ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เรือ “ศรวรุณ” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ


ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล*
เหตุการณ์”กบฏบวรเดช” กับเรือ “ศรวุรณ”
          คอประวัติศาสตร์การเมืองสมัยรัชกาลที่๗ ย่อมทราบถึงเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งทหารหัวเมืองฝ่ายพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช  (อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้ซึ่งเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ทรงลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเป็นหัวหน้าด้วยพระองค์เอง เพราะไม่พอพระทัยที่งบประมาณของกระทรวงนี้ถูกตัดทอนมากเช่นเดียวกับของกระทรวงอื่นๆ) กับทหารฝ่ายรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้รบพุ่งกันจนเสียเลือดเสียเนื้อที่ทุ่งดอนเมือง 
          ในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับแปรพระราขฐานอยู่ที่สวนไกลกังวล หัวหิน พระองค์ทรงเศร้าสลดพระทัยมากที่คนไทยรบกันเอง และได้ทรงแสดงพระราชประสงค์จะทรงเป็น “คนกลาง” ให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาสงบศึกกัน แต่ไม่มีฝ่ายใดตอบสนอง พระองค์จึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯจากหัวหินด้วยเรือยนต์พระที่นั่งลำเล็กนามว่า “ศรวรุณ” ในค่ำวันที่ ๑๗ ตุลาคม กลางทะเลลึกมุ่งสู่สงขลา  เพื่อที่ องค์พระประมุข จักได้เป็นต่างหากจากการรบกันสังหารกันระหว่างคนไทยด้วยกัน
          “ศรวรุณ” เป็นเรืออะไร อย่างไร คอการเมืองคงไม่ค่อยได้สนใจ  แต่คอพระปกเกล้าศึกษาน่าจะมีคำถามอยู่บ้าง จึงขอเก็บความมาเล่าสู่กันฟัง  เป็นอรรถรสและเผื่อว่ามี “หนูจำไม” ถามผู้นำชมที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ตอบได้บ้าง
พระราชนิยมเรือยนต์เร็ว
          สรศัลย์ แพ่งสภา  ผู้เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และวายชนม์เมื่อพ.ศ.๒๕๕๒ สิริอายุรวม ๘๙ปีกว่า  และได้ชื่อว่าเป็น “ฒ.ผู้เฒ่า” นักเขียนเรื่องเก่าๆเป็นสารคดีได้อรรถรสไว้มากมายหลายเรื่อง ให้ข้อมูลเรื่องเรือลำนี้ไว้โดยละเอียดในหนังสือ ราตรีประดับดาวที่หัวหิน(กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์สารคดี, ๒๕๓๙) นับเป็นข้อมูลที่หาได้ยากอยู่ จึงขอสรุปความมาเล่าให้ได้อ่านกันและเรียนรู้กัน ดังนี้
          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯโปรดเรือยนต์เร็วมาตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯประทับ ณ วังศุโขทัย ริมคลองสามเสนใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งในสมัยนั้นการสัญจรไปมาในกรุงเทพฯทางน้ำยังเป็นปกติวิสัย  แม้จะมีถนนแล้วก็ตาม  พระองค์ทรงสั่งซื้อเรือยนต์เร็วจากบริษัททอร์นิคครอฟต์ (John I. Thornycroft & Company) ประเทศอังกฤษ ลำหนึ่งเครื่องยนต์ 8 สูบเรียงแถว  ใช้น้ำมันก๊าดความเร็วสูงสุดประมาณ ๒๒ นอต (๓๙.๕ก.ม./ช.ม.) มีเก๋งที่ประทับ  ด้านข้างลำเรือมีตราลูกศร ๑ ดอก พันด้วยงูเล็กสีเขียว สัญลักษณ์ลูกศรมาจากคำว่า “เดชน์” ในพระนาม “ประชาธิปศักดิเดชน์” งูเล็ก หมายถึงปีมะเส็ง ปีพระราชสมภพ และสีเขียว หมายถึง วันพุธวันพระราชสมภพ เรือลำนี้เรียกกันว่า “เรือศร-๑” บรรจุคนประจำเรือได้เต็มที่ ๑๙ คน เรือ “ข้าหลวงเดิม”(คือถวายงานมาตั้งแต่ยังไม่ได้ครองราชย์) ลำนี้แปลกตรงที่ไม่มีกง (ไม้รูปโค้งที่ตั้งเป็นโครงเรือ) แต่มีความทนทะเลสูง
          เมื่อทรงราชสมบัติแล้ว  ทรงสั่งซื้อเรือยนต์เร็วพระที่นั่งอีกลำหนึ่งจากบริษัทเดิม เข้ามาราวพ.ศ. ๒๔๗๐ รูปร่างลำเรือและเก๋งสวยงามแต่เล็กกว่าเรือ “ศร-๑” จึงสันนิษฐานว่าทรงขับเรือด้วยพระองค์เอง  ลำนี้มีกง เครื่องยนต์ ๘ สูบ เชื้อเพลิงนี้เป็นก๊าดเช่นกัน  ด้านข้างเรือมีลูกศร ๒ ลูก กับงูเล็กสีเขียว  จึงเรียกกันว่า เรือพระที่นั่ง” ศร-๒”
เรือพระที่นั่ง “ศรวรุณ”
          ครั้นประมาณกลางปี พ.ศ. ๒๔๗๓  ทรงสั่งเข้ามาจากบริษัทเดิมอีกลำหนึ่ง  ใหญ่กว่า “ศร-๑” เล็กน้อยมีเก๋งเช่นกัน  ใช้เครื่องยนต์ฮิสแปโนซุยซา ๑๒ สูบเรียงแถว ๘๘๐แรงม้า เชื้อเพลิงน้ำมันก๊าด ความเร็วสูงสุด ๔๐ นอต (๗๒ ก.ม./ช.ม.) ขนาดความยาวประมาณ ๓๔-๓๘ฟุต กว้าง ๘ ฟุต เรือพระที่นั่งลำนี้พระราชทานนามว่า “ศรวรุณ” ด้านข้างลำเรือมีตราลูกศร ๓ ดอก หรือพระแสงศร ๓ องค์ เช่นเดียวกับที่มีบนพระราชลัญจกรประจำรัชกาลกับงูเล็กสีเขียว
          ตรงนี้ ผมมีข้อสังเกตเรื่องตราสัญลักษณ์ว่าเคยเห็นแหนบหรือเข็มแบบพระแสงที่มีศรหนึ่งองค์ ซึ่งทราบว่าพระราชทานตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ และแบบที่เป็นพระแสงศร ๓ องค์ มีงูลงยาสีเขียวรูปร่างคล้ายพระนามาภิไธย “ปปร.”มีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบนหัวงู บนเข็ม/แหนบซึ่งพระราชทานสหชาติ/อุปชาติปีมะเส็ง เมื่อฉลองพระชนมพรรษา ๓ รอบในพ.ศ. ๒๔๗๒ (หนึ่งปีก่อนที่เรือ”ศรวรุณ” จะมาถึง) ส่วนแบบที่มีพระแสงศร ๒ องค์ เห็นจะมีแต่ข้างเรือพระที่นั่ง “ศร-๒” เท่านั้น
          คุณสรศัลย์เขียนไว้ว่าเรือพระที่นั่งทั้ง ๓ ลำนี้ “ทรงจัดซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แท้ๆ”และอยู่ในความรับผิดชอบของหมวดเรือยนต์หลวง และในการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ สวนไกลกังวล หัวหิน ทุกครั้งจะต้องจัดเรือพระที่นั่งยนต์แบบเรือเร็วนี้ไปประจำพร้อมอยู่ที่นั่น  ตรงนี้ผมขอเสริมว่ามีปรากฏในจดหมายเหตุ พระราชกิจรายวันขณะประทับอยู่ที่นั่นว่า  เสด็จฯเลียบชายฝั่งและเกาะต่างๆใกล้ฝั่งในแถบนั้นด้วยเรือยนต์เร็วพระที่นั่ง  และทรงแวะทอดพระเนตรโป๊ะจับปลาของชาวประโมงพื้นถิ่น
“ศรวรุณ”ฝ่าฟ้ามืดและคลื่นลมสู่สงขลา
          วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖  ทหารที่เพชรบุรียอมจำนนต่อทหารฝ่ายรัฐบาลที่ตีไปถึง  แต่บางส่วนอาจแตกพ่ายไปยังหัวหิน  ในขณะเดียวกันพระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน จามรมาน)  ผู้แทนรัฐบาลก็ได้มาถึงหัวหินโดยรถไฟ  เพื่อเข้าเฝ้า  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเกรงอยู่ตลอดแล้วว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยึดพระองค์ไว้เป็น “องค์ประกัน”  (hostage) จึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯจากสวนไกลกังวลโดยเรือพระที่นั่งศรวรุณเมื่อเวลาประมาณ      ๒๐.๐๐ นาฬิกา  โดยมีนายเรือเอก หลวงประดิยัตนาวายุทธ (เฉียบ แสง-ชูโต) เป็นกัปตันชั่วคราวด้วยเป็นราชองครักษ์ซึ่งเพิ่งเดินทางไปถึงโดยเรือยามฝั่งซึ่งมีนายเรือเอกหลวงสวัสดิ์วรฤทธิ์ (สวัสดิ์ วรทรัพย์)เป็นผู้บังคับการ มีผู้โดยสาร ลูกเรือ  และทหารรักษาวัง รวมทั้งสิ้นไม่เกิน ๒๐ คน เป็นสตรีเพียง ๒ คน  ซึ่งก็คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และพระมารดา
          หลวงประดิยัตฯเขียนเล่าประสบการณ์ของตนเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๘ มอบให้ ปรีดา วัชรางกูร ข้าราชสำนักซึ่งถวายงานอยู่ที่สวนไกลกังวล  และได้เดินทางโดยรถไฟที่ยึดมาได้ไปสมทบขบวนเสด็จฯที่สงขลา ตีพิมพ์ในหนังสือ พระปกเกล้าฯกับระบอบประชาธิปไตย ของเขา(กรุงเทพฯ : การพิมพ์พระนคร, ๒๕๒๐)หน้า ๓๑๕-๓๒๐ สรุปความได้ว่า   โดยที่เป็นคืนข้างแรมท้องฟ้ามืดจึงมองไม่ค่อยเห็นอะไร  เข็มทิศเดินเรือไม่ได้มีการสอบแก้คำนวณไว้ จึงไม่อาจทราบทิศทางแน่ชัดพอที่เรือจะปลอดภัยจากการกระแทกหินโสโครกหรือซากเรืออัปปางใต้น้ำ  อีกทั้งแผนที่สำหรับเดินเรือไม่มีติดต่อกันโดยตลอดจนถึงสงขลา  ความเร็วเรือก็เป็นปัญหา คือทราบแต่เพียงว่าอาจทำได้เพียงประมาณ ๑๗-๑๘ นอต เพราะไม่ได้ปรับเครื่องยนต์มานาน จึงคาดไว้ว่าจะเป็นเพียง ๑๕ นอต  และโดยที่สงขลาอยู่ห่างจากหัวหินไปทางทิศใต้ประมาณ ๓๕๐ ไมล์ ถ้าไปตรงๆก็ใช้เวลาประมาณ ๒๔ ชั่วโมงแต่ในเมื่อไม่ทราบทิศทางแน่ชัดและต้องอ้อมเลี้ยวเลี่ยงอุปสรรคต่างๆในน้ำจึงเชื่อว่าต้องใช้เวลามากกว่านั้นแน่
          เกี่ยวกับสภาพเรือนี้ สรศัลย์ สงสัยว่าอยู่ในสภาพดีจริงหรือ  และอธิบายว่าที่เรือพระที่นั่งไม่มีเข็มทิศช่วยการเดินเรือก็เพราะไม่จำเป็น  ด้วยเรือขนาดนี้แล่นห่างฝั่งมากไม่ได้อยู่แล้ว  ส่วนที่ผู้อื่นว่ามีการตั้งปืนกลหนักบนดาดฟ้าเรือนั้น  ทำไม่ได้แน่นอน เพราะลำเรือและดาดฟ้าทาสปาร์วาร์นิชขัดเงาตามธรรมเนียมเรือเร็วทั่วไป  ดังนั้นเมื่อเปียกดาดฟ้าจะลื่น  ทหารรักษาวังบนเรือน่าจะมีแต่ปืนกลเล็ก 
          หลวงประดิยัตฯ บันทึกต่อไปว่า  เมื่อยิ่งห่างจากฝั่งคลื่นลมทวีความรุนแรงขึ้น ลมกระโชกยอดคลื่นมีสีขาว  แต่เมื่อห่างออกไปอีก ลมและคลื่นกลับลดลง แต่เกิดมีแสงไฟเรือลำหนึ่งปรากฎมาทางเบื้องหลังใกล้เข้ามาทุกที ทหารรักษาวังประจำปืนกลเตรียมตัว ฉายไฟส่องเข้าไปเมื่อเรือนั้นเข้ามาใกล้พอ  พบว่าเป็นเรือยามฝั่งลำเดิมที่มีหลวงสวัสดิ์วรฤทธีเป็นผู้บังคับการนำอาหารกระป๋องและเสบียงมาถวาย  แล้วกลับไป พอเช้าจึงหันเรือเข้าหาฝั่งเล็กน้อยเพื่อหาเกาะเต่าหรือเกาะพงัน  จะได้ทราบตำแหน่งแห่งที่ของเรือ  แต่ปรากฏว่ายังไปไม่ถึง  ถึงเพียงแหลมช่องพระ
          เมื่อถึงชุมพรน้ำมันจะหมด จึงโปรดเกล้าฯให้แวะเพื่อส่งคนไปหาซื้อน้ำมันและจะได้พักผ่อนกันบ้าง  เย็นวันนั้น สมเด็จพระบรมราชินีทรงประกอบอาหารด้วยพระองค์เอง พระราชทานอย่างทั่วถึง  เช้าวันรุ่งขึ้นจึงส่งคนขึ้นฝั่งได้น้ำมันมา ออกเดินทางต่อไปในสภาพอากาศดี ผ่านหมู่เกาะต่างๆสู่ท้องทะเลกว้างจนผ่านหมู่เกาะอ่างทอง และช่องเกาะสมุยหลังเที่ยงวัน
          ครั้นออกสู่ทะเลกว้างอีกครั้งหนึ่ง ก็ประสบพายุร้ายอีก ลำเรือโคลงเคลงมากขึ้นทุกที และแล้วเมฆฝนที่ได้ตั้งเค้าได้เคลื่อนเข้ามากระหน่ำอย่างหนัก คลื่นและลมพายุกระพือรุนแรง  แต่อัศจรรย์ว่าสงบเงียบลงโดยฉับพลันกว่าที่คาด
          เมื่อใกล้อ่าวนครศรีธรรมราช เห็นเรือวลัย เรือสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติกจอดนิ่งอยู่  จึงได้เข้าไปสอบถามได้ความว่า  จะเดินทางไปสงขลาในค่ำวันนั้น  ผู้บังคับการเรือชาวเดนมาร์กกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯประทับบนเรือวลัย และพ่วงเรือพระที่นั่งไปด้วย
          เช้าวันรุ่งขึ้นที่ ๒๐ ตุลาคม แพงเขาสงขลาก็ปรากฏขึ้นในระยะไกล แต่ในท้องทะเลมีควันสีดำลอยสูงขึ้นไปบนอากาศ แล้วเสาเรือรบก็ปรากฏให้เห็น เรือศรวรุณจึงเดินเครื่อง ปลดออกจากเรือวลัย เพื่อให้เรือวลัยได้แล่นเร็วขึ้น เรือวลัย และเรือ”ศรวรุณ” เข้าอ่าวได้ก่อนเรือรบนั้น และแล้วปรากฏว่าเป็นเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งนายนาวาเอกพระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้นำมาเพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายความปลอดภัย  จากนั้นจึงได้เสด็จฯลงจากเรือวลัยประทับเรือพระที่นั่งศรวรุณแล่นเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา ส่งเสด็จฯขึ้นฝั่งเมื่อเวลาประมาณเที่ยงวันของวันที่ ๒๐ ตุลาคม  รวมระยะเวลาอยู่บนท้องทะเลทั้งสิ้น ๒วัน ครึ่ง แล้วเสด็จฯไปประทับที่จวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช หรือตำหนักเขาน้อย  ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร สมัยทรงเป็นอุปราชปักษ์ใต้ โดยพระยาศรีธรรมราช สมุหเทศาภิบาลได้ย้ายไปพำนักที่อื่น (ดูบทความของผู้เขียนในจดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า เมษายน ๒๕๕๒, หน้า ๙-๑๐)
“ขออย่าได้คิดใช้กำลังอาวุธเลย”
          คุณปรีดาเขียนเล่าว่า ระหว่างที่ประทับอยู่นั้น วันหนึ่งคณะนายทหารเรือซึ่งตามผู้บัญชาการไปอยู่ที่สงขลาได้รวมตัวกันไปเข้าเฝ้าฯกราบบังคมทูลอาสาจะยื่นคำขาดให้รัฐบาลทำอะไรก็ตามที่เป็นพระราชประสงค์  หากไม่ทำจะใช้ปืนเรือรบยิงเข้าไป  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯรับสั่งตอบว่า “ขออย่าได้คิดใช้กำลังอาวุธเลย”จะเสียเลือดเนื้อของคนไทยไปโดยใช่เหตุ  ถ้าฉันคิดรบ ก็จะรบเสียนานแล้ว”
          ต่อมา พระยาวิชิตชลธี ผู้บัญชาการทหารเรือได้ถูกจับกุมไปสอบสวน โดยในระหว่างนั้นถูกคุมขังอยู่หลายวัน  และต่อมาถูกปลดออกจากตำแหน่ง  สำหรับหลวงประดิยัตนาวายุทธผู้ขับเรือพระที่นั่งถวายก็ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ  เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งท่านได้กราบถวายบังคมทูลลากลับจากสงขลา ตามคำสั่งของรัฐบาลด้วยดี  ส่วนที่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับคนอื่นนั้นไม่เกี่ยวโดยตรงกับเรือศรวรุณ  จึงของดเว้นไม่กล่าวถึงในที่นี้
          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯประทับอยู่ที่สงขลาจนถึงวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖  จึงได้เสด็จฯกลับกรุงเทพฯโดยเรือเมล์ลำหนึ่ง ซึ่งสืบทราบว่าผ่านมาจากฮ่องกง ชื่อว่า “หมุยนำ”  เพื่อทรงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร (กึ่งแต่งตั้งกึ่งเลือกตั้งทางอ้อม) ในวันรุ่งขึ้น
          ครั้นวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (พ.ศ. ๒๔๗๗ นับตามปฎิทินปัจจุบัน) ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯออกไปประพาสประเทศในยุโรป ๙ ประเทศ  ในโอกาสดังกล่าว เรือเร็วพระที่นั่ง”ศรวรุณ” ได้ถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย ในการเป็นเรือลำเลียงส่งเสด็จจากท่าราชวรดิษฐ์สู่เรือพระที่นั่งมหาจักรีลำใหญ่
          ส่วนที่ว่า เมื่อพระองค์ได้สละราชสมบัติจากที่ประทับในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (พ.ศ. ๒๔๗๘ นับตามปฎิทินปัจจุบัน)แล้ว อะไรเกิดขึ้นกับเรือ “ศรวรุณ” เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันค้นคว้าต่อไป
                                                                              {พช/ศรวรุณ/มีนาคม ๒๕๕๘}




* อดีตกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...