ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร เรียบเรียง
ความหมาย
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาจากคำว่า พระราชพิธี+บรม+ราช+อภิเษก คำสำคัญ คือคำว่า “อภิเษก” เป็นคำสมาสแบบมีการสนธิกับอภิเษก จึงแปลว่าการรดน้ำเพื่อแต่งตั้งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยนี้มีรูปแบบผสมผสานทั้งความเชื่อและพิธีกรรมทั้งของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และคติความเชื่อในประเพณีดั้งเดิมที่ประกอบขึ้นมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภคและเครื่องราชภัณฑ์ในการสมโภชพระมหามณเฑียร อันเป็นการสะท้อนถึงอารยธรรมและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุข ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นประกอบด้วย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ โดยพระราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้กล่าวถวายเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์เพื่อเฉลิมพระราชอิสริยยศ อันเป็นพระราชประเพณีที่สืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์
ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ควรมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราชสมบัติ จึงทรงจัดการพระราชกุศล และให้มีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้วย พระราชทานชื่อว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า พระราชกุศลทักษิณานุประทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคล สืบมาจนปัจจุบัน
การสืบราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากการสืบราชสันตติวงศ์ของไทยแต่เดิมมามีความไม่แน่นอน ในช่วงระยะเวลา ๔ ปีเศษระหว่างเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๓ ถึง กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ในรัชกาลที่ ๖ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทสิ้นพระชนม์หมดทั้งสามพระองค์ เพื่อขจัดปัญหาในการสืบราชสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ กำหนดชั้นผู้สมควรได้รับราชสมบัติไว้ในหมวดที่ ๔ ข้อที่ ๘ มีใจความสำคัญว่า หากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตลงโดยมิได้สมมตพระรัชทายาท ให้อัญเชิญเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์สายตรงก่อนคือ พระอนุชาร่วมพระราชมารดาพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ และให้จัดทำพระราชพินัยธรรมไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ วังพญาไท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงเป็นลำดับที่ ๔ เนื่องจากทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ จึงทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทโดยพฤตินัย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมหน้าที่ราชการแผ่นดิน อีกทั้งประทับเป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดีแทนพระองค์ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระนคร ต่อมาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาได้เพียงไม่ถึงเดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระประชวร และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงพระครรภ์ไม่ทราบแน่ว่าจะประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดา
ก่อนรัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว คือเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ พระองค์จึงทรงทราบว่าทรงมีพระราชธิดา ซึ่งขณะนั้นในกฎมณเฑียรบาลยังไม่อนุญาตให้พระราชธิดาครองราชสมบัติได้ และต่อมาในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน หลังรัชกาลที่ ๖ สวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ได้ทรงเป็นประธานในที่ประชุมพระบรมวงศ์และเสนาบดี เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการสืบราชสมบัติ ซึ่งจากการพิเคราะห์พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงแสดงไว้ในพระราชหัตถเลขานิติกรรมจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จพระอนุชาธิราชมาก ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขานิติกรรมตอนหนึ่งว่า
“...หากมีพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบสันติวงศ์ตามราชประเพณี..”.
ทว่าในชั้นแรก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ไม่ทรงเต็มพระทัยจะรับราชสมบัติ โดยทรงอ้างว่ายังมีเจ้านายที่อาวุโสมากกว่าพระองค์และไม่ทรงมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินมากพอ แต่ในที่ประชุมลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ไว้วางใจในพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีพระราชหฤทัยยินดีช่วยงานราชการทุกอย่าง รวมทั้งต้องการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมจึงพร้อมใจกันเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาจึงได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบจารีตประเพณีโบราณ เช่นที่เคยประกอบขึ้นครั้งรัชกาลก่อนๆแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างไปบ้าง และเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป
ขั้นเตรียมการพระราชพิธีก่อนวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก
การเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ เรื่อยมา เริ่มด้วยการตั้งแต่งเครื่องนมัสการสำหรับพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทอง) ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และการจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมนามาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และการแกะพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินทำด้วยงากลึงเป็นเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์ เช่นเดียวกับครั้งรัชกาลก่อน มีพระสงฆ์ราชาคณะ ๑๐ รูปมาเจริญพระพุทธมนต์โหรบูชาเทวดา
-พิธีเสกน้ำมุรธาภิเษก
ในคืนวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานตั้งบายศรี เงิน ทอง แก้ว สำรับใหญ่ พร้อมเครื่องสำหรับเวียนเทียนสมโภชพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรที่จารึกและแกะเรียบร้อยแล้ว ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อได้พระฤกษ์ พระโหราธิบดีลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมดนตรี และในวันนี้ตามหัวเมืองมณฑลต่างๆมีการตั้งพิธีเสกน้ำพุทธาภิเษก รวม ๑๗ มณฑล ๑๘ แห่ง เช่นเดียวกันกับสมัยรัชกาลที่ ๖ ต่างกันตรงที่ชื่อมณฑลที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ตามมณฑลมีการประกอบพิธีเสกน้ำเวียนเทียนสมโภช เมื่อเสร็จแล้วก็จัดส่งมายังกรุงเทพฯเพื่อตั้งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ส่วนในกรุงเทพฯ นั้น เริ่มการเตรียมการตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ (๒๔๖๙) เวลา ๑๗.๓๐ นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เวลานั้นยังไม่ได้ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามราชประเพณีต้องเรียกขานในพระอิสริยยศว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลประจำวัน แล้วเสด็จฯไปยังหอพระธาตุมณเฑียร พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิของบูรพมหากษัตริยาธิราชและสมเด็จพระบรมราชินีในพระบรมจักรีวงศ์ รวมทั้งพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก และถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนที่จะเสด็จเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
การจัดตกแต่งสถานที่ต่างๆที่จะใช้ประกอบพระราชพิธีในพระมหามณเฑียร อาทิ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน รวมทั้งการจัดโรงพระราชพิธีพราหมณ์ที่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้วย
-การตั้งน้ำวงด้ายเริ่มการพระราชาพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร
โดยเริ่มจัดในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้จัดพิธีตั้งน้ำวงด้าย (สายสิญจน์) ณ พระมหามณเฑียร คือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน นับเป็นการเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเทียร โดยจัดเตรียมเหมือนที่เคยปฏิบัติในสมัยรัชกาลที่ ๖
ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ กุมภาพันธ์ เจ้ากรมพราหมณ์พิธีถวายน้ำพระมหาสังข์ ซึ่งในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์มีพิธีการสำคัญ คือ โปรดเกล้าฯให้มหาดเล็กตั้งเครื่องบวงสรวงสังเวยเทวดาตามสถานที่ต่างๆรวม ๑๗ แห่ง แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จุดเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระธรรมที่แท่นเตียงสวด จุดเทียนเท่าพระองค์ ทรงจุดเทียนนมัสการพระพทธสัมพรรณี พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรน้อยแล้ว เสด็จไปทรงจุดเทียนในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
การพระราชพิธีในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ ๗
มหาศุภมงคลพระฤกษ์สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กุมภาพันธ์เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ค่ำ ปีฉลู สัปตศก เริ่มด้วยเวลา ๐๙.๑๕ นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศทหารเรือทรงสายสะพานนพรัตนราชวราภรณ์เสด็จโดยกระบวนราบจากพระที่นั่งบรมพิมานไปประทับยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการพระสัมพุทธพรรณี กับพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรแล้ว เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กับสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะผู้ใหญ่อีก ๔ รูป รวมเป็น ๕รูป ขึ้นยังอาสนพระที่นั่งไพศาลทักษิณรวมพระสงฆ์ราชาคณะอีก ๓๕ รูป ส่วนพระสงฆ์นอกนั้นซึ่งสวดมนต์อีก ๓๐ รูปนั่งในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และเสด็จสู่พระมณฑปพระกระยาสนาน สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายน้ำพระพุทธมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนสังเวยเทวดา กลางหาว เสด็จประทับตั่งไม้อุทุมพร ทรงเหยียบใบไม้ตะขบ หันพระพักตร์สู่ทิศอีสานอันเป็นทิศมงคล พระโหราธิบดีลั่นฆ้องชัย พนักงานประโคมแตรสังข์ ยิงปืนใหญ่ ทหารกองแก้วจินดายิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร และมหาปราบ เป็นพระฤกษ์ พระยาอุทัยธรรมถวายเครื่องพระกระยาสนานและไขสหัสธารา พระเจ้าอยู่หัวทรงมุรธาภิเษก (สรงน้ำ) แล้วผลัดพระภูษาเพื่อสู่พระที่นั่งอัฐทิศโดยทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ สำหรับพระบรมราชาภิเษกสีน้ำเงินตามสีพิชัยสงครามวันพฤหัสบดี ได้เวลาพระฤกษ์เวลา ๙ นาฬิกา ๕๓ นาที ๕๒ วินาที ทรงรับน้ำอภิเษกจากราชบัณฑิตและพราหมณ์ ๘ ทิศ เพื่อทรงจิบและลูบพระพักตร์โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ราชบัณฑิตประจำทิศตะวันออก กราบบังคมทูลถวายน้ำอภิเษกเป็นภาษามคธ แล้วกล่าวแปลเป็นภาษาไทย ทรงมีพระราชดำรัสตอบเป็นภาษามคธแล้วแปลเป็นภาษาไทย พราหมณ์เป่าสังข์แล้วพระราชครูวามเทพมุนีถวายน้ำพระมหาสังข์ พระสิทธิไชยบดีถวายน้ำพระครอบสำริดแล้วคลานเวียนตามไปถวายทุกทิศ เมื่อทรงรับน้ำแล้วพราหมณ์เป่าสังข์แล้วหันพระองค์เวียนทักษิณาวัตรจนครบทั้ง ๘ ทิศ เมื่อผันพระองค์มายังทิศตะวันออกอีกครั้ง เสด็จจากพระที่นั่งอัฏฐทิศโดยทักษิณาวัตรไปสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ โดยมีริ้วกระบวนนำเสด็จ ๒ สาย และกระบวนตามเสด็จ ๔ สาย อัญเชิญเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรวม ๑๙ รายการ เช่น พระสุพรรณบัฏ พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ พระสังวาลพระนพ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี พระแส้จามรี ฯลฯ ตามลำดับไปจนครบ รวมถึงพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรอันมีความหมายว่าพระองค์ทรงรับเป็นบรมราชาธิราชของปวงชนชาวไทย หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการแก่พระราชครูวามเทพมุนี อันเป็นคำปฏิญญาในการขึ้นครองราชย์ ว่า
“...ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาจักรเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติเป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไปท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”
(พึงสังเกตว่าทรงครองแผ่นดินและทรงจัดการปกครองด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์) และทรงหลั่งพระเต้าทักษิโณทกแล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานที่จะดำรงทศพิธราชธรรมจักรวรรดิวัตรจรรยา แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงประเคนไทยธรรมแก่พระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูป ที่เจริญพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ถวายอดิเรกพิเศษเป็นปฐมฤกษ์
การเสด็จออกมหาสมาคมและการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี
เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือพระแสงขรรค์ชัยศรี เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยประทับพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎและฉลองพระบาท ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ผู้แทนพระราชาธิบดีและประธานาธิบดีคณะทูตานุทูต และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพร โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเป็นประธานกราบบังคมทูลพระกรุณาแสดงความจงรักภักดี และถวายพระพรชัย หลังจากการเสด็จออกมหาสมาคม ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชฎามหากฐิน เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน ตลอดจนสตรีบรรดาศักดิ์นอกพระราชฐานเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลถวายชัยมงคล แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จบแล้วทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมวงศ์ กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์อันเป็นโบราณมงคลและเครื่องราชูปโภคสำหรับตำแหน่งพระอัครมเหสี
กล่าวได้ว่า พระราชพิธีที่เกิดขึ้นใหม่มีการปรับรูปแบบให้เหมาะแก่กาลสมัยมากขึ้นในสมัยนี้ คือ การเพิ่มขั้นตอนของพระราชพิธีหลังจากทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว คือ ให้มีการออกมหาสมาคมฝ่ายใน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในตอนบ่ายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อให้พระราชวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลและทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่มีปรากฏในตำราบรมราชาภิเษกของเดิมที่กำหนดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับเป็นพระราชพิธีที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
การประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก
เวลาเย็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมทั้งจุดเทียนและถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระคัมภีร์ แล้วสมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายศีล ครั้นทรงศีลแล้วทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก สมเด็จพระราชาคณะทั้ง ๘๐ รูป กล่าวสาธุพร้อมๆกัน ๓ ครั้ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายอดิเรก แล้วสมเด็จพระวันรัตถวายพระพรลามายังอาสนะสงฆ์ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเครื่องทองน้อย เครื่องราชสักการะ ถวายบังคม พระบรมอัฐิ และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
การเฉลิมพระราชมณเฑียร
ตามโบราณราชประเพณีนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วต้องมีการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรต่อเนื่องกันไปด้วย เสมือนเป็นพิธีขึ้นบ้านใหม่ของพระเจ้าแผ่นดิน เช่นเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ ๗ เวลาใกล้ค่ำวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จากพระที่นั่งบรมพิมานไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แวดล้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภคตามเสด็จพระราชดำเนินประกอบด้วย พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมหลวงนครสรรค์วรพินิต ๓ พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธวงษ์วิจิตรเชิญพระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตนบุษบงเชิญพระแสงขรรค์องค์น้อย และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิษฐ์สบสมัยเชิญพระแส้หางช้างเผือก พระธิดาในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์หญิงมยุรฉัตรเชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ(ไม้เท้า) และอุ้มไก่ขาว พระธิดาในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์คือ หม่อมเจ้าหญิงดวงทิพย์โชติแจ้งหล้า รพีพัฒน์ เชิญศิลาบด พระธิดาในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถคือ หม่อมเจ้าหญิงพัฒนคนณา กิติยากร เชิญพานพืช พระธิดาในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ คือหม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา อาภากร เชิญกุญแจทอง พระธิดาในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดีคือ หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร์ เชิญจั่นหมากทอง พระธิดาในพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาสคือ หม่อมเจ้าหญิงสุรินันทนา สุริยง อุ้มวิฬาร์ (แมว) พระธิดาในพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม คือหม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ เชิญพานฟัก พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือ หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ เชิญพานพระศรี (พานหมาก) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช คือหม่อมเจ้าหญิงรำไพประภา ภาณุพันธุ์เชิญพระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ๒ พระองค์ได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ เทวกุล เชิญพานพระรัตนกรัณฑ์ (หม้อน้ำ) และหม่อมเจ้าหญิงแขไขจรัสศรี เทวกุล เชิญพานพระกล้อง พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ๒ พระองค์ ได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงรัสสาทิศ สวัสดิวัตน์ เชิญพานธูปเทียน และหม่อมเจ้าหญิงผุสดีวิลาส สวัสดิวัตน์เชิญพานดอกไม้ จากพระที่นั่งบรมพิมานโดยทางใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยพิกุลทอง พิกุลเงิน และเงินสลึงตามลาดพระบาท แล้วเสด็จขึ้นเถลิงพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในเวลาพระฤกษ์ ๒๑ นาฬิกา ๕๑ นาที
-บุคคลคณะต่างๆเฝ้าถวายพระพร
หลังจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวออกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ ห้องด้านทิศตะวันออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมุขตะวันออก เพื่อให้มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เบิกเอกอัครราชทูตพิเศษที่มาช่วยงานแทนพระองค์ราชาธิบดี และแทนประธานาธิบดีนานาประเทศเข้าเฝ้าคราวละนาย ลำดับรวมทั้งสิ้น ๙ ประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ จากนั้นเสด็จออกท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีเสนาบดีกระทรวงวัง ราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ สมุหราชองครักษ์ อธิบดีกรมมหาดเล็ก ฯลฯ โดยเสด็จเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศนำคณะทูตานุทูตต่างประเทศเฝ้าพร้อมกัน โดยมีเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์เป็นหัวหน้ากราบบังคมทูลถวายพระพรชัย พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบและมีพระราชปฎิสันฐานกับบรรดาผู้มาเฝ้าถวายพระพร
-พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นปฐมพระฤกษ์
หลังจากโปรดเกล้าฯให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงรับดอกไม้ธูปเทียนจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายใน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในการพระราชพิธี พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ตั้งพระราชาคณะเป็นปฐมพระฤกษ์ จำนวน ๓ รูป จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและข้าราชการเหล่าเสนาอำมาตย์ ถวายดอกไม้ธูปเทียน พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกายถวายพระธรรมเทศนามงคลสูตรตามราชประเพณี
-คณะนักบวชและพ่อค้าคหบดีเข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล
ต่อมาในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จออกท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดเกล้าฯให้มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เบิกคณะผู้แทนประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ นักบวชโรมันคาทอลิก อิสลาม ซิกข์ ฮินดู พ่อค้าและคณบดีชาวไทย จีน และญี่ปุ่น เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทุกคณะต่างอ่านคำกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลในมหามงคลวโรกาสที่เสด็จสถิตในสิริราชสมบัติ แล้วมีพระราชดำรัสตอบ
-พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ราษฎรเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดเกล้าฯให้ปวงราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีจำนวนมากทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชาย หญิง คอยเฝ้าอยู่ที่สนามหญ้าและชาลาหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไปจนถึงประตูพิมานไชยศรี พระยาเพ็ชรดา (สะอาด ณ ป้อมเพชร) สมุหพระนครบาลกราบบังคมทูลพระกรุณาทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแทนอาณาประชาราษฎร์ มีพระราชดำรัสตอบแล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนจากสตรีบรรดาศักดิ์ แล้วเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ฝ่ายเสวกทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียน ทรงกระทำราชสักการะเช่นวันก่อน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายพระธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม ๑ กัณฑ์
การเสด็จเลียบพระนคร
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานทองคำราชยาน ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (ทางบก) เลียบพระนครเพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้เฝ้าชมพระบารมี และเสด็จไปสักการปูชนียวัตถุสถาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และในการเสด็จเลียบพระนครในวันนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประทับทอดพระเนตรกระบวนที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร
วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเหนือพระราชบัลลังก์บุษบกในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค(ทางน้ำ) ไปนมัสการปูชนียวัตถุสถาน ณ วัดอรุณราชวราราม อาทิ นมัสการพระพุทธปฏิมากร และทรงจุดธูปเทียนสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนิมิตรแล้ว พระเทพสุรี เจ้าอาวาสถวายอดิเรกพระสงฆ์ถวายพระพรชัยมงคลเสด็จขึ้นเกยประทับพระราชยานกลับยังเรือพลับพลา ทรงชฎามหากฐินน้อยแล้ว เสด็จขึ้นประทับบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นลำทรง พร้อมด้วยเครื่องเฉลิมพระราชอิสริยยศ มีมหาดเล็กเชิญพระแสงเชิญเครื่องพร้อม ต้นบทฝีพายเกริ่นเห่ เคลื่อนกระบวนพยุหยาตราออกจากฉนวนหน้าวัดอรุณราชวราราม ข้ามฟากมายังท่าราชวรดิฐ เรือพระที่นั่งเทียบเรือพลับพลาเสด็จจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชสู่เรือพลับพลา ทรงเปลื้องพระชฎามหากฐินน้อยทรงพระมาลาเสร้าสูงเสด็จขึ้นพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยประทับเกยทรงพระราชยานกงทองลงยาราชาวดีเป็นกระบวนพระราชยานเข้าประตูเทวาภิรมย์ประตูศรีสุนทรเข้าชาลาพระมหาปราสาทไปออกถนนอมรวิถี ตรงไปเทียบเกยหน้าพระที่นั่งบรมพิมาน เสด็จขึ้นสู่พระราชมณเฑียรสถานเป็นเสร็จการพระราชพิธี
ในวโรกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างของที่ระลึกพระราชทานแก่พระเถรานุเถระ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนพ่อค้าคหบดีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จำนวน ๓ สิ่ง ได้แก่ (๑) เหรียญบรมราชาภิเษก มีแพรแถบริ้วสีเหลืองสลับเขียว เป็นเหรียญทองบ้าง เงินบ้าง กะไหล่ทองบ้าง เงินบ้าง ตามฐานันดรศักดิ์ ส่วนพระสงฆ์ได้รับพระราชทานเหรียญทองแดง (๒) ดอกพิกุลเงินทองมีจำนวนมากน้อยตามฐานันดรศักดิ์ (๓) หนังสืออธิบายลักษณะงานพระราชพิธีเป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างประเทศ
สรุปการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้นับเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับพระมหากษัตริย์ไทย คือมีขั้นตอนสำคัญคือการรับน้ำศักดิ์สิทธิจากราชบัณฑิตและพราหมณ์ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯให้ปรับเปลี่ยนโดยโปรดเกล้าฯให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าร่วมถวายน้ำเป็นครั้งแรก จัดเป็นการดัดแปลงพระราชพิธีพราหมณ์ให้เข้ากับระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
บรรณานุกรม
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. บรรณาธิการ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระ
ปรมินทรมหาประชาธิป พระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ ๗ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวเนื่องในวโรกาสพระบรมราชสมภพ ครบ ๑๐๐ ปี กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์,๒๕๓๗.
ประกาศอักษรกิจ, (เสงี่ยม รามนันทน์) พระยา, พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราช
มณเฑียร ปีฉลู สัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘. คณะวัดราชบพิธมหาสีมารามพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๘.
ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรม
ราชินีในรัชกาลที่ ๗ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์สำหรับพระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันอังคารที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘.
ณัฏฐภัทร จันทวิช . เรียบเรียง. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดพิมพ์ใน มหามงคลสมัยที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ใน “มรดกไทย” โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย พิมพ์ที่ กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งอรุณ พับลิชชิ่ง จำกัด , ๒๕๔๒.
ศิลปากร,กรม. รายการละเอียด พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรและเสด็จ
เลียบพระนคร ในพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๖๘ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ โปรดให้พิมพ์เนื่องในงานพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๙๖.
ภาคผนวก
ความหมายของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นเครื่องราชอิสริยยศ ๕ สิ่งที่มามาแต่โบราณของ
พระมหากษัตริย์ คือ พระมหามงกุฎ พระภูษา ผ้ารัตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตร และฉลองพระบาททองประดับแก้ว
พระมหาเศวตฉัตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นพปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นฉัตร ๙ ชั้น หุ้มผ้าขาว มีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด มียอด พระมหาเศวตฉัตรนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้หุ้มด้วยผ้าขาวแทนตาด ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ (จึงควรกราบถายบังคมแม้ไม่มีองค์พระมหากษัตริย์ประทับอยู่เบื้องใต้) ในรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นถวายที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรหลังจากทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็เชิญไปปักกางไว้เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ จึงไม่ต้องถวายเศวตฉัตรรวมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นอื่น
เดิมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยบางรัชกาล มิได้กล่าวรวมพระมหาเศวตฉัตรหรือเศวตฉัตรเป็นเรื่องราชกกุธภัณฑ์ด้วยเพราะฉัตรเป็นของใหญ่โตมีปักอยู่แล้วเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐจึงถวายธารพระกรแทนจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นราชศิราภรณ์สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมแต่งพระมหาพิชัยมงกุฎให้งดงามและทรงคุณค่ายิ่งขึ้น จึงให้ผู้ชำนาญการดูเพชรไปหาซื้อเพชรจากประเทศอินเดียได้เพชรขนาดใหญ่ น้ำดี จากเมืองกัลกัตตา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำมาประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ แล้วพระราชทานนามเพชรนี้ว่าพระมหาวิเชียรมณี พระมหามงกุฎหมายถึงยอดวิมานของพระอินทร์ ผู้เป็นประชาบดีของสวรรค์ชั้นสอง คือ ชั้นดาวดึงส์ พระมหาพิชัยมงกุฎรวมพระจอน สูง ๖๖ เซนติเมตร หนัก ๗.๓ กิโลกรัม ในสมัยโบราณถือว่ามงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่าภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเชิญทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธี และทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่า พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นพระแสงราชศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เป็นพระแสงราชศัสตราประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาในการปกครองบ้านเมือง พระแสงขรรค์องค์ปัจจุบันมีประวัติว่า ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ ชาวประมงพบพระแสงองค์นี้ในทะเลสาบเมืองเสียมราฐ กรมการเมืองเห็นว่าองค์พระแสงขรรค์ยังอยู่ในสภาพดีและงดงาม จึงนำพระแสงไปมอบให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเสียมราฐในขณะนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เห็นว่าเป็นของเก่าฝีมือช่างสมัยนครวัด จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงพระนคร ได้เกิดฟ้าผ่าในเขตในพระนครถึง ๗ แห่ง มีประตูวิเศษไชยศรีในพระราชฐานชั้นนอก และประตูพิมานไชยศรี ในพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญพระแสงองค์นี้ผ่านไป เพื่อเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ดังนั้น ประตูพระบรมมหาราชวังดังกล่าว จึงมีคำท้ายชื่อว่า "ไชยศรี" ทั้งสองประตูเช่นเดียวกับชื่อพระขรรค์องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับมณี พระแสงขรรค์ชัยศรีนี้เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว๖๔.๕ เซนติเมตร ประกอบด้ามแล้วยาว ๘๙.๘ เซนติเมตรหนัก ๑.๓ กิโลกรัม สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ เซนติเมตร หนัก ๑.๙ กิโลกรัม พระแสงราชศัสตราที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีสำคัญหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
ธารพระกร
ธารพระกรของเดิมสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ที่สุดสันเป็นซ่อม ลักษณะเหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสกุล เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่าธารพระกรชัยพฤกษ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่หา ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป ที่แท้ลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร แต่ได้ทรงสร้างขึ้นแล้วก็ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำธารพระกรชัยพฤกษ์กลับมาใช้อีกและยังคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
พัดวาลวิชนี และพระแส้หางจามรี
เป็นเครื่องใช้ประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พัดวาลวิชนีทำด้วยใบตาล แต่ปิดทองทั้ง 2 ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรี ด้ามเป็นแก้ว ทั้งสองสิ่งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น 'วาลวิชนี' เป็นภาษาบาลีแปลว่า เครื่องโบก ทำด้วยขนวาล ตรงกับที่ไทยเรียกจามรี
ฉลองพระบาทเชิงงอน
ฉลองพระบาทมีที่มาจากเกือกแก้ว หมายถึงแผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ และเป็นที่อาศัยของอาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแว่นแคว้น ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำทั้งองค์ น้ำหนัก ๖๕๐ กรัม ลายที่สลักประกอบด้วยลายช่อหางโตแบบดอกเทศ ลงยาสีเขียวแดง โดยดอกลงยาสีเขียว เกสรลงยาสีแดง ส่วนเชิงงอนนั้นทำเป็นตุ่มแบบกระดุมหรือดอกลำดวนมีคาดกลางทำเป็นลายก้านต่อดอกชนิดใบเทศฝังบุษย์น้ำเพชร
อย่างไรก็ดี เมื่อเพิ่มธารพระกรเข้าในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ความหมายอาจหมายถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ทศพิธราชธรรมดุจธารพระกรที่นำทางให้เกิดความสุขความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชนและราชอาณาจักร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น