ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดาและญี่ปุ่น ของรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2474)


การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2474

                                                                                                             โดย รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ  ชุมพล

การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้มีเหตุมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอาการต้อ กระจกในพระเนตรทั้งสองข้าง แต่ต้อในพระเนตรซ้ายนั้นจำเป็นต้องและสุกงอมพอที่จะได้รับการผ่าตัด ซึ่งในสมัยนั้นยังทำในประเทศไม่ได้ จึงได้มีพระราชดำริจะเสด็จฯ ยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อการนั้น  ทั้งนี้มีความจำเป็นทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลหลังการผ่าตัดที่จะต้องทรงพักฟื้นเป็นระยะเวลาราวหนึ่งเดือนด้วย จึงได้มีพระราชดำริว่า ในเมื่อต้องเสด็จฯ สู่แดนไกลเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่จะได้ทรงใช้โอกาสนั้นเจริญพระราชไมตรีและทอดพระเนตรความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยี่ในประเทศนั้นและประเทศแคนาดาและญี่ปุ่นที่ต้องเสด็จฯ ผ่าน จะยังประโยชน์ยิ่งขึ้น (ดู ภาพิสุทธิ์ 2558: 71-78)
ในการเตรียมการเสด็จฯ นั้น มีความจำเป็นต้องจัดหาที่ประทับซึ่งไม่ใช่โรงแรมเป็นประการสำคัญประการหนึ่ง นอกจากนั้น ด้วยสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นประเทศซึ่งยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์สยามเสด็จฯ ไปถึงมาก่อนในขณะที่ทรงราชย์ และผู้คนที่นั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งปกครองในระบบสาธารณรัฐ ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมไม่ค่อยคุ้นชินกับกษัตริย์ราชวงศ์หรือแม้แต่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับสยามประเทศ จึงได้โปรดเกล้าฯ เป็นการส่วนพระองค์และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นาย เรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Ramond B. Stevens) ที่ปรึกษาการต่างประเทศของรัฐบาลสยามชาวอเมริกัน ได้ล่วงหน้าไปบริหารจัดการการประชาสัมพันธ์ประเทศและพระองค์ด้วย เป็นที่มาของเอกสารกฤตภาค (ข่าวตัดหน้าหนังสือพิมพ์) ซึ่งเขาและคณะได้จัดทำทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตรตลอดระยะทางเสด็จพระราชดำเนิน (หจช. 2474) ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญยิ่งเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ ครั้งนี้ (ภาพิสุทธิ์ 2558: 5-7)
ทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดาและญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2473 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 เป็นเวลานานถึง 7 เดือน นับรวมเวลาเดินทางโดยเรือเดินสมุทร และโดยรถไฟข้ามทวีปอเมริกาเหนือทั้งขาไปและขากลับ ประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปเสด็จลงเรือ “ซีแลนเดีย” (Selandia) ของบริษัทอีสเอชิแอติค (East Asiatic Company) ที่เกาะสีชัง (ภาพิสุทธิ์ 2558: 72-86) ทรงแวะที่ฮ่องกง (Hong Kong) หนึ่งวันเต็ม แล้วเสด็จลงเรือเอ็มเปรส ออฟ แจแปน (Empress of Japan) ไปยังเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ที่ซึ่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐจีนเฝ้ารับเสด็จฯ ในนามประธานาธิบดีเจียงไกเช็ค (Chiang Kai Chek) วันรุ่งขึ้น เสด็จฯ ต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นถึงเมืองโกเบ (Kobe) ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2474 วันรุ่งขึ้นเสด็จฯ ยังเมืองโยโกฮามา (Yokohama) ที่ซึ่งมีการรับเสด็จฯ อย่างสมพระเกียรติ เสด็จฯ โดยรถไฟไปยังกรุงโตเกียว (Tokyo) เจ้าชายรัชทายาทและเจ้าหญิงชิชิบุ (Chichibu) ทรงรับเสด็จฯ ไปงานเลี้ยงรับรองที่วังแห่งหนึ่ง แล้วในวันรุ่งขึ้นเสด็จฯ ทรงเยี่ยมสมเด็จพระจักรพรรดิ์และจักรพรรดินี ซึ่งเสด็จมาทรงเยี่ยมตอบ ณ โรงแรมที่ประทับ นับเป็นการเจริญพระราชไมตรีในระหว่างองค์พระประมุขของประเทศทั้งสอง
