สังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว แต่ด้วยค่านิยม
ขนบประเพณีในสังคมที่เป็นลักษณะปิตาธิปไตย
บุตรธิดาต้องอยู่ภายใต้การบังคับดูแลของบิดา มารดา และสามี
ที่คาดหวังให้สตรีมีความประพฤติและจริยธรรมที่มีเป้าหมายการครองเรือนและดูแลกิจการภายในครอบครัว
สตรีจึงถูกกำหนดให้ต้องเรียนรู้การวางตัวและการปรนนิบัติพ่อแม่และสามี
ความรู้ของสตรีจึงมีเพียงการฝึกหัดงานบ้านและวิชาชีพจากประสบการณ์ในครอบครัวหรือไปถวายตัวในราชสำนัก
จนกระทั่งการศึกษาแบบตะวันตกถูกนำเข้ามาในสยามโดยคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน
(Presbyterianism)
เผยแพร่ศาสนาไปพร้อมกับก่อตั้งโรงเรียนสตรีที่มีหลักสูตรและระบบสมัยใหม่
การเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะบทบาทและอิทธิพลของหมอสอนศาสนานิกายโปรแตสแตนท์
ที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาสตรีทั้งในด้านศีลธรรมจรรยา
และการรู้อักขรวิธีเพื่อให้มีความรู้ด้านวิทยาการใหม่ๆจากตะวันตก เมื่อพ.ศ. 2417
มีการจัดตั้งโรงเรียนแหม่มโคล์ หรือโรงเรียนวังหลัง(Harriet M. House School for
Girls) หรือวัฒนาวิทยาลัย จึงเป็นตัวแบบให้กับการศึกษาของสตรีชนชั้นสูงไทยต่อมา
อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจด้วยว่า
ตามข้อเท็จจริงแล้วราชสำนักไทยเองมีการถ่ายทอดเรียนรู้ที่เป็นการศึกษาแบบขนบ
รวมถึงการเรียนวิชาหนังสือมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสตรีฝ่ายในที่รู้หนังสือดี
ทำหน้าที่ผู้สอนแบบต่อหนังสือ และถึงสมัยรัชกาลที่ 5
เจ้านายสตรีชั้นสูงต่างให้มีการฝึกสอนระเบียบแบบแผนการวางตัวและการดำเนินชีวิตตามแบบแผนในราชสำนักฝ่ายใน
ควบคู่กับการเรียนวิชาหนังสือ พบว่า
ชนชั้นนำเองมีแนวคิดที่ตั้งสถานศึกษาสำหรับสตรีอย่างเป็นทางการตั้งแต่ก่อนพ.ศ. 2441
แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดังกล่าวต่อไปนี้ โรงเรียนที่ตั้งขึ้นช่วงทศวรรษ
2420-2440 มีรูปแบบและเนื้อหาการเรียนการสอนแตกต่างกันตามสถานภาพของผู้เรียน
เป็นต้นว่าโรงเรียนสำหรับผู้เรียน ชนชั้นสูงมี 2 แห่ง คือ โรงเรียนสุนันทาลัย (พ.ศ.
2423-2445) โรงเรียนราชกุมารี (พ.ศ. 2436)
จัดการเรียนการสอนเฉพาะพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 โรงเรียนสำหรับสามัญชนที่เป็นเอกชน
โรงเลี้ยงเด็กในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ (พ.ศ. 2433-2454)
ให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กในครอบครัวยากจนให้ได้รับการศึกษา
โรงเรียนเสาวภาจัดตั้งโดยสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (พระนามเดิม
พระองค์เจ้าเสาวภา) (พ.ศ. 2435-2440) ตั้งอยู่ที่เกาะสีชัง
จากนั้นย้ายมากรุงเทพฯถึงจนปัจจุบัน
โรงเรียนสตรีบำรุงวิชาเป็นโรงเรียนสตรีของรัฐแห่งแรก (พ.ศ. 2444-2449
ซึ่งเปิดรับผู้เรียนชาย-หญิง หลังจากพ.ศ.2445
ให้มีการรวมโรงเรียนสตรีบำรุงวิชาเข้ากับโรงเรียนเสาวภา
และคัดผู้เรียนชายออกไปและจัดให้เป็นโรงเรียนสตรีอย่างเดียว) โรงเรียนบำรุงวิชา
(พ.ศ. 2442-2468) และโรงเรียนที่รัฐจัดขึ้นอีก ได้แก่ โรงเรียนสตรีวิทยา (พ.ศ.
2442-2449 เดิมเป็นโรงเรียนของเอกชน
ต่อมายกให้กระทรวงธรรมการบริหารจัดการจนถึงปัจจุบัน) โรงเรียนศึกษานารี (พ.ศ.
2444-ปัจจุบัน) โรงเรียนเหล่านี้จัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนที่มีฐานะชั้นต่างกัน
บางโรงดำเนินกิจการการเรียนการสอนได้ช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องปิดตัวเองหรือยุบรวมกับโรงเรียนอื่น
เช่น โรงเรียนสุนันทาลัยและราชกุมารี โรงเลี้ยงเด็ก โรงเรียนสตรีบำรุงวิชา เป็นต้น
ในกลุ่มโรงเรียนนี้มีโรงเรียนที่น่าสนใจในด้านการสร้างสัมฤทธิผลทางการศึกษา คือ
โรงเรียนสุนันทาลัย
แต่แรกกระทรวงธรรมการจัดตั้งขึ้นเพื่อทดลองการจัดตั้งโรงเรียนสตรีและคาดหวังให้เป็นสถานศึกษา
ผลิตการฝึกหัดครูสตรีด้วย
รวมถึงอยู่ภายใต้ราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
โดยอาศัยงบประมาณจากรัฐ
โรงเรียนจึงสามารถจ้างครูใหญ่สตรีชาวอังกฤษและครูสตรีไทยประจำที่โรงเรียน
ที่นี่เป็นโรงเรียนประจำรับเด็กอายุ 7-12 ปี เรียนหลักสูตร 6 ปี สอนทั้งวิชาสามัญ
ภาษาไทย เลข ภูมิศาสตร์ พงศาวดาร และวิชาแม่บ้านการเรือน วาดเขียน เย็บปักถักร้อย
ขณะเดียวกัน สอนธรรมเนียมการเข้าสมาคมแบบตะวันตก มารยาทโต๊ะอาหารแบบตะวันตก
การทำอาหารแบบตะวันตก รวมถึงการทำงานบ้านอย่างซักรีดเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้านเรือน
และปลูกต้นไม้ ที่สำคัญคือ ส่งเสริมการแสดงออกด้วยการทำกิจกรรม
ตลอดจนให้มีการสอนภาษาอังกฤษหลังจากผู้เรียนรู้ภาษาไทยดีแล้ว
หากวัดมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนสตรีแห่งนี้
นับได้ว่าทัดเทียมโรงเรียนนักเรียนชายของรัฐเวลานั้น เมื่อพิจารณาจากผลสอบไล่
โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ
ผู้เรียนหลายคนทำข้อสอบได้ดีจนถึงขั้นชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ มีประวัติว่าในพ.ศ.
2441 นักเรียนสตรี 3 คน สามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง ได้แก่ หม่อมเจ้ามัณฑารพ
กมลาศน์ ซึ่งได้ลำดับที่หนึ่ง หม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล และนางสาวชื้น
ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
ทว่ากฎเกณฑ์รัฐบาลในเวลานั้นยังไม่ให้สตรีศึกษาต่อต่างประเทศ
ทั้งสามท่านได้รับพระราชทานเงินรางวัลจากรัชกาลที่ 5 เป็นเงิน 1,600 บาท และ 80 บาท
ตามลำดับ แตกต่างจากกรณี โรงเลี้ยงเด็ก ที่รับเด็กกำพร้าและยากจน
เข้ามาอบรมเลี้ยงดู แต่วัยเยาว์จนเรียนหนังสือ
วางเป้าหมายการศึกษาให้สามารถประกอบอาชีพได้
ผู้เรียนซึ่งถนัดวิชาสามัญก็ศึกษาหนังสือได้อย่างแตกฉานเพื่อเป็นเสมียน
ถ้ารักการช่างก็ให้ฝึกหัดอาชีพ หลักสูตรเบื้องต้นที่ผู้เรียนต้องศึกษา
นอกจากวิชาสามัญเบื้องต้น อ่านเขียนหนังสือและทำเลขคณิตได้
เด็กเหล่านี้ต้องฝึกหัดกิริยามารยาทให้เข้าสังคมผู้ดีได้ ควบคู่กับการฝึกทำงานบ้าน
อย่างทำกับข้าว เย็บปักถักร้อย ว่ายน้ำ ขึ้นต้นไม้ ปลูกพืชผักต้นไม้ และเลี้ยงสัตว์
ทำให้เข้าใจได้ว่า
ผู้เรียนจบบางคนอาจประกอบอาชีพทำงานบ้านหรือคนรับใช้ในบ้านผู้มีฐานะดีได้นั่นเอง
โรงเลี้ยงเด็กมีรูปแบบจัดการเรียนการสอนคล้ายกับโรงเรียนบำรุงวิชา
ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวังสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ
ผู้ก่อตั้งและครูผู้สอนเคยรับการศึกษาจากวังนี้ เป้าหมายการสอนของโรงเรียน
นอกจากวิชาสามัญ อ่านเขียนภาษาไทยแล้ว ยังสอนกิริยามารยาทชาววัง
เพื่อให้สามารถรับราชการใกล้ชิดเจ้านายชั้นสูง ความแตกต่างจากโรงเลี้ยงเด็ก คือ
มีการเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับผู้เรียน ชาย-หญิง เดือนละ 4 บาท
แต่บำรุงวิชาต้องปิดตัวลงเนื่องจากครูผู้สอนชราภาพ ขณะที่โรงเรียนเสาวภา
เริ่มแรกถือกำเนิดที่เกาะสีชัง มีเป้าหมายให้การศึกษาชาวบ้านเกาะนี้
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องย้ายมาที่กรุงเทพฯ
ปรับรูปแบบเป็นโรงเรียนสตรีสำหรับสามัญชน
สอนอ่านเขียนและวิชาแม่บ้านการเรือนเป็นสำคัญ
เมื่อมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และมัธยมศึกษา 1
โดยสอนวิชาสามัญและวิชาช่าง เย็บปักถักร้อยและทำอาหาร เก็บค่าเล่าเรียนปีละ 10 บาท
ความหลากหลายรูปแบบและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนดังกล่าว รวมถึงโรงเรียนมิชชันนารี
กุลสตรีวังหลัง (พ.ศ. 2417-ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็นวัฒนาวิทยาลัย พ.ศ. 2463)
แต่เรื่องที่สร้างความกังวลใจให้กับชนชั้นนำเวลานั้น
โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การสอนในโรงเรียนมิชชันนารี
ซึ่งมุ่งเน้นการสอนหลักการศาสนาคริสต์ ฝึกหัดกิริยามารยาทที่เป็นตะวันตก
ในส่วนหลักวิชาแม่บ้านการเรือนยังเป็นวิถีการดำเนินชีวิตตามแบบครอบครัวตะวันตก-อเมริกัน
(ต่างจากแบบชาวอังกฤษ) ทำให้มายาททางสังคมเป็นการแสดงออกด้วยความเชื่อมั่น
แตกต่างจากแบบแผนกุลสตรีไทยที่ต้องประพฤติตนเรียบร้อย รักษากิริยา นอบน้อม
และไม่แสดงออก
ลักษณะความประพฤติแบบนักเรียนมิชชันนารีกำลังมีอิทธิพลในหมู่ครอบครัวชนชั้นกลางสยาม
สมัยที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลังอยู่ในการบริหารของแหม่มโคล์
นักเรียนต้องเสียค่าเล่าเรียนรวมทั้งค่าอาหารเป็นเงินเดือนละ 5 บาท
ซึ่งทำความไม่พอใจให้บรรดาผู้ปกครองมาก เพราะตั้งแต่เริ่มแรก
โรงเรียนนี้ไม่เก็บค่าเล่าเรียนเลย
จนกระทั่งฐานะของโรงเรียนทรุดโทรมลงจนเกือบจะเลี้ยงตัวเองไม่ได้
แต่ต่อมาเมื่อได้เห็นคุณค่าของการศึกษา นักเรียนโรงเรียนนี้ก็มีเพิ่มจำนวนมากขึ้น
รวมทั้งพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอองค์ต่าง ๆ
ผู้ทรงเห็นคุณค่าของการศึกษาสตรีว่ามีความจำเป็นเท่ากับการศึกษาของบุรุษ
ก็ได้เข้ามาเรียนปะปนกับเด็กสามัญทั้งหลาย นักเรียนเหล่านี้ กิน นอน
เรียนและเล่นร่วมกันอย่างอิสระ
โดยไม่มีใครได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าหรือน้อยกว่ากันทำให้กุลสตรีไทยในขณะนั้น
ได้รับการอบรมตามแบบประชาธิปไตยจากแหม่มโคล์โดยทางอ้อม
ความแตกต่างและยังไม่ลงรอยของรูปแบบโรงเรียนสตรีสยามที่รัฐพึงประสงค์
ทำให้ชนชั้นนำขณะนั้นเห็นถึงความจำเป็นต้องจัดตั้งโรงเรียนสตรีแห่งใหม่
ที่มีหลักสูตร แผนการสอนผสมผสานระหว่างวิทยาการตะวันตก
ขนบประเพณีแบบราชสำนักและระบบศีลธรรมจรรยาตามหลักการพุทธศาสนา
และเชื่อมโยงวิชาแม่บ้านการเรือนแบบตะวันออก
เพื่อเป้าหมายการใช้ชีวิตแม่บ้านแม่เรือน ในปีพ.ศ. 2447 โรงเรียนราชินี
จึงถือกำเนิดขึ้น
หลังจากมีข้อถกเถียงถึงรูปแบบที่เหมาะสมของโรงเรียนสตรีที่จะทำหน้าที่เป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนสตรีของรัฐแห่งอื่นหลังจากนี้
โรงเรียนราชินีภายใต้พระราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระบรมราชินีนาถ และด้วยความร่วมมือจาก เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
เสนาบดีกระทรวงธรรมการขณะนั้น จึงสามารถดำเนินการได้
ทำการเรียนการสอนทั้งวิชาสามัญและวิชาแม่บ้านการเรือนที่ตกลงเลือกใช้วิชาการเรือนแบบตะวันออกจากประเทศญี่ปุ่น
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯ โปรดให้ข้าหลวงส่วนพระองค์ 4 คน
เดินทางไปศึกษาวิชานี้ที่ญี่ปุ่นถึง 4 ปี และทรงจ้างครูสตรีชาวญี่ปุ่น 3 คน
ทำหน้าที่ครูใหญ่และครูผู้สอนวิชาการเรือน ส่วนวิชาสามัญ
โปรดฯให้ข้าราชการกระทรวงธรรมการเป็นผู้อำนวยการและครูผู้สอน
โรงเรียนราชินีมีทั้งระบบการเรียนแบบอยู่ประจำและแบบเช้าไปเย็นกลับ
ผู้เรียนประกอบด้วยนักเรียนในพระองค์จากครอบครัวข้าราชการในวัง
บุตรีข้าราชการพลเรือนทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมือง และบุตรีข้าราชการทหาร ตำรวจ
การเรียนการสอนช่วงแรกเน้นวิชาการช่างฝีมือ เย็บปักถักร้อย ทอผ้า และงานประดิษฐ์
ตลอดจนงานในครัวเรือน หลังจากครูสตรีญี่ปุ่นเดินทางกลับประเทศ
โรงเรียนได้ปรับหลักสูตรเพิ่มวิชาสามัญมากขึ้น
รวมถึงให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาต่างประเทศ
ถือว่าวิชาสามัญและวิชาการเรือนต้องสมดุลกันเพื่อการสร้างกุลสตรีที่อยู่ในขนบประเพณีจารีตและมีความรู้สมัยใหม่
โรงเรียนราชินีจึงเป็นตัวแบบส่งผ่านลักษณะสำคัญให้กับโรงเรียนสตรีและโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดหลายแห่ง
อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2457
ได้แยกหลักสูตรการช่างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรือน ออกเป็นแผนกอาชีวะ
ประกอบด้วย วิชาดอกไม้ประดิษฐ์ ทั้งดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง ทอผ้า และเย็บจักร
โดยคาดหวังให้ผู้จบการศึกษาแผนกนี้สามารถประกอบอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม
ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่มักออกไปเป็นครูการเรือนในโรงเรียนสตรีแห่งอื่น
ทั้งนี้โรงเรียนสตรีที่ได้รับอิทธิพลจากหลักสูตรการเรียนการสอนจากโรงเรียนราชินี
อย่างเช่น โรงเรียนสตรีวิทยา (ราวพ.ศ. 2443) โรงเรียน ศึกษานารี (พ.ศ. 2444)
และโรงเรียนเบญจมราชาลัย (พ.ศ. 2456) ต่อมาโรงเรียนเบญจมราชาลัย ยังเปิดสอน
หลักสูตรวิชาชีพการฝึกหัดครูสตรีขึ้นอีกด้วย สิ่งที่น่าสนใจในช่วงทศวรรษแรก
การดำเนินงานของโรงเรียนสตรีเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันไม่มากนักในด้านเป้าหมายและเนื้อหาหลักสูตรทั้งโรงเรียนเอกชนอย่าง
กุลสตรีวังหลังและโรงเรียนราชินี หรือโรงเรียนรัฐบาลอย่างสตรีวิทยา
หรือเบญจมราชาลัย ยกเว้นเฉพาะวิชาพิเศษ ภาษาต่างประเทศ
อย่างวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
ซึ่งดำเนินการสอนแต่ในโรงเรียนกุลสตรีวังหลังหรือวัฒนาวิทยาลัยเท่านั้น
ช่วงแรกโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกกำพร้าและเด็กยากจน
แต่ด้วยความนิยมเรียนภาษาอังกฤษในหมู่ครอบครัวชนชั้นสูงและคหบดี
เพื่อให้บุตรธิดามีคุณสมบัติในการ “ต้อนรับแขก” หรือเข้าสมาคมกับชาวต่างประเทศได้
จึงพาบุตรหญิงเข้ามารับการศึกษา มีผลทำให้โรงเรียนราชินีซึ่งอยู่ในพระราชินูปถัมภ์
ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย
ขยายการเรียนภาษาอังกฤษให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น
ทำให้กลุ่มผู้เรียนสตรีจากครอบครัวชนชั้นสูงและคหบดีฐานะดีจึงนิยมส่งบุตรหญิงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสตรีทั้งสองแห่ง
ส่วนครอบครัวชนชั้นกลางและข้าราชการทั่วไปมักนิยมให้บุตรหลานหญิงเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีของรัฐที่มีค่าเล่าเรียนถูกเพียงเดือนละ
1 บาท เท่านั้น
ส่วนการจัดการศึกษาสตรีระดับสามัญชนยังไม่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปีพ.ศ.
2456 เมื่อเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
(พ.ศ. 2454-2459)
ในฐานะผู้บริหารการศึกษาคนแรกที่เห็นความสำคัญของการดำเนินนโยบายและจัดการศึกษาสตรีทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกับการศึกษาของผู้ชาย
ท่านมีความเห็นว่า การศึกษาตามหัวเมืองที่ใช้ วัด
เป็นโรงเรียนสำหรับการเรียนการสอนเบื้องต้นระดับมูลสามัญเป็นการปิดกั้นการศึกษาของสตรี
โรงเรียนควรแยกออกจากวัด และมีครูสอนเป็นฆราวาส แนวคิดนี้ได้รับการต่อยอดจาก
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดินทร ณ อยุธยา)
เสนาบดีกระทรวงธรรมการยุคต่อมา (พ.ศ. 2459-2469)
ผู้สามารถผลักดันให้การจัดการศึกษาสตรีบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการศึกษาชาติ
2462
เริ่มจากการศึกษาเบื้องต้นด้วยการจัดตั้งโรงเรียนสหศึกษาและแจากตารางการเปรียบเทียบนี้
พบว่าหากนักเรียนหญิงที่จบชั้นมัธยมบริบูรณ์ ต้องการศึกษาวิชาชีพ ก็มีให้เลือกเพียง
2 สาย คือ การพยาบาลและการฝึกหัดครู
ในขณะที่นักเรียนชายที่จบชั้นมัธยมปลายสามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่เป็นการศึกษาวิชาชีพชั้นสูง
อย่าง การแพทย์ แผนที่ ป่าไม้ เกษตรกรรม ตำรวจภูธรและโลหะกิจ เป็นต้น
การวางข้อกำหนดการศึกษาสตรีของรัฐบาลดังกล่าวนี้
เป็นการตีกรอบให้เกิดข้อจำกัดแก่สตรีในการประกอบวิชาชีพอย่างยิ่ง
ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อหาหลักสูตรรายวิชา
ชั่วโมงเรียนที่กำหนดไว้ในชั้นการศึกษาประถม-มัธยม ก็ยังมีสาระความรู้ที่ต่างระดับ
นั่นคือ การเรียนรู้ของนักเรียนหญิงน้อยกว่า และไม่เท่ากับของนักเรียนชายอีกด้วย
กล่าวคือ ชั้นประถมศึกษา นอกจากโรงเรียนในเขตพระนคร กรุงเทพฯ
ซึ่งจัดการศึกษารากฐานที่มีโรงเรียนราชินีเป็นตัวแบบแล้ว โรงเรียนนอกเขตพระนคร
และตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464
ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น ถือเป็นโรงเรียนประถมประชาบาลในลักษณะโรงเรียนสหศึกษานั้น
กำหนดให้เรียนวิชาหลักเป็นวิชาสามัญเหมือนกัน คือ เลข ภาษาไทยและจรรยา
เพียงแต่วิชาภาษาไทยสำหรับนักเรียนหญิงใช้ชั่วโมงเรียนน้อยกว่า
ส่วนวิชาจรรยาของสตรี ครูผู้สอนต้องคัดเลือกเฉพาะหัวข้อที่เหมาะสมกับสตรี
ขณะที่วิชาสามัญ นักเรียนชายกำหนดให้ต้องเรียนวิชาชีพด้านกสิกรรม
งานช่างและการพาณิชย์ นักเรียนหญิงให้เรียนวิชาเย็บปักถักร้อย
สำหรับวิชาลูกเสือนั้น นักเรียนหญิงสามารถเรียนร่วมกันได้
ยกเว้นเด็กหญิงให้ตัดภาคปฏิบัติออกไป ชั้นมัธยมศึกษา
เนื่องจากมีการแยกโรงเรียนมัธยมชายออกจากโรงเรียนสตรี
การกำหนดหลักสูตรและรายวิชาสามัญบางวิชาก็แตกต่างกันอย่างอย่างมีนัยยะสำคัญ
เป็นต้นว่า วิชาภาษาไทย สำหรับโรงเรียนสตรี
ไม่ต้องใช้เวลาเรียนและเนื้อหาวิชาเท่ากันกับโรงเรียนชาย
อันเป็นแบบเดียวกับหลักสูตรประถมศึกษาเพราะถือว่า
สตรีไม่จำเป็นต้องใช้เวลาอ่านหนังสือประเภทวรรณคดีหรือกวีนิพนธ์
หรือแม้แต่การอ่านหนังสือเพิ่มเติมจากห้องสมุด
ก็ไม่ใช้เวลามากเท่ากับการเรียนของผู้ชาย ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ
การเรียนวิชาภาษาต่างประเทศ
สำหรับนักเรียนชายพวกเขาสามารถเลือกเรียนวิชาภาษาต่างประเทศ ได้ถึง 3 ภาษา คือ
อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในขณะที่โรงเรียนสตรีไม่มีการบังคับเรียนภาษาต่างประเทศ
หากต้องการเรียน นักเรียนสตรีให้เรียนวิชาภาษาอังกฤษได้เพียงภาษาเดียว วิชาเลข
การสอนเลขในโรงเรียนสตรี
ได้ตัดทอนหลักสูตรบางเรื่องที่นักเรียนชายในโรงเรียนผู้ชายเรียน อย่าง
การเงินระหว่างประเทศ และวิชาหน้าไม้
ซึ่งเป็นคณิตศาสตร์คำนวนสำหรับการค้าขายที่สตรีไม่จำเป็นต้องรู้
เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกัน กับการประกอบอาชีพของสตรี (ครูและพยาบาล)
และการทำหน้าที่แม่บ้านแม่เรือน วิชาจรรยา สำหรับสตรีแล้ว
เรื่องที่กำหนดให้เรียนวิชานี้
ต้องเป็นไปตามค่านิยมสังคมที่กำหนดคุณสมบัติความเป็นสตรีดีงาม ถือว่าวิชานี้
“จะเป็นการกล่อมเกลาสันดาน อัธยาศัยใจคอ ฝึกหัดให้สมควรแก่การ (ที่สตรี)
จะมีหน้าที่เป็นแม่เรือน และเป็นมารดาต่อไป” ดังต่อไปนี้หรืออีกนัยหนึ่ง
เนื้อหาวิชานี้ต้องสอนหลักการเป็นเมียและแม่ที่ดี เนื้อหาวิชาจึงควรครอบคลุมเรื่อง
การครองตน ครองคน และครองสมบัติ หลักการครองตน ครองคน
และครองสมบัติในวิชาจรรยาของนักเรียนหญิง ถือเป็นหัวใจของการปลูกฝังทัศนคติ
และประสบการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม
ให้เป็นเป้าหมายการดำเนินชีวิตในอนาคตของสตรีผู้เรียน นั่นคือ
การมีบทบาทหน้าที่แม่บ้าน-แม่เรือน สาระสำคัญของหลักการครองตน ครองคนและครองสมบัติ
ดังต่อไปนี้ การครองตน คือ รักษาตัวให้ดีบริสุทธิ์
ตั้งตัวให้ได้...โดยต้องฝึกสอนด้วยตัวอย่าง...ให้เกิดธรรมะที่จะรู้รักษาตัว สงวนตัว
รู้ภายในที่ควร รู้กล้าในที่ควร ใจคอหนักแน่นอดทน ไม่เป็นผู้ที่ตื่นเต้นง่าย หูเบา
ปากไว ใจง่าย” ครองคน คือ ให้รู้จักผูกใจคนให้รักใคร่ ผูกใจสามี บิดามารดา
และผู้ใหญ่ด้วยการปฏิบัติ ผูกใจเครือญาติและมิตรด้วยการช่วยเหลือเผื่อแผ่
ผูกในบุตรหลานและบริวารด้วยการฟูมฟักเลี้ยงดูโดยเที่ยงธรรม
ประกอบด้วยความโอบอ้อมอารี เมตตากรุณา ครองสมบัติ คือ ทำให้ชอบ ใช้ให้ควร
และเก็บให้อยู่...และการเก็บนั้น ถ้าควรจะให้เกิดดอกผลงอกเงยได้ เช่น
ฝากแบงก์ใหญ่ๆที่เป็นหลักฐาน (หมายถึงมีความมั่นคง) แล้วได้ดอกเบี้ย
ก็ดีกว่าเก็บนิ่งๆ”
ส่วนการเรียนวิชาสามัญในระดับมัธยมของนักเรียนสตรีตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาก็เป็นแนวทางเดียวกับวิชาจรรยาในหลักสูตรสามัญศึกษา
นั่นคือ ให้เรียนวิชาการเรือนในลักษณะการเรียนการสอนฝึกหัดทักษะปฏิบัติความรู้
ที่ทำให้สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งแม่บ้านและแม่เรือน ตลอดจนการเลี้ยงดูบุตร เช่น
เรียนการจัดตกแต่งรักษาบ้านเรือนให้สะอาด เรียบร้อย งดงาม
เรียนรู้สุขลักษณะการจัดบ้าน ตลอดจนการจัดการและการใช้เครื่องใช้ในครัวเรือน
เรียนรู้หลักการพยาบาลและการรักผาพยาบาล การเลี้ยงดูและรักษาเด็ก
หัวข้อเหล่านี้ควรต้องอิงอยู่กับหลักการของสังคมขณะนั้น
ครูผู้สอนต้องชี้แจงให้เห็นธรรมะอันเป็นหลักจริยธรรมหรือจรรยาที่พึงปฏิบัติต่อสามี
พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่
ถือว่าเป็นหน้าที่ภริยาหรือบุตรหลานที่ต้องตอบแทนบุญคุณในยามพวกเขาเจ็บไข้
อธิบายให้ผู้เรียนรู้จักหลักสุขวิทยาในเรื่องยาและการให้ยาเพื่อรักษา
รู้จักการป้องกันโรคติดต่อด้วย วิชาวิสามัญของสตรี
ยังต้องเรียนวิชาทำกับข้าวหรือปรุงอาหารและรู้จักการเก็บรักษาและถนอมอาหาร
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเรียนการสอนวิชา “ทำสวน”
ในหลักสูตรวิชาวิสามัญของผู้เรียนมัธยมปลายของสตรีอีกด้วย
น่าสนใจว่าวิชาทำสวนกำหนดจุดมุ่งหมายว่า “ให้รู้ประโยชน์และความงามของธรรมชาติ”
“รู้จักนำธรรมชาติมาตกแต่งบ้านเรือน
เพื่อสร้างความสำราญใจและยังเป็นการประหยัดทรัพย์ การทำสวนยังแบ่งออกเป็น
ประเภทสวนไม้ดอก สวนไม้ผล และพืชผัก สาระการสอนให้รู้จักลักษณะของตันไม้
วิธีการปลูก การบำรุงรักษาและการออกแบบจัดสวน ตลอดไปจนถึงวิธีการประสมดิน
การเรียนการสอนตามแบบการศึกษาสมัยใหม่
ครูผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเรียนรู้จากของจริงและธรรมชาติมากที่สุด
และไม่ควรเรียนแบบ “ท่องจำ” ดังเช่นการศึกษาแบบจารีต
ดังนั้นการสอนนอกห้องเรียนจึงเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ตาม
การศึกษาต่อของสตรีหลังจบชั้นมัธยมศึกษา 6 ปี รัฐบาลและสังคมในทศวรรษ 2460-2470
กำหนดให้สตรีสามารถศึกษาต่อสายวิชาชีพ ได้เพียง 2 สาย คือ การฝึกหัดครูและการพยาบาล
เท่านั้น
การศึกษาของสตรีเริ่มขยายตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 และอีก 1 ปีต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2460
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นอธิการบดีกรมมหาวิทยาลัย
ในกระทรวงธรรมการพระองค์แรก
ได้ทรงตั้งคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มุ่งสอนวิชาเตรียมแพทย์เป็นส่วนใหญ่และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อ พ.ศ. 2470
นับเป็นก้าวแรกที่ผู้หญิงและผู้ชายได้รับความเสมอภาคทางการศึกษาสตรีได้รับโอกาสเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468 : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น