ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เก็บตกเรื่องราวใต้ฟ้า...ประชาธิปกที่เพชรบุรี

                                                                             



                                                                                 



                                                                                      ขอบคุณบทความจาก ม.ร.ว.พฤทธิสาณ  ชุมพล
เมื่อวันที่  7  กันยายน 2558  สามเกลอหนึ่งชาย สองหญิงได้ไปเสวนากัน เรื่อง “สุโขทัยธรรมราชาวิถี”ให้นักเรียนมัธยมปลายราว 200 คนฟังที่ศูนย์วิทยพัฒนาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ที่เพชรบุรี  นอกจากได้รู้ว่านักเรียนก็รู้จักถามคำถามน่าถามอยู่เหมือนกันแล้ว  เราได้ถือโอกาสไปเปิดหูเปิดตาตามสถานที่ 2-3 แห่ง  จึงเก็บตกเรื่องราวจิปาถะ ใต้ฟ้า...ประชาธิปกมาฝาก






พระรามราชนิเวศน์
วังนี้เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่มาเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 อยู่ริมแม่น้ำเพชรซึ่งน้ำใช้ผสมเป็นน้ำสรงพระกระยาสนานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก องค์พระที่นั่งเป็นแบบคฤหาสน์เยอรมันคล้ายพระตำหนักวังบางขุนพรหมแต่เล็กกว่า  เป็นรูปตัวยูกลายๆ
พบบอร์ดนิทรรศการเล็กๆให้ข้อมูลโดยสังเขปว่า วังนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่จนใต้ฟ้าประชาธิปก  จึงได้ถูกนำมาใช้งานตามพระบรมราโชบายเร่งรัดการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและเหมาะแก่ความจำเป็นของประเทศ  เริ่มจากเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประกาศนียบัตรมณฑลราชบุรีในพ.ศ. 2469  ครั้นในพ.ศ. 2474  เป็นโรงเรียนอบรมฝึกหัดผู้กำกับลูกเสือในพระบรมราชูปถัมภ์ จนในพ.ศ. 2477 เป็นที่ตั้งโรงเรียนปฐมวิสามัญหญิง  ซึ่งต่อมาได้ย้ายออกไปตั้งเป็นโรงเรียนการช่างสตรี (วิทยาลัยอาชีวศึกษา เพชรบุรีในปัจจุบัน)  หลังจากนั้นพระรามราชนิเวศน์ก็รกร้างว่างเปล่าอีก  แล้วต่อมาอีกจึงเป็นที่ตั้งของค่ายทหารบก ซึ่งได้จัดการบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ได้เข้าชมความงาม



วัดเกาะ (แก้วสุทธาราม)
วัดนี้อยู่ไม่ไกลจากพระรามราชนิเวศน์ในตำบลท่าราบ  อำเภอเมือง แต่ต้องเข้าไปสุดตรอกแคบๆจึงจะถึง  ซึ่งก็ดีตรงที่ยังมีความสงบร่มเย็นทัวร์ไม่ลง  อนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างนานาไว้ได้ดีพอควรทีเดียว  ซึ่งสำคัญเพราะวัดนี้น่าจะมีประวัติความเป็นมายาวนานแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หากสันนิษฐานจากใบเสมาคู่ทั้ง 8 ทิศรอบพระอุโบสถซึ่งแกะจากศิลาสีแดงเข้ม  แต่หากใช้หลักฐานจากบันทึกบนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถถึงปีที่เขียนบนปูนเฉยๆใช้ดินแดงกับเขม่าบนพื้น  เป็นภาพพุทธประวัติตามความเชื่อแต่โบราณ  เรียบง่ายแต่วิจิตรบรรจง บรรจุเรื่องราวมากมาย  ซึ่งสาวนักวิชาการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร ผู้จบการศึกษาปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจาก ม.ศิลปากร อธิบายให้ฟังได้เป็นฉากๆ เริ่มด้วยการชี้ให้ดูที่ผนังสกัดด้านหลังพระประธานว่ามีภาพเขียนแม่พระธรณีบีบมวยผมในท่ายืนแบบธรรมชาติต่างจากที่อื่น ซึ่งจะยืนหรือนั่งแบบเอี้ยวกาย เป็นต้น
พระอุโบสถหลังนี้ พระครูเพชโรปมคุณ (เหลื่อม) เจ้าอาวาสวัดเกาะรูปที่ 4 (พ.ศ. 2446-2470) ได้ทำการบูรณะครั้งหนึ่งจึงอาจเป็นในสมัยรัชกาลที่ 7  ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นแน่ๆ คือ  อาคารโรงเรียนปริยัติธรรม  ซึ่งจารึกไว้หน้ามุขอาคารว่าสร้างเมื่อพ.ศ. 2474    อาคารหลังย่อมนี้รูปทรงเป็นแบบตะวันตกสมัยใหม่เข้ากับยุคสมัยที่ว่านั้น  ก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้ทั้งหมด  มุขด้านหน้าครอบด้วยจั่วใหญ่ประกอบจั่วบังตา แกะสลักลวดลายฉลุโปร่ง ซุ้มคูหาทรงโค้งทั้ง 3 ด้าน  ช่องลมเหนือประตูทางเข้า แกะสลักเป็นลายกนกก้านขดใบเทศ มีลักษณะผสมผสานศิลปะตะวันตกกับศิลปะไทย  “การพลิกม้วนและการซ้อนแยงของลายกนกเยี่ยมยอดทีเดียว  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสกุลช่างเพชรบุรี”   หนังสือ วัดเกาะ จ.เพชรบุรี ที่วัดจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 ว่าไว้เช่นนี้
อาคารนี้เดิมสร้างขึ้นเป็นที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพของภรรยานายครอง วาดเวียงไชย  ผู้ได้บริจาคให้วัดใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนของพระภิกษุสืบต่อมา  ด้านในมีห้องๆเดียว ขนาดราว 4 เมตรx 3 เมตร มีโต๊ะและเก้าอี้ไม้อยู่ประมาณ 10 ชุด เป็นของเก่า  บนโต๊ะหนึ่งมีหนังสือเก่าวางอยู่ตรวจสอบพบ ชื่อว่า “แนะการเรียนธรรมวิภาค น. ธ.ตรี” (นักธรรมตรี)  ปกหลังบ่งบอกว่า “พิมพ์ที่โรงพิมพ์เฮ่งฮั่วฮง เชิงสะพานเสาชิงช้า  พระนคร  21.9.77”  คือเพิ่งพ้นสมัยรัชกาลที่ 7 ไปได้ไม่กี่เดือน
สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ  เจดีย์ประธานหน้าพระอุโบสถทรงระฆังสูงเพรียวงดงามประดับด้วยพวงอุบะอ่อนช้อย  จึงได้ชื่อว่าเป็น “เจดีย์ทรงเครื่อง”  สะท้อนแสงเรืองๆขรึมๆจับใจคุณศิริน โรจนสโรช สาวบรรณารักษ์จากมสธ. ยิ่งนัก  เจดีย์นี้พระครูเพชโรปมคุณ สร้างครอบเจดีย์องค์เล็กเพื่อบรรจุพระบรมธาตุเมื่อพ.ศ. 2468  เท่ากับว่าอยู่ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 7





ส่วนศาลาท่าน้ำ ริมแม่น้ำที่เตะตาเราแต่แรก เพราะมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และหน้าบันไม้แกะสลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น  พบว่าบูรณะเมื่อพ.ศ. 2472  ในรัชกาลที่ 7  แน่ๆ  แต่มีความเป็นมายาวนานกว่านั้น และมีชื่อว่า “ศาลามเหศวร”  สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 2400  เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์แด่กรมหมื่นมเหศวรวิลาส ผู้ประสูติเมื่อพ.ศ. 2365  เป็นหม่อมเจ้า พระโอรสในองค์ผู้ซึ่งต่อมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่ครั้งที่ยังไม่ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพ.ศ. 2367  และได้ทรงอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร จนเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในพ.ศ. 2393  ชะรอยเสด็จในกรมฯ (ต้นราชสกุล “นพวงศ์”)  จะได้เสด็จมาทางนี้เพื่อมาเฝ้าทูลกระหม่อมพ่อระหว่างที่ทรงพระธุดงค์มาทรงจำวัดอยู่ในถ้ำบนเขา  ซึ่งปัจจุบันคือ เขาวังเมืองเพชร  ผมเดาว่าศาลานี้สร้างในพ.ศ. 2410  ซึ่งเป็นปีที่เสด็จในกรมฯสิ้นพระชนม์เป็นปีที่ 17อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 4  เรื่องราวการท่องประวัติศาสตร์ของสามเกลอจึงเวียนมาบรรจบที่พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4  ซึ่งเพิ่งได้อัญเชิญพระบรมรูปหล่อประดิษฐานเมื่อเร็วๆนี้ในบริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งสามเกลอได้ไปถวายบังคมมาเมื่อค่ำวันก่อน และไปทานอาหารอร่อยๆที่ร้านอาหารบ้านเมืองเพชร ซึ่งพบโดยบังเอิญว่ามีผู้สืบสายราชสกุลกุญชรในรัชกาลที่ 2 เป็นเป็นเจ้าของร้าน
                                                                                                                    พช/  เพชรบุรี /ก.ย. 2558

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั