ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การสืบสานและความเปลี่ยนแปลงของพระราชประเพณีในสมัยรัชกาลที่ ๗

                                การสืบสานและความเปลี่ยนแปลงของพระราชประเพณีในสมัยรัชกาลที่ ๗

                                                                                                                         
                                                                                                                     ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร

พระราชพิธีสิบสองเดือนถือเป็นพระราชประเพณีที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา   และถือเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงปฏิบัติเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลในเดือนต่างๆของรอบปี   สืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ในชั้นต้น  การพระราชพิธีเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ  ได้แก่ พระราชพิธีจองเปรียง  พระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก พระราชพิธีกะติเกยา และพระราชพิธี ตรียัมพวาย ตรีปวาย ฯลฯ  พระราชพิธีบางอย่างยกเลิกหรือเพิ่มเติมใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์  ดังนี้
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ตรงกับปี๒๓๖๐   มีการฟื้นฟูพระราชกุศลวิสาขบูชา โดยจุดโคมตามประทีปบูชาในอารามหลวง
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓ โปรดฯให้มีพระราชพิธีพระราชทานเลี้ยงตรุษจีนขึ้นเป็นครั้งแรก
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นครั้งแรก เมื่อทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก ในวันพฤหัส เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓  (พ.ศ. ๒๓๙๔)
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษาในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ โดยมีผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) จนเมื่อพระชนมายุ ๒๐ พรรษาจึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ก็ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้งเช่นเดียวกับพระบรมชนกนาถ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผนประเพณีเพียงครั้งเดียว  โดยเริ่มจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระราชพิธีเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ ๒๑ -๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘และวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพิธีเบื้องปลายในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯออก ณ พระที่นั่งจักรีเพื่อให้คณะทูตานุทูตเข้าเฝ้าถวายพระพรชัย  เสด็จฯออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายในและภริยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลายทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว
พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระราชาคณะ ๓ รูป และในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ เสด็จฯออกพระที่นั่งจักรีให้หัวหน้าพ่อค้าและประชาชนเฝ้า และเสด็จฯออกมุขเด็จหน้าพระที่นั่งจักรีให้ประชาชนเฝ้าชมพระบารมี แล้วเสด็จฯเลียบพระนครทางสถลมารค(ทางบก) ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อทรงนมัสการบูชาปูชนียวัตถุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และเสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค (ทางน้ำ) ในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ในการนี้มีพระราชพิธีเพิ่มเติมขึ้นใหม่ คือ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรราชชายาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีอีกด้วย
ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน ก็ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีในวันที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเช่นเดียวกัน
พระราชพิธีที่ยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๗ มีด้งนี้
พระราชพิธีโสกันต์ และเกศากันต์
ตามโบราณราชประเพณีพระราชโอรสหรือพระราชธิดามักไว้จุกในวัยเด็กแสดงให้เห็นถึงการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่นเช่นเดียวกับเด็กๆชาวสยามทั่วไป  ซึ่งพระราชโอรสจะโสกันต์เมื่อพระชนมายุ ๑๑-๑๓ พรรษา  พระราชธิดาจะโสกันต์ตั้งแต่พระชนมายุ ๑๑ พรรษาขึ้นไป  ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มักจะประกอบพิธีนี้ ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระราชพิธีทำบุญตุษสุดปีเป็นพิธีตรุษไทย เพื่อตัดปีเก่าเพื่อจะขึ้นปีใหม่  คือพระราชพิธีเดือนสี่เป็นพระราชพิธีมงคลขับไล่สิ่งอวมงคล จึงนิยมโสกันต์ (การโกนจุกเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า) และเกศากันต์ (โกนจุกหม่อมเจ้า)  ซึ่งต่อมาภายหลังจะประกอบร่วมกับพระราชพิธีเดือนยี่ ได้แก่พระราชพิธีตรียัมปวายหรือพระราชพิธีโล้ชิงช้า
พระราชพิธีโสกันต์ในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชพิธีโสกันต์ให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑
พระราชพิธีโสกันต์มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์  โดยพิธีสงฆ์จัดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ช่วงบ่ายก่อนวันพระราชพิธีเป็นเวลา ๓  วัน  รวมทั้งตอนเช้าของวันพระราชพิธี  ในระหว่างนี้เจ้านายที่จะโสกันต์จะเสด็จไปฟังสวดโดยกระบวนแห่  ส่วน สมัยอยุธยารายละเอียดในทางปฏิบัติของการพระราชพิธีนั้นเป็นแบบผสมระหว่างศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ แต่เน้นหนักทางศาสนาพราหมณ์
การพระราชพิธีที่เกิดขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงริเริ่มขึ้นมาใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนเพิ่มพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากขึ้น  ส่วนพระราชพิธีจร หรือพระราชพิธีพิเศษ หมายถึง การพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบขึ้นในมงคลสมัยต่างๆ นอกเหนือจากพระราชพิธีปกติพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (พระราชพิธีโล้ชิงช้า)
  พระราชพิธีตรียัมพวายเป็นพระราชพิธีต้อนรับพระอิศวร ส่วนพระราชพิธีตรีปวายต้อนรับพระนารายณ์   ในการต้อนรับพระอิศวรจัดให้มีการโล้ชิงช้า ๒ วัน คือวันขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า และวันขึ้น ๙ ค่ำเวลาเย็น สมมุติให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นพระอิศวร เดิมใช้ข้าราชการตำแหน่งเกษตราธิบดี คือเจ้าพระยาพลเทพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริว่าพระยาพลเทพต้องแห่ซ้ำทุกปี ต้องแจกจ่ายเลี้ยงดูผู้คนที่เข้ากระบวนแห่สิ้นเปลืองเงินทองมาก จึงกำหนดให้พระยาที่ได้รับพระราชทานพานทองสลับเปลี่ยนกันปีละคน เรียกว่า “พระยายืนชิงช้า” ผู้ทำการโล้ชิงช้าแทนท้าวจตุโลกบาลเรียกว่า “นาลิวัน” มีจำนวน ๑๒ คน โล้กระดานละ ๔ คน รวม ๓ กระดาน ทั้งเป็นผู้รำเสนงแทนพญานาคและเทพยดา ซึ่งเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์
ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดฯให้เพิ่มพิธีสงฆ์ ในพระราชพิธีโล้ชิงช้า โดยพระสงฆ์จะรับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในวัน ๗ ค่ำ เวลาเช้า และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พราหมณ์ได้ทำพิธีสมโภชเทวรูปและทำบุญตามประเพณีพุทธศาสนา  ซึ่งปฏิบัติกันต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงรัชกาลที่ ๗ ได้ยกเลิกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๗ จนถึงปัจจุบันไม่มีการโล้ชิงช้าแล้วรวมทั้งโบราณราชประเพณีที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้หากผู้ที่สนใจสามารถชมได้จากในจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และจิตรกรรมวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลังจากการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในพุทธศักราช ๒๔๗๕ ส่งผลเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีสืบมาจนปัจจุบัน
มรดกที่สืบทอดจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่น การยกเลิกการปกครองตามระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการกำเนิดระบอบการปกครองประชาธิปไตยโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีดูแลรับผิดชอบการบริหารงาานราชการต่างๆ  การพิธีของรัฐบาลจึงเรียกว่า รัฐพิธี
ประเด็นที่สนใจศึกษาคือ การล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ส่งผลกระทบโดยตรงกับการประกอบพระราชพิธีในราชสำนัก  เริ่มสังเกตได้จากช่วง ๒ เดือนแรกหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่เสด็จออกในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ งานพระราชพิธีทางพุทธศาสนา ที่ทรงเคยเสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรสำหรับฤดูฝน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงโปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรเสด็จแทน   หลังจากนั้นก็เสด็จประทับที่วังไกลกังวล   ต่อมาอีก ก่อนวันงานพระราชพิธีฉัตรมงคลในวันที่ ๒๔กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะไม่ทรงเสด็จกลับคืนพระนครจากที่ประทับวังไกลกังวล หัวหิน ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลทำให้คณะรัฐมนตรี ต้องออกแถลงการณ์ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า
 “ การที่ไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ก็เพราะประชวร แม้พระอาการไม่หนักหนาอันใดเลย แต่ว่าการเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟเป็นการกระทบกระเทือนอาจทำให้พระอาการมากขึ้นได้โดยไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้เท่านั้น จึงมิได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ”
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นร่องรอยของความเสื่อมคลายของการพระราชพิธีต่างๆที่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์ทรงเคยปฏิบัติมา
 ในที่นี้ขอยกตัวอย่างให้เห็นพัฒนาการของพระราชพิธีบางพระราชพิธี ได้แก่ พระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองได้แก่ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีฉัตรมงคล ส่วนพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรม  ได้แก่ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และ การเฉลิมฉลองพระนครในเทศกาล เช่น พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (โล้ชิงช้า)
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือเดิมเรียกว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ ขลังและศักดิ์สิทธิ์สำหรับแผ่นดินสืบเนื่องมาแต่โบราณ มีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดและเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักร มีรูปแบบที่จัดขึ้นเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์สาบานประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ส่วนในทางปฎิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอาคมศาสตราวุธต่างๆมาทำพิธีสวดหรือสาปแช่งด้วยการโอมอ่านลิลิตโองการแช่งน้ำแล้วเสียบลงในน้ำที่จะนำไปพระราชทานให้ดื่มเป็นหลักสำคัญ   ถือว่าเป็นพระราชพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง
พระราชพิธีนี้เชื่อว่ามีมาก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาและยังเป็นที่แพร่หลายในดินแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีหลักฐานจารึกที่กรอบประตูศิลาของโบราณสถานพิมานอากาศในเมืองนครธมว่า เป็นคำสาบานของพวกข้าราชการที่เรียกว่า “ พระตำรวจ “ ถวายสัตย์สาบานต่อพระเจ้าศรีสูริยวรมันที่๑
          ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นมีหลักฐานวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำ ใช้เป็นประกาศคำถวายสัตย์ในพระราชพิธีถือน้ำ  พระราชพิธีดังกล่าวนี้ยังประกอบในโอกาสต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์  พระราชพิธีถือน้ำเมื่อออกสงคราม นอกเหนือไปจากที่กระทำเป็นประจำทุกปีๆละสองครั้ง
ในสมัยอยุธยาข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปที่วิหารพระมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วใช้ดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร เป็นเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้วจึงเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน
ในสมัยรัตนโกสินทร์ สถานที่ใช้ประกอบพระราชพิธี คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นจึงนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิของรัชกาลที่๑ และถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดร ในรัชกาลต่อๆมา ยังมีการถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนๆ ซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้วโดยลำดับ
กำหนดเวลาของการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา กำหนดตามปกติมีปีละสองครั้ง คือในเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำครั้งหนึ่ง และเดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง   โดยถือเอาวันตรุษสงกรานต์ และวันสารทในรอบปีหนึ่งสำหรับข้าราชการที่ถือศาสตราวุธ กำหนดให้มีการถือน้ำเป็นประจำทุกเดือน ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการถือน้ำเป็นวันให้แน่นอนในช่วงขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๓ เมษายนเหมือนกันทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นต้นมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก็ถูกระงับมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒   ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  ทรงฟื้นฟูการถือน้ำในวันพระราชทานตรารามาธิบดีแก่ทหาร ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง   แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการแช่งน้ำตามแบบโบราณแต่มีการกระทำสัตย์ปฎิญาณสาบานต่อธงชัยเฉลิมพลบ้าง   ปฏิญาณตนในวันที่ระลึกการสถาปนากระทรวงบ้าง  ก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่อนุวัตไปตามกาลสมัย
พระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัล
การพระราชพิธีเดือนหกกล่าวเป็นสองชื่อ แต่เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกัน พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพระราชพิธีเนื่องในพุทธศาสนา กระทำที่ท้องสนามหลวง พระราชพิธีจรดพระนังคัล
เป็นพระราชพิธีเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ กระทำการพระราชพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร  แต่ในปัจจุบันกระทำที่สนามหลวงทั้งสองพิธี
พระราชพิธีจรดพระนังคัล หมายถึง พระราชพิธีแรกนา หรือ พระราชพิธีแรกนาขวัญ กระทำในเดือนหก บางสมัยวันแรกนาตกในเดือนเมษายน แต่ในระยะหลังมักกระทำในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป
พระราชพิธีจรดพระนังคัลนี้เป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ แต่ในสมัยสุโขทัยไม่มีหลักฐานปรากฎชัดเจน พบหลักฐานที่แสดงว่ามีพระราชพิธีนี้ในสมัยอยุธยาในกฎมนเทียรบาล เรียกพระราชพิธีนี้ว่า “ จรดพระอังคัล “มีข้อความปรากฎถึงพระราชพิธีนี้อยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งกล่าวอย่างสั้นๆว่า “ เดือน ๖ พิทธีไพศากขยจรดพระอังคัล “ อีกแห่งหนึ่งให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า ขุนนางผู้ทำหน้าที่สำคัญคือ เจ้าพญาจันทกุมารและพระพลเทพ ดังความบรรยายว่า
“ เดือนไพศาขจรดพระอังคัล เจ้าพญาจันทกุมารถวายบังคม ณ หอพระ ทรงพระกรุณายื่นพระขรรค แลพระพลเทพถวายบังคมสั่งอาชาสิทธิ ทรงพระกรุณาลดพระบรมเดช มิได้ไขหน้าล่อง มิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบีกลูกขุน มิได้เสด็จออก ส่วนเจ้าพญาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาศขัดแห่ขึ้นช้างแต่นั้นให้สมโพท ๓ วัน ลูกขุนหัวหมื่นพันนา ๑๐๐ นา ๑๐๐๐๐๐ นา กรมการในกรมนาเฝ้า แลขุนหมื่นชาวสวนทังปวงเฝ้าตามกระบวน “
หลักฐานคำให้การขุนหลวงหาวัด บรรยายถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลในสมัยอยุธยา โดยให้รายละเอียดมากกว่า กฏมนเทียรบาลว่า พระราชพิธีนี้พระอินทกุมารทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ และมีนางเทพีแทนพระมเหสี ขี่เรือคฤหสองตอนไปถึงทุ่งแก้วขึ้นจากเรือ พระอินทกุมารสวมมงกุฎอย่างเลิศขี่เสลี่ยงเงิน ส่วนนางเทพีก็สวมมงกุฎอย่างเลิศไม่มียอดขี่เสลี่ยงเงินเหมือนกัน ขบวนแห่มีเครื่องสูง มีคนตามเรียกว่ามหาดเล็ก มีขุนนางเคียงถือหวายห้ามสูงต่ำ เมื่อถึงโรงพิธีพระอินทกุมารจับคันไถเทียมโคอสุภราช โคกระวิน พระยาพลเทพถือเชือกจูงโค นางเทพีหาบกระเช้าข้าวหว่าน เมื่อไถได้สามรอบแล้วก็ปลดโคออก ให้โคเลือกกินอาหารเสี่ยงทาย มีข้าวสามอย่าง ถั่วสามอย่างและหญ้าสามอย่าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ทำหน้าที่แรกนาในกฎมนเทียรบาล คือ พระจันทกุมาร แต่ คำให้การขุนหลวงหาวัดมีชื่อแตกต่างออกไปคือ พระอินทกุมาร
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีหนังสือตำรับนางนพมาศ   กล่าวถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลว่า มีการสร้างโรงพิธีที่ท้องทุ่งละหานหลวง หน้าพระตำหนักห้างเขา พระเจ้าแผ่นดินพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ประทับที่พระตำหนักห้าง โปรดให้ออกญาพลเทพแต่งกายอย่างลูกหลวงเป็นผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่ไถนา โดยบรรยายรายละเอียดดังนี้
“ ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาข จรดพระนังคัล พราหมณ์ประชุมกันผูกพรตเชิญเทวรูปเขาโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวง หน้าพระตำหนักห้างเขา กำหนดฤกษ์แรกนาใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศ ทรงม้าพระที่นั่งพยุหยาตราเป็นกระบวนเพชรพวง พระอัครชายา และพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกำนัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชฤทัย ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไปในกระบวนหลังประทับที่พระตำหนักห้าง จึ่งโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง มีกระบวนแห่ประดับด้วยกรรชิงบังสูรย์ พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอก…”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีเรื่อยมาไม่มีการยกเว้น แต่อาจไม่ได้เป็นพระราชพิธีหน้าพระที่นั่ง ยกเว้นจะมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร เช่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปฎิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม ในปีมะแม เบญจศก ศักราช ๑๑๘๔ได้เสด็จทอดพระเนตรการปฎิสังขรณ์ทุกวัน เมื่อถึงคราวมีพระราชพิธีจรดพระนังคัล ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรการปฎิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม จึงโปรดฯให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณราชวราราม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง และเคยโปรดฯให้กระทำพระราชพิธีแรกนาที่เมืองพระนครศรีอยุธยาและที่เมืองเพชรบุรีอีกด้วย
ตามพระบรมราชาธิบายยังกล่าวว่า แต่เดิมพระราชพิธีจรดพระนังคัลมีแต่พิธีพราหมณ์ไม่มีพิธีสงฆ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มพิธีสงฆ์เข้าไปแต่ยกเป็นอีกพิธีต่างหากเรียกว่า “พืชมงคล”
สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงบรรยายพระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นบทร้อยกรอง ไว้ในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ซึ่งมีเนื้อความตรงกับความเรียงร้อยแก้ว พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ ในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน เริ่มตั้งแต่พระราชพิธีพืชมงคล กล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งในมณฑลพิธี เจ้าพระยาแรกนา และเทพีทั้งสี่เข้าร่วมฟังพระ
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลว่า ผู้กระทำพิธีแรกนานั้นเป็นเสนาบดีกรมนาที่เกษตราธิบดี คือ เจ้าพระยาพลเทพ ยกเว้นบางสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า พระยาแรกนาเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพ เช่นเดียวกันกับพระยายืนชิงช้า เมื่อพระยาพลเทพป่วยก็ให้พระยาประชาชีพแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเกือบจะเป็นธรรมเนียมว่า ผู้ใดยืนชิงช้า ผู้นั้นก็แรกนาด้วย
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลนี้กระทำสืบเนื่องต่อมาในรัชกาลที่ ๖ และ รัชกาลที่ ๗ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๗๙ มีการพิจารณาว่า ควรยกเลิกพระราชพิธีนี้หรือไม่ ในที่สุดกระทรวงเกษตราธิการก็เห็นว่า พระราชพิธีนี้มีประโยชน์ควรดำเนินการแก้ไขมิให้เป็นพระราชพิธีทางไสยศาสตร์ และควรให้มีการประกวดผลผลิตทางเกษตรกรรมและเป็นพิธีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้วย จึงให้คงพระราชพิธีนี้ไว้ เพื่อปลุกใจให้ประชาชนนิยมทำการเกษตร สำหรับพระราชพิธีแรกนานั้นมีการย้ายไปทำร่วมกับงานวันขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๐ ต่อมาได้ยกเลิกไป ในพ.ศ.๒๔๘๑
ต่อมาในสมัยรัชกาลปัจจุบัน พระราชพิธีจรดพระนังคัลได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ.๒๕๐๒ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้กระทรวงเกษตรเป็นเจ้าของเรื่องรับไปพิจารณาดำเนินการ
ผลการประชุมพิจารณาสรุปว่าควรฟื้นฟูขึ้นกระทำเป็นงานประจำปี เริ่มตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

บรรณานุกรม
กฎหมายตราสามดวง เล่ม`๑ . “กฎมนเทียรบาล.”  กรุงเทพฯ : คุรุสภา,๒๕๓๗.
จมื่นอมรดรุณารักษ์, (แจ่ม สุนทรเวช). “ พระราชประเพณี ตอน ๓ “ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม11. กรุงเทพฯ : คุรุสภา,๒๕๑๔.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม1. พิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๒๘.
------------------. พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม ๒พิมพ์ครั้งที่ ๓ .กรุงเทพฯ : คุรุสภา,๒๕๔๑.
ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร. การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐสถิต
                    มหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย
                     มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2546
บำราบปรปักษ์,สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยา.โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส.กรุงเทพฯ :กรมศิลปา
กร  กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์จัดพิมพ์ ,๒๕๔๕.
ทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์,หม่อมราชวงศ์. คำบรรยายเรื่องพระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน.        
             จัดพิมพ์เนื่องในการทำบุญบ้านซอยสุทธิสารพระนคร วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๐.
ธำรงค์ศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์. ๒๔๗๕ และ ๑ ปีหลังการปฏิวัติ. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ
มหาวิทยาลัย  กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรสโพรดักส์,๒๕๔๓.
สมมติอมรพันธุ์ฯ,พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ.(รวบรวม)ประกาศการพระราชพิธีเล่ม ๑.
          พระนคร : คุรุสภา,๒๕๐๘
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (บรรณาธิการ). ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสุโขทัย.กรุงเทพฯ :    สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม,๒๕๓๐
สุภาพรรณ ณ บางช้าง. ขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อและแนวปฎิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2535
ภาษาอังกฤษ
 Maund, Laurie. The Royal Ceremonies : Past and Present. Published by The national
Identity Board office of the Prime Minister. Bangkok, Thailand,1990.








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั