ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระเศวตคชเดชน์ดิลก : ช้างเผือกคู่พระบารมีพระปกเกล้าฯ

         





                                                                               ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร[1]

ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา ช้างเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลแห่งการบำเพ็ญบารมีใน
อดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังปรากฏในชาดกของพระโพธิสัตว์ว่าพระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพระยาช้างฉัททันต์และพระยาช้างปัจจัยนาเคนทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบำเพ็ญบารมีในพระเวสสันดรชาดก และพระยาเศวตมงคลหัตถี หรือพระยามงคลนาคในทุมเมธชาดก และตามพระพุทธประวัติ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ ก็ทรงพระสุบินเห็นช้างเผือกนำดอกบัวมาถวาย อันเป็นนิมิตว่าผู้มีบุญญาธิการสูงได้มาอุบัติเป็นมนุษย์สู่พระครรภ์พระมารดาทางพระนาภีเบื้องขวา    ช้างเผือกจึงเป็นที่นับถือว่าเป็นสัตว์มงคลที่สำคัญในพระพุทธศาสนา
พระเศวตคชเดชน์ดิลก
 ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙  นับเป็นปีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่เสด็จเลียบมณฑลพายัพชาวเชียงใหม่ต่างปีติโสมนัสเมื่อปรากฏว่าเกิดช้างเผือกในเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แทนที่จะถือกำเนิดในป่าดงพงไพรเช่นที่เคยมีมาก่อนหน้านี้นับเป็นร้อยปีตลอดมา
       ช้างเผือกเชือกนี้กำเนิดจากแม่ช้าง สูง ๗ ฟุต ๔ นิ้ว ชื่อ พังล่า เป็นช้างของบริษัทบอร์เนียว ผู้ดำเนินกิจการสัมปทานป่าไม้ในประเทศไทย แถบเมืองเหนือ เมื่อตอนเช้าวันศุกร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙  ตรงกับแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ณ ตำบลป่าแม่ยางมิ้ม อำเภอเมืองฝาง จังหวัดเชียงใหม่
        นายแม็คฟี ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว ได้ออกมาพิจารณาลูกช้างหลังจากคนงานผู้ทำหน้าที่ควาญช้างเข้าไปรายงานลักษณะลูกช้าง ตลอดจนสีสันที่มีสีประหลาดจากลูกช้างสามัญให้ทราบ  แต่ นายแม็คฟีก็ยังไม่แน่ใจแม้ว่าจะมีความรู้สึกว่าลูกช้างมีลักษณะแตกต่างจากลูกช้างที่เคยพบเห็นมาก่อนเป็นแต่ได้กำชับควาญช้างให้ดูแลลูกช้างให้ดีที่สุด  
       การเจริญเติบโตของลูกช้างถูกจับตามองพร้อมกับวิจารณ์อย่างกว้างขวาง สีสันที่ปรากฏบ่งบอกความเป็นช้างเผือกตระกูลชั้นเอก พวกหมอช้างพร้อมด้วยผู้ชำนาญในการดูช้างต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าช้างพลายน้อยลูกแม่พังล่าเชือกนี้เป็นช้างเผือกที่เกิดมาเพื่อคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริงและเป็นช้างเผือกเชือกแรกที่เกิดในเมือง
      นายแม็คฟีจึงได้มีหนังสือแจ้งให้ทางราชการทราบอย่างรีบด่วน  หลังมีความเชื่อมั่นว่าช้างน้อยอายุประมาณ ๔ เดือนเชือกนี้เป็นช้างเผือก และถ้าหากทางสำนักพระราชวังจักได้ส่งผู้ชำนาญมาตรวจสอบว่าเป็นช้างเผือกจริงแล้ว ทางบริษัทบอร์เนียวก็พร้อมที่จะขอพระราชทานน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทางสำนักพระราชวังจึงได้ส่งหลวงศรีนัจวิสัย เจ้าหน้าที่กรมช้างต้น ซึ่งเป็นผู้สัดทัดในเรื่องช้างเผือก
พร้อมด้วยช่างเขียน ช่างปั้นฝีมือดี ไปตรวจสอบลักษณะของลูกช้างเผือกเชือกนี้  หลังพิสูจน์กายลักษณะของลูกช้างแล้ว หลวงศรีนัจวิสัยได้ลงความเห็นร่วมกับผู้สันทัดกรณีแห่งกรมช้างต้นว่า ลูกพังล่านี้เป็นช้างเผือกในตระกูล อัคนิพงศ์ซึ่งเป็นตระกูลช้างชั้นสูงซึ่งได้มีบันทึกการตรวจรายงานต่อกรม ว่า เมื่อลูกช้างถูกนำไปตรวจตามตำราคชลักษณ์เป็นครั้งแรกนั้น ก็ยินยอมให้ตรวจอย่างว่าง่าย เพราะคงรู้กาลข้างหน้าในชีวิต เจ้าหน้าที่ตรวจดูปาก ดูตามซอกรักแร้และแห่งอื่นๆ ช้างพลายน้อยก็มิได้ขัดขืน  แม้จะตกอยู่ในท่ามกลางคนแปลกหน้าและดึงโน่นจับนี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่เฝ้าดูการตรวจพากันพิศวงในความสงบเรียบร้อย อาหารที่ใช้ป้อนลูกช้างเป็นหญ้าอ่อน ใบข้าวโพดอ่อน
       เมื่อพระเศวตคชเดชน์ดิลกนี้ยังไม่หย่านม ชอบเล่นหัวอย่างใกล้ชิดกับบรรดาลูกๆ ของผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวฝ่ายเมืองเหนืออย่างสนิทสนม ด้วยสัญชาตญาณในสายเลือดของการถือกำเนิดมาในตระกูลอัคนิพงศ์  ลูกช้างจะไม่ยอมคลุกคลีกับเด็กๆ ที่สกปรก ส่วนใหญ่ก็จะเล่นสนุกสนานกับลูกของ นายแม็คฟีเท่านั้น  ความรักสะอาดและหวงแหนตัวเองนั้น มิใช่เพียงไม่เล่นกับเด็กที่แต่งกายมอมแมมเท่านั้น แม้เมื่อเวลาตามแม่พังล่าลงไปยังท่าน้ำ ถ้าหากพบมูลช้างอื่นถ่ายทิ้งขวางหน้าไว้ก็จะไม่ยอมลงอาบน้ำท่านั้น ถึงจะเป็นมูลของแม่พังล่าก็ตามจะต้องเลือกเดินไปลงท่าที่ปราศจากสิ่งโสโครก

           ชาวเชียงใหม่ต้อนรับข่าวอันเป็นมหามงคลครั้งนี้กันทั่วหน้าเมื่อปรากฏแน่ชัดว่า ช้างเผือกที่เกิดในเมืองเชือกแรกแห่งกรุงสยามนี้ถือกำเนิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่  ทางราชการของเชียงใหม่จัดงานอย่างครึกครื้นรื่นเริงยิ่งกว่างานใดๆ ที่เชียงใหม่ได้เคยมีมาก่อน เพื่อประกอบพิธีแห่แหนช้างเผือกน้อยพร้อมกับพังล่าผู้เป็นแม่
           พิธีแห่ช้างเผือกนี้ กำหนดว่าจะนำมาเชิญสู่ขวัญและพำนักไว้ ณ เชิงดอยสุเทพ
แล้ววันอันเป็นมหามงคลที่ชาวเชียงใหม่รอคอยด้วยความกระตือรือร้นก็มาถึง วันนั้นตรงกับวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ขบวนแห่ได้จัดขึ้นเป็นขบวนใหญ่ยิ่ง ประชาชนหลั่งไหลกันมาทุกสารทิศแน่นขนัด เพื่อชมช้างเผือก และจะได้เข้าเฝ้าชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่จะเสด็จประพาสเชียงใหม่และทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายลูกช้างเผือกของบริษัท บอร์เนียว ซึ่งขณะนั้นช้างพลายน้อยมีความสูง ๔๒ นิ้ว หนังเป็นสีดอกบัวโรย ขนตามตัวและตามศีรษะเป็นสีแดงปลายขาว ดวงตาเป็นสีฟ้าอ่อน (ในตำนานช้างตระกูลอัคนิพงศ์ มีตาดุจน้ำผึ้งรวง มีพรรณละเอียดเกลี้ยง) เพดานขาว ขนที่หูขาว เล็บขาว อันทโกษขาว ขนที่หางแดงปลายขาว เป็นเศวตกุญชรซึ่งมีมงคลลักษณะโดยสงเคราะห์เข้าในอัคนีพงศ์ ต้องตามตำรับว่าเป็น ปทุมหัตถี จัดเป็นช้างเผือกที่มีลักษณะงดงามยิ่ง
          เมื่อช้างเผือกจะต้องเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เปลี่ยนฐานะจากลูกช้างธรรมดาขึ้นสู่ฐานะใหม่ 
การล่ำลาจากกันระหว่างลูกๆ ของผู้จัดการห้างบอร์เนียวกับลูกแม่พังล่าได้เป็นไปอย่างน่าสงสารและจับใจในเยื่อใยและความผูกพันระหว่างคนกับช้าง  การแสดงความอาลัยอาวรณ์จากจิตใจที่รักใคร่กันมาตั้งแต่เกิดทำให้ผู้ที่ได้เห็นภาพการลาจากครั้งนี้เป็นที่ประทับใจอย่างยิ่งยวด  บุตรๆ ของ นายแม็คฟีตรงเข้าไปกอดช้าง ส่วนเศวตกุญชรน้อยเล่าก็ใช้งวงไขว่คว้าและกอดรัดตอบ แม้ว่าจะพูดไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่เศร้าใจเพียงใด แต่ก็เป็นการลาจากที่เต็มตื้น แสดงถึงความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อกันการพบช้างเผือกในเมืองเชียงใหม่เป็นข่าวใหญ่ที่หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวกันอย่างครึกโครม และบางฉบับได้เสนอความคิดเห็นว่า การนำเศวตกุญชรมายังกรุงเทพฯ ควรให้เดินทางมาพร้อมกับพังล่าผู้เป็นแม่
       เป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล เมื่อแผ่นดินของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้พบช้างเผือกมาสู่พระบรมโพธิสมภารเป็นราชพาหนะเฉลิมพระเกียรติยศ เป็นมิ่งมงคลคู่บ้านคู่เมือง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นย่อมทรงบุญญาภินิหารเป็นที่พึ่งของไพร่ฟ้าประชาชนให้รุ่งเรืองสืบไป
       ในพระบรมราชวงศ์จักรีได้ปรากฏคล้องช้างเผือกได้จากป่ามาแล้วทุกรัชกาล เพราะในป่าสูงดงดิบยังเต็มไปด้วยโขลงช้าง และเส้นทางอันเต็มไปด้วยความทุรกันดารอย่างเหลือแสนกว่าจะบุกบั่นกันเข้าไปคล้องช้างเผือกได้แต่ละเชือก พวกหมอช้าง ควาญ ต้องประกอบพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดกว่าจะรอนแรมออกไปคล้องช้างแต่ละครั้ง
       เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์สมบัติได้เพียงปีเดียวก็เกิดช้างเผือกขึ้น มิหนำซ้ำมิได้จากป่าหากแต่เป็นช้างในเมือง จึงเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญถึงกันอย่างมากในลักษณะตามคชลักษณ์ของช้างเผือกซึ่งได้นามว่า พระเศวตคชเดชน์ดิลก นี้เป็นอัคนิพงศ์อย่างสมบูรณ์

      ขบวนแห่ช้างเผือกในเมืองเชียงใหม่เป็นไปอย่างชื่นตาชื่นใจทั่วทุกคน เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีปรีดาดังกังวานทั่วไปตลอดเส้นทางที่ช้างเผือกย่างเยื้องผ่านไปอย่างช้าๆ ชาวเหนือทุกจังหวัดใกล้เคียงกับเชียงใหม่เดินทางมาร่วมงานสมโภชครั้งยิ่งใหญ่มโหฬารนี้เป็นประวัติการณ์ ทางเจ้านครเชียงใหม่ยังจัดสาวงามฟ้อนถวายตัวในงานสมโภชน์ครั้งนี้อีกด้วย
เจ้านครเชียงใหม่ ได้เป็นผู้นำช้างเผือกน้อยของบริษัทบอร์เนียว น้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  และทรงโปรดเกล้าให้นำลงมาสมโภชขึ้นระว่างเมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ พระราชทานนามว่า
     “พระเศวตคชเดชน์ดิลก     ประชาธิปชุมรัตนดำรี
     เทวอัคนีรุฒชุบเชิด          กำเนิดนภีสีฉานเฉวียง
     ฉวีเยี่ยงบุษกรโกมล         นขาขนขาวผ่องแผ้ว
     แก้วเนตรน้ำเงินงามลึก      วันวณึกบรรณาการ
     คเชนทรยานยวดยิ่ง         มิ่งมงคลฉนำเฉลิมฉัตร
     สตตมกษัตริย์ทรงศร         อมรรัตนโกสินทร์
     ระบือระบินบารมีทศ         ยืนพระยศธรรมราชัย
     นิรามัยมนุญคุณ             บุณยโกศล เลิศฟ้า"
     ต่อมา   พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ยืนโรงอยู่ ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น) คู่กับ พระเศวตวชิรพาหฯ เป็นเวลา ๑๖ ปี จึงล้มลงเมื่อวันที่ ๑๙  มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖   หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตที่ประเทศอังกฤษได้ประมาณปีเศษเท่านั้นนับเป็นช้างเผือกคู่พระบารมีโดยแท้




[1] นักวิชาการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   สถาบันพระปกเกล้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...