พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีโปรดการเสด็จประพาสชายทะเลหัวหินมาแต่เมื่อยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งทรงทราบดีว่าหัวหินขาดแคลนน้ำจืด ดังนั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการจัดสภาบำรุงสถานที่ทะเลฝั่งตะวันตก พุทธศักราช ๒๔๖๙ เพื่ออนุวัตรตามแนวพระราชดำริให้ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยในภายหน้า “สภาบำรุงฯ” จึงเป็นการทดลองปกครองตนเองระดับท้องถิ่นในรูปแบบ municipality หรือ “ประชาภิบาล” (ภายหลังเรียกว่า “เทศบาล” ) “ให้ราษฎรได้รู้จักเข้าควบคุมกิจการท้องถิ่นด้วยตัวเองก่อนที่เขาจะพยายามควบคุมราชการแผ่นดินโดยผ่านทางรัฐบาล”
พร้อมกันนั้นมีพระราชประสงค์สร้างที่ประทับส่วนพระองค์พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โปรดให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร
ผู้อำนวยการศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภาเป็นสถาปนิก
โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่
โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อว่า “สวนไกลกังวล”
เนื่องจากทรงตั้งพระราชหฤทัยสร้างพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงมีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ “เมฆรัศมี”
รูปแสงพระอาทิตย์ส่องผ่านเมฆขาวประดับตกแต่งหลายแห่ง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๒
มีการแสดงดนตรีไทย ดนตรีสากล
และการแสดงรีวิวเป็นงานรื่นเริงในหมู่พระประยูรญาติและข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีโปรดเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับวังไกลกังวลเป็นนิจ เพราะทรงสำราญพระราชหฤทัยท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของชายทะเลหัวหิน ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งราชการจากวังไกลกังวลด้วย
จนกระทั่งวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เกิดเหตุการณ์กบฎบวรเดชขึ้น ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับที่สวนไกลกังวล ในคืนวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารได้เสด็จฯโดยเรือยนต์พระที่นั่ง "ศรวรุณ" มุ่งสู่จังหวัดสงขลา ประทับอยู่สงขลากระทั่งวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้เสด็จกลับพระนคร และในวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (๒๔๗๗ นับมกราคมเป็นปีใหม่) ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเยือนประเทศต่างๆในทวีปยุโรปถึง ๙ ประเทศ และท้ายที่สุด รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติที่ประเทศอังกฤษในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (๒๔๗๘ นับมกราคมเป็นปีใหม่)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น