ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

งานวิจัยการ์ตูนการเมืองสมัยรัชกาลที่ 7


                           
ภาพล้อจาก หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต สมัยรัชกาลที่ 6
                                                                                 
       


นิยามของภาพล้อและการ์ตูนการเมือง


แดน เบเคอร์ (Dan Backer) ในบทความชื่อ “Brief  History of political Cartoon”  ได้รวบรวมนิยามและบริบทที่เกี่ยวข้องกับภาพล้อและการ์ตูนการเมืองจากการอธิบายของนักเขียนและนักวิชาการสำคัญไว้อย่างหลากหลายและน่าสนใจ ดังนี้
       จูลล์  ไฟฟ์เฟอร์ (Jull Pfiffer) นักเขียนการ์ตูนรางวัลฟูลิตเซอร์ (Jules Ffferer) ระบุว่า  “นอกเหนือจากพื้นฐานของข่าวสารทั้งหมดแล้ว ไม่มีอะไรสำคัญต่อนักเขียนการ์ตูนที่ดีเท่ากับเจตนารมณ์อันชั่วร้าย”
ดร.พอลปาร์เกอร์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยทรูแมนสเตท ในบทนำการ์ตูนการเมืองอเมริกันDr. Paul Parker , political science, Truman State University , American Political Cartoon: An Introduction) กล่าวว่า “นักเขียนการ์ตูนการเมืองไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบจรรยาบรรณเดียวกันกับนักหนังสือพิมพ์” ตามความเห็นของเขา “ การ์ตูนการเมืองเป็นงานสร้างสรรค์แบบพิเศษ ที่ใช้ประกอบบทบรรณาธิการและวิจารณ์อย่างมีศิลปะ  เครื่องมือของการ์ตูนการเมืองซึ่งเชื่อมโยงการเมืองและศิลปะเข้าไว้ในหนังสือพิมพ์เป็นเหตุให้วิจารณ์สังคมได้มากกว่าขอบเขตของข้อเขียนในหน้าหนังสือพิมพ์” นอกจากนี้ปาร์เกอร์ยังเสนอว่า “ บนพื้นฐานของสัญลักษณ์และภาพล้อ การใช้ภาพเขียนที่ทันต่อเหตุการณ์ทำให้การ์ตูนการเมืองช่วยให้ประชาชนคิดถึงเรื่องการเมือง ไม่ว่าการ์ตูนการเมืองจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนสถานภาพเดิม เสนอเรื่องที่สังคมควรตระหนักหรือกระตุ้นประชาชนให้ต่อสู้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์มาแล้ว”
โรเจอร์ เอ. ฟิชเชอร์ นักวิจารณ์ศิลปะ ( Roger A. Fischer, Them Damned Picture: Explorations in American political Cartoon Art ) กล่าวถึงนักเขียนการ์ตูนการเมืองว่า “ นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการจุดชนวนภาพล้ออย่างสร้างสรรค์ สามารถพลิกแพลงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉลาดหลักแหลม และสร้างความขุ่นเคืองต่อความอยุติธรรมได้อย่างเที่ยงตรง ” ส่วนการ์ตูนการเมืองนั้น เขาระบุว่า  “การ์ตูนการเมืองไม่เพียงแต่จะอ้างถึงความจริง (Truth) แต่ยังอ้างถึงความจริงอย่างมีศิลปะในระดับสูง อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมของสื่อทางวรรณกรรม  การ์ตูนการเมืองจะมีจริยธรรมที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ในการยกระดับของหนังสือพิมพ์ให้มีความเป็นศิลปะแบบเหนือจริงชั่วคราว”
ชาร์ลส์ เพรส (Charles Press, The political) อธิบายว่า  “การ์ตูน คือ สื่อขยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเกินจริงโดยสื่อผ่านข้อความการนำเสนอ  อารมณ์ของสังคมหรือสถานการณ์ทางการเมืองผ่านการ์ตูน” และ“การ์ตูนการเมืองส่วนใหญ่ถูกออกแบบเพื่อให้มีอิทธิพลเหนือผู้อ่านโดยมุ่งนำเสนอเหตุการณ์ทางการเมืองรายวัน” โดยสิ่งที่นักเขียนการ์ตูนการเมืองสะท้อนออกมา “อาจเป็นเพียงการกล่าวหาซึ่งถูกจินตนาการขึ้นมา หรือ ส่วนใหญ่เขียนเป็นภาพล้อแบบบิดเบือน  แต่สำหรับศิลปินแล้วมันคือสาระของเรื่องราวต่างๆที่จงใจสร้างขึ้นมาแบบเกินจริง(extravagance)”
       บิล มอลดิน (Bill Mauldin) เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการ์ตูนการเมืองนั้น  “ทุกวันนี้มีศิลปินจำนวนมาก มองว่าการเขียนการ์ตูนการเมืองว่าเป็นสินค้า แทนที่จะมองว่าเป็นงานของมืออาชีพ พวกเขาจึงพยายามเขียนอย่างฉูดฉาดบาดตามากเกินไป ช่างไร้ค่ายิ่งนัก  เราต้องการนักเขียนที่สร้างสรรค์งานแบบถึงลูกถึงคนมากกว่า”
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตก  ภาพล้อเกิดขึ้นย้อนไปถึงงานทดลองทางศิลปะของลี        โอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci, ๑๔๕๒-๑๕๑๙ )  ชื่อ “รูปแบบแนวคิดในการทำให้ผิดรูปผิดร่าง”( the ideal type of deformity)  ซึ่งเขานำมาใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อแนวคิดเรื่องความงามตามอุดมคติ ภาพลายเส้นของพระสันตปาปาเออร์บันที่ ๗ ( ๑๕๖๘-๑๖๔๔)  เป็นตัวอย่างของภาพวาดแบบประทับใจแนวใหม่ซึ่งแสดงออกถึงบุคลิกแบบเกินจริงบนพื้นฐานของการแสดงอารมณ์ขัน
ในขณะที่ภาพล้อเกิดขึ้นรอบๆทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ภาพการ์ตูนที่ใช้ประกอบบทบรรณาธิการก็พัฒนาขึ้นในประเทศเยอรมนี  พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์  มาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther, ๑๔๘๓-๑๕๔๖)ได้นำแท่นพิมพ์ไม้และโลหะ เพื่อเผยแพร่แนวคิดการปฏิรูปทางศาสนาของเขาโดยการแจกใบปลิว ซึ่งมีภาพกล่าวโทษการปกครองคณะสงฆ์แห่งวาติกัน
            ภาพการ์ตูนกลายเป็นเครื่องมือจำเป็นของการวิจารณ์ซึ่งนำประเด็นร้อนแรงและนำเสนอภาพเขียนออกมาในลักษณะที่ไม่เพียงแต่จะมองดูแล้วน่าขบขันเพื่อให้สังคมยอมรับได้มากขึ้น  หากแต่ยังออกแบบเพื่อให้กระทบต่อความคิดเห็นของผู้อ่านด้วย
          แม้ว่าความจริงจะไม่ได้อยู่ในภาพเขียนทีนำเสนอสถานการณ์ออกมา  นักเขียนการ์ตูนการเมืองก็สามารถใช้วิธีในการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนและดัดแปลงเพื่อใช้ภาพยืนยันเรื่องราวซึ่งอาจจะได้รับการพิจารณาว่ามีความผิดหากตีพิมพ์เป็นบทความ
จากภาพล้อในงานจิตรกรรมฝาผนังสู่ภาพล้อในหน้าหนังสือพิมพ์ไทย
การเขียนภาพบุคคลในงานจิตรกรรมไทยแตกต่างจากการเขียนภาพบุคคลในงานจิตรกรรมตะวันตก กล่าวคือ  การเขียนภาพใบหน้าบุคคลในงานจิตรกรรมไทยโบราณ จะแสดงออกตามแนวคิดแบบอุดมคติ (Idealism)เช่น ตัวนางต้องมีใบหน้ารูปไข่คิ้วโก่งดังศรพระรามนัยน์ตากลมโตดังเนื้อทราย ท่อนแขนอ่อนช้อย นิ้วมือนิ้วเท้าเรียวยาว อันเป็นความงามตามที่มองผ่านความสมจริงทางธรรมชาติ ส่งอิทธิพลต่อการเขียนภาพเล่าเรื่องในชาดกและพุทธประวัติถ่ายทอดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดแบบอุดมคติในงานจิตรกรรมสืบมาจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่๓   จากนั้นจึงเริ่มคลี่คลายและปรับเปลี่ยนไปเมื่ออิทธิพลของแนวความคิดในงานจิตรกรรมแบบสัจนิยม (Realistic) ของตะวันตกเผยแพร่เข้ามาการติดต่อกับตะวันตกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเขียนภาพเหมือนบุคคล แม้ว่าในสมัยอยุธยาจะเคยมีการส่งภาพเหมือนบุคคลเข้ามาเป็นเครื่องราชบรรณาการนานแล้วก็ตาม เช่นภาพพิมพ์ลายแกะของชาวตะวันตก เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯให้ราชทูตชาวฝรั่งเศสเข้าเฝ้า และภาพราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  แต่วิวัฒนาการเริ่มแรกของการเขียนภาพเหมือนบุคคลสำคัญของไทยนั้น  กลับมีขึ้นอย่างแท้จริงในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ต่อเนื่องกับต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

เมื่อสยามติดต่อกับประเทศตะวันตกมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่๔  จึงมีการนำภาพวาดลายเส้นและภาพพิมพ์ต่างๆเข้ามาเผยแพร่ในพระราชสำนัก ทำให้เริ่มเกิดรสนิยมการวาดภาพแบบสัจนิยมขึ้นในสยามโดยการริเริ่มของขรัวอินโข่ง เช่น จิตรกรรมที่วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส ต่อมาในสมัยรัชกาลที่๕ ความก้าวหน้าด้านต่างๆ เช่น การคมนาคม การแพทย์ การศึกษา  และเทคโนโลยีทางการถ่ายภาพถูกเผยแพร่เข้ามา  ส่งผลที่น่าสนใจคือ งานจิตรกรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบสัจนิยมของตะวันตกอย่างชัดเจน จึงมีภาพเหมือนใบหน้าบุคคลร่วมสมัยการแทรกเข้าไปเพื่อให้การนำเสนอมีความสมจริงมากขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์  กล่าวว่า มีภาพล้อเลียนชาวจีนในจิตรกรรมฝาผนังมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์  เช่น การสร้างภาพ “เจ๊ก” ให้มีบุคลิกที่น่าขบขัน
“....ภาพเขียนฝาผนังมีภาพเจ๊กตลกๆ อยู่เสมอ เช่น  วิ่งหนีผ้านุ่งหลุด  แอบถ่ายอุจจาระหลังต้นไม้ หรือมิฉะนั้นก็สัมพันธ์กับหมูค่อนข้างมาก  นับตั้งแต่ฆ่าหมู แบกหมู กินหมูและขายหมู...”
การเกิดภาพล้อคนจีนเช่นนี้ศาสตราจารย์ ดร. นิธิสรุปว่า
“... มโนภาพของคนไทยที่มีกับเจ๊ก ก็คือ เห็นแก่เงิน สุขสบายไม่ใช่เพราะบุญกรรมแต่บุรพชาติแต่งมา หากเป็นเพราะความโลภ อยากเอารัดเอาเปรียบต่างหาก...”
จากหลักฐานในจิตรกรรมฝาผนังไทยพบว่ามีการล้อเลียนบุคคลซ่อนอยู่ในสังคมก่อนที่จะเกิดภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์

ภาพล้อบุคคลและการเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๕

          การ์ตูนลายเส้นประเภทล้อเลียนบุคคลพบครั้งแรกพิมพ์ไว้เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถือกำเนิดในทวีปยุโรปส่วนหนึ่งในจำนวนนี้มีภาพการเสด็จประพาสยุโรปในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๐ รวมอยู่ด้วยภาพล้อที่โด่งดังที่สุดวาดในฝรั่งเศส ได้แก่ ภาพล้อการพบปะระหว่างรัชกาลที่ ๕กับประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นายเฟลิกซ์ โฟว์ (หนังสือพิมพ์ Le Pilori)  ภาพการรับเสด็จฯที่สถานีรถไฟปารีส (หนังสือพิมพ์ L’UniversIllustre)ภาพการตรวจพลสวนสนามในยุโรป (หนังสือพิมพ์ Le Pilori) ภาพทั้งหมดถึงแม้จะถูกนำออกเผยแพร่ในระยะเวลาสั้นๆ คือระหว่างที่เสด็จฯประพาสกรุงปารีส แห่งละไม่นานแต่ก็ยังทำให้คนไทยรุ่นหลังตื่นเต้นมากที่ได้เห็นเพราะ “ดูสนุกและแปลกตา” ออกไปจากรูปถ่ายของพระองค์ในมุมมองเดียวกัน
           จากการสัมภาษณ์อาจารย์ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับภาพล้อการ์ตูนในสมัยรัชกาลที่๕ จากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศโดยมีแรงบันดาลใจจากความประทับใจใน "เสน่ห์"ของรูปที่สะดุดตาและมีเอกลักษณ์พิเศษซึ่งหาไม่พบในภาพถ่ายทั่วไปเพราะการ์ตูนทำให้ภาพดูมีชีวิตจนเหมือนเคลื่อนไหวได้ และยังมีการ์ตูนล้อเลียนที่พิลึกกว่านี้ออกไปอีก กล่าวคือนอกจากล้อเลียนบุคคลแล้วยังล้อเลียนเหตุการณ์พร้อมๆ กันไปในตัวด้วยโดยมีปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยสนับสนุนภาพประเภทหลังนี้เมื่อดูอย่างผิวเผินจะไม่สามารถเข้าใจความหมายทันที เพราะมี "นัยยะ" ทางการเมืองแฝงอยู่มาก จุดประสงค์ของภาพก็เพื่อ "สื่อ"ข่าวการเมืองที่เข้าใจยากในสายตาคนทั่วไปจึงไม่ปรากฏตามแผงหนังสือเหมือนกับการ์ตูนล้อเลียนบุคคลที่เข้าถึงประชาชนกลุ่มใหญ่ได้กว้างกว่า
ภาพล้อการเมืองจะ"เกาะติด"สถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะเท่าที่พบแทบจะไม่มีรายละเอียดใดๆให้ความกระจ่างไว้เลย จะมีก็แต่เพียงคำบรรยายใต้ภาพสั้นๆ ที่ติดมาด้วยเท่านั้นแต่ทั้งๆ ที่มีประวัติอันเลือนรางภาพเหล่านี้กลับบ่งบอกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีค่าอย่างยิ่งด้วยเหตุนี้การ์ตูนล้อการเมืองที่สื่อถึงรัชกาลที่ ๕ โดยตรงในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่คนไทยเราไม่เคยพบเห็นมาก่อน แม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสเองซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของรูปภาพนี้ ก็มีรายงานว่าพบเพียงภาพเดียวในรอบ ๒๐ปีที่ผ่านมา
หนังสือพิมพ์ข่าวการเมืองฉบับหนึ่งของฝรั่งเศส พิมพ์ในปี ค.ศ.๑๙๐๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ชื่อ “La Caricature ” แปลตรงตัวว่า"ภาพล้อบุคคล"จัดเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักการเมืองหรือชาวฝรั่งเศสที่สนใจข่าวการเมืองเป็นชีวิตจิตใจซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ตื่นตัวอยู่เสมอในปารีส หนังสือLa Caricatureมียอดพิมพ์เพียง ๓,๐๐๐ฉบับต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับหนังสือพิมพ์ระดับชาติอย่างL’Illustration หรือ Le Petit Journal ที่มียอดพิมพ์กว่า ๕๐๐,๐๐๐ ฉบับต่อสัปดาห์เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้วภาพที่ออกมามิได้มุ่งหวังเพื่อนำเสนอต่อคนไทยโดยตรงในทางตรงกันข้ามกลับชี้ไปที่การแสดงความคิดเห็นของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อชาวฝรั่งเศสด้วยกันหรือจะเรียกว่าเป็นประชาวิจารณ์ของคนในพื้นที่คงไม่ผิดนักและเนื่องจากเป็นสื่อนำเสนอข่าวสารการเมืองหนังสือพิมพ์จึงเปรียบได้กับเครื่องมือที่พรรคการเมือง "ฝ่ายตรงข้าม" ใช้เพื่อปลุกปั่นกันเองในสภาซึ่งในบางครั้งก็ได้ผลเกินคาดดังนั้นข่าวการเมืองที่กำลังเป็นจุดสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูช่วงต้นทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙จึงไม่มีข่าวใดร้อนแรงเท่าเรื่องเกี่ยวกับ "อนุสัญญา"ฉบับหนึ่งซึ่งลงนามระหว่างตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสและสยามในกรุงปารีสแต่คณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสไม่ยอมให้สัตยาบัน คือไม่ยอมรับเนื่องจากความกดดันของคนในพรรคอาณานิคม ที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงภาพลายเส้นงามๆ ที่ดูสนุกสนานและมีรายละเอียดเชิงตลกล้อเลียน กลับแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับ

หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศคนใหม่ของฝรั่งเศสชื่อเดลกัสเซ (M. Delcasse) ได้รับแรงกระตุ้นจากความไม่ลงรอยกันในข้อตกลงขั้นตอนสุดท้ายระหว่างรัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่ายตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาและอนุสัญญาเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ (ร.ศ. ๑๑๒)ซึ่งยังหาข้อยุติไม่ได้แม้แต่ความพยายามอันเนื่องมาจากการเสด็จฯกรุงปารีสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่สามารถสมานรอยร้าวให้สนิทได้ปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจกันเรื่องการคุ้มครองและการตีความเรื่องเขตแดนทำให้เกิดอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ขั้นปกติตลอดมา บัดนี้นายเดลกัสเซเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะประนีประนอมกัน เพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ให้ลุล่วงไปในทัศนะของเขานั้น การประนีประนอมไม่เพียงลดความบาดหมางกับสยามเท่านั้นแต่ยังฟื้นฟูความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสอีกด้วยจึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๙๓ (ร.ศ.๑๑๒)เป็นต้นมาที่คนในรัฐบาลฝรั่งเศสมีความตั้งใจที่จะยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่างและต่างฝ่ายต่างหันมาใช้นโยบายซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกันหลักใหญ่ใจความของการ"ประนีประนอม" ตามแผนของเดลกัสเซ ดังนี้
๑. ด้านดินแดนฝ่ายฝรั่งเศสต้องการเพียงเมืองมโนไพรและจำปาศักดิ์หมายถึงสยามต้องยอมสละดินแดน "เพียง" ๒๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรเพื่อแลกกับการถอนกองกำลังฝรั่งเศสออกไปจากการยึดครองจันทบุรีถ้าว่ากันตามสถานการณ์แล้ว ตรงนี้รัฐบาลไทยพอจะรับได้ เพราะ ม.เดลกัสเซไม่ติดใจเรื่องดินแดนบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงซึ่งตามนโยบายเดิมนั้นฝรั่งเศสเคยคาดหวังไว้ว่าควรตกเป็นของฝรั่งเศสด้วยโดยอ้างว่าเป็นเมืองเดียวกันกับนครหลวงพระบางบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของไทยที่ไม่ต้องการเสียดินแดนเพิ่มอีกเพื่อแลกกับจันทบุรีหรือถ้าจำเป็นต้องเสียก็ควรเสียให้น้อยที่สุด
๒. เรื่องยกเลิกเขตปลอดทหาร ๒๕กิโลเมตร เหนือเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสนายเดลกัสเซอนุโลมให้มีกองทหารสัญชาติไทยได้ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพนายกองสัญชาติไทยซึ่งเป็นที่พอใจของสยาม
๓. เรื่องปัญหาคนในบังคับฝรั่งเศสและอำนาจศาลตามสนธิสัญญาฉบับเดิมระบุว่าคนฝรั่งเศสและคนในบังคับฝรั่งเศสในสยามจะต้องอยู่ใต้กฎหมายฝรั่งเศสโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่นายเดลกัสเซกลับผ่อนผันที่จะส่งรายชื่อให้รัฐบาลสยามโดยทางการสยามจะเริ่มมีสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตขัดข้องในการลงทะเบียนรายละเอียดรายใดที่เห็นว่าไม่เป็นการถูกต้องก็แจ้งต่อเจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะได้นำกรณีที่ได้แจ้งไปพิจารณาอีกครั้ง
นโยบาย "สายกลาง" ของนายเดลกัสเซตั้งแต่ต้นได้รับการประสานงานไปยังนายโกลบูกอฟสกี (Klobukowski) อัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ เป็นอย่างดีทำให้รัฐบาลสยามรีบจัดส่งพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยะศิริ)เดินทางไปยังยุโรปในฐานะทูตพิเศษทันทีเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสจนมีการประชุมลงนามร่วมกันในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่๗ตุลาคมค.ศ.๑๙๐๒
ทันทีที่อนุสัญญาฉบับนี้ถูกประกาศออกไป คณะทำงานของนายเดลกัสเซกลับ "ถูกโจมตี" อย่างหนัก และได้รับการถูกประท้วงจากหลายฝ่ายในฝรั่งเศส อาทิผู้แทนจากรัฐบาลอินโดจีนในคณะที่ปรึกษาสูงของกระทรวงอาณานิคมประธานกลุ่มอาณานิคมในวุฒิสภา และรองประธานคณะกรรมาธิการเอเชียของฝรั่งเศส นายจีโกแดง ประธานกลุ่มอาณานิคมฯ กล่าวบริภาษว่า "ตามอนุสัญญาฉบับนี้ฝรั่งเศสกำลังสละสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ และไม่ได้อะไรตอบแทนเลย"คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ประณามข้อตกลงนี้ว่าไร้ประโยชน์และเป็นความเสียเปรียบทางนโยบายโดยสิ้นเชิงกล่าวคือ
๑.เรื่องดินแดนนักการเมืองฝรั่งเศสยังหวังที่จะได้ดินแดนบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ตรงข้ามหลวงพระบาง)ซึ่งมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกถึง ๔๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตรแทนที่จะปล่อยให้หลุดลอยไปแก่ฝ่ายไทยข้อเสนอของนายเดลกัสเซจึงอ่อนข้อต่อไทยจนเกินไป
๒.เรื่องยกเลิกเขตปลอดทหาร๒๕ กิโลเมตรเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสรับไม่ได้ที่จะให้มีกองกำลังของฝ่ายไทยประจำการอยู่
๓.เรื่องปัญหาคนในบังคับ ก็เป็นการรอมชอมที่ไร้ค่าและไม่มีเหตุผลพวกเขาเย้ยหยันว่ามันเป็น "ฟาโชดา" แห่งใหม่ Fachodaหรือ Kodokเป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในประเทศซูดานบนฝั่งแม่น้ำไนล์ที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองได้ในปี ค.ศ. ๑๘๙๘ แต่ในที่สุดก็ต้องยอมมอบให้ฝ่ายอังกฤษซึ่งตีตลบหลังฝรั่งเศส และพิชิตภูมิภาคนั้นได้ทั้งหมดในปีเดียวกันซึ่งก็เป็นความผิดพลาดที่นายเดลกัสเซทำไว้เช่นกัน
หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายชื่อเอโคเดอ ปารีส์ (Echo De Paris) ใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามผลงานทางการทูตของเดลกัสเซว่า "ปิศาจแคระเดลกัสเซ” ได้กระทำการทรยศอย่างแท้จริง อนุสัญญาฉบับหนึ่ง (เกี่ยวกับฟาโชดา) ที่เดลกัสเซได้ลงนามไปนั้นจะเป็นก็แต่เพียงการล่าถอยที่น่าอับอายและไม่พอใจของผู้คนไปทั่วโลกอาณานิคม"หลังจากการลงนาม๓ วันทำให้เกิดการประท้วงทางโทรเลขจากชาวฝรั่งเศสในสยามติดตามด้วยการคัดค้านอย่างรุนแรงของคณะกรรมาธิการเอเชียในปารีสที่จะให้การยอมรับอนุสัญญาดังกล่าวซึ่งเท่ากับทำให้สนธิสัญญา ร.ศ. ๑๑๒ หมดค่าไปและจะทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นผู้ยอมแพ้แก่ฝ่ายตรงข้ามคือ "สยาม" อนุสัญญาฉบับวันที่ ๗ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ จึง "ไม่มีผล" ในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
ดังนั้นภาพ จาก La Caricature ฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ ขึ้นหน้าปกด้วยรูปล้อเลียนบุคคลผู้ "อยู่เบื้องหลัง" อนุสัญญานั้นประกอบด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชุดเครื่องต้นและทรงสวมพระมหามงกุฎกำลังทรงใช้พระหัตถ์จับตัวเดลกัสเซมาเก็บใส่กระเป๋าของพระองค์ไว้มีรูปตัวเดลกัสเซอ่อนปวกเปียกเหมือนตุ๊กตาไขลานหมดสภาพพร้อมกับมีเอกสารที่เขียนว่าราชการลับต่างประเทศร่วงหลุดจากมือเป็นการอุปมาว่าฝ่ายไทยมีอำนาจเหนือกว่าเพราะสามารถกำหนดหัวข้อเจรจาให้ฝรั่งเศสปฏิบัติตามต้องการได้เหนือรูปล้อนี้มีคำอธิบายว่า : La Convention Siamoise Signee par M. Delcasseแปลว่า : อนุสัญญาสยาม ลงนามโดยเอ็ม. เดลกัสเซ ส่วนใต้รูปล้ออธิบายว่า “Chulalongkorn. –Il n’estvraiment pas difficile de fourrerdanssapoche un ministre radical.” แปลได้ความว่า  “มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยที่จะเก็บรัฐมนตรีหัวรุนแรงคนนี้ไว้ในกระเป๋าของพระองค์”

           นอกจากภาพล้อชิ้นสำคัญนี้แล้วในเวลาต่อมายังพบภาพล้อการเมืองที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสถานภาพของนายเดลกัสเซตามทรรศนะของคนฝรั่งเศสในระยะนั้น เป็นที่มาของภาพที่ ๒ต่อประเด็นเดิมที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันต่อไป
ภาพ จาก L’Actualite ซึ่งเป็นวารสารทางการเมือง ทำนองเดียวกันตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ลงสาระพาดพิงถึงอนุสัญญาฉบับนั้นอีกครั้งหนึ่งแสดงรูปวาดล้อนายเดลกัสเซนั่งอย่างผ่าเผยอยู่บนกูบหลังช้างเผือกทรงเครื่องแน่นอนที่สุดภาพนี้สื่อฉากพระราชวังในกรุงศรีอยุธยาซึ่งคนฝรั่งเศสรู้จักดีลอกเลียนแบบมาจากภาพวาดในบันทึกการเดินทางสู่สยามของบาทหลวงเดอชัวซีย์ภาพที่ ๒ นี้ เปรียบเสมือนการค่อนแคะทำนองยกยอปอปั้นนายเดลกัสเซให้เป็นบุคคลที่น่ายกย่องนับถือสำหรับชาวสยาม ในวีรกรรมที่เขาก่อขึ้นหมายถึงอนุสัญญาของเขาที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวสยามมากกว่าชาวฝรั่งเศส
กำเนิดภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสยาม
ปฐมบทแห่งภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์สยามเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวพ.ศ. ๒๔๖๐เนื่องจากรัชกาลที่ ๖ ทรงสนพระทัยในศิลปะการเขียนภาพล้อและโปรดเกล้าฯ ให้แปลความหมายของคำว่า “Cartoon “ เป็นคำไทยว่า “ภาพล้อ” และในพ.ศ. ๒๔๖๑ รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงริเริ่มออกหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต ที่มีลักษณะเด่น คือนำภาพล้อบุคคลต่างๆมาตีพิมพ์ด้วยเสมอ
สมัยนี้มีความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสาร แลหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๖๕  ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้นต้องใช้เวลาในการร่างกฎหมายนับแต่ริเริ่มมีการนำเสนอประเด็นนี้มากกว่าสิบปีหลังจากกรณีกบฏ รศ.๑๓๐  สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้  ที่ได้รับการอภิปรายในช่วงนั้นก็คือ การนิยามความหมายของคำว่า “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ในมาตรา ๕ ซึ่งสร้างปัญหาและความกังวลใจอย่างมากกับแวดวงหนังสือพิมพ์
อย่างไรก็ดี ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านในสมัยนั้นมาก  เพราะนอกจากจะเสนอภาพเพื่อดึงดูดความสนใจผู้อ่านแล้ว ภาพล้อยังใช้วิพากษ์วิจารณ์เสียดสี

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

๑. ศึกษาความหมายและต้นกำเนิดของภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย
๒. ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทยกับเสรีภาพทางการเมือง
๓. ความสัมพันธ์ของภาพล้อและการ์ตูนการเมืองกับเสรีภาพทางการเมือง
๔. อธิบายและวิเคราะห์ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในช่วงเวลาที่เลือกเป็นกรณีศึกษา


สมมติฐานของการวิจัย

๑. ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทยเป็นนวัตกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
๒.ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทย คือ ความต้องการในการล้อเลียน  เสียดสี  และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้ปกครองและผู้มีอำนาจทางการเมือง
๓.เสรีภาพทางการเมืองมีความสัมพันธ์กับการสร้างงานภาพล้อและการ์ตูนการเมือง  กล่าวคือ  หากสังคมใดเป็นเผด็จการจะไม่เกิดภาพล้อและการ์ตูนการเมือง หรือพบน้อยมาก
๔.ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองที่เลือกศึกษาเป็นช่วงก่อกำเนิดในสังคมไทยสะท้อนว่า ระยะเวลาดังกล่าวในสังคมไทยมีกลุ่มบุคคลที่เกิดความไม่พอใจในระบอบการปกครองแบบเก่าและต้องการเปลี่ยนแปลง  ส่วนภาพบุคคลที่ถูกล้อเลียนส่วนมากเป็นบรรดาผู้มีอำนาจและมีผลประโยชน์
วิธีการวิจัย: ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก โดยการรวบรวมหลักฐานข้อมูลและวิเคราะห์ตีความเอกสาร และภาพล้อการ์ตูนการเมืองจากหนังสือพิมพ์ โดยวิธีการทางประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะ
ขอบเขตในการวิจัย : ศึกษาหลักฐานจากภาพล้อและการ์ตูนการเมืองจากหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองรายวันและสยามรีวิวรายสัปดาห์ สมัยรัชกาลที่ ๗ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

๑. งานวิจัยเรื่อง “The End of the Absolute Monarchy in Siam งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดย เบนจามิน เอ. แบตสัน (Benjamin A. Batson, ๑๙๘๔ )วิจัยเชิงประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ในปีค.ศ.๑๙๘๔  (พ.ศ. ๒๕๒๗) ได้เขียนหนังสือเรื่องเดียวกัน  อธิบายพัฒนาการทางด้านการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศสยามโดย  เสนอ ๖ประเด็นหลักในการวิจัย คือ
ประเด็นที่หนึ่ง เป็นการเสนอภาพกว้างๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของราชสำนักไทยจากการที่สยามติดต่อกับโลกตะวันตกอย่างกว้างขวางก่อนสมัยรัชกาลที่ ๗ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ รัชกาลที่ ๕
ประเด็นที่สอง  ปัญหาการเมืองเศรษฐกิจสังคมในสมัยรัชกาลที่ ๖
ประเด็นที่สาม การปกครองระบอบกษัตริย์ในปีท้ายๆของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ประเด็นที่สี่  ปัจจัยภายในที่เน้นความพยายามของพระมหากษัตริย์และคณะที่ปรึกษาของพระองค์ที่จะนำระบอบการปกครองแบบตัวแทนเข้ามาเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน
ประเด็นที่ห้า  ปัจจัยภายนอกที่เน้นความสัมพันธ์อันขัดแย้งระหว่างสยามกับขบวนการชาตินิยมฝ่ายซ้ายในประเทศเพื่อนบ้าน และผลกระทบที่ได้รับจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในต้นทศวรรษ ๑๙๓๐
ประเด็นที่หก  ชี้ให้เห็นความสำคัญของพัฒนาการในช่วงพ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๕
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗     เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุเพียง ๓๒ พรรษาโดยยังทรงขาดประสบการณ์และทรงเป็น “ม้ามืด” ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองรุนแรงและปัญหาเศรษฐกิจนานัปการ  ซึ่งเริ่มพอกพูนมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๖   สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงระบุว่า  เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯขึ้นครองราชย์นั้นพระองค์ทรงได้รับ  “มรดกน่าเศร้า...พระราชวงศ์ตกต่ำ  ราษฎรหมดความเคารพเชื่อถือ  สมบัติเกือบหมดพระคลัง  รัฐบาลฉ้อฉล  การบริหารราชการยุ่งเหยิง”   รัชกาลที่  ๗  ทรงอุทิศเวลาในช่วงเดือนแรกๆเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และจัดการกับปัญหาเหล่านี้
๒.งานวิจัยเรื่อง “Contested Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute Monarchy in Siam” โดย แมททิว ฟิลิป คอปแลนด์ (Matthew Phillip Copeland,๑๙๙๓ ) เป็นงานวิจัยเชิงปรัชญาประวัติศาสตร์ระดับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย  ในปีค.ศ.๑๙๙๓(พ.ศ. ๒๕๔๖) ได้ อธิบายพัฒนาการทางด้านการเมืองเรื่องการสร้างชาตินิยมในประเทศสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ใช้วิธีศึกษาเชื่อมโยงกับหนังสือพิมพ์การเมืองและการต่อต้านเจ้านายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านบทความและการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕     เขายังเสนอว่า  ลัทธิชาตินิยมไทยเป็นผลผลิตที่ชนชั้นนำผูกขาดไว้ แนวคิดชาตินิยมของราชสำนักอยู่ในบริบททางปัญญาอันกว้างขวางเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าขบวนการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับนักชาตินิยมนั้นเกิดจากการรณรงค์ของผู้มีการศึกษา ในเวลาเดียวกันนั้น การเติบโตของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ช่วยเร่งเร้าความเข้าใจทางการเมืองแก่ชาวไทยที่มีต่อแนวคิดเรื่องชาตินิยมสมัยรัชกาลที่ ๖ หลังปี ๒๔๖๐  หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาได้แก่  บทความ  บทบรรณาธิการ  ซึ่งถูกตีพิมพ์ในสยามช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  บทความส่วนมากจะใช้นามแฝงและมีการปกปิดชื่อจริงของผู้เขียน  ยิ่งกว่านั้นในหลายๆบทความประวัติของผู้เขียนยังคงมืดมนเช่นกัน  สำหรับการประกาศใช้พระราชบัญญัติสิ่งพิมพ์สยามครั้งแรกในพ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น  เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างก็ไม่เปิดเผยตัวตนออกมา  อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องยุ่งยากนี้  บทความเหล่านี้ได้ตีแผ่หลักฐานมากมาย ซึ่งสามารถนำมาใช้อธิบายให้เห็นถึงขบวนการความเคลื่อนไหวของปัญญาชนในเรื่องการยืนยันอำนาจของ “พลเมือง”  ที่มีเหนือรัฐบาล
๓.งานวิจัยเรื่อง“ปัญหาภายในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕ : ภาพสะท้อนจากงานเขียนหนังสือพิมพ์ โดย   อัจฉราพร   กมุทพิสมัย   นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๒   อธิบายเกี่ยวกับปูมหลังของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับก่อนพ.ศ. ๒๔๗๕ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทย กรุงเทพฯเดลิเมล์บางกอกการเมือง เกราะเหล็ก ศรีกรุง กัมมันโต หลักเมือง และโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์สยามรีวิวรายสัปดาห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่แตกแขนงมาจาก บางกอกการเมืองและไทยหนุ่ม   มีนายสนิม เลาหะวิไล เป็นบรรณาธิการ  แต่เจ้าของตัวจริงที่เป็นผู้ให้เงินสนับสนุน คือ นายพร้อม ไม่ปรากฏนามสกุล เจ้าของร้านพร้อมภัณฑ์ มีนายเฉวียง เศวตะทัต และ นายชอ้อน อำพล เป็นบรรณาธิการ  มีการข้อสังเกตว่า  บรรณาธิการและนักเขียนบทความรวมทั้งภาพล้อลำตัดการเมืองมาจากกลุ่มคนในกบฏร.ศ. ๑๓๐ เช่น นายจรูญ  นายอุทัย  และนายบ๋วย  ดังนั้น บทความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจึงมีความโดดเด่นในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
๔. งานวิทยานิพนธ์เรื่อง “ปฏิกิริยาของรัฐบาลสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการเคลื่อนไหวตามแนวคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕” โดย สุวดี  เจริญพงศ์ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๖.
๕. หนังสือเรื่อง “ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕” โดย รศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๔๖. สำรวจและศึกษาพัฒนาการของการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ อย่างละเอียดมากที่สุด ค้นพบคำอธิบายทางการเมืองของงานเขียนสารคดีการเมืองในช่วงพ.ศ.๒๔๗๕-๒๕๒๕ ซึ่งเห็นพ้องกับศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ว่ามีรูปแบบของการอธิบายปัญหาในเชิงหลักการเพื่อการอบรมสั่งสอน  ตรงกันข้ามกับงานเขียนสารคดีการเมืองหลังพ.ศ. ๒๔๙๐  ซึ่งอธิบายการเมืองในเชิงของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างผู้นำใหม่ โดยใช้สำนวนโวหารแบบเสียดสีถากถางปะปนกับการเล่าเรื่องที่เชื่อกันว่าเป็นเบื้องหลังของเหตุการณ์
๖.งานวิจัยเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการหนังสือพิมพ์” โดย สุกัญญา ตีระวนิช  ตีพิมพ์พ.ศ. ๒๕๓๑ ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็นผู้นำของวงการหนังสือพิมพ์ โดยวิเคราะห์จากบทความพระราชนิพนธ์
๗.งานวิจัยเรื่อง“แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่างพ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗ “ โดย รศ.ดร. พรทิพย์ ดีสมโชค  อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ตีพิมพ์พ.ศ.๒๕๕๓  แบ่งหนังสือพิมพ์ออกเป็นสองกระแส คือเนื้อหาแบบอิสระ กับเนื้อหาด้านเดียวและปกิณกะความรู้ทางการเมือง  เป็นการวิเคราะห์การนำเสนอเนื้อหาสาระของหนังสือพิมพ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าทรงให้อิสระและเสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์ ทำให้เนื้อหาเปิดประเด็น ๒ ประการคือการชี้วิกฤตของบ้านเมืองกับการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง




บทที่ ๒
พัฒนาการของหนังสือพิมพ์สยามก่อนพ.ศ. ๒๔๗๕
 :เวทีของการ์ตูนการเมือง


                 นอกจากหลักฐานของทางราชการที่สะท้อนภาพปรากฏการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และรวมทั้งปัญหาความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว หนังสือพิมพ์เป็นหลักฐานบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ารูปแบบหนึ่ง  ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ถือเป็นหลักฐานชั้นต้น (Primary Sources) หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอพร้อมแสดงความคิดเห็นทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ
แรกมีหนังสือพิมพ์ในสยาม
สยามเริ่มมีเครื่องพิมพ์ใช้เป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยการนำเข้ามาของ แดน บีช บรัดเลย์ ( Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกันได้นำเครื่องพิมพ์จากสิงคโปร์เข้ามายังสยาม ด้วยจุดประสงค์ในการพิมพ์เพื่อเผยแพร่ศาสนา ต่อมาได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรก คือ บางกอกรีคอร์ดเดอร์ เมื่อพ.ศ. ๒๓๘๗ หลังจากนั้นก็เริ่มมีหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆตามมา เช่น  จดหมายเหตุสยามสมัย ของหมอสมิธ (Samuel John Smith) และสยามออบเซอร์เวอร์ ของ ติลลิกี (Tilleke) และ วอร์ด(WARD ) อย่างไรก็ดี  กิจการหนังสือพิมพ์ในระยะแรกดำเนินการโดยชาวต่างประเทศนั้นยังไม่แพร่หลายในระดับประชาชนเท่าใดนัก ผู้อ่านหนังสือพิมพ์อยู่ในกลุ่มเจ้านายและข้าราชการชั้นสูง หนังสือที่พิมพ์ในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มียอดจำหน่ายเพียง ๒๐๐-๓๐๐ ฉบับ  เท่านั้น  ผู้นำไทยเล็งเห็นประโยชน์ของสิ่งพิมพ์ในด้านการสื่อสารโดยตรงระหว่างรัฐบาลและประชาชนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้นหนังสือราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ดำเนินการโดยคนไทยและมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ

๒.๑ การเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์สามัญชนในสมัยรัชกาลที่ ๕
ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่๕เริ่มมีสามัญชนออกหนังสือคนแรก คือ กศร. กุหลาบ นักหนังสือพิมพ์ผู้นี้ได้ออกหนังสือนิตยสารรายเดือน  ชื่อ สยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ ( พ.ศ.๒๔๔๐-๒๔๔๓ )ขณะนั้นหนังสือของสามัญชนต้องแข่งขันกับหนังสือพิมพ์ของเจ้านาย และ เสี่ยงต่อการขาดทุนเพราะรายได้จากการโฆษณามีน้อยมาก แต่ปรากฏว่าหนังสือสยามประเภท สุนทโรวาทพิเศษ กลับได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาก  ระยะแรกนิตยสารฉบับนี้ออกเป็นรายเดือน  ต่อมาได้ตีพิมพ์ออกเป็นรายปักษ์ (รายสองสัปดาห์)ในเนื้อหาของหนังสือสยามประเภท สุนทโรวาทพิเศษ มีการนำเสนอข่าว ความรู้ประวัติศาสตร์มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองการปกครองและมีการเยาะเย้ยถากถางสังคม และมีการตอบข้อคำถามที่มีคนส่งมายังบรรณาธิการ
ในฉบับปฐมฤกษ์ระบุว่า “เปนสรรพตำราความรู้ฉลาดทางคติธรรมแลคติโลกย์ สำหรับมนุษย์บุรุศย์สัตรี สืบกุลบุตรภายน่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เปนจดหมายเหตุออกเดือนละครั้ง...” มีราคาระบุไว้ว่า  “ขายผู้ลงชื่อฉบับละสองสลึง คือ ปีละ๖บาทผู้ที่ไม่ได้ลงชื่อฉบับละบาท...
         จุดเด่นของสยามประเภท สุนทโรวาทพิเศษ อยู่ที่เรื่องพงศาวดารและโบราณคดี  ซึ่งก.ศ.ร.กุหลาบใช้วิธีการแอบคัดลอกมาจากหนังสือที่มีอยู่ในหอหลวงแล้วเอามาลงตีพิมพ์ให้ประชาชนอ่านทำให้มีผู้นิยมเชื่อถือมาก แต่บางครั้งก็ได้แต่งเติมสอดแทรกความคิดเห็นของตนเข้าไปจนทำให้ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ ๕  ไม่พอพระทัย สั่งให้จับตัวไปเข้าโรงพยาบาลบ้าเป็นเวลา ๗ วัน  นับว่าเป็นครั้งแรกที่นักคิดนักเขียนไทยถูกสอบสวนและลงโทษ
นักหนังสือพิมพ์สำคัญอีกผู้หนึ่งในยุคนั้น คือ เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส.วัณณาโภ เทียนวรรณเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการศึกษาจากการบวชเรียนจนมีความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  การมีความรู้ภาษาอังกฤษทำให้เขาได้รับข่าวคราวและแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองจากตะวันตก  เทียนวรรณเป็นผู้มีความคิดแบบสมัยใหม่นิยมการแสดงความคิดเห็น เช่น เรียกร้องให้มีการเลิกทาส  การมีภรรยาได้คนเดียว  เทียนวรรณนิยมเขียนไปลงตามสิ่งพิมพ์ต่างๆ  จนในที่สุด เทียนวรรณก็ถูกจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกพิพากษาและลงโทษเฆี่ยนและจำคุกอยู่นาน๑๗ ปีเมื่อออกจากคุกในปี พ.ศ.๒๔๔๓ เทียนวรรณได้ออกหนังสือรายปักษ์ของตัวเอง ชื่อ ตุลยวิภาคพจนกิจ เพราะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่สมัยนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ติเตียนรัฐบาล   เขาได้เรียกร้องเสรีภาพในการพูด การเขียน และคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหนังสือพิมพ์ของเขาจึงมีการนำเสนอในรูปแบบที่ล้ำหน้ากว่าหนังสือพิมพ์อื่นในสมัยนั้น  ตุลยวิภาคพจนกิจถูกตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ก็หยุดดำเนินการ  อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เทียนวรรณได้ออกหนังสือรายเดือนอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ ศิริพจนภาค แต่ออกได้ปีเดียวก็เลิกในบั้นปลายชีวิต  เทียนวรรณประสบกับความทุกข์ยากลำบากและเป็นคนพิการตาบอด
หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นซึ่งออกในปลายสมัยรัชกาลที่๕ ได้แก่ สาราราษฎร์ (๒๔๓๖-๒๔๖๖) จีนโนสยามวารศัพท์ (๒๔๕๐) พิมพ์ไทย (๒๔๕๑) และกรุงเทพเดลิเมล์(๒๔๔๑-๒๔๗๖) หนังสือพิมพ์เหล่านี้มีลักษณะต่างไปจากหนังสือราชการและตีพิมพ์ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัชกาลที่๗ และได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญต่อประวัติหนังสือพิมพ์ไทยในเวลาต่อมา
             หนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทกระตุ้นความตื่นตัวในการปกครองแบบใหม่และปฏิเสธการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้แก่ น.ส.พ.ตุลวิภาคพจนกิจ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๔๔๙) น.ส.พ.ศิริพจนภาค (พ.ศ.๒๔๕๑)น.ส.พ.จีนโนสยามวารศัพท์ (พ.ศ.๒๔๔๖-๒๔๕๐) น.ส.พ.บางกอกการเมือง (พ.ศ.๒๔๖๕-๒๔๗๕) น.ส.พ สยามรีวิวรายสัปดาห์ (พ.ศ.๒๔๖๙ –๒๔๗๐) เป็นต้น  หนังสือพิมพ์เหล่านี้เรียกร้องให้มีการปกครองระบอบรัฐสภาที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ  โดยชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ประชาชาติมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่โดยปรากฏตัวอย่างในหลายประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญกระแสการเรียกร้องของนักหนังสือพิมพ์สมัยนั้นมีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานของคณะราษฎรโดยมีการเผยแพร่เรียกร้องและชี้นำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่ระบบรัฐสภา
๒.๒ สมัยรัชกาลที่ ๖ : กระแสเริ่มต้นการวิพากษ์การเมือง
สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นยุคที่สถานะทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศดีขึ้นทำให้มีการวางรากฐานการศึกษาแก่ประชาชน โดยรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการประถมศึกษา พ.ศ.๒๔๖๔บังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีบริบูรณ์เรียนหนังสือในโรงเรียนจนอายุ ๑๔ ปีบริบูรณ์  นอกจากนี้ประชาชนยังมีความตื่นตัวทางการเมืองเนื่องจากสภาวะของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่๑  และการเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศจีน พ.ศ.๒๔๖๗
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานงานหนังสือพิมพ์และทรงมีพระราชอัธยาศัยโปรดการโต้แย้งและการแสดงความคิดเห็นอันเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากการที่ไปศึกษาในประเทศอังกฤษ  ปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้มีทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารตีพิมพ์ออกมาอย่างแพร่หลาย  ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษและ ภาษาจีน  มากถึง ๑๓๐ชื่อด้วยกัน
ทวีปัญญา เป็นหนังสือพิมพ์ที่ออกตั้งแต่เมื่อครั้ง รัชกาลที่ ๖ ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  โดยออกเป็นรายเดือนฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เพื่อส่งเสริมความรู้อิงนิยาย “ให้อ่านกันเล่น” และเปิดโอกาสให้คนส่งเรื่องมาลงตีพิมพ์
สมัยของรัชกาลที่๖ นั้น มีการออกหนังสือข่าวของเมืองจำลองประชาธิปไตย “ดุสิตธานี” ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ได้แก่ดุสิตสมัยรายวันและดุสิตสมิตราย ๓ เดือน หนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้รับความนิยมจากกลุ่มข้าราชบริพาร  เพราะมีทั้งเรื่องการเมือง  เรื่องตลกขบขัน เบ็ดเตล็ด และกวีนิพนธ์ ลักษณะเด่นคือมีภาพล้อบุคคลในราชสำนัก  ฉบับที่เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกทุกวันเสาร์ รัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นผู้จัดทำ มีนายจ่ายวด(ปาณี ไกรฤกษ์) เป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ยังมี มจ. ดุลภากร มล. ปิ่น มาลากุล พระมหาเทพกาตรสมุท (เนื่องสาคริก) มีวัตถุประสงค์ดังนี้
" นสพ.ดุสิตสมิตบ่มิคิดทรามตั้งจิตจะนำความสุขะให้ฤดีสบายถึงล้อก็ล้อเพียงกละเยี่ยงวิธีสหายบ่มีจะมุ่งร้ายบ่มิมุ่งประจานใครใครออกจะพลาดท่าก็จะล้อจะเลียนให้ใครดีวิเศษไซร้ก็จะชมประสมดีชมเราก็แทงคิวผิวะฉิวก็ซอรีแม้แมดมิคืนดีก็จะเชิญ ณ คลองสานฯ"
ในสมัยนี้หนังสือพิมพ์เป็นเวทีแสดงออกทางความคิดเห็นและสนามสำหรับแสดงโวหารพระราชนิพนธ์ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ คือ “โคลนติดล้อ” โดยทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ”  สาระสำคัญของพระราชนิพนธ์นี้ระบุว่า โคลนเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของล้อที่จะเคลื่อนไปสู่ความวัฒนาสถาพรหลังจากการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปปรากฏว่ามีผู้เขียนความเรียงตอบโต้ใช้ชื่อว่า“ล้อติดโคลน” จากผู้ใช้นามปากกาว่า “โคนันทวิศาล” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ ในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ เพื่อวิพากษ์สังคม ความเป็นอยู่ และการเมืองของไทย ดังตัวอย่างเช่นเมื่อ “อัศวพาหุ”  เสนอบทความตำหนิประเพณีมีเมียน้อยผู้ใหญ่มีเมียสาวเมียเก็บ ฯลฯ โคนันทวิศาลใน “ล้อติดโคลน” ก็เรียกร้องให้ตำหนิเรื่องการเบียดเบียนกันระหว่างข้าราชการผู้ใหญ่กระทำต่อผู้น้อย  ผู้มีวาสนาข่มขี่ผู้น้อยด้วยอำนาจ ผู้มีวาสนาเชื่อฟังแต่ผู้ใกล้ชิด  และเสนอให้”อัศวพาหุ” ควรด่าคนจำพวกนี้ให้มากกว่าพวกมีเมียลับ
๒.๓ สมัยรัชกาลที่ ๗ : การอุดหนุนหนังสือพิมพ์อย่างประหยัด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การยกเลิกระบบไพร่และทาสตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ผ่านพ้นไปได้เพียง ๒๐ปีเศษ ดังนั้น  สภาพสังคมส่วนใหญ่ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลช่วงปลายของวัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย  นอกจากนี้  คนส่วนน้อยยังมีฐานะ สิทธิ ผลประโยชน์ต่างๆ เหนือคนไทยส่วนใหญ่  คนไทยจึงมักมีความเห็นคล้อยตามความคิดของชนชั้นนำในสังคมชี้นำ  ถ้าจะมีความขัดแย้งในสังคมก็มักจะเป็นเพียงความขัดแย้งทางความคิดและความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำของสังคมที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกมากกว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้นำของสังคมไทยกับราษฎรทั่วไป
ในมิติทางการเมืองการปกครองนั้น การเปลี่ยนแปลงสำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียง ๓ วัน คือ การประกาศใช้พระบรมราชโองการแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภา  สมาชิกประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์อาวุโส   ๕  พระองค์  ซึ่งทรงมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสยามจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕  หลักฐานระบุรัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับอภิรัฐมนตรีสภา “มาตั้งแต่ข้าพเจ้ายังไม่ทันคิดว่าข้าพเจ้าจะมีโอกาสจัดตั้งสภานี้ด้วยตัวเอง”  เมื่อเกิดสภาวะเกียรติภูมิของราชสำนักตกต่ำลง “เมื่อข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์ก็คิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระทำบางสิ่งบางอย่างอย่างทันท่วงที  เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมาอีกครั้ง”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของสมาชิกคณะอภิรัฐมนตรีสภาจึงทรง  “พิจารณามาจากประสบการณ์ของแต่ละพระองค์ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระองค์เอง ได้แก่  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ   ทั้งห้าพระองค์นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และมีตำแหน่งสูงในสมัยรัชกาลที่ ๕ เท่านั้น  ต่างล้วนไม่เป็นที่ทรงโปรดในช่วงปลายรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย
ในการประชุมคณะเสนาบดีเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘  พระองค์ได้วิจารณ์ถึงการใช้จ่ายพระราชทรัพย์ของราชสำนักอย่างรุนแรง  และหลังจากที่รัชกาลที่ ๖ สวรรคตไม่นาน  พระองค์ทรงรับสั่งกับทูตอังกฤษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปว่า  “ต่อไปนี้ไม่มีรามาแล้ว เบื่อเต็มที  ต่อไปจะต้องไม่เป็นอย่างนี้อีก”  ซึ่งทูตอังกฤษตีความว่า  พระองค์ทรงเปรยถึงรัชกาลที่แล้ว  กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงมีพระชนมายุและประสบการณ์มากกว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งรัชกาลที่ ๗ ก็เคยมีลายพระราชหัตถเลขาว่า  “พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่มีพระเกียรติยศอยู่บ้างก็คือ กรมพระนครสวรรค์ฯ หลายคนอยากให้พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อไป” นอกจากนี้ เซอร์ เอ็ดเวิร์ด คุก  ได้กล่าวกับทูตอังกฤษว่า  ตามข้อมูลที่ตนได้รับไม่มีคนไทยคนไหนอยากเห็นพระองค์ครองราชย์ เพราะคนรุ่นเก่าเกรงว่าพระองค์จะมีอำนาจมากเกินไป  จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ข่มคนอื่น  ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศอยากให้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง  ดังนั้น คนกลุ่มหลังนี้จึงดีใจที่รัชกาลที่ ๖  ทำให้พระราชวงศ์ตกต่ำ  แต่กลัวกรมพระนครสวรรค์จะกลายเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จซึ่งจะยืดระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปอีก  อย่างไรก็ตามแม้จะมีข่าวลือมากมายแต่พระองค์ยังทรงภักดี สนับสนุน และยอมรับว่าเจ้าฟ้าประชาธิปกทรงเป็นองค์รัชทายาทที่ถูกต้องและชอบธรรมตามที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนได้ทรงเลือกไว้
หลังจากรัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “คณะเสนาบดีพิเศษ(อภิรัฐมนตรีสภา)”  แล้ว  รัชกาลที่ ๗ ยังโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนตัวเสนาบดีกระทรวงอื่นๆทุกกระทรวงหลังงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ (เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙)  ดังนั้น ในเดือนเมษายน เสนาบดีเก่าส่วนใหญ่จึงถูกถอดออกจากตำแหน่ง  เสนาบดีชุดใหม่ส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์  คนสำคัญที่ต้องเกษียณตัวเอง คือ เจ้าพระยายมราช  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ผู้ดำรงตำแหน่งแทนคือ  สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศร์  ส่วนกระทรวงพาณิชย์มีรายงานว่าก่อตั้งเพื่อหาตำแหน่งให้กรมพระจันทบุรีฯ หลังจากทรงพ้นตำแหน่งที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติถูกยุบรวมเข้ากับกระทรวงคมนาคม  และกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าการรถไฟมาหลายปีได้เป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม  ต่อมากรมพระนครสวรรค์ฯ ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม  จึงทรงเป็นสมาชิกพระองค์เดียวในคณะอภิรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีไปพร้อมๆกัน  พระองค์เจ้าธานีนิวัติทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ  เหลือเสนาบดีในคณะรัฐบาลชุดเดิมเพียง ๓ ตำแหน่ง  คือ หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์  เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ  พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม  เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  และเจ้าพระยาพลเทพ  เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
อภิรัฐมนตรีสภา เป็นองค์กรหลักทำหน้าที่ให้คำปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ ๗ และอยู่นอกโครงสร้างรูปทรงปิรามิดของรัฐบาลที่มีคณะเสนาบดีกระทรวงต่างๆ  แต่ความจริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้ก็ทำงานซ้อนกันอยู่  และตามปกติพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประธานการประชุมของทั้งสององค์กรนี้  แต่ถ้าในสถานการณ์พิเศษพระเจ้าแผ่นดินสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำหน้าที่แทนพระองค์ได้  แม้ว่าเสนาบดีส่วนใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๗  ล้วนเป็นพระบรมวงศานุวงศ์  แต่ก็ไม่เป็นจริงตามที่บางครั้งมีผู้กล่าวหาว่า  ข้าราชการระดับสูงจำกัดอยู่แต่สมาชิกราชวงศ์เท่านั้น  ระบบราชการถูกกล่าวหามานานว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นระบบอุปถัมภ์ และทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ในสมัยแรกๆนั้น  หนังสือพิมพ์ได้เสนอการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นความขัดแย้งต่างๆด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล    ความเหยียดหยามหนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการ  สถานที่ราชการบางแห่งมีคำสั่ง “ปิดข่าว”  คือ ไม่ให้ข่าวหนังสือพิมพ์และรัฐบาลได้ใช้วิธีให้เงินอุดหนุนหนังสือพิมพ์ (subsidy ) และเข้าไปเป็นหุ้นส่วนของหนังสือพิมพ์บางฉบับ (กรุงเทพเดลิเมล์) โดยหวังจะควบคุมหนังสือพิมพ์ให้ได้ระดับหนึ่ง  แต่ก็ปรากฏว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก  เพราะการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองยังมีอยู่  แม้จะลดความรุนแรงลงไปได้บ้าง  กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ได้เน้นให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้น  การเรียกร้องสิทธิของกรรมกร  การโจมตีข้าราชการโกงกินซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไป  หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ใช้วิธีพึ่งพาการคุ้มครองจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต  โดยจ้างบรรณาธิการที่ไม่ใช่คนไทย  ให้ปฏิบัติหน้าที่เมื่อถูกกล่าวหาจะได้ไม่ต้องขึ้นศาลไทย  แต่ไปขึ้นศาลต่างประเทศแทน เช่น หนังสือพิมพ์กรรมกร  หนังสือพิมพ์ปากกาไทย  หนังสือพิมพ์พิฆาฎหนังสือพิมพ์ตอร์ปิโด และหนังสือพิมพ์อวันตี เป็นต้น
แม้หนังสือพิมพ์ไทยก่อนพ.ศ.๒๔๗๕ จะมีจำนวนมากมายหลายฉบับแต่หากพิจารณาเนื้อหาที่มีสาระที่นำเสนต่อสาธารณชนแล้วมีอยู่เพียงไม่กี่ฉบับ หนังสือพิมพ์ทั่วไประยะแรกจะเสนอข่าวโดยทั่วไปที่เป็นข่าวอ่อน คือ ข่าวอาชญากรรม ข่าวเบ็ดเตล็ด โฆษณาและบันเทิง  ส่วนหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวที่ให้ความรู้และมีลักษณะของข่าวแข็ง มีอยู่เพียง ๔ -๕ ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทย   กรุงเทพเดลิเมล์ จีนโนสยามวารศัพท์ บางกอกการเมือง และยามาโต
บทบาทสำคัญของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ มีส่วนร่วมในการให้ความรู้และการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้อ่านแต่ภายหลังก็ถูกจำกัดบทบาทลงด้วยเหตุผลทางการเมืองประกอบกับความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ทำให้ความนิยมเสื่อมถอยลงบางฉบับก็ปิดตัวไป อาทิ จีนโนสยามวารศัพท์
ขณะที่หนังสือพิมพ์เหล่านี้ประสบปัญหาการถูกห้ามตีพิมพ์เผยแพร่  หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ๆ ก็เริ่มปรากฏตัว เช่น หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก  ไทยหนุ่ม สยามราษฎร์ ปากกาไทย และสยามรีวิวรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ที่ยกตัวอย่างมานี้มีลักษณะเฉพาะตัวและมีคุณค่าแก่การศึกษาแม้ว่าจะมีอายุเวลาในการออกตีพิมพ์เผยแพร่เพียงช่วงเวลาสั้นๆเนื่องจากถูกสั่งปิดโรงพิมพ์ หรือการถูกถอนใบอนุญาตด้วยข้อหาการตีพิมพ์ข้อความอันเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินตามความในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐    ก็ตาม
หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง (พ.ศ.๒๔๖๕-๒๔๖๖) ระยะแรกออกเผยแพร่เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ในปีที่สองจึงเริ่มจำหน่ายเป็นหนังสือพิมพ์รายวันระหว่างพ.ศ.๒๔๖๖-๒๔๗๕
เนื้อหาของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาและประกาศแจ้งความ รองลงมาคือ เรื่องบันเทิงคดี ที่น่าสนใจ คือ เริ่มมีการ์ตูนล้อการเมืองและเรื่องพงศาวดารจีน มีนายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยาเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง โดย นายเสม สุมานันท์ เป็นบรรณาธิการ  หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองจัดเป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวสารและให้ความรู้และความคิดเห็นทางการเมืองในเชิงกว้างมากกว่าชี้เฉพาะเรื่องของปัจเจกชนในรัฐบาล  รวมทั้งเน้นวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการเมืองการปกครองเป็นหลัก  ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ประกอบการ  ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่รายสำคัญคือ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา  อดีตล่ามกระทรวงยุติธรรม  ผู้ซึ่งเคยต้องโทษจำคุกคดีกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  ส่วนบรรณาธิการต่อจากนายเสม คือ นายบุญเติม โกมลจันทร์
หลังปีพ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นต้นมา  มีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นหลายฉบับแต่มักมีอายุเพียงช่วงเวลาสั้นๆ  ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ เจ้าของที่มีชื่อในใบขออนุญาตมักจะเป็นคนกลุ่มเดิมที่เคยดำเนินงานหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งและเปลี่ยนมาอยู่หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง  อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่งที่มาจากผู้เคยต้องโทษคดีการเมือง เช่น กรณีกบฏ ร.ศ. ๑๓๐    หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในข่ายนี้มีอยู่หลายฉบับ และมีปูมหลังไม่ชัดเจน  โดยที่หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก และ ไทยหนุ่ม เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีรูปแบบคล้ายบางกอกการเมือง
เนื่องด้วยผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมาจากแหล่งเดียวกัน คือมาจากบางกอกการเมือง กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มมี นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีฐานะเป็นเจ้าของและผู้จัดการ  บรรณาธิการ คือ นายชอุ่ม กมลบุตร ต่อมาถูกศาลพิพากษารอลงอาญาด้วยคดีลงข่าวหมิ่นประมาทข้าราชการ (พระยาประชากิจวิจารณ์  อดีตกรมนคราทร) บริษัทไทยหนุ่มจึงให้ นายเจริญ  วรรณสนิท เป็นบรรณาธิการแทน  หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มในยุคที่นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา ผู้มีเชื้อสายคหบดีมาแต่เดิมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนั้น  นับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่กล้าแสดงออกซึ่งทัศนะวิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา  และค่อนข้างจะใช้สำนวนกร้าวแข็งคล้ายกับหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองในยุคแรก  บทความเด่นๆในไทยหนุ่ม  มี เช่น “สยามไม่ใช่คอกควาย”  “ไม่คิดไม่แปลก”  เป็นต้น  นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา ทำหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙  จนกระทั่งถึงพ.ศ. ๒๔๗๓ ก็ประสบปัญหาต้องคดีล้มละลาย
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนับเป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕  ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนั้น    มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งเกิดความสนใจของพลเมืองในเหตุการณ์บ้านเมืองก็มีมากขึ้นตามลำดับ การสื่อสารมวลชนเพื่อเผยแพร่เหตุการณ์ต่างๆก็เจริญขึ้นตามไปด้วย จากหลักฐานพบว่าในสมัยนี้มีหนังสือพิมพ์ออกจำนวนมากกว่า ๕๐ฉบับทั้งหนังสือพิมพ์ของคนไทยและชาวต่างชาติ   บางฉบับออกได้ไม่นานก็ต้องเลิกไป  ยุคนี้มีคดีหมิ่นประมาทเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการนำเสนอข่าว  เจ้าของหนังสือพิมพ์ใช้กลวิธีหาคนที่ไม่มีความรู้ด้านหนังสือพิมพ์มาเป็นบรรณาธิการสำหรับรับผิดในคดีอาญาแทนกรณีเกิดการฟ้องร้องกัน    ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ วิวัฒนาการของการผลิตหนังสือพิมพ์สมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อน สยามรีวิวรายสัปดาห์  เจ้าของตัวจริง คือ  นายพร้อม  เจ้าของร้านพร้อมภัณฑ์ เคยเป็นผู้ต้นคิดบุกเบิกหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองในสมัยนายเสม สุมานันท์  และนายหอม นิลรัตน์  หนังสือพิมพ์สยามรีวิว พิมพ์ที่โรงพิมพ์บริษัทไทยหนุ่ม รูปแบบเป็นหนังสือวิจารณ์ (review) สาระที่หยิบยกขึ้นมาวิจารณ์มีทั้งเรื่องการเมืองและเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับบ้านเมืองรวมทั้งวิจารณ์บทความและข้อเขียนที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ โดยทั่วไปมักจะวิจารณ์ความเห็นจากหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง และหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม

  1. คณะผู้ดำเนินงานหนังสือพิมพ์สยามรีวิว  มีนายสนิม  เลาหะวิไลย เป็นเจ้าของ และบรรณาธิการ (ในนาม)  ต่อมามี นายเฉวียง  เศวตะทัต  บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธงไทยมาเป็นบรรณาธิการแทนในระยะสั้นๆ  และระยะหลังสุด มีนายชอ้อน อำพล มาเป็นบรรณาธิการแทน

นักเขียนประจำของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีอยู่หลายราย  ส่วนหนึ่งเป็นอดีตนักโทษกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  เช่น  นายจรูญ  นายอุทัย  นายบ๋วย  ข้อเขียนต่างๆของสยามรีวิวมักจะให้ความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  จึงทำให้ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายรัฐบาล  โดยเฉพาะบทความเรื่อง  “ราษฎรตื่นแล้ว”  (ฉบับประจำวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๐)  มีสาระสำคัญคือ  เรียกร้องให้มีรัฐสภา  แต่มีข้อความบางตอนที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นการยั่วยุให้พลเมืองคิดกบฏ  เช่น  มีการยกตัวอย่างเรื่องการปฎิวัติในประเทศรัสเซีย  ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เลือดกับเหล็ก”  เป็นการบรรยายถึงนัยยะความรุนแรงถึงขั้นมีการลอบปลงพระชนม์ประมุขของประเทศ  บทความเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่รัฐบาลมาก ผลคือมีการสอบสวนหนังสือพิมพ์สยามรีวิวเกี่ยวกับตัวผู้เขียนและเจ้าของหนังสือพิมพ์ เพื่อมิให้ข้อความในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แพร่หลายไปในหมู่ประชาชน  รัฐบาลจึงได้สั่งเก็บหนังสือที่เหลือไม่ให้ขายต่อไปแต่ในที่สุดก็ไม่ได้ลงโทษเพราะกลัวจะเป็นเรื่องอื้อฉาวให้คนสนใจ  แต่มีผู้เขียนบทความตอบโต้ใช้นามปากกาว่า “โพวาทอง”   ลงในกรุงเทพฯเดลิเมล์ แสดงความไม่เห็นด้วยที่ยกอุทาหรณ์เรื่อง “พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย” ขึ้นมาเปรียบเทียบ  อีกทั้งใช้คำยุยงประชาชน คือ “เลือดกับเหล็ก”  และโต้แย้งว่าสยามรีวิวมีอคติกับฝ่ายรัฐบาล
ตารางที่ ๑ รายชื่อหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกในสมัยรัชกาลที่ ๗
ชื่อหนังสือพิมพ์ เจ้าของ ปีที่ออก ปีเลิกออก
1. ข่าวด่วน
2. เกราะเหล็ก
3. ปากกาไทย
4. ศรีกรุง
5. ไทยหนุ่ม
6. ตุ๊กตา
7. ข่าวเสด็จมณฑลพายัพ
8. รวมข่าว
9. ข่าวสด
10. หลักเมือง
11. อีดิสอิ๊ด
12. กัมมันโต
13. ช่วยเพื่อน
14. ข่าวชุมนุมลูกเสือสยาม
15. หญิงสาว
16. ข่าวสารสภากาชาดสยาม
17. ราษฎร
18. ข่าวโฆษณาสวนสนุก
19. ธงชัย
20. เจริญกรุง
21. ไทยใหม่
22. อิสสระ
23. หญิงสยาม
24. บำรุงเมือง
25. เดลิเมล์ฉบับผนวก
26. ไทยฉบับอุปกรณ์ (พิมพ์ไทย)
27. สยามตรีบูรณ์
28. สุริยา
29. หนุ่มสยาม
30. รักษ์สยาม
31. กรุงเทพฯ วารศัพท์
32. กรรมการ
33. ความเห็นราษฎร
34. ช่วยกรรมกร
35. ชาติไทย
36. ไตรรงค์
37. ไทยน้อย
38. ประชาชาติ
39. ๒๔ มิถุนา
40. สจฺจํ ฯ
41. สมัยราษฎร์
42. สยามรัฐ
43. สยามหนุ่ม
44. สยามใหม่
45. ๑๐ ธันวาคม
46. เฉลิมรัฐธรรมนูญ
47. เสรีภาพ
48. หญิงไทย
49. เฉลิมประเทศ
50. เฉลิมรัฐธรรมนูญ
51. ไทยเมือง
52. ราษฎร์ตรีบูรณ์
53. วันดี
54. สาวสยาม
55. หนุ่มไทย นายแตงโม วันทวิมท์
นายเสม สุมานันท์
นายถวัติ ฤทธิเดช
The Srikrung Press
นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร
นายอินทรสิงหเนตร
บริษัทรวมข่าว
โรงเรียนมัธยมวัดสระเกศ
นาย ต. บุญเทียม
คณะคลองส้มป่อย
กัมมันโตสหกรณ์
นายวุฒิ  ศุทธบรรสาน
หลวงวิศาลดรุณกร
นางทรัพย์ อังกินันทน์
รองอำมาตย์โท  ขุนจำนงพิทยประสาท
นายใช้ บัวบูรณ์
นายประจง  ชลวิจารณ์
นาย ต. บุญเทียม
นายบันจง  ศรีสุชาติ
นาย ต. บุญเทียม
บริษัทสยามฟรีเปรส
จมื่นเทพดรุณทร
นางทรัพย์  อังกินันทน์
บริษัทไทยใหม่ จำกัด
บริษัทบางกอกการเมือง จำกัด
นางเนิน  ชื่นสุวรรณ
บริษัทเผยแพร่วิทยาการ
หลวงพาหิรวาทกิจ
บริษัทหนังสือพิมพ์ช่วยกรรมกร
นายโพยม  บุญยะศาสตร์
บริษัทซิวตัน
หลวงอนุรักษ์รัถการ
บริษัทประชาชาติ จำกัด
นายสงวน  ตุลารักษ์
นายทองคำ โรหิตศิริ
นางละมุล  จันทาทับ
นายกุหลาบ นพรัตน์
นายบุญ ธัชประมุข
นายเชงจุ๊ย  ลือประเสริฐ
นายหรุ่น  อินทุวงศ์
สมาคมคณะราษฎร์
บริษัทสยามฟรีเปรส
นางทรัพย์ อังกินันทน์
นายกิมเส็ง  ประสังสิต
คณะกรรมาธิการจัดงานมหกรรม ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
นายทองอยู่  สุดออมสิน
ชะเอม  อันทรเสน
นางทรัพย์  อังกินันทน์
บันลูน  เปี่ยมพงษ์สานต์
น.ส. นวลฉวี   เทพวัลย์ 2468


๒.๔  ลักษณะของหนังสือพิมพ์รายวันในสมัยรัชกาลที่ ๗

๑. ลักษณะรูปเล่ม  รูปเล่มของหนังสือพิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๗  เปลี่ยนไปเหมือนกันหมด คือ จากเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นแบบเล่มใหญ่ ขนาดมาตรฐานของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศทั่วไป  แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๗  หนังสือพิมพ์มีขนาดแผ่นเล็กลง  ภาษาวิชาการหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเรียกว่า  Tabloid newspaper คือใช้แผ่นกระดาษขนาดเล็ก ซึ่งเป็นขนาดของหนังสือพิมพ์อเมริกันที่ออกในสมัยเริ่มแรก   รูปแบบของหนังสือพิมพ์ประเภทนี้  ได้แก่  หนังสือพิมพ์ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งนายหรุ่น อินทุวงศ์ เป็นเจ้าของ  นายเจต สมมา เป็นบรรณาธิการ  เป็นหนังสือพิมพ์จำนวน ๘ หน้า ราคาขายปลีกฉบับละ ๑  สตางค์  หนังสือพิมพ์เสรีภาพ ของบริษัทสยามฟรีเปรส  ม.จ. พงส์รุจา รุจวิชัย เป็นบรรณาธิการ  มีจำนวน ๑๖ หน้า  ราคาฉบับละ ๓ สตางค์  หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ของ นาย ต. บุญเทียม  ราคาฉบับละ ๑๐ สตางค์  และหนังสือพิมพ์หลักเมือง ของนาย ต. บุญเทียม เช่นกัน มี ๒๘  หน้า ราคา ๕  สตางค์
๒. การพาดหัวข่าว  สมัยนี้ได้เริ่มมีการพาดหัวข่าวสำคัญในหน้าแรก  ทำให้สร้างความสนใจแก่ผู้พบเห็นและอยากอ่านข่าวในฉบับมากขึ้นโดยหัวข่าวมีการใช้ถ้อยคำกะทัดรัดและคลอบคลุม ทำหน้าที่ย่อเรื่อง หรือสรุปเนื้อข่าวให้กับผู้อ่าน  ลักษณะการเขียนพาดหัวข่าวเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่นักหนังสือพิมพ์อเมริกัน นิยมทำกัน
๓. การเขียนวรรคนำ (Lead) ในสมัยนี้มีหนังสือพิมพ์บางฉบับเขียนวรรคนำ จากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศนอกเหนือไปจากการพาดหัวข่าวหรือโปรยข่าวแล้ว วรรคนำของข่าวจะช่วยให้ได้รู้เรื่องส่วนรวมทั้งหมดของข่าวโดยเร็ว เป็นการสรุปย่อใจความสำคัญของเรื่องไว้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน   เมื่อไร ทำไม  ถ้าผู้อ่านสนใจก็จะอ่านรายละเอียดในเนื้อข่าวต่อไป  วรรคนำจะมาก่อนข่าวและสรุปเนื้อข่าวไว้สั้นๆเพียงประโยค หรือ ๒ -๓  ประโยคเท่านั้น  จากเนื้อข่าวจริงๆซึ่งอาจจะมีหลายคอลัมน์
๔. มีรูปภาพประกอบ   รูปภาพที่ลงประกอบในหนังสือพิมพ์รายวันในสมัยนี้แบ่งออกเป็น  ๔  ประเภท ด้วยกัน คือ
๔.๑ ภาพถ่าย  ได้แก่ภาพบุคคลสำคัญทั้งในประเทศและของต่างประเทศ เช่น ภาพพระบรมฉายาลักษณ์  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบรมราชินี  พระรูปพระบรมวงศานุวงศ์  และภาพเจ้านายต่างๆ  ที่มีเป็นข่าวเรื่องราวเกิดขึ้น ภาพบุคคลสำคัญต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เช่น หนังสือพิมพ์หลักเมือง มักลงข่าวเรื่องประเทศจีน  หนังสือพิมพ์ศรีกรุง หน้า๑๔ทุกฉบับจะลงภาพข่าวทั้งในประเทศและภาพที่ส่งมาจากต่างประเทศเป็นประจำ มีคำอธิบายสั้นๆใต้ภาพ เพื่อให้รู้ว่าเป็นภาพใคร และ หนังสือพิมพ์เกราะเหล็กฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ตีพิมพ์ภาพพระราชพิธีแรกนาขวัญ และมีคำอธิบายใต้ภาพ เป็นต้น
๔.๒ ภาพล้อ  เป็นภาพล้อเลียนการเมืองบ้างเรื่องเหตุการณ์บ้าง  เรื่องเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรที่รัฐบาล หรือเจ้าพนักงานควรจะได้แก้ไข  ซึ่งมีการเขียนเป็นภาพล้อประกอบกลอน เพลงยาว และลำตัดการเมือง ได้แก่ ลำตัดประกอบภาพ ของแก่นเพ็ชร ซึ่งตีพิมพ์ประจำในหนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก เช่น ฉบับวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ มีภาพล้อคนไทยซื้อหมูจากคนจีน แล้วมีคำอธิบายว่า “เริ่มถูกขูดเลือด” เป็นต้น
๔.๓ ภาพการ์ตูน   เป็นภาพเขียนการ์ตูนเรื่องต่างๆ เช่น การ์ตูนเรื่อง พระไชยสุริยา  เขียนโดย ส.จุฑะรพ ลงเป็นประจำในหนังสือพิมพ์ สยามหนุ่ม หน้า ๒๐  ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายใช้เนื้อที่ครึ่งหน้าปนไปกับข่าว นอกจากเรื่องวรรณคดีแล้ว  ยังมีการ์ตูนสำหรับเด็ก เช่น เรื่อง “นักสืบข่าว” นิยายการ์ตูน ๖ ตอนจบ วาดโดย นายสวัสดิ์ จุฑะรพ ลงในสยามหนุ่ม เช่นกัน
๔.๔ มีการให้สัมภาษณ์ข่าว  ในสมัยนี้ใช้คำว่าอินเตอร์วิวข่าวเริ่มมีตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. ๒๔๗๔  เป็นการลงข่าวให้สัมภาษณ์โดยตรง เช่น การให้สัมภาษณ์ของสมุหพระนครบาลที่ตักเตือนบรรดาหนังสือพิมพ์ทั้งหลายใน หนังสือพิมพ์ประชาชาติ  เป็นต้น
พัฒนาการและปูมหลังของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับดังกล่าวมาโดยสังเขปนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมการเมืองของไทยมาโดยตลอด  เมื่อแรกเริ่มหนังสือพิมพ์เป็นแขนงหนึ่งของวิทยาการสมัยใหม่ที่ผู้ปกครองและประชาชนหัวก้าวหน้าเล็งเห็นประโยชน์ที่นำมาใช้ในการสื่อสาร  ตลอดจนสะท้อนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มคนผู้รู้หนังสือ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์นับเป็นหลักฐานชั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นบทความ ข่าวสาร รูปภาพ หรือรูปการ์ตูนล้อการเมืองจึงมีฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบกับหลักฐานอื่นๆได้เป็นอย่างดี
การใช้หนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองนั้นอุบัติขึ้นพร้อมๆกันกับระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว  ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีแต่การใช้หนังสือพิมพ์สนับสนุนรัฐบาลไม่มีการโจมตีกันในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์อย่างลำหักลำโค่นซึ่งจริงๆแล้วเป็นการกล่าวเช่นนี้ อาจเป็นการมองในแง่บวกเกินไป เพราะหนังสือพิมพ์มีการโจมตีเจ้านาย พระราชวงศ์และขุนนางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕-๖ อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของรัฐบาลคือ  หนังสือพิมพ์ “เดลิเมล์” รายวัน  เพราะพระคลังข้างที่ให้ทุนไปดำเนินการ  เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดี อีกฉบับหนึ่งคือ “พิมพ์ไทย” หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล ยอดการจำหน่ายจึงไม่ค่อยดีนัก  เพราะคนไม่นิยมอ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของรัฐบาล  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์จะให้มีหนังสือพิมพ์สักฉบับที่ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาธิปไตยแก่ประชาชนทีละน้อย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีนักหนังสือพิมพ์หนุ่มผู้มีชื่อเสียงและมีแนวเขียนและแนวความคิดทันสมัยที่เรียกว่า “หัวก้าวหน้า”  แห่งยุคคือ นายกุหลาบ  สายประดิษฐ์  ข้อเขียนโด่งดังของเขา คือ “มนุษยภาพ”  ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง  แนวความคิดของเขาล้ำยุคเกินไป  จนทำให้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สั่งปิดหนังสือพิมพ์ดังกล่าว แม้จะเป็นเรื่องของรัฐบาลสมัยนั้นแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กลับทรงพอพระทัยในข้อเขียนและแนวคิดของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลก  พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้นายกุหลาบ  สายประดิษฐ์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันสักฉบับ  แต่เรื่องทั้งหมดต้องเป็นความลับสุดยอดเพราะการสนับสนุนปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยก็คือ การทำลายพระราชบัลลังก์ของพระองค์เอง  ผู้ที่รับพระบรมราโชบายไปดำเนินการเกลี้ยกล่อมนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ คือ หลวงดำรงดุริตเลข (เอี่ยม มาริกุล) เวลานั้นดำรงตำแหน่งปลัดกรมราชเลขานุการในพระองค์ (หลวงดำรงดุริตเลขเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “นครสาร”  รายวันยุคสงคราม อยู่ที่ถนนสุรศักดิ์ สีลม นายสังข์ พัฒโนทัย เคยเขียนประจำอยู่ระยะหนึ่ง นายวิลาส มณีวัตร เคยเป็นบรรณาธิการเมื่อ “นครสาร” ใกล้อวสาน นายสนิทและนางเสริมศรี เอกชัย ก็เคยเป็นบรรณาธิการและนักข่าวที่นี่ด้วย) หลวงดำรงฯอาศัยนายเทียน เหลียวรักวงศ์ ผู้เป็นน้องเขยเป็นตัวเชื่อมเข้าไปหานายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และเขาก็ตกลงใจรับทำงานสนองพระราชประสงค์  น่าเสียดายที่หลวงดำรงฯกำหนดวันที่จะนำนายกุหลาบเข้าเฝ้าที่วังไกลกังวล(หัวหิน) เป็นการส่วนพระองค์ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕  แต่ก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เสียก่อน จึงทำให้แนวพระราชดำริในการเผยแพร่ประชาธิปไตยผ่านทางหนังสือพิมพ์ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์
แม้ว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ระหว่างพ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๕)  จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์พ.ศ.๒๔๗๐ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ว่า
 “....เราไม่ต้องการปิดปากหนังสือพิมพ์ แต่ต้องการให้ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ...”
ซึ่งจะพบว่ามีการปฏิบัติต่อกลุ่มหนังสือพิมพ์อย่างค่อนข้างยืดหยุ่น  ส่วนมากแล้วจะเป็นการเรียกมาตักเตือนมากกว่ามุ่งสั่งปิด  ถึงแม้สมัยรัชกาลที่ ๗ จะมีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และหนังสือพิมพ์สยามรีวิวรายสัปดาห์ก็ตาม


                เบื้องหลังและเครือข่ายนักเขียน บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาสมัยรัชกาลที่ ๗

และบันทึกว่าด้วยการสืบสวนหนังสือพิมพ์สยามรีวิว

บันทึกว่าด้วยการสืบสวนหนังสือพิมพ์สยามรีวิว  ได้เปิดเผยให้เห็นการเชื่อมโยงเครือข่าย นักเขียน บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรีวิวว่า  เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับนักเขียน บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง  หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม และหนังสือพิมพ์ศรีกรุง
นอกจากเครือข่ายข้างต้นแล้ว  บางคนยังเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ หรือเคยต้องคดีจากผู้มีอำนาจทางการปกครองแจ้งความดำเนินคดี ดังหลักฐานต่อไปนี้
“นายพร้อมเป็นหลักของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ “สยามรีวิว”  แต่ให้นายชอ้อน อำพล (ทหารเรือ) กับนายสนิม เลาหะวิไล ออกหน้าว่าเป็นเจ้าของและเป็นบรรณาธิการ  สำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกแถวเลขที่ ๑๒๐  ร้านพร้อมภัณฑ์ริมถนนเจริญกรุง  ตำบลประตูสามยอด  ถัดร้านสรรพพานิชไป ๒ คูหา  หนังสือพิมพ์ที่กล่าวนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยหนุ่ม
นายพร้อมผู้นี้เป็นต้นคิดของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ในสมัยที่ นายเสม สุมานันท์เป็นบรรณาธิการ  และนายหอม  นิลรัตน์ ณ อยุธยา เป็นเจ้าของ ครั้นกาลต่อมา นายพร้อมได้ออกจากคณะหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง  แต่เพราะเหตุว่าคณะหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองยังนับถือนายพร้อมอยู่  นายพร้อมจึงกระทำการติดต่อกับคณะหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองอีกอยู่ได้ต่อมา
เมื่อหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองแยกไปตั้งอยู่ที่ตึกแถวริมถนนอุณากรรณ โดยโอนโรงพิมพ์และสำนักงานหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองให้เป็นของบริษัทไทยหนุ่มและเปลี่ยนนามเป็นไทยหนุ่มแล้ว  นายพร้อมก็ยังเข้าทำการติดต่อกับคณะหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มอีกคณะหนึ่ง  รวมทั้งคณะหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองด้วยเป็น ๒ คณะด้วยกัน
หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ตั้งขึ้นเป็นบริษัท  มีสำนักงานอยู่ริมถนนอุณากรรณ  นายอุทัย  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  มีหุ้นส่วนใหญ่เป็นเจ้าของ  นายบุญเติม  โกมลจันทร์  เป็นบรรณาธิการ  ซึ่งเคยต้องโทษฐานลงข่าวในหนังสือพิมพ์หมิ่นประมาทกล่าวหาเจ้าพระยายมราช และเจ้าพระยารามราฆพ
หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มตั้งขึ้นเป็นบริษัทมีสำนักงานและโรงพิมพ์ อยู่ริมถนนเจริญกรุงเหนือถนนอุณากรรณ์   นายหอม  นิลรัตน์ ณ อยุธยา  มีหุ้นส่วนใหญ่เป็นเจ้าของและผู้จัดการ  นายชอุ่ม  กมลยบุตร์เป็นบรรณาธิการ  ซึ่งนายชอุ่ม กมลยบุตร์ผู้นี้เคยถูกต้องหาว่าลงข่าวในหนังสือพิมพ์หมิ่นประมาท พระยาประชากรกิจวิจารณ์ครั้งหนึ่ง  เมื่อพระยาประชากรกิจวิจารณ์เป็นอธิบดีกรมนคราทร  ศาลได้พิพิพากษาให้รอการลงอาญาไว้  นายชอุ่ม  กมลยบุตร์  จึงให้นายเจริญ  วรรณสนิท ออกหน้าเป็นบรรณาธิการแทน
หนังสือพิมพ์ศรีกรุง  ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานมอญ  นายมานิต วสุวัต เป็นเจ้าของและผู้จัดการ  นายบุญเชิด กฤษณนิล (เดิมเป็นหลวงอาดุลฯ ต้องโทษจำคุกถานยักยอกพระราชทรัพย์มณฑลอยุธยาแล้วถูกถอด) เป็นบรรณาธิการ  นายบ๋วย เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ แต่ข่าวหรือความเห็นสำคัญๆนั้น  นายร้อยตรีวาด  สุนทรจามร (นอกราชการ)  เป็นผู้เขียนและใช้นามปากกาว่า “หมอโพล้ง”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์สยามรีวิว ฉบับลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐  ลงเรื่องเกี่ยวกับการเมืองนั้น  เมื่อสืบสวนได้ความว่า  นายพร้อมและนายชอ้อน อำพล  เป็นผู้ช่วยกันเขียน  แต่ถ้อยคำสำนวนนั้น  สันนิษฐานว่าเป็นถ้อยคำสำนวนของนายพร้อม
ประวัติของบุคคลบางคนที่ทำการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์
๑) นายพร้อม เจ้าของร้านพร้อมภัณฑ์และหนังสือพิมพ์สยามรีวิว เดิมเป็นชาวเมืองมณฑลปักษ์ใต้  นายสงวน โชติมา เจ้าของร้านเจริญเกศากิจนำนายพร้อมมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่เล็กๆ  ครั้นนายสงวนได้ภรรยาใหม่ไม่ปรองดองกับนายพร้อม นายพร้อมจึงออกจากบ้านนายสงวนไปประกอบอาชีวะโดยลำพัง  นอกจากนี้ นายพร้อมยังเคยเป็นทหารบกม้า  และปรากฏว่าเคยเป็นหัวหน้านำทหารม้าไปวิวาทตีกับตำรวจพาหุรัดก็ครั้งหนึ่งถึงกับต้องโทษ  เมื่อปลดเป็นกองหนุนแล้ว  ได้เคยเป็นต้นคิดออกหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองรายสัปดาห์  ต่อมาถูกนายพันเอกพระยากัลยาฯกล่าวหาว่าวิกลจริต และกักขังส่งไปยังกรมตำรวจ  แต่แพทย์ว่าไม่วิกลจริต  นายพร้อมจึงฟ้องพระกัลยาฯกับท่านอธิบดีกรมตำรวจหาว่าแกล้งกล่าวหาว่าตนเองวิกลจริตและหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้  ศาลจึงดำเนินการลงโทษนายพันเอกพระยากัลยาฯ และทางราชการกระทรวงกลาโหมได้ให้นายพันเอกพระยากัลยาฯ ออกจากราชการ  ส่วนท่านอธิบดีกรมตำรวจไม่มีความผิดเพราะกระทำไปโดยหน้าที่ราชการ
๒) นายเสม สุมานันท์  หลังจากปี ๒๔๖๗ นายเสม ลาออกจากหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง เข้ามาบริหารงานในหนังสือพิมพ์เกราะเหล็กรายสัปดาห์  ซึ่งเริ่มเปิดตัวใหม่มีความเร้าใจกว่าในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ นายเสม ใช้นามแฝงว่า “แก่นเพ็ชร  มีลักษณะเด่นคือ การนำเสนอบทวิจารณ์การเมืองในรูปของ “ลำตัดการเมือง” และใช้ชื่อคอลัมน์ว่า “ลำตัดแก่นเพชร”  ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากเพราะได้ขุดคุ้ยเรื่องทุจริตในวงราชการ เช่น การดำเนินงานของบริษัทกำจัดอุจจาระ เรื่องลอตเตอรีเสือป่า เป็นต้น  ”   ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์แรกๆนั้น บรรณาธิการยืนยันว่าเป้าหมายในการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก คือ การต่อสู้กับความเชื่ออุบาทว์ที่ว่า   สยามมีพลเมืองเป็นพระเจ้าเท่านั้น  คนครึ่งมนุษย์หรือของเสียของมนุษย์อันเป็นความเชื่อที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศถูกกดขี่ละเมิดและกดดันถูกเหยียบราวกับเป็นขั้นบันได คอถูกมองว่าเป็นอานม้า หลังถูกมองว่าเป็นที่นาเกษตรกรรม  เมื่อรัฐบาลกล่าวว่าไม่ใช่หน้าที่ของหนังสือพิมพ์ในการสอนเรื่องเสรีภาพ  ความเท่าเทียม  นายเสม จึงวิพากษ์วิจารณ์หนังสือพิมพ์ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกรมพระคลังข้างที่ เช่น กรุงเทพฯเดลิเมล์
๓) นายหอม  นิลรัตน์ ณ อยุธยา  บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม  เมื่อวัยประมาณ ๓๐ ปีย้ายจากนักแปลบทความฝ่ายต่างประเทศของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์มาดำเนินงานไทยหนุ่ม  การต่อสู้ของนายหอมเพื่อจะให้เมืองไทยมีรัฐสภาให้จงได้ เช่น นายหอมสั่งให้นายอ๊อด อำไพ นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่ประจำสำนักงาน “เขียนรูปเจ้าพระยายมราชมีศีรษะล้านเป็นนักมวยมีอิริยาบถกำลังหงายหลังผลึ่งลงไปบนพื้นเวทีมวยและเขียนรูปหอมเป็นนักมวยเหมือนกันกำลังต่อสู้พิชิตท่านเจ้าพระยายมราชอย่างอหังการ” นายหอมใช้ชื่อภาพล้อนี้ว่า  “มวยกรุง-มวยสุพรรณ”  เรื่องนี้เขาถูกศาลตัดสินให้จำคุก ๖ เดือน หอมออกจากคุกได้ไม่นานก็ไปซื้อ “บางกอกการเมือง” มาเพื่อต่อสู้ให้เมืองไทยมีประชาธิปไตยให้จงได้  จากนั้นก็ล้มลุกคลุกคลานไปออกหนังสือพิมพ์ “สยามหนุ่ม” ภายหลังการต่อสู้ได้ประชาธิปไตยแล้ว  นายหอมมีความเห็นว่าประชาธิปไตยที่ได้มาเป็น “คณาธิปไตย” ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างยุโรปและอเมริกา จึงเขียนบทความ “ชนวัวกับเขาวัว” เพื่อชี้ให้เห็นว่านักการเมืองไทยในยุคหลังปฏิวัติ ๒๔๗๕ มีจำนวนมากเป็นดอกเห็ดราว “ขนของวัว” แต่รัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียงเห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดินหายากราวกับ “เขาวัว”  จากบทความนี้ทำให้ถูกถอนใบอนุญาตในความเป็นเจ้าของและบรรณาธิการสยามหนุ่ม
๔) ร้อยตำรวจตรี วาด  สุนทรจามร  เป็นนายตำรวจภูธรประจำอยู่ทางมณฑลฝ่ายเหนือ  แล้วถูกออกจากราชการเพราะทำผิดถานลอบนำจำเลยซึ่งเป็นหญิงจากห้องขังไปกระทำการร่วมประเวณี  นายร้อยตรีวาด สุนทรจามร ผู้นี้เคยเป็นนักเขียนข่าวประจำของคณะหนังสือพิมพ์ปากกาไทย และเขียนข่าวในคณะหนังสือพิมพ์ศรีกรุง โดยใช้นามปากกาว่า “หมอโพล้ง”
๕) นายถวัติ  ฤทธิเดช  ออกหนังสือพิมพ์กรรมกร  และปากกาไทย (๒๔๖๘-๒๔๗๐) เป็นหนังสือแนววิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจการเมืองไทย
๖) นายเฉวียง เศวตะทัต  ออกหนังสือพิมพ์ธงไทย  และเคยเป็นบรรณาธิการของสยามรีวิวรายสัปดาห์อยู่ในระยะหนึ่ง นายเฉวียงเขียนลำตัดการเมือง ใช้ชื่อว่า “ลำตัดวงเฉวียง”
๗) นายอุทัย  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  เป็นบุตรพระยาภูวนัยสนิท เคยเป็นล่ามภาษาอังกฤษอยู่ในกระทรวงยุติธรรมและเคยต้องโทษเป็นกบฏ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปล่อยเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ (คราวเสวยราชย์)
๘) นายบ๋วย บุญยรัตนพันธ์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เคยเป็นนายร้อยตรีทหารบก  เป็นบุตรหลวงอาจหาญณรงค์  เคยเป็นอดีตนักโทษกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เช่นเดียวกับนายอุทัย  แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยในคราวเดียวกัน
๙) บุญเติม โกมลจันทร์  (บุญเติมซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "โกศล") บุญเติม หรือโกศล มีชื่อเสียงเป็นนักแปลและนักเขียนกลอนลำตัดในรุ่นนั้นใช้นามแฝงว่า  “เสือเตี้ย”และเป็นผู้เริ่มใช้นามปากกา ที่มีคำว่า "ศรี"นำหน้าเป็นนักเขียนรุ่นพี่ของศรีบูรพา หรือนายกุหลาบ สายประดิษฐ์


บทที่ ๓

ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕:
      กรณีศึกษาจากหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง

     แมททิว คอปแลนด์ (Mathew Copeland)  ซึ่งนำผลงานของศิลปินภาพล้อและการ์ตูนการเมืองเพื่ออธิบายถึงมีวัตถุประสงค์และเจตนารมย์ที่ปรากฏในหลักฐานดังกล่าว เขาระบุถึงการ์ตูนการเมืองในสยามว่า “โลกของเรากำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้กับยุคแห่งความเสมอภาค จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาพล้อเลียนจะแสดงออกถึงความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นและทำให้ดูแผ่วเบาลง ขณะที่ในความเป็นจริงพวกคนร่ำรวยมีตำแหน่งและอำนาจมีเสรีภาพในการแสดงออกตามอำเภอใจ  โดยพวกเขาเข้าใจว่าพฤติกรรมของตนอาจทำให้ความเจริญของมาตุภูมิและพัฒนาการของพลเมืองที่เพิ่งตื่นตัวกับเสรีภาพหยุดชะงัก พลเมืองที่เพิ่งจะรู้รสของความเป็นไทยซึ่งต่อต้านความเป็นทาสด้วยใจสมัคร เมื่อมูลนายเห็นภาพล้อของตนจะรู้สึกเช่นเดียวกับผู้อื่น เขาอาจพูดกับตนเองว่าตอนนี้เขามั่นใจแล้วว่าคนอื่นคิดว่าพฤติกรรมของเขาแปลกและไม่สร้างสรรค์หลังจากนั้นเขาอาจจะลดความเย่อหยิ่งให้น้อยลงอันเป็นผลจากการนำเสนอภาพล้อและการ์ตูนการเมือง”
๑) การเข้ามาของการ์ตูนการเมืองในสยาม
ประโยคข้างต้นเป็นการอธิบายความหมายอีกด้านหนึ่ง  ในปีหลังๆของการเสียดสีด้วยภาพการ์ตูนสมัยรัชกาลที่๖ หลังพ.ศ.๒๔๖๕ หนังสือพิมพ์ใช้การ์ตูนและภาพล้อการเมืองมากขึ้น   ทั้งในฐานะภาพประกอบความคิดเห็นและการวิจารณ์ในบทบรรณาธิการ  พัฒนาการของการ์ตูนและภาพล้อทางการเมืองมีลักษณะใกล้เคียงกับการเขียนภาพลายเส้นในงานโฆษณา  ระหว่าง ๑๐ ปีแรกๆของศตวรรษที่๑๙ เครื่องหมายการค้าและลายเส้นแผนผัง  เคยเป็นสิ่งบ่งชี้อัตลักษณ์ของผู้ผลิตและสินค้า  จากนั้นก็ค่อยๆถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์สะดุดตา สุภาษิต คำคม และสำนวน (puns) “ภาษาภาพ” คำคมทางการเมืองรายวันมักจะถูกนำมาใช้แบบบิดเบือน ดังตัวอย่างของการโฆษณายาตำราหลวงชิ้นหนึ่งซึ่งทำเป็นรูปประเทศไทยกำลังยิ้ม  โดยมีร่างกายเป็นตัวแทนของประเทศซึ่งต้องการความเข้มแข็งและการปกป้องให้พ้นจากศัตรู

ภาพ ๓.๑จากหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง พ.ศ. ๒๔๖๖
 มีข้อความเหนือภาพเชิญชวนให้ซื้อยาเซ็นจูรีควินินไวน์ ว่า“พวกเราจงป้องกันโรคภัยด้วยรั้วเซนจูรีควินินไวน์” คล้ายกับการโฆษณาสินค้าฟุ่มเฟือยต่างประเทศซึ่งเน้นความศิวิไลซ์ และความรุ่งเรือง โดยมักนำเสนอผ่านภาพที่เกินจริง

ภาพที่ ๓.๒ จากหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง พ.ศ. ๒๔๖๗
นอกจากนี้การใช้ภาพลายเส้น ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าพื้นเมือง  ซึ่งไม่เพียงจะแทรกความคิดรักชาติลงในสินค้าประเภท หมวก  ชา และอื่นๆ  แต่ยังยอมให้มีโฆษณาในรูปแบบของถ้อยแถลงทางการเมือง ดังนี้

ภาพที่ ๓.๓ ภาพถังเงินทรงกระบอกซึ่งเปรียบเสมือนฐานะเศรษฐกิจของสยาม
ที่มา : โฆษณาใน นสพ.บางกอกการเมือง พ.ศ. ๒๔๖๖
จากภาพข้างต้นมีภาพชายไทยนุ่งผ้าหยักรั้งกำลังขมีขมันอุดรูรั่วของเงินจำนวนมากจากถังซึ่งหมายถึง การจ่ายเงินซื้อสินค้าต่างประเทศ สองข้างของถังเงินทั้งซ้ายและขวามีภาพของฝูงชนกำลังมุ่งเข้ามาช่วยอุดรูรั่วด้านบนของภาพเขียนว่า  “วันละ ๓,๐๐๐ บาทค่าใบชาในประเทศสยาม”  ส่วนบนฝาถังเขียนว่า “ค่างบประมาณซื้อจ่ายของต่างประเทศ”  ที่ตัวถังด้านบนสุดเขียนว่า “ประเทศสยาม”  ถัดลงมาบรรยายว่า “ขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันพยายามอุดรูรั่วของจำนวนมาก  เพราะในปีหนึ่งเราเสียเงินค่าใบชาเป็นจำนวนมาก หักใจซื้อใบชาสยามตราช้างเผือกรับก็เท่ากับปิดรู”  ห้างเอบีซี เป็นเอเยนต์ทำโรงยาเก่า ริมกรมทดน้ำ กรุงเทพฯ ด้านล่างตีพิมพ์ข้อความว่า  “ท่านที่ประสงค์จะเป็นร้านสาขาทั้งในกรุงแลต่างจังหวัด เชิญตกลงกับผู้จัดการโดยวาจาหรือจดหมาย (กระป๋องชาเปล่าคืนได้ ๔ สตางค์  ตามร้านขายชาสยามทุกร้าน)
นอกจากการเติบโตของโฆษณาด้วยภาพลายเส้นในสยามแล้ว  ยังมีการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการเสนอบทบรรณาธิการด้วย  ภาพล้อถูกมองว่าเป็นศิลปะต่างประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากการแสดงความไม่เคารพต่อความสำเร็จทางสังคม  ขณะที่การ์ตูนล้อการเมืองส่งผลกระทบต่อผู้พิมพ์และผู้โฆษณา ของยุคนี้ในฐานะที่เป็น “อันตรายสายตรง” ในการแสดงความคิดเห็น    ด้วยเหตุนี้ นอกจากการชิมลางเล็กๆน้อยๆในช่วงแรกหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จึงยังไม่ตีพิมพ์บทความบางเรื่องแบบทันเหตุการณ์
๒) ภาพการ์ตูนที่ตีพิมพ์ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง
ภาพการ์ตูนในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองเป็นภาพลายเส้นที่เกิดขึ้นมาในคราวเดียวกัน  ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖  เมื่อพระยายมราช เสนาบดีมหาดไทย และพระยาเพชรปาณี ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการ  ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการประท้วงของคนงานรถราง  หนังสือพิมพ์สยามราษฎรได้ใช้ภาพล้อเลียนเสียดสีบุคคลทั้งสอง

ภาพที่ ๓.๔ ภาพพระยาเพชรปาณีนั่งที่โต๊ะกินอาหารเย็นซึ่งประกอบด้วย “ไก่ทอดระเบียบการปกครอง” “บิ๊ฟสเต๊กโจรผู้ร้าย“ และ”หมูย่างอั้งยี่” ที่มา :นสพ.สยามราษฎร์ พ.ศ.๒๔๖๖
กล่าวหาว่า  พระยาเพชรปาณีร่วมมือกับพระยายมราชอย่างลับๆ  และผู้รับเหมาก่อสร้างกับผู้นำแรงงานจีนในการฉ้อฉลต่อรัฐบาล
ในอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือมีภาพผู้จัดการต่างชาติของบริษัทสยามอิเล็กทริก แสดงความพึงพอใจขณะที่ พระยาเพชรปาณีและพระยายมราชบังคับคนงานด้วยกฎระเบียบของบริษัทเครื่องรีดผ้าของบริษัทต่างชาติขณะที่ตาสองข้างของคนงานปิดเพราะความเจ็บปวด

ภาพที่ ๓.๕  ข้อบังคับของกรรมกร ที่มา: นสพ. สยามราษฎร พ.ศ. ๒๔๖๖
งานวิจัยของ แมททิว คอปแลนด์อธิบายว่า  นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง  เริ่มใช้ภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมืองแสดงการเสียดสีผู้มีอำนาจในยุคนี้  หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นที่รู้จักกันดีในกรุงเทพฯ  ในเล่มมีหลายหน้าประกอบด้วยภาพโฆษณาสินค้า  และภาพชีวิตผู้คนในสังคม  และหลังยุคกลางปีพ.ศ. ๒๔๖๖ หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองก็เริ่มมีภาพล้อและการ์ตูนการเมืองจากภาพลายเส้นจำนวนมากเขียนโดยบรรณาธิการชื่อ นายเสม สุมานันท์   โดยขณะนั้นหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองก็ได้ตีพิมพ์ภาพลายเส้นของนักเขียนอิสระด้วย และยังมีการจัดประกวดการ์ตูนเป็นระยะๆด้วย ในต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ตัวอย่างภาพการ์ตูนของนักเรียนมัธยมปลายที่ได้รับรางวัลเป็นภาพวิจารณ์คนงานชั้นต่ำ เสนอภาพลูกเสือยืนมองข้าราชการ ๓ คน ที่กำลังเลียรองเท้าให้แก่บรรดาภรรยาของเจ้านายตนอย่างน่าสังเวช พลางชี้ให้ผู้อ่าน? หรือคนไทย? มองไปยังบุคคลดังกล่าวแล้วอุทานว่า “เพื่อนเอ๋ย !”

ภาพ ๓.๖ ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง  ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖
การ์ตูนของหนังสือพิมพ์ถูกตีพิมพ์คู่กับบทบรรณาธิการ  ภาพการ์ตูนถูกใช้สนับสนุนบทความ  โดยนักเขียนภาพล้อได้ใช้ความสามารถในการนำเสนอความหมายผ่านภาพประกอบคำคมหรือภาษิตง่ายๆ  การ์ตูนแต่ละภาพมีความล้ำยุค เข้าใจง่ายและแหลมคมกว่าบทความที่เป็นเป้าหมายหลักของการวิพากษ์วิจารณ์การ์ตูนการเมืองของนายเสม สุมานันท์  ประกอบบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ระบุให้เห็นความสำคัญของแนวคิดในการพัฒนาด้านการเมืองและเศรษฐกิจสยามตามแบบอย่างของประเทศญี่ปุ่น  เช่น  การเสนอให้เปิดให้มีการตรวจสอบในเรื่องเกี่ยวกับความอยู่รอดของชาติ  ในระยะแรกๆ นายเสม สุมานันท์เขียนภาพแร้ง (คอปแลนด์ว่าเป็นนกอินทรีย์) กำลังคาบธงญี่ปุ่นมุ่งไปยังช้างที่กำลังจะตาย  ช้างเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์และประเทศไทย และอีก ๒-๓ สัปดาห์ต่อมา  เขาได้ตีพิมพ์รูปดังกล่าวอีกครั้ง  โดยปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภาพเล็กน้อย กล่าวคือ โดยเปลี่ยนเป็นภาพนกอินทรีย์บินลงมาเกาะบนหลังช้าง ขณะที่สภาพของช้างมีลักษณะผอมและเหยียดเกร็งออกไปมากขึ้นกว่าเดิมแบบเริ่มจะเน่าด้านล่างมีอักษรเขียนว่า“จงตื่นเถิดพวกเรา”

ภาพที่ ๓.๗ ความฝันของ “แก่นเพ็ชร”
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

ภาพที่ ๓.๘ “จงตื่นเถิดพวกเรา”
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖
นอกจากนี้ นักวาดการ์ตูนล้อการเมือง มักจะสามารถปลุกเร้าความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนต่อการแสดงความคิดเห็นในบทบรรณาธิการ โดยนำเสนอความคิดแบบนามธรรมในนิยามของมนุษยธรรม การ์ตูนการเมืองของนายเสม สุมานันท์  อีกชิ้นหนึ่งในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ชื่อ “ความรักชาติ” เขียนเป็นภาพหญิงสาว ถือธงชาตินำหน้าชาวนา ช่างฝีมือ  และเด็กชาย  แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองจะมั่งคั่งได้ด้วยหลัก ๔ ประการ คือ ความรักชาติ บำรุงเกษตรกรรม บำรุงหัตถกรรม และพาณิชยกรรมของไทย


ภาพที่ ๓.๙ “บ้านเมืองจะมั่งคั่งได้ย่อมอาศัยเหตุ ๔ ประการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖
ในทำนองเดียวกันในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองยังสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจของอาณาจักร ๓ ประการ  กำลังตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมด้วยภาพชาวนานั่งยองๆถือเคียวนิ่งงันอยู่กลางทุ่งมีพ่อค้านั่งเหยียดเท้าเอามือเช็ดน้ำตา  ส่วนช่างฝีมือก็นั่งชันเข่าหน้าแห้ง และไกลออกไปมีชาวนาเดินคอตกแบกไถแบบหมดอาลัยตายอยาก พร้อมกับมีคำบรรยายเรียกร้องว่า  “เหลียวดูพวกนี้บ้างซิพ่อเอย”

ภาพที่ ๓.๑๐ “เหลียวดูพวกนี้บ้างซิพ่อเอ๊ย”
ที่มา: นสพ. บางกอกการเมือง วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
งานวิจัยของแมททิว คอปแลนด์ยังกล่าวถึงภาพอื่นๆในยุคนั้น  เช่น ภาพ“ต้นเหตุของการโจรกรรม”  ถูกเขียนขึ้นเพราะสยามกำลังประสบปัญหาเรื่องอาชญากรรมมาก  ภาพดังกล่าวนำเสนอเป็นภาพล้อเลียน ด้านบนของภาพเขียนว่า “ต้นเหตุของการโจรกรรม”มีภาพชาย ๓ คนเป็นภาพด้านหน้า (fore ground) ชายคนแรก “ตัดผมรองทรงเรียบร้อย สวมรองเท้าหนัง นุ่งผ้าลาย สวมเสื้อราชประแตนแบบข้าราชการระดับกลาง นั่งคุกเข่าหย่งตัว มือเท้ากับพื้น อ้าปากมีน้ำลายไหลย้อยลงมาเป็นทาง สภาพเหมือนคนเมาก่อนจะอาเจียนพร้อมกับพูดว่า “ฉันอยากเป็นเจ้าคุณแต่เก้าอี้ไม่มี”ชายคนที่สองอยู่ตรงกลางหวีผมเป๋ เข่าซ้ายคู้ เข่าขวาทำท่าจะลุกขึ้นนั้น ไม่สวมรองเท้า นุ่งผ้าลายสวมเสื้อราชประแตนเหมือนกัน ใบหน้าซูบซีด ปากคว่ำ คิ้วและนัยน์ตาตก ถือวัตถุบางอย่างอยู่ในมือ  บ่นว่า “จะทำหัตถกรรมหรือพานิช ก็ไม่มีทุนและไม่มีใครนิยมสู้คนต่างชาติไม่ได้” ชายคนที่สาม นุ่งกางเกงหยักรั้งขาสั้นไม่สวมเสื้อ ตัดผมสั้นแบบลวกๆ มือซ้ายถือสว่าน รักแร้ข้างเดียวกันหนีบวัตถุคล้ายขวดเหล้า เดินตุปัดตุเป๋มาติดๆกับหลังของชายคนที่สอง พลางบ่นว่า “ความโง่เซ่อด้วยความหิวกระหายไม่มีจะกิน”  ภาพด้านหลัง (back ground) เป็นภาพตำรวจกำลังยืนคุมเชิงคล้ายกับพร้อมที่จะจับกุมชายทั้งสามคนในทันทีทันใดด้วยสารพัดข้อหา “ปล้น ขโมย ย่องเบา แย่งชิง วิ่งราว ทำการทุจริตต่างๆ” ด้านล่างสุดศิลปินได้ตั้งคำถามลอยๆว่า “จะทำอย่างไรดีเอ่ย?”

ภาพที่ ๓.๑๑ “ต้นเหตุของการโจรกรรม”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
นอกจากการเขียนการ์ตูนจะทำให้มีการถกเถียงตอกย้ำในนิยาย  และกิริยาแบบตลกๆ  การเขียนการ์ตูนยังเป็นเครื่องมือในการยกประเด็นให้เกิดการถกเถียงแก่สาธารณชนด้วย การใช้การ์ตูนเป็นเครื่องมือวิจารณ์รัฐบาลที่มีงบประมาณเพียงเล็กน้อยในการพัฒนาด้านการศึกษา อาทิ บางกอกการเมืองมักใช้ภาพประชดประชันเสียดสีโดยตีพิมพ์การ์ตูนในภาพวิจารณ์การเมือง
เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองล้อเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการโดยเปรียบเทียบเสนาบดีเป็นนายพรานคนกล้าที่กำลังนั่งเล็งปืนไปที่นกงบประมาณเพิ่มเติมบนต้นไม้ข้างหน้าภาพดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับคำบรรยายที่ระบุว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเคยทำงานผิดพลาดมาก่อนในอดีตและยังจะทำผิดอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าในปัจจุบัน   ยิ่งไปกว่านั้นในภาพลายเส้นที่ตีพิมพ์เผยแพร่ต่อเนื่องมาอีกฉบับหนึ่งได้วาดเป็นภาพท่านเสนาบดีกระทรวงธรรมการกำลังเล่นว่าวที่มีสายป่านสั้นอยู่ด้านหน้าของกลุ่มนักเรียนที่กำลังมองมาด้วยท่าทางขบขัน ภายในภาพเขียนเป็นรูปเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กำลังวาดวัดสายป่านเลี้ยงว่าวด้วยความหนักใจว่า ว่าวจุฬากระทรวงศึกษาธิการจะขึ้นสูงสู้กับว่าวปักเป้าของผู้อื่นได้หรือไม่  พร้อมกับมีคำรำพึงรำพันว่า “สายป่านของเราสั้นจะขึ้นถึงเขาอย่างไร”

ภาพที่ ๓.๑๒ ภาพล้อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖

ภาพที่ ๓.๑๓ “สายป่านของเราสั้นจะขึ้นถึงเขาอย่างไร”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖
ภาพ”ความฝันของแก่นเพ็ชร” เป็นการแสดงความเห็นลึกซึ้งที่มีต่อความพยายามของรัฐบาลในการใช้เงินสนับสนุนการศึกษาท้องถิ่นด้วยภาษีท้องถิ่นชนิดใหม่ โดยในภาพมีรูปของชายคนหนึ่งคล้าย “แก่นเพ็ชร” ใส่เสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้น สวมรองเท้าหนังใส่ถุงเท้าปีนขึ้นไปนั่งหลังอิงคาคบไม้  พร้อมกับสีซอด้วงร้องเพลงเคล้าเสียงซอ ซึ่งมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “โอ้ว่าอนิจจาศึกษาพลี” ที่โคนต้นไม้มีสุนัขหูตูบ รูปร่างคล้ายพันธุ์ดัลเมเชียนถูกล่ามไว้  ถัดออกไปเป็นภาพควายตัวหนึ่งยืนกางขา ๔ ขากำลังระวังสุนัข  ควายอีกตัวหนึ่งยืนเหม่อมองออกไปกลางทุ่ง  ข้างๆกันมีสากไม้ตั้งคาอยู่ในครกตำข้าวอันเป็นสัญลักษณ์ต้องห้ามตามความเชื่อของวัฒนธรรมไทย  สอดคล้องกับคำพังเพยโบราณที่ว่า “ (อย่า) สีซอให้ความฟัง” ไม่มีประโยชน์เพราะควายมันไม่ฟัง  ภาพนี้แมททิว คอปแลนด์ อธิบายผิดพลาดว่า ผู้ที่กำลังสีซอเคล้าเสียงเพลงแหล่พื้นบ้านคือชาวนา   แต่มีข้อสังเกตว่าไม่น่าเป็นชาวนาเพราะการสวมรองเท้าหนังหุ้มส้น
ภาพที่ ๓.๑๔ “ความฝันของแก่นเพ็ชร” : โอ้ว่าอนิจจาศึกษาพลี
ที่มา: นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๗
ภาพการ์ตูนลายเส้นได้เพิ่มระดับการวิพากษ์วิจารณ์ขุนนางสยามมากขึ้นในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง   อาทิ  เดือนหลังๆของปี๒๔๖๖ หนังสือพิมพ์ได้ตีพิมพ์ภาพล้อการขาดจริยธรรมทางจิตใจและพฤติกรรมของชนชั้นสูงอย่างสม่ำเสมอ   ภาพการ์ตูนชิ้นหนึ่งประชดประชันสำนวนไทยในคำว่า “ผู้ใหญ่”  โดยเขียนภาพผู้ใหญ่เป็นรูปคล้ายยักษ์หนุ่มรูปงามถือถุงเงินของบรรพบุรุษมือหนึ่ง  มืออีกข้างหนึ่งถือร่างของโสเภณีขนาดเล็กเอาไว้ ภาพดังกล่าวมีคำบรรยายอัตลักษณ์ของชายผู้นี้ว่าทุ่มเทให้กับกีฬา ๒๕% บูชาการพนัน ๕๐% ดูถูกคนไทย ๕๐% จองหอง ๒๕% ขวดเหล้าทุกชนิด ๑๐๐% พลังทรัพย์บรรพบุรุษ ๑๐๐% คบหญิงสัญจร (โสเภณี) ๑๐๐% และศิริ(เกียรติยศศักดิ์ศรีและความดีงาม) ๕๐๐% ยิ่งกว่านั้น นิสัยการต่อต้านชาตินิยมในพฤติกรรมของเขายังตอกย้ำอยู่บนหน้าอกซึ่งมีตัวหนังสือระบุว่า “หัวนอกจ๋า” อันหมายถึงคนที่มีรสนิยมแบบตะวันตกเพราะเคยไปเรียนต่างประเทศ

ภาพที่ ๓.๑๕“หัวนอกจ๋า”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖
การ์ตูนบางชิ้นในยุคนี้มุ่งวิจารณ์เรื่องการสร้างความคิดแบบชาตินิยมของรัชกาลที่๖คำว่า “ผู้ใหญ่” ถูกใช้แทนเรื่องของการรักชาติแบบผิดๆ ดังเห็นได้จากภาพ “ฉันรักชาติ”

ภาพที่ ๓.๑๖“ฉันรักชาติ”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมืองวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖
เป็นรูปของข้าราชการที่กำลังตาถลนสะกดจิตตัวเองว่า“ฉันรักชาติ” รวม ๔ แห่งในเครื่องหมายข้อความ ขณะที่อวัยวะภายในของตนกำลังยุ่งเกี่ยวกับเงินสกปรก อันได้จากการเกื้อกูลสินค้าต่างชาติ  การข่มเหงราษฎร  การดูหมิ่นชาติ  การยักยอกเงินแผ่นดิน การทุจริตในหน้าที่ การกินสินบน การค้าฝิ่นเถื่อน  และการทุจริต
ภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่งตีพิมพ์ในเดือนธันวาคมเขียนเป็นภาพลายเส้นของขุนนางมีหนวดรูปร่างอ้วนส่องกระจกมองเห็นภาพตัวเองมีศีรษะเป็นสุนัขภาพดังกล่าวเป็นภาพเสียดสีชนชั้นปกครองในหนังสือพิมพ์  โดยกระจกเงาได้สะท้อนภาพของชนชั้นขุนนางเป็นภาพคนครึ่งสุนัข

ภาพที่ ๓.๑๗ “ขุนนางหน้าสุนัข”
ที่มา: นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นชัดเจนกว่าเรื่องการโจมตีชนชั้นขุนนาง คือการวิจารณ์ราชบัลลังก์ของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองในเดือนตุลาคม โดยภาพการ์ตูนล้อได้เปรียบเทียบรัฐบาลสมัยรัชกาลที่ ๖เป็นตาชั่ง มีเงินคลังอยู่ด้านหนึ่งอีกด้านหนึ่งเป็นชายหนุ่มอายุน้อยสวมหมวก ระบุถึงการที่พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของชายหนุ่มมากกว่าเงินในกองคลัง การ์ตูนแบบนี้ส่วนใหญ่จะถูกสั่งห้าม อย่างไรก็ตาม บางครั้งศิลปินก็วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์แบบตรงๆเหมือนกัน เช่น ในการ์ตูนชื่อ “ธรรมะย่อมนำไปสู่สุขคติ”  นายเสม สุมานันท์ วิจารณ์พระปรีชาสามารถด้านภาวะความเป็นผู้นำของรัชกาลที่ ๖ โดยแทนคำว่า ”จริยธรรม” ด้วยภาพคนลากรถตัวผอมบางที่กำลังลากราชรถซึ่งมีกษัตริย์พระวรกายอ้วนท้วนประทับนั่งกอดพระอุระอย่างสำราญพระราชหฤทัยอยู่ข้างบน  มุ่งหน้าขึ้นไปบนทางลาดชัน และขรุขระ


ภาพที่ ๓.๑๘ “เห็นความสำคัญของชายหนุ่มมากกว่าเงินคลัง”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

ภาพที่ ๓.๑๙  “ธรรมย่อมนำไปสู่สุขคติ”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
หนังสือพิมพ์ซึ่งเสนอภาพการ์ตูนหมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหาว่าลบหลู่พระบรมเดชานุภาพในช่วงนั้นมีเป็นจำนวนมาก  น่าสนใจว่าทำไมรัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายจัดการดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแบบโจ่งแจ้งเช่นนี้  วิธีการวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์อาจทำให้บรรณาธิการติดคุกได้  อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ นายเสม สุมานันท์ได้เขียนบทความเสียดสีการทุจริตในกรมตำรวจ  ซึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตแบบขำๆว่า  นายตำรวจสัญญาบัตรที่รับราชการในย่านคนจีนมักจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ดังนั้นตำรวจในย่านเหล่านี้ควรจะออกกำลังกายมากๆด้วยการจับกุมนักเล่นการพนัน  บางคนอาจมองพวกเขาว่าอาจจะโกรธกับงานพิเศษ แต่น่าประหลาดใจที่ว่าพวกเขากลับมีความสุขราวกับถูกรางวัลแจ๊คพอตจากสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเงินถึง  ๑๐๐,๐๐๐ บาท ไม่เพียงแต่พวกเขาจะพอใจที่ได้จับนักเล่นพนัน  แต่พวกเขายังคิดว่าการออกกำลังกายดังกล่าวนี้ จะช่วยให้พวกเขามีหัวใจที่แข็งแรง  “หากไม่มีคนจีน  บรรดาตำรวจของเราอาจไม่มีคุณค่าอะไร”
ความหมายที่บ่งบอกเอาไว้ชัดเจนจากการ์ตูนดังกล่าว คือ ตำรวจได้รับค่าตอบแทนจากบ่อนการพนันของชาวจีนอย่างสม่ำเสมอ  ข้อกล่าวหานี้ทั่วไปเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง  อย่างไรก็ตาม  แทนที่จะตรวจสอบข้อกล่าวหาของนายเสม พระยาอธิกรณ์ประกาศผู้บัญชาการตำรวจกลับฟ้องหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองแทน  หลังจากคดีฟ้องร้องดังกล่าว  มีบทความชื่อ “คดีของตำรวจอ้วน” ตามมา  ซึ่งเป็นเหตุให้นายเสมถูกจำคุกในต้นเดือนสิงหาคม (นายเสม เขียนไว้ในบางกอกการเมืองฉบับวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๖๖ ระบุว่ามี ๕อำเภอในกรุงเทพฯ ทำให้”ตำรวจอ้วนในแต่ละปี”)
ระหว่างการดำเนินคดี  รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงต่อการล้มเหลวในการตรวจสอบความจริงตามที่ เสมกล่าวหาและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการ์ตูนล้อของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง  ยกตัวอย่างจากการ์ตูนชิ้นหนึ่งสะท้อนให้เห็นภาพว่าผู้ปกครองอาณาจักรชื่นชมบทวิพากษ์วิจารณ์ที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมากกว่าหนังสือพิมพ์ไทย โดยเชื่อว่า “หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษถูกต้อง”  แต่ ”หนังสือพิมพ์ภาษาไทยผิดพลาดไม่ถูกต้อง”


ภาพที่ ๓.๒๐ “หนังสือพิมพ์คนไทย และหนังสือพิมพ์คนต่างประเทศ”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

ภาพที่ ๓.๒๑“ หลักถานของหนังสือพิมพ์เมืองไทย ดุจลูกข่างหมุนบนหัวไม้”
ที่มา: บางกอกการเมือง, วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๖๖
การ์ตูนอีกชิ้นหนึ่งผู้เขียนการ์ตูนเปรียบเทียบให้เห็นว่า  หนังสือพิมพ์ในสยามกำลังเลี้ยงตัวเองให้สมดุลอยู่บนลูกข่างที่กำลังหมุนอยู่บนปลายไม้มีอักษรใต้ภาพเขียนว่า “หลักถานของหนังสือพิมพ์เมืองไทย ดุจลูกข่างหมุนบนหัวไม้”
ภาพการ์ตูนชิ้นที่สามในการวาดของนายเสม ก่อนที่จะถูกตัดสินจำคุก ๑ สัปดาห์ “การค้นหาความยุติธรรม”  เขียนเป็นภาพคนยืนมองหาอะไรบางอย่างอยู่บนเรือลำน้อยลอยตะแคง ห่างจากฝั่งทะเลไม่มีพื้นดิน และข้างเรือเขียนว่า “ความยุติธรรม”

ภาพที่ ๓.๒๒“ความยุติธรรม”
ที่มา ; นสพ.: บางกอกการเมือง วันที่  ๓๑กรกฎาคม  ๒๔๖๖
นอกจากนี้คดีของนายเสมยังถูกนำมาใช้เป็นเรื่องขบขัน โดยวาดเป็นภาพของนายเสม ถูกเสือพนันตะปบทีละฉากๆ จนผ้าผ่อนหลุดลุ่ยทั้งตัว


ภาพที่ ๓.๒๓ “ถูกเสือพนันตะปบจนหมดตัว”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง วันที่  ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗
อย่างไรก็ตามจาก ความขมขื่น  ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายเสมส่งภาพการ์ตูนออกมาจากคุกและถูกตีพิมพ์ในเดือนกันยายน เขาไม่เพียงจะขีดเส้นใต้ว่า การพนันเป็นชาตานที่จะต้องถูกยกเลิก เขายังเขียนการ์ตูนชื่อว่า “ท่านจะนิ่งดูดายให้ปีศาจการพนันมันฉุดเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไปสู่อบายมุขเจียวหรือ???

ภาพที่ ๓.๒๔“ปีศาจพนัน”
ที่มา : นสพ. บางกอกการเมือง วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖
เพื่อชี้ช่องให้ผู้บัญชาการตำรวจทำงานให้ถูกต้องยิ่งกว่านั้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๖ นายเสมได้เขียนการ์ตูนอีกชื่อหนึ่งว่า”วิถีของการปราบผู้ร้ายต่างๆ”  ในภาพมีนายตำรวจผู้หนึ่งกำลังทุบตีชายที่นอนหมดสติอยู่เบื้องหน้าของเด็กที่กำลังตกใจ


ภาพที่ ๓.๒๕“วิถีของการปราบผู้ร้าย”
ที่มา :นสพ.บางกอกการเมือง วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖
ส่วนภาพล้ออื่นๆของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองหลังจากเสมได้ถูกปล่อยออกมาได้ไม่กี่เดือน นายเสมได้วาดภาพความฝันของแก่นเพ็ชร โดยตัวแก่นเพ็ชรเป็นผู้ฝึกสัตว์กำลังเคี่ยวเข็ญฝึกสอนควายเปลี่ยว

ภาพที่ ๓.๒๖“ความฝันของแก่นเพ็ชร”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง ๒๖กรกฎาคม ๒๔๖๗
ควายเป็นสัญลักษณ์ของความโง่เขลาในสยาม บนลำตัวควายมีตัวอักษรระบุว่า “กฎหมายเอกสารหนังสือพิมพ์” ในขณะที่เขาควายมีคำบรรยายว่า กรมตำรวจและอีกด้านหนึ่งเขียนว่า พระยาเพชรปาณี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมนครบาล
ปีพ.ศ. ๒๔๖๗ นายเสม สุมานันท์ ลาออกจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง  เข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของหนังสือพิมพ์เกราะเหล็กรายสัปดาห์ ซึ่งเปิดตัวใหม่และเร้าใจมากกว่าเดิม ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๖  ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์แรก  บรรณาธิการยืนยันว่า  เป้าหมายในการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก คือ  การต่อสู้กับความเอื้ออุบาทว์ที่ว่า “ความเป็นพลเมืองคือคนในกลุ่มเจ้านายเท่านั้น”  แต่คนส่วนใหญ่ในสยามเป็นคนครึ่งมนุษย์หรือของเสียมนุษย์  อันเป็นความเชื่อที่ทำให้ราษฎรในประเทศถูกกดขี่ ถูกละเมิด และถูกเหยียบราวกับเป็นขั้นบันได  คอถูกมองว่าเป็นอานม้า  หลังถูกมองว่าเป็นที่นาเกษตรกรรม  หลังจากตระหนักว่าไม่ใช่หน้าที่ของหนังสือพิมพ์ในการสอนเสรีภาพ  ความเท่าเทียม  นายเสมจึงวิพากษ์หนังสือพิมพ์ที่ใช้เงินของพระคลังข้างที่  ได้แก่ “เดลิเมล์” (หุ่นกระบอกที่เล่นบทเลวในละครน้ำเน่า)และ “ลอร์ดพิมพ์ไทย” แปลกที่สุดทีน่าภูมิใจแม้แต่ความจริงที่พบว่าตนเองกำลังอยู่บนเรือของพระเจ้า เป็นหนังสือพิมพ์ที่ผูกลิงไว้ที่หางเสือ  หนังสือพิมพ์พวกนี้ล้มเหลวในการให้ชาวบ้านซื้อไปอ่านหรือทำตามกระแสความคิดเห็นของตน  จากทั้ง๒ เป้าหมาย เกราะเหล็กสัญญาว่าจะกระทำต่างออกไป บรรณาธิการตั้งข้อสังเกตแบบแดกดันไว้ว่า  พวกเขาเหล่านั้นจะพยายามตอบแทนอย่างซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวเป็นที่เด่นชัดว่าการ์ตูนเสียดสีเป็นนโยบายนำเสนอหลักของบทบรรณาธิการในหนังสือเกราะเหล็ก  หนังสือพิมพ์ฉบับแรกมีบทความสั้นๆ เกี่ยวกับการ์ตูนการเมืองซึ่งยืนยันให้เห็นว่า  “ปัญญาชนจากทั่วโลก”  ต่างยอมรับว่าการ์ตูนมีพลังมากกว่าคำพูดที่เป็นลายลักษณ์อักษร “การเหลือบไปดูการ์ตูนเพียงแว่บเดียว”ก็เพียงพอต่อความรู้สึกขบขัน  และการ์ตูนยังกระทบต่อความรู้สึกของผู้อ่านมากกว่าการอ่านบทความของนักเขียนที่ดีที่สุด นอกจากนี้ปกของหนังสือพิมพ์เกราะเหล็กยังมีภาพล้อแบบเจ็บๆของพระยาอธิกรณ์ประกาศซึ่ง นายเสมบรรยายภาพผู้บัญชาการตำรวจคนนี้เป็นนักเรียนชายหนีเรียนกำลังเล่นเกมส์เตะบอลซึ่งมีข้อความเขียนไว้ว่า “ซองธนบัตรปลอม” ขณะที่กำลังหาบตระกร้าที่เต็มไปด้วย “นางสาวกำมะลอ”

          ภาพที่ ๓.๒๗ “ความฝันของแก่นเพ็ชร”
        ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก,๑๒ ต.ค. ๒๔๖๗
หลังจากรับบทของ “ตำรวจอ้วน” มาแล้ว  ภาพแทนเจ้าคุณอธิกรณ์จะมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการปลอมแปลงธนบัตรและการเพิ่มขึ้นของการค้าโสเภณี  หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์นายเสมได้ใช้ภาพการ์ตูนในการตอกย้ำข้อกล่าวหาในระยะแรกของเขาที่ระบุว่า ตำรวจกรุงเทพฯ มีส่วนรู้เห็นกับบ่อนการพนัน  ในภาพเขียนการ์ตูนชิ้นหลังนี้พระยาอธิกรณ์ประกาศถูกวาดเป็นภาพสุนัขที่ถูกล่ามเพื่อใช้ให้ไปล่าเจ้าของบ่อนการพนัน ที่ข้างลำตัวเขียนว่า “การพนัน”  อย่างไรก็ตาม  มีหลักฐานอ้างอิงอย่างคลุมเครือว่า  ปฏิบัติการไล่ล่านั้นดูเหมือนจะเป็นการไล่ล่าตัวพระยาอธิกรณ์ฯเสียเอง

ภาพที่ ๓.๒๘ “พระยาอธิกรณ์ฯล่าการพนัน”
ที่มา : นสพ. เกราะเหล็ก , ๓๐ พ.ย. ๒๔๖๗
เมื่อเวลาผ่านไปได้ ๑ ปี ดูเหมือนว่านายเสมจะถูกผลงานของตนเองกัดกร่อนตนเองเอาเสียแล้ว กล่าวคือ  ในความพยายามวิพากษ์วิจารณ์ผ่านงานเขียนการ์ตูนในเรื่องการเพิกเฉยต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล  เขาพยายามชี้ให้เห็นว่าสยามตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของต่างชาติ  โดยในเดือนเมษายน  การ์ตูนของเขาสะท้อนคำพังเพยเก่าแก่ของไทยว่า  “ไก่ยังกินข้าวเปลือกตราบใด อั๊วก็ยังอยู่เมืองไทยล่าย ? ”

ภาพที่ ๓.๒๙ “ความฝันของแก่นเพ็ชร” ยุคที่ ๒๕
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่  ๕ เมษายน ๒๔๖๘

ภาพที่ ๓.๓๐ “ความฝันของแก่นเพ็ชร”ยุคที่ ๓๑
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๖๘

ภาพที่ ๓.๓๑ “แก่นเพ็ชรแกล้งฝัน... เชิญขุนนางไปไหว้อนุสาวรีย์พระยาเหล”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๖๗

ภาพที่ ๓.๓๒ “ชีวิตของพวกเรา”(ภาพช้างใกล้ตาย)
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๖๗


ภาพที่ ๓.๓๓ “เกมแข่งขันบำรุงชาติแลบำรุงเสือป่า ประชุมชุดโป๊ยเซียน”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๖๘

ภาพที่ ๓.๓๔ “แก่นเพ็ชร ฝันถึงเพื่อนร่วมชาติยุคที่ ๑๗”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘


ภาพที่ ๓.๓๕ ภาพชุดการขายเหี้ย ( The hia Trade) ของนายเสม  สุมานันท์
ที่มา : นสพ. เกราะเหล็ก วันที่ ๔ ตุลาคม  ๒๔๖๘
ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘  นายเสมได้นำเสนอชุดเครื่องมือเพื่อการเสียดสีการเมืองอย่างละเอียดมากขึ้นในนามของเกราะเหล็ก ซึ่งมีทั้งภาพล้อทางการเมือง บทความและบทกวีกล่าวหาทิ่มแทงในหัวข้อ “การขายเหี้ย”  เขาได้อธิบายด้วยภาพว่า ตนเองเป็นพ่อค้าสมัยใหม่ผู้ซึ่งตัดสินใจแสวงโชคด้วยการขายสินค้าที่ไม่ใช่ของที่ตลาดต้องการในราคาแพง   ยิ่งกว่านั้นเขายังทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันสุดๆในบทความประกอบภาพการ์ตูนโดยความประทับใจของนายเสมที่มีต่อความทันสมัยเกิดจากการอ้างอิงข้อมูลของวิทยุซึ่งเพิ่งจะถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในสยาม  ในทำนองเดียวกันการระบุถึงประเภทและราคาของเหี้ย  นายเสมย้ำว่าสินค้าของเขากินไม่ได้  โดยจงใจใช้คำในภาษาลาวมาใช้เพื่อให้ดูว่าสินค้าของเขาเป็นของชนชั้นล่างของพ.ศ. ๒๔๖๘ ในสยาม เขาได้อธิบายถึงการตัดสินใจของตนในการขายฝันของเขาในหนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก  เขายืนยันว่า “สายลมแห่งแรงบันดาลใจได้หยุดลงอย่างฉับพลัน  ฉันปิดบ้านแล้วก็แกล้งทำเป็นหลับแต่ฝันก็ไม่มา  นั่งหรือเดินก็ไม่ช่วย หลับหรือตื่น หลับตาหรือลืมตา แม้จะอยู่ในเงามืด  ก็ยังไม่มีความฝันเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว คิดอย่างหวาดหวั่นถึงภาพความหิวนานนับสัปดาห์ ไม่มีอะไรให้ผู้คนที่เกราะเหล็กจะกิน  ฉันถลาไปเหมือนไก่ถูกเด็ดหัว  ฉันพยายามจะขายเนื้อลูกหมาให้คนกิน  แต่ตลาดกลับเลิกรับซื้อ  อยากจะขายเนื้อนกเนื้อหนูก็ทำไม่ได้เพราะคนอื่นเขาขายกันหมดแล้ว  ไม่สามารถวางแผนอะไรได้  ดูเหมือนชีวิตไม่มีค่าพอที่จะอยู่ต่อไป  ฉันไม่แข็งแรงพอที่จะลากรถเจ๊ก  และนอกจากนี้ ฉันก็ยังเชื่อว่า  ไม่มีอะไรพึงประสงค์ต่อการทำสิ่งใดให้แก่ผู้อื่น  ต่อมาฉันตัดสินใจได้ว่า การมองหาความสุขในโลกหน้าน่าจะทำให้มีความสุขมากกว่า  จึงหยิบเชือกขึ้นมาเส้นหนึ่งจากนั้นก็ไปวัดสระเกศเพื่อผูกคอตาย  ผูกเชือกเข้ากับคอมือหนึ่ง  อีกมือก็เอาถ่านมาเขียนกำแพงวัดว่า “ฉัน, แก่นเพ็ชรขอลาออกจากการเป็นคนไทยเพราะเกินความสามารถที่ฉันจะทนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยได้อีกต่อไป” แต่นอกเหนือจากการเขียนจดหมายลาและเตรียมจะผูกคอตาย สวรรค์เจ้าข้า เทพยดาคงไม่ลืมดอกนะ ลงชื่อ แก่นเพ็ชรบังเอิญฉันมองไปที่ข้างๆกำแพงเห็นข้อความที่เด็กเขียนทิ้งไว้ว่า “เหี้ยหางแดงดีแต่ดูดเลือดและเหยียบบนหัวคนชาติเดียวกัน” พออ่านจบก็เกิดความปิติและคิดว่าฉันรอดตายแล้ว  ฉันยังมีโอกาสหากินด้วยการขายเหี้ย ไม่มีใครมาขายแข่งกับฉัน  และน่าจะเป็นสินค้าขายดีเพราะสภาพภูมิศาสตร์ของเราเหมาะต่อการมีเหี้ยอย่างอุดมสมบูรณ์ มีเหี้ยหลายชนิดในประเทศ อย่างน้อยก็เจอเหี้ยจำนวนมากในบางกอก”
อารมณ์ขันแบบเสียดสีปรากฏอยู่ในข้อความข้างต้น  ซึ่งอาจเป็นการวิจารณ์สภาพเศรษฐกิจของสยามแบบขำๆห่ามๆ ช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯตีพิมพ์บทบรรณาธิการเป็นเวลานานหลายเดือนเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาผลผลิตเพื่อการส่งออก  ได้แก่  สัตว์ทะเล  สัปปะรด  ยาสูบ พริกไทย ผ้าและการตัดถนนหนทางเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ
ภายใต้บริบทนี้  ข้อสังเกตของนายเสมที่ระบุว่า ตลาดเนื้อหมาของกรุงเทพฯวอดวายไปแล้ว และมองว่าตลาดขายเนื้อนกเนื้อหนูก็มีคนผูกขาดอยู่  ท้ายที่สุดการตัดสินใจของเขามุ่งที่จะขายสินค้าที่น่าขมขื่นใจ เพื่อตอบสนองการคาดการณ์เศรษฐกิจของเมืองหลวงเป็นการแก้ปัญหาความยุ่งยากทางเศรษฐกิจของสยามจากการเสียดสีซึ่งปรากฏอยู่นั้นจากศิลปะภาพล้อเลียน คำว่า “เหี้ย”  ไม่เพียงเป็นจิ้งจกสายพันธุ์หนึ่งแต่ยังใช้ในความหมายว่าเป็น “สัตว์ชั้นต่ำ” นอกจากนี้ภาษาไทยคำว่า “ขาย”    ใช้หมายถึง “ความน่าอับอายขายหน้า”  “ทรยศขายชาติ”  ดังนั้นจึงอาจตีความหมายได้ว่ามี “เหี้ยนานาชนิดในประเทศไทย”  ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันว่า  สยามเป็นอาณาจักรที่เต็มไปด้วย “คนเลว”  และเป้าหมายของเขา คือการมุ่งจะขายคนเลวเป็นแก่นสารที่นำเสนอแก่สาธารณชน  จากที่กล่าวมาแล้วเป็นเจตนารมณ์ของนายเสมที่นำเสนอทุกสัปดาห์เป็นภาพลายเส้นหน้าปกหนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก ชื่อ “เหี้ยดงหมายเลข ๑” เป็นภาพลายเส้นคล้ายข้าราชการนั่งโต๊ะทำงาน

ภาพที่ ๓.๓๖ “ภาพเหี้ยดงตัวที่ ๑”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๖๘
มีคำบรรยายภาพว่าเป็นภาพของเหี้ยเมื่อชาติที่แล้ว  ซึ่งเกิดมาเพื่อทุจริตเงินของประเทศ  ยิ่งกว่านั้นยังเจอมากในบางกอก  พวกมันไม่ทำอะไรนอกจากนั่งรถเที่ยวไปรอบเมือง  หลังจากเริ่มต้นเสียดสีชนชั้นขุนนางด้วย “การค้าเหี้ย” แล้วเขายังเริ่มใช้ภาพล้อและถ้อยคำสำนวนที่เยาะเย้ยถากถางผู้มีอำนาจบางคนด้วยภาพ “เหี้ยตัวที่สอง”ซึ่งมั่งคั่งมั่งมีเงินทองด้วยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ  ซึ่งเป็นภาพล้อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  เจ้าพระยายมราช  และคล้ายๆกับจะมีเหี้ยดงตัวที่สาม  เป็นชายสองหน้ามีหาง  เป็นคนโง่ซึ่งเรียนศิลปะการประจบสอพลอตั้งแต่อายุยังน้อย มันทำให้เหยื่อของมันเชื่อผิดๆ แล้วถลุงเงินของเหยื่อตามอำเภอใจ  ใครๆก็เกลียดเหี้ย  ยกเว้นเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งโปรดโปรานและมองมันอย่างพิเศษ  เห็นได้ชัดว่านายเสม หมายถึง เจ้าพระยารามราฆพที่เป็นคนโปรดและใกล้ชิดกับรัชกาลที่ ๖

ภาพที่ ๓.๓๗ “เหี้ยดงตัวที่ ๒”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๖๘


ภาพที่ ๓.๓๘ “เหี้ยหางดงตัวที่ ๓”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘

ภาพที่ ๓.๓๙  “แก่นเพ็ชร ชี้ให้ดูสภาพเหี้ยหางแดงตัวที่ ๖”
ที่มา : นสพ. เกราะเหล็ก วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ (รัชกาลที่ ๖ สวรรคต ๒๕ พ.ย. ๒๔๖๘)


ภาพที่ ๓.๔๐ “อย่าให้เป็นเช่นนี้นะ สหายรัก”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก ,วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๖๙ (ภาพล้อสถานการณ์ในปีแรกของการครองราชย์ในรัชกาลที่ ๗ กล่าวหาว่าทรงโปรดปรานคนประจบสอพลอ)
บทที่ ๔
ภาพล้อและการ์ตูนการเมือง  ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง :
กรณีศึกษา หนังสือพิมพ์กลุ่มต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๗  มีนักเขียนบทความนิรนามในหนังสือพิมพ์ ไทยหนุ่ม ไทยใหม่ ศรีกรุง  ปากกาไทย หลักเมือง กัมมันโต ราษฎร และสยามรีวิว ฯลฯ นับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ ๒๔๖๐ ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษที่ ๒๔๗๐  ได้แสดงความคิดเรื่อง "ชาติ" ทางการเมือง (political nation) อย่างสำคัญในลักษณะที่มุ่งให้ "ชาติ" ซึ่งหมายถึงราษฎร หรือประชาชนที่มีสายสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งเดียวก้าวขึ้นมามีบทบาทและอำนาจทางการเมืองเป็นเจ้าของรัฐ
หนังสือพิมพ์สยามรีวิว  เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกทุกวันอาทิตย์  (พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๐) ราคา๑๐สตางค์ ลักษณะปกหน้าเป็นภาพวิจิตรร้อยเรื่อง  แต่ภายในหนังสือพิมพ์นำบทความทางการเมืองและการ์ตูนล้อการเมืองของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆมารีวิวและแสดงความคิดเห็น   นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ "เตือนนิดสะกิดหน่อย" ให้ผู้อ่านเขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นถึงบรรณาธิการ   ซึ่งมีข้อสังเกตว่าบทความส่วนใหญ่ในสยามรีวิวจะต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องระบบรัฐสภา  การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และตรวจสอบและเสียดสีการทุจริตต่างๆ  เช่น
หนังสือพิมพ์สยามรีวิว ในบทความเรื่อง "เพื่อชาติฤาเพื่อกระเป๋า "    ได้กล่าววิจารณ์กรมรถไฟว่าใช้เงิน "อย่างอร่อยเหาะ"คนที่รักชาติจริงๆ ต้องไปตรวจดูรายจ่ายของกรมรถไฟ   และผู้เขียนที่ใช้นามแฝงว่า "ผู้เฒ่า" ได้เขียนบทความเรื่อง "ความเห็นเรื่องประชาธิปไตย"  กล่าวว่าตนเองรู้สึกแปลกใจที่ผู้มีส่วนได้เสียในการปกครองประเทศและผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมีความพึงพอใจและ"ยกยอในการที่ประเทศเรายังเป็นประเทศที่มีราชาธิปไตย”


ภาพที่ ๔.๑ ภาพล้อการแบ่งขั้วทางการเมืองของกลุ่มหนังสือพิมพ์ต่างๆ
ทีมา : นสพ.สยามรีวิว รีวิวมาจาก นสพ.สารานุกุล พ.ศ. ๒๔๗๐
งานวิจัยของ ดร.พรทิพย์ ดีสมโชค แบ่งหนังสือพิมพ์บ่งชี้ขั้วการเมืองใน ๒ ลักษณะ ประกอบด้วย  ลักษณะแรก คือ หนังสือพิมพ์ต้นรากที่มีขั้วการเมืองต่างกันตลอดรัชกาลที่ ๗ มีแกนหลัก ๓ ฉบับ ได้แก่  นสพ.กรุงเทพฯเดลิเมล์ อยู่สายอนุรักษ์นิยม  ส่วนนสพ.สยามราษฎร์และศรีกรุงเป็นหนังสือพิมพ์สนับสนุนกลุ่มคณะราษฎร  อีกลักษณะหนึ่ง คือ การเกิดหนังสือพิมพ์ต้นรากใหม่ทดแทน ได้แก่ ต้นรากของหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงนิยม หรือหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า  ได้แก่ นสพ.ปากกาไทย  นสพ.บางกอกการเมือง  นสพ.ไทยหนุ่ม นสพ.สารนคร นสพ.ไทยใหม่ นสพ.หลักเมือง นสพ.กัมมันโต นสพ. เกราะเหล็ก นสพ.ศรีกรุง และนสพ.สยามราษฎร์  และหลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ หนังสือพิมพ์ในสายเปลี่ยนแปลงนิยมยังอยู่รอดต่อเนื่องได้เพียง ๔ ฉบับ ได้แก่ นสพ.หลักเมือง ไทยหนุ่ม ศรีกรุง และสยามราษฎร์  
สำหรับนสพ.สยามรีวิวถูกถอนใบอนุญาตไปตั้งแต่ปี๒๔๗๐ จากหลักฐานรายงานกรรมการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงวิธีกวดขันหนังสือพิมพ์ มีพระราชดำริของรัชกาลที่ ๗ ทรงกล่าวว่า  “วิธีปิดโรงพิมพ์ไม่สะดวกในบางคราว เช่น การจะปิดโรงพิมพ์ที่พิมพ์สยามรีวิว ก็เป็นการปิดนสพ. ไทยหนุ่มด้วย  เพราะพิมพ์แห่งเดียวกัน  ในการที่จะใช้วิธีวางเงินประกันก็เป็นการลำบากแก่หนังสือพิมพ์ที่ดี เช่น นสพ.กสิกร ”
ขบวนการแสวงหาอำนาจอธิปไตยของปวงชนสมัยรัชกาลที่ ๗  (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๐)
การวิพากษ์วิจารณ์พวกชาตินิยมในตอนต้นรัชกาลที่ ๗
-ฝนตกขี้หมูไหล
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสั้นๆปลายปี ๒๔๖๙  การวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ที่มีต่อราชสำนักลดน้อยลงเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการลดพระราชอำนาจเพื่อแสดงภาพลักษณ์ของรัฐบาลว่าจะเป็นผู้ปฏิรูปการเมืองการปกครอง  มีข่าวลือแพร่ออกไปในกรุงเทพฯว่า อภิรัฐมนตรีสภาเป็นก้าวแรกของการมีสภาร่างกฎหมายแบบ “สภาขุนนาง”  และอาจจะมีสภาสามัญชนตามมาในระยะเวลาอันสั้น  ยิ่งไปกว่านั้น  ขณะที่กษัตริย์พระองค์ใหม่และเสนาบดีกำลังแก้ปัญหาเงินงบประมาณของประเทศ  รัฐบาลก็ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางต่อความรับผิดชอบทางการคลังเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม  ในระยะ ๒-๓ เดือนต่อมา  ความเห็นอกเห็นใจต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่เริ่มเหือดหายและมีสัญญาณของความสงสัยเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯว่า  รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงต่างจากรัชกาลที่ ๖ หรือไม่  ในเดือนกุมภาพันธ์ มีนักเขียนยืนยันว่าการที่รัชกาลที่ ๗ จะนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองนั้นไม่ใช่เรื่องจริง  เช่น “บางรัชกาลเศรษฐกิจถูกทำลาย บางรัชกาลเศรษฐกิจก็หยุดชะงัก”  ในทำนองเดียวกันในเดือนมีนาคม นักเขียนอิสระคนหนึ่งเสียดสีว่า  ผู้มีอำนาจทางการเมืองจะสนใจหาอนุภรรยามากกว่าจะ “รักษาสัญญา”  และ “เดินหน้าเรื่องการปฏิรูป” ในเดือนเมษายน นักเขียนอธิบายถึงการริเริ่มของรัชกาลที่ ๗ ว่า ดำเนินการแบบ “ปัดกวาดบ้านเมือง”  (ภาพที่ ๔.๒) โดยกลุ่มคนที่ “ใช้เวลามากกว่าปกติในการรักษาอำนาจตำแหน่งของพวกเขามากกว่าจะรักษาสิทธิของพลเมือง” เพราะคนที่มีความสุขอยู่กับอำนาจและเคยชินกับการครอบครองอำนาจมักจะไม่ค่อยยอมรับกับการลดอำนาจ  แม้ว่าเขาตั้งใจที่จะทำงานเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน  ท้ายที่สุดในเดือนพฤษภาคม  บทความซึ่งไม่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ ๗  สะท้อนจากการ์ตูนของเสม สุมานันท์ ในหนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก  เป็นภาพของ “กษัตริย์ลิง”  ยืนแบบหมิ่นเหม่อยู่บนรถซึ่งลากด้วยตัว “เหี้ย” หลายตัว (ภาพที่ ๔.๓)

ภาพที่ ๔.๒  “การปัดกวาดบ้านเมือง”
ที่มา: นสพ.สยามรีวิว รีวิวมาจากนสพ.ไทย  พ.ศ. ๒๔๖๙

ภาพที่ ๔.๓  “ความฝันของแก่นเพ็ชร”
ที่มา : นสพ.เกราะเหล็ก วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
อย่างไรก็ดี  การปรับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการสำคัญออกไป ๗ คน  แล้วแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการสร้างความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ในรัฐบาลเอง มีการกล่าวหาว่าพระบรมวงศานุวงศ์ในสยามแบ่งกระทรวงบริหารกันเองเพื่อเจ้านายและเกียรติยศ   กล่าวอีกด้านหนึ่งก็คือ  ราชสำนักถูกวิจารณ์อย่างเปิดเผยว่าเห็นแก่ประโยชน์ของเจ้านายมากกว่าประโยชน์ของประเทศ  นอกจากนี้การตัดสินใจของราชสำนักในการคงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ ๖ ไว้  พิสูจน์ให้เห็นว่ามีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น ตลอดรัชสมัยมีข้อครหาว่า  เจ้าพระยาพลเทพใช้อำนาจในทางที่ผิดเรื่องการโอนที่ดินและไม้ซุงจำนวนมาก โดยไม่ส่งเสริมทางด้านเกษตรกรรม   แน่นอนการรับรู้ในขณะนั้น  เป็นที่ทราบดีว่าเสนาบดีผู้นี้ทำแต่ความเสื่อมถอยต่อการพัฒนาประเทศ  เมื่อเจ้าพระยาพลเทพได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงสำคัญที่สุดเช่นเดิม  จึงถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากหนังสือพิมพ์  ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ นักเขียนผู้หนึ่งเสนอว่าเจ้าพระยาพลเทพควรจะถูกปลดออกไปเพราะเรื่องอื้อฉาว  โดยให้อภิรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนเพราะไม่มีงานของเสนาบดีผู้นี้ที่ไม่ถูกตำหนิ  เพราะเป็นผู้ที่มีทั้งรอยด่างและกลิ่นไม่สะอาดยิ่งกว่าในตลาดขายปลาสด   แม้จะถูกวิจารณ์แต่เจ้าพระยาพลเทพยังไม่ถูกปลดจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ จนกระทั่งถึงราวปีพ.ศ. ๒๔๗๔ จึงถูกปลดให้พ้นจากตำแหน่งไปเพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตที่ดินทางภาคใต้

  ภาพที่ ๔.๔ ภาพล้อเจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร)
เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการสมัยรัชกาลที่ ๖ ดำรงตำแหน่งต่อมาถึงต้นรัชกาลที่ ๗
ที่มา: นสพ.สยามรีวิว รีวิวมาจากนสพ.ไทยหนุ่ม พ.ศ. ๒๔๗๐ วาดโดย เปล่ง ไตรปิ่น


ภาพที่ ๔.๕  ภาพล้อเจ้าพระยายมราช
(ในภาพมีการแย่งถังอุจจาระที่มีบริษัทออนเหวง (อว) เป็นบริษัทผู้ได้รับสัมปทานผูกขาด)
ที่มา : นสพ.สยามรีวิว พ.ศ. ๒๔๖๙
เจ้าพระยายมราช  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ถูกวิจารณ์เช่นกัน  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีที่มิใช่เชื้อพระวงศ์ซึ่งยังคงอยู่ในตำแหน่งหลังเดือนมกราคม นับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นมา  หนังสือพิมพ์เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาว่า เจ้าพระยาพลเทพและบุตรชายทุจริตเงินของรัฐบาลมานานหลายปี   ยิ่งกว่านั้นเมื่อเสนาบดีตอบโต้ด้วยการยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ของกรุงเทพฯ ๕ ฉบับ เขาก็ยิ่งถูกวิจารณ์มากขึ้นจากจำเลยซึ่งปฏิเสธการประกันตัวและถูกขังจนถึงวันพิจารณาคดีในศาล   ในห้องพิจารณาคดีเต็มไปด้วยผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีทำให้มีเสียงซุบซิบในถนนกันมาก  ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ การพิจารณาคดีถูกรายงานในหนังสือพิมพ์ว่า  เป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกับบรรดานักหนังสือพิมพ์รักชาติซึ่งมีผลประโยชน์ของชาวไทยอยู่เต็มหัวใจ  ตำรวจถูกกล่าวหาว่า “อาฆาต”  และทำตัวน่ารังเกียจมาก  การกระทำต่อจำเลยก็ถูกประณามว่า “ป่าเถื่อน”  และ “รุนแรงเป็นประวัติการณ์” รัฐบาลจึงถูกเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มี “การพัฒนาประเทศ  โดยมุ่งหวังต่อสิ่งที่มิใช่ผลประโยชน์และอำนาจส่วนตัว” อย่างไรก็ตาม  เสียงเรียกร้องที่หนักแน่นจริงจังกลับมาจากนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ตกเป็นจำเลย ดังตัวอย่างของความเรียงซึ่ง “กระหายต่อความยุติธรรมของมนุษยชาติ”  บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปากกาไทยยืนยันว่า เขาและกองบรรณาธิการมิใช่กบฏ เพราะมิได้ก่อการจลาจลหรือพยายามทำลายผลประโยชน์ของประเทศ  ยิ่งกว่านั้นก็ยังเป็นคนไทยแท้ที่ภูมิใจในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์    แต่ในขณะที่ตนยังไม่เคยคิดวางแผนที่จะแบ่งแยกผู้ปกครองประเทศ  พวกตนกลับรู้สึกเกลียดบรรดาขุนนางที่ใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมล่อลวงประชาชนและพระมหากษัตริย์ด้วยแผนการร้ายๆ ขอให้ดูก็แล้วกันว่าพฤติกรรมของตำรวจนั้นเหมาะสมหรือน่านับถือหรือไม่  สำหรับเจ้าพระยายมราชในการห้ามหนังสือพิมพ์มิให้นำเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ตามแบบที่เคยทำมาในอดีต  ซึ่งชัดเจนว่ามีแรงจูงใจมาจากการต้องการปกป้องตนเอง  ถ้าอนุญาตให้ทำแบบเดิมได้แล้ว  สยามจะเต็มไปด้วยเชื้อโรคร้ายที่มิอาจรักษาได้อย่างช้าๆ  เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า  หนังสือพิมพ์ปากกาไทยแตกต่างจากหนังสือพิมพ์อื่นๆ เนื่องจากมิได้พร่ำภาวนาให้ตนมีความร่ำรวยอย่างเดียวและไม่ต้องเข้าคุก แต่การที่จะห้ามหนังสือพิมพ์มิให้ตีพิมพ์เผยแพร่ในสยามนั้นเป็นผลประโยชน์ของเจ้าพระยายมราชแต่ผู้เดียว  แน่นอนถ้ามีทางเดียวที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อชาติได้โดยมีผลตอบแทน คือ การเข้าคุก หนังสือพิมพ์ปากกาไทยก็จะทำ  และหากการกระทำแบบนี้แล้วถูกจับ พวกที่เหลืออยู่ก็จะรับช่วงต่อจนกว่าขุนนางกังฉิน หรือไม่ก็พวกเราจะถูกกำจัดให้หมดไป
ผลจากการวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เจ้าของและบรรณาธิการถูกพระเจ้าแผ่นดินเรียกตัวไปประชุมปลายเดือนมกราคม  แต่บทความเสียดสีประชดประชันก็ยังถูกเขียนเผยแพร่ชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่เรียกว่า “ความแตกแยกในชาติ”  และพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้ความพยายามทุกด้านในการแสดงความปรองดองต่อไปในวันข้างหน้า  ปรากฏว่า เวลาเดียวกันนั้นเจ้าพระยายมราชก็ถูกกดดันให้ถอนฟ้องจำเลยทั้ง ๙ คน  และส่งผลให้เจ้าพระยายมราชลาออกไปในเดือนมีนาคม
นอกจากนี้บทความของหนังสือพิมพ์ยังวิจารณ์การตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่สมัยรัชกาลที่ ๗ และคณะรัฐมนตรีซึ่งแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณยังถูกวิจารณ์อย่างหนัก  ในขณะที่ความจำเป็นในการประหยัดงบประมาณประจำปีเป็นที่รับรู้ทั่วไป  ราชสำนักได้ใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างต่อเนื่อง  เพราะรัชกาลที่ผ่านมาใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย  กระทรวงการคลังได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลสมัยรัชกาลที่ ๖ และข้าราชบริพารถลุงเงินนานถึง ๑๕ ปี  ประเทศจึงประสบปัญหายากจนจากการกู้เงินจากชาวต่างชาติเพื่อนำมาซื้อเครื่องประดับใส่  การวิพากษ์วิจารณ์ยังขยายตัวไปถึงนโยบายของรัฐบาลด้านการลดค่าใช้จ่ายเรื่องการดุลย์ข้าราชการออก แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้มีการออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับใหม่ ชื่อว่า “ดุลยภาพ”  (นสพ.ธงไทย : ”ดุลยภาพเป็นคุณหรือโทษท่านอภิรัฐมนตรีไม่ฟังเสียงใคร” นสพ.เกราะเหล็ก : ”ดุลยภาพหรือดุลยพวกกันแน่เพื่อนเอ๋ย”) เชื่อว่าหนังสือพิมพ์เล่มนี้ดำเนินการโดย กลุ่มคนที่ไม่มีความสามารถและเครือญาติของเสนาบดีในสมัยรัชกาลที่๖ซึ่งหมดอำนาจไปแล้วและใช้เวลาหลายปีนำเสนอความรู้สึกเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันโดยการทำให้ทุกคนเป็นขุนนาง  มาตรการที่ดำเนินการต่อข้าราชการหลายหมื่นคนจึงเป็นก้าวสำคัญในการเยียวยาความรู้สึกดีๆของคนสิบล้านคน    แต่ในเวลาต่อมา การสนับสนุนนโยบายได้ยุติลงเมื่ออภิรัฐมนตรีสภาล้มเหลวในการตั้งคณะกรรมการดูแลกระบวนการแก้ปัญหา  ดังนั้นราชสำนักจึงพยายามร่างแบบแผนข้อปฏิบัติว่าใครควรจะถูกปลดจากข้าราชการให้แก่หัวหน้ากรมกอง  ผู้ทำหน้าที่พิจารณาปลดข้าราชการเป็นกลุ่มคนที่มีเสรีภาพในการปลดเพื่อนร่วมงานตามแต่จะเห็นสมควร
ภายในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ผลที่ตามมามิอาจคาดเดาได้  และในต้นปีพ.ศ. ๒๔๖๙  หนังสือพิมพ์เต็มไปด้วยเรื่องการกล่าวหาบรรดาผู้ทรงอำนาจซึ่งกำลังใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายเพื่อขุดรากถอนโคนฝ่ายตรงข้ามและปกป้องพวกพ้องบริวารของตน  นักเขียนคนหนึ่งเสนอว่า “มิใช่เจตนาของรัฐบาลในการดุลยภาพแต่เป็นการดุลยพวก”  คือการดุลพวกพ้องแทนการประหยัดงบประมาณ  ในขณะที่การเมืองถูกทำให้เชื่อว่า  อยู่ห่างไกลจากมือของประชาชนที่จะเข้ามากล่าวหาซึ่งกันและกันและชะโลมเลือดและบริวารของพวกเขาจำนวนมากเพื่อให้ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเช่นเดิมในเครือข่ายหน่วยงานของรัฐบาล  ปรากฏว่าบรรดาผู้ที่ถูกปลดปล่อยออกจากระบบราชการ คือ  “คนที่ไม่มีอำนาจวาสนา...คนที่เคยทำงานต่างๆทั้งหมด”  ในทางกลับกันข้าราชการที่ยังคงดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลับถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนเหมาะสมต่อการได้รับแต่งตั้งให้มาปล้นสะดมและทรยศต่อชาติ”ผู้ซึ่งทำอะไรนิดๆหน่อยๆแล้วก็ล้วงมือลงไปในกระเป๋าเงินของประชาชน
ผลที่ตามมา คือ รัฐบาลใหม่ถูกมองว่าสนใจที่จะควบคุมพฤติกรรมของข้าราชการไม่มากไปกว่ารัฐบาลที่แล้ว  ดังนั้นกลางปีพ.ศ. ๒๔๖๙  ปัญญาชนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวใน ราชสำนักก็ถูกประณามอย่างเปิดเผยรุนแรงอีกครั้ง   ในฐานะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการสถาปนาความยุติธรรม  ความเท่าเทียม  และความสามัคคีของคนในชาติ    ยิ่งกว่านั้นยังมีนักเขียนจำนวนมากขู่ว่าอาจเกิดปฏิวัติจากคนชั้นล่าง  ยกตัวอย่าง เช่น ช่วงหลังปีพ.ศ. ๒๔๖๙  กองบรรณาธิการปากกาไทย  ตีพิมพ์ชุดบทความเกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซีย เพื่อชี้นำให้ราชสำนักให้ปฏิรูปทางการปกครอง  บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยโต้ตอบการกล่าวหาความชั่วร้ายของพรรคบอลเชวิค   นักเขียนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ความคิดแบบบอลเชวิคที่กำลังแพร่ออกไปทั่วโลกมิได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมดและเพิ่มเติมว่า  ประชาชนจะเชื่อลัทธิใดๆก็ตามที่ให้ความยุติธรรมและความสุขมากกว่าระบอบการปกครองปัจจุบัน  นักเขียนอีกคนเห็นว่าความไม่เข้าใจของตนที่มีต่อแนวคิดของความเสมอภาค  ตามที่เขาและเพื่อนเข้าใจว่าดี แต่กลับเป็นความชั่วร้ายที่สืบทอดกันมาโดยคนที่เห็นแก่ประโยชน์ของชนชั้นสูงซึ่งคิดว่า “ตนเองมีสิทธิ์ในการเหยียบอยู่บนหัวของเพื่อนร่วมชาติ”


ภาพที่ ๔.๖ “การเหยียบอยู่บนหัวของเพื่อนร่วมชาติ”
ที่มา : นสพ.สยามรีวิว รีวิวมาจากนสพ.กัมมันโต พ.ศ. ๒๔๖๙

ภาพที่ ๔.๗ “ความฝันของวงศ์เฉวียง”
ที่มา : นสพ.สยามรีวิว รีวิวมาจากนสพ.ธงไทย พ.ศ. ๒๔๖๙
การดุลยภาพข้าราชการ หรือ  การดุลออกไปนี้  เป็นการปลดข้าราชการจำนวนหนึ่งออกเพื่อลดทอนงบประมาณรายจ่ายของประเทศในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๙  เป็นต้นมา   ระลอกแรกเป็นการปลดระดับสูง คือ
 ๑)  เจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม, ๑ สิงหาคม  ๒๔๖๕ – ๑๑ มีนาคม ๒๔๖๘ ) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากสูงอายุ  จึงโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์เป็นเสนาบดีแทน
๒) นายพลเอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (แย้ม ณ นคร,  ๑ เมษายน ๒๔๖๕ - ๓ สิงหาคม  ๒๔๖๙)เสนาบดีกระทรวงกลาโหม  กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากอาการป่วยจึงโปรดเกล้าฯให้ จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต  เป็นเสนาบดีแทน
๓) เจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ (ม.ร.ว. สะท้าน  สนิทวงศ์,  ๑๖ เมษายน ๒๔๕๕ - ๑ เมษายน ๒๔๖๙ ) เสนาบดีกระทรวงคมนาคม  กราบถวายบังคมลาออกไป  จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธินเป็นเสนาบดีแทน
๔) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา , ๑๙ มิถุนายน ๒๔๕๙ – สิงหาคม ๒๔๖๙) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ กราบถวายบังคมลาออกไป  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าธานีนิวัติเป็นเสนาบดีแทน
หนังสือพิมพ์สยามรีวิวมีการวิพากษ์วิจารณ์  เรื่อง  “คณะองค์อภิรัฐมนตรีถือหลักอะไรในเรื่องเลือกคัด ? ”ลงตีพิมพ์ในบทบรรณาธิการว่า
“ ....การตัดรายจ่ายของรัฐบาลที่ได้ทำไปแล้ว  และยังกระทำอยู่ก็เพื่อหวังผลแห่งการเงินของชาติเป็นข้อใหญ่  และนับได้ว่าเป็นผลสมมโนรถของรัฐบาลทุกประการในเรื่องเงิน”
“ส่วนเรื่องคัดข้าราชการออกจากตำแหน่งแลบรรจุเข้ารับตำแหน่งใหม่  ที่กำลังจัดทำอยู่ในปรัตยุตบันนี้  ผลที่รัฐบาลได้รับออกจะไม่น่าชื่นใจนัก  เราจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่กำลังเป็นอยู่นี้แล้ว  มีผู้สนใจทางการเมืองหลายท่าน  ได้ตั้งปัญหาถามกันอยู่ว่า  “คณะองค์อภิรัฐมนตรีท่านถือหลักอะไรในเรื่องเลือกข้าราชการเข้าบรรจุตำแหน่ง ?” เพราะตามที่ได้สังเกตกันมานั้น  จับหลักยังไม่ได้เลย  จะว่าเลือกตำแหน่งสำคัญๆให้เจ้านายในพระราชวงศ์หรือก็ไม่เชิง  ด้วยยังมีตำแหน่งสำคัญๆอยู่อีกมากที่ไม่ใช้เจ้านายในพระราชวงศ์  จะว่าเลือกคัดไว้แต่ผู้สามารถในการงานนั้นๆ  แลเป็นผู้บริสุทธิขาวผ่องด้วยความประพฤติทั้งส่วนตัวและราชการก็ไม่ใช่  ขอให้สังเกตดูว่า  ท่านเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ(เฉลิม  โกมารกุล ณ นคร) ,ท่านเสนาบดีกระทรวงพระคลัง, ท่านปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ,ท่านสมุห์เทศาภิบาลมณฑลอยุธยา , มณฑลนครสวรรค์,มณฑลนครราชสีมา,มณฑลพิษณุโลก,มณฑลจันทบุรี,และเสด็จอธิบดีกรมตำรวจ เราขอยกเอาท่านพระคุณเหล่านี้ เป็นตัวอย่าง  เพราะว่าบางท่านบางพระองค์เราเข้าใจว่ามีข้อบกพร่องในความสามารถต่อหน้าที่  และบางท่านก็เคยมีความมัวหมอง  ในเรื่องส่วนตัวอยู่ครันๆ  แต่ทำไมท่านจึงยังคงรับราชการอยู่ได้?”
คอลัมน์เตือนนิดสะกิดหน่อยในหนังสือพิมพ์สยามรีวิวรายสัปดาห์ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙  หน้า ๑๒๙-๑๓๐.
สมัยเดี๋ยวนี้เราเรียกกันว่า “เป็นสมัยที่เปลี่ยนแปลง” เราหมายเป้าเสนาบดีเจ้ากระทรวงชุดเก่าได้กราบถวายบังคมลาไปแล้วหลายท่าน เช่น  เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  เจ้าพระยาอภัย  เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม  เจ้าพระยาวงศาฯเสนาบดีกระทรวงคมนาคม  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ  เจ้าพระยาบดินฯ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม  เจ้าพระยาธรรมาฯ เสนาบดีกระทรวงวัง  การเปลี่ยนเสนาบดีมากๆดังนี้  สำหรับเมืองไทยไม่ใช่ของที่หาง่าย  ฉนั้นการที่เราขนานนามสมัยว่าเปลี่ยนแปลงก็ไม่สู้จะผิดหนักไม่ใช่หรือ?
ท่านเจ้าพระยายมราชท่านเป็นคนแรกที่นำธงกราบถวายบังคมลาออกแลท่านเป็นคนๆหนึ่งที่มีชื่อเสียงทางราชการในสมัยก่อนยกย่องอยู่มากแลเป็นคนๆหนึ่งที่ใครจะไม่ลืมได้เลยว่าท่านร่ำรวยขึ้นเพราะหน้าที่ราชการของท่านสนับสนุนให้รวยขึ้นโดยแท้  แต่การในหน้าที่ของท่านจะรวยขึ้นดังตัวท่านหรือไม่นั้น  เราก็เห็นตำตากันอยู่  การที่ท่านกราบถวายบังคมทูลลาออก เราจะเห็นได้ว่าท่านหง่อมสมควรที่จะหล่นอยู่แล้ว  ฉะนั้นจึงไม่มีใครที่เป็นคนกลางจะเสียดายท่านอีก
ท่านเจ้าพระยาอภัยราชาที่เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้นั้นเขาเรียกว่า “ เอกลาภ ” เพราะภูมิท่านทางกฎหมายไม่มีรัศมีเสียเลย  การที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมาได้ตลอดรัชกาลที่ ๖ นับว่าเป็นบุญหนักบุญหนา  แลคงจะเป็นตำนานอันแปลกประหลาดของกระทรวงยุติธรรม ณ วันข้างหน้าไม่น้อย  การที่ท่านกราบถวายบังคมทูลลาออกได้นั้น  นับว่าราชการของกระทรวงยุติธรรมได้หมดคนที่ “มือไม่พายเอาเท้าไปราน้ำ” เสียคนหนึ่งละ
ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์เสนาบดี  กระทรวงธรรมการ  ที่กราบถวายบังคมทูลลาออกเมื่อไม่กี่วันมานี้นั้น   ท่านผู้นี้ถ้าจะนับกันทางความรู้แล้วก็เป็นคนที่สมควรยิ่งกับตำแหน่งของท่าน  และเชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าค้านในข้อนี้  แต่ที่ท่านกราบถวายบังคมทูลลาออกนั้น ก็มีเหตุสมควรอยู่หลายประการ   เช่น เงินบำรุงการศึกษามีไม่เพียงพอกับสภาพอยู่แล้ว  ยังกลับถูกตัดทอนลงอีก  อุปสรรคเช่นนี้จะไม่มีเสนาบดีคนใดถ้ามีความรักชาติจริงๆแล้วจะทนอยู่ได้  และอีกข้อ ๑ที่นับว่าร้ายยิ่งกว่านี้มากคือ  ท่านยังอ่อนในเรื่องการปกครอง เราจะเห็นได้ว่าในกระทรวงของท่านเต็มไปด้วยการถือพวก  ส่วนการใช้เงินอีกนั่นแหละเราจะเห็นได้ว่าพวกครูอันเป็นยอดหัวใจอันแท้จริงของกระทรวงนั้นถูกกดเงินเดือนกันเสียป่นปี้  ส่วนพวกอยู่ในกระทรวงนับว่าได้เงินเดือนกันอย่างฟรี  ชั้นแต่คนขายแบบเรียนของกรมตำราเล่มละ ๒-๓ สตางค์ ก็ได้รับยศเป็นถึงคุณหลวง  นี่พอแสดงให้เห็นว่า  ท่านใช้เงินไม่เป็น แลที่ท่านกราบถวายบังคมทูลลาออกก็นับว่าสมควรกับเวลาอยู่แล้ว
ท่านเจ้าพระยาบดินเดชานุชิต  เสนาบดีกระทรวงกลาโหม  ท่านเป็นนายทหารที่รักเกียรติยศ  ฉะนั้นเมื่อคราวที่ท่านต้องถอนคำสั่ง  เรื่องเกี่ยวด้วยอำนาจศาลทหารบก  ท่านคงน้อยใจอยู่ไม่วาย  แลคำสั่งของทหารนั้น  ถ้าไม่มีความศักดิ์สิทธิพอแล้วก็เป็นเรื่องที่นับว่าใช้ไม่ได้  การที่ท่านกราบถวายบังคมทูลลาออก เราจะถือว่าท่านเป็นแบบอย่างอันน่าสรรเสริญทีเดียว  สมกับน้ำใจทหารโดยแท้
ท่านเจ้าพระยาพลเทพ  เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ  ท่านผู้นี้ยังไม่ได้กราบบังคมทูลลาออก แต่ใครๆต่อใครคาดกันว่าท่านคงจะต้องออกในไม่ช้า  เพราะคาวของท่านนั้นยังมีอยู่แลเป็นเรื่องที่ซู่ซ่าน่าขายหน้ามากอยู่ด้วย  ถ้าท่านรักเกียรติยศมากกว่ากระเป๋าของท่าน แล้วท่านก็ควรกราบบังคมทูลลาออก  แต่ถ้าหากท่านผู้นี้จะทนอยู่เราอยากทราบว่า  รัฐบาลจะเต็มใจยังรับอยู่หรือ  ถ้าเต็มใจรับท่านไว้ก็ควรให้ท่านปลงอาบัติของท่านเสียก่อน  ถ้ามิฉะนั้นราษฎรจะเห็นว่า  รัฐบาลชุดนี้ที่มีเสนาบดีที่ถูกสงสัยว่า  “กินเข้าค่ำปะปนอยู่ด้วย” จะเรื่องที่ไม่สู้จะงามอยู่หนา
พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลัง  อีกพระองค์หนึ่งเสนาบดีพระองค์นี้ เขาให้ฉายากัน “ตะเกียงลาน”  คือ  ถ้าใครหมั่นไขลานควันก็ไม่มี  ถ้าหยุดไขลานเสียควันก็โขมง และออกจะเป็นจริงอย่างนี้เสียด้วย  ขอให้ดูแต่การเงินที่เป็นมาแล้ว  แลกำลังเป็นอยู่ในเวลานี้  ก็จะเห็นได้เสนาบดีคลังถ้าต้องการความสามารถเสมอเท่าพระองค์เจ้าศุภโยค แล้ว  นับว่าประเทศสยามถึงคราวชะตาตกอับ  แต่รัฐบาลที่รักจะให้ประเทศตกอับอยู่อย่างนี้แหละหรือ?
ส่วนเจ้าพระยาธรรมาฯ  เสนาบดีกระทรวงวัง  เราต้องยอมยกปากกาออกจากหน้ากระดาษด้วยเรื่องของท่านเกินที่ปากกาจะกล้าจาฤกลงไปได้เพราะมันเน่าเฟอะเหลือประมาณ  การเมืองวันที่ ๓๑ /๔/๖๙ เธอคิดบ้างไหมว่าข้าราชการฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายทั่วพระราชอาณาจักรรวมทั้งที่ประจำอยู่ในสถานทูตต่างประเทศประมาณหมื่นคน  ต้องมีหมวกเต็มยศ (หมวกดำใบพับ) อยู่แล้วหมื่นใบ  ราคาของของหมวกมีอย่างสูงประมาณ ๘๐ บาท  อย่างต่ำประมาณ ๓๐ บาท  คิดถัวกันอย่างกลางประมาณราคาใบละ ๔๐ บาท   เป็นเงินประมาณสี่แสนบาท  ที่จะต้องเสียไปโดยใช้ไม่ได้ (ยกเลิก) ยังจะต้องซื้อหมวกอย่างใหม่ใช้อีกหมื่นใบคิดราคาอย่างกลางประมาณ ใบละ ๑๐ บาท  ต้องเป็นเงินราวแสนบาท รวมเป็น ห้าแสนบาท  เงินจำนวนนี้ต้องเฉลี่ยเสียให้พ่อค้าไปในคราวดุลยภาพ ถูกไหมเล่า ?
คอลัมน์เตือนนิดสะกิดหน่อยในหนังสือพิมพ์สยามรีวิวรายสัปดาห์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๓ ประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๙ หน้า ๒๕๑.
ทางรถไฟหลวงทั้งสายเหนือและสายใต้ เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจะยาวถึง ๒,๔๙๐ กิโลเมตร ( ๑ กิโลเมตรเท่ากับ ๒๕ เส้น) ค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้นคิดเป็นเงิน ๑๔๘,๖๑๑,๒๙๕ บาท  (ร้อยสี่สิบแปดล้านหกแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบห้าบาท) คิดเฉลี่ยสำหรับพลเมือง ๑๐ ล้านตก ๑ คน เท่ากับ ๑,๔๘๖ บาท  การที่ประเทศเล็กๆจนๆดังเรายังมีทางรถไฟยาวได้ถึงเพียงนี้นั้น  เราเห็นจะต้องขอชมบารมีของพระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯมากกว่าผู้อื่น  เพราะทางรถไฟที่ได้คืบยาวออกไปได้มากมายถึงเพียงนี้  ก็เพราะความอุตส่าห์ของพระองค์ท่านด้วยประการทั้งปวง
ความรุ่งเรืองของกรมรถไฟนั้นถ้าจะถามความเห็นของมหาชน  คงจะตอบกันว่า “รุ่งเรืองจริงพ่อคุณ แต่ออกจะร้อนจัดเป็นแสงแดด เวลาเที่ยงอยู่สักหน่อย”  หมายความว่า  มีแสงสว่างก็จริงแต่เผาหลังพลเมืองจัดจ้านนัก  อัตราค่าโดยสารก็เพิ่มขึ้นถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์  ค่าบรรทุกสินค้าก็เพิ่มขึ้น  มิหนำซ้ำของที่ฝากไปกับรถไฟอันต้องเสียค่าบรรทุกอย่างแพงอยู่แล้วนั้น  เมื่อถูกขโมยของสูญหายไป  รถไฟก็ยังไม่ยอมรับรองช่วยเหลืออีก  โดยท่านอ้างว่ามีพระราชบัญญัติบ่งความชัดอยู่แล้ว  นี่แหละความสว่างที่ว่าเผาหลังพลเมืองละท่าน
พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงที่ประกาศใช้อยู่ทุกวันนี้นั้น  กรมรถไฟเป็นผู้ร่างขึ้นเสนอขออนุญาตต่อรัฐบาล  กรมรถไฟซึ่งมีอาชีพอยู่ด้วยการติดต่อกับพ่อค้าพาณิชย์ทุกคืนทุกวันนั้น  ได้ขอความเห็นจากพวกพ่อค้าในเรื่องนี้บ้างหรือ? เราคิดว่าเปล่าเลย
กรมรถไฟก็รุ่งโรจน์มีแสงสว่างจัดจ้าอยู่พอแล้ว  แต่น่าประหลาดใจว่าทำไมจึงได้ริหาเอาเปรียบแก่พวกพ่อค้าประชาชนกระจอกงอกง่อยยิ่งนัก  คำที่เรียกว่า “สมธัม” (สมธรรม) นั้นดูเหมือนกรมรถไฟจะทำเป็นไม่เข้าใจ  เพื่อพ่อค้าเจ๊กๆไทยๆเราเสียเลย
หนังสือสยามรีวิวรายสัปดาห์  มีคอลัมน์พิเศษลักษณะเสียดสีการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ชื่อว่า “คอลัมน์เตือนนิดสะกิดหน่อย”  ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คอลัมน์เตือนนิดสะกิดหน่อยในหนังสือพิมพ์สยามรีวิวรายสัปดาห์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๕ ประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๙หน้า ๔๗๐
การเป็นผู้หลักผู้ใหญ่  ไม่ว่าบุรุษหรือสตรีถ้าพูดเฉพาะประเทศเรา (ไทย) มีทางไต่เต้าอยู่สองทาง  แต่ผลที่ได้รับในสุดท้ายก็คือ ทางสรรเสริญ  ทางนินทากาเล
ทางที่ได้รับคำสรรเสริญคือเป็นผู้ใหญ่โดยแท้จริง  นิสัยมีความเที่ยงธรรมเป็นสรณะ  โอบอ้อมอารีไม่ถือคนเขาคนเรา  มีวิชาความรู้พอกับน่าที่  การงานต้องเป็นการงานเสมอไม่ก้าวก่าย  ไม่เป็นคนหลงอยู่ในลาภยศ  เห็นคนเป็นคนเสมอหน้ากันหมด  ธงไชยที่ต้องการคือ  ความมีชื่อเสียงดีอันแท้จริงในวันข้างน่า
ทางที่ได้รับแต่ความนินทาคือ เป็นผู้ใหญ่โดยทางเชื้อสายทางความสนับสนุนของผู้มีบุญทางความรู้  หน้าไหว้หลังหลอกตบตานาย  ทางอำนาจแห่งวิชาป.จ. (ประจบ -ผู้วิจัย)  ผู้ใหญ่  ชนิดนี้มักชอบถือพรรคพวก  ไม่ค่อยถือความเที่ยงธรรม  ความรู้ก็ไม่ค่อยเหมาะกับน่าที่การงาน  เป็นคนหลงลาภยศ  เห็นเพื่อนมนุษย์ที่เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นคนเลวตัวเองเป็นคนวิเศษ  ไม่บูชาน่าที่การงานแต่กลับบูชาผู้ที่สนับสนุนตัวของตัวให้ได้ดี  ใจคอโลเล  เข้าแบบที่ว่า  “เจ้าว่างามก็งามไปตามเจ้า”  ธงที่หมายก็คือความโลภเพื่อหาความสุขสำหรับตัวและครอบครัว  ผู้ใหญ่ชนิดนี้ถ้ามีอยู่มาก  ประเทศชาติก็ต้องตกอยู่ในความไม่สู้เจริญ นี่ว่าเขาทางเป็นผู้ใหญ่ของผิดแลชอบในทางเพศบุรุษ
ส่วนทางสตรีเพศนั้น  ทางที่เป็นผู้ใหญ่ให้ได้รับคำสรรเสริญ ก็คือ  เป็นผู้ใหญ่เพราะความรู้จักผิดแลชอบในทางปกครองลูกหลานหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา และนิสัยไม่โอนเอนสลับไป  ตามสมัยนิยมอันหาแก่นสารบมิได้  ผู้ใหญ่เช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่แท้
แล ๒ เป็นผู้ใหญ่โดยอำนาจราชศักด์แห่งผัวเพราะผัวหมายพึ่งการ—ผู้ใหญ่ชนิดนี้พองโตได้เร็วมีพิศสงมากมาย  ล้างผลาญเงินทองเป็นที่หนึ่ง  สมัยเปลี่ยนแปลงอย่างไรเป็นไม่บอกปัด  ผมสั้นผมดัด  ทั้งนั้น อีตันครอบ. เชิงเกิล.บ๊อบ.และบิงเกิล เชิญประดาหน้ากันเข้ามาเถอะเจ้าหล่อนเป็นต้องรับทุกท่า เสื้อแขนสั้นแขนกุดก็เอา  ขอแต่ให้สมัยว่าฮ้อแล้วเป็นใช้ได้ทั้งนั้น  ผู้ใหญ่ชนิดนี้เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่เทียม  คงได้รับแต่ความนินทากาเล  ชนิดผู้ใหญ่เทียมที่แต่งตัวยั่วผัวเพื่อการ—ถ้าท่านผัวปล่อยให้เจ้าหล่อนมีเสียงในน่าที่การงานของท่านผัวได้ด้วยแล้ว  การงานเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยอคติ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะนิสัยของสตรีนั้น  เจ้าหล่อนชอบยออย่างเดียว
ท่านผู้ใหญ่ฝ่ายชายบางท่าน  ถ้าหากความเที่ยงธรรมมีประจำสันดานน้อยอยู่แล้ว  มาพบปะท่านสตรีผู้ใหญ่ชนิดเทียมเข้าด้วย  เราเข้าใจว่าผู้น้อยที่อยู่ใต้บังคับบัญชาจำต้องทำตัวเป็น “น้ำกลิ้งบนใบบอน  มิฉะนั้นก็คงรักษาตัวไม่รอด  แต่ผลของราชการที่ประเทศชาติจะได้รับความตอบแทน คือ ความเสื่อมถ่ายเดียว   ทางแก้เรื่องนี้มีอยู่ทางเดียว  คือ  ผู้จะได้เป็นผู้ใหญ่เพราะความเคารพ  ยกย่องของมหาชนไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่เพราะความแต่งตั้งของคนสอง สาม สี่ ห้า คน
นอกจากนี้สยามรีวิวยังมีการรีวิวเบ็ดเตล็ดจาก หนังสือพิมพ์กัมมันโต เล่ม ๑ -๑/๘/๖๙ ลงโคลงทายบทหนึ่ง กล่าวความดังนี้
“ตาดีดุนออกแล้ว  นับพัน
เหลือแต่ตาบอดดัน  อยู่ได้
หูหนวกก็ขยัน  โดนโด่
ทายถูกแล้วจะให้  ชอบแท้รางวัล”
โคลงบทนี้ถ้าคณะองค์อภิรัฐได้ทรงทอดพระเนตรแล้วทรงทายถูก  เราคิดว่าอย่างน้อยก็ต้องเสียพระทัยไปเจ็ดปี- ส.ร.ว. (ส.ร.ว. เป็นคำย่อของสยามรีวิว)
เนื่องจากสยามรีวิวเปิดโอกาสให้ผู้อ่านทั่วไปเขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นต่างๆ  จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้  แต่ต้องเป็นความเห็นเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์     ดังนั้นจึงมีผู้ใช้นามแฝงว่า ข้าราชการผู้หนึ่ง  เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการ ลงวันที่  ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๙  เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโคลงดังกล่าวข้างต้นว่า
“โคลงบทนี้ท่านเห็นว่าคณะองค์อภิรัฐ  อย่างน้อย ก็ต้องเสียพระทัยไป ๗ ปี  เมื่อทรงทราบ  แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านยังเข้าใจผิดในวิธีการของงาน  “ดุลยภาพ” คราวที่แล้วมา  จริงอยู่คณะองค์อภิรัฐทรงจัดให้งานนั้นมีขึ้นแต่ท่านไม่ควรลืมว่า  การดุนข้าราชการออกเปนงานของเจ้ากระทรวงจัดทำ  ท่านเห็นไหมเล่า  ว่าการดุนที่ไม่สามารถให้เปน “ดุลยภาพ ได้นั้นเพราะใคร  เพราะเสนาบดีเจ้ากระทรวงหรือมิใช่  เจ้ากระทรวงก็คือ “ปุถุชน”  เรานี้แหละ  ถ้ามิฉะนั้นแล้วคนตาบอดหูหนวกจะรับราชการอยู่ได้อย่างไร  แต่ถ้าจะมีคำแก้ว่า  คนตาบอดมีความสามารถดีกว่าคนตาดี  มนุษย์เดินดินอย่างเราท่านคงไม่มีใครเชื่อ  แต่ท่านเทวดาซึ่งหูตาท่านเป็นทิพย์นั่นแหละจะเชื่ออยู่บ้าง”
เหตุแลผลดังกล่าวมานี้แล้ว  ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ที่ควรได้รับคำตำหนิจากประชุมชนคือ เจ้ากระทรวงผู้ที่ได้กระทำให้งาน “ดุลยภาพ”  ได้รับความมัวหมอง  ไม่ใช่คณะองค์อภิรัฐ  แหละอีกประการหนึ่ง ท่านควรสังเกตได้แล้วว่าการดุนข้าราชการออกโดยไม่มีหลักเกณฑ์อันแน่นอนนั้น  ทำให้ท่านเจ้าของงาน (คณะองค์อภิรัฐ) ต้องรามือมาจนเท้าทุกวันนี้
“หมอโพล้ง”  เป็นนามแฝงของ  ร.ต.ต. วาด  สุนทรจามร  เพื่อนร่วมงานในหนังสือพิมพ์กรรมกรของ นายฤวัติ ฤทธิเดช หนึ่งในกลุ่มสมาชิกคณะราษฎร  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี ๒๔๗๖
หมอโพล้ง  เขียนความเห็นจ่าหน้าเรื่องว่า  “เจ้าแห่งกรุงสยาม”  ตีพิมพ์ในนสพ.ปากกาไทย วันที่ ๑๐ กรกฎาคมพ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่ง  นสพ.สยามรีวิวได้ตัดใจความบางตอนมาลงไว้ ดังนี้
“...ยิ่งมาสมัยรัชกาลปัตยุบันนี้ (ที่ ๗) ในเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติใหม่ๆ  คนไทยที่ผ่านการศึกษามาแล้วโดยมากพากันมีความปิติยินดีเปนอย่างยิ่ง  ในการที่ทรงจัดวิธีปกครอง  โดยวิธีทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้น  เพื่อทรงปกฤษาหารือในราชการงานเมือง  ซึ่งเปนที่เข้าใจกันแล้วว่า  พระองค์มิได้ทรงถือเอาความเด็ดขาดของพระองค์เปนส่วนใหญ่  ถือเอาความเห็นหรือเสียงส่วนมากเป็นเกณฑ์  สมกับสุภาษิตอังกฤษบทหนึ่งที่ว่า  “ทูเฮดส์เบตเตอร์แดนวัน ”สองหัวดีกว่าหัวเดียว  กับอีกตอนหนึ่งว่า  แต่มาบัดนี้มีเสียงคนไทยเปนอันมากต่างพากันทึ่งในความดำเนินรัฐกิจของรัฐบาลในเมื่อเห็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆที่ถูกดุลย์ออกไปโดยปริยายซึ่ง  เสนาบดีนั้นๆ   ไม่ใช่เจ้า และบรรจุเจ้าเข้าสรวมตำแหน่งโดยมาก “
หมอโพล้ง  ยังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า สมุหเทศาภิบาลบางมณฑลที่ไม่ใช่เจ้าออกไป  รัฐบาลก็ไปเก็บเจ้าที่ถูกดุลจากกระทรวงอื่นมาดำรงตำแหน่งแทน  จึงทำให้เป็นที่น่าพิศวงว่า  “รัฐบาลสยามในเวลานี้จะไม่เพ่งเล็งถึงความสามารถของบุคคลเช่นแต่ก่อนเสียแล้วละกระมัง?” และ ใช้ถ้อยคำเสียดสีว่า  “ดูการงานของรัฐบาลเวลานี้จึงมีแต่บรรจุจ้าวไปคุมงานเสียโดยมาก  ประดุจเอาตะปูไปตรึงกระดานฉะนั้น”     นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง  ยังเห็นพ้องกับหนังสือพิมพ์ปากกาไทยว่า “ ...อภิรัฐมนตรีคงทรงรู้สึกตะขิดตะขวงพระทัยอยู่บ้างที่ดุลแต่คณะขุนนาง  ส่วนเจ้าซึ่งรับราชการประจำตำแหน่งน่าที่ราชการอยู่แล้วหาได้ถูกดุลด้วยไม่....”

ภาพที่ ๔.๘  ภาพล้อเรื่อง “การดุลยภาพข้าราชการ”
ที่มา: จากหนังสือพิมพ์สยามรีวิว พ.ศ. ๒๔๖๙

ภาพที่ ๔.๙  การ์ตูนล้อ “เสนาบดีสมัยรัชกาลที่ ๖ พ้นจากตำแหน่งราชการ”
ที่มา : จากนสพ.สยามรีวิว พ.ศ. ๒๔๖๙
ภาพการ์ตูนล้อการเมือง ภาพบนนี้ เป็นภาพเสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ ๖  สามคน  ได้แก่  เจ้าพระยายมราช  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีและ  เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์   ที่หมดอำนาจไป มีที่มาจากหนังสือพิมพ์ธงไทย  ซึ่งสยามรีวิวรายสัปดาห์นำมาตีพิมพ์อีก   เป็นภาพเสนาบดีตกสวรรค์  และมีคำบรรยายว่า “เสๆ เมืองไทยชุดก่อนเกือบสิ้นซากแล้วเว้ย”     และ “ วงศ์เฉวียง”  ฝันอย่างชอบใจจริงๆ   นั้น หมายถึง นายเฉวียง  เศวตะทัต  เจ้าของและบรรณาธิการ  นสพ.ธงไทย มีความยินดีที่ฝันเป็นจริงนั่นเอง
หนังสือพิมพ์สยามรีวิวยังเสนอว่า  “การดุลยภาพข้าราชการ” ไม่มีประโยชน์ประการใดเลย  เพราะ การยุบมณฑลบางแห่งเพื่อลดรายจ่ายกลับทำให้เกิดผลเสียตามมาคือ ทำให้ผู้ร้ายชุกชุม  และเมื่อดุลข้าราชการคนใดออกไปแล้ว รัฐบาลไม่สามารถเลือกคนที่มีความสามารถเหมาะกับงานได้  การปลดข้าราชการคนเก่าออก ต้องเสียเงินบำนาญให้ทั้งที่ยังคงทำงานได้ดีอยู่  การจ้างคนใหม่ทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงสองต่อโดยไม่ได้ทำให้งานดีขึ้น

หนังสือพิมพ์สยามรีวิวเสียดสีการทำงานของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

     สยามรีวิวรายสัปดาห์ วิพากษ์วิจารณ์ การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมากและการนิยมใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ของพลเอกกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  (พระยศในขณะนั้น)  ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง  เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม
“ในปัตยุบันนี้มีพวกหัวประจบบางคณะเพื่อเห็นแก่ลาภยกย่องว่า  พระองค์ท่านเป็นผู้สามารถยิ่งในเชิงพาณิชย์  จริงอยู่การงานที่พระองค์ได้ครอบครองดูแล เช่น  กรมรถไฟ  นับว่าเจริญจนสุดลูกหูลูกตา  แต่ความจริงอีกที่กรมรถไฟได้ใช้เงินฟุ่มเฟื่อยยิ่งกว่ากรมอื่นๆร้อยเท่าพันทวี  เมื่อเช่นนี้จะนับเป็นความสามารถของเสด็จในกรมฯโดยแท้จริงย่อมฟังหาสนิทไม่  เพราะใครๆก็ย่อมรู้กันอยู่ดีแล้วว่าเงินเป็นแก้วสารพัดนึก
    เสด็จในกรมหลวงกำแพงเพ็ชร์ฯ  พระองค์ท่านได้อบรมวิชาการฝ่ายทหารช่างมาจากต่างประเทศ  แลพระองค์ท่านทรงรอบรู้ทางยุทธวินัยทหารเป็นอย่างดี  ฉะนั้นแบบแผนต่างๆเมื่อกรมรถไฟอยู่ในความครอบครองของพระองค์ท่าน  ระเบียบคล้ายทหารจริงจึงได้ปนเจืออยู่ในราชการของกรมรถไฟทั่วไป  ระเบียบของทหารนั้นต้องซึมดีอยู่กันทุกคนว่า  “เฉียบขาด”  ยุติธรรมฉันไม่เข้าใจ  เมื่อฉันจะทำแล้วต้องทำจนได้  เพราะความจำเป็นบังคับให้ทำดังนั้น  ราชการทหารทั่วโลกย่อมถือกันดังนี้เป็นแบบแผน
เราเข้าใจว่าราชการของกรมรถไฟ เช่น เดินแบบแผนอย่างทหาร เช่น  ผู้โดยสารรถด่วนชั้นที่ ๓ จะต้องไปถึงเชียงใหม่  จะต้องเสียค่าที่นอนด้วย ๑ บาทเสมอ  แต่อนิจจาเงินที่ต้องเสียไปเพราะถูกระเบียบของกรมรถไฟกดคอเอาแท้ๆ  ความจริงนั้นที่สำหรับจะนอนหามีไม่ “ เขาต้องนอนนกหรือที่เรียกว่าบรรทมลิงไปจนตลอดคืน”
      “มีคนโง่ๆอยู่อีกหลายคนที่เข้าใจว่า  กรมรถไฟเป็นของเสด็จในกรมฯกำแพงฯ  ดังเช่นโรงไฟฟ้าสยามที่เป็นของชาวต่างประเทศ  ที่ทำให้เขาเข้าใจเขวเช่นนั้นเพราะระเบียบกดคอพลเมือง...รถไฟเป็นของรัฐบาลคือของชาติ  คำว่าชาติ  หมายความว่า พลเมืองทั้งหมดของประเทศ  รถไฟของรัฐบาลคือรถไฟของพลเมือง  ก็เมื่อรายได้รายจ่ายของกรมรถไฟอยู่ในเกณฑ์ที่ฟุ่มเฟื่อยเหลือเฟือ  ระเบียบการอันใดที่พอจะลดหย่อนผ่อนปรนให้แก่พลเมืองได้รับความสมธัมก็ควรทำได้แล้ว...ผู้ที่กรมรถไฟเอาใจมากที่สุดก็คือ ชาวต่างประเทศ (พวกฝรั่งตาขาว)แลเพื่อเอาใจฝรั่งพวกนี้กรมรถไฟจึงต้องใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ๆโดยไม่มีเขตจำกัดแน่นอนว่าเมื่อใดจะเก็บทุนที่ลงไปนั้นคืนได้  เช่นสร้างโฮเต็ลหัวหิน โฮเต็ลพญาไท และยังกำลังสร้างใหม่อยู่ที่หัวลำโพงอย่างนี้ เป็นต้น  การที่กรมรถไฟเอาใจฝรั่งดังกับ...นั้นกรมรถไฟคงมีกุศโลบายหมากเด็ดเปนแน่ แต่ส่วนพลเมืองนั้น โดยมากเห็นกันว่า  กรมรถไฟ “เห็นขี้ดีกว่าไส้”
สาระสังเขปเอกสารจดหมายเหตุ  พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน หน้า ๑๒๔ กล่าวถึงงานจัดการประกวดการแต่งตัวตุ๊กตา และออกร้านขายเครื่องเล่น (Doll Dressing competition and Toy Fair)ว่า วันที่ ๒๕ – ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙  กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๗   เรื่อง การขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดการประกวดการแต่งตัวตุ๊กตา และการออกร้านขายเครื่องเล่น  ในวันที่ ๑๙ – ๒๔ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๖๙  เพื่อนำเงินรายได้จากการจัดงานมาบำรุง วังพญาไทให้เจริญขึ้น รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชกระแส พระราชทานพระบรมราชานุญาต
มุมองในทางตรงกันข้ามใน คอลัมน์ “เตือนนิดสะกิดหน่อย” ของนสพ.สยามรีวิว   กล่าวเสียดสีเรื่องดังกล่าวว่า
 “เมื่อสองสามวันนี้ พะเอินพบประกาศของกรมรถไฟหลวง  เรื่องงานประกวดตุ๊กกะตา แลการออกร้านเบ็ดเตล็ดที่วังพญาไท ที่แรกออกนึกขำ ในพระดำริห์ชอบของในกรมหลวงกำแพงฯ เพราะดูเค้ากระเดียดไปทางจะพยายามบำรุงหัตถกรรมและจิตรกรรมของไทย  (ตามที่ศรีกรุง สรรเสริญ)  แต่ครั้นอ่านไป ๆ เราอ๊ะ! กลายเป็นงานรื่นเริงสำหรับบรรดาศักดิ์? เสียแล้ว อนิจจา วตสังขารา ”    ...นายนาค ณ สิงโต
นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรายได้และรายจ่ายของโฮเต็ลวังพญาไทว่า   กรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯ ขอให้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๗ เกี่ยวกับรายรับรายจ่าย  นับตั้งแต่วันเริ่มเปิดทำการถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๖๘  กรมพระคลังข้างที่ขาดทุน ๑๑๕๘๒.๖๐ บาท เพราะมีคนใช้บริการน้อยแต่ต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงมาก  คาดว่าต่อไปคงจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้น     ซึ่งรัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชกระแสว่า  “ไม่ได้ทรงหวังจะให้มีกำไรแต่ต้องไม่ขาดทุน
สยามรีวิวรายสัปดาห์ รีวิวบทความเรื่องการรับรองครูและนักเรียนชาวอเมริกันที่เข้ามาเป็นแขกของรัฐบาลในกรุงเทพฯเดลิเมล์ฉบับวันที่ ๙  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ โดยลงข่าวว่า การรับรองพวกครูและนักเรียนอเมริกันในระหว่าง ๓ วันที่พักอยู่ในกรุงเทพฯนั้น  ตกราว ๖๕,๐๐๐ บาท  จำนวนนี้เป็นค่าเช่ารถยนต์เสียราว ๑๕,๐๐๐ บาท
สยามรีวิวยังได้เสียดสีว่า “พวกท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ครูและนักเรียน  ซึ่งมีจำนวนราว ๔๐ คน  ได้ออกเงินส่วนตัวในการเช่ารถยนต์  แลพักตามโฮเต็ลต่างๆ  มีรอแยลโฮเต็ล แล ออเรียนเตลโฮเต็ล เป็นอาทิ พวกนี้ได้จ่ายค่าโฮเต็ลเอง  รวมเปนจำนวนเงินราว ๒๐,๐๐๐บาท ค่ารถยนต์ต่างหาก ” (นี่เห็นจะเรียกได้ว่าช้างขี้แต่ผู้ที่ชอบขี้ตามช้างก็มีอยู่กรมเดียว คือ กรมรถไฟ- ส.ร.ว.)
 /
ภาพที่๔.๑๐ “ภาพล้อกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ฝ่าอุปสรรคเกี่ยวกับการรถไฟไทย”
ที่มา : นสพ.บางกอกการเมือง พ.ศ. ๒๔๖๗
รีวิวไทยหนุ่ม ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๖/๑๒๔๗๐ กล่าวเรื่องกรมรถไฟหลวงใช้ภาษาอังกฤษแทนภาษาไทยในราชการ
“ได้ทราบข่าวมากระทบโสตรอย่างหนึ่ง  ถ้าสมจริงก็เป็นข่าวที่ชาวเราคนไทยควรจักอนาถใจเป็นที่สุด  ด้วยตามข่าวนั้นว่าหนังสือราชการในกระทรวงพาณิชย์คมนาคมและกรมรถไฟหลวง  ซึ่งพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  เป็นเสนาบดีทรงบังคับบัญชาการอยู่นั้น  ได้มีระเบียบไว้ว่า  หนังสือราชการของทะบวงการนั้น  จักต้องแปลสำเนาภาษาอังกฤษกำกับขึ้นไปด้วย  ประการหนึ่งบันทึกราชการต้องใช้จดข้อความบันทึกด้วยภาษาฝรั่ง  ภาษาไทยเป็นอันเกือบว่าแทบจักเลิกไม่ต้องใช้ในราชการทะบวงนั้น”
ความเห็นของสยามรีวิวกล่าวว่า
“เราขอยืนยันว่าเป็นจริงทีเดียว  แต่เราทราบมาเป็นสองทางว่า  การที่กรมรถไฟหลวงนิยมใช้ภาษาอังกฤษอย่างออกหน้าออกตานั้น คือ แต่เดิมหัวหน้าการต่างๆในกรมรถไฟหลวงโดยมากเป็นชาวต่างประเทศเพราะฉะนั้นการงานต่างๆตลอดจนบรรทึกและประกาศข้อความใดๆจึงต้องใช้เป็นภาษาอังกฤษหมดเพื่อสะดวกแก่พวกหัวหน้าเหล่านั้น  และถึงเดี๋ยวนี้ (๒๔๗๐) กรมรถไฟหลวงก็ยังเป็นกรมเดียวที่มีฝรั่งทำงานอยู่มากที่สุด  เพราะฉะนั้นระเบียบเก่ายังไม่ถูกเปลี่ยนแปลง  อีกทางหนึ่งเราเคยได้ยินคนในกรมรถไฟแก้ตัวว่า  เพราะกิจการรถไฟของเราต้องติดต่อกับรถไฟในต่างประเทศ  เช่น รถของสหรัฐมลายู เป็นต้น  ฉะนั้นเราจึงต้องใช้ภาษาอังกฤษ  เพื่อใหการงานเดินเข้าหากันสนิท  แต่ข้อนี้เราฟังๆดูเรายักรู้สึกจักกระจี้รูหูชอบกล   ส่วนข้อแรกเรายังสงสัยว่า  กรมรถไฟก็ได้ส่งคนไทยออกไปเรียนวิชารถไฟเมืองนอกเข้ามาเป็นก่ายกองแล้ว  ทำไมกรมรถไฟจึงยังต้องจ้างฝรั่งทำงานอีกหรือ  ในกรมหลวงกำแพงฯยังไม่เชื่อความสามารถของคนไทยว่าจะทำได้ดีเท่าฝรั่ง? ข้อนี้ก็ยังฟังไม่สนิทอีก  แต่อย่างไรก็ดี  เรื่องไม่ชอบใช้ภาษาไทยของกรมรถไฟนี้  ยังจะมีปัญหาที่จะต้องถกกันอีกทางหนึ่ง  คือเราลองมาคิดกันเล่นๆซิว่า  ถ้าคนอื่นที่ไม่ใช่กรมกำแพงฯมาเป็นผู้บัญชาการ โรคไม่ใช้ภาษาไทยของกรมรถไฟหลวงจะหายไหม? เราเคยได้ทราบมาว่าเสด็จในกรมฯไม่ชอบใช้ภาษาไทยเป็นส่วนพระองค์ด้วย  ดังจะเห็นได้จากคำสั่งการงานและข้อหมายเหตุในการงานต่างๆของพระองค์เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น

ภาพที่ ๔.๑๑ ล้อกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  วาดโดย นายเปล่ง ไตรปิ่น
(เป็นการเสียดสีกรมพระกำแพงฯที่ดำรงตำแหน่งทั้งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม)
ที่มาของภาพ: สยามรีวิวรายสัปดาห์ รีวิวมาจาก นสพ.ไทยหนุ่ม
ภาพข้างต้นล้อกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินว่า “อย่าว่าแต่เท่านี้  ถึงอีกสองลำก็พอกระเดกไปได้หร็อกน่า”
“...กรมรถไฟแผ่นดินของเรานั้น นับได้ว่าเป็นกรมหนึ่ง  ที่สิวิลัยในทางจ่าย  การที่กรมรถไฟใช้จ่ายได้ฟุ่มเฟือย ก็ด้วยกรมรถไฟถือว่าฉันหาเงินได้มาก  ฉันก็ต้องหาเรื่องจ่ายให้สมค่าของฉัน  คลังหรือใครจะมากล่าวทักท้วงไม่ได้  เพราะมีเงินก้อนอยู่ในกำมือของกรมรถไฟเองแล้ว  ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างหัวมัน  ฉันรักจะจ่ายฉันก็ต้องจ่ายละ  ส่วนผลที่จะได้เสียสำหรับชาตินั้น  อย่าพูดถึงกันดีกว่า  เมื่อเงินใช้หมดไปก็กู้เขาเอาใหม่สิ ถ้าคนที่รักชาติจริงๆได้ตรวจดูรายจ่ายของกรมรถไฟ  เฉพาะแต่คราวที่ เสด็จในกรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯ ไปดูการรถไฟในต่างประเทศเท่านั้น  จะน้ำตาไหลไปตามๆกัน  พระองค์ท่านใช้เงินของการรถไฟเสียอร่อยเหาะ  เสด็จทั้งลูกทั้งเมียจะไม่ให้เปลืองจะเปลืองเมื่อไร  เงินของรัฐบาลสยามนั้นถ้าใครมีวาสนาขึ้น  เขาว่าท่านผู้นั้นก็มีสิทธิใช้ได้เต็มที่  เพราะสยามขาด ปาเลียเมนต์ สภาผู้แทนราษฎร...”


ภาพที่ ๔.๑๒ ภาพล้อกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินสนับสนุนการค้าต่างประเทศ
ที่มาของภาพ : สยามรีวิวรายสัปดาห์ รีวิวมาจากหนังสือพิมพ์ธงไทย
“วงศ์เฉวียง” คือนามแฝง ของนายเฉวียง เศวตะทัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ธงไทย

ภาพที ๔.๑๓  ที่มา : สยามรีวิว รีวิวมาจากนสพ.ไทย พ.ศ. ๒๔๖๙
ภาพที่ ๔.๑๔ “ภาพล้อหลวงบุณยวิทวิจารณ์ผู้ยักยอกเงินพัสดุรถไฟ”
ที่มา : นสพ. สยามรีวิว พ.ศ. ๒๔๗๐
ภาพล้อหลวงบุณยวิทวิจารณ์  เป็นบุคคลที่ยักยอกทรัพย์ของกองพัสดุรถไฟ  ภาพจาก นสพ.ผดุงราษฎร์ เล่มที่ ๓๔ ที่ ๑๘/๘/๖๙  บทความดังกล่าวถูกนำมารีวิวอีกครั้งในนสพ.สยามรีวิว ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๖๙ ดังต่อไปนี้
“เมื่อ ๓ -๔ เดือนมาแล้ว  ทางราชการกรมรถไฟได้ตรวจบาญชี  ปรากฏว่าเงินสำหรับเสียภาษีค่ารางรถไฟ  ได้ถูกหลวงบุณยวิทวิจารณ์ข้าราชการกองพัสดุกรมรถไฟยักยอกเอาไปเปนจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๑๒,๐๐๐ บาท  ความทราบถึงพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง  จึงได้ทรงเรียกหลวงบุณยวิทวิจารณ์ไปไต่สวนลับๆที่วังของพระองค์ท่าน   หลวงบุณยวิทฯได้สารภาพว่า  ได้ยักยอกเงินรายนี้ไปจริง  แต่หาได้เอาไปใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นไม่  คือ เอาไปซื้อเพชรให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่ง  วิธีการยักยอกนั้น ไม่ได้ยักยอกเป็นเงินก้อนใหญ่ในครั้งคราวเดียว  ได้ยักยอกเอาไปเพียงเดือนละ ๒๐๐ บาทเท่านั้น  เสด็จในกรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯ ได้ทรงฟังดังนั้นแล้ว  จึงรับสั่งให้นำเงินมาใช้เสียให้สิ้น  เวลานี้หลวงบุณยวิทฯ กำลังวิ่งพล่านเที่ยวหาเงินใช้  หลวงผู้นี้เป็นบุคคลที่เสด็จในกรมรถไฟทรงรักใคร่โปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง  ได้อุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงเป็นอย่างดีที่สุด  ไม่น่าจะประพฤติตนให้เป็นดังนี้เลย  ควรจะเห็นแก่เจ้านายผู้ทรงมีคุณูปการแก่ตนจึงจะชอบ”
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเห็นว่า ควรจะประเดเทโทษลงไปให้พระยาพิพิธสมบัติแต่ผู้เดียว  เพราะพระยาพิพิธสมบัติ  เป็นผู้อำนวยการกองพัสดุรถไฟ  และได้รับพระราชทานเงินเดือนมิใช่น้อย  พระยาพิพิธสมบัติได้ร่ำรวยขึ้นอักโขไม่ใช่เพราะเงินเดือนหรือ  แต่เหตุไฉนจึงไม่เอาใจใส่ตรวจตราการงานในใต้ความปกปักรักษาของตน  ปล่อยให้หลวงบุณยวิทฯปล้นเอาไปได้มากมายถึงเพียงนี้  อนึ่งการยักยอกของหลวงบุณยวิทฯนั้น ไม่ใช่กระทำเฉพาะครั้งคราวเดียว    จะได้อ้างว่าลอดหูลอดตา  แต่นี่ได้กระทำมาตั้งหลายเดือนแล้ว  ไม่มีทางที่พระยาพิพิธจะปฏิเสธว่าตนไม่บกพร่องได้
“ดูกรพระยาพิพิธสมบัติเอ๋ย จงเอาเยี่ยงหมาไว้บ้างปะไร  ผู้ที่เขาเลี้ยงหมาเขาขุนมันด้วยน้ำเข้าเท่านั้น  มันยังรักษาหน้าที่คอยระแวดระวังทรัพย์ให้เจ้าของ  แม้มีขโมยย่องเบาเข้ามาในบ้านมันก็เห่าหอนให้สัญญาณแก่เจ้าของของมันนับว่าเป็นการช่วยป้องกันคุ้มค่าน้ำเข้าได้  เงินที่หลวงบุณยวิทฯ ยักยอกไปเป็นเงินของรัฐบาล  เพราะฉะนั้นจึงนับได้ว่า   พลเมืองทุกๆคนมีส่วนเป็นเจ้าของ  เมื่อเราผู้เป็นราษฎรได้มาเห็นความเฟเลียของเจ้าคุณ ฉะนี้แล้ว จึงอดกลั้นไว้ไม่ได้จำต้องพูดออกมา  แม้การจะได้เป็นไปอย่างน่าสลดใจดังนี้แล้วก็ตาม  แต่ทว่ากรมรถไฟก็ยังไม่วายจะมีส่วนดีที่ควรจะได้รับความยกย่องชมเชย  ส่วนดีในที่นี้  ก็คือ ความสามารถในการปกปิดความลับ  อันเน่าหนอนการเงินในกองพัสดุครั้งนี้  กรมรถไฟได้ปกปิดโดยวิธีมิดชิดยิ่งนัก  เปรียบเสมือนเอาโสโครกใส่โอ่งปิดฝายาด้วยชันแล้วเก็บซ่อนไว้บนหัวนอน  แม้กลิ่นโสโครกจะระบายออกมาบ้างก็เหม็นตุ๋ยตุ๋ยอยู่เฉพาะภายในห้องนอนเท่านั้น  คนภายนอกไม่มีโอกาสล่วงรู้ได้  ถ้าแม้กรมรถไฟไม่มีความสามารถเป็นที่หนึ่งในการปิดความเน่าแล้ว  ป่านฉะนี้เรื่องคงดังยิ่งกว่าปืนเที่ยง”
นสพ. สยามรีวิว ยังมีความเห็นว่า  คนที่เจ้านายโปรดปรานนั้นหาได้เป็นคนดีทั้งหมดไม่  คนชั่วก็ทรงโปรดเหมือนกัน  เพราะหลักวิธีโปรดของเจ้าใหญ่นายโตนั้น  ท่านไม่ค่อยจะมีหลักเกณฑ์แน่นอน  อาจจะทรงโปรดเพราะผู้นั้นเข้าใจ “ยอ” ก็ได้ ฤาอาจทรงโปรดเพราะ ....ก็ได้       คุณหลวงบุณยวิทวิจารณ์ ข้าราชการกรมรถไฟ โกงเงินไป  ๑๒,๐๐๐ บาท นั่นเขาว่าเป็นคนโปรดของกรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม  ส่วนนายพันตรีหลวงพิษณุแสน โกงเงินไปอีก ๖,๐๐๐ บาท นัยว่าเป็นคนโปรดของนายพลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ อธิบดีกรมตำรวจ
นสพ.ปากกาไทย ๔/๔/๒๔๗๐ ลงข่าวว่า  “กรมรถไฟหลวงยังไม่เข็ด?”
“กรมรถไฟหลวงได้เคยถูกหลวงบุณยวิตร์ฯ พนักงานส่งของๆ กองคลังพัสดุ  กรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม ยักยอกเงินทดรองจ่ายเอาไปใช้ส่วนตัวเสีย   คดีได้ถึงที่สุดแล้วทุกคนที่เคยทราบเรื่องยังจำได้ดี  บัดนี้เราทราบว่า กองพัสดุแห่งกรมรถไฟหลวง มีนายอีไวออนสมิธ เป็นผู้อำนวยการ  ได้รายงานชี้แจงต่อกรมมีเหตุต่างๆว่า  เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยให้แก่ผู้รับเหมารับส่งของๆกองพัสดุไม่สะดวก  กองบัญชีได้ทำการตรวจสอบเข้มงวดกวดขันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  เพื่อป้องกันความรั่วไหล เช่นที่กล่าวมาแล้ว  นายอีไวออนสมิธได้ตั้งเบิกเงินทดรองจ่ายเป็นเงินจำนวนเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาทเมื่อจ่ายเท่าใดก็จะได้ส่งใบสำคัญแทนตัวเงินให้เป็นงบเดือน เกรงว่าถ้าหากเกิดสูญหายไปในทำนองหลวงบุณยวิตร์ฯอีกก็น่าเสียดายมาก”

นสพ.สยามรีวิว รีวิวภาพล้อเกี่ยวกับสถานภาพสตรี และการต่อต้านการรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก


ภาพที่  ๔.๑๕  ภาพล้อการรับวัฒนธรรมตะวันตก ของกลุ่มชนชั้นสูง
ที่มา :นสพ. สยามรีวิว รีวิวมาจาก นสพ. ธงไทย ของนายเฉวียง  เศวตะทัต
สยามรีวิวรายสัปดาห์ รีวิวบทความมาจากหนังสือพิมพ์ สตรีไทย “ม.น.ม.” เขียนความเห็นเรื่อง “การเต้นรำกับสตรีไทย”  ลงในสตรีไทยฉบับที่ ๒ ปีที่ ๑ พ.ศ.๒๔๖๙
“สตรีสมัยใหม่ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนกำลังริเต้นรำกันมากขึ้น  ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะได้ทราบข่าวว่าสตรีชาวตุรกีนิยมการเต้นรำกันกระมัง  ชาวตุรกีเป็นชาติที่ละทิ้งขนบธรรมเนียมเก่าอย่างรวดเร็ว  และเด็ดขาด เช่น เลิกธรรมเนียมคลุมหน้าของสตรี   กับเปิดโอกาสให้บุรุษ และ สตรีได้สมาคมซึ่งกันและกัน  เยี่ยงชาวยุโรป แต่สตรีของเรายังไม่เป็นเช่นนั้น”
“..การเต้นรำเป็นกีฬาที่บุรุษและสตรีต้องจับคู่สัมผัสถูกต้องเนื้อตัวซึ่งกันและกัน มีข้อวิจารณ์จากนสพ.สมัยนั้นว่าคนไทยไม่ควรเต้นรำเพราะ ๑) อากาศเมืองเราร้อน ๒) พวกเราไม่เคยชิน ๓) เกิดความรู้สึกง่าย ๔) เป็นเหตุแห่งการผิดศีลธรรมอันดี...”
ความเห็นของนสพ.สยามรีวิว กล่าวถึงปัญหาการเต้นรำที่ถกเถียงกันว่าในเมืองไทยควรเต้นหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย  ความจริงแต่ก่อนไม่เคยสนใจแต่มาเอิกเกริกในสมัยรัชกาลที่ ๖ พวกขุนนางชั้นสูงกำลังหายใจเป็นสมัยตามแบบยุโรปเป็นอย่างมาก


ภาพที่ ๔.๑๖ การต่อต้านสินค้าจากต่างประเทศ
ที่มา : นสพ. สยามรีวิว พ.ศ. ๒๔๖๙

บทสรุป

         การขยายตัวของหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ เป็นพัฒนาการสำคัญในสมัยรัชกาลที่๗ ส่งผลให้ “ความคิดเห็นของประชาชน” กลุ่มหนึ่งเติบโตขึ้น  ประชาชนดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาเป็นส่วนใหญ่  ในการพิจารณาถึงปัญหาในสมัยรัชกาลที่ ๖    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งข้อสังเกตว่า  “การมีหนังสือพิมพ์โดยเสรีทำให้เกิดปัญหามากขึ้น”    แต่ก็พบว่าในช่วงต้นรัชกาลกลับมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารในสยามเพิ่มจำนวนขึ้นถึง ๔ เท่า กล่าวคือ ก่อนปีพ.ศ. ๒๔๗๕   มีหนังสือพิมพ์ที่มิใช่ประเภทรายวันเกิดใหม่ถึง ๑๓๖ ฉบับ และประเภทรายวันเกิดใหม่ถึง ๓๕ ฉบับ   อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์หลายฉบับกลับไม่มีอิทธิพลใดๆ นักและไม่มีความรับผิดชอบด้วย  จำนวนพิมพ์ก็น้อย  และอายุการตีพิมพ์ก็สั้นจึงถูกเรียกว่าเป็นหนังสือพิมพ์ “ดอกเห็ด”
   ความนิยมชมชอบและศรัทธาของผู้อ่านหนังสือพิมพ์จากการเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ในรูปของความคิดขัดแย้งในเชิงค่อนแคะพฤติการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล เช่น  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ข่าวเสียดสีรัฐบาลและซุบซิบนินทาราชสำนักและกิจกรรมส่วนพระองค์บางเรื่อง  เช่น  ทรงโปรดการละคร  และเสือป่า    หรือ การแต่งตั้งถอดถอนพระชายาหลายๆพระองค์   ตลอดจนความร่ำรวยของหมู่ข้าราชสำนัก กรณีต่างๆเหล่านี้เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชน  หนังสือพิมพ์จึงทำหน้าที่สืบเสาะข่าวเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นได้เป็นอย่างดี  แต่เนื่องด้วยสภาวะทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมเป็นอุปสรรค การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันการเมืองการปกครองขณะนั้นจึงแสดงด้วยภาพล้อเลียนและการ์ตูนการเมืองในระดับที่ลดหลั่นกันไป
ผลจากการเปลี่ยนรัชกาลและคณะรัฐมนตรี ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะเสนาบดี พยายามสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อพระราชวงศ์  หลังจากครองราชย์ได้ไม่นานก็ทรงลดพระราชอำนาจในราชสำนักของพระองค์โดยการตั้งอภิรัฐมนตรีสภาจากพระบรมวงศานุวงศ์  อภิรัฐมนตรีสภานี้มีภารกิจในการช่วยเหลือด้านการปกครองพระราชอาณาจักร  ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการใช้นโยบายเข้มงวดทางเศรษฐกิจของรัฐบาล มีการตัดรายจ่ายงบประมาณจากกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงการปลดข้าราชการออกนับหมื่นคน  สุดท้ายแล้วพระมหากษัตริย์และคณะอภิรัฐมนตรีได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงการปกครองผ่านการปฏิรูปภาษี  การก่อตั้งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  และการตั้งผู้แทนของหน่วยงานในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
แรงผลักดันแรกเริ่มในขบวนการปฏิรูปเกิดจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย    พระราชดำรัสระยะแรกของรัชกาลที่ ๗ ต่อหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์รัฐบาลว่าราวกับเป็น  “ความเห็นของสาธารณชน”นั้น มิใช่สาเหตุแต่เป็นผลที่เกิดตามมา  ยิ่งกว่านั้น ภายใต้การตีกรอบของราชสำนัก สมาชิกจำนวนหนึ่งได้เตรียมพร้อมที่จะยอมรับว่า  การวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์นั้นไม่มีอะไรมากกว่าสิ่งที่พวกเขาพากันเรียกว่า  การเขียนเรื่องที่ “ประชาชนให้ความสนใจ”  และวิจารณ์รัฐบาลเพราะ “ประชาชนชอบ”
ดังนั้น ในรัชสมัยนี้  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและอภิรัฐมนตรีไม่เพียงจะให้ความสนใจต่อการเสนอความเห็นของบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวมถึงการกล่าวถึงความสำคัญและการแลกเปลี่ยนข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย การดำเนินการของรัฐบาลและสิ่งที่รัฐบาลมิได้ทำแต่ราชสำนักกลับเห็นว่าเป็นความปรารถนาและคำตอบของประชาชน จึงมีค่อนข้างหลากหลายซึ่ง “เป็นการเขียนหรือเป็นการคาดการณ์ได้ว่า จะปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ”
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์เช่นนี้  มิได้หมายความว่าบรรดานักหนังสือพิมพ์ยุคนั้น มีเสรีภาพที่จะเขียนตามความพอใจ   ในระยะเดือนแรกที่รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯขึ้นครองราชย์ มีการตั้งกองหนังสือพิมพ์ในกรมตำรวจ เพื่อให้นายกเทศมนตรีกรุงเทพมหานครเดินหน้าในเรื่อง “ข่าวไม่จริง หรือ ไม่พึงประสงค์”  เรื่องที่ได้รับความสนใจจะถูกส่งให้รัฐมนตรีมหาดไทยตรวจสอบโดยให้คำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ เรื่องที่ยกขึ้นมาพิจารณาและตอบโต้ข้อกล่าวหาในหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลสนับสนุน หรือ ผ่านการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามกระบวนการทางกฎหมายและการปิดหนังสือพิมพ์
มีหลักฐานว่านักหนังสือพิมพ์ ๙ คน  ถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯจึงถูกพระมหากษัตริย์ตักเตือนมิให้เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ “เรื่องส่วนตัวของบุคคลทั่วไป” หลังจากนั้นอีก ๒-๓ สัปดาห์ แผนการต่างๆในการออกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างเร่งรีบจึงถูกนำมาพิจารณาในช่วงปลายปี และบังคับใช้ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๐
อย่างไรก็ดี ชนชั้นปกครองของสยามยังคงเป็นเป้าหมายของการถูกหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แสดงออกถึงการเพิ่มอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชาติ  และยังมีการเรียกร้องอย่างกว้างขวางให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและสถาปนารัฐสภา
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่๗  มีตัวบ่งชี้จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีส่วนพยายามดำเนินการผลักดันการเลือกสรรและตัดสินใจในช่วงวิกฤต จนมีผลอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศ บทบาทสำคัญของกษัตริย์แห่งสยามในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเมื่อเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองที่ทันสมัยยิ่งขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๗  ความสัมพันธ์เปราะบางระหว่างราชวงศ์กับความเป็นชาติ ก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมิได้ทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่อง “ชาติ”   ทำให้ในหนังสือพิมพ์ได้แทรกซึมเข้ามาเผยแพร่ความคิด เรื่อง “ชาตินิยม”  แทนที่  โดยเสนอภาพว่า “เจ้าเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของชาติ”
การล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผู้อยู่หลังฉากของขบวนการดังกล่าว ในปี ๒๔๗๕ มีความสำคัญเด่นชัดมากขึ้น  ในช่วงท้ายของการเคลื่อนไหวดิ้นรนที่ขยายตัวในการปลดปล่อยความเป็นชาติไทย   จากการปกครองของศัตรูที่ทรงอิทธิพลของชาติ  เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดผู้มีอำนาจในชาติชุดใหม่  และการก่อตัวของวาระแห่งชาติแบบใหม่  ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้รวมตัวกันอย่างฉับพลันหลังปรากฏการณ์ทางการเมืองในปี ๒๔๗๕  รัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร การรณรงค์เลือกตั้งผู้แทนราษฎร ความพยายามของรัฐในการพยายามหาเหตุผลเพื่อเอาชนะใจประชาชน    ยิ่งไปกว่านั้นยังสะท้อนอยู่ในนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วยในความพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายของประเทศ การขยายระบบการศึกษาแก่ประชาชน  เร่งรัดขบวนการปรับปรุงสนธิสัญญาและ ส่งเสริมการออกมาตรการทั้งหลายในการพัฒนาและปกป้องเศรษฐกิจของชาติจากการเข้ามาครอบงำของต่างชาติ
 อย่างไรก็ตาม  การปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔  มิถุนายน ๒๔๗๕  มิใช่จุดสิ้นสุดของขบวนการนิยมตนเองเรื่องชาตินิยมของคนไทย       เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศ เพราะปรากฏอย่างชัดเจนว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  ที่บุคคลสำคัญจำนวนไม่น้อย ได้แก่ สมาชิกรัฐบาลใหม่จำนวน ๒๓ คน  รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งได้ทำเรื่องถึงกรมตำรวจเพื่อขออนุญาตพกปืนหลังปิดสภาเพียง ๓ วัน  ต่อมามีผู้ได้รับการอนุญาตพกปืน ๗ คน  รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์  ผู้นำคนหนึ่งในคณะราษฎร
การเติบโตของ “สมาคมประชาชน” หลังเหตุการณ์ ๒๔๗๕ สะท้อนให้เห็นถึงการเกิดขบวนการนิยม “เจ้า” ใต้ดิน ซึ่งรู้จักกันในนามของ”คณะกู้บ้านกู้เมือง”หรือ “คณะกู้ชาติ”  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูการปกครองโดยราชวงศ์จักรี    คอปแลนด์ระบุถึงการสนับสนุนเงินทุนจากพระราชวงศ์และภายใต้การนำของสมาชิกในระบอบเก่า  ทำให้กลุ่มคณะกู้ชาติอยู่เบื้องหลังความพยายามในการบ่อนทำลายรัฐบาลใหม่ตลอดเวลา ๑๖ เดือน  มีความพยายามในการทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในพระราชอาณาจักรโดยชุมชนชาวจีน  อาทิ การรณรงค์เพื่อสร้างแรงกดดันว่า  รัฐบาลใหม่พยายามเพิ่มพลังในการต่อต้านชาวจีน  มีอันธพาลทำตัวเป็นลูกน้องของคณะราษฎรถูกส่งไปก่อกวนผู้นำทางเศรษฐกิจ  และคนงานจีนถูกยุยงให้ประท้วงและก่อความวุ่นวาย  ในเวลาเดียวกันเริ่มมีความพยายามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันของชุมชนชาวต่างชาติว่า  สมาชิกของคณะราษฎรเป็นพวกนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยการโปรยใบปลิว  เขียนบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษและเข้าพบหัวหน้าคณะทูตชาวต่างประเทศ  ในที่สุดก็มีบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จำนวนมากเขียนและตีพิมพ์แสดงความไม่พอใจต่อทหารและรังเกียจสมาชิกของคณะราษฎร  เขียนโดยกลุ่มที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้น และผู้นำกลุ่มเป็นนักวิชาการที่แสดงออกเรื่องผลประโยชน์ของตนเองด้านเดียว  มิใช่ผลประโยชน์ของชาติตามที่กล่าวอ้าง  ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวนี้  เงินทุนที่ถูกให้มา ท่ามกลางเสียงลือว่าฝ่ายผู้ภักดีต่อคณะราษฎรต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรง  จากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา  หัวหน้าคณะราษฎรตักเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะถูกลอบสังหาร  การหาโอกาสประท้วงของปัจเจกชน  และมีรายงานว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนแบบนองเลือดในช่วงต้นเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนและ ต้นเดือนตุลาคม
ในเวลาเดียวกันมีข่าวแพร่ออกไปในกรุงเทพฯว่า  อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังจะเข้ามาแทรกแซงโดยสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์ดังเป็นข่าวลือที่ออกมาจากฝ่ายนิยมเจ้า  ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงกลางเดือนกันยายน  กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฐ์ พระสัสสุระ (พ่อตา) ของรัชกาลที่ ๗ ประกาศทางหนังสือพิมพ์ว่า  รัชกาลที่ ๗  ร่วมมือกับรัฐบาลใหม่เพียงเพื่อจะขัดขวาง  “การแทรกแซงบางอย่าง” ของอังกฤษและฝรั่งเศส  ซึ่งผู้นำของชาติทั้งสองไม่ยอมรับความพยายามในการก่อตั้งระบอบสาธารณรัฐ  ยิ่งไปกว่านั้นมากกว่าหนึ่งครั้งที่รัชกาลที่ ๗ ทรงเรียกที่ปรึกษาการคลังชาวอังกฤษเข้าพบเป็นการส่วนพระองค์  เพื่อที่จะหาทางแทรกแซงนโยบายของรัฐบาลใหม่
ด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในเดือนธันวาคม  ปรากฏการณ์การต่อสู้ระหว่างฝ่ายสนับสนุนระบอบเก่ากับระบอบใหม่ได้เกิดขึ้นภายใต้การปกครองที่มีระบบหลายพรรคการเมือง  กล่าวกันว่า สมาชิกหลายคนของคณะกู้ชาติได้ไปชุมนุมที่วังของกรมพระสวัสดิ์ฯเพื่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา  แล้วให้ชื่อว่า  พรรคคณะชาติ  (กลุ่มคณะชาติ กลุ่มชาตินิยม)  ในเวลาเดียวกันนั้น นายปรีดี พนมยงค์ก่อตัวพรรคแรงงาน โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง คือ ผู้นำของคณะราษฎรส่วนหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม ในปลายเดือนมกราคม  รัชกาลที่ ๗ ได้ประกาศอย่างกะทันหันว่า  พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองแบบไม่ต่อเนื่องและทรงมีพระราชประสงค์ให้ยกเลิกกลุ่มการเมืองต่างๆเสีย  มีการยกคำกล่าวของรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ๓๐ ปีก่อนหน้านี้  พระองค์ทรงยืนยันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจต่อการปกครองระบอบรัฐสภา  ทำให้เห็นว่า  พรรคการเมืองจะทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศชาติ  ดังนั้นแทนที่จะอนุญาตให้ตั้งพรรคคณะชาติ  พระองค์จึงเสนอว่า  ให้ยุบกลุ่มการเมืองของประชาชนลงในทันทีทันใดเสีย   อย่างกระทบกระเทียบเปรียบเปรยว่า  กษัตริย์พระองค์นี้ทรงพยายามบูรณะภาพลักษณ์ภายนอกของความสามัคคีในสยาม  โดยตั้งเวทีให้แก่การแตกแยก  ในช่วงเวลา ๘ เดือนที่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมปิดประชุมสภาโดยมิได้แก้ไขปัญหาที่คั่งค้าง  การแขวนรัฐธรรมนูญและเนรเทศคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา  ก่อนจะถูกขับไล่อีกโดยคณะรัฐประหารซึ่งต้องการฟื้นฟูอำนาจของรัฐบาลเก่าอีกครั้ง    หลังจากนั้นไม่นานระบบที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่อีกครั้งก็ถูกจับโยนเข้าไปสู่สภาวะวุ่นวายทางการเมือง  เมื่อผู้สนับสนุนคณะกู้ชาติเคลื่อนกำลังพลของตนเองจากต่างจังหวัดเข้ามา  ถือเป็นการก่อความไม่สงบโดยใช้กำลังทหารติดอาวุธ (กบฏทหาร)  การกบฏครั้งนั้นเป็นวิกฤตการณ์ครั้งหลังสุด  ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองที่เริ่มจากกระบวนการรัฐประหาร ๒๔๗๕  ถูกนำไปสู่จุดจบโดยทิ้งให้คณะราษฎรปกครองประเทศอย่างเต็มที่    กระนั้นก็ตามมากกว่าสิบปีต่อมา  พรรคการเมืองที่รัฐบาลหนุนหลังยังคงถูกรบกวนด้วยแผนการลอบสังหาร  ความพยายามในการทำรัฐประหารและกบฏทหารย่อยๆหลายต่อหลายครั้ง  ไม่น่าประหลาดใจเลยว่ารัฐบาลชาตินิยมชุดใหม่ถูกสถาปนาขึ้นมาโดยบริบททางประวัติศาสตร์  ผลของความยุ่งยากทางการเมืองระหว่างพ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖  แนวคิดประชาธิปไตย ชุมชนทางการเมืองที่แตกต่างกัน  ความหมายของคำว่า “ชาติ”  จากทุกกลุ่มมีความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไป  ในที่นี้มีข้อสังเกตที่เพียงพอที่จะระบุถึงความเปลี่ยนแปลงของความคิดของผู้นำทหารชาวสยามในช่วงนี้  เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเปิดเป็นครั้งแรก  ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕  มีพิธีเปิดอย่างย่อๆโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาเพื่อปลดอำนาจของทหารออกไปจากการเมือง  ซึ่งเพิ่งจะยึดอำนาจมาจากกษัตริย์ได้ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น  หลังสิ้นปี ๒๔๗๖ อย่างไรก็ตามผู้นำทางการทหารก็ไม่ต้องคล้อยตามอำนาจฝ่ายพลเรือนอีกต่อไป การกระจายเสียงทางวิทยุเมื่อเมื่อปลายเดือนตุลาคม  รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหม่ หลวงรณสิทธิ์พิชัย  ยืนยันว่า กองทัพไม่อาจถูกคาดหวังที่จะทนอยู่ห่างจากการเมืองในช่วงเวลานี้  เมื่อ “การรักษาความสงบ”  ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศไปแล้ง  ระหว่างนักการเมืองที่รับตำแหน่ง กับทหารผู้ซึ่งต่อสู้เพื่อชาติอย่างเดียว  เขาได้ตำหนินักการเมืองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งตลอด ๑๖ เดือนก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่า ทหารจะเป็นผู้ชี้ขาดขั้นสุดท้ายในเรื่องของชาติ  ทั้งนี้ด้วย “การสนับสนุนรัฐบาลที่ดี และจะขจัดรัฐบาลที่เลวออกไป”   การเข้ามาในเวทีการเมืองระดับชาติของทหารยังทำให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางว่า  อังกฤษและฝรั่งเศสจะเข้ามาแทรกแซงภายใต้การดำเนินงานผ่านกษัตริย์โดยมีเสียงวิจารณ์บ่อยครั้งว่า  ประเทศทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ชาวไทย  จึงไม่น่าแปลกใจว่าสมาชิกของรัฐบาลใหม่พยายามตีตนออกห่างจากนโยบายต่างประเทศที่หันหน้าเข้าหาชาติยุโรปของรัฐบาลราชสำนักจักรี  อย่างไรก็ตาม  มีการตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่เดือนแรกๆของปี ๒๔๗๖  เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทหารผู้สนับสนุนกลุ่มคณะราษฎรวางแผนก่อการรัฐประหารครั้งที่ ๒  เพื่อสามารถควบคุมการปกครองทางการเมืองของประเทศไม่ให้ถูกแทรกแซงจากกองทัพต่างชาติ ทำให้พันเอกหลวงพิบูลสงครามและนายทหารอื่นๆเข้าพบทูตญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการทหาร  แม้ว่ารัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม โดยที่เขาแสดงความเห็นใจต่อเป้าหมายของผู้ร่วมอุดมการณ์ดังกล่าวและขอให้กลับมาติดต่ออีกครั้งเมื่อแผนการของพวกเขาประสบความสำเร็จ  ผลที่ตามมาคือ ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗  รัฐมนตรีผู้นี้ได้รับการเรียกเข้าร่วมประชุมครั้งที่ ๒  กับหัวหน้าคณะรัฐประหาร คือ  พระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงพิบูลสงครามเป็นการเปิดทางให้สยามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
นักวิชาการต่างประเทศอาจนำเสนอให้เกิดความรู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงพ.ศ.๒๔๗๕ เกิดจากพลังของขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ คือ “The People Party”  โดยอ้างหลักฐานจากการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ความเป็นไปด้านต่างๆข้างต้น รวมถึงความขัดแย้งทางความคิดระหว่างรัฐบาล (เจ้านาย ขุนนาง) กับ ปัญญาชน (ข้าราชการหัวก้าวหน้าและนักคิดนักเขียน) ภายใต้การประจักษ์ของผู้รู้หนังสือ หรือ ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารการบ้านการเมือง อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ให้ลึกถึงการแพร่หลายของผลกระทบที่เกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์โดยคำนึงถึงจำนวนการตีพิมพ์จำหน่ายของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะพบว่า มีผู้รู้หนังสือเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่สามารถรับ “สื่อ” ทางความคิดได้จากหนังสือพิมพ์เหล่านี้
ดังนั้น  บันไดซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ นอกเหนือจากจะใช้มายาภาพของการ์ตูนการเมืองมาเป็นเครื่องมือบั่นทอนความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังมีการใช้ “กลลวง” กับกำลังทหารของฝ่ายตนว่าเป็นการเคลื่อนกำลังไป “ฝึก” ภารกิจทางยุทธวิธี เพื่อรักษาความลับมิให้แพร่งพรายออกไปอย่างได้ผลอีกด้วย
การ์ตูนการเมืองจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญไม่น้อยกว่าศิลปะแขนงต่างๆ ที่เคยถูกนำไปใช้ทางการเมืองอย่างหลากหลายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาทิ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ลำตัดการเมือง ตะลุงการเมือง โขนการเมืองและงิ้วการเมือง เป็นต้น

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

บทความ หนังสือและวิทยานิพนธ์

คณะทำงานประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย. สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย.
กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๙.
ชัยอนันต์  สมุทวณิช. เทียนวรรณ  และ ก.ศ.ร.กุหลาบ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ,๒๕๒๔.
ชาญชัย  รัตนวิบูลย์. “บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,๒๕๑๙.
นครินทร์  เมฆไตรรัตน์.  “ประวิติศาสตร์ภูมิปัญญาของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสยาม
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๘๐.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย๒๕๒๘.,
_______________ .”ความคิด  ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฎิวัติสยาม ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้ง  ที่ ๒
แก้ไขเพิ่มเติมกรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน ,๒๕๔๖.
_______________.  “ขบวนการปัญญาชนในสมัยรัชกาลที่๗” เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ
สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ประวัติศาสตร์สังคม : มิติใหม่ทางการศึกษารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๒-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗.
เบนจามิน เจ บัทสัน. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. แปลโดย กาญจนี ละอองศรี และคณะ
กรุงเทพฯ :    มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,๒๕๔๓.
พรภิรมณ์  เอี่ยมธรรม. บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.
๒๔๗๕ ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,๒๕๒๐.
พรทิพย์  ดีสมโชค. แนวความคิดและวิธีการสื่อสารการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
เจ้าอยู่หัว ระหว่างพ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๓.
ระวีวรรณ  ประกอบผล. นิตยสารไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัยจุฬาลงกรณ์  ,
๒๕๓๐.
วรรณพงษ์ หงษ์จินดา “การ์ตูนการเมือง เรื่อง SERIOUS หรือขำขัน”  ศิลปวัฒนธรรรม:๑๖,๙  ก.ค.๒๕๓๘.
เสลา  เรขะรุจิ. ๑ ศตวรรษ หนังสือพิมพ์ไทย. กรุงเทพ : ดอกหญ้า ๒๕๔๓, ๒๕๔๔.
สมบัติ  พลายน้อย. เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คอหนังสือ, ๒๕๔๖.
สุกัญญา  ตีระวนิช. ประวัติการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ.
๒๔๒๕-๒๔๗๕) กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๐.
สุชาติ  สวัสดิศรี,บรรณาธิการ. เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้น “สุภาพบุรุษ” นักเขียน นักประพันธ์ นัก
หนังสือพิมพ์.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แอลทีเพรส, ๒๕๕๓.
   สุภาพันธ์  บุญสะอาด. ประวัติหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย.กรุงเทพฯ:บรรณกิจ, ๒๕๑๗.
อัจฉราพร  กมุทพิสมัย. ปัญหาภายในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕  :  ภาพสะท้อนจากงานเขียนทาง
หนังสือพิมพ์. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๓๒
_______________, “หนังสือพิมพ์ในสังคมการเมืองไทย : กรณีศึกษาก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕“ ใน ๓๐ ปี
ไทยคดีศึกษา ที่ระลึกในวโรกาส สถาบันไทยคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุครบ ๓๐ ปี ๓ มีนาคม ๒๕๔๔


เอกสารกองจดหมายเหตุแห่งชาติ

เอกสารรัชกาลที่ ๗  หมายเลขไมโครฟิล์ม ม.ร.๗ รล. /๒๗ , “หนังสือพิมพ์ในประเทศไทย”
๑๙.๑  หนังสือพิมพ์ข่าว  (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๕)
๑๙.๖  เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศถึงเจ้าพระยามหิธร เรื่องจัดการกับหนังสือพิมพ์ต่างๆ(๒๓ ม.ค.๒๔๗๐)
เอกสารส่วนบุคคลของนายเอก วีสกุล   สบ.๙.๒.๒ /๑๕ ,หนังสือพิมพ์สยามรีวิวรายสัปดาห์ (พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๐)

ภาษาอังกฤษ

Batson ,Benjamin  A., The End of  the  Absolute Monarchy in Siam.  Singapor : Oxford University
Press,1984.
Matthew, Phillip  Copeland, Contested  Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute
Monarchy in Siam.  Thesis  submitted  for the degree of Doctor of Philosophy of the Australian national university , 1993.






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...