ช่วงบ่ายเสด็จฯ ไปงานฉลองวันประสูติของพระพุทธเจ้าที่สวนหิบิยะ (Hibiya Park)  ศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) และศาลราชสกุลเมจิ (Meiji Shrine) เสวยพระกระยาหารค่ำกับสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ที่พระราชวังหลวง แล้วเสด็จฯ ทอดพระเนตรละครกาบูกิซะ (Kabukiza Theatre) วันรุ่งขึ้น เสด็จฯ โดยรถไฟไปยังเมืองกะมากุระ (Kamakura) ทอดพระเนตรพระพุทธรูปไดบัสสุ (Daibutsu) องค์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น นับเป็นการทรงใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์เชิงการทูตสาธารณะ แล้วเสด็จฯ คืนยังท่าเรือโยโกฮามา เรือออกจากท่าในบ่ายวันนั้นมุ่งสู่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศแคนาดา (ภาพิสุทธิ์ 2558: 87-93 และดูภาพในราชเลขาธิการ 2558: 119-122)
ในการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีแต่หม่อมหลวงคลอง ไชยันต์ ตามเสด็จฯ เป็นนางสนองพระโอษฐ์ ไม่มีนางพระกำนัล โดยหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ต้องโดยเสด็จฯ ในฐานะแพทย์ประจำพระองค์อยู่แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระชนกชนนีในสมเด็จฯ โดยเสด็จฯ ด้วย ค่าใช้จ่ายในการเสด็จฯ ส่วนใหญ่เป็นจากพระคลังข้างที่ มีแต่เงินค่ารักษาพระองค์จำนวน 100,000.- บาทที่เบิกจ่ายจากพระคลังมหาสมบัติ และ “มีหลักฐานว่าทรงใช้จ่ายอย่างประหยัด เช่น ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชินีก็ตัดเย็บเป็นแบบตะวันตกในประเทศสยาม” ยกเว้นบางรายการที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศซึ่งต้องทรงจัดหาในสหรัฐอเมริกา (ภาพิสุทธิ์ 2558: 74-77)
วันที่ 16 เมษายน เสด็จฯ ถึงเมืองวิคตอเรีย (Victoria) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรไข้หลอดลมอักเสบ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงได้เสด็จออกแทนพระองค์ให้คณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาเฝ้าฯ
ดอรอธี แบรนดอน (Dorothy Brandon) ผู้สื่อข่าวหญิงผู้เคยทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์บางกอกเดลีเมล์ของพระคลังข้างที่รายงานว่า
“สมเด็จพระบรมราชินีแห่งสยามประเทศทรงเป็นศูนย์กลางความสนใจและตกตะลึงของบรรดาผู้เข้า เฝ้าฯ พระองค์ในฉลองพระองค์สีเทาอ่อนคลุมด้วยขนสัตว์ ทรงพระดำเนินอย่างราบเรียบขึ้นบันไดกว้างของเรือเอมเปรสออฟแจแปนมาเพื่อให้ผู้คนจำนวนร้อยได้เฝ้าฯ ตามระเบียงและห้องโถงซึ่งเป็นทางผ่านเข้าไปยังห้องรับรองสีทองกับแดงชาดอันหรูหรา บนพระดัชนี (นิ้วมือ) พระธำมรงค์เม็ดเดียวส่องประกายอยู่ พระอุระ (หน้าอก) ประดับด้วยเข็มกลัดฝังเพชรหลายเม็ด ไม่มีเพชรนิลจินดาเครื่องประดับอื่นใดเลย สมกับที่ทรงมีพระราชนิยมในความพอเหมาะพอควรมาตลอด และแน่นอนว่า ทรงแย้มพระสรวล…
พระอิริยาบถไม่แสดงพระอาการกระดากอายแม้แต่น้อย แม้ว่าแท้จริงแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะขี้อาย ทรงพระดำเนินตรงไปยังข้าราชการชาวแคนาดาผู้แต่งเครื่องแบบสีทองกับแดงเข้มซึ่งยืนสง่าอยู่เป็นแถว ตากล้องกดชัตเตอร์เปิดแฟลชส่องแสงแวววาว สมเด็จฯ ไม่ได้ทรงสะทกสะท้านแต่อย่างใด กลับทรงพระดำเนินต่อไปอย่างสง่างามสู่ผู้ที่เข้าแถวรออยู่ ทรงทักทายแต่ละคนพร้อมแย้มพระสรวล แล้วทรงพระดำเนินต่อไปที่ประตู” (Vancouver greets first ruling Oriental Monarch to set foot in Canada,” Vancouver Daily 4/17/31 ในหจช. 2474 มีพระฉายาลักษณ์)
สมเด็จฯ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ด้วยพระราชอัธยาศัยยิ้มแย้มสง่างาม ด้วยความมั่นพระทัย ไร้ที่ติ นับเป็นครั้งแรกในแดนฝรั่งในพระราชสถานะสมเด็จพระบรมราชินี และยังได้ทรงฉายผ่านฉลองพระองค์ซึ่งพอเหมาะแก่พระราชสถานะและกาลเทศะให้เห็นตัวตนอันเป็นอารยะ ของสยามประเทศไปพร้อมกัน
สองวันต่อมา ผู้สื่อข่าวหญิงรายเดียวกันรายงานในหนังสือพิมพ์อเมริกันว่า ถือได้ว่าสมเด็จฯ ทรงเป็น “สตรีที่สวยที่สุดในโลก”
“พระชนมพรรษาน้อยกว่า 30 พรรษา พระองค์ยังคงไว้ซึ่งพระเสน่ห์และความอ่อนวัยสดชื่นไร้มลทิน พระวรกายนั้นย่อมเช่นเดียวกับหญิงไทยทุกคน แต่พระพักตร์มนกลม พระเนตรเรียวเล็กน้อย พระลักษณ์ (characteristics) แสดงเด่นชัดออกมากด้วย พระเกศาสีนิลที่ดกยาวซึ่งได้รับการจัดแต่งอย่างมีศิลปะ
