ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พฤศจิกา-ประชาธิปก

วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน ปีมะเส็ง ร.ศ. 112 พ.ศ. 2436 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ประสูติเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงรับราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช ที่ประชุมเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ และเสนาบดีกระทรวงต่างๆปรึกษากันว่าพระบรมนามาภิไธยจะใช้อย่างไร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช “ทรงเห็นว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้ทรงรับราชาภิเษกนี้ ถ้าจะใช้ว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอก็เป็นคำฟั่นเฝือ คำว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชไม่สู้ตรงกับแบบแผน... ส่วนการราชาภิเษกนั้นเป็นงานแผ่นดินจำต้องหาฤกษ์...เพราะฉะนั้นเห็นควรให้ใช้ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”ไปพลางโดยมิต้องรอการราชาภิเษก... ” ในที่สุดจึงตกลงให้ขนานพระนามาภิไธยในระหว่างนี้ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”... ส่วนพระบรมนามาภิไธยซึ่งจะจารึกในพระสุพรรณบัตรเป็นอันยังไม่ตกลงเด็ดขาดทางใด” วันรุ่งขึ้น โปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พราหมณ์พิธีอ่านโองการแช่งน้ำ เมื่อจบแล้วเชิญพระแสงศรชุบในน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แล้วเชิญพระแสงต่างๆชุบน้ำ พราหมณ์ทูลเกล้าฯถวายน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เท่ากับว่าเสวยน้ำก่อนแล้วจึงพระราชทาน สำหรับพระนามทรงกรมนั้นทรงได้รับพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนจากกรมขุนเป็นกรมหลวงเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้นเอง คือเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสังเกตว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงปฏิบัติราชการ สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลาเสด็จไปประทับอยู่นอกมณฑลราชธานีเป็นครั้งเป็นคราวมา “โดยพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าด้วยความจงรักภักดี..และทรงพระสติปัญญาอันสุขุมคัมภีรภาพสมควรไว้วางพระราชหฤทัย” พระสุพรรณบัฏกรมหลวงนั้นคงจะยังจารึกไม่เสร็จในคราวนั้น ในวันที่ 13 ธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาจึงได้เสด็จฯ จากพระที่นั่งบรมพิมาน (ที่ประทับชั่วคราวในพระบรมมหาราชวังใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชอยู่ และมีพระราชพิธีโดยต่อเนื่อง) ไปยังวังสุโขทัย วังส่วนพระองค์ เพื่อ “ทรงรับพระสุพรรณบัฏ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาพร้อมกับพระธำมรงค์นพเก้า” แหวนนพรัตน์ อัญมณี 9 สีนั้นเป็นเครื่องแสดงว่าทรง “ได้รับพระราชทาน” เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (พ.ศ. 2469 นับศักราชตามปัจจุบัน) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระบรมนามภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” องค์ประชาธิปกราชันทรงพระราชมานะพยายามมาตลอดรัชกาลที่จะทรงปกป้องปวงประชาให้ได้รับการปกครองโดยธรรม ครั้นเมื่อได้ทรงสละพระราชอำนาจในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้ว ทรงพบว่าการปกครองมิได้เป็นไปโดยหลักนิติธรรมหรือเป็นประชาธิปไตย จึงทรงละอายพระราชหฤทัยที่ไม่อาจทรงปกป้องปวงประชาได้ และได้ทรงแสดงความรับผิดชอบด้วยการสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 นับศกตามปัจจุบัน) สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมประชาธิปไตย จึงจัดการประชุมประจำปีของสถาบันพระปกเกล้าในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั