ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เมื่อองค์ประชาธิปกเสด็จประพาส “โลกใหม่”


ขอบคุณบทความจาก รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพลและคุณภาพิศุทธิ์ สายจำปา




        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จประพาสต่างประเทศถึง 4 ครั้งใน 9 ปี แห่งรัชกาล เกี่ยวกับ 2 ครั้งแรกสู่สิงคโปร์ ชวา และบาหลี (เกาะหลัก ๆ ของอินโดนีเซียในปัจจุบัน) ใน พ.ศ. 2472 และอินโดจีนของฝรั่งเศส  เฉพาะเวียดนามและกัมพูชา ใน พ.ศ. 2473 มีการพรรณาและวิเคราะห์ในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้แล้วในบทความ “เมื่อองค์ประชาธิปกทรงกรุยทางสู่อาเซียน “ของ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ     ชุมพล (พฤทธิสาณ 2561)

        ในบทความนี้ จึงจะพิจารณาการเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งที่ 3 สู่สหรัฐ อเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2473-2474 ให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นในบริบทของ“หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของประวัติศาสตร์ทั้งของโลกและของสยาม/ไทยอย่างไร และมีนัยสำคัญอย่างไรในประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

        ความพิเศษของบทความนี้อยู่ที่การใช้ข้อมูลกฤตภาคหรือข่าวตัดหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่รายงานพระราชกรณียกิจระหว่างการเสด็จประพาสครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากครั้งอื่น ๆ ตรงที่ไม่มีจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินที่เป็นทางการให้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ



บริบทของการเสด็จประพาส

        “โลกใหม่” หรือ “The New World” เป็นคำที่ชาวยุโรปสมัยก่อนใช้เรียกทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งพวกเขาได้ข้ามมหาสมุทรปาซิฟิกไป “บุกเบิก” ผู้เขียนเลือกใช้คำนี้ในชื่อของบทความก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าในสมัยที่เสด็จประพาสนั้น สหรัฐอเมริกากำลังตั้งเค้าว่าจะพัฒนามาเป็น “เอกมหาอำนาจ” ในโลกแทนบรรดาประเทศยุโรป เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส นอกจากนั้น การเสด็จพระพาสครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์สยาม/ไทยผู้ทรงราชสมบัติอยู่ จึงนับว่าเป็นปรากฎการณ์ “ใหม่” และแสดงว่าสยามได้ตระหนักว่าต้องปรับตัวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เหมาะสมแก่กาลที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตนอยู่รอดปลอดภัยและมีความเจริญยิ่งขึ้น

        แต่สหรัฐอเมริกานั้น มิใช่ว่าองค์ประชาธิปกจะมิได้เคยเสด็จมาก่อน ด้วยใน พ.ศ. 2467 เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ พระองค์และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายาได้เสด็จเยือนในเส้นทางเสด็จกลับจากฝรั่งเศส ซึ่งเสด็จไปเพื่อทรงรักษาพระวรกายและทรงศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก การเสด็จกลับผ่านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในครั้งนั้นเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสนั้น ได้ทรงพบปะกับบุคคลต่าง ๆ และทอดพระเนตรความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและภูมิประเทศในสหรัฐฯ ทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตก (รัฐสภา 2524: 39-42) พระประสบการณ์ทั้งที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในครั้งนั้น เพียงหนึ่งปีก่อนที่จะได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงเป็นพื้นฐานสำหรับการเสด็จประพาสในครั้งนี้

        สภาวการณ์ในประเทศสยามในขณะนั้น เป็นในช่วงของการที่ต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ซึ่งมีจุดปะทุขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อตลาดหุ้นล่มในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2472 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสยามในปีต่อมา เพราะความต้องการข้าว สินค้าส่งออกหลักของสยามในตลาดโลกลดลง ทั้งราคาข้าวก็ตกต่ำลงด้วย รัฐบาลของพระองค์จึงต้องทุ่มสรรพกำลังแก้ปัญหา (พอพันธ์ 2558: 29-43 และบทที่ 3)

        หากแต่การเสด็จประพาสมีความจำเป็นเนื่องด้วยต้อกระจกในพระเนตรซ้ายได้แสดงอาการมาประมาณ 6 ปี ก่อนหน้าแล้ว การผ่าตัดประเภทนี้ยังทำในประเทศไม่ได้ (ภาพิศุทธิ์ 2558: 71-73) นอกจากนั้น ยังต้องพระราชประสงค์จะทรงศึกษากิจการงานของแต่ละประเทศในเส้นทางเสด็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ตลอดจนการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ (ภาพิศุทธิ์ 2558: 64)

        ในแง่ของประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้ว่าสยามจะเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่สหรัฐอเมริกาทำสนธิสัญญาทางไมตรีด้วยก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระดับรัฐกับรัฐไม่ได้มีพัฒนาการสำคัญมากนักตลอดช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 แต่คณะมิชชันนารีอเมริกันได้เข้ามามีบทบาทมาก ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ และการสาธารณสุข ครั้นในคริสตศตวรรษที่ 20 สยามเห็นว่าสหรัฐฯ จะเป็นพลังแห่งอนาคตในเอเชีย แต่ไม่ได้มีนโยบายจะเอาสยามเป็นเมืองขึ้น ความเข้าใจเช่นนี้มีส่วนทำให้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สยามได้ว่าจ้างชาวอเมริกันเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งภายหลังเรียกว่าที่ปรึกษาการต่างประเทศ ต่อเนื่องมาหลายคน          (ธีระ 2559 ก.: 156-163)

        แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 อังกฤษจะยังไม่ได้มองว่าสหรัฐอเมริกาเป็นคู่แข่งของตนก็ตาม แต่อังกฤษก็เฝ้ามองอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ในสยามอยู่ ทั้งบทบาทของคณะมิชชันนารี การขยายการค้า และการมีนักเรียนไทยไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ มากขึ้น ครั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2473 ข้าหลวงใหญ่แห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐฯ ได้มาเยือนสยามอย่างเป็นทางการ นับว่าเป็น สิ่งบ่งบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐกำลังพัฒนาขึ้น (ธีระ 2559 ก.: 166)

        สำหรับประเทศแคนาดานั้น ใน พ.ศ.  2474 ที่เสด็จประพาสเพิ่งได้รับการยอมรับจากอังกฤษ เจ้าอาณานิคมเดิม ว่ามีความเท่าเทียมกับตนในฐานะประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ  หากแต่อังกฤษยังคงไว้ซึ่งอำนาจเชิงรัฐธรรมนูญบางประการ ดังนั้น การติดต่อเพื่อเตรียมการเสด็จประพาส จึงยังเป็นผ่านลอนดอน (ภาพิศุทธิ์ 2558: 66) สยามกับแคนาดายังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันในขณะนั้น

         ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า การแก้ไขสนธิสัญญาใน พ.ศ. 2467 ได้เปิดโอกาสให้มีการขยายการค้าและการเดินเรือมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สยามนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ด้วยมีราคาย่อมเยากว่าของตะวันตก ในขณะเดียวกันญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาอุตสาหกรรมและกองทัพได้มีแนวนโยบายแผ่อิทธิพลในแถวเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สยามจึงมีความหวาดระแวงญี่ปุ่นอยู่บ้าง (ภาพิศุทธิ์ 2558: 68)

        ในภาพรวม สยามไม่ต้องการให้มหาอำนาจชาติหนึ่งชาติใดมามีอิทธิพลโดดเด่นมากเกินไป ทิศทางนโยบายต่างประเทศจึงเป็นการพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความขัดแย้ง กรณีความขัดแย้งของญี่ปุ่นกับจีนเกี่ยวกับแมนจูเรียซึ่งเริ่มคุกรุ่นในช่วงที่กำลังจะเสด็จผ่านดินแดนของทั้งสองประเทศ ไปสหรัฐอเมริกา จึงเป็นจุดทดสอบชั้นเชิงทางการทูตของสยาม และรัฐบาลสยามก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ชาวจีนในสยามแสดงความเคียดแค้นต่อญี่ปุ่นจนเกิดความระส่ำระสายในบ้านเมือง แนวการวางตัวเป็นกลางนี้ สยามได้ยืดถือต่อเนื่องมา จึงได้งดออกเสียง ในการลงมติของสันนิบาตชาติใน พ.ศ. 2476 เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น (ธีระ 2559 ก.: 170-173 และ 362-363)

การเตรียมการเสด็จประพาสและการประชาสัมพันธ์

        การเตรียมการเสด็จฯ ครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวลานานถึง 7 เดือน เนื่องจากต้องมีระยะเวลาการเดินทางนานและในการทรงพักพื้นหลังการผ่าตัดพระเนตร จึงมีรายละเอียดแตกต่างจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา สู่สิงคโปร์ ชวา และบาหลีใน พ.ศ. 2472 และอินโดจีนของฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2473

        มีพระราชดำรัสสั่งให้ใช้เงินพระคลังมหาสมบัติ คือ งบประมาณแผ่นดินเป็น เงินค่ารักษาพระองค์จำนวน 100,000 บาท ที่จัดไว้ในงบประมาณประจำปีสำหรับการเสด็จประพาส นอกนั้นให้จ่ายจากเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งถือเป็นเงินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และให้ใช้อย่างประหยัด เช่นว่า ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชินีก็ให้จัดหาภายในประเทศ เว้นบางรายการที่ไม่มีจำหน่าย จึงจะทรงจัดหาที่สหรัฐอเมริกา และเครื่องแต่งกายข้าราชบริพารก็ให้จัดให้เหมาะแก่หน้าที่ ไม่ใช่ตามชั้นยศ และให้มีแต่นางสนองพระโอษฐ์ ไม่มีนางพระกำนัลตามเสด็จสมเด็จฯ ผู้โดยเสด็จมีทั้งหมดเพียง 13 ท่าน/คน เป็นต้น (ภาพิศุทธิ์ 2558; 74-77) สำหรับที่ประทับที่สหรัฐอเมริกานั้น เนื่องจากต้องประทับเข้ารับการผ่าตัดและทรงพักพื้นอยู่นานเป็นเดือน จึงต้องไม่เป็นที่โรงแรม ในที่สุดได้คฤหาสน์โอฟีร์ ฮอลล์ (Ophir Hall) มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเจ้าของถวายเป็นที่ประทับโดยไม่คิดมูลค่า (ภาพิศุทธิ์ 2558: 77)



การทำการประชาสัมพันธ์การเสด็จประพาส

        สิ่งที่น่าสังเกตมากก็คือ  ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาการต่างประเทศของสยามชาวอเมริกัน ล่วงหน้าไปทำการประชาสัมพันธ์ประเทศสยามและพระราชกรณียกิจ โดยมีนายราลฟ์ เฮส์ (Ralph Hayes) เป็นผู้ช่วย ทำข่าวแจก (press releases) บรรยายตามสมาคมสโมสรต่าง ๆ แล้วรวบรวมตัดข่าวที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานเกี่ยวกับการเสด็จประพาสเป็นการแสดงผลงาน ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระยะ ๆ จดหมายนำของทั้งสองในนาม “Committee of American Friends of Siam” ปรากฎข้อความ “To T.R.H. The Prince and Princess of Sukhodaya” ซึ่งก็คือพระนามในพระราชสถานะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา คำศัพท์ที่โปรดเกล้าฯให้ใช้ในระหว่างการเสด็จประพาสอย่างที่ภาษาการทูตเรียกว่า “incognito” หรือ “ไม่แสดงพระองค์” เพราะการเสด็จฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะเป็นทางการหรือ “official visit[1]

        การนี้น่าจะแสดงด้วยว่า การทำการประชาสัมพันธ์นี้ใช้งบประมาณจาก   พระคลังข้างที่ ทั้งยังพบว่า สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระชนกสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ และพระชายา โดยเสด็จฯในครั้งนี้ และปรากฎว่าทรงมีบทบาทบางประการในส่วนที่สัมพันธ์กับสื่อมวลชน อีกทั้งแฟ้มเอกสารกฤตภาคเหล่านี้ ซึ่งผนวกรวมที่จัดทำโดยนายวิลเลี่ยม เจ.เอ็ม. วัตสัน อาร์มสตรอง (William J.M.Watson Armstrong) แห่งสถานกงสุลใหญ่สยามประจำเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ประเทศแคนาดา ซึ่งสมเด็จ    พระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเก็บรักษาไว้ จนเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว จึงได้มีการมอบแก่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันให้บริการในชื่อ “เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7 ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. 2473-2474” (ดูภาพิศุทธิ์ 2558: บทที่ 2)

        การที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะในกาลครั้งนั้น ประชาชนชาวอเมริกันยังไม่ค่อยรู้จักประเทศสยาม หรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย[2] และที่สำคัญ แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่เพียงแต่จะทรงเห็นดังที่ทรงไว้ในประเทศว่า “หนังสือพิมพ์เป็นหลักสำคัญของบ้านเมืองสมัยปัจจุบัน (และ) เป็นเครื่องมือสื่อให้เห็นฐานะแห่งน้ำใจของชาติได้อันหนึ่ง” (อ้างใน พรทิพย์ 2554: 198) เท่านั้น หากทรงเห็นประโยชน์ของหนังสือพิมพ์ในการทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและอันดีต่อกันระหว่างประเทศด้วย ซึ่งในระหว่างที่ประทับอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้โปรดเกล้าฯให้ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันได้เข้าเฝ้าฯ และได้พระราชทานสัมภาษณ์ ณ โอฟีร์ฮอลล์ ด้วย ดังจะได้นำเสนอต่อไป



        โดยที่ไม่ปรากฎมีจดหมายเหตุระยะทางเสด็จประพาสที่เป็นทางการ แตกต่างจากกรณีเสด็จประพาสต่างประเทศอีก 3 ครั้ง แฟ้มกฤตภาคที่กล่าวถึงนี้จึงเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิที่สำคัญ ซึ่งภาพิศุทธิ์ สายจำปาได้ใช้ในการเรียบเรียงลำดับระยะทางและพระราชกรณียกิจ (ภาพิศุทธิ์ 2558) ทำให้ได้สาระความมากขึ้นกว่าที่เคยทราบมาก่อนอย่างมีนัยสำคัญ[3] แต่ก็อาจศึกษาเพิ่มเติมได้อีกโดยเฉพาะโดยการอ่านข่าวให้ละเอียดขึ้น ซึ่งต้องใช้ความพยายามและเวลา บทความนี้ทำได้แต่เพียงการนำงานของภาพิศุทธิ์มาเรียบเรียงใหม่ให้กระชับและเหมาะสำหรับผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลที่มีสีสันและขยายความในบางกรณี



เส้นทางเสด็จประพาส

        การเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือเดินสมุทร รถไฟและรถยนตร์ เส้นทางเที่ยวไปจากกรุงเทพฯสู่เกาะสีชังเป็นโดยเรือ พระที่นั่งมหาจักรี ณ ที่นั้นเสด็จฯ โดยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ชื่อว่า ซีแลนเดีย (Selandia) ของบริษัทอีสต์เอเชียติคของเดนมาร์ก ทรงแวะที่อ่าวฮาลอง (Halong Bay) เวียดนามตอนเหนือในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่ซึ่งไม่ได้เสด็จไปถึงเมื่อเสด็จประพาสอินโดจีนใน พ.ศ. 2473 แล้วต่อไปยังฮ่องกงของอังกฤษ ที่ซึ่งเปลี่ยนเป็นประทับเรือเอ็มเพรสออฟแจแปน (Empress of Japan) ของบริษัทแคเนเดียน ปาซิฟิค (Canadian Pacific) ของแคนาดาต่อไปยังนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ของสาธารณรัฐจีน ประทับค้างคืนบนเรือแล้วจึงเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ที่ซึ่งเสด็จประพาสอยู่ 4 วัน จึงข้ามมหาสมุทรปาซิฟิคไปยังเมืองวิคตอเรีย (Victoria) และต่อไปยังเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ทางฝั่งตะวันตกของประเทศแคนาดา จากนั้นประทับรถไฟเข้าสู่สหรัฐอเมริกาและรถยนตร์สู่ที่ประทับ ณ โอฟีร์ ฮอลล์ ในมลรัฐนิวยอร์คใกล้ไปทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ประทับอยู่ในประเทศนั้นประมาณ 4 เดือน

        เส้นทางเที่ยวเสด็จฯ กลับ ประทับรถไฟขึ้นเหนือเข้าสู่ประเทศแคนาดา เสด็จประพาสแคนาดาตะวันออกและเมืองมอนตรีออล (Montreal) แคว้นควิเบค (Quebec) ก่อนที่จะเสด็จไปทางทิศตะวันตกสู่กรุงออตตาวา (Ottawa) แคว้นออนแตริโอ (Ontario) และต่อไปผ่านเมืองวินนิเพค (Winnepeg) แคว้นมานิโตบา (Manitoba) ไปยังอุทยานแห่งชาติหุบเขาแบมฟฟ์ (Banff National Park)  ในแคว้นอัลเบอร์ตา (Alberta) ที่ซึ่งประทับอยู่หลายวัน จึงเสด็จฯ ต่อไปยังเมืองวิคตอเรีย (Victoria) แคว้น บริติช โคลัมเบีย (British Columbia) เพื่อเสด็จฯลงเรือเอมเพรสออฟแคนาดา (Empress of Canada) สู่เกาะฮาวาย (Hawaii) ของสหรัฐอเมริกา ประทับหนึ่งคืนที่เมืองฮอนโนลูลู (Honolulu)  แล้วเสด็จฯโดยเรือลำเดิมสู่ญี่ปุ่น ที่ซึ่งเสด็จประพาสอีกครั้งเป็นเวลา 3 วัน จึงประทับเรือซีแลนเดียผ่านเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกงอีกครั้ง สู่เกาะสีชัง แล้วเสด็จนิวัติพระนครโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ภาพิศุทธิ์ 2558: 81 และต่อเนื่อง)

        ทั้งหมดเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2473 (พ.ศ. 2474 ตามปฏิทินปัจจุบัน) และวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 นับเป็นเวลา 7 เดือน ซึ่งรวมระยะเวลาเดินทางโดยทางเรือประมาณ 2 เดือน เห็นได้ว่าการเดินทางในสมัยนั้นไม่ได้ง่ายหรือรวดเร็ว แตกต่างมากจากปัจจุบันที่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ สู่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯได้ในเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งในสมัยนั้นยังต้องประสานเรื่องเรือพระราชพาหนะให้สอดคล้องต้องเวลากัน



พระราชกรณียกิจในประเทศเอเชียในเส้นทางเสด็จฯ

        ที่อ่าวฮาลองและฮ่องกง คณะผู้แทนผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสและอังกฤษตามลำดับได้จัดการรับเสด็จฯอย่างสมพระเกียรติ แม้ว่าจะเป็นการเสด็จฯผ่านอย่างไม่เป็นทางการก็ตาม สำหรับที่เซี่ยงไฮ้นั้น ก่อนหน้าที่จะเสด็จฯออกไป ทางรัฐบาลสาธารณรัฐจีนสื่อสารมาว่า ใคร่จะเชิญเสด็จฯแวะยังกรุงนานกิง (Nanking) เมืองหลวงในขณะนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ตอบขอบใจ แต่อธิบายว่าไม่อาจแวะนานวันได้ เพราะอาการแห่งพระเนตรต้องให้แพทย์ในสหรัฐอเมริกาตรวจตัดผ่าเป็นการรีบร้อน นับว่าเป็นวิถีทางการทูตที่พอเหมาะไม่ให้เสียไมตรี (ภาพิศุทธิ์ 258: 120) เมื่อเสด็จฯถึงนครเซี่ยงไฮ้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนได้มารับเสด็จฯ ในนามของประธานาธิบดี นายพลเอกเจียงไคเช็ค (Chiang Kai Chek) มีการยิงสลุต 21 นัด ถวายอย่างเต็มยศและมีทหารกองเกียรติยศ ทั้งยังได้จัดเรือกลไฟเล็กพาเสด็จทอดพระเนตรเมืองทางชลมารค สำหรับในเที่ยวเสด็จกลับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์มาเฝ้าฯ ในนามประธานาธิบดีแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งถูกประทุษร้ายบาดเจ็บ เรือไฟในน่านน้ำประดับธงเฉลิมพระเกียรติยศ แสดงว่ารัฐบาลสาธารณรัฐจีนประสงค์จะมีความสัมพันธ์อันดีกับสยาม แม้ว่าจะปรากฎว่าได้เสด็จขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3-4 วัน ในแต่ละเที่ยวไปกลับ

        สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น ด้วย “ทรงวิสาสะคุ้นเคยมาแต่ก่อนครั้งเมื่อยังไม่ได้เสวยราชสมบัติ ทั้งสองพระองค์” จึงจะทรงแวะเพื่อทรงเยี่ยมเยียนสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ แต่ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขอให้ทางฝ่ายญี่ปุ่นไม่จัดการรับเสด็จฯอย่างเป็นทางการ (อ้างใน ภาพิศุทธิ์ 2558: 120-121) ความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติต่อสาธารณรัฐจีนกับต่อญี่ปุ่นซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินจึงเป็นที่เข้าใจได้ นอกจากนั้นยังต้องพระราชประสงค์เป็นพิเศษที่จะได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปไดบัตสุ (Daibutsu) องค์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่เมืองกามากุระ (Kamakura) ด้วย (อ้างใน ภาพิศุทธิ์ 2558: 142) พระราชกรณียกิจที่ญี่ปุ่นจึงเป็นเนื่องด้วยพระราชไมตรีกับพระราชวงศ์และการศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนา และไม่ปรากฎมีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือการปกครอง

        เมื่อเสด็จถึงท่าเรือเมืองโยโกฮามา (Yokohama) ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2474 มีการถวายพระเกียรติยศด้วยการยิงสลุต 21 นัด มีทั้งผู้แทนราชสำนักและผู้แทนรัฐบาลรับเสด็จฯ ประทับรถไฟไปกรุงโตเกียว เสนาบดีกระทรวงวังและเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศรับเสด็จฯ ไปประทับ ณ วังกาสุมิคาเสกิ(Kasumikaseki Palace) วันรุ่งขึ้นเสด็จเยี่ยมสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ทรงเยี่ยมตอบ แล้วจึงเสด็จไปงานหะนะมัตสุรี (Hanamatsuri) ฉลองวันประสูติของพระพุทธเจ้าที่สวนหิบิยา (Hibiya Park) ที่ซึ่งทรงเผากำยานตามประเพณี ศาลศาสนาชินโต ยาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) อนุสรณ์สถานทหารผู้พลีชีพในสงคราม และศาลสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์เมจิ (Meiji Shrine) ค่ำวันนั้นสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิทรงจัดงานเลี้ยงเป็น             พระเกียรติยศ แล้วเจ้าชายชิชิบุ (Chichibu) ทรงพาเสด็จไปทอดพระเนตรละคร  ซึ่งจัดถวายเป็นพิเศษที่โรงละครกะบูกิซะ (Kabukiza Theatire) ละครตอนหนึ่งเป็นเรื่องรามเกียรติ์ นับว่าเป็นการรับเสด็จฯที่เอิกเกริกกว่าที่ทรงคาดหวัง

        วันที่ 9 เมษายน เสด็จฯโดยขวนรถไฟพิเศษไปยังเมือง  กามากุระ เพื่อทอดพระเนตรพระพุทธรูปไดบัตสุ ตามพระราชประสงค์ แล้วเสด็จลงเรือที่โยโกฮามา นักเรียน คณะสงฆ์ ลูกเสือและพลเมืองส่งเสด็จเนืองแน่น โห่ร้องถวายพระพร



พระราชกรณียกิจที่สหรัฐอเมริกา

        วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2474 เป็นวันแรกที่เรือซึ่งทั้งสองพระองค์ประทับแล่นถึงทวีปอเมริกาเหนือ ไม่ใช่ในดินแดนของสหรัฐอเมริกา แต่ที่เมืองวิคตอเรียของประเทศแคนาดา แต่ทว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรไข้หลอดลมอักเสบ เสด็จออกให้คณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาเฝ้าฯ รับเสด็จฯไม่ได้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีจึงเสด็จออกแทนพระองค์ ผู้สื่อข่าวแหม่มรายงานไว้อย่างละเอียดละออว่า “ทรงเป็นศูนย์กลางความสนใจและตกตะลึงของบรรดาผู้เข้าเฝ้าฯ” ทั้งในฉลองพระองค์แบบตะวันตกที่พอเหมาะพอสมกับพระราชสถานะและโอกาส  พระสรวลที่ทรงแย้ม “พระอิริยาบถไม่แสดงพระอาการกระดากอายแม้แต่น้อย” และการ“ทรงพระดำเนินตรงไปยังข้าราชการชาวแคนาดา...ซึ่งยืนสง่าอยู่เป็นแถว” (อ้างใน พฤทธิสาณ 2560: 131-132)

        นับเป็นครั้งแรกในแดนฝรั่งในพระราชสถานะสมเด็จพระบรมราชินี ทรงฉายความทรงเป็น “กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน” สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนอันเป็นอารยะของประเทศเอเชียแห่งนี้

        จากนั้นเรือได้เดินทางต่อไปเทียบท่ากับเรือเมืองแวนคูเวอร์ที่ซึ่งเสด็จฯ  โดยรถไฟขบวนพิเศษไปทางทิศตะวันออกยังสหรัฐอเมริกา เข้าเขตประเทศนั้นในวันที่ 19 เมษายน ที่เมืองพอร์ทัล (Portal) มลรัฐนอร์ธดาโกต้า (North Dakota) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขึ้นไปรับเสด็จฯในนามประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ “พระวรกายสันทัด พระน้ำหนักเพียง 98 ปอนด์ พระอิริยาบถ     ละมุนละมัย และเป็นที่กล่าวขานว่าทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างดี และทรงเป็นกันเองตามแบบฉบับของประชาธิปไตยกับผู้ที่ไปเฝ้าฯ” พร้อมทั้งรายงานว่า บัดนี้ เป็นที่ทราบในหมู่ชาวเมืองแล้วว่า “พระองค์ไม่ได้ทรงช้างเผือก หรือทรงมีพระสนมนางในเป็นร้อยแต่อย่างใด...ทรงมีพระราชหฤทัยจงรักในสมเด็จพระบรมราชินีพระโฉมงามแต่พระองค์เดียว...และพระราชทานสิทธิแก่สตรีและเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” (อ้างใน พฤทธิสาณ 2560: 134-135)

        ณ คฤหาสน์โอฟีร์ ฮอลล์ เมืองไวท์เพลนส์ (White Plains) มลรัฐนิวยอร์ค (New York State) ที่ซึ่งมีการรับเสด็จฯ เป็นการภายใน รับสั่งว่า “เราได้มาถึงที่ซึ่งจะเป็น “บ้าน” ของเราในช่วงระยะเวลาส่วนใหญ่ของการพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว...เรารู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งกับความปรารถนาดีทั้งหลายทั้งปวงที่ได้เห็นมาตลอดทาง” (อ้างใน พฤทธิสาณ 2560: 135-136)

        โอฟีร์ฮอลล์ (Ophir Hall) นั้นมีบริเวณกว้างขวาง รั้วรอบขอบชิด  ทางการอเมริกันจัดเวรยามถวายความอารักขาอย่างดี ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปรบกวน มีอาคารต่างหากไว้ใช้เป็นสำนักงานสำหรับการรับส่งวิทยุโทรเลขติดต่อราชการกับทางกรุงเทพฯ มีสนามกอล์ฟ ห้องชุดที่จัดไว้เป็นที่ประทับได้รับการปรับปรุงให้มีห้องสำหรับการผ่าตัดพระเนตร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสด็จฯไปมาให้กระทบกระเทือนต่อพระเนตรหลังจากนั้น



พระราชทานสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

        ประทับที่โอฟีร์ฮอลล์แล้ว 4-5 วัน ในวันที่ 27 เมษายน หนึ่งวันก่อนที่จะเสด็จไปยังกรุงวอชิงตัน (Washington D.C.) เพื่อที่จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประธานาธิบดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อเมริกัน 4 ราย เข้าเฝ้าฯ ที่นั่น เพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์รายงานอย่างละเอียดในฉบับเช้าวันรุ่งขึ้น นับเป็นการวางจังหวะการประชาสัมพันธ์ที่ดีเหมาะเจาะยิ่ง

        นายแฮโรลด์ เอ็น. เด็นนี่ (Harold N. Denny) ผู้สื่อข่าว The New York Times รายงานว่า

        “เป็นที่ประจักษ์แต่แรกว่าทรงมีความรู้และความสนพระราชหฤทัยกว้างขวางไม่ธรรมดา ทั้งปรัชญาการปกครอง เบสบอลล์ นักแสดงตลกชาลี     แชปลิน ไปจนถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาในสยามประเทศ ทรงมีพระสมาธิ สติ ปัญญา บ่งบอกออกมาด้วยสายพระเนตรที่เปล่งประกาย...ทรงตอบคำถามอย่างแคล่วคล่องและดูเหมือนจะทรงพระสำราญกับการนั้น”

        ทรงอธิบายว่า ในสยามพระราชามีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนและดำเนินการให้เขามีความสุข ต่อคำถามที่ว่า ปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพในระบบกษัตริย์ที่มีผู้ปกครองคนเดียวเท่ากับในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีผู้ปกครองหลายคน รับสั่งว่า ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประเทศหนึ่ง พระองค์ไม่ควรจะทรงตอบ แต่ได้รับสั่งว่า “ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดก็คือ ระบอบที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบนั้น”    

        ทั้งได้ทรงถือโอกาสนั้นแถลงให้ทราบว่า “กำลังทรงดำเนินการด้วยความสมัครพระทัยในการจำกัดพระราชอำนาจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยการให้สิทธิเลือกตั้ง (suffrage) แก่ประชาชนของพระองค์ มีเป้าหมายบั้นปลายคือ การสถาปนาระบอบการปกครองแบบมีการแทน (representative government) เมื่อประชาชนได้รับการฝึกหัดให้ทำเป็นแล้ว การนี้จะเกิดขึ้นโดยการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนสู่สภาเทศบาลเป็นลำดับแรก วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการเสด็จฯมายังอเมริกานี้ก็เพื่อที่จะได้ทรงทราบว่าประชาธิปไตยดำเนินการกันอย่างไร “...ว่าการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้น แสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่จริง ๆ หรือไม่”

        แล้วรับสั่งให้ทราบว่ายังสนพระราชหฤทัยที่จะได้ทรงศึกษา “ความก้าวหน้าในอเมริกาด้านเครื่องยนต์กลไกและอุปกรณ์ผ่อนแรงต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น...ซึ่งสยามได้นำไปใช้อยู่บ้างแล้วมากสิ่ง...วิธีการของเราคือการประยุกต์ใช้ ไม่ใช่การเอาไปใช้ทั้งดุ้น (to adapt, not to adopt)” ทรงเชื่อว่าอิทธิพลของตะวันตกมีประโยชน์ตรงที่ “เปิดสมองของคนให้กว้างขึ้น” และจึงทรง “แนะนำให้พินิจพิจารณาความคิดใหม่ ๆ เหล่านั้นให้ดี และไม่นำมาใช้หากไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์” ทรงยกตัวอย่างพร้อมทรงพระสรวลว่า สตรีสยามเริ่มไว้ผมบ๊อบ ซึ่งก็ “เข้ากับเขาได้ดี ทำให้เขาดูงาม” ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้กันว่าส่วนหนึ่งเป็นการรับสั่งถึงสมเด็จพระบรมราชินี ผู้สื่อข่าวจึงถือโอกาสทูลถามพระราชทัศนะเกี่ยวกับสตรีอเมริกัน รับสั่งตอบว่าไม่ทรงทราบ ทรงเลี่ยงไปรับสั่งว่าสตรีสยามไม่ได้อยู่แต่ในบ้านแล้ว บางคนกำลังศึกษาวิชาแพทย์อยู่ในกรุงเทพฯ

        เมื่อเสด็จสิ้นการพระราชทานสัมภาษณ์แล้ว สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ได้ประทานเอกสารพระราชกระแสแถลงการณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แก่นักข่าวตามที่เขาได้ขอพระราชทานไว้ล่วงหน้า ความสรุปว่า ทั้งสมเด็จฯ และพระองค์สนพระราชหฤทัยยิ่งในกฤตภาคที่มีการตัดถวายมากมาย ซึ่งแสดงถึงการค้นคว้าที่ได้ทำและบางทีออกจะตกพระทัยกับรายละเอียดที่เป็นจินตนาการ ทรงขอฝากไว้ว่า

        “หวังว่าท่านจะเสริมสร้างรากฐานของการมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในอเมริกานี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไป และจะไม่เพียงบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสมัยอย่างตรงตามความเป็นจริงและด้วยมารยาทอันดีเท่านั้น แต่จะทำตนเป็นกลไกที่มีบทบาทยิ่งขึ้นไปในการอำนวยให้เกิดความเข้าใจ ความอดกลั้น (ต่อความแตกต่าง) เพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่างประเทศในที่สุด”

        เท่ากับว่าได้พระราชทานกำลังใจและคำเตือนสติแก่สื่อมวลชนในขณะเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ทรงปฏิบัติต่อสื่อมวลชนในประเทศสยามในภาพรวม (พรทิพย์ 2553: 398) ทั้งยังทรงเชื่อมโยงไปถึงความพยายามที่จะให้เกิดสันติภาพถาวรในโลก

        พระราชกรณีที่เป็นทางการในการเสด็จประพาสครั้งนี้มีเพียงไม่กี่วัน คือวันที่ 28 เมษายน เสด็จฯโดยขบวนรถไฟพิเศษสู่กรุงวอชิงตัน รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรับเสด็จฯที่สถานี ประทับแรมที่บ้าน ซึ่งเจ้าของจัดถวายโดยไม่คิดมูลค่าเช่นเดียวกับโอฟีร์ฮอลล์ วันรุ่งขึ้นที่ 29 เมษายน ในช่วงเช้าเสด็จฯไปเยี่ยมประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover)      ที่ทำเนียบขาว แล้วประธานาธิบดีเดินทางมาเฝ้าฯ ณ ที่ประทับ แต่เนื่องจากทรงพระประชวรเล็กน้อย จึงไม่ได้เสด็จฯยังสุสานอาร์ลิงตัน (Arlington Cemetery) แห่งทหารสิ้นชีพในสงครามตามธรรมเนียม โปรดเกล้าฯให้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ เสด็จแทนพระองค์ แต่ในช่วงค่ำ ได้เสด็จฯ ยังทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงที่ประธานาธิบดีจัดถวายอย่างเป็นทางการ ในเวลา 20.00 น. หนังสือพิมพ์รายงานพิธีการของงานนี้อย่างละเอียด เช่นว่า สมเด็จฯ “สง่างามสะดุดตาสมพระยศราชินีในฉลองพระองค์ผ้ายกทองหรู ซึ่งตัดเย็บให้พอเหมาะพอสมกับพระวรกาย ทรงสร้อยพระศอมรกตและพระสาง (หวี) ประดับด้วยมณีที่พระเกศา ซึ่งดำเป็นเงาสลวย...” เป็นต้น (อ้างใน พฤทธิสาณ 2560: 140)  แต่ไม่ปรากฏในข่าวว่ามีสุนทรพจน์หรือพระราชดำรัส หนังสือพิมพ์ลงด้วยว่า ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินชาวตะวันออกพระองค์แรกที่เสด็จฯ ยังกรุงวอชิงตัน

        วันรุ่งขึ้นที่ 30 เมษายน ทั้งสองพระองค์เสด็จยังตึกแพน-อเมริกันยูเนียน (Pan-American Union) ณ ที่นั้น มหาวิทยาลัย ยอร์ช วอชิงตัน (George Washington University) ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขากฎหมาย (Honorary Degree of Doctor of Laws) แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถทางรัฐประศาสโนบาย มีผู้แทนจากอีก 7 มหาวิทยาลัยร่วมในพิธี เข้าใจได้จากเอกสารกรมราชเลขาธิการว่าแต่เดิมนั้นมีหลายมหาวิทยาลัยที่ประสงค์จะถวายปริญญา แต่ในที่สุดได้ตกลงให้เป็นมหาวิทยาลัยเดียว โดยมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งหมดมาร่วมในพิธีด้วยและมีพิธีที่เมืองหลวงของประเทศแต่แห่งเดียว (อ้างในภาพิศุทธิ์ 2558: 145-146)

        วันที่ 2 พฤษภาคม เมืองไวท์เพลนส์ที่ประทับ  นายกเทศมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจทองคำแห่งเมืองในพิธีที่หอประชุมโรงเรียนมัธยมของเมือง

        วันที่ 4 พฤษภาคม เสด็จฯยังนครนิวยอร์ค ประทับขบวนรถยนต์แห่เข้าเมืองไปยังศาลาว่าการนคร นายกเทศมนตรีรับเสด็จฯอย่างเป็นทางการ

        อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงที่เสด็จเยือนกรุงวอชิงตัน ไม่ได้เสด็จฯทอดพระเนตรอาคารที่ทำการสภาคองเกรส และตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ในสหรัฐอเมริกาไม่ปรากฏว่าได้ทรงทัศนศึกษาการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งรับสั่งในช่วงที่พระราชทานสัมภาษณ์ว่าสนพระราชหฤทัย  แต่อาจได้ทรงสนทนาเรื่องนี้กับบรรดาผู้บริหารและสมาชิกสภาทั้งระดับชาติ (federal) ระดับมลรัฐ (state) และระดับนครและเมือง (city) ในโอกาสที่รับเสด็จฯหรือในโอกาสอื่น โดยสื่อมวลชนมิได้รับทราบหรือรายงานถึง อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ฉบับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2474 ได้มีบทบรรณาธิการชื่อว่า “For the Kings Guidance” หรือ “คำเสนอแนะต่อพระราชา” เชิงทูลเตือนว่า หากทรงมีเวลาได้ทรงศึกษาการปกครองท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาได้ลึกซึ้งขึ้น จะทรงพบว่าชาวอเมริกันเองให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี (mayor) น้อยกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี อีกทั้งผู้ศึกษาการเมืองกำลังพะวงว่ากำลังมีการขยายอำนาจของสหพันธ์รัฐ (Federal power) ซึ่งจะยังผลเป็นการทอนอำนาจรัฐบาลมลรัฐและท้องถิ่นอย่างน่าเป็นห่วง 

  

       การผ่าตัดพระเนตร

        ข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการตรวจพระเนตรมีว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน หลังจากที่มีการถวายปริญญาแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯพระองค์เดียวไปยังเมืองบอลติมอร์ (Baltimore) ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อให้นายแพทย์วิลเมอร์ (Dr.William Holland Wilmer) แห่งสถาบันวิลเมอร์ในบริเวณโรงพยาบาลจอห์นส์ ออพคินส์ (Johns Hopkins Hospital) ตรวจก่อนการถวายการรักษา แต่เป็นนายแพทย์จอห์น เอ็ม. วีลเลอร์ (John M. Wheeler) แห่งโรงพยาบาล เพรสบิแทเรียน (Presbyterian Hospital) แห่งนครนิวยอร์คที่ถวายการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้าย ณ โอฟีร์ ฮอลล์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม    การผ่าตัดใช้เวลา 55 นาที โดยหมอรายงานว่า “ได้เอาต้อกระจกในพระเนตรซ้ายออกแล้ว การรักษาไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ และมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เราเชื่อแน่ว่าผลการรักษาจะดีอย่างแน่นอน และพระองค์ไม่มีพระอาการเจ็ดปวด     แต่จะต้องทรงอดทนพักพื้นอีกเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน”

        การรักษาต้อกระจกนั้น มีคำอธิบายในข่าวด้วยว่า คือการเอาเลนส์ธรรมชาติที่ขุ่นมัวออกมา ต่อไปจะต้องใช้เลนส์ทำด้วยแก้วแทนซึ่งใส่เป็นแว่นตาแทน คล้ายกับของคนที่สายตาผิดปกติ โดยมี 2 ชุด ชุดหนึ่งสำหรับมองใกล้ อีกชุดหนึ่งสำหรับมองไกล (อ้างใน ภาพิศุทธิ์ 2558: 116-118) ฉลองพระเนตรเช่นนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน สมัยนั้นยังไม่มีเลนส์เทียมที่ใส่เข้าแทนที่เลนส์ธรรมชาติ ดังในปัจจุบัน และยังไม่มีเทคโนโลยีอัลตราเซานด์และเลเซอร์ ซึ่งทำให้การผ่าตัดต้อกระจกไม่ต้องใช้เวลานานหรือต้องพักพื้นนาน

        ในวันที่ 26 พฤษภาคม มีรายงานข่าวว่าได้เปิดผ้าปิดพระเนตรออกแล้ว และในวันที่ 7 มิถุนายน ว่าได้ทรงลองฉลองพระเนตรและทรงปิติยินดียิ่งเมื่อพบว่าทรงสามารถอ่านแม้แต่ตัวอักษรขนาดย่อมได้ แต่ไม่ปรากฏข่าวการเสด็จฯ ไปยังที่ใดจนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน จากนั้นได้เสด็จฯยังสถานที่ต่าง ๆ เป็นการส่วนพระองค์โดยสม่ำเสมอ โดยเมื่อวันที่ 30 เสด็จฯ ยังตึกเอมไพร์สเตท (Empire State Building) ตึกที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้นที่นครนิวยอร์ค. โดยยังทรงฉลองพระเนตรกันแดดอยู่ รับสั่งว่า “แสงอาทิตย์ที่ส่องจ้าทำให้ข้าพเจ้าเจ็บตา” (อ้างใน ภาพิศุทธิ์ 2558: 134)

        แม้ว่าสายพระเนตรจะได้รับการพื้นฟูเท่าที่จะเต็มที่ได้แล้วในครั้งนี้ แต่แล้วปรากฏในกาลต่อมาว่ามีความจำเป็นต้องทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตรซ้าย (องค์เดิม) อีกครั้งหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ ซึ่ง เซอร์ สจ๊วต ดยุ๊ก-เอลเดอร์ (Sir Stuart Duke-Elder) ผ่าตัดถวายที่ลอนดอนคลินิค ในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ในช่วงการเสด็จประพาสยุโรป การผ่าตัดครั้งหลังนี้ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที และไม่มีอาการชอกช้ำเลย” (วิชิตวงศ์ 2526: 157) และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอีก 3 วัน การนี้สันนิษฐานได้ว่า เป็นเพราะมีเยื่อหรือพังผืดเกาะ ซึ่งต้องลอกออกให้ทอดพระเนตรเห็นได้ชัดอีก โดยยังต้องทรงฉลองพระเนตรแทนเลนส์ธรรมชาติต่อไป

       พระราชกิจนานาทัศนศึกษาสนทนา

        สิ่งหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดในพระราชกรณียกิจในระหว่างเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกานี้คือ ความสนพระราชหฤทัยในกิจการสื่อมวลชน วิทยุ และการสื่อสารทางไกล นอกจากการที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำการประชาสัมพันธ์การเสด็จประพาสอย่างเป็นระบบและการพระราชทานสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวดังกล่าวแล้ว ยังมีข่าวว่ามีแผนการที่จะพระราชทานสัมภาษณ์ออกวิทยุ แต่ได้ยกเลิกไปเพราะทรงพระประชวรในวันดังกล่าว กระนั้น เมื่อผ่าตัดพระเนตรแล้วได้เสด็จไปทอดพระเนตรสถานีวิทยุของ อาร์.ซี.เอ. (RCA-Radio Corporation of America) ที่นครนิวยอร์คและนิวเจอร์ซี สำนักงานและโรงพิมพ์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค เฮเริ่ลดิ์ ทริบูน (New York Herald Tribune) และการทดลองส่งภาพทางไกลและการทดลองผลิตภาพยนตร์ประกอบเสียง ณ บริษัทอเมริกัน เทเลโฟน (American Telephone)

        ทั้งยังมีหลักฐานว่า ณ โอฟีร์ ฮอลล์ มีการติดตั้งลำโพงในห้องต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ทรงสดับรายการวิทยุได้โดยสะดวก และได้ทรงมีโอกาสฟังการบรรเลงมโหรี จากกรุงเทพฯ โดยวิทยุคลื่นสั้น เหล่านี้มิได้เป็นเพียงพระราชนิยมส่วนพระองค์ หากเป็นการทรงศึกษาความก้าวหน้าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนากิจการวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งได้เริ่มมีขึ้นในสยามในรัชกาลของพระองค์ รวมตลอดถึงพัฒนาการด้านโทรคมนาคม

        ในด้านการอุตสาหกรรม พระราชกรณียกิจซึ่งแสดงถึงความสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ คือที่เกี่ยวกับการไฟฟ้า โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานของธอมัส เอ เอดิสัน อินดัสตรีย์ (Thomas A. Edison Industry) ที่เวสต์ ออเรนย์ (West Orange) มลรัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) มีนายชาร์ลส์ เอดิสัน ผู้บุตรรับเสด็จฯ จากนั้น เสด็จฯเยี่ยมนายธอมัส    เอดิสัน ผู้บิดาผู้คิดค้นวิทยาการไฟฟ้า ซึ่งชราภาพแล้วถึงที่บ้านของเขาที่ Llewellyn Park   ต่อมาไม่นานเขาได้ถึงแก่กรรมลง ครั้นวันที่ 9 เดือนเดียวกัน ได้เสด็จฯยังบริษัทเยเนรัล  อีเล็คทริค จำกัด (General Electric Co. Ltd.) ทอดพระเนตรห้องทดลองไฟฟ้าของบริษัทในส่วนของกิจการภาพยนตร์ ซึ่งสนพระราชหฤทัยเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทปาราเมานต์ (Paramount) ที่ลองไอส์แลนด์ (Long Island) ที่ซึ่งได้ทอดพระเนตรการผลิตภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้น และในวันที่ 21 เดือนเดียวกัน เสด็จฯทอดพระเนตรภาพยนตร์ ณ โรงของบริษัทดังกล่าวในนครนิวยอร์ค

        เมื่อเสด็จฯเยือนนครนิวยอร์คระหว่างวันที่ 21 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม นั้น ได้เสด็จฯทอดพระเนตรหอศิลป์ (Art Museum) พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (American Museum of Natural History at New York) และละครตามความสนพระราชหฤทัยด้วย ในส่วนของการทหาร นายพลเม็คอาร์เธอร์ (General MacArthur) เสนาธิการทหารบกสหรัฐฯทูลเชิญเสด็จฯทอดพระเนตรโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ (West Point Military Academy) ที่ซึ่งมีนักเรียนไทยศึกษาอยู่ด้วย ในด้านการอากาศยาน วันที่ 24 กรกฎาคม เสด็จฯยังโรงอากาศยานกองทัพเรือสหรัฐที่เลคเฮิร์ส (Lakehurst) มลรัฐนิวยอร์ค ประทับเรือเหาะ (dirigible) ชื่อ ลอส แอนเจลลิส (Los Angeles) ทั้งสองพระองค์ ทอดพระเนตรเมืองทางอากาศ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ขึ้นเรือเหาะนี้ เพราะตามธรรมดามีกฎห้ามสตรีขึ้นอากาศยานทหารนี้  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จฯรับสั่งว่า “เป็นการเดินทางที่น่าพิศวง (wonderful) ข้าพเจ้าจะจดจำไว้มิรู้ลืม” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ค่อนข้างร้อนในนั้น แต่ว่าความน่าตื่นตาตื่นใจกับทัศนียภาพที่เห็นและความเอาใจจดใจจ่อของทุกคนในคณะของเรามีมากกว่าที่จะใส่ใจกับ(ความไม่สบายกาย) นั้น” (New York Times, July 28, 1931 หจช. 1474 ใน ภาพิศุทธิ์ 2558: 135)

        นอกจากนั้นมีพระราชปฏิสันถารกับบุคคลต่าง ๆ เช่น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม เสวยพระกระยาหารกลางวันกับนาย และนางริชาร์ด (Mr. & Mrs. Richard Southgate) แห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และในวันที่ 11 กรกฎาคม กับนายเพอร์ซี ไพน์ (Mr. Percy Pyne) นักธุรกิจการธนาคารและการลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท (Wall Street) แห่งนครนิวยอร์ค ผู้จัดการแข่งขันโปโลถวายทอดพระเนตรเป็นการพิเศษ อีกทั้งในวันที่ 18 กรกฎาคมเสวยพระกระยาหารทั้งมื้อกลางวันและมื้อค่ำกับพระยาและคุณหญิงกัลยาณไมตรี (Dr. & Mrs. Francis B. Sayre) ณ โอฟีร์ ฮอลล์ พระยากัลยาณไมตรี เคยเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศของสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกไปปรึกษาเขาเรื่องการปฏิรูประบอบการปกครอง เมื่อเขามาเยือนกรุงเทพฯใน พ.ศ. 2469 เป็นที่มาของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เขาร่างเค้าโครงถวายในกาลนั้น บุคคลสำคัญอีกบุคคลหนึ่งซึ่งพระราชทานเลี้ยงน้ำชายามบ่าย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน หลังจากที่เสด็จทอดพระเนตรตึกเอมไพร์สเตทที่นครนิวยอร์ค คือ นายเนลสัน รอกกีเฟลเลอร์ (Mr. Nelson Rockefeller) แห่งมูลนิธิ รอกกีเฟลเลอร์ ซึ่งได้ให้การสนับสนุนการศึกษาทางการแพทย์ในสยามเป็นอันมาก รวมทั้งแก่โรงพยาบาลแมคคอมิค (McCormick Hospital) ที่เชียงใหม่ของคณะนักบวชเพรสบิแทเรียน (Presbyterian Mission) ที่ซึ่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯไปทรงงานเป็นแพทย์และเป็นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเยือนเมื่อ พ.ศ. 2469 ระหว่างการเสด็จประพาสมณฑลพายัพ

        เห็นได้ว่า ได้ทรงสานต่อและกระชับความสัมพันธ์กับผู้ที่อาจหรือกำลังหรือเคยเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ของสยามประเทศทั้งด้านการทูต การเงิน และการแพทย์ ทั้งได้เอาพระราชหฤทัยใส่ที่จะทรงเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา เพื่อประกอบพระราชดำริใน        การพัฒนาประเทศต่อเนื่องไป มิได้ประกอบแต่พระราชกรณียกิจส่วนพระองค์



พระราชกรณียกิจที่แคนาดา

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงอำลาสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 เสด็จฯ โดยรถไฟท้องถิ่นไปประทับรถไฟขบวนพิเศษที่นครนิวยอร์ค เพื่อเสด็จฯต่อไปยังประเทศแคนาดาทางทิศเหนือ การนี้สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์และพระชายามิได้โดยเสด็จฯด้วย หากแต่จะเสด็จแยกไปทรงเยือนเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา คือ ดีทรอยต์ (Detroit) ชิคาโก (Chicago) อุทยานแกรนด์ แคนยอน (Grand Canyon) และมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา (ที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จฯ เคยเสด็จมาแล้ว) แล้วจึงจะเสด็จไปร่วมกระบวนเสด็จพระราชดำเนินอีกครั้งที่เมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ทางฝั่งตะวันตกของประเทศแคนาดา เพื่อโดยเสด็จฯกลับสยามโดยเรือเดินสมุทร

        สำหรับล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์นั้น ได้เสด็จฯ ไปยังแคว้นควิเบค (Quebec) ของประเทศแคนาดา ทอดพระเนตรภูมิประเทศแล้ว ได้เสด็จฯถึงนครมอนตริออล (Montreal) เมืองหลวงของแคว้น ผู้ว่าราชการเมืองและข้าราชการรับเสด็จฯ ประทับที่โรงแรมริมทะเลสาบนอกเมือง ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม เสด็จฯถึงกรุงออตตาวา (Ottawa) เมืองหลวงของประเทศแคนาดาในแคว้นออนแตริโอ (Ontario) ผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ นายกรัฐมนตรี นายกเทศมนตรีรับเสด็จฯ อย่างเป็นทางการ ณ สถานีรถไฟยูเนียน (Union Station) มีประชาชนเฝ้าดูมากมาย ประทับ ณ ทำเนียบรัฐบาลและทอดพระเนตรรัฐสภา ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแตกต่างจากการที่ไม่ได้เสด็จทอดพระเนตรสภา คองเกรสที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งอาจเป็นเพราะแคนาดาปกครองโดยระบบรัฐสภา

        วันรุ่งขึ้นเสวยพระกระยาหารกลางวันเป็นการภายใน ณ เนินเขารัฐสภา (Parliament Hill) กับผู้สำเร็จราชการ ค่ำวันนั้น เสด็จฯต่อไปยังอุทยานธรรมชาติแห่งชาติแบนฟฟ์ (Banff National Park) หุบเขาในแคว้นอัลเบอร์ตา (Alberta) ผ่านทางเมืองวินิเพ็ค (Winnipeg) มีพิธีรับเสด็จฯที่เมืองนี้ เสด็จฯทอดพระเนตรและประทับแรมตามริมทะเลสาบต่าง ๆ ก่อนที่จะเสด็จถึงแบนฟฟ์ในวัน 20 สิงหาคม ประทับที่แบนฟฟ์สปริงโฮเตล (Banff Spring Hotel) ซึ่งมีลักษณะคล้ายปราสาท ล้อมรอบด้วยป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งในภูเขาสูงมีธารน้ำแข็ง (glaciers) อยู่หลายแห่ง

        ในช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศแคนาดานี้ ยกเว้นช่วงที่เป็นทางการเพียง 3-4 วันดังกล่าวแล้ว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์จริง ๆ โดยเป็นไปเพื่อทรงพื้นฟูพระวรกาย อีกทั้งเพื่อทางสำราญพระอิริยาบถพร้อมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ และหม่อมราชวงศ์พงศ์อมร  กฤดากร ผู้เยาว์ที่ทรงอุปการะเลี้ยงดูมาแต่ยังเยาว์ และกำลังศึกษาต่ออยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ พระราชกรณียกิจใดที่ต้องพระราชประสงค์จะทรงประกอบแต่ไม่ทรงคุ้นเคย ได้มีฝรั่งผู้ชำนาญโดยเสด็จฯ ถวายคำแนะนำ เช่น ในการทรงตกปลาด้วยเบ็ดตามลำน้ำ เป็นต้น เมื่อเสด็จฯทอดพระเนตรการต้อนจับปศุสัตว์ด้วยม้า (rodeo) ที่ทุ่งคอกม้า สมเด็จฯ ทรงบันทึกภาพยนตร์แทนที่จะเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (Pittsburgh Express, August 31, 1931 ในภาพิศุทธิ์ 2558: 49)

        พระราชกรณียกิจที่มีรายงานข่าวหนังสือพิมพ์เป็นที่แน่ชัด คือ การที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯทรงเปิดงานชุมนุมกีฬาชาวสก็อตประจำปี (Scottish Banff Festival) ที่ซึ่งนายกสโมสรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเงินแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องหมายว่าได้ทรงม้าได้ 100 ไมล์ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่แบนฟฟ์ และเหรียญทองแดงแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ       ผู้ทรงได้ 50 ไมล์ นับเป็นข้อมูลว่า สมเด็จฯทรงม้าเป็น แม้ไม่เคยปรากฏหลักฐานใด ๆ ว่าทรงม้าในประเทศสยาม ไม่ว่าในสมัยใด ยกเว้นม้าแกลบที่ชายหาดหัวหิน ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น ทรงม้าเป็นมาตั้งแต่ทางศึกษาอยู่ในยุโรปแล้ว และในประเทศสยาม ทรงม้าตรวจพลสวนสนามเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในขณะที่สมเด็จฯ ประทับรถพระที่นั่งเปิดประทุน แม้เมื่อต้องเสด็จฯแทนพระองค์ในการนั้นอยู่ปีหนึ่ง การทรงม้าที่แบนฟฟ์นี้ น่าจะเป็นวิธีการทรงออกกำลังพระวรกายประเภทหนึ่ง  ในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติแท้ ๆ ประทับอยู่ที่อุทยานธรรมชาตินี้เป็นเวลา 10 วัน

        วันที่ 30 สิงหาคมเสด็จฯออกจากแบนฟฟ์มุ่งสู่เมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) โดยทรงแวะประทับแรมกลางทางที่หมู่บ้านน้ำพุร้อนแฮริสัน (Harrison Hot Springs) ในหุบเขาเฟรเซอร์  (Frazer Valley) แคว้นบริติซโคลัมเบีย (British Columbia) ด้วยสนพระราชหฤทัยอยู่มากในสรรพคุณบรรเทาโรคของการอาบน้ำแร่ ประทับอยู่ที่นั้นจนถึงวันที่ 5 กันยายน จึงเสด็จฯ ถึงแวนคูเวอร์

        เสด็จประพาสเมือง จากนั้นประทับเรือยนต์ติดอาวุธตอร์ปิโด (torpedo boat) ของรัฐบาลแคนาดาชื่อว่า สกีนา ค่ำวันนั้นเสด็จไปประทับ ณ หมู่บ้านชายหาดควอลิคัม (Qualicum Beach) บนเกาะชายฝั่งแวนคูเวอร์ ซึ่งมีธรรมชาติสวยงามหลายอย่าง นอกเหนือจากชายหาดด้วย ประทับอยู่จนถึงวันที่ 10 กันยายน จึงเสด็จไปสู่เมืองท่าวิคตอเรีย (Victoria) ทางใต้ของเกาะนั้น เย็นวันนั้น สมุหมนตรีแห่งแคว้นบริติชโคลัมเบียและนายกเทศมนตรีเมืองเฝ้ารับเสด็จฯ และจัดเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวายที่ทำเนียบรัฐบาล

        รวมความว่า พระราชกรณียกิจที่แคนาดานี้เป็นเพื่อทรงบำรุงพระพลานามัยและสำราญพระราชอิริยาบทจริง ๆ อีกทั้งแม้ว่า จะเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์และแคนาดากับสยามยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันก็ตาม แต่ทางการของประเทศนั้นทุกระดับตั้งแต่ผู้แทนพระประมุข นายกรัฐมนตรี สมุหมนตรีแห่งแคว้น และนายกเทศมนตรีก็ได้จัดการรับเสด็จฯอย่างดี จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ไปในทางที่สรรค์สร้างมิตรภาพให้เกิดมีกับประเทศใหม่ ที่ซึ่งไม่เคยมีพระมหากษัตริย์สยามเสด็จฯเยือนมาก่อน

        วันที่ 12 กันยายน ทรงอำลาประเทศแคนาดา เสด็จฯลงเรือเอมเพรสออฟแคนาดา (Empress of Canada) มุ่งใต้สู่เกาะฮาวาย (Hawaii) ของสหรัฐอเมริกาในเส้นทางเดินเรือข้ามมหาสมุทรปาซิฟิกมาทางเอเชียตะวันออก

        วันที่ 17 กันยายน เสด็จฯถึงเมืองฮอนโนลูลู (Honolulu) เมืองหลวงของหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งแต่เดิมมีเจ้าเมืองคนพื้นเมืองปกครองอยู่ แต่ถูกโค่นล้มโดยชาวอเมริกันและได้กลายเป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1898 ต่อมาใน ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) ได้เป็นมลรัฐที่ 50 ของสหรัฐอเมริกา

        ผู้ว่าราชการเมืองรับเสด็จฯ และนำเสด็จประพาสเมือง ตั้งเครื่องพระกระยาหารกลางวันถวายที่วอชิงตันเพลส (Washington Place) วังเก่าซึ่งใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น เสวยพระกระยาหารค่ำกับเจ้าหญิงเดวิด กาวานานากัว (นามจริง Abigail) ภริยาหม้ายของเจ้าชายเดวิด (David) อดีตผู้ครองหมู่เกาะฮาวายชาวพื้นเมืององค์สุดท้าย ในขณะนั้นเจ้าหญิงยังคงมีบทบาททางการเมืองในฐานะผู้นำคนพื้นเมือง ด้วยแม้ว่าท่านจะมีบิดาเป็นฝรั่ง แต่ก็มีเชื้อสายคนพื้นเมือง การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีได้มีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าหญิงนับว่าสอดคล้องกับพระราชปฏิบัติในชวาและบาหลีเมื่อ พ.ศ. 2472 และอินโดจีนของฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2473

        วันรุ่งขึ้นที่ 18 กันยายน ประทับเรือลำเดิมข้ามมหาสมุทรปาซิฟิกมุ่งสู่เมืองโยโกฮามา (Yokohama) ประเทศญี่ปุ่น



พระราชกรณียกิจที่ประเทศญี่ปุ่นขาเสด็จกลับสยาม

        เสด็จฯถึงโยโกฮามาตอนเช้าวันที่ 26 กันยายน ประทับบนเรือ ที่ซึ่งบรรดาบุคคลสำคัญของพระราชสำนัก รัฐบาลญี่ปุ่น และเมือง เฝ้าฯ มีการยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติยศเช่นเดิม เรือกลไฟในท่าประดับธงและเปิดหวูดรับเสด็จฯอื้ออึง     ช่วงบ่ายประทับรถยนต์ต่อไปเมืองนาโกยา (Nagoya) ข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ และคณะสงฆ์รับเสด็จฯ ลูกเสือ นักเรียน และชาวเมืองคอยชมพระบารมีอยู่เนืองแน่น เสด็จฯทอดพระเนตรวัดพุทธนิสเสนจิ (Nissenji)

        วัดนี้ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่นกับสยาม ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปหล่อโบราณของสยามแก่     คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาชาวญี่ปุ่น ผู้ซึ่งสัญญาต่อพระองค์ว่าจะสร้างวัดขึ้นเพื่อประดิษฐาน และได้สร้างขึ้นที่เมืองนาโกยานี้บนที่ดินซึ่งเทศบาลและชาวเมืองบริจาค โดยตกลงกันว่า จักเป็นวัดที่สำนักพุทธศาสนาต่าง ๆ ในญี่ปุ่นจะผลัดกันดูแล ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Kakuozan Nittaiji มีพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จ    พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2531) (https://on/wikipedia .org.wili.nittai-ji)

        ดังนั้นการเสด็จฯยังวัดนี้จึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนของทั้งสองประเทศ นับเป็นการทูตสาธารณะที่เป็นพระราชกรณียกิจหลักในการเสด็จฯครั้งนี้

        เย็นวันนั้น เสด็จฯต่อไปยังเมืองคิฟู (Gifu) ทอดพระเนตรการจับปลาในเวลากลางคืนโดยความช่วยเหลือของนกคอร์มอแร้นต์ (Cormorant fishing) ในอุทยานหลวงริมแม่น้ำนาการา (Nagara River) ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณ และเป็นเทศกาลที่เลื่องชื่อ มีประชาชนถือโคมญี่ปุ่นเฝ้ารับเสด็จฯ

        วันรุ่งขึ้น เสด็จฯต่อไปยังเมืองเกียวโต (Kyoto) ที่เมืองนี้โปรดเกล้าฯ ให้นายโกโดตะ (Kodota) แห่งบริษัทอู่ต่อเรือคาวาซากิ (Kawasaki Dockyard) เจ้าชายโกโนเอะ (Prince Konoye) บารอนโอกุระ (Baron Okura) นายกสมาคมสยาม   ในญี่ปุ่น และข้าราชการบำนาญเฝ้าฯ และเสด็จประพาสร้านรวงในเมือง เสวย    พระกระยาหารกลางวันที่สมาคมสยามในญี่ปุ่นจัดถวายที่วิลลา บารอน สุมิโตโม (Villa Baron Sumitomo) นับเป็นอีกส่วนหนึ่งของการทรงดำเนินการทูตสาธารณะ

        อนึ่ง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกรมราชเลขาธิการในพระองค์เห็นตรงกันว่า ไม่จำเป็นต้องเสด็จฯไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ์อีกในขาเสด็จฯกลับนี้

        วันที่ 28 กันยายน เวลา 15.00 น. ประทับรถไฟไปยังเมืองโกเบ  (Kobe)     มีหัวหน้าส่วนราชการและคณะสงฆ์รับเสด็จฯ มีประชาชนเฝ้าชมพระบารมี เสด็จลงเรือซีแลนเดีย (Selandia) ของบริษัทอีสเอเชียติคแห่งเดนมาร์กลำเดียวกับขาเสด็จไป ออกจากท่า

        วันที่ 1 ตุลาคม เสด็จฯถึงนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐจีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเฝ้ารับเสด็จฯในนามนายพลเจียงไคเช็คแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้เพิ่งถูกประทุษร้ายบาดเจ็บประทับบนเรือ รุ่งขึ้นออกเดินทางถึงเกาะฮ่องกงวันที่ 3 ตุลาคม เสด็จประพาสเมือง ผู้ว่าราชการฮ่องกงร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารค่ำ ครั้นวันที่ 4 เสด็จฯเยี่ยมชมเรือดำน้ำ แล้วเสด็จลงเรือลำเดิมมุ่งสู่เกาะสีชัง



การรับเสด็จฯคืนสู่พระนคร

        วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 เสด็จฯถึงเกาะสีชัง ท่าเรือของกรุงเทพฯในสมัยนั้นที่ยังไม่มีท่าเรือคลองเตย แม้ว่าจะได้มีแผนการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ (พอพันธ์ 2558: 116) เสด็จฯโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีเข้ามายังท่าราชวรดิษฐ์ เรือเดินทะเลและเรือเดินลำน้ำน้อยใหญ่คอยเฝ้ารับเสด็จฯ ประดับตกแต่งงดงาม เปิดหวูด โบกธง เรือลำเล็ก ๆ ต่าง ๆ เข้าไปใกล้เรือพระที่นั่ง ผู้คนเปล่งเสียงไชโย ด้วยความปลื้มปิติที่ได้เสด็จนิวัตพระนครหลังจากที่เสด็จฯจากไปนาน 7 เดือน

        อนึ่งในเรื่องการรับเสด็จฯนี้ได้มีพระราชกระแสรับสั่งไม่ให้จัด “ในทางอันสิ้นเปลือง” ด้วยเป็นเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก (The Great Depression) แต่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้าคหบดีหมู่เหล่า ต่าง ๆ ได้พร้อมใจกันบริจาคอาหาร เครื่องดื่ม หมากพลู บุหรี่ กับของอื่น ๆ เลี้ยงและแจกแก่ราษฎรที่ไปเฝ้ารับเสด็จฯ เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งยังมีการละเล่นรื่นเริงและเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันและกันด้วยประการต่าง ๆ (ราชกิจจานุเบกษา 2474)

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในโอกาสนี้ว่า “บัดนี้เราได้เห็นการต้อนรับอันมีน้ำหนักเด่นชัดในทางแสดงน้ำใจจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียงและแท้จริงของเพื่อนร่วมชาติเช่นนี้ ทำให้เรารู้สึกปลื้มเป็นอย่างยิ่ง ดีกว่าการรับรองอย่างอื่นทั้งปวง” และรับสั่งต่อไปความสำคัญว่า การผ่าตัดพระเนตรนั้นได้ผลดี พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ ทั้งในทางการเมือง ความเป็นอยู่ของพลเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ในสถานที่ซึ่งได้เสด็จฯ ไป “อันเป็นทางนำให้เกิดความคิดสำหรับหน้าที่ผู้บัญชาการเมือง”และประเทศต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลได้แสดงไมตรีจิต เอื้อเฟื้อ รับรองพระองค์และสมเด็จฯ เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งย่อมหมายถึงมิตรภาพที่มีต่อประเทศสยามด้วย (บรรเจิด 2536: 204)

        ในพระราชดำรัสอีกองค์หนึ่ง แก่คณะสงฆ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รับสั่งว่า “ได้เห็นประจักษ์ความนิยมชมชื่นของพุทธมามกชนชาวญี่ปุ่น ไม่เลือกว่าแตกต่างนิกายกันทั้งหลาย ไม่เลือกว่าเขาเป็นฝ่ายยานเหนือ เราเป็นฝ่ายยานใต้ พร้อมใจกันจมเสียซึ่งทิฏฐิความรังเกียจเดียจฉันท์นับด้วยหมื่น ๆ มาประชุม       ยัดเยียดกัน ต้อนรับเจ้าแผ่นดินผู้ถือ พระพุทธศาสนาเหมือนกับตน ด้วยความปิติยินดี” ทั้ง 3 ครั้ง ที่เสด็จยังวัดต่างเมืองกัน (บรรเจิด 2536: 205 ตัวสะกดตามต้นฉบับ)

        สำหรับในราชสำนักนั้น พระประยูรญาติและข้าราชบริพารได้จัดการแสดงรีวิวขึ้น ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ฉากหนึ่งทำเป็นคล้ายปล่องเสียงของ ออร์แกน (organ) มีคนเข้าไปยืนร้องประสานเสียงอยู่ภายใน เนื้อเพลงซึ่งนายพลเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ในภายหลัง) ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบทำนองเพลง “โฮมสวีทโฮม” (Home Sweet Home) ตอนหนึ่งมีว่า

        “เสด็จสู่กรุงสยามพร้อม  ด้วยความสวัสดี

        เยนแมนแสนเปรมปรีดิ์    เป็นสุขที่จะเปรียบปาน

        ต้อนรับผู้ทรงฤทธิ์           สมดังจิตคิดถึงนาน

        ขอจงทรงสำราญ           พระปกเกล้าฯเหล่าเย็นแมน”[4]



ทรงเร่งรัดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญอยู่ได้ไม่กี่วัน ก็ได้ทรงเข้าปฏิบัติพระราชภารกิจหน้าที่ “ผู้บัญชาการเมือง” ทรงหาทางให้เกิดความตกลงกันในนโยบายที่เหมาะสมแก่การรับมือกับภาวการณ์ที่อังกฤษ นำสกุลเงินปอนด์ออกจากมาตรฐานทองคำเมื่อไม่ถึงเดือนก่อนที่จะเสด็จกลับมาถึงพระนคร ในเรื่องนี้มีความเห็นแย้งกันในอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีสภาว่าสยามควรออกตามหรือไม่ และจะลดค่าเงินบาทหรือไม่ เป็นต้น (ดูรายละเอียดที่ซับซ้อนใน บัทสัน 2547: บทที่ 7 หรือ Batson 1984: Chapter 7; ชูศรี 2550:76-87, 135-142 และ 157-160, พอพันธุ์ 2558: 47-66; และสำหรับทัศนะของชาวตะวันตก ธีระ 2559 ข.: 121-144)

        องค์ประชาธิปกทรงตระหนักดีว่า ความล่าช้าและความไม่แน่นอนในการมีข้อตัดสินใจในนโยบายการเงินการคลังได้นำมาซึ่งกระแสความเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลของพระองค์ และอาจเลยไปถึงตัวระบอบการปกครองด้วย จึงได้ทรงเร่งรัดดำเนินการ 2 ประการในมิติทางการเมืองนี้

        ประการแรก โปรดเกล้าฯให้สอบถามกรมร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไปหลายครั้งคราว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล ซึ่งมุ่งวางรากฐานของการปกครองตนเองของประชาชนในระดับท้องถิ่นที่คณะกรรมการที่ทรงตั้งขึ้นเพื่อการนี้ได้ร่างโดยละเอียดแล้วนั้น เหตุใดกรมร่างกฎหมายจึงยังตรวจตราไม่แล้วเสร็จ ทั้ง ๆ       ที่ได้รับไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 (พ.ศ. 2474 ตามปฏิทินปัจจุบัน        (ดู พฤทธิสาณ 2560: บทที่ 5)

        ประการที่สอง ดังที่ได้นำเสนอมาแล้วว่าพระองค์ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์อเมริกันในช่วงที่เสด็จเข้าประทับ ณ โอฟีร์ฮอล ว่ากำลังจะมีกฎหมายเทศบาลเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้การเลือกตัวแทนของตนเข้าทำการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นเสียก่อนที่จะให้เขามีสิทธิเสียงใน      การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสู่รัฐสภาในระดับชาติ เมื่อเสด็จกลับมา ได้ทรงเร่งกระบวนการนี้ โดยได้โปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเรื่องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 (ต้น พ.ศ. 2475 นับตามปฏิทินปัจจุบัน) นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาการต่างประเทศ และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศได้ทูลเกล้าฯถวายร่าง “เค้าโครงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการปกครอง” (“An Outline of Changes in the Form of Government) มีรูปลักษณ์เป็นร่างรัฐธรรมนูญแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ระลอกสุดท้ายของความขัดแย้งในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจกำลังดำเนินอยู่

        แต่ปรากฎว่าผู้ร่างทั้งสองมีหนังสือกราบบังคมทูลด้วยว่า เขาเห็นว่าความระส่ำระสายที่มีอยู่ในขณะนั้น มีที่มาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพราะรูปแบบการปกครอง จึงไม่ควรแก้ไขโดยการเปลี่ยนแปลงเชิงรัฐธรรมนูญในช่วงของการเฉลิมฉลองพระบรมราชจักรีวงศ์และกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ ในกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดว่าจะมีการยึดอำนาจและเผด็จการทหารตามมา (Batson 1984: 150-151) (ดู พฤทธิสาณ 2560: บทที่ 8)

        ครั้นวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยินยอมที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญตามหนังสือกราบบังคมทูลเชิญ ส่วนร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนั้นก็ยังอยู่ที่กรมร่างกฎหมาย แต่ได้รับการประกาศใช้โดยมีการแก้ไขเล็กน้อยใน พ.ศ. 2476



ความส่งท้าย

        อาจมีข้อสงสัยว่า ในเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจะได้เริ่มต้นขึ้นแล้วก็ตาม เหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงยังคงเสด็จฯจากสยามไปในครั้งนี้ ตอบได้ว่าน่าจะเป็นเพราะ  หนึ่ง ก่อนหน้านั้น รัฐบาลของพระองค์ได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหางบประมาณที่ขาดดุลมาตั้งแต่รัชกาลก่อนแล้ว  สอง มีความจำเป็นที่จะต้องทรงได้รับการรักษาพระเนตร สาม มีการเตรียมการเสด็จประพาสมาจนพร้อมทุกฝ่ายแล้ว จึงไม่สมควรเลื่อนออกไป  สี่ เป็นโอกาสที่จะทรงกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะพัฒนาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลก จึงควรที่สยามจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น โดยหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะคานอำนาจกับมหาอำนาจเก่าในยุโรป สยามจะได้มีลู่ทางมากขึ้นในการแสดงตัวตนในเวทีโลกและที่สำคัญรักษาอำนาจอธิปไตยของตนไว้ได้ต่อไป ส่วนคำถามที่อาจมีว่าเหตุใดจึงมิได้เสด็จกลับมาให้เร็วขึ้นเมื่อเกิดปัญหาในคณะรัฐบาลของพระองค์ น่าจะเป็นเพราะต้องพึ่งกำหนดการของเรือเดินสมุทร ซึ่งเป็นข้อจำกัดของสมัยนั้นที่เราในปัจจุบันมักจะลืมไป

        จากที่ได้นำเสนอมาในบทความนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสำเร็จในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี แต่ก็เป็นในภาพกว้าง กล่าวคือ มีผลเนื่องในระยะยาวมากกว่าในระยะสั้นหรือจำเพาะเจาะจงเป็นรูปธรรมในทันควัน ดังปรากฎว่าความพยายามของรัฐบาลสยามในการขอกู้เงินจากสหรัฐอเมริกาเพื่อประทังความขาดแคลนงบประมาณ สหรัฐฯ (และฝรั่งเศส) ไม่ได้ให้เงื่อนไขที่สยามรับได้ (ธีระ 2559 ข.: 123-125) สยามจึงต้องพึ่งตนเองด้วยการเก็บภาษีใหม่ ๆ และการลดจำนวนข้าราชการอีกครั้ง ซึ่งได้นำมาซึ่งความไม่พอใจในหมู่คนชั้นกลาง เป็นปัญหาการเมืองภายในตามมา

อย่างไรก็ตาม การที่ได้ทรงกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและคนอเมริกันหมู่เหล่าต่าง ๆ ระหว่างการเสด็จประพาสได้มีส่วนสำคัญที่อำนวยให้  ในเวลาต่อมา คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯได้ปฏิบัติต่อสยามแตกต่างจากอังกฤษ ตรงที่สหรัฐฯถือว่า สยามไม่ได้เป็นชาติศัตรูในสงครามนั้น และต่อมาได้ช่วยในการเจรจาให้อังกฤษยอมลดหย่อนเงื่อนไขความชดใช้ที่สยามต้องให้แก่อังกฤษ แม้ว่าการทำเช่นนั้นของสหรัฐฯเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของเขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกก็ตาม

มองในแง่นี้ เห็นได้ว่าการเสด็จประพาสครั้งนี้มีนัยสำคัญในประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่าที่คิด มิใยต้องกล่าวถึงการที่ได้ทรงริเริ่มความสัมพันธ์กับประเทศแคนาดา ประเทศเอกราชใหม่ และการที่ได้ทรงสืบสานความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่นอย่างระมัดระวัง รักษาระยะห่างไว้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐบาลขุนศึก ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้







































เอกสารอ้างอิง



ชูศรี  มณีพฤกษ์ (2550) นโยบายเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า

เจ้าอยู่หัว.  นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า

ธีระ  นุชเปี่ยม (2559 ข.) ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์?. 

กรุงเทพฯ: มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (2536).  ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์ จำกัด.

บัทสัน  เบนจามิน เอ. (แต่ง) กาญจนี  ละอองศรี และ ยุพา ชุมจันทร์ (บรรณาธิการ

แปล) (2547).  อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิ

โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 2)

พรทิพย์  ดีสมโชค (2554).  แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัช

สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ.

2477 นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 

พอพันธ์  อุยยานนท์ (2558). เศรษฐกิจไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: รักษาเสถียรภาพ

ปูพื้นฐานการพัฒนา. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2560) กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน 

กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า.

พฤทธิสาณ  ชุมพล, ม.ร.ว. (2561) “เมื่อองค์ประชาธิปกทรงกรุยทางสู่อาเซียน”

ในรายงานกิจการประจำปี 2560 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. 

กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ฯ

ราชเลขาธิการ, สำนัก. (2528) ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราช

กรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์พระราชทานในงานถวายพระเพลิง

พระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันอังคารที่ 9 เมษายน

พุทธศักราช 2528.  กรุงเทพฯ: บริษัทโรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด

รัฐสภา (2524).  พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จ

พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ: รุ่งศิลปะ

การพิมพ์.

ภาพิศุทธิ์ สายจำปา (2558), การศึกษาเอกสารชั้นต้นภาษาต่างประเทศสมัย

รัชกาลที่ 7 ศึกษากรณีการเสด็จประพาสต่างประเทศเรื่อง พระบาทสมเด็จ

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น พ.ศ. 2473-2474. เสนอพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า (เอกสารอัดสำเนา)

สีดาดำรวง  ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง (2533) อัตตชีวประวัติ ในที่ระลึกในงาน

พระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล วันที่ 7

พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส. กรุงเทพฯ: บริษัท 

โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด.

Batson, Benjamin A..  (1984).  The End of the Absolute Monarchy in

Siam.  Singapore: Oxford University Press.

https://on/wikipedia.org.wili.nittai-ji (accessed on 12 May 2018)

































[1] แต่ข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับใช้ว่า “The King and the Queen
[2] ความข้อนี้ จดหมายกราบบังคมทูลฯ ของทั้งสองผู้จัดการประชาสัมพันธ์    มีไว้เองว่า ในรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยังมีปรากฎบางอย่าง “ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือที่เป็นจินตนาการ” (ในภาพิศุทธิ์ 2558: 13-14

[3] หนังสือพิมพ์ในประเทศสยามเองรายงานข่าวการเสด็จประพาสตามข่าวที่เผยแพร่ผ่านกระทรวงการต่างประเทศของสยาม ซึ่งดูจะมีไม่มากนัก เนื่องด้วยต้องส่งมาจากกระบวนเสด็จฯในภาวะที่การสื่อสารยังห่างไกลจากความทันสมัยในปัจจุบัน และภาพิศุทธิ์เองก็ใช้น้อย ส่วน ธีระ นุชเปี่ยม เรียบเรียงจากหนังสือเกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสยามโดยทั่วไป และจากเอกสาร Siam Annual Report 1931 ของกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ และเขียนไว้ได้สั้นมาก (ธีระ 2559 ก.: 281-288)


[4] ราชเลขาธิการ 2528: 139. คำว่า “เยนแมน” เป็นชื่อเรียกข้าราชบริพารในพระองค์ผู้เป็นชาย ซึ่งแปลงมาจากคำว่า “gentleman” และได้ถูกนำมาใช้ในทำนองว่า ทำตัวเหลวไหล ไม่เป็นสุภาพบุรุษที่แท้นัก (สีดาดำรวง 2533: 51)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...