ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สตรีสยามกับการประกอบอาชีพยุคใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสมัยรัชกาลที่ 7 : ศึกษากรณีอาชีพนักเขียนสตรี

งานวิจัยเรื่องนี้ มุ่งศึกษา อาชีพของสตรีสยามในช่วงเปลี่ยนผ่านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ระหว่าง พ.ศ. 2468-2477) โดยศึกษาถึงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จากนโยบายของรัฐและหลักสูตรทางการศึกษาสู่ความทันสมัยว่าส่งผลต่อการประกอบอาชีพของสตรีสยามที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร นักวิชาการผู้ชำนาญการ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจัยแรก คือ “สิ่งแวดล้อม” ในช่วงเวลาดังกล่าว หมายถึง บริบทการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและระบบเงินตราสมัยใหม่ การเติบโตธุรกิจในเมือง การมีชุมชนเมืองสมัยใหม่ มีตลาด ร้านค้า ตึกแถว บ่อน ซ่อง แหล่งบันเทิงและที่พักแรม ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของเมืองสมัยใหม่ (แทนที่วัดและวัง) สิ่งแวดล้อมนี้ ทำหน้าที่เป็นตลาดรองรับ บทบาท หน้าที่ทำให้สตรีสยามดำเนินอาชีพสมัยใหม่
ปัจจัยที่สอง คือ การศึกษาสมัยใหม่ ระบบโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายจำนวนโรงเรียนสตรีเพิ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล ทั้งในเมืองกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหัวเมือง ที่รู้จักกันดีต่อมาว่า โรงเรียนประจำจังหวัด การตั้งโรงเรียนสตรีเป็นการสร้างประชากรหญิงให้มีการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาวิชาชีพวิชาการขั้นสูง เริ่มเปิดรับนิสิตหญิงรุ่นแรกในทศวรรษ 2470 นี้เอง นอกเหนือจากสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง อย่างเช่น โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีเบญจมราชาลัย (พ.ศ. 2456) และโรงเรียนแพทย์พยาบาล และหญิงผดุงครรภ์ (พ.ศ. 2439) ที่จัดการศึกษาวิชาการวิชาชีพชั้นสูงเริ่มแรก คือ ครูและพยาบาล
การผลิตบัณฑิตสตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้สตรีสยามสามารถออกไปประกอบอาชีพหลากหลายขึ้น หลายคนยังเพิ่มโอกาสการศึกษาด้วยการสอบชิงทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะสาขาแพทย์ศาสตร์ ปัจจัยที่สาม คือ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อการแสดงสมัยใหม่ ทศวรรษนี้มีการผลิตสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ไปจนถึงการแสดงละครเวที สื่อเหล่านี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ผู้รู้หนังสือ ตั้งแต่ทศวรรษ 2460 ที่สำคัญสื่อทำหน้าที่เผยแพร่ กระจายข่าวสาร สร้างความรับรู้ ทั้งองค์ความรู้ ศิลปวิทยาการ วัฒนธรรมและสังคมโลกสมัยใหม่นอกประเทศสยาม ที่สำคัญคือสื่อได้เปิดโลกทัศน์การรับรู้ถึงภาวะสมัยใหม่ ควบคู่กับการสร้างจินตกรรม “ชาติ ชุมชนชาติ ความเป็นพลเมืองที่เปิดการรับรู้เรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” ทำให้เข้าใจถึงสังคมนอกสถาบันครอบครัว ปลูกจิตสำนึกถึงผู้คนอื่น ๆ ในสังคม นอกเหนือจากสมาชิกครอบครัวและเครือญาติ ความสำนึกนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้สตรีสยามต้องการศึกษาต่อวิชาชีพขั้นสูงและประกอบอาชีพนอกบ้าน โดยเฉพาะอาชีพที่ให้บริการผู้คนในสังคมอีกด้วยการศึกษาทำให้สตรีสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกเศรษฐกิจสมัยใหม่ ประกอบอาชีพหลากหลายแตกต่างจากอาชีพค้าขายแบบดั้งเดิม ที่สำคัญสตรียังมีโอกาสเข้าสู่อาชีพสมัยใหม่อื่น ๆที่ต้องใช้ความรู้วิชาชีพ จากการศึกษาระดับสูง อย่างไรก็ตามอาชีพสมัยใหม่เกือบทั้งหมด สังเกตว่าเป็นอาชีพข้าราชการที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อาทิ ข้าราชการกรมการปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดและนายอำเภอลงมาจนถึงเสมียน) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ วิศวกรรถไฟ โยธาและไฟฟ้า นายช่างชลประทาน เกษตรจังหวัด ผู้พิพากษา เสมียน ศาล อัยการ ตำรวจ ทหาร ฯลฯ อาชีพในราชการมีเพียง ครูและพยาบาลเท่านั้นที่สตรีสามารถเข้าทำงานได้
การศึกษาเรื่องนี้คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ส่งผลสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน และมุ่งเน้นที่อาชีพ“นักเขียนสตรี” เป็นหลักเพราะสามารถวิเคราะห์ได้จากงานเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่าที่จะศึกษาได้ในระยะเวลาจำกัด จากการศึกษาพบว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีให้ได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ แม้ว่าในระยะแรกสตรีจะได้รับความรู้จากวิชาการเรือนและการครัวมาสู่ความเป็นกุลสตรีที่ได้รับการศึกษาในระบบของการศึกษาสมัยใหม่ และมีโอกาสในการประกอบอาชีพนอกบ้านน้อยกว่าบุรุษก็ตาม และสตรีที่ได้รับการศึกษามักมีอาชีพครูและพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ อนึ่ง อาชีพนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์สตรีนับว่าเป็นการแสดงภูมิปัญญาของสตรีและการเลื่อนสถานภาพภาพของสตรีให้ทัดเทียมกับบุรุษมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปรากฏการณ์การเกิดนักเขียนสตรีรุ่นบุกเบิก ในสมัยรัชกาลที่ 7 เช่น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล หม่อมหลวง บุปผา นิมมานเหมินทร์ (ดอกไม้สด) ร.จันทพิมพะ น.ประภาสิต และถนอม มหาเปาริยะ เป็นต้น ในยุคนี้เมื่อสตรีได้รับโอกาสศึกษาวิชาด้านกฎหมายและการแพทย์แผนปัจจุบัน ตลอดจนการงานอาชีพที่เสริมทักษะใหม่ๆ ทำให้สตรีสยามประกอบอาชีพยุคใหม่ได้อย่างเท่าเทียมกับบุรุษในเวลาต่อมา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั