ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

คุณธรรมประจำพระราชหฤทัยสุโขทัยธรรมราชา*




                                                                            
                                                                                            ขอบคุณบทความจาก   รศ. ม.ร.ว.พฤทธิสาณ  ชุมพล

          
อารัมภบท

              สุโขทัยธรรมราชาเป็นพระนามทรงกรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วาระที่ได้ทรงโสกันต์เมื่อพระชันษา 12 ปี ย่างเข้าสู่วัยรุ่นหลังจากนั้นถึง 20 ปี จึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์” 7 ปี และในระบอบ ประชาธิปไตย” 2 ปี ซึ่งในช่วงเวลา 9 ปี ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อยู่นั้น มีผู้รู้ทั้งชาวตะวันออก              คือ กวีปราชญ์รพินทรนาถ ฐากูร และชาวตะวันตก คือ นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน           ใช้พระอิสสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าและ/หรือพระนามทรงกรมนี้ในการทูลเกล้าฯถวายเอกสารซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนพระองค์หรือกึ่งทางการ[พฤทธิสาณ 2537:99 ; Stevens, 2474] อีกทั้งเมื่อได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงกลับมาใช้พระนามทรงกรมนี้อีกในภาษาอังกฤษ [ราชเลขาธิการ 2531:93 ] รวมความว่าพระนามทรงกรมนี้ไม่ผูกพระองค์ติดอยู่กับการเป็นพระมหากษัตริย์
              ผมจึงเห็นเหมาะที่จะใช้พระนามทรงกรมนี้ประกอบชื่อบทแสดงทัศนะของผมในเวทีแสดงทัศนะเรื่อง “ธรรมราชากับคุณธรรมของผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ในการประชุมประจำปีในวาระ    ครบ 10 รอบนักษัตรแห่งพระบรมราชสมภพ เพื่อที่จะสื่อว่าผมกำลังจะนำเสนอทัศนะของผมเกี่ยวกับพระคุณธรรมของพระองค์ในฐานะบุคคลๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดมาในสยามเมื่อ 120 ปี มาแล้ว ซึ่งชะตาชีวิตได้ผกผันให้ต้องรับภารกิจหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองที่ถือคติ “ธรรมราชา” เป็นคติหนึ่งที่สำคัญมานาน อย่างน้อยตั้งแต่สมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
              แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าสิ่งที่ผมจะนำเสนอจะไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ว่าในกรณีใดผู้ใดก็ตาม ผู้แสดง ย่อมต้องบริหารความสัมพันธ์ระหว่างตนกับบทที่ตนแสดงหรือ หัวโขนซึ่งตนสวมอยู่ ในฐานะมนุษย์เขาย่อมมีอุปนิสัยใจคอตลอดจนหลักการความเชื่อที่ยึดถือในตนเองอยู่แล้ว และย่อมต้องนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในกรณีการ ตีบทให้แตกเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ในสถานการณ์การแสดงซึ่งเขาเองคุมไม่ได้ทั้งหมด เพราะขึ้นอยู่กับผู้แสดงคนอื่นบนเวทีและผู้ชมรอบเวทีด้วย ผู้วิเคราะห์ที่มีใจเป็นธรรมย่อมต้องนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาประกอบในการวิเคราะห์เพื่อชี้ว่าเขาแสดงบทได้เหมาะสมหรือไม่ เพียงใด ซึ่งในที่นี้เกณฑ์วัดคุณธรรมของผู้ปกครองก็คือคติ ธรรมราชา
              ผมไม่อาจทำหน้าที่ดำเนินการวัดและประเมินตามเกณฑ์นั้นได้ ด้วยขาดความรู้ความชำนาญในคตินั้น แต่โดยที่ในทางส่วนตัว ผมศึกษาพระ (ราช) กรณียกิจในองค์สุโขทัยธรรมราชามาพอสมควรโดยได้    มุ่งไปที่พระคติประจำพระ (ราช) จริยวัตร จึงจะนำเสนอการ “ยำรวม” หรือจะเรียกให้เก๋ก็คงได้ว่า            “บทสังเคราะห์” ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ออกมาเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งนี้สัก 4 ชุดด้วยกัน และนำมา “จับใส่ในกล่อง”  “ทศพิธราชธรรม” ทั้ง 10 ข้อ ให้พอเป็นเค้าไว้ให้ผู้ทรงภูมิรู้ดีกว่าผมได้กลั่นกรองต่อไป
              แต่ก่อนนี้จะทำเช่นนั้น ผมคิดคำนึงขึ้นมาได้ว่า การได้รับการศึกษาอบรมให้มีความรู้และฝึกฝนจิตใจอย่างเป็นระบบระเบียบเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะเป็นผู้ปกครองทั้งตามคติธรรมราชา   และคติราชาปราชญ์ของเพลโต(Plato’s Philosopher King) ดังนั้นจึงขอเริ่มด้วยการพิจารณาถึงการทรงศึกษาฝึกฝนขององค์สุโขทัยธรรมราชา เพราะ ไม่เคยเห็นว่า มีผู้ใดได้วิเคราะห์พระราชประวัติส่วนนี้ไว้อย่าง     เป็นกระบวนการเดียวกันมาก่อน
ศึกษิตสิกขา : ที่มาแห่งพระคุณธรรม
              ดังที่ทราบกัน องค์สุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ(พระพันปีหลวง)โดยทรงมีพระเชษฐาพระชนนีเดียวกันถึง 6 พระองค์ เมื่อประสูติและทรงพระเยาว์จึงไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าวันหนึ่งพระองค์จะต้องทรงเป็นพระมหากษัตริย์ การศึกษาอบรมของพระองค์ก็คงจะไม่ได้เป็นไปอย่างเข้มข้นเพื่อการนั้น หากแต่เป็นไปตามประเพณีของขัตติยราชกุมาร รายละเอียดเป็นเช่นใดนับว่าหาข้อมูลได้ยาก แต่ก็พอมีว่าทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ของพระองค์ทรงถนอมเลี้ยงพระองค์ไว้ใกล้ชิดพระองค์ แต่ได้ทรงมอบให้เจ้าจอมเยื้อนในรัชกาลที่ 5 หม่อมเจ้าหญิงมนัศสวาสดิ์(ในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระองค์เจ้าหญิง)และหม่อมเจ้าหญิงโพยมมาลย์เป็นพระอภิบาล[ผ่องพันธ์ 2520:12] สมเด็จเจ้าฟ้าฯทรงเล่นกับพระเชษฐาพระชันษาใกล้กันทั้งพระมารดาเดียวกันและต่างกัน และกับหม่อมเจ้าชายหญิงและธิดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งสมเด็จแม่ทรงพระราชอุปการะเลี้ยงดูไว้หลายพระองค์หลายคน
               หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา พระสหายผู้หนึ่งเขียนเล่าไว้ว่า เมื่อหม่อมอายุ 9 ปี              และพระองค์พระชันษา    4-5 ปี พระเชษฐาทรงกำหนดให้พระองค์ทรงเล่นเป็นพระราชา คัดเลือกและดูแลพระมเหสีและเจ้าจอมไปในการเสด็จประพาสทางเรือ องค์ประชาธิปกทรงเลียนแบบอากัปกิริยาและวิธีการที่ทรงสังเกตเห็นในชีวิตจริงได้เป็นอย่างดี[ศรีพรหมา 2550:78-80] การที่ได้ทรงเรียนรู้มาด้วยวิธีการสังเกตด้วยพระองค์เองเช่นนี้กระมัง ซึ่งเป็นเหตุให้เมื่อทรงครองราชย์แล้ว ทรงมีพระราชดำรัสแก่ลูกเสือให้ฝึกสังเกตหาเหตุผลของสิ่งและคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่ออะไรอย่างงมงาย ทั้งนี้ มิควรเข้าใจว่าพระองค์ทรงชื่นชอบที่จะทรงแสดงบทเป็นพระเจ้าอยู่หัว เพราะผู้ใหญ่เล่าสืบต่อกันมาด้วยว่า การเล่นลักษณะนี้มีมากกว่าหนึ่งครั้ง และบ่อยครั้งพระราชโอรสรุ่นเยาว์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯจะไม่ทรงยอมแสดงบทเป็นพระเจ้าอยู่หัวและรับสั่งกันว่า ยกให้พี่แดงก็แล้วกันซึ่งหมายถึงถวายบทนั้นแก่สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี(พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงถ่อมพระองค์ว่าทรงเป็นน้อง การทรงมีความเคารพในผู้ที่มีวัยวุฒิกว่าพระองค์ดูจะได้เป็นพระอุปนิสัยแต่นั้นมา แต่จากที่ได้เล่ามาก็มิใช่ว่ามิได้ทรงมีภูมิรู้หรือความสามารถในพระองค์เอง
              ครั้นเจริญพระชันษาขึ้น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา ฯได้โปรดเกล้าฯให้ศึกษาในโรงเรียนราชกุมารโดยมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)ให้จัดหาครูถวายพระอักษรโดยทรงกำชับไม่ให้ตามพระทัย แต่ให้กวดขันด้วยเหตุด้วยผล[สัมภาษณ์ศิริน 2556]         และถวายการอบรมให้ทรงรู้กาลเทศะและมีความเคารพในผู้อื่น มีพระอาจสุนทรการแต่ครั้งยังมิได้มีบรรดาศักดิ์เป็นต้นเป็นพระอาจารย์ ทรงศึกษาภาษาไทย วรรณคดีและความรู้สมัยใหม่ตลอดจนภาษาอังกฤษ และในขณะเดียวกันทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษในโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมด้วย[ศิลปากร 2524:1] เท่ากับว่าทรงเรียนรู้ทั้งวิชาและความมีระเบียบวินัยและความอดทน
              ครั้นเมื่อพระชันษา 12 ปี ได้ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์และเฉลิมพระยศเป็นกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาตามประเพณีของสมเด็จเจ้าฟ้า และ 4 เดือนต่อมา ได้เสด็จออกไปทรงศึกษาในทวีปยุโรป โดยที่มิได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ศึกษาภาษามคธและพระพุทธธรรมอย่างเป็นทางการตามโบราณราชประเพณี เช่นในกรณีพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 หรือพระราชโอรสรุ่นใหญ่ในรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อจะเสด็จออกไป          ได้ทรง ปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสกถือพระรัตนทั้งสามเป็นสรณะณ พระอุโบสถวัดศรีรัตนศาสดาราม ต่อพระพักตร์กรมหมื่นวชิรญานวโรรส พระอุปัชญาย์ อย่างทรงพระผนวช” [ศิลปากร 2524:8] แสดงว่าทรงเข้าพระหฤทัยดีในหลักพระพุทธศาสนาระดับหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเสด็จไปทรงศึกษาต่อในประเทศตะวันตก ทั้งนี้ปรากฏต่อมาเมื่อพ.ศ. 2471 ว่าได้โปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นเรื่อง พุทธมามกะเป็นหนังสือพระราชทานแก่เด็กเล่มแรก มีพระราชปรารภอธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์คำนำว่า เมื่ออาจารย์เห็นว่าเด็กมีความเข้าใจดีในหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็ควรทำพิธีรับเป็นพุทธมามกะ คล้ายวิธีพวกฆริสตังทำพิธี “confirmation” ถ้าทำดังนี้ได้จะดีอย่างยิ่ง จะปลูกฝังความเลื่อมใสในพระพุทธสาสนายิ่งขึ้น และจะทำให้เด็กมีหลักมีสรณะอันจะนำชีวิตไปในทางที่ชอบ” (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)[จุฬาฯ :2537] ทั้งพระองค์เองก็ได้ทรงยึดถือหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นคติประจำพระราชหฤทัยโดยสม่ำเสมอ ดังจะได้นำเสนอให้เห็นต่อไป
              มีเบาะแสพอจะเชื่อได้ว่า ก่อนที่จะเสด็จไปยุโรปนั้น องค์สุโขทัยธรรมราชาได้ทรงทราบความแห่งพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์    รุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2428 ความสำคัญ 7 ข้อ ความโดยสรุปว่า หนึ่ง ไม่ให้อวดอ้างว่าเป็นเจ้านายแต่ให้ทำตัว เสมอลูกผู้มีตระกูลสอง ให้สำนึกเสมอว่าเงินที่พระราชทานให้ใช้สอยนั้น หากใช้อย่างประหยัดและมีเหลือก็ทรงยกให้เป็นสิทธิขาด หากแต่ว่าให้สำนึกว่า แม้จะเป็นเงินพระคลังข้างที่ แท้ที่จริงก็มาจากราษฎร จึงต้องใช้ให้เป็นการมีคุณต่อแผ่นดินเท่านั้น สาม เมื่อกลับมา แม้เป็นเจ้าก็ไม่จำเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงใช้ในราชการ ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะ ต้องอาศัยสติปัญญาความรู้และความเพียรของตัวจึงต้องเล่าเรียนด้วยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อมีโอกาสทำคุณแก่บ้านเมืองหรือโลก          สี่ ไม่ให้ประพฤติตัว เกะกะหากทำผิดเมื่อใดจะถูกลงโทษทันที จึงต้องละเว้นทางที่ชั่วซึ่งทราบเองหรือมีผู้ตักเตือน ห้า ให้เขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่อนุญาตให้ใช้ อย่า ใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่ายหก ให้ศึกษาภาษาต่างประเทศจนคล่องแคล่ว จนแต่งหนังสือได้ 2 ภาษาเป็นอย่างน้อย โดยภาษาไทยต้องรู้ด้วย เพราะต่อไปจะต้องใช้เป็นนิจ ภาษาต่างประเทศเป็นหนทางไว้หาความรู้และต้องเรียนเลขด้วย เจ็ด ให้ประพฤติให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งโรงเรียนตั้งไว้ อย่าเกะกะ วุ่นวาย เชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุสาหะพากเพียรเรียนวิชชาให้รู้มา ได้ช่วยกำลังพ่อ เป็นที่ชื่นชมยินดีสมกับที่มีความรักนั้นเถิด” (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)[จุลจอมเกล้าฯ :2475]
            พระราชประวัติระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าองค์สุโขทัยธรรมราชา ทรงปฏิบัติตามนัยแห่งพระบรมราโชวาทนี้ด้วยดีในทุกประเด็นหลัก
            อาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบันของวิทยาลัยอีตัน (Eton College) โรงเรียนราษฎร์ประเภทอยู่ประจำชั้นเอกของอังกฤษ ซึ่งองค์สุโขทัยธรรมราชาเคยทรงเป็นนักเรียนอยู่ 2 ปี ได้เขียนบทความซึ่งสกัดสาระจากเอกสารจดหมายเหตุของโรงเรียนเกี่ยวกับพระองค์ว่า “ทรงเป็น “ผู้ฉลาดที่สุดในกลุ่ม” และความตรงต่อเวลา ทั้งละเอียดถี่ถ้วนและมุ่งมั่นที่จะทรงทำให้สุดความสามารถในทุกสิ่ง ไม่น่าแปลกใจที่ทรงทำได้ดีที่สุดในวิชาภาษาฝรั่งเศส แต่ก็ทรงแสดง “ความสามารถ” ในวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย อีกทั้งยังทรงได้คะแนนสูงในการสอบภาษากรีกโบราณ การผสมผสานกันระหว่างท่วงท่าที่เป็นระเบียบแบบแผนกับความพร้อมที่จะทรงทำความเข้าพระทัยกับแนวคิดใหม่ๆ ได้ช่วยให้ทรงดำรงพระองค์ได้อย่างมั่นคงที่อีตัน และได้กลายเป็นบทเรียนที่ไม่ทรงลืมเลยในช่วงหลังแห่งพระชนมชีพ” และว่า “การที่ทรงเป็นผู้ที่สนิทใจด้วยง่ายก็สำคัญ บรรดาครูอาจารย์ของพระองค์พอใจตั้งแต่แรกกับ “เด็กน้อยที่น่ารักและน่าคบ” พระองค์นี้ และนิยมชมชอบก็พระอัธยาศัยแจ่มใส และการที่ทรงยืดหยุ่นปรับพระองค์เองได้ แม้ว่าพระวรกายจะย่อมก็ตาม โดยที่เราสัมผัสได้ว่าทรงชนะศึกต่างๆของพระองค์ได้ก็โดยการเอาชนะใจคน ด้วยพระเสน่ห์และการดำรงพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรมโดยแท้      (Gailey 2009 พฤทธิสาณ แปล 2553:15, เน้นข้อความโดย พฤทธิสาณ)
            สำหรับเมื่อประทับทรงศึกษาต่อในวิชาทหารที่ราชวิทยาลัยทหาร เมืองวุลลิชนั้น ผู้เขียนไม่มีข้อมูลมากไปกว่ารายงานที่ว่าทรงสอบได้ดี ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาเล่าเรียนตลอดเวลา (ศิลปากร, กรม 2523 : 31) แต่แน่ชัดว่า นอกจากที่พระองค์ทรงสามารถทรงกีฬา ซึ่งต้องใช้ความสมบุกสมบันและความอดทนที่วิทยาลัยอีตันแล้ว ยังทรงได้รับการอบรมจากราชวิทยาลัยทหารนั้น ให้ทรงมีความเป็นทหารหาญที่กล้าเสี่ยงภัยเพื่อคุณค่าที่เหนือกว่าตน ทั้งนี้จากข้อมูลเมื่อทรงเป็นนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษ ประจำการในกองทหารปืนใหญ่ม้าที่เมืองออลเดอร์ช็อตนั้น สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้อุบัติขึ้น พระองค์ต้องพระประสงค์ที่จะเสด็จร่วมรบกับพระสหายทหารชาวอังกฤษมากถึงกับรับสั่งขอต่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 หากแต่พระราชาอังกฤษพระองค์นั้นไม่อาจทรงพระราชทานพระราชานุญาตได้ เพราะทรงเป็นผู้มีสัญชาติสยาม ประเทศที่ยังเป็นกลางในสงคราม (ศิลปากร,กรม 2523 : 3) “คุณค่าที่เหนือกว่าตน” ในที่นี้ หากนำเหตุผลที่สยามได้ให้ไว้เกี่ยวกับการที่ต่อมาได้ร่วมกับฝ่ายอังกฤษในการสงครามเดียวกันนั้น ที่ว่า คือ การที่ประเทศใหญ่ได้เข้ารังแกประเทศเล็ก ย่อมตีความได้ว่าหมายถึง ธรรมแห่งการไม่เบียดเบียนกัน อันเป็นธรรมที่ปรากฏมีในคำสอนของทุกศาสนาและวัฒนธรรม (กัลป์ปลัดดา ดุตตา 2555 : 5) ดังนั้นการที่องค์สุโขทัยธรรมราชาได้ทรงอาศัยโอกาสที่จะทรงทำคุณแก่บ้านเมืองและโลก จึงเป็นการทรงทำตามพระบรมราโชวาท ที่ทูลกระหม่อมพ่อของพระองค์ได้พระราชทานไว้แก่พระราชโอรส
            พ.ศ.2460 ได้ทรงพระผนวชเป็นเวลาหนึ่งพรรษา ในระหว่างนั้นได้ทรงศึกษาพระพุทธธรรมลึกซึ้งพอที่จะทรงพระนิพนธ์เรียงความแก้กระทู้ธรรม ทรงได้รับรางวัล 3 เรื่อง คือ เรื่อง “คนผู้ได้รับการฝึกหัดแล้วเป็นผู้ประเสริฐในมวลมนุษย์” เรื่อง “โลกอันเมตตาค้ำจุนไว้” และ “ความรู้จักพอดียังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ” ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าทรงสามารถทรงพระอักษร (เขียน) ภาษาไทยได้อย่างกระชับได้ใจความแจ่มแจ้ง
            นอกจากนั้นยังควรตั้งข้อสังเกตไว้เป็นสำคัญว่า เรื่องแรก เน้นถึงความสำคัญของการฝึกหัดทั้งกาย วาจา และใจ โดยการฝึกหัดใจนั้น “สำคัญที่สุด” และผู้ประเสริฐนั้นหมายถึงบุคคลที่ดีกว่าผู้อื่น มิใช่เพราะมีทรัพย์สินมากหรือยศสูง ซึ่ง “หาใช่ความดีของตนเองไม่” เรื่องที่สองมีข้อสรุปว่า “หากว่าเมตตาไม่มีในสันดานของมนุษย์บ้างแล้ว...ชนที่หลายจะนึกถึงความสุขของตนผู้เดียว แล้วเบียดเบียนผู้อื่น ฝ่ายผู้เป็นใหญ่ก็จะใช้อำนาจของตนบีบบังคับผู้น้อย ... โลกก็จะถึงความจลาจลโดยเหตุนี้เอง” เมตตาจึงค้ำจุนโลกไว้ด้วยประการฉะนี้ ส่วนเรื่องที่สามว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา หรือ “การปฏิบัติเปนสายกลาง” นั้น ข้อความสำคัญที่ทรงไว้ง่ายๆ ก็คือ “รู้จักหยั่งเหตุผล รู้จักผ่อนผัน อย่าถือเคร่งเกินจำเปน แต่ก็ไม่ควรจะให้หย่อนเกินไป” (ทั้งหมด ตัวสะกดตามต้นฉบับ) (บวรนิเวศวิหาร 2528 : 54,57 และ62) พระนิพนธ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าทรงตระหนักดีในคุณธรรมทั้งสามประการ และหากศึกษาพระจริยาวัตรและพระราชดำรัสในช่วงที่ทรงครองราชย์ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงปฏิบัติตามโดยสม่ำเสมอ และในฐานะผู้ปกครองได้ทรงแนะนำให้บรรดาพลเมืองได้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วยซึ่งน่าจะนับได้ว่า ได้ทรงทำหน้าที่ทั้งในเชิง “ธรรมราชา” และ “ราชาปราชญ์”
            ขอนำเสนอตัวอย่างพระราชจริยวัตรดังกล่าวแล้วเพียงโดยสังเขปดังนี้ เกี่ยวกับคุณธรรมประการที่หนึ่ง เรียง “คนผู้ได้รับการฝึกหัดแล้ว..” ขอให้พิจารณาบทพระราชนิพนธ์ท่อนที่ว่า (ดู สนธิ 2545)
            Absolute Monarchy, like democracy, may become harmful at any time, because both principles rely on the perfection of human nature, a very frail thing to depend on. A sound democracy depends on the soundness of the people, and a benevolent absolute monarchy depends on the qualities of the King.”
            ซึ่งทรงไว้ในพระราชบันทึก “Democracy in Siam” เมื่อ พ.ศ.2470 ทรงตอบหนังสือขอพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับรายละเอียดของอำนาจหน้าที่ของสภากรรมการองคมนตรี ซึ่งกำลังจะจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ชนชั้นนำได้ฝึกหัดวิธีการประชุมแบบรัฐสภา ทำหน้าที่พิจารณาประเด็นนโยบายและกฎหมาย อันเป็นกลไกส่วนหนึ่งของ “แผน” ของพระองค์ในการปฏิรูประบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่แบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งเป็นรูปแบบหรือแบรนด์ (brand) หนึ่งของประชาธิปไตย
            หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้แปลไว้ในคอลัมน์ “ข้าวไกลนา” ของท่านในสยามรัฐรายวัน ปีที่ 27  ฉบับที่ 9146 วันที่ 22 ตุลาคม 2519 ดังนี้
            “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็เหมือนกับประชาธิปไตยในข้อที่ว่า อาจเป็นภัยอันตรายขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะหลักการของทั้งสองระบอบนี้ขึ้นอยู่กับความประเสริฐสุดของธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นสิ่งที่อ่อนแอเหลือเกินที่จะพึ่งพาอาศัยได้ ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้นก็ขึ้นอยู่กับจิตใจอันมั่นคง (ในการใช้เหตุใช้ผล) ของประชาชน และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ เฉพาะพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน” (ปัญญา สติและคุณธรรม)
            ข้อความในวงเล็บ ผมขอเพิ่มเป็นการขยายความเพื่อความกระจ่าง
            ประเด็นของพระองค์ก็คือ ทั้งสองระบอบหลงเชื่อว่า มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือพระเจ้าแผ่นดิน ใช้เหตุผลเสมอในการตัดสินใจ จึงนับเป็นข้ออ่อนของทั้งสองระบอบ
            ดังนั้นในฐานะนักคิด พระองค์จึงทรงมีความสงสัยเกี่ยวกับทั้งสองระบอบว่า “ดี” จริงหรือไม่? แต่ในฐานะที่ทรงเป็นผู้มีหน้าที่ใน “การจัดการปกครอง” (Governance) และทรงทราบ (รู้และเข้าใจ) ด้วยพระปัญญาว่า ประชาธิปไตยกำลังเป็นที่ใฝ่หาของผู้คน ยากที่สยามจะหลีกเลี่ยงกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์นั้นได้ จึงได้ทรงใช้พระสติจัดวางกลไกต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองของสยามไปในทางนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความระส่ำระสายขัดแย้งจนมีการเลือดเนื้อในแผ่นดิน แสดงถึงพระคุณธรรม โดยทรงเลือกที่จะสร้างระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งในโลกสมัยใหม่เป็นประชาธิปไตยประเภทหนึ่ง หรือ แบรนด์ (brand) หนึ่ง เพราะ Constitutional Monarchy เป็นหนทางที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างการมีกษัตริย์กับการมีประชาธิปไตย (โปรดดูเพิ่มเติมใน พฤทธิสาณ 2555 และ Bogdanor ,Vernon 1995) การที่ทรงเลือกที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้นี้ ผู้มีใจเป็นธรรมไม่น่าจะเห็นแปลกในเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สืบราชสันตติวงศ์
            ข้อพึงสังเกตก็คือว่า ในพระราชบันทึกฉบับเดียวกันนั้นได้ทรงไว้ด้วยว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษสมัยหนึ่งเป็นเครื่องเตือนสติว่า กลไกรัฐสภานั้นก็ใช่ว่าจะทัดทานกษัตริย์ได้เสมอไป โดยเฉพาะเมื่อทรงลุแก่อำนาจอย่างอุกอาจ ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า พระองค์ทรงเห็นว่าการปกครองนี้จะต้องอาศัยทั้งกลไกถ่วงดุลอำนาจและคุณธรรมของบุคคลที่ถืออำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลจำนวนเท่าใด ประกอบกัน จึงจะดีมี “ธรรมาภิบาล” จริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง “คน”  กับ “ระบบ” ต้องไปด้วยกัน ความข้อนี้มิใช่หรือที่เป็นหัวใจของการประชุมครั้งนี้ ?
            ส่วนที่เกี่ยวกับ “ความเมตตา” ผมขอยกมาสัก 2 ตัวอย่าง ตัวอย่างแรก คือ การที่พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงพยาบาลโรคเรื้อน เกาะกลาง เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2469 และมีพระราชปฏิสันถารถึงทุกข์สุขกับผู้ป่วย ณ ที่นั้นอย่างใกล้ชิด นับเป็นการที่พระองค์ทรงสื่อถึงสังคมทั่วไป ซึ่งขณะนั้นรังเกียจเขาเหล่านั้นว่า เขาสมควรได้รับความเมตตาต่างหาก (ประมวล..2528 : 69 และ สัมภาษณ์ ฉัตรบงกช 2556) ตัวอย่างที่สองเกี่ยวกับการที่ชายชาวจีนผู้หนึ่ง ซึ่งเคยต้องโทษเล่นการพนันและได้ถูกเนรเทศออกไปแล้วได้หลบเข้าเมืองมาอีกครั้ง ทูลเกล้าฯถวายฎีกา อ้างว่าระหว่าง 7 ปีหลังนี้ ตนมีความประพฤติดีเรียบร้อยและมีภรรยาคนไทยและบุตรด้วยกัน 3 คน อีกทั้งชราภาพแล้ว พระองค์ได้มีพระราชกระแสให้สอบว่าทำงานอะไร มีบุตรภรรยาจริงหรือไม่ มีผู้รับรองความประพฤติหรือไม่ เมื่อทรงได้รับคำตอบว่า ทำการค้าขายข้าวเปลือก มีภรรยาคนไทยและมีบุตรด้วยกันจริง จึงได้พระราชทานอภัยโทษ แสดงว่าทรงมีพระเมตตาแก่ผู้ประกอบสัมมาอาชีวะและต่อภรรยาและบุตรของเขา แต่ในอีกรายหนึ่งที่ได้กระทำความผิดร้ายแรง แม้มีภรรยาเป็นไทยและบุตรหลายคน และทรง “รู้สึกสงสาร” ภรรยาและบุตร “อยู่บ้าง” ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฎีกา. (สุวดี 2537 : 25-26)
            สุดท้ายในเรื่อง “ความรู้จักพอดี” นั้น มีข้อถกเถียงกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ทั้งในหมู่ผู้กำหนดนโยบายและพระราชกำหนดกฎหมายแล้วว่าควรมีระบบหลายเมียตามประเพณีเดิมหรือมีระบบเมียเดียวตามประเพณีตะวันตก ในรัชกาลที่ 7 การถกเถียงกันในหน้าสื่อมวลชนมีมากขึ้น จึงได้มีพระราชดำริให้พิจารณาในเรื่องนี้อีก โดยสภากรรมการองคมนตรีมีส่วนร่วมในการพิจารณา และให้เปลี่ยนชื่อจาก “ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว” เป็น “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย” และ ต่อมาได้มีข้อถกเถียงในเสนาบดีสภาอีก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลงมติ ปรากฏว่า 6 คน ใน 14 คน สนับสนุนระบบเมียเดียว อีก 8 คนสนับสนุนระบบหลายเมีย หลังจากการลงมติ ซึ่งทรงยอมรับ เสียงส่วนใหญ่นั้น ได้ทรงแสดงพระราชทัศนะว่า ในทางปฏิบัตินั้นระบบเมียเดียวไม่เป็นผลแม้ในประเทศตะวันตก ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่จะละอายหากสยามจะมีระบบภรรยาหลายคนต่อไป ไม่ทรงเห็นด้วยในข้อที่ว่าให้รับลูกแต่ไม่เอาแม่ เพราะจะไม่เป็นธรรมต่อสตรี ทรงสรุปว่า “ควรให้มีเมียได้หลายคน ซึ่งตรงกับความจริงและจะเป็นเช่นนั้นไปอีกนาน” ในที่สุดได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 แต่ครั้นถึงเวลานั้น ได้โปรดเกล้าฯให้รอการประกาศใช้ไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475 เพราะภาวะเศรษฐกิจผืดเคือง การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติจะเป็นการทำให้เกิดรายจ่ายใหม่ขึ้น เห็นได้จากกรณีนี้ว่า ทรงมี “ความรู้จักพอดี” ในหลายๆด้าน โดยพระองค์เองทรงเป็นแบบอย่าง ในพระราชจริยวัตรของความนิยมในระบบเมียเดียว (สุวดี 2537 : 26 -28)
            รวมความได้ว่า ในพระสถานภาพ “ลูกคนเล็กและน้องคนเล็ก” องค์สุโขทัยธรรมราชา ทรงได้รับความเอ็นดูทั้งจากทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่และพระเชษฐภคินีของพระองค์ บังเกิดเป็นความเกรงพระ (ราช) หฤทัย และการถือเป็นแบบอย่างอยู่ไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกันพระสถานภาพนั้นได้เปิดพื้นที่โอกาสให้ได้ทรงเป็นพระองค์เองได้ตามสมควร จึงทรงสามารถศึกษาหาความรู้ตามความสนพระหฤทัยได้โดยไม่ต้องทรงรู้สึกว่าจะต้องทรงรับกรณียกิจหน้าที่ใดเป็นการเฉพาะ และปรากฏว่าทรงวางพระองค์ได้ดีตามธรรมเนียมของประเทศอังกฤษและได้ทรงได้รับการหล่อหลอมและทรงหล่อหลอมพระองค์เองให้เป็นคนที่สมบูรณ์ก่อนอื่นใด ประกอบด้วยความรู้ทักษะหลายด้านซึ่งทรงพระปัญญาสามารถเข้าพระหฤทัยในแก่นสาระที่ได้ทรงนำมาใช้ทรงปฏิบัติตามสถานการณ์ ครั้นเมื่อได้ทรงพระสิกขาบท ศึกษาพระพุทธธรรมตลอดจนทรงปฎิบัติตามพระธรรมวินัย ก็ได้ทรงเจริญพระสติปัญญา ศีลปฏิบัติ หยั่งซึ้งซึ่งธรรมชาติของมนุษย์ เป็นพระคุณธรรมประจำพระหฤทัย ดังที่ได้อัญเชิญมาแสดงให้เห็นไว้เป็นสังเขปแล้วนี้
พระคุณธรรม
            บัดนี้ขอนำเสนออย่างสังเคราะห์ถึงพระคุณธรรมให้กว้างออกไปกว่าที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็น 5 ชุดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาระของการประชุมครั้งนี้ โดยทดลองพิจารณาพระคุณธรรมเหล่านี้ในกรอบของคติธรรมราชา เท่าที่ผมจะมีปัญญาทำได้   
1. สันติวิธีในพระราชจริยวัตร
    พระองค์เสด็จผ่านพิภพและทรงเข้าสู่วัยรุ่นในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ที่สยามเสี่ยงต่อการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ซึ่งในสถานการณ์นั้น สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงหลีกเลี่ยงการสงครามด้วยการทรงยอมสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ และเอกราชของชาติไว้ ดังนั้น ทั้งเอกราชของชาติและสันติวิธี อีกทั้งความพร้อมที่จะเสียสละ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้พระราชหฤทัยของ               องค์ประชาธิปกมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังมีข้อสังเกตจากพระราชประวัติในช่วงที่ทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยอีตันว่า ไม่โปรดการใช้กำลัง หากแต่ทรงเอาชนะใจผู้คนได้ด้วยพระเสน่ห์และพระคุณธรรมประจำพระหฤทัย      แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าเมื่อแรกทรงเป็นนายทหารที่อังกฤษจะทรงปฏิเสธการสงครามโดยสิ้นเชิง หากแต่ได้ทรงแสดงความพร้อมที่จะเสด็จสู่สนามรบเยี่ยงทหารหาญในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทรงอาสาเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะทรงเห็นถึงอธรรมของการที่ประเทศใหญ่ ได้เข้ารังแกประเทศเล็ก ครั้นเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงเลือกสันติวิธีทั้งในการทรงวางรูปการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน ในกรณีที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยพลัน และในช่วงหลังจากนั้น ก็ได้ทรงพระขัตติยะมานะอดกลั้นพระราชหฤทัยเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง ทั้งยังได้ทรงแนะนำให้เจรจาความกันโดยสันติ แต่เมื่อไม่เป็นผล จึงทรงเลือกที่จะทรงปลีกพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ซึ่งประการหนึ่งเป็นการป้องกันมิให้มีการเสียเลือดเนื้อ แต่แล้วพระชะตาชีวิตได้กำหนดให้ต้องทรงเผชิญกับความยากลำบากของภาวะสงครามโลกครั้งที่สองในต่างแดนจนเสด็จสวรรคต
2. พระวิริยะอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้
     แม้พระองค์จะมิได้ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์ในด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ ก็ได้ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์และตลอดพระชนมชีพ ในการทรงศึกษาเรียนรู้สาระที่หลากหลายตั้งแต่อักษรศาสตร์ถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งจากการทรงพระอักษรและการทรงสนทนาวิสาสะกับผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ รวมทั้งทรงเรียนรู้ด้วยพระองค์เองจากการปฏิบัติจริง โดยทรงมุ่งหาเหตุของสิ่งและปรากฏการณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงทรงสามารถมีพระราชทัศนะในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องทรงมีพระบรมราโชบาย แต่ก็ทรงยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าทรงมีข้อจำกัดในความรู้บางด้าน เช่น การทหารเรือและเศรษฐกิจ การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ด้วยทรงเห็นว่าสำคัญต่อการสร้างความเป็นคนที่มีเหตุผล ความคิดอ่านไม่ถูกชักจูงได้โดยง่าย ตลอดจนมีศีลธรรมจรรยา
3. พระราชหฤทัยกว้าง รับฟังความคิดเห็น
    พระอุปนิสัยที่เด่นอย่างหนึ่ง คือ พระราชหฤทัยที่กว้าง พร้อมที่จะทรงสดับและตริตรองความคิดเห็นของผู้อื่น ถึงขนาดที่พระเชษฐาผู้อาวุโสกว่าพระองค์ถึงหนึ่งรอบนักษัตรรับสั่งว่าทรง “เป็น liberal อย่างเอก” การทรงรับฟังความคิดเห็นและพระราชหฤทัยที่กว้างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ทรงมีความคิดเห็นเป็นของพระองค์เอง แต่ในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประธานในการประชุม ได้ตั้งพระราชหฤทัยถือเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ เสมือนว่าจะทรงวางพระองค์เป็นแบบอย่างของวิถีประชาธิปไตย หากแต่ว่าพระราชนิยมประการนี้ ได้ยังให้ผู้คนที่คาดหวังให้ทรงใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เกิดความผิดหวังในพระองค์ กระนั้น ก็ได้ทรงมีความอดกลั้นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมวลชนต่าง ๆ ไม่ได้ทรงกระทำการรุนแรงด้วยการปิดปาก เมื่อใดก็ตามที่พระองค์ทรงแสดงพระราชทัศนะของพระองค์อย่างชัดแจ้ง ก็ได้ทรงย้ำไว้ด้วยว่าความคิดเห็นของพระองค์ต้องมีการพิสูจน์ความถูกต้องต่อไปเช่นเดียวกับความคิดเห็นของผู้อื่น
4. พระราชทัศนะต่อประชาธิปไตย
     พระองค์ทรงมีความสงสัยตามแบบฉบับที่ดีของปัญญาชนว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นของดีจริงหรือไม่ และเหมาะสมสำหรับที่จะใช้ในสยามหรือไม่ แต่กระนั้น ในฐานะผู้ศึกษาติดตามกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์ ได้ทรงวินิจฉัยว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรืออัตตาธิปไตยนั้นนับว่าจะล้าสมัย และประชาธิปไตยกำลังเป็นที่ใฝ่หาของผู้คน ดังนั้น จึงได้ทรงเห็นเป็นพระราชพันธกิจที่จะต้องทรงอำนวยให้ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งเป็นรูปแบบหรือแบรนด์ (brand) หนึ่งของประชาธิปไตย ได้วิวัฒน์ขึ้นในสยาม เพื่อที่จะได้เป็นหนทางหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างการมีสถาบันพระมหากษัตริย์กับการมีระบอบประชาธิปไตย และในการนั้นรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่คู่กับ และยังคุณประโยชน์แก่สยามมาแต่โบราณกาล การทรงเห็นเป็นพระราชพันธกิจเช่นนี้ สอดคล้องกับแนวทางการบำรุงรักษาสิ่งที่ดีแต่อดีตควบคู่ไปกับการนำสิ่งใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะแก่สยาม ซึ่งทรงใช้เป็นพระบรมราโชบายทุกด้าน และไม่แปลกในเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สืบราชสันตติวงศ์
        แม้ว่าพระองค์จะได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญด้วยการทรงใช้พระราชสิทธิของพระมหากษัตริย์ในระบอบนั้นในการพระราชทานคำปรึกษา คำแนะนำ และคำเตือนสติแก่ผู้ที่มีอำนาจในการปกครองจริง ๆ แต่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับว่าระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญนั้นควรเป็นเช่นใด เป็นเหตุสำคัญให้มีความขัดแย้งตกลงกันไม่ได้ระหว่างพระองค์กับผู้มีอำนาจในการปกครอง นอกจากนั้น เมื่อทรงเห็นว่าการปกครองมิได้เป็นไปโดยหลักนิติธรรม กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ยังขาดโอกาสในอันที่จะมีสิทธิเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง พระองค์ผู้ได้ทรงสัญญาไว้แต่เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติที่จะทรงปกป้องคุ้มครองประชาชนตามหน้าที่ของธรรมราชา จึงทรงละอายพระทัยที่ไม่ทรงสามารถรักษาสัญญานั้นไว้ได้ เนื่องด้วยได้ทรงสละพระราชอำนาจแล้วตั้งแต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 อีกทั้งการทรงใช้พระราชสิทธิก็ไม่ได้รับการยอมรับ เหตุดังนั้น จึงได้ทรงสละราชสมบัติ โดยได้ทรงย้ำถึงหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงว่าต้องเป็นการปกครองโดยหลักนิติธรรม เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิเสียงในนโยบายของประเทศ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ต่อไป
5. ธรรมในพระราชจริยวัตร
   โดยที่ “ทศพิธราชธรรม” ธรรม 10 ประการ ซึ่งมักจะเข้าใจกันว่าเป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้รู้อธิบายว่าเป็นคุณธรรมที่ผู้นำองค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่พึงมีเพื่อที่ผู้คนในองค์กรนั้น ๆ เกิดความยินดีและพึงพอใจ [พระมหาหรรษา ธมมฺหาโส  2556 : 14 และ 32 - 33 และ พระธรรมปิฎก  2545 : 240 - 241.] ดังนั้น จึงสามารถใช้เป็นร่องในการพิจารณาถึงธรรมในพระราชจริยวัตรขององค์สุโขทัยธรรมราชาได้ โดยมิจำเป็นต้องผูกติดอยู่กับการที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ 9 ปีใน 48 ปี ของพระชนม์ชีพ ดังต่อไปนี้
     (1)  ทาน (รู้จักให้) พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาขั้นเสนาธิการที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินหากการศึกษานั้นไม่ส่งผลให้ทรงปฏิบัติราชการทหารได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาสำหรับผู้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ซื้อหนังสือความรู้ด้านการเกษตรพระราชทานไปตามที่ต่าง ๆ และบำรุงการแพทย์ เป็นการช่วยเหลือประชาราษฎรให้มีความสามารถที่จะเลี้ยงตนเองได้และมีสุขภาพดีขึ้น อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดประกวดและจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเป็นธรรมทาน เป็นต้น
    (2)  ศีล (รู้จักควบคุมพฤติกรรมของตนเอง) ความรู้จักพอดีหรือทางสายกลางเป็นลักษณะเด่นของพระราชจริยวัตร ไม่ทรงประพฤติหนักไปในทางโลก ทรงมีพระคู่ขวัญเพียงพระองค์เดียว ไม่ทรงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หากแต่ให้พอสมพระเกียรติทุกเมื่อ ทรงใช้พระเดชและพระคุณประกอบกัน โดยพระเดชนั้นทรงใช้ในทางที่เป็นพระคุณ เป็นต้น
    (3)  ปริจาคะ (รู้จักเสียสละ) ทรงเสียสละเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายลดลงในสัดส่วนที่มาก เป็นการนำทางนโยบายการจัดงบประมาณแผ่นดินให้ได้ดุล ทรงบริจาคที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรงชักชวนให้ราษฎรได้บริจาคสมทบกับทางราชการเป็นค่าก่อสร้างเฉพาะตัวสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์    ซึ่งจะยังประโยชน์แก่ส่วนรวม ทรงยินยอมสละพระราชอำนาจการปกครองแผ่นดินเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หลีกเลี่ยงการที่ประชาราษฎรจะรบกันเอง
    (4)  อาชชวะ (รู้จักซื่อตรง) ทรงมีความสัตย์ซื่อต่อสมเด็จพระมเหสี ซึ่งทรงมีแต่พระองค์เดียว ทรงมีความซื่อตรงในการทรงอธิบายปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาของบ้านเมือง อีกทั้ง ทรงยอมรับความย่อหย่อนบกพร่องของพระองค์เองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทรงหลอกลวงประชาชน ทรงแนะนำอย่างไรก็ทรงปฏิบัติเช่นนั้น คือ ทรงมีความสัตย์ซื่อต่อพระองค์เอง ไม่ทรงหักเหจากหลักการที่ทรงยึดถือ
     (5)  มัทฑวะ (รู้จักอ่อนโยน) ความสำรวม มีเสน่ห์ และคุณธรรมประจำพระทัยได้โน้มนำให้พระอาจารย์ชาวต่างประเทศเอ็นดูและใส่ใจในพระบุคลิกลักษณะ ความไม่ถือพระองค์โน้มนำให้เด็ก ๆ ในพระราชอุปการะรักและภักดีต่อพระองค์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยมิขาดความเกรงพระทัย ทรงแผ่พระเมตตาแก่เด็ก ๆ บุตรข้าราชการบริพารด้วยการจัดการศึกษาสำหรับเขา ตลอดจนต่อนักเรียนและลูกเสือทั่วไป ซึ่งได้พระราชทานข้อคิดให้รู้จักคิด มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักผูกจิตผูกใจผู้น้อย
     (6)  ตปะ (รู้จักยับยั้งชั่งใจ) ทรงมีความเพียรสูงในการทรงศึกษาเล่าเรียน ไม่แต่เมื่อทรงพระเยาว์ หากทรงขวนขวายหาความรู้อยู่ตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งรวมถึงเกี่ยวกับพระพุทธธรรม จึงทรงมีความมุ่งมั่นในการทรงทำหน้าที่พระมหากษัตริย์สู่เป้าหมายที่ทรงตั้งไว้ ทั้ง ๆ ที่ได้ทรงประสบกับอุปสรรคขวากหนามนานาประการ ทรงใช้ความเชื่อในผลแห่งกรรมเป็นเครื่องเตือนสติว่า “ถ้าคนเราเชื่อในกรรมจริง ๆ แล้ว จะได้ความสุขใจไม่น้อย โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกท้อถอยอะไร เพราะไม่ควรมานั่งซัดใคร ๆ หรืออะไรต่าง ๆ จนไม่เป็นเรื่อง”
     (7)  อักโกธะ (รู้จักระงับความโกรธ) แม้ว่าจะไม่ทรงพอพระราชหฤทัยกับเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่เนือง ๆ แต่ก็ทรงระงับพระอารมณ์ไว้ได้เสมอ โดยทรงระลึกถึงพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตอบโทรเลขที่รัฐบาลมีไปแสดงความโทมนัส เมื่อทรงสละราชสมบัติว่า แม้ว่าจะได้มีความเห็นไม่ตรงกัน  “ข้าพเจ้ามิได้มีความรู้สึกโกรธขึ้งและแค้นเคืองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเลย”
    (8)  อวิหิงสา (รู้จักการไม่เบียดเบียน) พระราชทานพระราชดำรัสบ่อยครั้ง ชักจูงให้ประชาราษฎรหมู่เหล่าต่าง ๆ ละจากการเบียดเบียนกัน ไม่ทรงหลงระเริงในอำนาจราชศักดิ์ กลับทรงเลือกที่จะสร้างกลไกจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์เอง ทรงถือเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ในการกำหนดนโยบาย ทั้ง ๆ ที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ เมื่อต้องทรงประหยัดตัดทอนงบประมาณแผ่นดินหรือเก็บภาษีเพิ่ม ก็ได้ทรงทำด้วยความระมัดระวังมิให้เดือดร้อนแก่ผู้ที่ยากไร้ และด้วยความหนักพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
     (9)  ขันติ (รู้จักอดทน) ทรงมีความอดทนในการทรงฝึกทหาร ทั้ง ๆ ที่พระวรกายย่อม และพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ ทรงงานหนักด้วยความละเอียดถี่ถ้วน เข้าถึงประเด็นสาระแห่งเรื่องราวที่ต้องทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ทั้ง ๆ ที่ทรงมีปัญหาพระเนตร ทรงมุ่งมั่นประกอบพระราชภารกิจพระมหากษัตริย์สู่เป้าหมายที่ได้ทรงตั้งไว้แต่แรกจนถึงที่สุดจริง ๆ ทั้ง ๆที่ต้องทรงประสบกับความท้าทายยากลำบากโดยต่อเนื่อง ทรงบากบั่นหาทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และในวาระสุดท้าย จึงทรงสละราชสมบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ
     (10) อวิโรธนะ (รู้จักหนักแน่นในธรรม) ทรงวางพระองค์หนักแน่นในธรรม ไม่ทรงหวั่นไหวจนเกินควรต่อถ้อยคำที่ดีร้าย ทรงพยายามผดุงความเที่ยงธรรมเหนือความยุติธรรมตามกฎหมายโดยเมื่อมีคนจีนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ถวายฎีกาขอไม่รับโทษเนรเทศ ได้ทรงวินิจฉัยว่าเขาเป็นผู้ที่ประกอบสัมมาอาชีวะและรับผิดชอบต่อภรรยาคนไทยและบุตรที่เกิดในสยาม จึงเป็นกำลังสำคัญของชาติและควรให้ได้อยู่ต่อไป ต่อมา ทรงร้องขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้โดยตรง ด้วยทรงถือคติว่า “ถ้าคนเราไม่มีความยุติธรรมอันใดอันหนึ่งที่สูงกว่าความยุติธรรมของคนต่อคนกันเองแล้ว คนที่ประพฤติดีเห็นจะน้อยเต็มที และจะเป็นที่น่าเหี่ยวแห้งใจอย่างยิ่ง” นับเป็นการที่พระองค์ทรงถือผลแห่งกรรมเป็นใหญ่กว่าความยุติธรรมในโลกมนุษย์ปุถุชน อีกทั้งในวาระที่จะทรงสละราชสมบัติ ได้ทรงเน้นย้ำถึงหลักนิติธรรมในการปกครอง ที่ต้องไม่มีความลำเอียงหรือการทำตามอำเภอใจของผู้ปกครอง ว่าเป็นหลักอันขาดเสียมิได้ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
            เห็นได้ว่า ธรรมในพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น อิงอยู่กับทศพิธราชธรรมไม่น้อยมาโดยตลอด นับว่าพระองค์ได้ทรงพยายาม “ทำให้ผู้อื่นยินดีปรีดาและพึงพอใจโดยธรรม" แต่จะได้สร้าง “ประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน” ตามความในพระปฐมบรมราชโองการเมื่อทรงบรมราชาภิเษกเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ว่า “มหาชน” ส่วนใดคณะใดยุคสมัยใดเป็นผู้ประเมิน และโดยได้มองอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ ประโยชน์อันพึงมีจากการศึกษาพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรจึงน่าจะอยู่ที่ การนำมาพิจารณาตริตรองว่า หากในปัจจุบันนี้ เรามีผู้นำเช่นนี้ จะดีในแง่ใด เพียงใด มากกว่าอย่างอื่น
บรรณานุกรมคัดสรร
กัลป์ปลัดดา ดุตตา (กฤติกา เลิศสวัสดิ์ และคณะแปล) (2555) สิทธิของเรา สิทธิมนุษยชน. สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.  (2475) พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระ    จุลจอมเกล้า    เจ้าอยู่หัวพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงพระราชนิพนธ์แล้วเมื่อ พ.ศ. 2428            (พิมพ์ในงาน      พระราชกุศลทักษิณานุปทานพระราชทานพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถใน     วันสิ้นพระ            ชนมมาครบสัปตามวาร ณ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2475), กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตสภา/โรง  พิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2537) ประมวลหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่พระบาทสมเด็จ          พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน พุทธศักราช 2471 -           2477, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ) (2536) ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนัก เลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
บวรนิเวศวิหาร, วัด (2528). วัดบวรนิเวศวิหารและมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์โดย        เสด็จพระราชกุศลในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี        พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7  ณ เมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย (มีเรียงความแก้กระทู้ธรรมของทูลกระหม่อมพระประชาธิปกศักดิ      เดชน์ฯ)
ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (2528) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์สำหรับพระราชทานในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7  ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันอังคารที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด.
ผ่องพันธุ์ มณีรัตน์ (2520) “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ใน ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพนายพาน  ทอง     ทองเจือ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520, กรุงเทพฯ : เอกรัตน์การพิมพ์.
พรทิพย์ ดีสมโชค (2554) แนวคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
          เจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2468 ถึงพ.ศ. 2477, นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) “ราชธรรม” พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, กรุงเทพฯ : สหธรรมิก, 2545 (พิมพ์ครั้งที่ 10).
พระมหาหรรษา ธมมฺหาโส.  ทศพิธราชธรรม 10 ตัวชี้วัดสำหรับผู้นำองค์กร.  มหาสารคาม :
            อภิชาตการพิมพ์, 2556
พฤทธิสาณ ชุมพล,  ม.ร.ว. (2540) “พระปกเกล้าฯ กับเด็ก ๆ” ในรายงานกิจการประจำปี 2543 ของ     มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2544) “บ้านไกลบ้าน : ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ” ในรายงานกิจการ
          ประจำปี 2543 ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2555) ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอังกฤษเอกสารคำสอนรายวิชา การปกครองและการเมืองในสหราชอาณาจักร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พฤทธิสาณ  ชุมพล, ม.ร.ว. (2553). “สืบเนื่องจากรพินทรนาถ ฐากูร เฝ้าฯพระปกเกล้าฯ” ใน จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 10 เดือนตุลาคม 2553.
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี   (2531). สมุดภาพรัชกาลที่ 7, กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.
ราชเลขาธิการ, สำนัก (2531). พระราชประวัติสมเด็จพระนางรำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7,
            กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ.
ศรีพรหมา กฤดากร, หม่อม (2550).  อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สาร          คดี.
ศิลปากร, กรม (2524) พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิ-     ปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗).
สนธิ เตชานันท์ (ผู้รวบรวม)  (2545) แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ“ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพฯ:สถาบันพระปกเกล้า.
สุวดี  ธนประสิทธิ์พัฒนา (2537). แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับ           สังคมไทย (พ.ศ. 2468-2475) ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ          100 ปี พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ          พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดทำโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 7-9             กุมภาพันธ์ 2537 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Batson, Benjamin.  (1984).  The End of The Absolute Monarchy in Siam, Singapore : Oxford University             Press.
Bogdanor, Vernon (1995) . The Monarchy and the Constitution, Oxford; Clarendon Press.
Gailey, Andrew (2009). “A Thai Prince at Eton” in H.M.King Prajadhipok, The King and His Garden      (in dedication to H.M.King Prajadhipok at Eton College on 17 June 2009), Bangkok : Amarin Printing and Publishing. PLC. ซึ่งคัดมาตีพิมพ์พร้อมคำแปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ  ชุมพล เป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทย พระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน” ในรายงานกิจกรรมประจำปี 2552 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, มปท : 2553, หน้า 21 – 23 และ 13 – 16.
Prudhisan Jumbala (2012).  Prajadhipok : The King at the Transition to Constitutional Monarchy in Siam”
            in Suchit Bunbongkarn and Prudhisan Jumbala (eds.).  Monarchy and Constitutional Rule in
          Democratizing Thailand, Bangkok : Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University, pp. 106 - 202.
Stevens, Raymond B.  ผู้รวบรวม (2474) “กฤตภาคข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
            เจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและคานาดา” (เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ).
สัมภาษณ์
ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร นักวิชาการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. 27 กันยายน 2556.
ศิริน  โรจนสโรช บรรณารักษ์ผู้รับผิดชอบห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สำนักบรรณสารสนเทศ                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สิงหาคม 2556.





[1] บทแสดงทัศนะในการประชุมประจำปีครั้งที่ 15 ของสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง “ธรรมราชา” วันที่ 9 พฤศจิกายน 2556  ณ หอประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร


[2] รองศาสตราจารย์ (เกษียณอายุ) ,กรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั