วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ วิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เคมบริดจ์ ถวายปริญญาบัตร |
ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้าฉบับนี้ เป็นฉบับประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ วันที่ ๓๐
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House) ประเทศอังกฤษ ตามธรรมดาคงจะต้องเขียนถึงวาระนั้น แต่เพื่อให้เป็นการรำลึกถึงพระองค์ท่านในอีกรูปแบบหนึ่ง
จึงขอเล่าสู่กันฟังถึงพระราชกรณียกิจอย่างหนึ่งที่สำคัญ และทรงประกอบแต่ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาในพ.ศ. ๒๔๗๔แทน พระราชกรณียกิจที่สำคัญนั้น ก็คือ การพระราชทานสัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์อเมริกันที่โอเฟียร์ ฮอล (Ophir Hall) เมืองไวท์ เพลนส์ (White Plains) ซึ่งทรงเช่าจากนางไวท์ลอว์ รีด ( Mrs. Whitelaw Reid) เป็นที่ประทับ เกือบจะทันทีที่เสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับในปลายเดือนเมษายน ศกนั้น และทรงรับการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้ายที่คฤหาสน์นั้นเอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม โดยมีนายแพทย์จอห์น เอ็ม วีลเลอร์ (Dr. John M Wheeler ) และคณะเป็นผู้ถวายการผ่าตัด ตรงนี้ต้องขอเล่าแถมว่า ท่านผู้นี้เป็นคนละคนกับเซอร์ สตูเวิรต ดยุ๊ค -เอลเดอร์ (Sir Stewart Duke- Elder) ซึ่งถวายการผ่าตัดพระเนตรข้างเดียวกันขั้นที่สองที่ลอนดอนคลินิก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปในพ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ เพราะมีผู้เข้าใจผิดอยู่ว่าเป็นทีมแพทย์เดียวกัน
จึงขอเล่าสู่กันฟังถึงพระราชกรณียกิจอย่างหนึ่งที่สำคัญ และทรงประกอบแต่ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาในพ.ศ. ๒๔๗๔แทน พระราชกรณียกิจที่สำคัญนั้น ก็คือ การพระราชทานสัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์อเมริกันที่โอเฟียร์ ฮอล (Ophir Hall) เมืองไวท์ เพลนส์ (White Plains) ซึ่งทรงเช่าจากนางไวท์ลอว์ รีด ( Mrs. Whitelaw Reid) เป็นที่ประทับ เกือบจะทันทีที่เสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับในปลายเดือนเมษายน ศกนั้น และทรงรับการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้ายที่คฤหาสน์นั้นเอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม โดยมีนายแพทย์จอห์น เอ็ม วีลเลอร์ (Dr. John M Wheeler ) และคณะเป็นผู้ถวายการผ่าตัด ตรงนี้ต้องขอเล่าแถมว่า ท่านผู้นี้เป็นคนละคนกับเซอร์ สตูเวิรต ดยุ๊ค -เอลเดอร์ (Sir Stewart Duke- Elder) ซึ่งถวายการผ่าตัดพระเนตรข้างเดียวกันขั้นที่สองที่ลอนดอนคลินิก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปในพ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ เพราะมีผู้เข้าใจผิดอยู่ว่าเป็นทีมแพทย์เดียวกัน
นายแฮเริลด์ เอ็น. เด็นนี่ (Harold N. Denny ) ได้ตีพิมพ์รายงานข่าวของเขาในหนังสือพิมพ์
เธอะนิวยอร์ค ไทมส์ (The New York Times) ว่า เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ที่โอเฟียร์ฮอล คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์ ๔
คนได้เข้าเฝ้าที่ห้องทรงพระอักษรในบรรยากาศ“ที่เป็นกันเอง”
“ปรากฏชัดในทันทีว่าความสนพระทัยและความรู้ของพระองค์กว้างขวางอย่างน่าประหลาดใจ
การสนทนาครอบคลุมตั้งแต่ปรัชญาการปกครองไปจนถึงพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตร
เบบ รู๊ธ (Babe
Ruth – นักเบสบอลล์) เหวี่ยงไม้ตีลูก
ตั้งแต่ความเป็นอัจฉริยะของชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin )ไปจนถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาในสยาม ทรงมีพระปรีชาเชาวน์เป็นเลิศ พระเนตรฉายแววอย่างที่มิได้บ่งบอกว่าจะทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตรเบื้องซ้ายในสัปดาห์หน้า รับสั่งตอบคำถามต่างๆอย่างคล่องแคล่ว เสมือนว่ากำลังทรงพระสำราญยิ่งกับการนั้น โดยทรงแย้มพระสรวลและทรงพระสรวลอยู่บ่อยครั้ง”
ต่อคำกราบบังคมทูลถามเกี่ยวกับเป้าประสงค์สูงสุดของการปกครองคืออะไร รับสั่งตอบว่า
“เป้าประสงค์ของการปกครองก็คือ การส่งเสริมให้คนจำนวนมากที่สุดมีความสุข เราไม่สามารถวางเป้าหมายให้ทุกคนมีความสุข นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถมุ่งให้คนจำนวนมากที่สุดมีความสุข”
คำถามหนึ่งซึ่งผู้สื่อข่าวไม่แน่ใจว่าควรกราบบังคมทูลถามหรือไม่ คือคำถามที่ว่า
“ปัจเจกบุคคลอาจไม่มีเสรีภาพในระบอบกษัตริย์ที่มีผู้ปกครองพระองค์เดียวมากเท่ากับในระบอบประชาธิปไตยที่มีผู้ปกครองหลายคนใช่หรือไม่?”
“พระองค์อาจจะทรงรู้สึกว่า ในฐานะที่ทรงเป็นอาคันตุกะของประเทศประชาธิปไตย พระองค์ไม่ควรที่จะทรงออกความเห็น” นายเดนนี่เขียนไว้เช่นนั้น และรายงานว่า รับสั่งตอบอย่างทรงทราบกาลเทศะว่า
“รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดก็คือ แบบที่ผู้คนที่อยู่ในระบอบนั้นเห็นว่าเหมาะสม”
ผมกลับคิดว่า รับสั่งตอบอย่างที่ทรงเชื่อมากกว่า
ในโอกาสเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปิดเผยแผนการของพระองค์ในอันที่ประชาชนของพระองค์จะได้มีสิทธิเสียง รับสั่งว่า
“เรากำลังร่างกฎหมายเทศบาลขึ้นเพื่อที่จะทดลองการใช้สิทธิเสียง ภายใต้กฎหมายนี้ ประชาชนจะได้รับอนุญาตให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลบางส่วน”
“ข้าพเจ้าเห็นว่าการเริ่มให้มีสิทธิเสียงควรจะเป็นในระดับเทศบาล
ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนควรที่จะมีสิทธิเสียงในกิจการของท้องถิ่น เรากำลังพยายามจะให้เขาได้เรียนรู้ที่จะทำเช่นนั้น
ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นความผิดพลาดที่เราจะมีการปกครองในระบบรัฐสภาทั้งๆที่ประชาชนยังไม่ได้เรียนรู้เลยที่จะใช้สิทธิเสียงของเขาโดยได้มีประสบการณ์ในการปกครองท้องถิ่น”
หลังจากที่การพระราชทานสัมภาษณ์ได้สิ้นสุดลง
สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ได้ประทานข้อความที่เป็นทางการ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
พระราชทานแก่นักหนังสือพิมพ์ผู้เข้าเฝ้าฯ ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าขออนุญาตมอบข้อคิดแก่ท่านไว้สักเล็กน้อยว่า ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะสามารถทำให้หนังสือพิมพ์ที่มีเสรีภาพซึ่งได้พัฒนาขึ้นในอเมริกาแล้วนี้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น
และพยายามไม่เพียงแต่จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยความแม่นยำและมารยาทที่ดี
หากแต่ทำตัวเป็นสื่อในอันที่จะสร้างความเข้าใจ
และความอดทนอดกลั้นต่อกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด
สันติภาพระหว่างประเทศเกิดขึ้นมา”
นับว่าเป็น “พระราชมรดก”
อีกองค์หนึ่ง
ที่ทรงมอบไว้แก่เราเป็นคติเตือนใจ
[พช /ร.๗
นสพ.อเมริกัน /พ.ค.๕๖.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น