การเสด็จประพาสต่างประเทศของรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
การเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ รวม 4 ครั้ง คือ
1. เสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์ ชวา และบาหลี ระหว่าง วันที่ 31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม พ.ศ. 2472
2. เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีนของฝรั่งเศส (เวียดนาม และกัมพูชา) ระหว่าง วันที่ 6 เมษายน - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2473
3. เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ระหว่าง วันที่ 6 เมษายน -28 กันยายน พ.ศ. 2474
4. เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ระหว่าง วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 (2477) -27 สิงหาคม พ.ศ. 2477
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา
และบาหลี ระหว่างวันที่ 31กรกฎาคม ถึง 11 ตุลาคม พ.ศ. 2472
ทอดพระเนตรโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ บ้านเมือง
เช่น ปัตตาเวีย ศิลปะ เช่น ดนตรี ระบำชวา เกษตรกรรม
เช่น การทำไร่ชา สวนยาง
ไร่กาแฟ อุตสาหกรรมการทำสบู่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงกลั่นยาง
โรงงานทำยาควินิน โรงงานทำปืน โรงพยาบาล
โรงงานทำน้ำตาล บ่อน้ำมัน และ
โรงงานทำผ้าบาติก
ครั้งที่สอง อินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ. 2473 [2]
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส ได้แก่
ญวน (เวียดนาม) และ เขมร (กัมพูชา)
ระหว่างวันที่ 6 เมษายน ถึง 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2473
ทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกไซ่ง่อนและทอดพระเนตรสถานที่สำคัญของไซ่ง่อน เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล
โรงเรียน เสด็จเมืองเว้ ทอดพระเนตรภาพยนตร์ญวน ทรงเยี่ยมชมสภาการตรวจทางทะเล ซึ่งทำงานตรวจสอบพันธุ์ปลา และสัตว์ทะเลที่เป็นอาหาร ทอดพระเนตรวิธีการทำน้ำปลา การทำแป้งจากปลา เสด็จเมืองดาลัต
ทอดพระเนตรการแสดงของพวกมอยซึ่งเป็นชาวป่าในญวนและเสด็จฟาร์มโคนมซึ่งทำการเกษตรแบบผสมผสาน
คือเลี้ยงโคและปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ
หลังจากเสด็จประพาสญวน
(เวียดนาม) ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อโดยทางรถยนต์ไปเขมร(กัมพูชา)
ทอดพระเนตรโบราณสถานนครวัด นครธม พระองค์ทรงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านดนตรีโดยโปรดเกล้าฯ
ให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ตามไปสมทบเพื่อเรียนรู้เรื่องดนตรีของเขมรและเผยแพร่ดนตรีไทย
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้พระราชนิพนธ์เพลงไทยสำเนียงเขมร
ชื่อว่า เขมรละออองค์ในพ.ศ. 2473
ครั้งที่สาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา พ.ศ. 2474 [3]
การเสด็จประพาสญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา
และแคนาดาระหว่างวันที่ 6 เมษายน ถึง 12 กันยายน พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนมัสการพระพุทธรูปไดบุตสุซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ณ เมืองกามากุระ
และเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงรับการผ่าตัดพระเนตรต้อกระจกในสหรัฐอเมริกา และประทับที่คฤหาสน์โอฟีร์ ฮอล เป็นของนางไวท์ลอรีด ภริยาเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอังกฤษจัดถวายที่รัฐนิวยอร์ก ทรงรับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยยอร์ช วอชิงตัน และทอดพระเนตรความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น
ห้องทดลองเครื่องไฟฟ้าของบริษัทเยเนอรัล อีเลคทริก นิวยอร์ก
กิจการทหาร และการเจริญสัมพันธไมตรี
การเสด็จประพาสแคนาดาเป็นการส่วนพระองค์ทางรถไฟ ทอดพระเนตรการแข่งขันตกปลาแซลมอน การแข่งกีฬาในที่สูง เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเพื่อทรงรับการผ่าตัดพระเนตรครั้งที่สองที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 12มกราคม พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2477 ทอดพระเนตรความเจริญก้าวหน้าในประเทศยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส
อิตาลี เยอรมนี เช็คโกสโลวาเกีย เดนมาร์ก เปลเยี่ยม ฮังการี
สวิสเซอร์แลนด์
การเสด็จประพาสครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้ายในพระราชสถานภาพพระมหากษัตริย์ เพราะวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ก็ทรงสละราชสมบัติขณะที่ประทับที่พระตำหนักโนล ประเทศอังกฤษ
และมิได้เสด็จกลับประเทศไทยอีกจวบจนเสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักเรียนเก่า และนายทหารของประเทศอังกฤษทำให้ทรงรู้สึกคุ้นเคยและไว้พระทัยมากกว่าประเทศยุโรปอื่น ด้วยเหตุผลทางด้านวัฒนธรรม จึงทรงเลือกเมืองลอนดอนให้เป็นที่รักษาพระทนต์และพระเนตร และท้ายที่สุดทรงเลือกประเทศอังกฤษเป็นที่ประทับหลังจากทรงสละราชสมบัติด้วย
ในด้านการเมืองการปกครอง
เป็นที่น่าสังเกตว่าทรงสนพระทัยศึกษาระบอบการปกครองของประเทศยุโรปอย่างมาก
ทั้งระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยได้เสด็จฯ
ไปทอดพระเนตรห้องประชุมสภาขุนนาง (House of Lords)
และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (House of
Commons) (8 พฤษภาคม ค.ศ. 1934) ที่กรุงลอนดอน แล้วได้เสด็จฯ ประทับฟังการประชุมที่ปรึกษาข้อราชการที่สภาจนถึงเวลา 16.00 นาฬิกา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสผ่านกัมพูชาและเวียดนามที่กลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
นับเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยโดยทางอ้อมในการเสด็จเยือนอินโดจีนของฝรั่งเศสในปีพ.ศ.
2473
แม้ว่าจะเกิดเหตุร้ายหลายครั้งในเวียดนาม คือ 26 เมษายน พ.ศ. 2473 เกิดเหตุรถไฟตกรางแต่เผอิญไม่ชนกับกระบวนเสด็จ
คล้ายกับเป็นการก่อวินาศกรรมเพื่อประทุษร้ายรัชกาลที่ 7 โดยกลุ่มผู้ก่อการปฏิวัติญวนเพื่อเรียกร้องความสนใจและสร้างความยุ่งยากให้แก่ฝ่ายฝรั่งเศส
รวมทั้งยังมีอุบัติเหตุรถยนต์ชนราวสะพาน 19 เมษายน พ.ศ. 2473 ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย แต่เหตุวันที่ 4
พฤษภาคม พ.ศ. 2473 บนเส้นทางสู่เมืองกัมปงจาม
ประเทศกัมพูชา ทำให้คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาเสียชีวิต ณ ประเทศกัมพูชา
การเสด็จประพาสกรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศสพ.ศ. 2477
เป็นเวลา 20 วันได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติยศจาก
ประธานาธิบดี Albert Lebrun แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสและภริยา
จัดงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารกลางวัน ณ พระราชวัง Elysée พร้อมบุคคลสำคัญมากมาย
พระราชกรณียกิจด้านวัฒนธรรม ได้แก่ การทอดพระเนตรพระราชวังแวร์ซายส์
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมร้านค้า พิพิธภัณฑ์ และโรงเรียนเสนาธิการ Ecole
de Guerre ที่ทรงเคยศึกษาเช่นเดียวกับพระราชกรณียกิจในประเทศอังกฤษที่ทรงเสด็จเยี่ยมสถานศึกษาที่เคยเรียนและพระสหายเก่า
การเจริญสัมพันธไมตรีกับอิตาลีและ เยอรมนีในมิติใหม่ คือ
การเสด็จศึกษาดูงานของฟาสซิสต์และนาซึอย่างละเอียดทั้งเวลาเช้า กลางวันและเย็น
และทรงพบและวิสาสะกับคนสำคัญในราชการเป็นอันมาก ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงสนพระทัยศึกษาในลัทธิชาตินิยมในด้านการฝึกฝนเยาวชนให้มีคุณภาพ ต้องเน้นความพร้อมและความสมดุลย์ของทั้งร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่เข้มแข็งซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริในด้านการศึกษา
“สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดโดยการเตรียมการศึกษาให้พร้อมกับระบอบการปกครองอย่างใหม่
และทรงเห็นว่า “ควรเตรียมการที่จะเปลี่ยนเป็น “constitutional Monarchy” มากกว่าระบอบอื่นใด
การปกครองระบอบฟาสซิสที่ประเทศอิตาลีและเยอรมนีอันเป็นระบอบการปกครองใหม่ในยุโรปช่วงนั้น
ก็สนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังเช่นกัน เมื่อเสด็จถึงกรุงโรม 12 มีนาคม -4 เมษายน พ.ศ. 2477
โดยรถไฟพระที่นั่ง (12 มีนาคม ค.ศ.2477 เวลา 9 นาฬิกา)
ได้มีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระบรมโอรสมกุฎราชกุมารซึ่งเสด็จมาแทนพระเจ้าแผ่นดินอิตาลีพร้อมข้าราชการในพระราชสำนักและมุสโสลินี
นายกรัฐมนตรี ระหว่างประทับที่กรุงโรม ทรงเยี่ยมทอดพระเนตรโรงเลี้ยงเด็ก
ทั้งได้ทรงเยี่ยมกองบัญชาการคณะฟาสซิส ทอดพระเนตรห้องประชุมกรรมการห้องสมุด
ห้องเครื่องพิมพ์และการโฆษณา ห้องวิทยาศาสตร์ สถิติ
เสด็จประทับในห้องทำการของปลัดบัญชาการ
รับสั่งถามข้อความเรื่องวิธีจัดกองฟาสซิสเป็นเวลานาน (13 มีนาคม พ.ศ. 2477) ทอดพระเนตรมิลิเซีย ฟาสซิสต์หรือกองอาสาสมัครรักษาดินแดนของคณะฟาสซิสต์
พิพิธภัณฑ์แสดงประวัติของคณะฟาสซิสต์ (14 มีนาคม พ.ศ.2477) รวมเวลาประทับอยู่ในประเทศอิตาลีถึงเกือบ 1 เดือน
ประเทศเยอรมนีเช่นเดียวกับที่ประเทศอิตาลี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณีฯเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนีนานถึง 3 สัปดาห์ ระหว่าง 2 กรกฎาคม – 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 โดยได้ทรงเยี่ยมประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กที่มาเรียนบาด (Marienbad) ซึ่งเป็นเมืองพักฟื้น
ประเทศเดนมาร์ก
ระหว่าง 23 มิถุนายน- 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 ทรงทอดพระเนตรกิจการทางด้านเกษตร ฟาร์มโคนม การทำเนยอ่อน
โรงผลิตเครื่องลายครามที่มีชื่อเสียงของเดนมาร์ก โรงกลั่นเบียร์คาร์สเบิร์ก (Carlsberg) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเบียร์แห่งแรกของประเทศเดนมาร์ก (ได้ทรงสนับสนุนให้
“บุญรอด” ตั้งโรงเบียร์ในสยามก่อนหน้านั้น) ทอดพระเนตรท่าด่านภาษี โรงงานทำไฟฟ้า
โรงเก็บน้ำมันเบนซิน โรงเก็บถ่านศิลา โรงพักสินค้า
และทรงประทับเรือไปตามอู่และท่าเรือใหญ่น้อยในเดนมาร์ก
ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับการสร้างท่าเรือคลองเตยในประเทศสยาม
กับได้ทอดพระเนตรกิจการของโรงพิมพ์บลังแตง (Musée Plantin)
อันเป็นโรงพิมพ์เก่าแก่ของเดนมาร์กอยู่ในความดูแลรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สถาน โดยเจ้าชายอักเซลและพระชายานำเสด็จพระราชดำเนิน
ประเทศเบลเยียม กรุงบรัสเซลส์ 26 -28 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 แม้ว่าเบลเยี่ยมจะเป็นประเทศเล็กแต่มีการค้าขายลงทุนมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงเรือแล่นตามท่าเรือทอดพระเนตรกิจการท่าเรือและเรือสินค้ามากมาย
รวมทั้งทอดพระเนตรการสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำอีกด้วย
สัมพันธไมตรีกับประเทศเชคโกสโลวาเกีย
ประเทศเชคโกสโลวาเกีย 29 กรกฎาคม –7 สิงหาคม พ.ศ. 2477 เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานผลิตแก้วที่มีชื่อเสียงชื่อ
Bohemia-Moser ที่ Dvoryโรงบ่อน้ำแร่และน้ำร้อน
ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานผลิตรถยนต์โกดา ที่ Plzeň ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ซึ่งโรงงานแห่งนี้ ผลิตเครื่องเหล็กหลายอย่าง
(แบบเดียวกับผลิตภัณฑ์ของโรงงานครุปป์ในเยอรมนี)
รวมทั้งผลิตอาวุธและอุปกรณ์รบหลายอย่างด้วย สำหรับการผลิตอาวุธนั้น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระประสงค์ที่จะทอดพระเนตรและฝ่ายสยามได้แจ้งไปยังประเทศเจ้าภาพก่อนหน้าแล้วแต่พระองค์มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานเครื่องหนังและรองเท้าบาจา (BAŤA)
ที่โมราเวีย เมือง Zlíně และ Zbrojovka กับ Arsenal
enterprise ที่ Brno ตามหมายกำหนดการเดิมในวันที่
3 สิงหาคม
เนื่องจากทรงอ่อนกำลังพระวรกายจากที่มีการเปลี่ยนหมายกำหนดการอยู่หลายต่อหลายครั้ง
(บาจา ได้เข้ามาค้าขายในสยามตั้งแต่ พ.ศ. 2473)
นอกจากนี้ยังมีกิจการโรงงานน้ำตาล กิจการด้านเกษตรกรรมที่ประเทศเชคโกสโลวาเกีย
และที่ประเทศฮังการี 8 สิงหาคม-16 สิงหาคม
พ.ศ. 2477ทอดพระเนตรงานด้านเกษตรและการผสมสัตว์
โรงมวนบุหรี่ กับกิจการของโรงงานบริษัท สแตนดาร์ด เวอร์กส์ (Standard Works) ทำเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า
จะเห็นได้ว่า
กิจการหลายประการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรในยุโรปนับเป็นการศึกษาดูงานทั้งเรื่องการเมืองการปกครอง
การสหกรณ์ การเกษตร การปศุสัตว์ การท่าเรือ การศึกษา การค้า รวมถึงความเจริญของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้จึงแสดงถึงนัยอย่างสำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง
[1] ศึกษารายละเอียดจากรายงานวิจัยเรื่อง ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เยือนสิงคโปร์ ชวา และบาหลี พ.ศ. 2472
โดย นางอิ่มทิพย์ ปัตตะโชติ
ซูฮาร์โต เสนอ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2558.
[2] ศึกษารายละเอียดจากรายงานวิจัยเรื่อง การเสด็จประพาสอินโดจีนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2473 โดย นางฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร เสนอ
สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2558.
[3] ศึกษารายละเอียดจากรายงานวิจัยเรื่อง การศึกษาเอกสารชั้นต้นภาษาต่างประเทศ
สมัยรัชกาลที่ 7 ศึกษากรณี
การเสด็จประพาสต่างประเทศ เรื่อง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น พ.ศ.
2474 โดย
นางสาวภาพิศุทธิ์ สายจำปา เสนอ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2558.
[4] ศึกษารายละเอียดจาก รายงานวิจัยเรื่อง การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2476-2477
โดย ศาสตราจารย์ ดร. พรสรรค์
วัฒนางกูร เสนอ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2559
และหนังสือจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2476-2477 ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2526) เรียบเรียงโดยพลโท
พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกริ(ม.ร.ว. สิทธิ์ สุทัศน์)
ผู้บันทึกรวบรวมทั้งหมด 16 ตอน พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีปชา
สิริวรสาร เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2526.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น