ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

“การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. 1934

 



การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. 1934

(พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗)

                                                                           ศ.ดร.พรสรรค์ วัฒนางกูร

                                                                                           ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม

                                                                                                 

ความนำ  

          การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] แห่งราชอาณาจักรสยาม ค.ศ. 1934/พ.ศ. 2476-2477 (นับตามปฏิทินจันทรคติของสยาม) เป็นการเดินทางครั้งสำคัญหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ท่ามกลางช่วงเวลาระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ที่ผันผวนทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในโลก ในเอเชีย ตลอดจนในประเทศสยามเองหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. 1934 ได้รับผลกระทบและได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ร่วมกันของยุโรปและเอเชีย ได้แก่ การค่อยๆ ล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในยุโรป อิทธิพลของความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการเผยแผ่อิทธิพลของอุดมการณ์การเมืองใหม่ในโลกยุโรปและเอเชีย ได้แก่ ลัทธิสังคมนิยมมาร์กซิสม์และสังคมนิยมคอมมูนิสต์ และอิทธิพลจากลัทธิเผด็จการชาตินิยมฟาสซิสม์ ปัจจัยทั้งหมดนี้ควรพิจารณาไปพร้อมกันกับสถานการณ์ในยุโรป เอเชีย โดยเฉพาะเหตุการณ์การเมืองของสยามทั้งก่อน การเสด็จประพาสยุโรป และระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับในยุโรป ภาพรวมนี้จะช่วยให้เข้าใจเรื่องการเสด็จประพาสยุโรปที่จบลงด้วยการสละราชสมบัติของพระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ดียิ่งขึ้น 

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป 9 ประเทศได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส  อิตาลี  นครวาติกัน  อังกฤษ  เดนมาร์ก  เยอรมนี เบลเยียม  เชคโกสโลวาเกีย ฮังการีและสวิตเซอร์แลนด์  (12 มกราคม พ.ศ. 2476/ค.ศ. 1934 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2477/ค.ศ. 1935) เป็นการเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งที่ 4 ในปีที่ 8 และ 9 ของการครองราชสมบัติ  กินเวลาระหว่างครองราชสมบัติ ถึง การสละราชสมบัติที่ประเทศอังกฤษในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477/ค.ศ. 1935 ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี นับเป็นหัวข้อใหม่ที่ยังไม่เคยทำการวิจัยมาก่อน คือมุ่งวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศและวัฒนธรรมในบริบทของประวัติศาสตร์ยุโรป เอเชียและประวัติศาสตร์ไทย เป็นการฉีกประเด็นไปจากหัวข้อวิจัยที่เน้นเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งมีผู้ค้นคว้าและเขียนไว้แล้วมากมาย[2] ทั้งงานวิจัยเรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในชุดหัวข้อวิจัยชุดใหม่ของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้มอบหมายให้นักวิชาการหลายบุคคลหลายคณะทำการค้นคว้าประเด็นใหม่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปีแห่งพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหัวข้อใหม่เรื่องทั้งในและต่างประเทศ  

งานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลชั้นต้นและชั้นรองทั้งในประเทศไทยและข้อมูลจาก 7 ระเทศในยุโรปที่ผู้วิจัยได้ค้นคว้ามาใหม่ คือ สาธารณรัฐเชค ฮังการี อิตาลี นครวาติกัน เดนมาร์ก เบลเยียมและเยอรมนี นำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ในรายละเอียดให้เห็นจริงเพื่อความเข้าใจในที่มาสาเหตุของการเสด็จประพาสยุโรป การเตรียมการเสด็จประพาสยุโรปที่ต้องติดต่อกับฝ่ายสยามและฝ่ายต่างประเทศมากมายอันสะท้อนสถานการณ์การเมืองการปกครองในสยาม ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเองระหว่างบุคคลในรัฐบาลของคณะราษฎรหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ค.ศ. 1932/พ.ศ 2475 ตลอดมา ทั้งยังสะท้อนความเห็นที่แตกต่างจนไม่สามารถประนีประนอมได้ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์และรัฐบาล รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับประเทศยุโรปในหลายแง่มุมหลายด้านอย่างมีนัยสำคัญทั้งในทางการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของช่วงนี้ที่ยังไม่เป็นที่รู้ในวงกว้างดีขึ้นในหลายประเด็น อาทิเรื่องการแสวงหามิตรใหม่คือ ญี่ปุ่นของสยามในช่วงทศวรรษที่ 1930 การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศที่เริ่มอย่างจริงจังในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทพระปรมินทรมหาภูมิพล  อดุลยเดช บรมนาถบพิตร กับยังเสนอภาพการเสด็จประพาสยุโรปและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในแง่มุมใหม่รอบด้านที่สัมพันธ์กับปัจจัยจากต่างประเทศ นับเป็นพระราชคุณูปการยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  มิใช่เฉพาะในฐานะพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงกอปด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ในการที่ทรงยับยั้งการสู้รบนองเลือดระหว่างคนไทยกันเองด้วยการยอมสละพระราชอำนาจพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ปวงชนชาวไทย แต่ในฐานะพระมหากษัตริย์นักการทูตที่ชาวยุโรปยอมรับ และทรงทำให้ประเทศสยามใหม่ ในระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

สาเหตุของการเสด็จประพาสยุโรป - การเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศกับการเมืองสยาม 

             สาเหตุหลักของพระราชดำริที่จะเสด็จประพาสสหรัฐอเมิกาและยุโรปในค.ศ. 1934 คือ การรักษาพระเนตรซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สมควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากอาการพระเนตรทรุดลงอย่างมาก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเล่าว่า ถ้าจะพูดกันแล้ว ในตอนนั้น ทางรัฐบาลเขาก็ไม่อยากให้ไปเหมือนกัน แต่ท่านไม่สบายจริงๆ หมอบอกว่า พระเนตรอีกข้างจะบอดอยู่แล้ว ให้เสด็จฯ ไปรักษาเสีย ก็เลยตัดสินพระทัยไป

[3]

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการผ่าตัดพระเนตรข้างซ้ายมาแล้วในค.. 1931 ที่สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วีเลอร์ชาวอเมริกันได้ผลสำเร็จดี แต่นายแพทย์ยังไม่สามารถผ่าตัดครั้งที่ 2 ได้ เนื่องจากพระโรคยังไม่แก่พอ และได้ถวายคำแนะนำว่า อีกสองปีต้องมาทรงรับถวายการรักษาพระเนตรอีกครั้ง

การเสด็จประพาสยุโรป (และสหรัฐอเมริกา ซึ่งท้ายที่สุดไม่ได้เสด็จฯ) ในค.ศ. 1934/พ.ศ. 2477   ในชั้นแรก รัฐบาลสยามได้เห็นชอบอนุมัติแล้วก่อนหน้า ดังความในพระราชดำรัสในตอนต้นปีวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476 ซึ่งพระราชทาน ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งแต่เพียงว่า เป็นความจำเป็นเพื่อการรักษาร่างกายของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะได้ถือโอกาสเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมยิ่งขึ้นด้วย จากนั้นรับสั่งว่า ทรงตระหนักในความยากลำบากยิ่งทางการบ้านเมืองซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ แต่ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจในคณะรัฐบาล... [4]  

          จึงเท่ากับว่า การรักษาพระเนตร ณ ต่างแดนนั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อใดเท่านั้น

          แต่ก่อนการเสด็จประพาสยุโรปและระหว่างการเตรียมการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในค.ศ. 1934/พ.ศ. 2477 สถานการณ์การเมืองในประเทศสยามเต็มไปด้วยปัญหาและอยู่ในบริบทของสถานการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่จะต้องพิจารณาไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนในคณะรัฐบาลที่ไม่ลงรอยกัน มีการแย่งชิงอำนาจเพื่อจะได้เป็นใหญ่ระหว่างคนในคณะรัฐบาลและคนในคณะราษฎรที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายหลายพวก รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับองค์พระมหากษัตริย์เรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกลิดรอนลดลงจนเกือบไม่มีเลย

 ในการเตรียมการเสด็จประพาสยุโรป  สำนักราชเลขานุการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้น พระยาอภิบาลราชไมตรีเป็นรัฐมนตรีรับเรื่องไปดำเนินการ ได้ติดต่อกับฝ่ายยุโรปและอเมริกาผ่านอัครราชทูตสยามประจำประเทศเหล่านั้นในเบื้องแรก 

        แต่การเตรียมการเสด็จประพาสต่างประเทศเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก ทั้งการเตรียมการติดต่อกับฝ่ายยุโรปและอเมริกาที่ต้องหาวันเวลาที่เหมาะเจาะสำหรับทั้งเจ้าบ้านและอาคันตุกะจากเอเชียที่ต้องสอดคล้องกับกำหนดเวลารักษาพระทนต์และพระเนตร และยังต้องหาสถานที่รักษาพระองค์ภายหลังการผ่าตัดที่เหมาะสมอีกด้วย แต่อุปสรรคสำคัญของการเสด็จประพาสยุโรปที่ยังไม่เป็นรู้กันแพร่หลายมาก่อน เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นที่รัฐบาลสยามจะอนุมัติให้องค์พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จออกจากสยามเพื่อไปทรงรักษาพระองค์หรือไม่ เป็นผลสืบเนื่องจากการเมืองภายในประเทศสยามหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1932/พ.ศ. 2475 ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากมายจนต่างชาติบันทึกไว้ดังปรากฏในเอกสารของฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายเยอรมัน

        หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวสยามในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1932/พ.ศ. 2475 แล้วเพียงไม่นาน เกิดข่าวลือแพร่สะพัดหนาหูเกี่ยวกับการก่อรัฐประหารครั้งใหม่ที่กำลังเตรียมการกันอยู่  คาดเดากันว่าดำเนินการโดยฝ่าย “ฝักไฝ่เจ้า” คือสมาชิกกลุ่ม “คณะชาติ” ซึ่งถูกรัฐบาลกีดกันไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง รัฐบาลอนุญาตแต่ “คณะราษฎร” ผู้กุมอำนาจอยู่ในประเทศเพียงกลุ่มเดียว มีการเล่นการเมืองตบตากันของบุคคลในคณะรัฐบาลเรื่องอาการบาดเจ็บของพลเอก พระยาเสนาสงครามที่ถูกลอบยิงที่เท้าช่วงต้นค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476 และในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ต่อมา มีเหตุวิวาทผิดใจกันในคณะรัฐบาลระหว่างพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี กับพันเอก พระยาทรงสุรเดช หนึ่งในหัวหน้าคณะปฏิวัติสืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้นำหลายคนของคณะปฏิวัติที่เคยกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขณะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เกิดรู้สึกอับอายที่ต้องประกอบพิธีขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเอิกเกริก จึงประสงค์จะแก้หน้าตนเองด้วยการลิดรอนเอกสิทธิขององค์พระมหากษัตริย์อีก โดยพันเอก พระยาทรงสุรเดชได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 15 คนให้ยกเลิกการจัดงานเฉลิมฉลองวันจักรี และให้มีวันหยุดติดต่อกัน 3 วันเนื่องในโอกาสครบรอบวันก่อปฏิวัติ วันที่ 23-25 มิถุนายนแทน ทำให้มีการประคารมกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีกับพระยาทรงสุรเดช และนับแต่นั้นมา ทั้งสองก็มีกรณีวิวาทผิดใจกันอย่างรุนแรงอีกหลายครั้งในที่ประชุม

        เรื่องอื้อฉาวของรัฐบาลอีกเรื่องหนึ่ง คือ กรณีที่รัฐบาลใหม่ให้นำช้างหลวงทุกเชือก (ยกเว้นช้างเผือกสองช้าง) ไปปล่อยที่ป่าไม้สักอุตรดิตถ์เพื่อให้หากินเอง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการประหยัดทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวเมืองสยามที่ยึดมั่นใน “ช้าง” โดยเฉพาะช้างที่ถูกกระทำเป็นช้างหลวง ต่างพากันโกรธเคือง หนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงยึดยาวจนรัฐบาลต้องยอมให้ควาญช้างนำ แม่เพ็ญ ช้างพังอายุแก่มากที่สุดเดินทางกลับเข้าวังตามเดิม ประชาชนชาวสยามต่างตื่นเต้นยินดีกับพังแม่เพ็ญอย่างมโหฬารยิ่งกว่าการแสดงความตื่นเต้นยินดีกับการก่อการปฏิวัติหรือแม้แต่การประกาศรัฐธรรมนูญเสียอีก เรื่องนี้ ผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า เรื่องช้างดูจะไม่สลักสำคัญอะไรในสายตาของชาวยุโรป แต่เรื่องช้างนี้กลับจะมีผลกระทบต่อรัฐบาลใหม่เสียยิ่งกว่าเรื่องอื่นใด และมีส่วนทำให้กระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลลดลงอย่างมาก ประชาชนส่วนมากดูจะแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐบาลใหม่ยิ่งกว่าแต่ก่อน

สถานการณ์การเมืองในสยามทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476 เมื่อทางรัฐบาลให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อให้สภาพิจารณา ทำให้หลวงประดิษฐ์ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะรัฐบาลของ   พระยามโนปกรณ์นิติธาดาอย่างที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ นำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างระหว่างคนบางกลุ่มในคณะรัฐบาลเองกับองค์พระมหากษัตริย์ด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีได้นำเอาพระราชบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ที่ประชุมคณะ รัฐมนตรีพิจารณา (12 มีนาคมค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476)  ความไม่ลงรอยอื่นๆ ตามมาถึงขนาดสมาชิกสภาบางคน (ที่สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ และเป็นกลุ่มหัวรุนแรง) พกอาวุธเข้าประชุมสภาฯ (30 และ 31 มีนาคม) ทหารเข้าคุมสภาเกิดความอลเวงขนานใหญ่ รัฐบาลจึงอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร (1 เมษายน) ตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์พุทธศักราช 2476 งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และถอดถอนรัฐมนตรีบางคนที่รัฐบาลสงสัยว่าฝัก ไฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ยุบสภา (2 เมษายน) ทั้งยังได้จัดพิมพ์พระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหนังสือออกเผยแพร่ในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1933/พ.ศ.2476ในชื่อ “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ซึ่งทรงไม่เห็นชอบ เนื่อง จาก “..โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่... เพราะแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติบ้านเมือง...จะกลายเป็นสิ่งนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าจนเป็นความหายนะถึงแก่ความพินาศแห่งประเทศและชาติบ้านเมือง...

[5] แม้แต่ทูตชาวดัตช์ก็ยังมีความเห็นว่า โครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีเนื้อหาที่แสดงหลักการคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน แม้ว่าหลวงประดิษฐ์จะมิได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่เป็นนักอุดมคติหัวรุนแรงที่ต้องการรับใช้ชาติ...

[6] ส่วนนักการทูตสหรัฐอเมริกาก็มีความเห็นไม่ต่างกันว่า ขณะนั้น กิจกรรมของกลุ่มคอมมูนิสต์ได้เพิ่มขึ้นมากในสยามตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2475

รัฐบาลได้ถือโอกาสนี้ขับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกนอกประเทศ ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า บุคคลในคณะรัฐบาล ปรากฏชื่อว่า หัวหน้าคือพระยาทรงสุรเดชและนายประยูร ภมรมนตรีที่ไปเข้าร่วมกับฝ่ายขวา ใช้องค์พระมหากษัตริย์บังหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมืองโดยนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์มาอ้างเพื่อกำจัดหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกไปให้พ้นทาง

หลังจากนั้น รัฐบาลโดยคณะของพันโทหลวงพิบูลสงครามได้ทำรัฐประหารตนเอง (20 มิถุนายน 2476) เข้ายึดอำนาจและปลดพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาลโดยให้พระยาพหล พลหยุหเสนาเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้ง มีการผูกขาดการตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” คือห้ามมิให้ตั้งพรรคการเมืองอื่นนอกจากพรรคของคณะราษฎร

การปฏิวัติครั้งนี้ เป็นการเปิดทางให้หลวงพิบูลสงครามซึ่งเป็นกลุ่มทหารหนุ่มและเดิมยังไม่มีบทบาทมากนัก กลายเป็นผู้คุมกำลังกองพันและในที่สุดกลายเป็นผู้นำรัฐบาลทหารต่อมาอีกหลายสมัยของประเทศไทย

ทั้งหมดนำไปสู่ กบฏบวรเดช ในต้นเดือนตุลาคม (11 ต.ค.) ปีเดียวกันนั้นเองในที่สุด คือ ค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476 หลังจาก กบฏบวรเดช รัฐบาลสมัยนั้นที่มีพระยาพหลพลหยุหเสนาเป็นนายก รัฐมนตรีได้เปลี่ยนท่าทีจากเดิมที่เคยเห็นดีกับการเสด็จประพาสต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าจะเป็นโอกาสอันดีที่องค์พระประมุขแห่งสยามจะได้ทรงเยี่ยมเยือนประมุขของชาติต่างๆ  กลายเป็นไม่เห็นด้วย รัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้องค์พระมหากษัตริย์ประทับรักษาพระเนตรในกรุงเทพฯ และจะเชิญนายแพทย์จากต่างประเทศมาถวายการรักษา โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากเวลาที่ทรงพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศนั้นเป็นเวลาเพิ่งปราบกบฏ (บวรเดช) เสร็จสิ้นไปใหม่ๆ บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในพระนครย่อมเป็นที่อุ่นเกล้าแก่ประชาชน[7] นับว่า ข้อแก้ตัวของรัฐบาลอ้างสาเหตุเรื่องการเมืองภายในประเทศ

        ผู้วิจัยเห็นว่า เหตุผลของรัฐบาลในเวลานั้น อันที่จริงอาจเป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลเอง ด้วย การที่มีกลุ่มขัดแย้งมากมายในประเทศ ทั้งยังมีทั้งกลุ่มทหารและพลเรือนที่จงรักภักดีต่อพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่อีกมากที่ยังมีท่าทีว่าอาจต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลจึงยึดเอาองค์พระมหากษัตริย์เป็นเกราะกำบังโดยมิได้ห่วงพระพลานามัยของพระองค์หรือคำนึงถึงข้อเสียของการรักษาพระเนตรในประเทศสยาม แม้ว่าความจำเป็นในการรักษาพระเนตรในต่างประเทศนั้นชัดแจ้งอยู่  ไม่ใช่แต่เรื่องแพทย์ที่ชำนาญมากกว่า แต่เครื่องมือการแพทย์ของต่างประเทศก็ทันสมัยกว่า ทั้งรัฐบาลไม่ได้เข้าใจเรื่องการติดต่อเตรียมการกับต่างประเทศที่ได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ต้นพ.ศ. 2476/ค.ศ. 1933 ทุกอย่างต้องเตรียมการล่วงหน้า หากยกเลิกก็จะเป็นผลเสียทั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเสียทั้งค่าปรับในหลายกรณี ดังพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังจากรัฐบาลขอทราบพระราชกระแสเรื่องรัฐบาลขอเลื่อนการเสด็จประพาสยุโรปไปเป็นเดือนมีนาคม คือเลื่อน

จากมกราคมออกไปอีก 3 เดือน ปรากฏในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ โปรดเกล้าว่า

            “... การที่จะเลื่อนกำหนดการเสด็จฯ นั้น จะต้องเปลี่ยนโปรแกรมอย่างมากมาย คือรวมถึง 5

      ประเทศเป็นอย่างน้อย และต้องบอกเลิกนายแพทย์บัคเลย์ด้วย... นอกจากนี้ ถ้าเลื่อน บริษัทเรือ

      East Asiatic ของเดนมาร์กจะต้องรับความเสียหายที่จะต้องจัดเรือใหม่ซึ่งทางบริษัทได้บอกเลิกไม่

      รับผู้โดยสารสำหรับเรือถึง 2 ลำ ถ้าเลื่อนเวลาเสด็จฯ ไปเป็นเดือนมีนาคมอย่างที่รัฐบาลต้องการ

      บริษัทเรือไม่สามารถจัดเรือให้ได้เพราะเวลากระชั้นมาก ต้องรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน และ

              ถ้าจะว่าตามทางการเมืองแล้ว การบอกเลื่อนกำหนดวันเสด็จฯ จะทำให้สงสัยกันทั่วโลกว่า

        ประเทศสยามไม่มีความสงบ ประโยชน์ที่จะได้ทางการเมืองในประเทศสยามเองก็น่าสงสัยว่าจะ

      ไม่ได้เท่าไรนัก ทรงเห็นว่า มีทางเสียมากว่าทางได้แน่นอน อนึ่ง อาจต้องเสียค่าปรับตามโฮเต็ล

      เช่นเมื่อครั้งบอกเลิกโฮเต็ลคราวเสด็จประพาสชวาที่ต้องเสียเงินมากมาย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุ

      อื่นๆ ที่อาจพระราชทานพระบรมราชาธิบายได้อีก

          ขณะนั้นมีข่าวลือมากมายจากฝ่ายต่างประเทศ ในรายงานของทูตเยอรมันมีการคาดเดาว่า พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงตั้งพระทัยที่จะสละราชสมบัติและพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์จะทรงขึ้นครอง

ราชย์ต่อจากพระองค์[8] ทั้งยังมีข่าวลือด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปแล้วจะไม่เสด็จฯ กลับมาอีกสืบเนื่องจากข้อขัดแย้งกับรัฐบาลตั้งแต่เมื่อปีก่อนหน้าคือ ค.ศ. 1932/พ.ศ.2475) นอกจากนี้ รัฐบาลได้เข้มงวดเรื่องเงินกับเจ้าอย่างแข็งกร้าวไม่ประนีประนอม ตัดรายการในพิธีฉัตรมงคล ตัดพิธีฉลองวันบรมราชสมภพออก 3 วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบรัฐบาลว่าจะไม่เสด็จฯ ไปร่วมพิธี แต่พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จฯ แทน และทรงแจ้งให้รัฐบาลตัดพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาออกเสีย (พิธีสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์) เนื่องจากพระราชพิธีนี้ไม่มีประโยชน์แล้ว และจะไม่เสด็จฯ กรุงเทพฯ เลย แต่จะประทับที่หัวหินและทรงว่าราชการที่นั่น

          ในรายงานของทูตเยอรมัน ข่าวลือถึงขนาดว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เรือตอร์ปิโดสัญชาติฝรั่งเศสที่เดินทางมาสยามถวายอารักขาพระองค์ เรือตอร์ปิโดฝรั่งเศสที่ว่าคือ เรือรบ Dumont d’Urville“ ที่เดินทางมาสยามระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม ค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครเพียงเพื่อทรงต้อนรับเรือรบฝรั่งเศส[9]

จาก กบฏบวรเดช นี้เอง เราได้ประจักษ์ถึงพระราชวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะทรงดำรงพระองค์เป็นกลางไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอันเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จต่างประเทศ ทรงถูกกล่าวหาจากบุคคลบางกลุ่มว่า พระองค์ทรงช่วยเหลือสนับสนุนฝ่ายกบฏ อีกทั้งบุคคลและข้าราชการข้าราชบริพารหลายคนกับทหารรักษาวังหลายนายถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกกล่าวหาว่ามัวหมองเกี่ยวข้องกับการกบฏ แม้พระยาพหลฯ กับหลวงพิบูลฯ จะได้รับคำกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้แล้วว่า รัฐบาลจะไม่ลงโทษบุคคลและทหารเหล่านั้น เช่น พ.ท.หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายทหารรักษาวังและเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ภายหลังทรงเป็นหัวหน้าคณะเสรีไทยในอังกฤษคราวมหาสงครามโลกครั้งที่2[10] การเสด็จฯ ลี้ภัยการเมืองไปยังสงขลาด้วยเรือพระที่นั่ง ”ศรวรุณ” ของพระมหากษัตริย์ก็เพื่อให้ประทับห่างจากเหตุการณ์และไกลจาก สนามความขัดแย้ง เป็นการแสดงความเป็นกลางของพระเจ้าแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยประการหนึ่ง และเพื่อให้ทรงพ้นข้อกล่าวหาว่าทรงสนับสนุนพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ซึ่งเป็นเจ้านายในราชวงศ์อีกประการหนึ่ง กับเป็นการป้องกันการถือหางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการสู้รบระหว่างคนไทยกันเองระหว่างฝ่ายที่ยังจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์กับฝ่ายที่ต่อต้านเจ้าและราชวงศ์ และยังเป็นการป้องกันมิให้ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแอบอ้างพระองค์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มคณะตนและดึงพระมหากษัตริย์ลงมาสู่เวทีการเมืองซึ่งอาจนำอันตรายใหญ่หลวงมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือควบคุมพระองค์ไว้เป็นตัวประกันแล้วบังคับให้พระองค์ทรงกระทำในสิ่งที่ไม่ทรงเห็นชอบด้วย

การเดินทางของพระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งพระบรมจักรีวงศ์สะท้อนภาพอันน่าสลดใจเมื่อเจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐบาลหลายคนเข้าขัดขวางอย่างแข็งกร้าว นอกจากปฏิเสธไม่ทำตามพระราชประสงค์แล้วยังแสดงความ ”ก้าวร้าวไม่จงรักภักดี” อย่างชัดเจน คณะนายทหารเรือจำนวนมากที่ไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในสมัยนั้นถึงกับเคลื่อนเรือรบหลายลำไปอยู่เสียที่จังหวัดสงขลา ดำรงตนเป็นกลาง ไม่เข้ากับรัฐบาลและฝ่ายกบฏ แต่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์

ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลและองค์พระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจาก “กบฏบวรเดช” นอกจากการที่รัฐบาลต้องการจะให้พระมหากษัตริย์ต้องเลื่อนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปซึ่งเห็นๆ อยู่ว่าเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากแล้ว ทูตเยอรมันได้รายงานไปยังแบร์ลีนว่า ในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ทางรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนบุคคลอื่นๆ สังเกตได้ นั่นคือนายกรัฐมนตรีสยามจะทำท่าเมินเฉยมึนตึงกับพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ ในงานด้านกีฬา งานพระราชพิธีสำคัญหลายต่อหลายครั้งที่มีคณะทูตต่างประเทศร่วมงานด้วย ครั้งหนึ่งเป็นงานเลี้ยงรับรองตอนบ่ายในโอกาสวันฉลองพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ครั้งที่สองเป็นงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเฉพาะแขกกลุ่มเล็ก คือ ราชทูตซึ่งเป็นตัวแทนจากเพียงบางประเทศ  กับแขกรับเชิญที่เป็นตัวแทนด้านการค้า ทูตเยอรมัน คือ ดร.นอร์ทได้รับเชิญและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารด้วยเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเยือนแบร์ลีนที่กำลังจะมาถึงและเรื่องหนังสือของฮิตเลอร์และหนังสือเกี่ยวกับลัทธินาซี ชาตินิยมสังคมนิยม (Nationalsozialismus) และแม้ว่าขณะนั้น (คือวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1934 ดังปรากฏในรายงานของทูตเยอรมัน) ท่าทีมึนตึงดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ จะไม่เห็นแล้วในที่สาธารณะ แต่ความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลที่กล่าวหาพระองค์ท่านว่า ทรงหนุน กบฏบวรเดช น่าจะยังคงอยู่ 

นอกจากนี้ ทูตเยอรมัน (ดร.นอร์ท) ได้ข่าวก่อนหน้าไม่นานจากแหล่งข่าวฝ่ายสยามที่ใกล้ชิดเชื่อถือได้ว่า หลังเหตุการณ์ไม่สงบกรณีพระองค์เจ้าบวรเดช รัฐบาลอ้างว่ามีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนร่วมในการกบฏด้วย รัฐบาลได้ควบคุมองค์พระมหากษัตริยไว้ในอำนาจอย่างใกล้ชิด และทูตเยอรมันยังได้รับข้อมูลจากฝ่ายสยามว่า รัฐบาลบังคับให้พระองค์ทรงจ่ายค่าเสียหายอันเป็นผลจากกรณีปฏิวัติ กบฏบวรเดช จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินสูงถึง 3 ล้าน 5 แสนทิคเคิล (Ticals) อีกทั้งรัฐบาลรีรออยู่นานกว่าจะอนุมัติการเสด็จประพาสยุโรปและอเมริกาขององค์พระประมุข โดยการอนุมัติให้เดินทางมีข้อแม้ว่า จะต้องไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสยามอีก! [11]

        ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระญาณเวทโหรหลวงเป็นผู้หาฤกษ์วันเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศคือยุโรปและสหรัฐอเมริกาโดยไม่ทรงฟังคำกราบบังคมทูลคัดค้านจากรัฐบาลที่จะให้เลื่อนการเสด็จประพาสต่างประเทศออกไปจากต้นเดือนมกราคมตามที่พระญาณเวทกราบบังคมทูลขอให้เสด็จฯ ในวันที่ 12 มกราคม ค.. 1934/ .. 2476 ออกไปอีกสามเดือนเป็นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1934/พ.ศ. 2476 (นับตามปฏิทินจันทรคติ)

[1] บทความนี้เป็นบทความสั้นของงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. พรสรรค์ วัฒนางกูร เรื่อง การเสด็จประพาสยุโรปของ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. 1934 (พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗) ทุนวิจัยสนับสนุนโดยพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2558-2559 ผู้วิจัยใช้ข้อมูลทั้งจากฝ่ายไทยและฝ่ายยุโรปซึ่งไม่สามารถเขียนแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงให้เห็นได้ทั้งหมดในบทความสำหรับวารสารซึ่งมีเนื้อที่จำกัด

 [2] เช่น ยาสุกิจิ ยาตาเบ เขียน เออิจิ มูราชิมาและนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แปล (พิมพ์ครั้งที่ 3, 2547), การปฏิวัติและ

การเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม วัลย์วิภา จรูญโรจน์ (ม.ล.) (2548), แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาท

สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า

เจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, ปรีดา วัชรางกูร (2520),พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย พระราชประวัติของ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์. ฯลฯ  

 [3] พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, พ.ศ. 2545). จัดพิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: บริษัท เอ.พี.กราฟิค ดีไซด์และการพิมพ์ จำกัด, หน้า 17

 [4] อ้างใน: พฤทธิสาณ ชุมพล, รัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ธันวาคม พ.ศ. และการเสด็จฯ ออกไปประพาสยุโรป(kw57). โครงการเว็บไซด์ของสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง พระปกเกล้ากับระบอบประชาธิปไตย พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์ ดู: พรสรรค์ วัฒนางกูร (kw20)

http: wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเสด็จยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว_ค.ศ._๑๙๓๓_-_๓๔

  [5] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูต (2518), เอกสารการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคม ศาสตร์แห่งประเทศไทย, หน้า 278, 354, 356

 [6] อ้างใน: สมบัติ จันทรวงศ์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประจักษ์ ก้องเกียรติ (.. 2550). เชิงอรรถที่ 6, หน้า 92  ความ

ในต้นฉบับภาษาอังกฤษว่า “Recently the cooperation in Parliament to contemplate on Government policy was

lost, because Luang Pradit Manudham submitted a plan for economic development based completely on

communist principles…”

 [7] ปรีดา วัชรางกูร (2520), พระปกเกล้ากับระบอบประชาธิปไตย พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า

เจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์, บทที่ 25 เสด็จฯ ต่างประเทศ, หน้า 327

  [8] ใน: เอกสารหอจดหมายเหตุการเมือง กรุงแบร์ลีน กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี R 86066 รายงานของทูตเยอรมัน นอร์ท (Nord) ประจำกรุงเทพฯ ไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน แบร์ลีน หนังสือวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1933 J.Nr. 595/33, หน้า 4

   [9] ใน: ROUX Henri: เอกสารภาษาฝรั่งเศสเรื่องการเดินทางมาเยือนประเทศสยามของพลเรือตรี Berthelot, เอกสารหมายเลข 45/A วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476. ใน: รายงานวิจัยเรื่อง เอกสารชั้นต้นฝรั่งเศสกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 189

  [10] ดู: ปรีดา วัชรางกูร (2520), เชิงอรรถที่ 7, หน้า 305

  [11] Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R 86066, รายงานจากสถานทูตเยอรมัน กรุงเทพฯ โดยทูตนอร์ท ลงวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1934, J. Nr. 36/34 (4 หน้า) 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั