ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สถานภาพสตรีในวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 7

สายธารแห่งวรรณกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสะท้อนถึงสถานภาพสตรีไทยอย่างไรบ้าง เป็นคำถามที่น่าศึกษาค้นคว้า ผู้หญิงไทยยุคเก่านั้น มีสถานะเปรียบเหมือนช้างเท้าหลัง เป็นหลังบ้านของบุรุษหรือเป็นแม่ศรีเรือน มีหน้าที่หลักในการปรนนิบัติสามีและดูแลความเรียบร้อยของบ้านมากกว่าจะมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนอกบ้าน บทความเรื่องนี้จึงพยายามศึกษาและวิพากษ์ความคิดเห็นของบุรุษที่มีต่อสตรีและความคิดของสตรีเองผ่านงานวรรณกรรมในช่วงรัชกาลที่ 7 โดยศึกษาเอกสารชั้นต้น ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ร่วมรัชสมัย กฎหมายลักษณะผัวเมีย เรื่องสั้น และนวนิยายที่สะท้อนถึงสถานภาพผู้หญิงจากยุคเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคที่ผู้หญิงสามารถมีบทบาทระดับแนวหน้าอย่างหลากหลายในสังคมไทยปัจจุบัน ความหมายทั่วไปของคำว่า “สถานภาพ” ในด้านสังคมวิทยา สถานภาพ คือ ฐานะของบุคคลที่ได้รับการยอมรับความนับถือจากสาธารณชน เป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นทำให้บุคคลมีความแตกต่างกัน สถานภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. สถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิด (Ascribed status) คือ สถานภาพที่ได้มาโดยสังคมเป็นผู้กำหนด หรือเป็นเรื่องของการที่บุคคลได้รับสถานภาพโดยเงื่อนไขทางชีวภาพ (biological conditions) เช่น หญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ เชื้อสายหัวหน้าเผ่า กษัตริย์ ฯลฯ ตำแหน่งดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเองโดยวิธีการทางสังคม 2. สถานภาพที่ได้มาโดยความสามารถ (Achieved status) หรือสถานภาพโดยการกระทำ (Marital Status) ดังตัวอย่าง เช่นหญิงชายเมื่อสมรสแล้ว ฝ่ายชายได้สถานภาพเป็นสามี หญิงได้สถานภาพเป็นภรรยา และเมื่อมีบุตรธิดาก็จะได้สถานภาพเป็นบิดามารดา (Parental status) มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ในสังคมจึงมีสถานภาพเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย สถานภาพทางสังคม (Social status) จึงถูกกำหนดขึ้นตาม ตำแหน่ง ยศ ฐานะที่แสดงความแตกต่างของ บุคคล ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นในกลุ่มหรือในสังคม บุคคลหนึ่งอาจมีหลายสถานภาพในสังคม เช่น ในครอบครัว ผู้หญิงมีฐานะเป็นลูกสาว เป็นภรรยา หรือเป็นมารดา จึงกล่าวได้ว่าสถานภาพทางสังคม คือ ตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเกิดขึ้นตามสัมพันธภาพของบุคคล พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาอธิบายว่า วิถีชาวบ้านและจารีตประเพณีจะกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลแต่ละสถานภาพจากองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะความเป็นผู้นำ การมีอำนาจครอบงำ ความสามารถปราดเปรื่อง สถานภาพทางอาชีพ ( Occupational status) ยังกำหนดเครื่องหมายการยอมรับนับถือ เช่น บรรดาศักดิ์ วุฒิการศึกษา สมาชิกภาพของกลุ่มเกียรติยศ สถานภาพทางการเมือง (Political status) เครื่องแต่งกาย กิริยามารยาท หรือกลวิธีอื่น ๆ ที่ใช้ดึงดูดความสนใจ นิตยสาร “ไทม์” (Time Magazine ) เคยสำรวจเพื่อศึกษาสถานภาพที่แท้จริงและทัศนคติของสตรีชาวยุโรปเมื่อหลายปีมาแล้ว และมีการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ว่า สตรีชาวสวิสเพิ่งได้รับสิทธิในการเลือกตั้งเมื่อพ.ศ. 2514 หญิงชาวรัสเซียเพิ่งเพิ่งลิ้มรสความเสมอภาคกับชายด้วย “การทำงานหนักเท่าชาย” แต่หาได้มีปากเสียงในสังคมเท่าเทียมชายไม่ หญิงชาวฝรั่งเศสไม่มีสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของตนเองเท่าชาย หญิงชาวอังกฤษถูกกดขี่ตลอดมาจนไม่มีความมั่นใจตนเอง หญิงชาวอิตาลีไม่สามารถร่วมวงสนทนากับชายได้ หญิงชาวเยอรมันต้องออกจากงานทันทีที่มีบุตร เพราะกำลังคนและสถานที่เลี้ยงดูไม่เพียงพอ แต่ขณะที่สถานภาพของสตรีไทยกับดูเหมือนว่าจะมีสถานภาพที่ดีกว่าสตรีในโลกตะวันตกและสตรีชาติอื่นในเอเชีย หลุยส์ ดูปลาตร์ นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทยในระหว่างรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการจัดการศึกษาด้านนิติศาสตร์ของไทย โดยในปี พ.ศ. 2467 เขามีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแผนกวิชาในสภานิติศึกษา ซึ่งแผนกนี้มีหน้าที่จัดระเบียบและวางหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยเกรอนอบส์ ประเทศฝรั่งเศส เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ. 2465 สรุปว่า ถ้าไม่นับระบบผัวเดียวเมียเดียวแล้ว สามารถกล่าวได้ว่า สถานะทางกฎหมายของผู้หญิงไทยในสมัยที่เขาเขียนวิทยานิพนธ์นั้น ดีกว่าหญิงอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน หรืออินเดีย และประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าดูปลาตร์ จะแสดงความชื่นชมต่อสถานภาพทางกฎหมายของสตรีไทยแต่ในขณะเดียวกัน เขายังวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมในการที่หญิงมีสามีแล้วถูกเปรียบเสมือนทรัพย์อันเป็นของหวงห้ามของสามี และเป็นของต้องห้ามซึ่งบุคคลภายนอกแม้แต่พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปยุ่งด้วย เครก เจ. เรย์โนลด์ส ( Craig J. Reynolds) นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกคนแรกผู้ให้ความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หญิงในสังคมไทย เมื่อพ.ศ. 2520 จากบทความเรื่อง A Nineteenth Century Thai Buddhist Defense of Polygamy and some Remarks on the Social History of Woman in Thailand ( Reynolds 1977) ต่อมาเขาได้ตั้งข้อสังเกตในการประชุมสัมมนาไทยศึกษาที่กรุงลอนดอน ใน Predicaments of Modern Thai History เมื่อพ.ศ.2536 ว่าในช่วงก่อนพ.ศ. 2475 สังคมไทยเกิดมีนวนิยายและงานเขียนประเภทโรแมนติคที่แสดงออกถึงทัศนคติและรสนิยมของชนชั้นกลางในเมือง ตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ยุคนั้นมีคอลัมน์แสดงความคิดเห็นเรื่องความเสมอภาคของสตรีพร้อมกับบริบทที่รัฐได้ออกกฎหมายครอบครัวแสดงถึงความเสมอภาคของสตรีและข้อกำหนดทางกฎหมายที่รองรับการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ข้อโต้แย้งต่อการเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นวาทกรรมหรือชุดปรากฏการณ์ทางความคิดที่ผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อตอบโต้แรงผลักดันของชาติตะวันตกและกระแสความคิดแบบตะวันตก ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์แก้ไขกฎหมายครอบครัวและมรดกนั้น ปัจจุบันวาทกรรมดังกล่าวยังคงมีอยู่ ข้อโต้แย้งดังกล่าวยังอธิบายถึงความชอบธรรมเรื่องคติหลายเมียและระบบเมียน้อยที่เป็นอยู่ในสังคมไทย โจเซฟ เจ.ไรท์ จูเนียร์ (Joseph J. Wright ,Jr. ) พ.ศ. 2534 ได้ประมวลภาพกรุงเทพฯสมัยใหม่เกี่ยวกับสถานภาพของสตรีในช่วงทศวรรษ 1920 ในหนังสือของเขาไว้ว่าหนึ่งในข้อบ่งชี้ความก้าวหน้าทางสังคมก็คือ เสรีภาพ โดยการเปรียบเทียบจากที่สตรีมีโอกาสในการเลื่อนสถานภาพขึ้นได้ในสังคมเมืองหลังปีพ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 โดยมีการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่สตรีอย่างมาก สตรีเริ่มเข้าศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเข้ารับการฝึกหัดเป็นนักวิชาชีพ เช่น ด้านกฎหมาย ซึ่งแต่ก่อนนี้ยังสงวนไว้สำหรับบุรุษ นอกจากนั้นสตรียังสามารถเข้าชิงทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ อย่างไรก็ดี สถานภาพทางสังคมส่งผลให้สตรีชนชั้นสูงกับผู้หญิงชาวบ้านนั้นไดัรับโอกาสต่างกัน แม้ว่าจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น คือ สตรีนักวิชาชีพ ทั้งนี้ผู้หญิงที่ตามธรรมดามักจะถูกจัดให้เป็นชนชั้นกลางระดับล่างดูจะมีเสรีภาพมากทีเดียวในการที่จะเลือกว่าจะมีวิถีชีวิต (lifestyles) เช่นใด ผู้หญิงสามารถแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบประเพณีหรือชุดกระโปรงแบบตะวันตก และสำหรับสตรีชั้นสูงขึ้นมา เขาสวมถุงน่องและรองเท้า หญิงชนชั้นกลางระดับล่างเหล่านั้นทำงานในสำนักงาน ร้านค้า โรงพยาบาล ฯลฯ ส่วนที่เป็นชนชั้นสูงขึ้นมาก็เริ่มเป็นนักวิชาชีพ โจเซฟ เจ.ไรท์ จูเนียร์ กล่าวว่าในช่วงนั้น สตรีไทยทุกสถานภาพทางสังคมมีเสรีภาพมากกว่าที่สตรีทั่วไปในเอเชีย พวกเธอมีเสรีภาพที่จะเลือกการแต่งกาย การเข้ารับการศึกษา และการเข้าสู่อาชีพใดนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลตะวันตกเท่ากับเป็นวิวัฒนาการมาจากค่านิยมในสยามแต่เดิม แน่นอนว่า ผู้หญิงไทยยังคงห่างไกลความเสมอภาคกับผู้ชาย อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการเปรียบเทียบลักษณะนี้ หญิงไทยนั้นนับว่าน่าสังเกตในวัฒนธรรมของเอเชียในทศวรรษที่ 1920 หนึ่งในผลเนื่องจากวิวัฒนาการสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ก็คือ การให้คุณค่าแก่ค่านิยมตามยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแต่งงาน (มีคู่ครอง) เมื่อคนไทยรับรู้ว่าตะวันตกเห็นว่าการมีเมียหลายคนเป็นสิ่งล้าหลังป่าเถื่อน ชนชั้นนำของไทยจึงเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมการมีภรรยาเพียงคนเดียว ต่างจากค่านิยมดั้งเดิมถือว่าการมีเมียมากเป็นสิ่งที่แสดงความมั่งคั่งและอำนาจวาสนา สตรีลูกผู้ดีและลูกสาวขุนนางเองก็ได้รับคำสอนจากวรรณกรรมเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงด้านการปรนนิบัติสามี เช่น กฤษณาสอนน้อง สวัสดิรักษา จนถึงสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ แคเธอรีน บาววี (Katherine A. Bowie) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ได้พบหลักฐานเอกสารสำคัญ “พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ในมาตรา 9 ที่ระบุแสดงให้เห็นว่า สตรีไทยได้สิทธิการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านมาพร้อมกับบุรุษอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเร็วกว่าประเทศในโลกตะวันตกที่ต้องผ่านการต่อสู้ของขบวนการสตรีอย่างยาวนานราว 30-40 ปี การศึกษาบทบาทของมิชชันนารีหัวก้าวหน้าในไทย โดยแคเธอรีน บาววีพบว่า มิชชันนารีสตรีที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาและสอนหนังสือในไทยต่างมาจากกลุ่มที่มีความคิดหัวก้าวหน้า เช่น Mary Clement Leavitt ที่เดินทางมาไทยในปีพ.ศ. 2430 นั้นเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Women Christian Temprance Union (WCTU) รณรงค์เรื่องการงดเหล้าและยาเสพติดเป็นหลัก และให้การสนับสนุนสิทธิการเลือกตั้งแก่สตรีด้วยเช่น ภรรยาของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีผู้มีบทบาทในการบุกเบิกการแพทย์การสาธารณสุขและการหนังสือพิมพ์ในไทยก็เป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว รวมถึงสตรีที่เข้าไปสอนภาษาอังกฤษในวัง เช่น “แหม่มมัตตูน” สตีเฟ่น เมตตูน รวมถึงแอนนา เลียวโนเวนส์ ต่างก็เป็นสตรีที่เคยไปรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีและสิทธิการเลือกตั้ง ก่อนเดินทางมาประเทศไทย ศาสตราจารย์แคเธอรีน บาววียังได้เสนอความคิดเห็นว่า ด้วยความใกล้ชิดระหว่างมิชชันนารีกลุ่มนี้กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย) รวมถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่งผลให้ผู้ปกครองของไทยได้รับอิทธิพลเรื่องสิทธิการเลือกตั้งของสตรี โดยเฉพาะข้อถกเถียงในประชาคมโลก ทำให้รัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงให้สิทธิการเลือกตั้งแก่สตรีไปพร้อมกับบุรุษในครั้งนั้นเลย อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มิได้ปรากฏการถกเถียงเรื่องสิทธิการเลือกตั้งของสตรี จึงคาดว่า สิทธิสตรีเป็นเรื่องสามัญในสังคมไทย รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเพณีโบราณให้สตรีเป็นใหญ่ โดยพิจารณาจากการสืบทอดเชื้อสายการส่งต่อมรดกในทรัพย์สินของสตรี และส่วนมากการที่ชายย้ายเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายหญิงเมื่อแต่งงาน นอกจากขนบธรรมเนียมประเพณีดังกล่าวแล้ว แคเธอรีน บาววี ศึกษาบทบาทของสตรีที่อยู่ในวัง ทั้งที่เป็นพระมเหสี ราชินี รวมถึงนางในราชสำนักที่รับใช้พระราชวงศ์ พบว่า บทบาทของสตรีไม่ว่าจะระดับใดในวังก็มีความรู้ความสามารถทั้งด้านวิชาการ และทักษะในครัวเรือน นอกจากนี้ แคเธอรีน บาววี ยังชี้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระมเหสีทรงดำรงพระสถานะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อทรงเสด็จประพาสยุโรป ก็แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องและให้ความสำคัญกับสถานภาพสตรี ปรากฏการณ์สร้างความเป็นอารยะ (Civilization process) ด้านสถานภาพสตรี เอกสารประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยระบุว่า ชนชั้นนำไทยและ ผู้ปกครองได้ให้ความสำคัญแก่ สถานภาพสตรีมาโดยลำดับ เริ่มก่อตัวตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่ออำแดงเหมือน หญิงสามัญชนถวายฎีการ้องทุกข์ต่อรัชกาลที่ 4 ส่งผลให้มีการประกาศห้ามบังคับซื้อขายบุตรสาวและภรรยา ในประกาศพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร ณ วันเสาร์ เดือน 4 แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1229 ปีเถาะนพศก ดังพระราชปรารภที่กล่าวว่ากฎหมายเดิมเปรียบ “ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน” หาเป็นยุติธรรมไม่ ให้ยกเลิกเสีย นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 ยังทรงเปิดโอกาสให้นางในไม่มีบุตรกับพระองค์เลือกที่จะออกไปใช้ชีวิตอิสระนอกวังได้ กระบวนการสร้างความเป็นอารยะผนวกกับการปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีความจำเป็นต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถเพื่อเตรียมคนเข้าสู่ระบบการบริหารประเทศสมัยใหม่ การปฏิรูปการศึกษาจึงเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาเป็นครั้งแรกแม้ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นเมียและแม่ที่ดี รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของผู้หญิง การวิพากษ์วิจารณ์ระบบผัวเดียวหลายเมียอย่างเผ็ดร้อนในบทความ “เครื่องหมายแห่งความรุ่งเรือง คือสภาพแห่งสตรี” ของรัชกาลที่ 6 ประกอบกับพระราชจริยวัตรของพระองค์แตกต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติของบรรพกษัตริย์ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีวารสารเพื่อสตรีไทยเกิดขึ้นหลายฉบับ ได้แก่ นารีเชวง (พ.ศ. 2455) สตรีนิพนธ์ (พ.ศ.2457) สตรีศัพท์ (พ.ศ.2465) นารีศัพท์ (พ.ศ.2465) เป็นต้น ภาพของผู้หญิงสมัยใหม่ปรากฎเมื่อมีการรวมกลุ่มของสตรีที่มีการศึกษาได้ใช้สื่อสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงสมัยรัชกาลที่ 7 ในเวลาต่อมา สมัยรัชกาลที่ 7 ปรากฏความก้าวหน้าเกี่ยวกับสถานภาพในเชิงสติปัญญาที่น่าสนใจของสตรี กล่าวคือ มีการรวมกลุ่มของนักเขียนสตรีเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคผ่านวรรณกรรมผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยนี้ทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานประพันธ์ทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรองขึ้นมาอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างพ.ศ. 2468-2475 นั้น การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์จากหลักฐานสื่อสิ่งพิมพ์อันเป็นเอกสารชั้นต้นในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นแหล่งทรัพยากรล้ำค่าเชิงประวัติศาสตร์สังคมร่วมสมัยที่น่าศึกษาค้นคว้าและวิจัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้วิจัยได้สืบค้นพบการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาของกลุ่มบุคคลร่วมรัชสมัยที่ถกเถียงโต้แย้งและโลดแล่นเชิงความคิดแสดงถึงพฤติกรรมของทั้งปถุชนผู้มากด้วยปัญญาอยู่ในหน้าของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์แบ่งขั้วทางการเมือง อาทิ คณะสุภาพบุรุษ นักหนังสือพิมพ์ใต้ดิน นิตยสารผู้หญิง รวมถึงวรรณกรรมในรัชสมัยมีวิธีการสื่อสารทางการเมืองหลากหลายอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เห็นความโดดเด่นทางด้านสถานภาพของสตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 จากการสำรวจยุคสมัยแรกของการปลุกสำนึกให้สตรีเห็นความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ และสิทธิของสตรี มีนิตยสารสตรีมากถึง 18 ฉบับ (พ.ศ. 2431-2475) ในช่วงแรกผู้จัดทำนิตยสารสตรีมักจะเป็นผู้ชายนิยมใช้ร้อยกรองหรือบทกวี ดังปรากฎในหนังสือพิมพ์กึ่งนิตยสาร นารีรมย์ บำรุงนารี กุลสัตรี สตรีนิพนธ์ สตรีศัพท์ หญิงสาว สตรีไทย สยามยุพดี และนารีนาถ เป็นต้น ในที่นี้ ผู้วิจัยศึกษาเฉพาะหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสะท้อนทางความคิดและวัฒนธรรมร่วมรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรณกรรมร่วมรัชสมัยมีการเปลี่ยนแปลงจากวรรณกรรมร้อยกรองมาเป็นร้อยแก้วอย่างโดดเด่นมาก เนื่องจากว่าสังคมไทยในสมัยนั้นประสบกับสภาวะวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม รวมถึงอิทธิพลของวรรณกรรมจากต่างประเทศส่งผลให้เกิดจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อันสะท้อนปรากฎการณ์ทางสังคมในงานวรรณกรรมทุกประเภท อาทิ เรื่องสั้นและนวนิยาย พัฒนาการของนวนิยายไทยก่อนพ.ศ. 2475 รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ศึกษาวิจัยเรื่องนวนิยายกับสังคมไทย (พ.ศ. 2475-2500) ในงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทอธิบายถึงพัฒนาการของนวนิยายไทยตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงก่อนพ.ศ. 2470 นั้น คือก่อนหน้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะเริ่มต้นที่ไทยรับรูปแบบวรรณกรรมประเภทนวนิยายแปลเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศนำเข้ามาเผยแพร่ การรับอิทธิพลจากต่างประเทศเข้ามาจึงเป็นการแปลมาโดยตรง หลังจากนั้นเริ่มมีการดัดแปลงจากต้นฉบับเดิม โดยที่นักเขียนนวนิยายอาจบอกแหล่งที่มาหรือไม่บอกแหล่งที่มาว่ามีการดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่องใด นับว่าระยะนี้เป็นการนำวรรณกรรมรูปแบบใหม่ จนกระทั่งในระยะที่สองที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบนี้และเริ่มเขียนนวนิยายเอง โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ดังนี้ ช่วงแรก : นวนิยายแปลสู่นวนิยายแปลง ในระยะแรกที่ไทยเรารับรูปแบบนวนิยายมาจากตะวันตก นวนิยายแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงและสามัญชนที่ได้รับการศึกษา ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นวนิยายขยายตัวมากขึ้น คือ การเกิดมีหนังสือพิมพ์และวารสารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 วารสารที่เกิดขึ้นใหม่ก่อตั้งโดยผู้ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมการแปลและแปลงวรรณกรรมจากตะวันตก นวนิยายที่นำมาแปลส่วนมากเป็นนวนิยาย “ขายดี” เรื่องสนุกตื่นเต้น แนวเรื่องของนวนิยายแปลเหล่านี้มักเป็นไปในหลักการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และยังเป็นเรื่องที่จบลงด้วยความสุขสมหวังของตัวเอกของเรื่องเป็นส่วนมาก จะพบว่าเรื่องที่จบด้วยความเศร้ามีจำนวนน้อยมาก ช่วงที่สอง : นวนิยายไทยที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง สภาพบ้านเมืองและสภาวะเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาอยู่ในภาวะไม่ปกติ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงในปีพ.ศ. 2461 ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐใช้นโยบายดุลยภาพข้าราชการ มีการเรียกร้องระบบรัฐสภา ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหนังสือพิมพ์ ทำให้นักเขียนนวนิยายที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับค่านิยม รวมทั้งเรื่องสถานภาพสตรี แทบไม่น่าเชื่อว่าในสังคมจารีตก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 มีความพยายามที่จะพัฒนาบทบาทของสตรีอยู่ไม่น้อย นิตยสารสตรีไทยเล่มแรก คือ นารีรมย์ เกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2431 จัดทำโดย กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2431-2531 ช่วงเวลา 100 ปี มีนิตยสารสตรีเกิดขึ้นมากมายถึง 130 ฉบับ ดังจะเห็นว่าภาพของความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่มีความสืบเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏการณ์ที่โดดเด่นว่า ในนิตยสารกึ่งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ฉบับ เช่น ‘สตรีศัพท์’ (พ.ศ.2465) มีนางสาวผะอบ พงศ์ศรีจันทร์ เป็นบรรณาธิการ จากคำปรารภในบทบรรณาธิการว่า “เป็นปากเสียงให้สตรีที่รับทุกข์ สตรีใดได้รับทุกข์หรือมีความเดือดร้อนอันบุรุษเพศได้กระทำให้ด้วยความมิเป็นธรรม เชิญบอกนามและเรื่องจริงไปยังเรา” ซึ่งภายในเล่มมีทั้งข่าวสารความรู้ข้อคิดเห็น พยายามให้ผู้หญิงได้เสมอภาคกับผู้ชายและมีความตื่นตัวในสิทธิสตรี คือ หลักฐาน เช่น คอลัมน์ ‘ข่าวศาลเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง’ คอลัมน์‘สภาพสตรีไทย’ในหนังสือพิมพ์ ‘หญิงสาว’ (The Young woman Daily News ) ( พ.ศ. 2469-2471) มีปณิธานว่า “ออกเพื่อความสว่างและผดุงเกียรติของสตรี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิตยสารรายสัปดาห์ ‘สตรีไทย’ (ออกระหว่าง พ.ศ.2468-2470) มีปณิธานบนปกคล้ายๆกันว่า “ออกเพื่อให้ความสว่างแก่สตรีทั้งปวง” และประกาศชัดเจนว่าจะเป็นปากเสียงหูตาของสตรีโดยไม่เลือกชั้นวรรณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้สื่อสารกับผู้อ่านอย่างภาคภูมิใจว่า คณะผู้จัดทำเป็นผู้หญิงทั้งหมด ทั้งนี้ นางสาวแฉล้ม จีระสุข เจ้าของและบรรณาธิการ มีคอลัมน์ ‘ตอบปัญหาของแม่ไสว’ ‘ชตาของหล่อน’ ‘สตรีกับการเมือง’ ไปจนถึงคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคม มีปกิณกคดีเกี่ยวกับผู้หญิงเสียดสีผู้ชายให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ผู้หญิง อธิบายกฎหมายผัวเมียโฆษณาสินค้าสำหรับผู้หญิงและเด็ก เช่นเดียวกับนิตยสารกึ่งหนังสือพิมพ์ ‘สยามยุพดี’ (พ.ศ.2471) เสนอข่าวที่เกี่ยวกับผู้หญิง เพื่อป้องกันเกียรติยศผู้หญิง ช่วยเหลือเพื่อนผู้หญิงในด้านอาชีพ ความรู้ การเรือนการครัว ความสวยความงาม การเมืองซึ่งมีคอลัมน์ ‘สตรีกับการเมือง’ และเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้หญิง การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสรีภาพของราษฎรผู้หญิงจึงแยกไม่ออกจาก ‘ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน’ เหมือนกับที่ นิตยสาร ‘สุภาพนารี’ ฉบับปฐมฤกษ์ปี 2473 ที่ไม่เพียงเน้นย้ำถึง ‘ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน’ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องเป็นแม่บ้านดูแลครัวเรือน และแม่ของมนุษย์ ควบคุมคนรับใช้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมจัดการ เหมือนกับแม่บ้านชนชั้นกลางและชนชั้นสูงยุควิคตอเรียน เหมือนนิตยสารผู้หญิงอื่นๆ ยังมีทั้งบทความรู้รอบตัว บทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งในช่วงปี 2474 ก็เพิ่มคอลัมน์ ‘สตรีกับกฎหมาย’ อีกด้วย แนวความคิดสตรีนิยมกับนักเขียนเอกในสมัยรัชกาลที่ 7 สตรีนิยม (feminism) หมายถึง แนวความคิดเรื่องเพศ ที่เชื่อว่า ความเป็นชาย หญิงนั้นถูกทำให้แตกต่างโดยสังคมของเรา ผู้หญิงเองมักจะถูกกีดกันและจัดระเบียบหรือจัดการไม่ให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกพื้นที่และสถาบันทางสังคม นิยามของ “สตรีนิยม” เป็นระบบคิดและขบวนการทางสังคมที่พยายามเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคมซึ่งตั้งอยู่บนการวิเคราะห์ที่ว่าผู้ชายอยู่ในฐานะได้เปรียบและผู้หญิงอยู่ในสภาพเป็นรอง ในโลกตะวันตกคำว่า “สตรีนิยม” เป็นที่กล่าวขานกันมาเป็นเวลาช้านานและมีความหมายแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์และการกดขี่ทั้งในระดับสาระและอุดมการณ์ของผู้หญิง แต่ทว่า คำว่า “สตรีนิยม” ที่เป็นระบบคิดมีจุดร่วมกันอย่างน้อยสองประการ คือ 1. ระบบความคิดที่พยายามอธิบายสถานะความเป็นรองและความเป็นอื่นของสตรี 2. การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงและปลดปล่อยความเหลื่อมล้ำและการไร้ตัวตนของสตรีในความสัมพันธ์บนฐานเพศภาวะ ( gender relations) ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวหรือโลกในบ้านและในพื้นที่สาธารณะ ฉะนั้นสตรีนิยมจึงมิใช่เพียงระบบความรู้ทางวิชาการที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์สถานภาพของสตรีเพื่อทวงคืนความเป็นมนุษย์ให้กับสตรีด้วยความเสมอภาค (inequality)กับการถูกกดทับเอารัดเอาเปรียบ (oppression) และมีความเป็นรอง (subordination) จากบุรุษเพศ วรรณกรรมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดนักเขียนรุ่นใหม่ๆ อาทิ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ พระโอรสในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กับหม่อมอ่อน พระองค์ทรงใช้นามปากกาว่า “วรเศวต” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ใช้นามปากกาว่า “ศรีบูรพา” เป็นบรรณาธิการหลักของ “คณะสุภาพบุรุษ” คณะสุภาพบุรุษ คือ กลุ่มนักเขียนหนุ่มที่นำโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งชักชวนกันมาร่วมทำนิตยสารรายปักษ์ “สุภาพบุรุษ” ระยะแรกประกอบด้วยนักเขียนสิบคน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2472 โดยนักเขียนคณะสุภาพบุรุษในระยะแรกประกอบด้วยนักเขียนประมาณนสิบคน รู้จักกันในนามปากกาดังนี้ ศรีบูรพา คือนามปากกาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียมเอง แม่อนงค์ หรือ ม.ชูพินิจ คือ มาลัย ชูพินิจ ฮิ วเมอริสต์ คือครูอบไชยวสุ ร.วุธาทิตย์ คือจรัญ วุธาทิตย์ ยาขอบ คือโชติ แพร่พันธุ์ สุภาพบุรุษเป็นชื่อของการรวมตัวของเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ มีความใกล้เคียงกับคำว่า “ผู้ดี” มีความหมายว่าเป็นผู้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและผู้อื่นเป็นสำคัญ และได้บ่งชี้หัวใจของการเป็นสุภาพบุรุษอยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีพ.ศ. 2472 เกิดนักเขียนรุ่นใหม่ที่สะท้อนเนื้อหาความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งนักเขียนรุ่นหลังต่างยกย่องกลุ่มนักเขียนดังกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมุดหมายสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย การกำเนิดของนิตยสารสุภาพบุรุษรายปักษ์ ระหว่างพ.ศ. 2472 -2473 ภาพสะท้อนค่านิยมแห่งยุคสมัยของความเป็นสมัยใหม่ของวรรณกรรมราษฎร ลักษณะเด่น คือ เป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นหน่มสาวอายุราว 20 กว่าๆ อาทิ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา บรรณาธิการอายุ 24 ปี นายมาลัย ชูพินิจ หรือแม่อนงค์ อายุ 23 ปี นายสนิท เจริญรัฐ อายุ 22 ปี นายจรัญ วุธาทิตย์ อายุ 21 ปี และนายโชติ แพร่พันธุ์ หรือยาขอบ ครูอบไชยวสุ หรือ ฮิวเมอร์ริสต์ อายุมากที่สุด 28 ปี เริ่มต้นฉบับแรกเมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ในที่สุดต้องยุติปิดตัวลง ฉบับสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2473 ระยะเวลา 18 เดือน เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนไม่สามารถเก็บเงินจากสายส่งได้และชาวคณะหลายคนต้องไปดำเนินการออกหนังสือพิมพ์รายวันไทยใหม่ ทำให้ขาดแคลนบุคลากร แต่พลังของคณะสุภาพบุรุษมิได้สูญสลายแต่กลับเจริญงอกงามแตกแขนงความคิดเพื่อมวลชนในเวลาต่อมาคณะสุภาพบุรุษ ชูประเด็นหลัก ในการนำเสนอ 5 ประการ คือ 1. เสรีภาพความรักของหนุ่มสาว ต่อต้านการคลุมถุงชน 2. “ผู้หญิง” ต้องตกเป็นเหยื่อของการกดขี่ 3. “ผู้หญิง”ทิ้งอุดมการณ์ของตน 4. การให้เกียรติผู้หญิง 5. บทบาทและการตัดสินใจของผู้หญิง การเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อนร่วมวิชาชีพ 2 สาย สายแรก ประกอบด้วย กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ และโชติ แพร่พันธุ์ คือหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ และอีกสายหนึ่งคือ ครูอบ ไชยวสุ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ การเผยแพร่ความเชื่อสมัยใหม่ของชนชั้นกลางผู้มีฐานะที่มีความเชื่อและโลกทัศน์แตกต่างจากทัศนคติในการประพันธ์ของชนชั้นสูงในยุคนั้น เช่น “ดอกไม้สด” ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทตัวละครสตรีให้มีความสำคัญแตกต่างไปจากสตรีในยุคเก่า ด้วยการมีค่านิยมที่เป็นสตรีที่มีความรู้มีการศึกษา และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง นวนิยายเรื่องแรก คือ “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยเขษม ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ต่อมาแต่งนวนิยายอีกหลายเรื่อง เช่น “ความผิดครั้งแรก” ลงตีพิมพ์ในนิตยสารนารีนาถ ในส่วนของเรื่องสั้นสะท้อนแนวคิดทางสังคมของสตรี จากเรื่อง “น้ำใจของนรา” ผลงานของนักเขียนคือ นายส่ง เทภาสิต นักเรียนนอกจากประเทศอังกฤษ มีตัวละครสตรีในเรื่องนี้แสดงถึงประเด็นด้านสตรีนิยมผ่านตัวละครเอกฝ่ายหญิงคือ นรา ได้อย่างน่าสนใจเพราะตัวละครสตรีดังกล่าวมีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าตัดสินใจในการเลือกกำหนดชีวิตของตนเอง ในขณะเดียวกันเรื่องสั้น เรื่อง “หม้อแกงบวน” ของหม่อมหลวงต้อย ชุมสาย ณ อยุธยา ใช้นามปากกาว่า “ขุนอารี” ได้เสนอแนวคิดที่ขัดแย้งกันโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงโดยผ่านบทสนทนาโต้แย้งของตัวละครสองตัว คือ เนียน หลานสาวกับขุนอารี ในประเด็นการศึกษาที่ผู้หญิงควรจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ขุนอารีมีค่านิยมแบบผู้ชายหัวเก่า ที่มีทัศนคติว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนสูงแต่ควรหันมาเป็นแม่ศรีเรือนจะดีกว่า จากความเป็นมาทำให้พบว่ามีวรรณกรรมร้อยแก้วประเภทนวนิยายและเรื่องสั้นสมัยรัชกาลที่ 7 บันทึกลงในหนังสือพิมพ์และ นิตยสารซึ่งได้รับความนิยมจากผู้อ่านเพราะนอกจากจะให้ความบันเทิงในการอ่านแล้วยังสะท้อนแนวคิด ค่านิยมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 สามารถสะท้อนภาพความตื่นรู้ของสตรีไทยกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยได้อย่างโดดเด่นผลิบานอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนเลย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็เช่นเดียวกัน มีการออกวารสารเพื่อเป็นปากเสียงให้สตรี ได้แก่ สตรีไทย (พ.ศ2468) นารีเกษม (พ.ศ.2469) นารีนิเทศ (พ.ศ.2469) สยามยุพดี (พ.ศ.2471) หญิงสยาม (พ.ศ.2473) สุภาพนารี (พ.ศ. 2473) นารีนารถ (พ.ศ. 2473) เนตร์นารี (พ.ศ. 2475) และหญิงไทย (พ.ศ.2475) รวมทั้งมีการก่อตั้งสมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ชื่อเดิม “สมาคมสตรีแห่งกรุงสยาม” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 และในวันที่ 23 ธันวาคม 2475 พ.ศ. สมาคมได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จัดตั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ ให้มีความรู้ความสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีจริยธรรม และส่งเสริมสนับสนุนสตรีที่ด้อยโอกาสให้มีความรู้เฉพาะด้าน โดยเปิดอบรมวิชาชีพในชุมชน มีผู้ก่อตั้ง 2 ท่าน คือ แพทย์หญิงใหญ่ กุลดิลก และคุณหญิงแร่ม พรหโมบล โดยให้ แพทย์หญิงใหญ่ กุลดิลก เป็นนายกสมาคมเป็นคนแรก ขบวนการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทและสถานภาพสตรี คือ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายได้ดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรการทางกฎหมายที่แสดงความไม่เสมอภาคระหว่างชายกับหญิง ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้เกิดกลุ่ม “ส่งเสริมสถานภาพสตรี” สื่อสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพสตรี การสำรวจสื่อสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยพบว่ายังไม่มีงานวิจัยเรื่องใดที่ศึกษาสถานภาพสตรีในวรรณกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นการเฉพาะ แม้ว่ามีงานเขียนในวารสารรายเดือนสำหรับผู้หญิงฉบับแรกเริ่มขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2449 โดยได้รับการสนับสนุนโดยผู้ชาย ซึ่งมีนักเขียนทั้งบุรุษและสตรี ก็เพราะเมื่อสตรีไทยเริ่มเรียนหนังสือกับมิชชันนารีตามโรงเรียนสอนศาสนาไม่เพียงแต่ทำให้ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้เท่านั้น ทำให้สตรีเริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมกันทางเพศและชนชั้น การศึกษาวิชาความรู้สมัยใหม่ ทำให้สตรีเริ่มมีบทบาทในการตัดสินใจมากขึ้น นักเขียนสตรีเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และบทความ ส่วนมากมักลงพิมพ์เป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารก่อนรวมเล่ม สะท้อนสถานภาพสตรีที่เปลี่ยนแปลงไป ยังนับเป็นช่วงแรกผู้หญิงยังประกอบอาชีพเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ หรือเป็นบรรณาธิการินี เช่น นางหยง วีระสัมฤทธิ์ หรือนางอุปธานนิติ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์วายาโม (พ.ศ. 2463-2466) หนังสือพิมพ์หญิงสาว ( The Young Woman Daily News ) ( พ.ศ. 2469-2471) มี ทรัพย์ อังกินันทน์ เป็นผู้จัดการ นางสาว ตังกุ่ย หลิมมงคล เป็นบรรณาธิการินี นับเป็นอาชีพใหม่ของสตรีที่มีการศึกษา ต้นฉบับสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับนิตยสารผู้หญิงที่เก็บรักษาและให้บริการค้นคว้าภายในหอสมุดแห่งชาติ พบว่าระหว่างทศวรรษ 2460-2470 มีการตีพิมพ์ถึง 14 หัว สอดคล้องกับการมีจำนวนนักเรียนสตรีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในกลางทศวรรษ 2460 คือ 124,850 คนในพ.ศ. 2465 ขณะที่ปีก่อน มีเพียง 16,819 คน อย่างไรก็ดี การให้บริการค้นคว้าในรูปแบบไมโครฟิล์มไม่ได้มีให้บริการทั้งหมดเนื่องจากปัญหาการเสื่อมสภาพของหลักฐานเอกสาร ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เสนอ เรื่อง “วรรณกรรมและสื่อสิ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 : การตอบสนองรสนิยมชนชั้นกลาง” ในการประชุมวิชาการประจำปี เรื่อง “ศิลปะวิทยาการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ณ ห้องประชุมอาคารรำไพพรรณี- พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กล่าวถึงวรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468-2477) ไว้ว่ามีวรรณกรรมหลายเรื่องและหลายประเภทมีลักษณะเด่นพิเศษกว่าวรรณกรรมในยุคก่อนหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ทั้งนี้เป็นเพราะสมัยนี้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง นักเขียนในสมัยนี้จึงได้สะท้อนภาพและแสดงทัศนะต่อสังคมไทยทั้งในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ไว้อย่างน่าสนใจในวรรณกรรมประเภท เรื่องสั้น และนวนิยาย เรื่องสั้นของ ส่ง เทภาสิต เขาได้เขียนเรื่องสั้นไว้ประมาณ 10 เรื่อง มีตัวอย่างเรื่องสั้นที่น่าสนใจคือ เรื่องสั้นชื่อ “น้ำใจของนรา” แต่งส่ง เทภาสิตแต่งเมื่อพ.ศ. 2463 ตีพิมพ์ในนิตยสารเริงรมย์ในพ.ศ. 2470 แสดงประเด็นเรื่องเสรีภาพของผู้หญิง ซึ่งเรื่องดังกล่าวแต่งเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ตัวละครเอก คือ นรา ได้เดินทางไปหัวหินกับเจ้าคุณลุง การเดินทางไปหัวหินครั้งนั้นเป็นการใช้อิสรภาพแห่งชีวิตครั้งแรกและครั้งเดียวของนรา เพราะหลังจากกลับมาจากหัวหินเธอจะต้องเป็นภรรยาของผู้ชายที่พ่อแม่เลือกให้ เพราะการแต่งงานกับผู้ชายที่เธอไม่ได้เลือกเองเพราะเป็นการกู้สถานะทางการเงินของครอบครัว ระหว่างการเดินทางบนรถไฟไปหัวหิน เธอพบกับมนัสหนุ่มนักเรีนนอกโก้หรูและมีเสน่ห์ซึ่งเขาและเธอได้เป็นเพื่อนเที่ยวกันอย่างสนิทสนมจนเกิดเป็นความรัก ในที่สุดนราก็มอบกายให้มนัสด้วยความเต็มใจ หลังจากนั้นเธอได้ทิ้งจดหมายลาให้มนัสทราบว่าเธอต้องกลับไปเป็นภรรยาน้อยของชายที่พ่อแม่กำหนด เพื่อความสุขสมบูรณ์ของพ่อแม่พี่น้อง ในจดหมายนรายังมีข้อความบอกมนัสว่า ความบริสุทธิ์เป็นสมบัติส่วนตัวของเธอ เธอมอบให้มนัสด้วยความเต็มใจ และเธอต้องมอบตัวโดยปราศจากความรักให้กับชายที่พ่อแม่เลือกให้ เรื่องสั้นเรื่องนี้แสดงให้เห็นการตัดสินใจของนรา ว่าเป็นตัวละครสตรีที่ล้ำยุค เธออยู่ระหว่างรอยต่อของสังคมดั้งเดิมกับสังคมสมัยใหม่ การตัดสินใจของนรานับเป็นความกล้าหาญของผู้หญิงที่แข็งขืนต่อจารีตประเพณีและค่านิยม ส่ง เทภาสิต ผู้แต่งเรื่องสั้น “น้ำใจของนรา” นอกจากเสรีภาพของบุคคลแล้ว ฉากและบรรยากาศยังสะท้อนอิทธิพลของตะวันตก การโดยสารรถไฟ การอ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ สูบไปป์ ตีเทนนิส ฟังดนตรีคลาสสิค และดูละครวันเสาร์แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่เพียงแต่จะรับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่เท่านั้นแต่ยังเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อไปจากเดิมด้วย เรื่องสั้น : “หม้อแกงบวน” แต่งโดยขุนอารี นามปากกาของ หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย ณ อยุธยา เรื่องสั้นนี้เป็นการโต้ตอบกันระหว่างขุนอารี กับ เนียนหลานสาวเพื่อนำเสนอความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมไทย การอุดมศึกษาสำหรับผู้หญิง ความหมายของผู้ดีกับสุภาพบุรุษ ความขัดแย้งระหว่างบุรุษกับสตรี เป็นต้น ในด้านการศึกษาสำหรับผู้หญิงนั้น ขุนอารีมีความเห็นว่า แม้ผู้หญิงจะมีสิทธิและธรรมชาติที่จะได้รับการศึกษาเท่ากับผู้ชาย แต่ก็ยังไม่ถึงเวลาที่ผู้หญิงจะมุ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะทำให้ละทิ้งการบ้านการเรือน และผู้หญิงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่กระตือรือร้นอยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็อาจจะหางานทำไม่ได้ เพราะผู้ชายที่เรียนจบยังคอยงานอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ การมีครอบครัวก็เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของสตรี ความคิดของขุนอารีจึงเป็นคตินิยมแบบผู้ชายไทยหัวโบราณ ที่เห็นว่าผู้หญิงไม่ต้องเรียนสูง ควรสนใจเรื่องการเป็นแม่บ้านการเรือนมากกว่า เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2472 นักเขียนหนุ่มสาวขณะนั้น คือ ศรีบูรพา หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ และดอกไม้สด เสนอ นวนิยายที่มีเนื้อหาสะท้อนความคิดความฝันที่ต่างไปจากเดิม รวมทั้งการสอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์สังคม เช่น “ลูกผู้ชาย” และ”สงครามชีวิต”ของศรีบูรพา นวนิยายอมตะ“ละครแห่งชีวิต”ของหม่อมเจ้าดำเกิงฯ และ”ศัตรูของเจ้าหล่อน” ของดอกไม้สด ดอกไม้สดเป็นนักเขียนที่มาจากสังคมชั้นสูง ตัวละครชายหญิงส่วนมากจึงเป็นภาพแทนของผู้คนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน กล่าวถึงอิทธิพลตะวันตกที่มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของชนชั้นสูง อย่างไรก็ตามจะพบว่าการสร้างพัฒนาการให้นวนิยายไทยสมัยนี้เด่นชัดขึ้น เพราะแก่นของนวนิยายทั้งสามเรื่องเน้นการเริงปัญญามากกว่าการเริงอารมณ์ “ลูกผู้ชาย” ของศรีบูรพา แต่งเมื่อพ.ศ. 2471 ในสมัยรัชกาลที่ 7 นับเป็นจุดเปลี่ยนแนวการเขียนของศรีบูรพาจากนวนิยายเริงรมย์มาสู่นวนิยายเพื่อชีวิต เสนอความคิดที่ตรงใจกับการใฝ่ฝันของสามัญชนที่ได้รับการศึกษา การวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูง โดยสะท้อนให้เห็นว่าชาติตระกูลหรือยศศักดิ์มิใช่เครื่องรับประกันความเป็นคนดีมีคุณธรรม ตัวละครฝ่ายผู้ร้ายในเรื่องคือ คิรี เป็นลูกผู้ดีแต่การกระทำของเขาเองทำให้ชีวิตตกต่ำจนกลายเป็นโจรติดคุกติดตะราง และในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ศรีบูรพาได้นำเสนอนวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายของรัสเซีย ชื่อว่า “รักของผู้ยากไร้” (Poor People) เป็นรูปแบบจดหมายโต้ตอบกันระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาว สงครามชีวิต : นวนิยายอมตะของศรีบูรพา แม้ว่านวนิยายเรื่องสงครามชีวิตจะได้อิทธิพลจากนักเขียนชาวรัสเซียน ชื่อว่า ดอสโตเยฟสกี้ แต่ศรีบูรพาได้วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยในยุคนั้นไว้หลายประการ เช่น ช่องว่างทางชนชั้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจ ประเพณีที่ล้าหลัง รวมทั้งการตัดสินใจของผู้หญิงซึ่งเป็นนางเอกของเรื่องอย่างเด็ดเดี่ยว นวนิยายเรื่องสงครามชีวิตนี้ให้มุมมองของชีวิตและแง่คิดหลายประเด็น เช่น อานุภาพของเงินตรายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการที่มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ฐานะทางเศรษฐกิจ และการยอมรับจากสังคมหรือแม้กระทั่งความรัก ประสบการณ์ชีวิตของตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวละครชื่อ เพลิน หญิงคนรักของระพินทร์ สะท้อนถึงอำนาจของเงินตราที่สามารถจะเสกสรรทุกสิ่งได้ สงครามชีวิตเป็นนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทยที่กล้าวิจารณ์ความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ วิจารณ์ประเพณีที่ล้าสมัย นับเป็นก้าวสำคัญของวรรณกรรมไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เสนอภาพความเห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้กับความอยุติธรรมในสังคม นับเป็นต้นแบบของนวนิยายการเมืองเรื่องแรกๆของเมืองไทย เนื้อเรื่องของสงครามชีวิตโดย ศรีบูรพา เล่าถึงชีวิตของระพินทร์และเพลินสองหนุ่มสาวผู้มีฐานะยากจน ซึ่งเดิมฝ่ายหญิงคือ เพลิน เคยมีฐานะดีมาก่อนแต่ภายหลังยากจนลง ทั้งสองคนเขียนจดหมายโต้ตอบกัน เพลินเล่าถึงความล่มสลายทางฐานะครอบครัวของเพลิน ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของเพลินเปลี่ยนจาก "เจ้าหญิงแสนสวย" มาเป็น "นางซิน" ความยากจนทำให้ญาติพี่น้องที่เธอหวังพึ่งพิงหายหน้าไป ชายหนุ่มผู้เป็นคู่หมั้นของเธอก็ตีจากไป สำหรับชายหนุ่มที่ชื่อระพินทร์เองแล้ว เพลินเห็นเขาเป็นแค่เพื่อนยามยากในยามที่เธอไม่มีใคร เพลินรักระพินทร์ด้วยหัวใจ แต่การจะเลือกใครเป็นคู่ครองเป็นเรื่องของเหตุผล ดังคำสาบานของเธอว่า "ดิฉันจะไม่ซื่อตรงกับชายคนใดในเรื่องของความรักและการแต่งงาน ดิฉันจะเลือกรักและแต่งงานตามความพอใจ" ความพอใจก็คือการกลับมามีฐานะที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งเธอมีโอกาสแก้แค้นคู่หมั้นที่ทิ้งเธอไป เพราะนายวินัย บูรณเกียรติ ผู้จัดการภาพยนตร์ที่มาขอเธอแต่งงานนั้น มีทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ และทรัพย์สินเหนือคู่หมั้นของเพลิน ทำให้ความรู้สึกเจ็บช้ำที่ถูกกระทำเสมือนหญิงไร้ค่าได้ถูกเยียวยา เพราะหากเธอแต่งงานกับระพินทร์คงไม่ได้แก้ไขปมปัญหานี้ได้เพราะว่าระพินทร์มีสถานภาพด้อยกว่าคู่หมั้นของเธอในทุกประการ ผู้หญิงที่ถูกผู้ชายทิ้งส่วนมากคิดเช่นนี้ ว่าผู้ชายคนใหม่จะต้องดีกว่าคนเก่า เพลินตัดสินใจแต่งงานกับชายอื่นเพราะเลือกความอยู่รอดและความสุข ทิ้งให้ระพินทร์ต้องพ่ายแพ้ชีวิตอย่างสิ้นเชิง จบเรื่องลงด้วยความเศร้า “ละครแห่งชีวิต” ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เสนอปรัชญาชีวิตและความคิดว่า ความรักเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตสมรส แต่ฐานะทางเศรษฐกิจและความเหมาะสมด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมจะเป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตแต่งงานให้ราบรื่น และมีแนวคิดคัดค้านค่านิยมเกี่ยวกับการมีภรรยามากทำให้เกิดปัญหาในชีวิตครอบครัว ชีวิตของวิสูตรตัวละครเอกของเรื่องต้องขมขื่นในวัยเด็กเพราะบามีภรรยาหลายคนจนทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ความลำเอียงทำให้เด็กมีปมด้อย หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงเป็นนักประพันธ์รุ่นแรกๆที่ถือกำเนิดในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น ดอกไม้สด แม่อนงค์ ยาขอบ และ ศรีบูรพา นักประพันธ์รุ่นดังกล่าวนี้เติบโตในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมาก คนเหล่านี้ได้รับการศึกษาและเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก อันเป็นที่นิยมของเจ้านาย ข้าราชสำนักและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ จึงเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7 งานเขียนของของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เรื่อง“ละครแห่งชีวิต” เป็นงานสร้างสรรค์เชิงอัตถนิยมกึ่งอัตชีวประวัติของตัวเอกของเรื่อง คือ นายวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา อดีตนักเรียนนอกด้านกฎหมายจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ผู้ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษา ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่า วิสูตร เป็นเหมือนเงาสะท้อนของผู้ชีวิตผู้แต่ง คือหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง แต่สมมุติให้วิสูตรเป็นบุตรของพระยาวิเศษศุภลักษณ์ ขุนนางผู้ใหญ่แห่งกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ดังเช่น ในคำนำของงานเขียนเรื่อง ผิวเหลืองหรือผิวขาวของผู้เขียน เมื่อปีพ.ศ. 2473 กล่าวว่า “...นวนิยายนั้นเป็นเรื่องเริงรมย์ที่แต่งขึ้นด้วยความคิดฝันเท่านั้น หากแต่ข้าพเจ้าได้ทำให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด อันเป็นสิ่งที่นักอ่านเมืองไทยโดยมากไม่เคยพบเห็น...” กรณีศึกษาด้านสถานภาพสตรีสมัยรัชกาลที่ 7 ในวรรณกรรม “ละครแห่งชีวิต” หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์นำเสนอแนวคิดจากประสบการณ์ในครอบครัวของท่านเองในเรื่อง สถานภาพของภรรยาในสังคมไทยมีสองลักษณะ คือ ลักษณะแรก สตรีที่ต้องจำทนระทมทุกข์ที่สามีไปมีภรรยาน้อยหลายคน ด้วยความเจ็บช้ำเพราะไม่มีทางออกที่จะหนีไป ลักษณะที่สอง สตรีที่ไม่ยอมทนต่อความเจ็บช้ำเมื่อมีทางออกก็จะหนีไปอยู่ที่อื่น ดังตัวละครที่เป็นแม่ของตัวละครชื่อ วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยาในวรรณกรรมเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” เนื้อหาแสดงให้เห็นความเห็นอกเห็นใจสตรีเพราะท่านเห็นตัวอย่างจากหม่อมแม่ของท่านเอง การสะท้อนบุคลิกภาพของหญิงพี่เลี้ยงสูงวัย หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงฯ ทรงบรรยายให้เห็นบุคลิกของพี่เลี้ยงของ วิสูตร ไว้ว่า ยายพร้อมเป็นพี่เลี้ยงในวัยเด็ก แม้ว่าวิสูตรจะมีความผูกพันกับผู้หญิงหลายวัย แต่นางพร้อม “เป็นคนๆเดียวในโลก”ที่รู้จักเขาเป็นอย่างดี แม้แต่นางจะสามารถเล็งเห็นทั้งความทุกข์และความสุขที่จะเกิดขึ้นต่อตัววิสูตร แต่นางก็ไม่สามารถจะทำนายอย่างถูกต้องว่า วิสูตรจะมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หญิงพี่เลี้ยงอาจจะมีหลายแบบแต่จากบทประพันธ์เรื่องนี้ ถือได้ว่า แม้ยายพร้อมจะมีคุณลักษณะของคนโบราณอย่างพี่เลี้ยงทั้งหลายในบ้านขุนาง หน้าตาน่าเกลียด แต่วิสูตรเล่าว่า “นางมีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีจนสามารถที่จะเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องผู้เป็นนายได้ไม่ว่าเวลาใด” นิสัยของยายพร้อมคือ ชอบกินหมากนานจนปากแดงเปลี่ยนเป็นสีดำแล้วก็ไหม้เกรียมคล้ายถูกไฟเผา นานๆก็สูบบุหรี่แถมกินข้าวจุมากด้วย ในยามทุกข์จากความน้อยใจที่ไม่ได้รับความเมตตาจากบิดา วิสูตรบรรยายว่า “ยายพร้อมได้หอบร่างอันทุเรศมาหาข้าพเจ้า มือขวาถือกระโถนใบใหญ่” แต่ยายพร้อมเป็นเพียงเพื่อนคนเดียวจะคอยปลอบใจให้คลายทุกข์ด้วยการบอกทั้งน้ำตาว่า จะพาวิสูตรนั่งรถเจ๊กไปเล่น “แทงตกเบ็ด” ที่สำเพ็ง ทำให้วิสูตรถึงกับน้ำตาไหลพรากโผเข้าไปกอดแกด้วยความรักอันสูงสุด ยายพร้อมมีนิสัยชอบเล่นการพนันเช่นเดียวกับคน (รับ)ใช้ทั้งหลายในสมัยนั้นและสมัยนี้ นอกจากการเล่น “แทงตกเบ็ด” ที่สำเพ็งแล้วยังชักนำให้วิสูตรรู้จักการเล่นพนันลูกเต๋า และไพ่ป๊อก จนติดเป็นนิสัยเนื่องด้วยวิสูตรเป็นผู้มีดวงทางการพนัน วิสูตรจึงถือว่ายายพร้อมเป็นเพื่อนตาย วิสูตรใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่อยู่กับยายพร้อม เนื่องจากเขาเกิดในครอบครัวของขุนนางผู้ใหญ่กระทรวงมหาดไทยที่มีภรรยาและมีบุตรธิดาจำนวนมาก แต่วิสูตรกลับไม่ได้รับความอบอุ่นจากบิดามารดาอย่างเต็มที่ทำให้เป็นเด็กที่มีความเจ้าคิดเจ้าแค้น แม้ในโอกาสที่บิดาเดินทางไปราชการต่างจังหวัด อาทิ จันทบุรี ลพบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภูเก็ตทีละหลายสัปดาห์พร้อมด้วยวงศาคณาญาติทั้งหมด แต่วิสูตรกลับถูกทอดทิ้งให้อยู่กับยายพร้อมเท่านั้น วิสูตรเคยถามยายพร้อมว่า เป็นเพราะบาปกรรมอะไรที่ทำให้เขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เป็นธรรม ความงาม ความรัก และจริยวัตรของสตรี บรรยายความงามของวัยสาวของมารดาของเขาว่า เมื่อยังเป็นสาวท่านเป็นสตรีสวยที่สุดในเมืองไทย ผิวขาว ใบหน้ารูปไข่ ดวงตาดำคม วาจาอ่อนหวาน จึงเป็นที่นิยมต้องตาบุรุษตระกูลสูงทั้งปวง มีผู้มาสู่ขออยู่เนืองนิตย์ ใบหน้างามอย่างรูปไข่สันนิษฐานว่าคงจะเป็นตัวแทนของทัศนะเกี่ยวกับความงามของสตรีไทยสมัยรัชกาลที่ 7 เช่นเดียวกันกับตัวละครชื่อ ลำจวน เพื่อนรักในวัยรุ่นของวิสูตรเป็นน้องสาวของประดิษฐ์ บุญญารัตน์ เพื่อนร่วมโรงเรียนอัสสัมชัญ ทั้งสองคนเป็นลูกพระยาบรรลือเดชอำนวย วิสูตรเล่าถึงบุคลิกและความงามบนโครงหน้ารูปไข่ของลำจวนเมื่อแรกพบว่า “ข้าพเจ้าจ้องดูแม่ลำจวน ด้วยความนิยมอันอุบัติขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน น้ำเสียงอันเย็นหู พร้อมด้วยกิริยาอันสงบเสงี่ยมของหล่อนนั้นน่าชมยิ่ง ลำจวนเป็นสตรีไทยที่สวยที่สุดคนหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จักมา หล่อนมีผิวพรรณ วรรณะขาวนวล ดวงพักตร์งามเป็นรูปไข่ นัยน์ตาใหญ่ชม้อยคม ผมเกล้าเป็นมวยพองาม” ความรักจากหญิงพี่เลี้ยง : เพื่อนตาย ยายพร้อมเป็นทั้งเพื่อนและพี่เลี้ยงที่มีทั้งความรักและความห่วงใยอันบริสุทธิ์ต่อวิสูตรผู้เป็นมูลนาย (นาย มูลนาย เจ้านาย นายจ้าง) ลักษณะพิเศษของนาง คือ นอกจากจะมีสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดที่จะปลอบประโลมใจให้วิสูตรคลายเหงาคลายทุกข์แล้ว นางยังรู้จักใช้ความสามารถพิเศษของมูลนายในการแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านการพนันสู่ตนเองอย่างค่อนข้างปรีดิ์เปรมอีกด้วย ความรักระหว่างชายหญิงฉันท์เพื่อน เพื่อนรักที่เป็นสตรีของวิสูตรมีอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ เพื่อนเล่นเพื่อนรักในวัยเด็ก คือ เด็กหญิงบุญเฮียง เพื่อนรักวัยรุ่น คือ ลำจวน และเพื่อนรักที่เป็นหญิงคนรักต่างชาติ คือ มาเรีย เกรย์ สตรีชาวอังกฤษ ในทัศนะของคนร่วมสมัยวิสูตรระบุว่า ความงามเปรียบเสมือนใบเบิกทางให้หญิงสาวมีชีวิตไม่อับจน โดยเฉพาะน้องสาวของเขา ซึ่งแม้จะไม่มีส่วนในกองมรดกของบิดาส่วนมารดาตนนั้นกลับมีชะตากรรมน่าสงสารเพราะเข้าสู่วัยชรากล่าวคือ ความรักฉันท์สามีภรรยา: เพื่อนร่วมชีวิต วิสูตรเล่าว่ามารดาของตนได้ตัดสินใจเลือกบิดาเป็นเพื่อนร่วมชีวิต จากนั้นท่านก็ทำหน้าที่ภรรยาอย่างดีที่สุด เป็นทั้งภรรยา เพื่อนยามที่บิดาเจ็บป่วย ที่ใส่ใจในการดูแลและรักษาพยาบาลด้วยคำพูดที่อ่อนหวาน กระนั้นเขาก็ไม่รู้สึก (ไม่คิด) ว่า บิดามารดา (พระวิเศษศุภลักษณ์และคุณหญิงยุพิน) จะมีความรักต่อกันอย่างวิเศษเหนือผู้อื่นใด ยายของวิสูตรจัดเป็นหญิงชราสูงศักดิ์ นางเลี้ยงหลาน เข้าวัดเข้าวายึดมั่นในศาสนาหลายสิบปี ปราศจากกิเลส อยู่ในศีลในธรรม นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า “ไม่เห็นด้วยกับการมีภรรยาหลายคนของบุรุษ”ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะของ“บาร์บาเรียน” การหย่าร้างและธรรมเนียมการปลดชรา: การมอบความช้ำใจแก่ภรรยาวัยกลางคนอย่างโหดร้าย เมื่อมารดาของตัวละครชื่อวิสูตรย่างเข้าสู่วัยกลางคนก็มีเหตุให้ต้อง"ปลดชรา" ความหมายของการปลดชราก็คือการที่สามีแต่งภรรยาคนใหม่เข้าเรือน อันนำมาซึ่งการหย่าร้างในที่สุดวิสูตรเล่าว่า "เรื่องคุณแม่จะต้องจากบ้านที่ท่านอยู่มาแล้วตั้ง 20 ปี ไปอยู่บ้านฝั่งธนฯก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือเรื่องราวทั้งหลายในครอบครัวขุนนางใหญ่ๆโตๆในเมืองไทยเมื่อภรรยาเป็นฝ่ายที่ชรา หมดกำลังที่จะสนองคุณได้เช่นเคย ก็เป็นอันว่าต้องถูกปลดชราในคราวเดียวกับภรรยา แต่ยังมีกำลังวังชาและโภคทรัพย์ก็คงแสวงหาสิ่งที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ แต่ก็คงจะได้สมหวัง โดยการชอกช้ำระกำใจของภรรยาเก่าผู้เคยร่วมทุกข์สุขมาด้วยหลายสิบปีถ้าภรรยาคนไหนทนได้เพราะความจำเป็น ก็เลยนั่งทนดูความเป็นอยู่ของสามี ส่วนภายในทรวงของหล่อนเล่า ก็คงมีเลือดหยดอยู่มิขาดสาย อนิจจา! นี่คือภรรยาของคนไทย แม่ยอดหญิง! …ผลกระทบที่ตามมาก็คือ การสูญเสียโอกาสทางด้านสินสมรสของมารดาตน สะท้อนถึงการที่สังคม ประเพณีและกฎหมายยอมให้สตรีในสมัยนี้ถูกกดขี่และเอาเปรียบอย่างไร้ความปรานีอย่างไม่เป็นธรรม วิสูตรเล่าว่า "ถ้าภรรยาคนไหนทนไม่ไหวและพอมองเห็นทางที่จะหลีกก็ตัดช่องน้อยไปแต่พอตัว ทิ้งทรัพย์สมบัติที่ตนได้ช่วยสร้างสมมาแล้ว เป็นเวลาตั้งหลายสิบปีให้อยู่ในอารักขาของบุรุษผู้มีใจโลเลเบื่อเก่าหาใหม่ ส่วนทรัพย์สินนั้นๆก็ตกไปอยู่กับเด็กหญิงอะไรที่หน้าตาสวยๆ ทิ้งให้ภรรยาเก่าและบุตรธิดาของตนก้มหน้ากินเกลือไปตามยถากรรม..." สมดังที่วิสูตรกล่าวไว้เบื้องต้น เมื่อพระยาวิเศษศุภลักษณ์ถึงอนิจกรรม ปรากฏว่ามารดา วิสูตรและน้องสาวไม่มีส่วนในกองมรดกของบิดาเลย “ศัตรูของเจ้าหล่อน” บทประพันธ์ของ“ดอกไม้สด”นามปากกาของ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ ใช้ภาษาในการประพันธ์ได้งดงาม และใช้ฉากยุคสมัยของรัชกาลที่ 7 ซึ่งเขียนเมื่อพ.ศ. 2472 และเคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ไทยเขษมรายเดือนในปีพ.ศ. 2472 จนกระทั่งพ.ศ. 2487 กองอาสากาชาดจึงได้พิมพ์รวมเล่ม จำหน่ายในงานสโมสรสันนิบาต ณ อุทยานสราญรมย์ กรุงเทพฯ เสนอความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ กล่าวคือ คนรุ่นใหม่เห็นว่า ประเพณีคลุมถุงชนเป็นเรื่องพ้นสมัยไร้เหตุผล แต่ในตอนจบเรื่องยุติปัญหาว่าในที่สุด คู่ที่ผู้ใหญ่เลือกให้เป็นคู่ที่เหมาะสมที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ มยุรี นางเอกของเรื่อง และประสงค์ วิบูลย์ศักดิ์ ผู้เป็นคู่หมั้นคู่หมายกันแต่วัยเด็ก เมื่อประสงค์เติบโตขึ้นก็หลงรักมยุรี แต่มยุรีกลับเห็นว่า การหมั้นหมายเปรียบเสมือนเครื่องผูกมัดหล่อน อีกทั้งเวลาผ่านไปทั้งสองคนไม่ได้ติดต่อกันทำให้มยุรีปฏิเสธการแต่งงานกับประสงค์ ทำให้นายประสงค์ปลอมตัวเป็นนายประสมมาเป็นลูกจ้างเพื่อจะได้เข้าใกล้ชิดกับมยุรี ภายหลังจบลงด้วยความสุขสมหวัง นวนิยายเรื่องนี้จะคล้ายคลึงกับเรื่อง “ปราบพยศ” ของศรีบูรพา ซึ่งเป็นนวนิยายยุคเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีผลงานชิ้นเอกคือ เรื่องผู้ดีของดอกไม้สดเป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในทศวรรษที่ 2470 หลังยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆในสังคมสยามทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งภายในภายนอก เช่น เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ การขยายตัวทางการศึกษา นำมาซึ่งการปรับใช้วัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาอย่างกว้างขวาง ซึ่งเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าวมีผลต่อความคิด ค่านิยมและโลกทัศน์ของคนในยุคสมัย งานวรรณกรรมก็ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งแนวคิดโครงสร้างของเรื่อง เทคนิคการเขียนและกลวิธีที่ใช้ในการเขียนงานวรรณกรรมที่มีความเป็นสัจนิยม เป็นเหตุเป็นผล และมีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น เป็นวรรณกรรมของสตรีเสมือนตัวแทนของกลุ่มสตรีชนชั้นนำในสังคมไทยและบุกเบิกนวนิยายชีวิตครอบครัวกลุ่มชนชั้นสูงที่ได้รับผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ งานนวนิยายหรือวรรณกรรมช่วงนี้จึงสะท้อนโลกทัศน์และแนวคิดของผู้เขียนต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ในขณะที่สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างโลกยุคเก่าและโลกยุคใหม่ ระหว่างการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประชาธิปไตย การรับการศึกษาและวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในระบบคิดแบบประเพณีนิยม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไปสู่ระบบธนานุภาพ ซึ่งภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ได้ปรากฏในงานเขียนของดอกไม้สดอย่างชัดเจน ในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้รวมถึงเรื่องบทบาทและสถานภาพของสตรีไทยด้วย สรุปตัวอย่างของนวนิยายของนักประพันธ์ทั้งสามคนคือ ชายสองคนและหญิงในช่วงรัชกาลที่ 7 เป็นยุคบุกเบิกของนวนิยายไทยให้มีลักษณะเป็นของไทยเอง และหยิบยกปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยมาเสนอเป็นแก่นแกนและแนวคิดของเรื่อง ให้ภาพสังคม วัฒนธรรม บ้านเมือง การสมาคมและ งานราตรีสโมสรของผู้คนในสมัยนั้นได้อย่างสมจริง สรุปสาระการสื่อสารเรื่องคติสตรีนิยม จากการศึกษาพบว่าในปีพ.ศ. 2472 ศรีบูรพาหรือกุหลาบสายประดิษฐ์ จัดตั้งคณะสุภาพบุรุษ ออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 วันหนึ่งหลังจาก นายอบ ไชยวสุ ซึ่งเป็นนักเขียนตลกประจำฉบับ ส่งต้นฉบับไม่ทัน นายกุหลาบจึงให้ นายโชติ แพร่พันธุ์ เขียนแทน โดยตั้งนามปากกาว่า ยาขอบ เลียนแบบนักเขียนเรื่องตลกชาวอังกฤษ ชื่อเจ.ดับบลิว.ยาค็อบ (J.W. Jacob) ทำให้เกิดงานประพันธ์ชิ้นแรกในนามของยาขอบ ชื่อ “จดหมายเจ้าแก้ว” พ.ศ. 2474 และผลงานที่เป็นที่รู้จัก คือ เรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” คณะนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษทุกคนล้วนมีทัศนคติต่อการให้เกียรติสตรี เห็นอกเห็นใจในสถานภาพของหญิงที่ต่ำต้อยกว่าชาย ซึ่งสะท้อนปัญหาหลากหลายที่ผู้หญิงเผชิญ ดังนั้น ตัวละครหญิงที่โลดแล่นในนวนิยายมีคุณสมบัติของกุลสตรีขณะเดียวกันก็มีบทบาททัดเทียมผู้ชาย เป็นการสื่อสารเชิงอุดมคติ และสตรีเป็นผู้รับหน้าที่หนักทั้งในด้านครอบครัวและสังคม ปรากฏในเรื่องสั้นของยาขอบ เช่น มารหัวใจ อารมณ์ กามวาสี รอยโครอยเกวียน รักแท้ หลังฉาก ผู้ชาย เพื่อนแพง สรรค์คนยาก และหล่อนชั่วเพราะชาย ได้บ่งชี้ การยึดความรักเป็นศรัทธาสูงสุดในชีวิตของตัวละคร มักจะปรากฎในตัวละครฝ่ายหญิง เช่น ยาขอบ ได้เขียนสดุดีความดีของผู้หญิงชื่อ ประคอง ในเรื่อง “หล่อนชั่วเพราะชาย” ไว้ว่า “...ประคองไม่ได้ชั่วได้ผิดเพราะน้ำเนื้อเชื้อแท้ของตัวเองเลย ผัวของหล่อน ชายคนแรกของหล่อนหรือมิใช่ ที่ดึงหล่อนมาสู่ก้าวแรกวิถีทางที่ผิดไปชั่วไปสำหรับชีวิตหญิง โอ้ นี่ใครจะรู้ว่าในโลกนี้ยังมีแม่หญิง ซึ่งที่แท้ควรจะดีแสนดีอีกกี่แสนกี่ล้านคนและมาเสียไปเพราะชายคนแรกเป็นคนทำ ศ.ดร.พรทิพย์ ดีสมโชค แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวชื่นชม ยาขอบว่า เขาไม่เคยเขียนหนังสือล่วงเกินของด่าว่าผู้หญิง ยาขอบเขียนเรื่องราวจากความเห็นใจผู้หญิงและด้วยความเข้าใจผู้ชายอย่างแท้จริง สรุปสถานภาพของสตรีในวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นพบว่ามีวรรณกรรมหลายประเภท อาทิ เรื่องสั้น นวนิยาย และบทความเป็นงานเขียนที่มีพัฒนาการอย่างสูงหลังจากการบ่มเพาะมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งขานรับกับมโนทัศน์ของชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารสตรีในยุคนี้นับเป็นยุคแห่งการปลุกสำนึกในด้านการใฝ่หาความรู้และเรียกร้องสิทธิของสตรี เพราะมีเนื้อหาให้ความรู้ ความคิดที่ทันสมัย ฉายภาพวิถีชีวิต ค่านิยม และทัศนคติของชนชั้นกลางที่บุกเบิกแนวทางของวรรณกรรมสัจจนิยมที่มีบทบาทขับเคลื่อนสังคมแบบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา สถานะของการเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายใน (เจ้านายสตรี) พระยศเจ้านาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยามว่า ตำแหน่งพระยศเจ้านายแต่ครั้งกรุงเก่ามีอยู่ในพระราชกำหนด กฎมนเทียรบาล กำหนดพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงตำแหน่งของ ข้าราชการ โดยเฉพาะพระยศของเจ้านาย ประกอบด้วย พระยศชั้นต่างๆ ตามฐานะของพระมารดา ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับมา เช่น พระยศเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า พระยศเจ้านายแต่ละชั้นยังมีฐานะแตกต่างกันทราบได้จากพระยศนำหน้าพระนาม ราชประเพณีการเฉลิมพระยศเจ้านาย พระยศของเจ้านายซึ่งทรงดำรงแต่เมื่อประสูตินั้น ภายหลังพระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศตามราชประเพณี โดยเฉลิมพระยศบ้าง เลื่อนพระยศบ้าง เช่น เมื่อเจริญพระชันษาโสกันต์แล้ว โปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ทรงกรม ที่เรียกว่า “เจ้าต่างกรม” เลื่อนหม่อมเจ้า ซึ่งเป็นพระโอรส พระธิดา เจ้าต่างกรม และพระองค์เจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้า และเฉลิมพระยศพระบรมวงศานุวงศ์ ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศตามโอกาสอันควร การเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายใน “ฝ่ายใน” หมายถึง เจ้านายผู้หญิง รวมถึงข้าราชสำนักผู้หญิงทุกชั้น ทุกวัย ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในเขตพระราชฐาน ดังนั้น “ฝ่ายใน” แต่โบราณมาจึงประกอบด้วย พระมเหสี พระสนม เจ้าจอม พระราชธิดา พระราชนัดดา ท้าวนางต่างๆ เจ้านายฝ่ายในได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเช่นเดียวกับเจ้านายฝ่ายหน้า คือ เจ้านายผู้ชาย แต่มีจำนวนน้อยกว่าดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “เจ้าฟ้าผู้หญิงแลพระองค์เจ้าผู้หญิงเป็นต่างกรมได้ทุกชั้น เคยเป็นกรมสมเด็จพระ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น มีทุกชั้น แต่นานๆ น้อยๆ ไม่มากเหมือนต่างกรมผู้ชาย...” การเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในครั้งกรุงศรีอยุธยา – กรุงธนบุรี – กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายว่า “... แต่ก่อนๆ นั้นเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก พระมเหสี พระสนมเชิญเครื่องออกไปตามเสด็จท้องพระโรงด้วย เห็นจะเหมือนกับในเมืองพม่าทุกวันนี้ ซึ่งเราได้อ่านหนังสือที่คนอังกฤษแต่งว่า เวลาไปเฝ้าเจ้าแผ่นดินพม่า มีพระมเหสีแลพระสนมออกด้วย แต่ในเมืองเราผู้หญิงไม่ได้ออกมาเสียช้านานหนักหนาแล้ว ไม่ทราบว่าไม่ได้ออกด้วย แลเลิกออกเมื่อไหร่ เห็นจะเป็นด้วยผู้หญิงไม่ได้ออกรับแขกดังนี้จึงได้เงียบไป”เจ้านายฝ่ายในที่ได้รับการเฉลิมพระยศสมัยอยุธยา พระสุริโยทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำริในธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยามเกี่ยวกับการเฉลิมพระยศพระมเหสี ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ความว่า “เมื่อแรกก็ไม่ได้ยินออกชื่อออกเสียง ต่อจะสิ้นพระชนม์ แต่งองค์เป็นกษัตริย์ออกไปด้วย พระสวามีในกลางทัพ ช้างข้าศึกไล่พระสวามีมา ก็ไสช้างออกรับช้างข้าศึก กันช้างพระราชสวามี หนีพ้นไป ข้าศึกก็ฟันพระองค์ขาดกับคอช้าง...” กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานในพระราชพงศาวดาร กล่าวถึง เจ้านายฝ่ายในได้รับการเฉลิมพระยศให้ทรงกรม ชั้นกรมหลวง 2 พระองค์ คือ กรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐา กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดา กรมหลวงโยธาเทพนั้นน่าจะทรงมีบทบาทสำคัญในพระราชสำนักมาก เพราะมีหลักฐานในบันทึกราชทูตที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรี ราชทูตได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญจาก ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส และกรมหลวงโยธาเทพได้ทรงจัดสิ่งของมีค่า พระราชทานตอบแทนกลับไปด้วย กรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมเหสีในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา แต่ยังทรงมีพระยศเป็นกรมหลวงเช่นเดิม กรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อทรงบรมราชาภิเษกแล้ว โปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมห้ามเดิม ๒ คน ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี และพระราชมเหสี เฉลิมพระยศว่า กรมหลวง อภัยอนุชิต และกรมหลวงพิพิธมนตรี เจ้านายฝ่ายในที่ได้รับการเฉลิมพระยศสมัยธนบุรี กรมพระเทพามาตย์ มีหลักฐานในหมายรับสั่งการเชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดบางยี่เรือนอก การสถาปนาพระราชชนนี มีพระยศเป็นกรมพระเทพามาตย์ น่าจะทรงสถาปนาแต่เมื่อสมเด็จพระราชชนนียังมีพระชนมชีพอยู่ และเป็นราชประเพณีที่ทรงสืบทอดธรรมเนียมในสมัยอยุธยา การเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในซึ่งเป็นราชประเพณีที่มีมาแต่สมัยอยุธยาสืบทอดต่อมาในสมัยธนบุรีนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ และทรงสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สอบค้นตำราราชประเพณีครั้งกรุงเก่าโดยเฉพาะที่เคยปฏิบัติแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมาเป็นแบบอย่างของกรุงรัตนโกสินทร์สืบมา เฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์ ทุกรัชกาลมีการเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในตามโบราณราชประเพณี มีรายพระนาม ปรากฏในหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย ดังนี้ รัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พระราชชายานารี ในรัชกาลที่ ๒) สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทร (พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) รัชกาลที่ ๒ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี) รัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุลาไลย (พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๓) พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระเจ้าน้องนางเธอ กรมขุนกัลยาณสุนทร (พระองค์เจ้าหญิงลำภู พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒) พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (สมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๔) รัชกาลที่ ๔ สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมอัฐิสมเด็จพระพันวัสสา เป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี) สมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย (สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี) พระองค์เจ้าหญิงนฤมลมณีรัตน (หม่อมเจ้าหญิงนฤมล ในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร) พระองค์เจ้าหญิงชิดเชื้อพงศ (หม่อมเจ้าชิด ในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) กรมหลวงนรินทรเทวี (พระเจ้าน้องนางเธอ ในรัชกาลที่ ๑) กรมขุนอนัคฆนารี (พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี) กรมขุนรามินทรสุดา (พระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑) รัชกาลที่ ๕ กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์ พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัลยา พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล พระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระองค์เจ้ายี่เข่ง รัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระเทพนารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี (สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา) พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี รัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามาลิศเสาวรส พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัสสวาสดิ์ เฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในเมื่อสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จึงทรงสถาปนาเฉลิมพระยศพระ บรมวงศ์ เจ้านายฝ่ายในที่ทรงรับสถาปนาและทรงกรมในโอกาสนั้น ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์ใหญ่ และ พระองค์น้อย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรมพระราชทานสมเด็จพระราชธิดา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงแจ่ม กรมหลวงศรีสุนทรเทพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพวดี และตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เป็น กรมขุนศรีสุนทร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) เป็นพระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีเรื่องเล่าว่าเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงพระเยาว์พระชนม์ได้ 5 พรรษา ทรงวิ่งเล่นจนยั้งพระองค์ไม่ทัน ล้มลงบนกองเพลิงที่สุมไว้ในฤดูหนาว พระพี่นางทั้งสองพระองค์ทรงฉุดพระองค์ออกจากกองเพลิงนั้น โดยมิได้รับอันตรายใด ๆ แล้วทรงวิ่งเล่นต่อไป พระภัสดา นามว่า หม่อมเสม รับราชการ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นที่พระอินทรักษา เจ้ากรมตำรวจใหญ่ซ้ายฝ่ายพระบวรราชวัง มีพระโอรส 3 พระองค์ พระธิดา 1พระองค์ ภายหลังเสียกรุงแล้ว เสด็จมาประทับอยู่ที่สวนมังคุดกับพระโอรสธิดา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ ให้ทรงกรม ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี มีพระตำหนักอยู่หลังพระมหามณเฑียร เรียกว่า พระตำหนักใหญ่ หรือ พระตำหนักเขียว ทรงรับพระราชภาระว่าราชการเป็นใหญ่ทั่วไป ว่าการวิเศษในพระคลังเงินพระคลังทองและสิ่งของต่าง ๆ ในพระราชวังชั้นใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์เดือน 12 แรม 11 ค่ำ จ.ศ. 1161 ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2342 พระชันษา 70 เศษ เฉลิมพระยศ สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามโบราณราชประเพณีพระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนนี เป็นกรมพระเทพามาตย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ ใน พ.ศ. 2352 ปีต่อมาทรงตั้งกรมเฉลิมพระยศสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเฉลิมพระยศเจ้าจอมมารดาเรียม สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย โดยทั่วไปขนานพระนามว่า สมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระชนม์ชีพในรัชกาลที่ 3 ผู้คนมักขนานพระนามว่า สมเด็จพระพันวัสสา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระยศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี) มีการประกาศเฉลิมพระยศเจ้านายโดยตรงเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นจึงมีประกาศเฉลิมพระยศเจ้านายพระองค์อื่น ๆ สืบมา ในรัชกาลที่ 5 ทรงเฉลิมพระยศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี) นอกจากการสถาปนากรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในให้ดำรงพระบรมราชอิสสริยยศเสมอสมเด็จพระบรมราชชนนี ด้วย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระนามเดิม พระองค์เจ้าหญิงลม่อม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2361 ทรงอภิบาลสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตั้งแต่ทรงพระเยาว์พระชันษา 7 ปี จนเสด็จสวรรคต และทรงอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ใน พ.ศ. 2411 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระเจ้าราชวรวงศเธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร ด้วยทรงพระราชดำริว่า ทรงอภิบาลอุปถัมภ์บำรุงบริรักษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงด้วยสุขสวัสดิ์นานานุปการ ดังหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี ตั้งแต่พระเยาว์มา ต่อมาใน พ.ศ. 2416 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาให้ดำรงพระบรมราชอิสสริยยศเสมอสมเด็จพระบรมราชชนนี เป็น พระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพรัก “สมเด็จยาย” หรือที่ชาววังมักขนานพระนามว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” ยิ่งนัก ทรงปฏิบัติด้วยพระกตัญญูภาพ จนเสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์เดือน9 ขึ้น 9 ค่ำ จ.ศ. 1258 ตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2439 พระชันษา 79 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระราชพิธีเฉลิมพระยศสมเด็จพระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 6 ทรงเฉลิมพระนาม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็นประธานราชการฝ่ายในตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตเป็นต้นมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ที่ทรงเคารพนับถือเหมือนดังเช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี เป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า บรรณานุกรรม หนังสือ เอกสาร และวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง กรมศิลปากร, (2504) ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2408-2411 พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา. กอบแก้ว มุดทอง, (2531) “การศึกษาสถานภาพและค่านิยมของสตรีไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ช่วงปี พ.ศ. 2431-พ.ศ. 2476”ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2408-2411 พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา,2504 ปริญญานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. แคเธอรีน บาววี, การอภิปรายข้อท้าทายของประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยสิทธิการเลือกตั้งสตรีไทย (Thailand’ s Unique Challenge to Historiography of Women’s Suffrage) ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 สิงหาคม 2556. จิรนุช โสภา. (2542) “บันทึกเรื่องผู้หญิงในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, (2558) ความเป็นสมัยใหม่ในวรรณกรรมของคณะสุภาพบุรุษ การประชุมประจำปีครั้งที่ 1 : โครงการวิจัยพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงทางความคิดว่าด้วยความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย (สกว.) วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558. (คลิปการนำเสนอของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อ้างจากเว็บไซด์ประชาไท) โชติ แพร่พันธุ์ (2476) หล่อนชั่วเพราะชาย ตรีศิลป์ บุญขจร. (2523) “นวนิยายกับสังคมไทย (พ.ศ. 2475-2500)” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2521. ธัญญา สังขพันธานนท์. (2559) แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย ปทุมธานี : สำนักพิมพ์นาคร. ณัฏฐวดี ชนะชัย. (2530) “สตรีในสังคมไทยสมัยใหม่” : ศึกษากรณีสตรีซึ่งประกอบอาชีพพยาบาล (พ.ศ.2439-2485) วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดอกไม้สด (นามแฝง) ศัตรูของเจ้าหล่อน (2516) หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร :สำนักพิมพ์บรรณาคาร. ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. (2526) “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เปรมสิรี ชวนไชยสิทธิ์. (2539) “ผู้หญิงกับอาชีพครูในสังคมไทย พ.ศ. 2456-2479” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พรทิพย์ ดีสมโชค. (2533) แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างพ.ศ. 2468-2477 มหาวิทยาลัยสุโขทัยจัดพิมพ์ พ.ศ. 2553. พรศิริ บูรณเขตต์. (2540)“นางใน:ชีวิตทางสังคมและบทบาทในสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ (2560) “ผู้หญิงสามัญชนสยามช่วงการพัฒนาประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” รายงานวิจัย สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ. ภาวิณี บุนนาค. (2554) ผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพ.ศ. 2478 : ศึกษาจากคดีความและฎีกา” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. มาลี พฤกษ์พงศาวลี. (2551) “ย้อนรอยสิทธิความเป็นคนของผู้หญิง” กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสภา พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2557) พิมพ์ครั้งที่ 4 โดยกองธรรมศาสตร์และการเมือง. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2547) “วรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ 7 : การตอบสนองรสนิยมของชนชั้นกลาง” วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ลำพรรณ น่วมบุญลือ. (2519) “สิทธิและหน้าที่ของสตรีตามกฎหมายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล. (2559) “หญิงชั่ว ในประวัติศาสตร์ไทย : การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ – พ.ศ. 2477” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วารุณี โอสถารมย์. (2546) “งานเขียนประวัติศาสตร์ผู้หญิงในสังคมไทย”ใน วารสารรวมบทความประวัติศาสตร์ ฉบับที่ 25 : พุทธศักราช 2546 วรรณี พุทธเจริญทอง. (วรรณวิทัศน์ปีที่ 5 พฤศจิกายน 2548) ศตวรรษชาตกาล นักเขียนสร้างสรรค์ของไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ศรีบูรพา. (2525) สงครามชีวิต กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จตุจักร. สภาสตรีแห่งชาติ, สตรีไทย (2518) สภาสตรีแห่งชาติจัดพิมพ์เนื่องในปีสตรีระหว่างประเทศ 2518. สุวดี ธนประสิทธิ์พัฒนา. “สถานภาพทางสังคมของสตรีในสมัยปฎิรูปประเทศ” วารสารอักษร (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 23,2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2534). สุรเชษฐ์ สุขลาภกิจ.(2556 )” ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480.” ” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หลุยส์ ดูปลาตร์, สถานะของหญิงมีสามีในประเทศสยาม, (2540) แปลโดย ไพโรจน์ กัมพูศิริ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์. อากาศดำเกิง หม่อมเจ้า (2541) ละครแห่งชีวิต ฉบับพิมพ์พ.ศ. 2541 กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์สนามหลวง อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต และอวยพร พานิช (2532 ) รายงานวิจัย 100 ปีของนิตยสารไทย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เอมอร นิรัญราช (2521) “ทัศนะทางสังคมในนวนิยายไทยสมัยรัชกาลที่ 7” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต หน่วยวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสารภาษาอังกฤษ Anne Phillips,(1987 ) Feminism and Equality. Barme Scot. (2006) Woman ,Man ,Bangkok : Love, sex an popular Culture in Thailand. Chimang Mai, Thailand : Silk worm. Joseph J. Wright,Jr. (1991) The Balancing Act, A History of Modern Thailand,1991. Reynolds, Craig J. “ A Nineteen Century Thai Buddhist Defense of Polygamy and Some Remark on the Social History of Woman in Thailand.” A Paper Prepared for The Seventh Conference International Association of Historian of Asia, Bangkok 22-26 Auguest 1977. Time Magazine 28 ตุลาคม ค.ศ. 1974

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...