ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ฉากชีวิตที่แปรเปลี่ยน 2 มีนาคม 2477

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าการเสด็จไปประเทศอังกฤษครั้งนั้นว่า เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช 2476 สามเดือนหลังเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”ในตอนนั้น ทางรัฐบาลเขาก็ไม่อยากให้ไปเหมือนกัน แต่ท่านไม่สบายจริงๆ... ก่อนที่จะเสด็จไปอังกฤษ ในหลวงจึงทำหนังสือมอบให้เอาเงินที่สะสมไว้นั้นมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอกเป็นการชดเชยกัน... ที่ในหลวงต้องทรงทำเช่นนั้นก็เพราะไม่ทราบว่าจะต้องประทับอยู่นานเท่าใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป 9 ประเทศ เพื่อทรงเจริญพระราชไมตรี ศึกษารูปแบบการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สังเกตการณ์สถานการณ์ในยุโรปซึ่งกำลังเปลี่ยนแปร และทรงรับการรักษาพระเนตรซ้ายอีกครั้ง ณ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินเยือนฝรั่งเศส อิตาลี และสำนักวาติกันแล้ว จึงเสด็จฯไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษเพื่อรับการรักษาทนต์และพระเนตรในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พุทธศักราช 2477 แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปยังประเทศสวิตเวอร์แลนด์ จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2477 รวมเป็นเวลา 8 เดือน นับแต่เสด็จฯ จากประเทศไทย การโดยเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ นี้ นับเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระมเหสีแห่งกรุงสยามเสด็จฯ เยือนยุโรป พระสิริโฉม พระสรวลที่ทรงแย้ม พระอิริยาบทที่สง่างาม ฉลองพระองค์แบบตะวันตก อีกทั้งพระปรีชาสามารถที่รับสั่งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชัดเจนไพเราะ สื่อถึงราชินีศรีสยามแบบสากลได้อย่างดี เสริมพระบารมีองค์พระประมุขในระบอบรัฐธรรมนูญแห่งสยามประเทศอย่างเหมาะเจาะยิ่ง จากนั้นเสด็จฯ กลับไปประเทศอังกฤษ ทรงเช่าคฤหาสน์เป็นที่ประทับที่หมู่บ้านแครนลีย์ (Cranleigh) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) ชื่อ พระตำหนักโนล ซึ่งทรงเรียกว่า “บ้านโนล” (Knowle House) ระหว่างที่ประทับ ณ พระตำหนักโนล ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจรจากับคณะผู้แทนที่รัฐบาลส่งไปเฝ้าฯ มีการโต้ตอบไปมาระยะหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดทรงพระราชวินิจฉัยว่า เรื่องที่รัฐบาลไม่อาจสนองพระราชกระแสได้นั้น เป็นหลักการสำคัญแห่งการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญตามที่ทรงเข้าพระราชหฤทัย เช่น รัฐบาลไม่ให้โอกาสจำเลยคดีทางการเมืองต่อสู้คดีในศาล และรัฐบาลแต่งตั้งพวกพ้องเกือบหมดเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 โดยไม่คำนึงถึงความชำนาญหรือขอพระราชทานคำแนะนำ เป็นต้น มาถึงขั้นนี้จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติความในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ลงวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 แสดงถึงพระราชประสงค์ให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย อีกทั้งตระหนักพระราชหฤทัยในพระราชธรรมจรรยาของพระมหากษัตริย์สยามที่จักต้องปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่บัดนั้นไม่อาจทรงกระทำได้สำเร็จ เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจการปกครองมิได้อยู่ในพระหัตถ์อีกต่อไป สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เคยรับสั่งเล่ากับหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ว่า ทรงเห็นพ้องกับการตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ทรงพร้อมที่จะทรงเป็นกำลังพระราชหฤทัยเช่นเดิม แม้ในพระราชสถานะที่เปลี่ยนไป หลังจากนั้น มีพระราชโทรเลขตอบหนังสือกราบบังคมทูลฯ ของรัฐบาลอีกครั้ง มีความส่วนหนึ่งว่า ...ข้าพเจ้าและพระชายาขอขอบใจรัฐบาลที่แสดงความหวังดีมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ข้าพเจ้าและรัฐบาลไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ในปัญหาต่างๆ ซึ่งเรามีความเห็นแตกต่างกัน ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลมั่นใจว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความโกรธขึ้งหรือแค้นเคืองเนื่องด้วยเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเลย และขอให้คณะรัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จทุกประการ… หลังจากทรงสละราชสมบัติ ทรงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายลง ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์จึงทรงย้ายที่ประทับจากพระตำหนักโนลที่ใหญ่โตหรูหรา ค่าเช่าค่อนข้างสูง เสด็จฯไปประทับ ณ พระตำหนักใหม่ที่มีขนาดย่อมกว่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...