พระสรวลที่ทรงแย้มอย่างนุ่มนวลอ่อนหวานและพระอิริยาบถที่ไร้การเสแสร้งของราชนารีพระองค์นี้เป็นที่ทราบกันดีทั่วไป ทรงสามารถรักษาพระอารมณ์ไว้ได้ดีแม้เมื่อต้องทรงประกอบพระราชกรณียกิจในพระราชพิธีที่น่าเบื่อเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ทั้งยังทรงเป็นสตรีผู้มีความสามารถไม่น้อยเลยในการกีฬา กอล์ฟเป็นกีฬาโปรด และไม่ควรจะเข้าใจว่าทรงอย่างขอไปที เล่าลือกันว่าแม้จะทรงถวายแต้มต่อแด่พระราชสวามีหลายแต้มก็ตาม ก็ยังทรงเอาชนะพระองค์ได้ แต่เสียงเล่าลือนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยืนยันได้ ด้วยทรงกอล์ฟที่สนาม 18 หลุมส่วนพระองค์ในที่ซึ่งพ้นจากสายตาของผู้คนภายนอก (ที่จริงมี 9 หลุม-ผู้เขียน)
สมเด็จฯ ยังทรงสามารถขับเรือเร็วกำลังสูงของพระเจ้าอยู่หัวได้ด้วยพระปรีชาสามารถเป็นที่น่าสังเกต ทั้งยังทรงเล่นกล้องถ่ายรูปได้อย่างชำนาญ……
พระองค์รับสั่งภาษาอังกฤษได้ดีมาก รวมตลอดถึงภาษาฝรั่งเศส…ด้วยก่อนที่พระราชสวามีจะขึ้นครองราชสมบัติประทับอยู่ด้วยกันในประเทศนั้น…จึงเข้าใจได้ในทันทีว่าเหตุใดพระราชนิยมด้านการแต่งพระองค์จึงเป็นแบบฝรั่งเศส หากแต่ว่าเมื่อประทับอยู่ในประเทศสยาม พระองค์จะทรงพระภูษาซิ่นกับฉลองพระองค์ (เสื้อ) แขนกุดองค์ค่อนข้างยาว โปรดทรงฉลองพระบาท (รองเท้า) ส้นสูง แต่ไม่ทรงมีสิ่งใดคลุมพระเกศา (ผม) ที่งามสลวยเมื่อเสด็จออกให้ราษฎรของพระองค์เฝ้าฯ อากาศในสยามร้อนเกินกว่าที่จะสวมแม้เสื้อนอกผ้าไหม เหตุดังนี้ สมเด็จฯ จึงทรงแต่งพระองค์อย่างเรียบง่าย” (Queen Barni is Siam’s most beautiful woman,” Journal (East St. Louis, Ill.), 4/19/31 ใน หจช. 2474)
เป็นการนำเสนอพระโฉม พระอิริยาบถ พระราชนิยมและพระราชอัจริยภาพให้คนอเมริกันได้ทราบเป็นการล่วงหน้าอย่างถี่ถ้วน เป็นคำบรรยายที่อธิบายอยู่ในตัวว่า ทรงปรับพระองค์ตามกาลสถานและภูมิอากาศ
ครั้นเมื่อจะเสด็จจากแวนคูเวอร์โดยรถไฟขบวนพิเศษ แม้ว่าจะยังไม่ทรงหายจากพระอาการประชวร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงน้ำพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้หยุดรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อให้สื่อมวลชนได้มีโอกาสฉายพระรูป
เสด็จฯ โดยรถไฟเป็นเวลา 2 วัน วันที่ 19 เมษายน จึงเข้าเขตสหรัฐอเมริกา และที่เมืองพอร์ทัล (Portal) มลรัฐนอร์ธดาโกต้า (North Dakota) นายสติมสัน (Stimson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นไปบนขบวนรถไฟรับเสด็จฯ ในนามประธานาธิบดีฮูเวอร์ (Herbert Hoover) และภริยา สมเด็จฯ “ทรงแย้มพระสรวลแก่คณะผู้แทนแสดงพระราชหฤทัยไมตรี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะทรงเป็นที่นิยมชมชอบยิ่งในสหรัฐอเมริกา…พระสิริโฉมงดงามในฉลองพระองค์สีกรมท่า พระเกศาดัดเป็นลอนเล็กน้อย พระเนตรสีนิล พระฉวีผ่องสีผลออลีฟ (olive) หาที่เปรียบไม่ได้ เป็นภาพตรึงตาไม่มีรู้ลืม” นายอเล็กซานเดอร์โจนส์ (Alexander Jones) ผู้สื่อข่าวรายงานไว้
ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้นเล่า เขารายงานว่าพระวรกายสันทัด พระน้ำหนักเพียง 98 ปอนด์ พระอิริยาบถละมุนละมัย และเป็นที่กล่าวขานว่าทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างดี และทรงเป็นกันเองตามแบบฉบับของประชาธิปไตยกับผู้ที่ไปเฝ้าฯ(“Siam’s King reaches US. via Portal, N.D.; Ill but still smiling,” Tribune, 4/20/31.  หจช. 2474)
ในรายงานเดียวกัน นายโจนส์นำเสนอ “เพื่อให้ทรงทราบ” ว่า บัดนั้นผู้คนในเมืองพอร์ทัลทราบดีกว่าเมื่อคืนก่อนว่าพระองค์ไม่ได้ทรงช้างเผือก หรือทรงมีพระสนมนางในเป็นร้อยแต่อย่างใด หากแต่ว่าพระองค์ทรงเป็นบุรุษผู้น่าทึ่งและ อาจมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าทรงเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ผู้สร้างสรรค์ราชอาณาจักรของพระองค์ด้วยแรง บันดาลพระทัย และเข้าใจแล้วว่าทรงมีพระราชหฤทัยจงรักในสมเด็จพระบรมราชินีพระโฉมงามแต่พระองค์เดียว ได้ทรงสร้างทางรถไฟผ่านป่าเขาลำเนาไพร สะพานข้ามแม่น้ำ และสถาปนากิจการไปรษณีย์อากาศที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการศึกษา พระราชทานสิทธิแก่สตรีและเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ที่สถานีสการ์บาเราะห์ (Scarborough) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากรถไฟเป็นพระองค์แรก “บุรุษร่างเล็ก ผิวคล้ำ สูงไม่ถึง 5 ฟุตกระมัง ว่ากันว่าน้ำหนักเพียง 98 ปอนด์” หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงาน “พระราชินีรำไพพรรณี สตรีร่างย่อมแต่มีเสน่ห์ แต่งตัวอย่างอนุรักษ์นิยมด้วยชุดผ้าซาติน (satin) ขาวดำ สวมหมวกสักหลาดสีดำขนาดย่อม ก้าวลงตามมา โปรยยิ้มคล้ายว่าแสดงความพึงพอใจขณะที่รับดอกกล้วยไม้ช่อใหญ่ช่อหนึ่งจากนางออลวอเตอร์ (Mrs. Allwater) ภรรยากงสุลใหญ่สยามประจำนครนิวยอร์ค” และเมื่อทรงรับช่อดอกไม้ป่าฤดูใบไม้ผลิช่อหนึ่งจากเด็กนักเรียนหญิงอายุ 8 ขวบทรงสำผัสมือและทรงแตะไหล่เธอ ซึ่งได้ทำให้ “เธอมีความภูมิใจยิ่งกว่าใคร” จากนั้นทรงพระดำเนิน “พร้อมช่อดอกไม้ทั้งสองช่อในหัตถ์แต่ละข้าง” ไปเพื่อช่างภาพฉายพระรูปคู่กับพระราชสวามี และเมื่อเสด็จฯ ขึ้นรถยนต์ไปยังที่ประทับ สมเด็จฯ ทรงแย้มพระสรวลซึ่งทรงเสน่ห์ด้วยรักยิ้ม และทรงโบกพระหัตถ์ลาเสมือนกับจะทรงส่งสารว่าพอพระราชหฤทัยยิ่ง (“Warm greeting for royal pair at Ophir Hall,” The Sun, 4/22/31 หจช. 2474)
ทรงวางพระองค์ได้อย่างเหมาะเจาะ เป็นที่ประทับใจของผู้สื่อข่าวผู้เฝ้าสังเกตสังกาอยู่อย่างละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว ในนาทีแรกๆ ที่ประทับพระบาทลงบนผืนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาประชาธิปไตย โดยนายโจนส์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า “เป็นการเข้าสู่สหรัฐอเมริกาของบุคคลสำคัญจากต่างประเทศที่สงบเสงี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
คฤหาสน์โอฟีร์ ฮอล (Ophir Hall) ใกล้เมืองไวท์เพลนส์ (White Plains) เขตปกครองเวสเชสเตอร์ (Westchester County) มลรัฐนิวยอร์ค (New York State) นั้น นางไวท์ลอว์ รีด (Whitelaw Reid) ภรรยาหม้ายของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอังกฤษถวายเป็นที่ประทับโดยไม่คิดค่าเช่า เป็นคฤหาสน์หลังใหญ่และที่สำคัญมีบริเวณกว้างขวาง รั้วรอบขอบชิด ทางการอเมริกันจัดเวรยามถวายความอารักขาอย่างดี ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปรบกวน มีอาคารต่างหากไว้ใช้เป็นสำนักงานสำหรับการรับส่งวิทยุโทรเลขติดต่อราชการกับทางกรุงเทพฯ ทั้งยังมีสนามกอล์ฟไว้ไห้ได้ทรงพระสำราญ ห้องชุดที่ประทับทางปีกทิศใต้ มองออกไปจะเห็นสวนสวยที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ (ภาพในราชเลขาธิการ 2528: 123-124)
การรับเสด็จฯ ณ คฤหาสน์นี้จัดเป็นการภายใน ไม่มีคำกราบบังคมทูลหรือพระราชดำรัส ทั้งนี้เพราะผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์คได้ส่งผู้แทนไปรับเสด็จฯ ตั้งแต่บนรถไฟแล้ว ซึ่งในโอกาสนั้นได้ตรัสตอบว่า “เราได้มาถึงที่ซึ่งจะเป็น “บ้าน” ของเราในช่วงระยะเวลาส่วนใหญ่ ของการพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว…เรารู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งกับความปรารถนาดีทั้งหลายทั้งปวงที่ได้ เห็นมาตลอดทาง…”
ครั้นวันที่ 27 เมษายน หนึ่งวันก่อนที่จะเสด็จไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี (Washington D.C) เพื่อมีพระราชปฏิสันถารกับประธานาธิบดีเฮอร์เบิริต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อเมริกัน 4 ราย เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานสัมภาษณ์ ณ โอฟีร์ ฮอล หนังสือพิมพ์รายงานอย่างละเอียดในเช้าวันรุ่งขึ้น นับเป็นการวางจังหวะการประชาสัมพันธ์อย่างดียิ่ง
นายแฮโรลด์ เอ็น. เด็นนี่ ผู้สื่อข่าว The New York Times รายงานว่า “เป็นที่ประจักษ์แต่แรกว่าทรงมีความรู้และความสนพระราชหฤทัยกว้างขวางไม่ธรรมดา (extraordinary) ทั้งปรัชญาการปกครอง เบสบอลล์ นักแสดงตลก ชาลี แชปลิน ไปจนถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาในสยามประเทศ ทรงมีพระสมาธิ สติ ปัญญา บ่งบอกออกมาด้วยสายพระเนตรที่เปล่งประกาย…ทรงตอบคำถามอย่างแคล่วคล่องและดูเหมือนว่าทรงพระสำ ราญมากกับการนั้น” (Harold N. Denny, “Suffroge for Siam planned by King to test democracy. His brother dies in Paris,” The New York Times, April 28, 1931 สำเนาในสนธิ 2545: 151-157
ทรงอธิบายว่าในสยาม พระราชามีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนและดำเนินการให้เขามีความสุข ต่อคำถามที่ว่าปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพในระบบกษัตริย์ที่มีผู้ปกครองคนเดียวเท่ากับในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้ปกครองหลายคน รับสั่งว่า ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประเทศหนึ่ง พระองค์ไม่ควรจะตอบ แต่ได้รับสั่งว่า “ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดก็คือระบอบที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบนั้น”
แต่ได้ทรงถือโอกาสนั้นแถลงให้ทราบว่า “กำลังทรงดำเนินการด้วยความสมัครพระทัยในการจำกัดพระราชอำนาจอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยการให้สิทธิเลือกตั้ง (suffrage) แก่ประชาชนของพระองค์ มีเป้าหมายบั้นปลายคือการสถาปนาระบอบการปกครองแบบมีการแทน (representative government) เมื่อประชาชนได้รับการฝึกหัดให้ทำเป็นแล้ว การนี้จะเกิดขึ้นโดยการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนสู่เทศบาลเป็นลำดับแรก วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการเสด็จฯ มายังอเมริกานี้ก็เพื่อที่จะได้ทรงทราบว่าประชาธิปไตยดำเนินการกันอย่างไร” (Denny ในสนธิ 2545: 351)โดยได้รับสั่งว่า
“ข้าพเจ้ามีความสนใจยิ่งเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง…ข้าพเจ้าต้องการจะดูว่าการนั้นแสดง ออกซึ่งเจตนารมย์ของคนส่วนใหญ่จริงๆ หรือไม่ ข้าพเจ้าต้องการจะเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบของวิธีการเลือกตั้ง และว่าการรณรงค์ทางการเมืองนั้นดำเนินการกันอย่างไร…” (Denny ในสนธิ 2545:151)
รับสั่งด้วยว่า “ข้าพเจ้ามีความสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอเมริกาด้านเครื่องยนต์กลไกและอุปกรณ์ผ่อนแรงต่างๆ ซึ่งช่วยให้การดำเนินชีวิตง่ายสดวกสบายขึ้น…ซึ่งสยามได้นำไปใช้อยู่บ้างแล้วมากสิ่ง…” แต่ก็ทรงเน้นย้ำว่า
  “วิธีการของเราคือการประยุกต์ใช้ ไม่ใช่การเอาไปใช้ทั้งดุ้น” (“to adapt, not to adopt”)
ทรงเชื่อว่าอิทธิพลของตะวันตกมีประโยชน์ตรงที่ “เปิดสมองคนให้กว้างขึ้น” และจึงทรง “แนะนำให้พินิจพิจารณาความคิดใหม่ๆ เหล่านั้นให้ดี และไม่นำมาใช้หากไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์” (Denny ในสนธิ 2545: 154)
ทรงยกตัวอย่างว่า อิทธิพลของตะวันตกได้ส่งผลให้สตรีสยามเริ่มแต่งตัวคล้ายกับสตรีตะวันตก เช่นเริ่มไว้ผมบ๊อบซึ่งก็ “เข้ากับเขาได้ดี ทำให้เขาดูงาม” แล้วทรงพระสรวลสนุกสนาน (Denny ในสนธิ 2545: 154) ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้กันว่าส่วนหนึ่งเป็นการรับสั่งถึงสมเด็จพระบรมราชินี
แม้ว่าจะรับสั่งถึงสตรีไทยเช่นนั้น แต่เมื่อผู้สื่อข่าวทูลขอให้พระราชทานความเห็นเกี่ยวกับสตรีอเมริกัน รับสั่งว่าไม่ทรงทราบเรื่องนี้ และรับสั่งต่อไปว่า สตรีสยามไม่ได้อยู่แต่ในบ้านแล้ว บางคนกำลังศึกษาวิชาแพทย์อยู่ในกรุงเทพฯ (Denny ในสนธิ 2545: 155)
เสร็จสิ้นการพระราชทานสัมภาษณ์แล้ว สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ทรงพานักข่าวออกไปเฝ้าฯ สมเด็จฯ และพระชนนีที่ห้องทรงพระสำราญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกมาทรงร่วมด้วย
“สมเด็จพระบรมราชินีในพระอิริยาบทสำรวมแต่เขินอายเล็กน้อย ทรงฉลองพระองค์ชุดไหมสีเนื้อลูกนัท (nut-brown silk ensemble) พระภูษาสเกิร์ตยาว (long, full skirt) กับฉลองพระองค์คลุม (jacket) สั้น เป็นที่กล่วขานกันว่าทรงเป็นหนึ่งในบรรดาสตรีสวยที่สุดในตะวันออก และทรงมีพระเสน่ห์อีกด้วย…
ทรงก้มพระเศียรรับคำนับของผู้สื่อข่าวแล้วทรงยื่นพระหัตถ์มาให้จับ ทอดพระเนตรออกไปยังสนามที่ซึ่งลมกำลังพัดแรง แล้วรับสั่งว่า
“อากาศไม่ดีสำหรับเล่นกอล์ฟนะ” (Denny ในสนธิ 2545: 155-156)
มีพระราชปฏิสันถารอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ  ทรงพานักข่าวออกจากห้องนั้นไป ประทานพระราชกระแสแถลงการณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแก่นักข่าวตามที่เขาได้ขอพระราชทานไว้ล่วงหน้า ความโดยสรุปว่า ทั้งสมเด็จฯ และพระองค์สนพระราชหฤทัยยิ่งในตั้งกฤตภาคที่มีการตัดถวายมากมาย ซึ่งแสดงถึงการค้นคว้าที่ได้ทำและบางทีออกจะตกพระทัยกับรายละเอียดที่เป็นจินตนาการ (fanciful detail) ทรงขอบใจสื่อมวลชนสำหรับการต้อนรับที่ได้กรุณาถวายอย่างเป็นมิตร ทรงขอฝากไว้ว่า “หวังว่าท่านจะเสริมสร้างรากฐานของการมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในอเมริกานี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไป  และจะไม่เพียงบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสมัยอย่างตรงตามความเป็นจริงและด้วยมารยาทอันดีเท่านั้น แต่จะทำตนเป็นกลไกที่มีบทบาทยิ่งขึ้นไปในการอำนวยให้เกิดความเข้าใจ ความอดกลั้น (ต่อความแตกต่าง) เพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่างประเทศในที่สุด ” (ตีพิมพ์เต็มฉบับใน Denny ในสนธิ 2545: 156) เท่ากับว่าได้พระราชทานกำลังใจและคำเตือนสติแก่สื่อมวลชนในขณะเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ทรงปฏิบัติต่อสื่อมวลชนในประเทศในภาพรวม (ดู พฤทธิสาณ 2558 ช.)
วันรุ่งขี้นที่ 28 เมษายน ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ โดยรถไฟขบวนพิเศษถึงสถานีรถไฟยูเนียน (Union Station) กรุงวอชิงตันดี.ซี รองประธานาธิบดีเคอร์ทิส (Vice-President Curtis) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสติมสัน รับเสด็จฯ พร้อมทหารนาวิกโยธินเกียรติยศเรียง 2 แถวตามทางทรงพระดำเนิน เป็นการรับเสด็จฯ อย่างย่อ เนื่องด้วยเป็นเวลาค่ำ เสด็จฯ ไปประทับแรมที่บ้านของนายและ               นางลาร์ซ แอนเดอร์สัน (Mr. and Mrs. Larz Anderson) อดีตนักการทูตอเมริกันบนถนนแมสซาชูเซ็ทส์ (Massachusetts Avenue) ผู้จัดถวายโดยไม่คิดค่าเช่าเช่นเดียวกับนางไวท์ลอว์ รีด ในกรณีของโอฟีร์ ฮอลล์ (หจช. 2474: 23 March และ28 April 1933)
ครั้นวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2474 เวลา11.00 น. ประธานาธิบดีฮูเวอร์เข้าเฝ้าฯ ณ ที่ประทับ ทั้งนี้เพราะแพทย์กราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงงดการเสด็จออกไปยังสุสานศพทหารผู้สละชีวิตในสงครามที่อาร์ลิงตัน (Arlington Cemetery) และได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ เสด็จแทนพระองค์ในการนั้น
ค่ำวันเดียวกัน เวลา 20.00 น. ทั้งสองพระองค์จึงได้เสด็จฯ ยังทำเนียบขาว (The White House) ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในงานเลี้ยงซึ่งประธานาธิบดีจัดถวายอย่างเป็นทางการ
ประธานาธิบดีและภรรยารับเสด็จฯ ณ ห้องสีแดงและพาทรงพระดำเนินไป ตามทางเดินสีแดงสู่ห้องทิศตะวันออก แล้วแนะนำให้ทรงรู้จักกับบุคคลต่างๆ ที่มาเฝ้าฯ อยู่รอบห้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงสัมผัสมือแต่ละคนตามธรรมเนียมอเมริกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ชุดเป็นทางการสำหรับงานเวลาค่ำ (evening dress) ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สมเด็จฯ สง่างามสะดุดตาสมพระยศราชินี (truly regal) ในฉลองพระองค์ผ้ายกทองหรูซึ่งตัดให้พอเหมาะสมกับพระวรกาย ทรงสร้อยพระศอมรกต และพระสาง (หวี) ประดับด้วยมณีที่พระเกศาซึ่งดำเป็นเงาสลวย อัญมณีมีขนาดใหญ่และส่องประกายผิดธรรมดา” (President is set at dinner for King at White House,” Star, Washington D.C., 4-30-31)
ครั้นเมื่อเสด็จฯ จากห้องรับแขกสู่ห้องจัดเลี้ยงอย่างเป็นทางการ กระบวนพิธีได้สลับสับเปลี่ยนจากเดิมมาเป็นว่าสมเด็จฯ ทรงพระดำเนินคู่กับประธานาธิบดี และพระเจ้าอยู่หัวพระดำเนินคู่กับนางฮูเวอร์ นับเป็นครั้งแรกที่ทำเช่นนี้ (พระรูปหมู่ ณ ทำเนียบขาวในราชเลขาธิการ 2528: 125)
วันที่ 30 เมษายน ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปยังตึกแพนอเมริกันยูเนียน (Pan American Union) ณ ที่นั้น มหาวิทยาลัยยอร์ช วอชิงตัน (George Washington University) ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขากฎหมาย (Honorary Degree of Doctor of Law) แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีผู้แทนมหาวิทยาลัยอีก 7 แห่งเข้าร่วมในพิธี  (พระรูปหมู่ในราชเลขาธิการ 2528: 126) จากนั้นเสด็จฯ ยังเมืองบอลติมอร์ (Baltimore) เพื่อทรงตรวจพระเนตรที่สถาบันวิลเมอร์ (Wilmer Institute) โรงพยาบาลจอห์นส์ ฮอปคินส์ (Johns Hopkins Hospital) ในขณะที่ในช่วงบ่ายสมเด็จฯ เสด็จฯ กับนางฮูเวอร์ไปทอดพระเนตรเมาท์ เวอร์นอน (Mt. Vernon) บ้านและฟาร์มนอกเมืองของยอร์ช วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ตกเย็นประธานาธิบดีและภรรยามารับพระราชทานน้ำชายามบ่าย ณ ที่ประทับก่อนที่จะเสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำที่สถานอัครราชทูตสยาม (ภาพิสุทธิ 2558: 95-96) ประทับอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 2 วัน 3 คืน  ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินชาวตะวันออกพระองค์แรกที่เสด็จฯ (“First King of East guest at White House,” AP. หจช.2474. April 28)

วันที่ 2 พฤษภาคม เมืองไวท์เพลนส์โดยนายกเทศมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจทองคำแห่งเมืองในพิธีที่หอประชุมโรงเรียนมัธยมของเมือง (ภาพกุญแจในราชเลขาธิการ 2528: 128)
วันที่ 4 พฤษภาคม ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ยังนครนิวยอร์ค (City of New York) ประทับขบวนแห่เข้าเมืองไปยังศาลาว่าการนคร นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีรับเสด็จฯ อย่างเป็นทางการ (ราชเลขาธิการ 2528: 129) แต่หนังสือพิมพ์รายงานว่าก่อนหน้านั้น คือเมื่อวันที่ 24 เมษายน ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ อย่างเงียบๆ ไปยังนครนิวยอร์คนี้แล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จฯ ยังสำนักงานของ ดร. จอห์น เอ็ม. วีลเลอร์ (Dr. John M. Wheeler) จักษุแพทย์ผู้ซึ่งจะทำการผ่าตัดต้อในพระเนตร และสมเด็จฯ เสด็จฯ กับนางออกเด็น รีด ทรงซื้อสินค้าต่างๆ ผู้สื่อข่าวมาทราบก็ต่อเมื่อมีการจัดส่งหีบห่อสินค้าตามมาที่โอฟีร์ฮอลล์ (หจช. 2474, 4.24.31 หลายฉบับ) ซึ่งบางส่วนคงจะเป็นเครื่องแต่งพระองค์บางอย่างที่จัดหาในกรุงเทพฯ ไม่ได้ เช่นถุงพระหัตถ์ขาวยาว ซึ่งต้องทรงใช้เมื่อพระราชทานพระหัตถ์แก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ
อนึ่ง ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่โอฟีร์ฮอลล์นี้ นายพืช พันธ์วร มหาดเล็กของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ มีโอกาสได้เฝ้าฯและได้ทรุดตัวลงจะหมอบกราบตามธรรมเนียมไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งให้เขาลุกขึ้น และพระราชทานพระหัตถ์ให้เขาสัมผัส พร้อมกับรับสั่งว่าต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมฝรั่ง จึงจะเหมาะสมแก่กาลสถาน (พช. บุญพีร์)
การผ่าตัดต้อในพระเนตรซ้ายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทำโดย ดร.จอห์น เอ็ม. วีลเลอร์ แห่งโรงพยาบาลเพรสบีแทเรียน (Presbyterian Hospital) แห่งนครนิวยอร์ค ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ที่โอฟีร์ ฮอลล์ โดยห้องชุดหนึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแก่การนั้น ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงพักฟื้นต่อไปได้โดยไม่เกิดความกระทบกระเทือนต่อพระเนตร การผ่าตัดนำเลนซ์ตาที่เป็นต้อในพระเนตรออก สำเร็จด้วยดี (2474, May 11, 1931 หลายฉบับ ในภาพิสุทธิ์ 2558: 118 และราชเลขาธิการ 2528: 130 หจช.) ครั้นวันที่ 26 พฤษภาคม ได้เปิดผ้าปิดพระเนตร ทรงฉลองพระเนตรพิเศษซึ่งเลนส์มีลักษณะนูนผิดสังเกตแทนเลนส์ธรรมชาติที่นำออกมาแล้วนั้น (เช่นที่ปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ในราชเลขาธิการ 2558: 171 และองค์จริงองค์หนึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) เนื่องด้วยในสมัยนั้นเลนส์เทียมยังไม่มีใช้ ทรงพักฟื้นต่อไปอีกกว่าหนึ่งเดือน
ระหว่างนั้น แน่นอนที่สุดว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ประทับอยู่ใกล้ชิดพระราชสวามี คอยทรงดูแลให้ทรงพระเกษมสำราญด้วยการสดับดนตรีและบางทีอาจได้ทรงอ่านข่าวคราวเรื่องราวต่างๆ ถวาย การได้ทรงช่วยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเช่นนี้ คงจะได้เน้นย้ำให้ทรงเห็นความสำคัญของการแพทย์การพยาบาลยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังทรงพักฟื้นอยู่นี้ และในการทอดพระเนตรโรงพยาบาลต่างๆ หนังสือพิมพ์อเมริกันของมลรัฐนิวยอร์คเอง รายงานอ้างอิงข้อเขียนของนายแอนดรูย์ เอ. ฟรีแมน (Andrew A. Freeman) ผู้เคยทำงานกับหนังสือพิมพ์ของกรมพระคลังข้างที่ในกรุงเทพฯ ว่า สมเด็จฯ ทรงสนับสนุนให้สตรีได้เรียนหนังสือ เพื่อที่จะได้เป็นแพทย์หรือพยาบาลหรือทำการสังคมสงเคราะห์ จะได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ทั้งยังไม่ทรงเห็นด้วยกับการนำเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 14 ปีมาเป็นภรรยา หรือการที่มีภรรยาหลายคน แต่ก็ทรงทราบดีว่าการออกกฏหมายห้ามไม่ได้เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีซึ่งมีมานานแล้วนี้ได้ในเวลาชั่วข้ามคืน (“Siam’s Queen opposes law against polygamy,” Observer, Troy, N.Y., June 14, 1931. หจช. 2474) ซึ่งก็สอดคล้องกับพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งรับสั่งต่อที่ประชุมเสนาบดีสภาในการพิจารณาตราพระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 และได้ทรงใช้พระราชนิยมการทรงมีพระคู่ขวัญเพียงพระองค์เดียว เป็นแบบอย่างชักจูงพสกนิกรของพระองค์ให้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน มากกว่าการที่จะตราไว้ในพระราชบัญญัติสั่งห้ามการมีภรรยาหลายคน
ครั้นวันที่ 18 มิถุนายน เป็นต้นไป จึงปรากฏข่าวการเสด็จฯ ประพาสสถานที่ต่างๆ เป็นการส่วนพระองค์ เช่น ทอดพระเนตรการแข่งเรือ (regatta) ระหว่างมหาวิทยาลัยเยล (Yale) กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) ที่นิวลอนดอน (New London) เสด็จฯ ยังนครนิวยอร์คอีกครั้ง ทอดพระเนตรละคร ตึกเอ็มไพรสเตท (Empire State Building) ที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังทรงฉลองพระเนตรกันแดดอยู่ รับสั่งว่า “แสงอาทิตย์ที่ส่องจ้าทำให้ข้าพเจ้าเจ็บตา” (“King sees the city from Empire State,” New York Times, July 1, 1931. หจช 2474 ในภาพิสุทธิ์ 2558: 134)  มีพระราชปฏิสันถารกับนายเนลสัน รอคกี้เฟลเล่อร์ (Nelson Rockefeller) แห่งมูลนิธิรอคกี้เฟลเล่อร์ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนการศึกษาแพทย์ในสยาม ทอดพระเนตรโรงงานธอมัส เอ. เอดิสัน (Thomas A. Edison Industry) รวมทั้งเสด็จฯ เยี่่ยมนายเอดิสันนักประดิษฐ์คิดค้นผู้ชราที่บ้านพัก ทรงเยี่ยมชมกิจการของหนังสือพิมพ์ วิทยุ และห้องทดลองเรื่องการไฟฟ้า โรงถ่ายภาพยนตร์ โรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ (West Point) และทอดพระเนตรการแข่งขันเทนนิส และโปโล เป็นต้น ซึ่งในการแข่งขันประเภทหลัง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้พระราชทางรางวัลด้วย (ราชเลขาธิการ 2531: 63)
