของคนต่างชาติที่มีคู่สมรสเป็นหญิงไทย
และมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพำนักแบบ (Long Stay : การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว)
ในอัตราที่สูง ซึ่งมองจากภายนอกหัวหินเป็นเมืองแห่งมนต์เสน่ห์ทางการท่องเที่ยว
วิวัฒนาการเชิงภูมิศาสตร์สังคม
พื้นที่หัวเมืองชายทะเลแถบเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
หลักฐานพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุถึงการเสด็จฯประพาสชลมารคมาตามหัวเมืองดังกล่าวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถไปถึงเขาสามร้อยยอด
และขากลับยังได้เสด็จฯประทับแรมที่บ้านโตนดหลวง ในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีด้วยและในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์เสด็จฯประพาสทางเรือไปยังเพชรบุรีและประชวรระหว่างทาง
แต่เมื่อเสด็จฯถึงชายหาดแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี พระอาการประชวรก็หายไป
จึงพระราชทานนามให้แก่ชายหาดแห่งนั้นว่า หาดเจ้าสำราญ (กรมศิลปากร : ๒๕๓๔ : ๑๗๖)
วิวัฒนาการเชิงภูมิศาสตร์สังคมของเมืองหัวหินแบ่งออกเป็น ๔
ยุค ดังนี้
ยุคที่๑
ชุมชนเกษตรกรรมพื้นบ้านและหมู่บ้านชายประมงชายฝั่ง
อรุณ กระแสสินธุ์ เล่าถึงการสร้างบ้านเรือนของราษฎรกลุ่มแรกในหัวหินว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ
๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยถือเอา พ.ศ. ๒๓๕๒
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
เสด็จฯยาตราทัพมาทางปักษ์ใต้จากเมืองเพชรบุรีผ่านตำบลชะอำ และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน)
มหาดเล็กผู้โดยเสด็จฯบันทึกเป็นโคลงนิราศอ้างถึงชุมชนชาวชะอำและชุมชนชาวทับใต้
(เทศบาลเมืองหัวหิน : ๒๕๔๙: ๔) ไม่ปรากฏชื่อหมู่บ้านบางควาย ตำบลห้วยทราย ตำบลบ่อฝ้าย
หรือตำบลหนองแกเพราะตำบลทับไต้อยู่ห่างจากตำบลหัวหินไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ
๑๒๐ เส้นหรือประมาณ ๙.๖ กิโลเมตร (เทศบาลเมืองหัวหิน : ๒๕๔๙
: ๕) โคลงนิราศนรินทร์ ชี้ให้เห็นว่าในพ.ศ. ๒๓๕๒
ตำบลหัวหินอาจจะยังไม่ตั้งขึ้นเพราะสภาพภูมิประเทศยังเป็นป่าทึบ
แต่อาจมีชาวบ้านตำบลหนองแกหรือตำบลชระอำมาทำไร่แตงโมบ้างเป็นกลุ่มๆ
ชุมชนใกล้เคียงที่สุดอยู่ห่างไปทางทิศใต้ คือ หมู่บ้านชาวประมง “เขาตะเกียบ” ห่างจากหัวหินราว
๗ กิโลเมตร ส่วนทางเหนือก็มีชุมชนบ้านบ่อฝ้ายตั้งอยู่ ต่อมาก็มีราษฎรจากบ้านบางจานและบ้านบางแก้ว
จังหวัดเพชรบุรี
ซึ่งประสบกับปัญหาการทำมาหากินชักชวนกันมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่รกร้างที่ตำบลหัวหินเพิ่มขึ้น ในปีพ.ศ.๒๓๗๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ ๓) พบว่าในเขตพื้นที่เมืองเพชรบุรีมีหาดทรายชายทะเลแปลกกว่าที่อื่น คือ
มีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่อย่างสวยงาม
จึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมหัวหินอาจมีชื่อเรียกกันว่า “บ้านสมอเรียง” “บ้านหินเรียง” “บ้านหัวกรวด” และ “แหลมหิน” เป็นต้น
คำว่า “สมอ”
นั้นอาจเพี้ยนมาจาก “ถมอ” ในภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า “หิน”
คนรุ่นใหม่อาจตั้งข้อสงสัยว่า
ภาษาเขมรเข้ามาเกี่ยวกับภูมิภาคชายฝั่งตะวันตกได้อย่างไร จึงขออธิบายโดยสังเขปว่า
นับแต่สังคมไทยรับเอาภาษาขอม-เขมรมาใช้ตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะในคัมภีร์ใบลานก็มีการจารึกเนื้อหาของพระไตรปิฏกเอาไว้
ทำให้ผู้ที่จะสอบเปรียญต้องศึกษาอักษรขอม-เขมรให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถสอบคัมภีร์ใบลานผ่านได้ วัฒนธรรมดังกล่าวเลิกไปหลังพ.ศ.๒๕๐๐ ไม่นานนัก
กระนั้นก็ตามรีสอร์ทบางแห่งของทายาทชนชั้นสูงยังได้พลิกแพลงย้อนกลับไปนำภาษาเขมรโบราณมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เนมใหม่ว่า “กบาลถมอ” ซึ่งแปลว่า “หัวหิน”
นายทักษ์
เตชะปัญญา อดีตประธานสภาเทศบาลตำบลหัวหินให้สัมภาษณ์แก่แพทย์หญิงกรรณิการ์
ตันประเสริฐเมื่อพ.ศ.๒๕๔๔ ว่า
“...สมัยกรมพระนเรศวรฤทธิ์ท่านเสด็จมาประทับเป็นประจำเสมือนหนึ่งเป็นชาวหัวหินก็บอกว่า ชื่อแหลมหินมันเชยเปลี่ยนเสียใหม่ว่า
หัวหิน....” (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ :๒๕๔๖
:๔๗)
สรศัลย์ แพ่งสภากล่าวในหนังสือ
ราตรีประดับดาวที่หัวหิน ว่าปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องกับสมัยรัชกาลที่ ๖ (ระหว่าง
พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๖๐) นายช่างชาวอังกฤษ
ชื่อ มิสเตอร์ เฮนรี กิตตินส์ (Henry Gittins)เจ้ากรมรถไฟหลวงสายใต้
(สรศัลย์ แพ่งสภา: ๒๕๓๙
: ๒๗) สำรวจเส้นทางจากเพชรบุรีมุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทยผ่านภูมิประเทศแห้งแล้งกันดาร
จนพบพื้นที่อ่าวมีหาดทรายสีขาวเป็นแนวยาวจากกลุ่มแนวโขดหินใหญ่จรดเขาตะเกียบ จึงนำความกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินซึ่งดำรงพระยศเป็นที่ปรึกษากรมรถไฟหลวง
เมื่อทางรถไฟสายใต้จากสถานีบางกอกน้อยถึงเขตบ้านสมอเรียงสร้างเสร็จแล้ว ทำให้การคมนาคมไปยังหัวหินสะดวกสบายขึ้น
พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนพ่อค้าและคหบดี
จึงไปซื้อที่ดินบริเวณชายหาดบ้านสมอเรียงซึ่งมีทิวทัศน์งดงาม เพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศและเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า
“หัวหิน” ตามชื่อหาดหน้าพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุลกฤดากร)
เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สร้างพระตำหนักหลังใหญ่ชายทะเลด้านใต้ของหมู่หิน (ติดกับโรงแรมรถไฟหัวหิน)และประทานชื่อว่า“ตำหนักแสนสำราญสุขเวศน์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้า กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงเคยมาประทับพักผ่อนตากอากาศด้วย ต่อมากรมพระนเรศวรฤทธิ์ทรงปลูกตำหนักอีกหลังหนึ่งแยกเป็น
“แสนสำราญ” และ “สุขเวศน์” เพื่อไว้ใช้รับเสด็จฯเจ้านาย
และทรงสร้างเรือนเล็กใต้ถุนสูงเพิ่มอีกหลายหลัง ชื่อว่า บานฤทัย ใจชื่น รื่นจิตต์
ปลิดกังวล ดลสุขเพลิน เจริญอาหาร สมานอารมณ์และรับลมทะเล (ม.ร.ว.รมณียฉัตร
แก้วกิริยา:มปป:99) ต่อมาหมู่เรือเหล่านี้ได้พัฒนาเป็น “บังกะโลสุขเวศน์”
โฮเต็ลรถไฟและเดอะรอยัลหัวหินกอล์ฟคอร์ส(The Royal Hua Hin Golf Course)
หัวหินเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศริมทะเลมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๖๓
ก่อนที่จะเริ่มมีการก่อสร้างสถานีรถไฟหัวหินและสร้างสนามกอล์ฟแห่งแรกของไทยขึ้นในสมัย
รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓- ๒๔๖๘) โดยในครั้งนั้น รัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่ค่ายหลวงบางทะลุ
ปากคลองบางทะลุ ชายทะเลเมืองเพชรบุรี และพระราชทานนามว่า “ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ”
ต่อมาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้นที่ชายหาดตำบลบางกรา (คือ
ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ)ใน พ.ศ.๒๔๖๔
อันเป็นปีที่ทางรถไฟสายใต้เชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟของรัฐมลายู และทรงมีพระราชประสงค์ให้หัวหินเป็นสถานตากอากาศทันสมัยที่สุดในการรับรองชาวต่างประเทศ
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างโฮเต็ลรถไฟหัวหินแห่งสยามประเทศ (Hua Hin Hotel Siam) และสนามกอล์ฟหลวงหัวหินที่สวยงามและได้มาตรฐานที่สุดในภูมิภาคขึ้นโดยเปิดดำเนินการในปีพ.ศ.๒๔๖๕
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานชื่อสนามกอล์ฟแห่งนี้ว่า
“เดอะ รอยัล หัวหิน กอล์ฟ คอร์ส (The
Royal Hua Hin Golf Course-สนามกอล์ฟหลวง)”
ความเฟื่องฟูของหัวหินเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อโปรดเกล้าฯให้สร้างวังไกลกังวลขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ วังไกลกังวล
เป็นวังส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี
โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ อยู่ห่างจากหาดหัวหินไปทางทิศเหนือประมาณ ๓
กิโลเมตร หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร
เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ
พระตำหนักต่างๆในวังไกลกังวล ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระตำหนักปลุกเกษม
ตำหนักเอิบเปรมและตำหนักเอมปรีดิ์ โดยมีวิศวกรชาวต่างประเทศเป็นผู้เดินทางไปควบคุมการก่อสร้างทุกเดือนโดยพักที่โรงแรมรถไฟดังปรากฏหลักฐานค่าใช้จ่ายประกอบด้วย
“ค่าที่พัก ๔ บาท น้ำชาเช้า ๕๐ สตางค์ อาหารเช้า ๑ บาท ๗๕ สตางค์
อาหารกลางวัน ๒ บาท ๗๕ สตางค์ อาหารเย็น ๓ บาท” (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ : เรื่องเดิม : ๑๗ )
รัชกาลที่ ๗ ทรงเรียกวังไกลกังวลว่า สวนไกลกังวล
และไม่ปรากฏหลักฐานเรื่องการยกวังไกลกังวลเป็นพระราชวังในหนังสือราชกิจจานุเบกษา
จึงเรียกวังแห่งนี้ว่าวังไกลกังวลมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี
การขาดแคลนน้ำในหัวหินเป็นปัญหาสำคัญ
โดยปกติน้ำดื่มน้ำใช้ในวังไกลกังวลนำมาจากจังหวัดเพชรบุรีหรือปราณบุรี
ทำให้มีหลักฐานว่าค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ในการประทับแรมที่หัวหินสูงยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้า
(กรรณิการ์ ตันประเสริฐ : เรื่องเดิม: ๓๑)
การสร้างวังไกลกังวลแม้จะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ชาวท้องถิ่นเป็นอันมาก
แต่ก็อาจสร้างความไม่พอใจแก่คนบางกลุ่ม จึงมีผู้ร้ายชุกชุมรบกวนการก่อสร้าง
แม้จะมีการจ้างแขกยามเฝ้าทรัพย์สินเป็นเงินเดือนละ ๓๕บาท
เจ้านายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวหินขณะสร้างวังไกลกังวล
คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
ต้นราชสกุลฉัตรชัย)
สร้างตลาดฉัตร์ไชยบนที่ดินพระคลังข้างที่ โดยทรงออกแบบให้มีหลังคารูปโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน
๗โค้ง หมายถึงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๗ ทั้งตัวอาคารและแผงขายสินค้ามีลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ตัวตลาดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และถูกสุขลักษณะที่สุดขณะนั้น
ชื่อตลาดนำมาจากพระนามเดิมของพระองค์ การสร้างตลาดฉัตร์ไชยทำให้หัวหินเจริญเติบโตขึ้นเป็นสถานตากอากาศหรูหราและมีชื่อเสียงที่สุด แต่มีสิ่งที่น่าแปลกประการหนึ่งคือ
ข้อมูลจากเชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่งเล่าว่า กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินไม่ทรงมีที่ดินในหัวหินเลยแม้แต่น้อย
สิ่งนี้อาจ
สะท้อนให้เห็นว่าทรงปฎิบัติราชการด้วยหลักธรรมาภิบาลและไม่ทรงมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯแปรพระราชฐานมายังหัวหินอยู่เนืองๆ
เอกสารทางการรัชกาลที่ ๗ ระบุว่า ในพ.ศ. ๒๔๗๑ ชาวพระนครและชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวหัวหินถึงราว
๑๐,๐๐๐ คน ปีถัดมา(พ.ศ. ๒๔๗๒ ) ชาวพระนครและชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวหัวหินเพิ่มขึ้นเป็น
๓๐,๐๐๐ คน (กรรณิการ์
ตันประเสริฐ : เรื่องเดิม: ๕)
ยุคที่
๓ .จากยุคคณะราษฎรถึงยุคปริศนาพาฝัน (พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๕๑๐)
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.๒๔๗๕
กระแสต่อต้านเจ้ารุนแรงมาก
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลทรงเล่าว่า
“...หัวหินกลายเป็นที่ชุมนุมชนทุกชั้น มีตั้งแต่คณะรัฐมนตรีใหม่และพระยามโนฯ
นายกรัฐมนตรี พระยาศรีวิศาลวาจาและนายประยูร ภมรมนตรี ออกไปอยู่ตามหัวเมือง พวกทหารโดยมากไม่มีงานทำในหลวงจึงทรงพระดำริจะจับจองที่ว่างทางหลังเขา
แบ่งเป็นผืนๆ ให้พวกเหล่านี้ปลูกปอ
และจะทรงลงทุนทำโรงงานทำกระสอบข้าวเล็กๆขึ้นในแถวนั้น
โปรดให้กรมพระกำแพงฯไปติดต่อกับทางบริษัทในเมืองManila
ยังไม่ทันเป็นผลสำเร็จในหลวงก็ถูกกล่าวหาว่าทำทางไว้จะหนีไปเมืองพม่า
พวกผู้ดีสมัยใหม่ก็ enjoy ไปตากอากาศที่หัวหิน
จนถึงมีรถไฟพิเศษลดราคาสำหรับให้คนไปเที่ยวแน่นๆในวัน weekend และพวกเราที่ถูกเตะออกไปใหม่ๆ
ก็เป็นตัวแมลงสำหรับคนเหล่านี้ไปเดินผ่านดูด้วยความเยาะเย้ยต่างๆ บางคนก็ยังรู้จัก
บางคนก็แกล้งไม่รู้จัก คำว่า “เสรีภาพ” “เสมอภาค” “ภราดรภาพ”
เป็นสิ่งที่มึนเมาอย่างน่าสะพรึงกลัว ครั้งหนึ่งหม่อมเจ้าทองเติม ทองแถม
ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นรถไฟนั่งมาทางกรุงเทพฯ
มีชายคนหนึ่งเข้าไปนั่งข้างๆแล้วเหยียดตีนไปที่หัวเข่าและหัวเราะพูดว่า “ไหนลองเหยียดตีนใส่เจ้าดูสักที” พี่ทองเติม(our cousin) ตอบว่า ‘ได้
แต่อย่าให้ถูกตัวฉันก็แล้วกัน ถ้าถูกจะตบหน้าให้ดูว่าเขาปราบกิริยาชั่วกันอย่างไร’ ชายผู้นั้นก็เลยทำหน้าแหยๆแล้วลุกๆไป...” (ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล : ๒๕๔๖ : ๖๘-๖๙)
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย
ดิศกุลเล่าว่า กระแสต่อต้านเจ้าทำให้หัวหินมีคนแปลกหน้าซึ่ง
ตอนหลังทรงสืบได้ว่าเป็นพวกนักเรียนกฎหมายเดินเล่นทุกหนทุกแห่ง
พลอยทำให้ราษฎรในหัวหินแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ
“...พวกผู้ใหญ่ยังมาหาเจ้าและคอยบอกเหตุการณ์แต่พวกหนุ่มๆ
เปลี่ยนกิริยาเป็นแบบ
เสรีภาพเที่ยวเดินตรวจดูทั้งทางหน้าบ้านหลังบ้านตามสบาย
ถ้าเห็นพวกสาวๆก็ทำ
ท่าทางจะเกี้ยวไปทุกหนทุกแห่ง...” (ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล : เรื่องเดิม: ๗๕)
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย
ดิศกุลบันทึกถึงพฤติกรรมจาบจ้วงของกลุ่มต่อต้านเจ้าว่า
“เย็นวันหนึ่งในหลวงทรงพระดำเนินเล่นตามชายหาดทางโฮเต็ล
ราษฎรหาบของกินขาย
จำได้ก็วางหาบลงนั่งถวายบังคม
ในหลวงตรัสทักว่า ‘ขายอะไร?’ ยายคนนั้นดีใจพนม
มือทูลตอบ
พอเสด็จเลยไปนิดเดียวก็มีชายหนุ่ม ๒ คนแวะเข้าไปขู่ถามยายคนขายของ
นั้นว่า ‘หน้ายาวขึ้นไหมที่ในหลวงพูดด้วยน่ะ?’ ยายคนนั้นตอบว่า ‘ธุระอะไรของมึง’
วันรุ่งขึ้นแกก็มาเล่าให้เราฟังว่า
มันแต่งตัวกางเกงสั้นใส่เสื้อขาว มีผ้าเช็ดหน้าเหลืองโผล่
ที่กระเป๋าเสื้อทั้ง ๒ คนและยังมีพวกใส่หมวก
beret สีน้ำเงินอีกพวกหนึ่งที่รู้กันดีว่าเป็น
พวกเกลียดเจ้า...” (ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล : เรื่องเดิม : ๗๕)
ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
(พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๗) รัฐบาลพยายามปรับปรุงสังคมไทยให้มีวัฒนธรรมทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เช่น
มีการออกรัฐนิยม ซึ่งประกอบไปด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมทั้งด้านภาษา การแต่งกาย ทรงผม
กิริยา มารยาทและอื่นๆ ทำให้ผู้หญิงต้องแต่งกายด้วยกระโปรงกับเสื้อเข้าชุดกัน
สวมหมวก เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบนกับผ้าคาดอก ผู้ชายใส่เสื้อนอกเสื้อในครบชุด
สวมหมวกและเปิดหมวกโค้งคำนับทักทายผู้ใหญ่เห็นชินตาที่โรงแรมรถไฟหัวหิน ผู้มีฐานะและคนชั้นสูงนิยมเดินทางไปพักผ่อนตามชายทะเล
แม้แต่หม่อมเจ้าพจน์ปรีชา พระเอกในนิยายรักอมตะเรื่อง “ปริศนา” ของ ว.ณ. ประมวลมารค(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) ก็ทรงมีตำหนัก “มโนรมณ์” ที่หัวหิน ครอบครัวของปริศนาไปพักบังกะโลของกรมรถไฟหลวง ความรักของ
“ท่านชายพจน์กับปริศนา” ท่ามกลางฟองคลื่นและหาดทรายสีขาวละเอียดโดยมีเสียงเพลง “หัวหินสิ้นมนต์รัก” กังวานก้องห้องเต้นรำของโรงแรมรถไฟ (เพลง “หัวหินสิ้นมนต์รัก” แต่งโดยไสล ไกรเลิศ บันทึกเสียงครั้งแรกพ.ศ. ๒๕๐๔ ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง)
หญิงสาวที่ไปหัวหินมักนุ่งกางเกงขาสั้น
ชุดว่ายน้ำ แต่งหน้า ทาปากและแก้มสีแดงชาด ทำผมหยิกเป็นลอน จนมีชายหนุ่มมาเกี้ยวพาราสีและตกหลุมรัก
จึงมักได้ยินคำถามว่า สุภาพสตรีคนนั้นคนนี้เป็นลูกเต้าเหล่าใคร
มีชาติตระกูลเป็นอย่างไรเพราะหนุ่มสาวที่จะไปเดินเล่นที่ชายหาดหัวหินได้ต้องว่าจัดเป็นคนมีชาติตระกูล
โรงแรมรถไฟซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง
คือ ค่าที่พักและค่าอาหารรวมวันละ ๓๐ บาท ขณะนั้นข้าราชการระดับเจ้าพระยามีเงินเดือนๆละ
๒,๐๐๐ บาท
ส่วนข้าราชการผู้น้อยมีเงินเดือนเพียงเดือนๆละ ๕๐ บาท ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๔
-๒๔๘๘) หัวหินมีบรรยากาศซบเซาเป็นช่วงสั้นๆ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย แต่เจ้านายและคหบดีซึ่งมีที่พักถาวรต่างพากันมาหลบพักที่หัวหินเป็นแรมปี
หลังสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่
๒ ได้ไม่นาน หัวหินกลับได้รับความนิยมอีกครั้งเรียกว่า “ยุคคลั่งไคล้หัวหิน (Hua Hin Fever”ระหว่างพ.ศ.๒๔๙๐ –๒๔๙๒ ) ชาวกรุงเทพฯในวงสังคมทันสมัยต่างพากันไปพักที่บ้านตากอากาศของครอบครัวหรือที่โรงแรมรถไฟ
ช่วงนี้เริ่มมีการสร้างโรงแรมและตึกแถวรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการสร้างโรงแรมหน้าตลาดฉัตร์ไชย
เป็นต้น นิยายเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ตอนมนต์รักที่หัวหินของ ป. อินทรปาลิตกล่าวถึงค่านิยมสมัยนั้นว่า
"...ส่วนประเภทมีสตางค์หน่อย
พอนึกจะไปตากอากาศ ก็เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทาง
แล้วขึ้นรถไฟตรงไปหัวหินทีเดียว ไปถึงที่นั่นหาโรงแรมถูกๆ
พักเล่นข้างแกงตามตลาด เดินย่ำต๊อกวางมาดชายทะเลทุกเช้าเย็น แต่งตัวให้ภูมิฐานหน่อย
อยู่ที่หัวหินสักหนึ่งอาทิตย์พอผิวเนื้อถูกแดดดำคล้ำก็กลับกรุงเทพฯ พบหน้าใครๆ
ก็คุยอวดว่า ไปตากอากาศ ที่หัวหินกลับมา
โรงแรมรถไฟที่นั่นสบายมาก สนามกอล์ฟงดงาม อาหารแพงหน่อย เพื่อนฝูงไม่รู้ความจริงก็เลยนับถือ
เรื่องมันเป็นอย่างนี้จริงๆครับ ไม่ใช่ผมมดเท็จพูด ในวงสังคม ถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งพูดว่า
เขาไปหัวหินกลับมา ก็รู้สึกว่าเป็นของโก้เก๋เหลือเกิน.."
พ.ศ.๒๔๙๓ ผู้ที่มีรถยนต์ก็สามารถไปเที่ยวหัวหินได้อย่างเป็นส่วนตัว
ทางหลวงหมายเลข๔
ถนนเพชรเกษมสร้างเสร็จแล้ว แต่รถยนต์ยังมีราคาแพงทำให้คนรวยยังเป็นผู้นำของการไปเที่ยวหัวหินและนำวัฒนธรรมการเดินเล่นยามเช้า
(Morning walk)
ไปด้วย(เดินจากประตูน้ำไปราชดำริและเพลินจิตเพื่อไปดื่มกาแฟ และรับประทานปาท่องโก๋
(หรือ อิ้วจาก้วย) โจ๊กไก่
หรือต้มเลือดหมู ) เนื่องจากมีการตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่
ถนนวิทยุและถนนราชดำริ
ดังนั้นทุกเช้าจะเห็นนักท่องเที่ยวตากอากาศเดินทักทายคนรู้จักตามชายหาด
แล้วก็ไปหาโจ๊ก หรือกาแฟและไข่ลวกรับประทาน กลายเป็นกิจวัตรยอดนิยมที่ส่งผลให้ “ร้านกาแฟเจ๊กเปี๊ยะ”ขายดี(สุกัญญา
ไชยภาษี : ๒๕๕๑ :๑๐)
ยุคที่ ๔ พ.ศ.๒๕๑๐ -ปัจจุบัน
พาหนะที่ใช้ทั่วไปในหัวหิน
คือ รถสามล้อถีบ
ซึ่งก่อนหน้านั้นแม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จฯทรงตรวจงานการสร้าง
“สวนไกลกังวล”
ก็ยังทรงประทับอย่างผ่อนคลายพระอิริยาบถบนรถสามล้อแบบที่เรียกในปัจจุบันว่า “รถซาเล้ง”
ยุคที่ ๔ พ.ศ.๒๕๑๐ -ปัจจุบัน
ความซบเซาของหัวหินเกิดขึ้นหลังการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่
๑
(พ.ศ.๒๕๐๔-
๒๕๐๙ )
ทำให้มีการตัดถนนทั่วประเทศ
นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น ประกอบกับมีสถานที่พักตากอากาศแห่งใหม่เกิดขึ้น
เช่น สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ชายหาดบางแสนและพัทยา จังหวัดชลบุรี
และการสร้างถนนสุขุมวิทจากกรุงเทพฯถึงจังหวัดตราด
ผู้คนจึงเดินทางไปเที่ยวทางตะวันออกของอ่าวไทยกันมาก เป็นเหตุให้หัวหินเงียบเหงาลง โรงแรมรถไฟประสบภาวะขาดทุนต้องให้เอกชนเข้ามาบริหารกิจการ
ทำให้สถานตากอากาศหัวหิน-ชะอำเสื่อมความนิยมลงไปกว่ายี่สิบปี จวบจนปัจจุบัน
หัวหินกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจากความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์และกลิ่นอายของอดีตที่ผสมผสานกับบรรยากาศการท่องเที่ยวสมัยใหม่
อาทิ การจัดเทศกาลแจ๊สเฟสติวัล(Jazz Festival) การสร้างร้านอาหารเพลินวานเพื่อเลียนแบบวิถีวัฒนธรรม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น