วันที่ 24 กรกฎาคม เสด็จฯ ไปยังโรงอากาศยานของกองทัพเรือที่เลคเฮิร์ส (Lake Hurst ในมลรัฐนิวยอร์ค ประทับบนเรือเหาะ (derigible) ชื่อลอสแอนเจลิส (Los Angeles) เป็นเวลานานหนึ่งชั่วโมง หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ลงไว้ในข่าวว่าสมเด็จฯ “ทรงเป็นสตรีคนแรกที่ได้โดยสารเรือเหาะนี้” เพราะมีระเบียบห้ามสตรีขึ้นไปบนยานของทหารนี้ สมเด็จฯ รับสั่งว่า “เป็นการเดินทางที่น่าพิศวง (wonderful)  ข้าพเจ้าจะจดจำไว้ไม่รู้ลืม” ทั้งนี้เรือเหาะได้บินเอื่อยๆ เหนือนครนิวยอร์ค พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ค่อนข้างร้อนในนั้น แต่ว่าความน่าตื่นตาตื่นใจกับทัศนียภาพที่เห็นและความเอาใจจดใจจ่อของทุกคนในคณะของเรามีมากกว่าที่จะใส่ใจกับ (ความไม่สบายกาย) นั้น” (“Los Angeles Flight delights Siamese,” New York Times, July 28, 1931. หจช. 2474 ในภาพิสุทธิ 2558: 135)
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ทั้งสองพระองค์ได้ทรงอำลาสหรัฐอเมริกา เสด็จฯสู่ประเทศแคนาดา (Canada)  โดยรถไฟท้องถิ่นไปประทับรถไฟขบวนพิเศษที่นครนิวยอร์ค เสด็จประพาสแคว้นคิวเบค (Quebec) ของแคนาดาซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยปกครองตนเองแล้ว แต่ยังถือพระเจ้ากรุงอังกฤษเป็นพระประมุข เมื่อเสด็จฯ ถึงนครมอนตรีออล (Montreal) ผู้ว่าราชการเมืองและข้าราชการรับเสด็จฯ ประทับที่โรงแรมริมทะเลสาบนอกเมืองจนวันที่ 10 สิงหาคม จึงเสด็จฯ ถึงกรุงออตตาวา (Ottawa) แคว้นออนแทริโอ (Ontario) เมืองหลวงของประเทศแคนาดา ผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ นายกรัฐมนตรี นายกเทศบาลกรุงฯ รับเสด็จฯ อย่างเป็นทางราชการ ณ สถานีรถไฟยูเนียน (Union Station) มีประชาชนเฝ้าดูมากมาย ประทับ ณ ทำเนียบรัฐบาล และทอดพระเนตรรัฐสภา
ค่ำวันรุ่งขึ้น เสด็จฯ ออกจากออตตาวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังอุทยานแห่งชาติหุบเขาแบนฟฟ์ (Banff National Park) แคว้นอัลเบอร์ตา (Alberta) โดยที่เมืองวินนิเพค (Winnepeg) เมืองหลวงแห่งแคว้น มีพิธีรับเสด็จฯ
ช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาตินี้ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์จริงๆ ส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่ Banff Spring Hotel หน้าตาคล้ายๆ ปราสาท แวดล้อมด้วยป่าเขาลำเนาไพร ธารและทุ่งน้ำแข็งและทะเลสาบ (ภาพในภาพิสุทธิ์ 2558: 104) การเสด็จฯ ไปแคนาดานี้ เป็นไปเพื่อทรงพระสำราญพระอิริยาบทพร้อมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ และหม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร ผู้เยาว์ที่ทรงอุปการะผู้ซึ่งกำลังศึกษาต่อในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นสำคัญ (ราชเลขาธิการ 2558: 135 และคำอธิบายภาพที่ 180) ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจใดที่ต้องพระราชประสงค์จะทรงประกอบแต่ไม่ทรงคุ้นเคย ได้มีฝรั่งผู้ชำนาญโดยเสด็จฯ ถวายคำแนะนำ เช่นในการทรงตกปลาด้วยเบ็ดตามลำน้ำ (พระบรมฉายาลักษณ์ในราชเลขาธิการ 2528: 134) เป็นต้น เสด็จฯ ทอดพระเนตรการต้อนจับปศุสัตว์ด้วยม้า (rodeo) ที่ทุ่งคอกม้า ในโอกาสนั้นสมเด็จฯ ทรงถ่ายภาพยนตร์แทนที่จะเป็นพระราชสวามี (“Where the Rulers of Siam lived while in Canada,” Pittsburgh Press, August 31, 1931 ในภาพิสุทธิ์ 2558: 49)
พระราชกรณียกิจที่มีรายงานข่าวหนังสือพิมพ์เป็นที่แน่ชัด คือการที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ทรงเปิดงานชุมนุมกีฬาชาวสก็อตประจำปี (Scottish Banff Festival) ที่ซึ่งนายกสโมสรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเงินแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องหมายว่าได้ทรงม้าได้ 100 ไมล์ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่แบนฟฟ์ และเหรียญทองแดงแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ผู้ทรงได้ 50 ไมล์ (หจช. 2474. August 30, 1931 และภาพิสุทธิ์ 2558: 105 และ 144) จึงเป็นที่ชัดเจนว่าสมเด็จฯ ทรงม้าเป็น แม้ว่าไม่เคยปรากฏว่าทรงม้าในประเทศสยามแต่อย่างใดไม่ว่าในสมัยใด ยกเว้นม้าแกลบที่ชายหาดหัวหิน (มสธ. ชิดชนก: 87) การทรงม้าที่แบนฟฟ์นี้เป็นวิธีการทรงออกกำลังพระวรกายประเภทหนึ่ง ประทับอยู่ที่อุทยานแห่งนี้เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์
วันที่ 10 กันยายน เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังเมืองวิคตอเรีย ถึงเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีของแคว้นบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) และนายกเทศบาลเฝ้าฯ และตั้งเครื่องถวายที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลาค่ำ
วันที่ 12 กันยายน เสด็จฯ ลงเรือเอมเพรสออฟแคนาดา (Empress of Canada) ออกจากท่ามุ่งสู่เกาะฮาวาย (Hawaii) ของสหรัฐอเมริกา ในเส้นทางเสด็จฯ กลับ ครั้นวันที่ 17 เสด็จฯ ถึงเมืองฮอนโนลูลู (Honolulu) บนเกาะนั้น ผู้ว่าราชการเกาะเฝ้าฯ รับเสด็จฯ นำเสด็จประพาสเมือง ทอดพระเนตรกีฬากระดานโต้คลื่น (surf board) ที่หาดไวกิกิ (Waikiki) เสวยพระกระยาหารค่ำกับเจ้าหญิงเดวิด กาวานานากัว (Princess Kawananakoa) ภรรยาหม้ายของอดีตผู้ปกครองเกาะชาวพื้นเมือง วันรุ่งขึ้นที่ 18 กันยายน ประทับเรือลำเดิมมุ่งสู่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั