ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กำเนิดภาพยนตร์ : สื่อบันเทิงและบันทึกสยามสมัยรัชกาลที่ 7

ภาพยนตร์เป็นสื่อวัฒนธรรมที่ให้ความบันเทิงในช่วงเวลาพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนทุกสังคม ภาพยนตร์เป็นประดิษฐ์กรรมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังจาก Edison และ Lumiere สามารถฉายภาพเคลื่อนไหวปรากฎแก่สาธารณชน ภาพยนตร์จึงกลายเป็นสื่อบันเทิงสำคัญในสังคมสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่นานนัก หลังจากนั้นภาพยนตร์ก็แพร่กระจายทั่วโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย ต่างรับเอาวัฒนธรรมความบันเทิงในการชมภาพยนตร์จากการนำเข้าของประเทศเจ้าอาณานิคม อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวตะวันตกที่นำภาพยนตร์เข้ามาฉายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2440 นายเอสจี มาร์คอฟสกี้ (S.G. Marchovsky) น่าจะเป็นชาวรัสเซีย ลงประกาศในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ แจ้งกำหนดการแสดงที่เรียกว่า “การละเล่น ซีนีมาโตแครฟของชาวปารีส” ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ (มาลากุล) ข้างประตูสามยอดเป็นเวลา 3 วัน “ซีนีมาโตแครฟ” น่าจะเป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นมีบริษัทภาพยนตร์อเมริกันและนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ทยอยนำภาพยนตร์เข้ามาฉาย อย่าง ผู้แทนบริษัท โทมัส อัลวา เอดิสัน นำภาพยนตร์ของบริษัทเอดิสันเข้ามาฉาย เก็บค่าชมในกรุงเทพฯ และคนสำคัญเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ นายท.วาตานาเบ นักธุรกิจภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งกิจการโรงฉายหนังเป็นการถาวรแห่งแรก การฉายหนังของวาตานาเบอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนเริ่มเรียก“ซีนีมาโตแครฟ” ว่าหนังญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการฉายเงาบนจอ แบบเดียวกับการเชิดตัวหนัง โรงหนังแห่งนี้ยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราแผ่นดิน คนทั่วไปนิยมเรียก โรงหนังญี่ปุ่นหลวง ในปี 2449 บริษัทปาเต๊ะ เอ๊กเชนจ์ จากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในการปกครองของอังกฤษ ได้เปิดสาขาในกรุงเทพฯ เพื่อจัดจำหน่ายหนังของบริษัท ต่อมาในพ.ศ. 2450 พระองค์เจ้าปรีดาลัยได้เปิดบริษัทรูปพยนต์กรุงเทพ และเปิดกิจการโรงหนังวังเจ้าปรีดา ซึ่งมีโรงหนังในเครือ 3-4 แห่งในกรุงเทพฯ บริษัทนี้ทำหน้าที่จัดหาภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาฉาย ธุรกิจฉายภาพยนตร์ของโรงหนังวังเจ้าปรีดาน่าจะประสบความสำเร็จ ทำให้อีก 3 ปีต่อมา มีผู้เปิดโรงหนังพัฒนาการขึ้น และในปีพ.ศ. 2456 ได้จัดตั้งบริษัทพยนต์พัฒนาการ เพื่อขยายกิจการโรงหนังเพิ่มเติม และฉายหนังแข่งขันกับบริษัทรูปพยนต์กรุงเทพ ซึ่งหาทางออกด้วยการพิมพ์แผ่นปลิวเล่าเรื่อง ประชาสัมพันธ์จูงใจผู้ต้องการชม การแข่งขันนี้ทำให้ปี พ.ศ. 2459 โรงหนังญี่ปุ่นสู้ไม่ได้ต้องเลิกกิจการไป คงเหลือแต่บริษัทรูปพยนต์และพยนต์พัฒนาการ ซึ่งเอกชนเจ้าของโรงหนังและนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศแข่งขันกันเอง จนนำไปสู่การรวมกิจการ เปิดเป็นบริษัทใหญ่ ชื่อ “สยามภาพยนตร์บริษัท” และเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนต์และจัดฉายภาพยนตร์ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2462 ในปีเดียวกันนั้นเอง “บริษัทภาพยนตร์นาครเขษมทุนจำกัด” ก็เปิดกิจการประเภทเดียวกันขึ้นมาแข่งขัน โดยมีจุดเด่นที่อาคารโรงภาพยนตร์สร้างด้วยคอนกรีตแห่งแรกของกรุงเทพฯ ทว่า กิจการดำเนินไปได้เพียงปีเดียวก็ประสบปัญหาการขาดทุนจึงเลิกกิจการไป อีกสามปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้จัดตั้งบริษัท “ภาพยนตร์สยามนิรามัย” ทำธุรกิจประเภทเดียวกับสยามภาพยนตร์บริษัทซึ่งเป็นการแข่งขันกันในปีพ.ศ. 2465 สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งสองบริษัทต่างใช้สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นกลไกการประชาสัมพันธ์ เล่าเรื่องย่อ และโฆษณาดึงดูดให้สาธารณชนต้องการชม ภาพยนตร์ที่ฉายในโรงหนังของตนเองสยามภาพยนตร์บริษัทซื้อพื้นที่หน้าสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน สยามราษฎร์ ตีพิมพ์เรื่องย่อของหนังที่จะเข้าโปรแกรมมาฉายล่วงหน้า ในขณะที่ “ภาพยนตร์สยามนิรามัย” มีสมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวสารกรมรถไฟ ที่เป็นผลจากการดำเนินงาน สถิติ รวมถึงหน้าที่ศูนย์ผลิตภาพยนตร์ของชาติ ได้จัดทำ “นิตยสารภาพยนตร์สยาม” อันเป็นนิตยสารสำหรับภาพยนตร์ ฉบับแรกของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2465 ดังนั้น ช่วงเวลาตั้งแต่พ.ศ. 2440-2465 ภาพยนตร์ที่นำเข้ามาฉายให้สาธารณชนชมล้วนเป็นภาพยนตร์ที่สร้างและผลิตในต่างประเทศทั้งสิ้น และเริ่มฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2448 ในโรงหนังญี่ปุ่นเป็นต้นมา ธุรกิจภาพยนตร์จึงเป็นสินค้านำเข้าจากตะวันตก ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงญี่ปุ่นในเอเชีย อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สร้างและผลิตขึ้นในเมืองไทย ในกรุงเทพฯเป็นเรื่องแรก คือ “นางสาวสุวรรณ” และ “สุวรรณสยาม” แม้ว่าผู้สร้างจะยังไม่ใช่คนไทย หากแต่เป็นผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์จากบริษัทยูนิเวอร์แซล ฮอลลีวู้ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ มิสเตอร์ เฮนรี่ อเล็กซานเดอร์ แมกเร (Henry Alexander Macrae) เขาและคณะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯในนาม อเมริกัน โมชั่นพิคเจอร์จำกัด (American Motion Picture Co.) และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทำ โดยมีกรมวังเป็นผู้ประสานงานร่วมกับกรมมหรสพหลวงให้ความร่วมมือเรื่องนักแสดง กรมรถไฟหลวงในด้านการขนส่งและถ่ายทำ “นางสาวสุวรรณ” เป็นภาพยนตร์เงียบ ความยาว 8 ม้วน ชื่อภาษาอังกฤษ คือ “Suvarna of Siam” โดยมิสเตอร์ แมกเร ชาวอเมริกัน เป็นผู้กำกับ เขียนบท และอำนวยการสร้าง เขายังได้มอบสำเนาฟิล์มให้ไทย 2 ชุด ชุดหนึ่งทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกชุดหนึ่งให้ไว้กับกรมรถไฟหลวงพร้อมลิขสิทธิ์ และได้ออกฉายพร้อมกันที่โรงหนังในเครือบริษัทสยามนิรามัย และสยามภาพยนตร์บริษัท นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำในประเทศสยาม ที่ใช้นักแสดงชาวสยามทั้งหมด ทราบชื่อนักแสดงนำเพียง 3 คน คือ นางสาวเสงี่ยม นาวิกเสถียร (นางเอก) ขุนรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฏ) และหลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ) เริ่มถ่ายทำเมื่อต้นเดือนมีนาคมและสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ในปี พ.ศ. 2466 ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาด้วย โดยใช้ชื่อว่า "Kingdom of Heaven" เข้ามาฉายในประเทศไทยได้เพียง 3 วัน ฟิล์มต้นฉบับก็สูญหายส่งผลให้ในปัจจุบันไม่เหลือสิ่งใดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากสื่อประชาสัมพันธ์และปัจจุบันคงเหลือแต่ภาพนิ่งรักษาไว้ที่ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เนื้อเรื่อง “นางสาวสุวรรณ” เริ่มต้นด้วยตัวเอกของเรื่องชื่อ “กล้าหาญ” เป็นข้าราชการประจำหอพระสมุดพระนคร วันหนึ่งเขาและบิดาแจวเรือออกจากคลองบางหลวงทวนแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึงหน้าวัดราชาธิวาสพบกับนางเอกของเรื่อง “นางสาวสุวรรณ” ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกน้ำ เขาได้ช่วยชีวิตเธอไว้ได้และหลงรักเธอ ขณะเดียวกันนางสาวสุวรรณก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้ว คือ “ก่องแก้ว” ทำให้ความรักของนางสาวสุวรรณกับกล้าหาญต้องถูกขัดขวางจากบิดาของหญิงสาว ทว่าในที่สุดทั้งคู่สามารถลงเอยในชีวิตคู่ได้ สิ่งที่น่าสนใจจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ มีฉากอันเป็นธรรมเนียมราชประเพณีในการเข้าเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร สนามกอล์ฟหัวหิน พิธีแรกนาขวัญ เพลิงไหม้พระนคร พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ไปจนถึงฉากทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา “นางสาวสุวรรณ” อาจไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นเพียงสื่อบันเทิง หากยังเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ “เมืองสยาม” ที่งดงามมีความเจริญสมัยใหม่ ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามทั้งแม่น้ำ บ้านเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นตะวันออก ซึ่งอาจตอบสนองความโหยหาจากผู้ชมในโลกตะวันตก เมื่อมิสเตอร์ เฮนรี่ แมกเร นำหนังอีก 1 ชุด กลับประเทศสหรัฐอเมริกาและฉายที่นั่น ก่อนเดินทางมาเมืองไทย แมกเรไม่ได้มีแผนถ่ายทำหนัง เขาได้รับข้อมูลเพียงว่า สยามยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ไม่มีไฟฟ้าใช้ สภาพยังเป็นป่า เขาจึงตั้งใจเพียงเข้ามาถ่ายทำสารคดี เมื่อเข้ามาแล้วพบว่ากรุงเทพฯมีความเจริญพอควร มีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ที่สำคัญคือ มีโรงภาพยนตร์จำนวนมาก จึงตัดสินใจถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว โดยเดินทางออกนอกกรุงเทพฯไปยังหัวหิน สถานที่ตากอากาศยอดนิยมในขณะนั้น และขึ้นเหนือไปจังหวัดเชียงใหม่ด้วย การสร้างและฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองไทยด้วย มิสเตอร์โรเบิร์ต เคอร์ (Robert Kerr) ผู้ช่วยผู้กำกับเรื่อง “นางสาวสุวรรณ”เดินทางกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ในพ.ศ. 2471 ในสมัยรัชกาลที่ 7 เพื่อกำกับภาพยนตร์ของตนเองเรื่อง “เดอะไวต์โรส” ( The White Rose) ทว่าไม่พบข้อมูลอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด ความสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ” หนังไทยในมุมมองของผู้กำกับและผู้เขียนบทชาวอเมริกันกลับสร้างแรงบันดาลใจให้มีกลุ่มคนสนใจอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เริ่มต้นสร้างหนังด้วยตนเอง ในอีก 4 ปีต่อมา พ.ศ. 2470 คณะพี่น้องวสุวัต หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ซึ่งเคยรับราชการเป็นหัวหน้าช่างถ่ายหนังของกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวสาร กรมรถไฟหลวง ร่วมกันจัดตั้งบริษัท “กรุงเทพฯภาพยนตร์บริษัท” ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยเรื่องที่สอง “โชคสองชั้น” ซึ่งออกฉายสู่สาธารณชนครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร คืนวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2470 ในเวลาไล่เลี่ยกับบริษัทคู่แข่งอีกแห่งหนึ่งประมาณ 2 เดือน “บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย” สร้างหนัง เรื่อง “ไม่คิดเลย” ออกฉายสู่สาธารณชนครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร คืนวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2470 แม้ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องออกฉายต่างช่วงเวลา ผู้กำกับและผู้สร้างต่างคณะกัน ทว่าโครงเรื่องกลับคล้ายคลึงกัน และยังเน้นที่แก่นเรื่องของความรัก ประวัติภาพยนตร์ไทยบันทึกความสำเร็จของหนังทั้งสองเรื่อง ต่างได้รับการต้อนรับจากผู้ชมชาวไทยอย่างมาก เป็นผลให้ทั้งสองบริษัทสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อมา และยังมีบริษัทสร้างภาพยนตร์รายใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีพ.ศ. 2470 ยังเป็นนวัตกรรมจากหนังเงียบไปสู่ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม (Sound on Film) ของหนังพูดได้ในวงการฮอลลีวู้ดในสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้นำภาพยนตร์ต่างประเทศประเภทนี้เข้ามา ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมชาวไทย ทำให้วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทยได้พัฒนา “นักพากษ์” ขึ้นทำหน้าที่สื่อสารตัวบทในหนังออกมาเป็นเสียง ทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ ระหว่างนี้ทั้งวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดในสหรัฐอเมริกาซึ่งเข้ามาแทนที่ภาพยนตร์จากฝรั่งเศสที่ซบเซาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 “สยามภาพยนตร์บริษัท” เป็นบริษัทผู้ผูกขาดการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับความสนพระราชหฤทัยในฐานะนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น รัชกาลที่ 7 ทรงสร้างพระราชนิยมให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารสนใจการถ่ายภาพยนตร์ขนาด 16 มม. ด้วยเช่นกัน ทรงออกพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 ขึ้นเป็นกรอบให้นักถ่ายภาพยนตร์มีความรับผิดชอบ และกำกับดูแลตนเองมากขึ้น รวมถึงการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคและรักษาศีลธรรมอันดีงามมากขึ้น นอกจากนี้ยังทรงเล็งเห็นบทบาทของภาพยนตร์ในฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างดี โดยเฉพาะในโอกาสการฉลองพระนคร 150 ปี ในพ.ศ. 2475 จึงโปรดเกล้าฯให้บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากภาพยนตร์ทรงถ่ายส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 7 ยังทรงติดตามรอบรู้ความเป็นไปในกิจการภาพยนตร์โดยตลอด กระบวนการสร้างภาพยนตร์จึงเป็นอุตสาหกรรมครบวงจร นอกเหนือจากโรงหนังก็มีสื่อประชาสัมพันธ์โฆษณา ตั้งแต่ป้ายโฆษณา ใบปิด หนังแผ่น แจ้งความ ที่สำคัญคือ วารสารหรือนิตยสาร ภาพยนตร์ นักพากย์หนังและดาราภาพยนตร์ ตามมาเป็นลำดับ กฎหมายควบคุมตรวจตราเนื้อหาภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นก่อนนำออกฉายรวมถึงในปี พ.ศ. 2475 บริษัท “ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง” ของตระกูลวสุวัตก็ได้สร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มขึ้นเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน ในเรื่อง “หลงทาง” ออกฉายเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 เพื่อร่วมฉลองพระนคร 150 ปี คณะพี่น้องสกุลวสุวัต ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์เสียง บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระราชพิธีสมโภชพระนคร หนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” รายวัน ฉบับวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2475 ได้รายงานข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง ใต้พาดหัวว่า “โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 1,000 บาท แก่ เจ้าของภาพยนตร์เสียงศรีกรุงแบบวสุวัต” ดังความละเอียด ต่อไปนี้ “...เนื่องด้วย พระราชพิธีมหกรรมสมโภชพระนครครบ 150 ปี ครั้งนี้เป็นงานมโหฬารสำคัญในเกียรติประวัติแห่งชาติไทย นายมานิต วสุวัต และหลวงกลการเจนจิต เจ้าของเครื่องถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจึงได้จัดการถ่ายภาพยนตร์เสียงในงานครั้งนี้ไว้ในพระอุปการะของเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกสำหรับชาวไทยสืบไป...” จึงอาจกล่าวได้ว่าสาเหตุที่รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานเงินแก่คณะเสียงศรีกรุงครั้งนั้น เพื่อให้ถ่ายทำภาพยนตร์เสียงอันเป็นการเก็บรักษาเหตุการณ์พระราชพิธีสมโภชพระนคร 150 ปี เพื่อการสืบทอดสำหรับชาวสยามในเวลาต่อมา นับจากปี พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา กิจการสร้างภาพยนตร์บันเทิงเพื่อการค้าของสยามได้สถาปนาตัวเองขึ้นแล้ว จำนวนผู้สร้างภาพยนตร์และบุคลากรด้านต่าง ๆในกิจการนี้ได้คลี่คลายขยายตัวตามลำดับ กระบวนการสร้างภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ครึ่งหลังทศวรรษ 2460-2470 ถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างครบวงจร นอกเกนือจากโรงหนัง ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แล้วยังเป็นสื่อประชาสัมพันธ์โฆษณา ใบปิด หนังแผ่น แจ้งความต่าง ๆ ที่สำคัญคือ นิตยสารภาพยนตร์ ซึ่งบรรจุเนื้อเรื่องย่อ ประวัติดารา นักแสดง อุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสสร้างอาชีพสมัยใหม่ให้กับประชากรชาย-หญิง โดยเฉพาะสตรีในอาชีพที่โดดเด่นในวงการภาพยนตร์ คือ ดารา นักร้องและนักแสดง นั่นเอง
บรรณานุกรม กำจร หลุยยะพงศ์. (2547) ใน หนังอุษาคเนย์ : การศึกษาภาพยนตร์แนววัฒนธรรมศึกษา กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. โดม สุขวงศ์ และสวัสดิ์ สุวรรณปัทม์. (2545) ร้อยปีหนังไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊ค หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2466. หนังสือพิมพ์ ศรีกรุงรายวัน ฉบับวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2475. http://th.m.wikipedia.org. นางสาวสุวรรณและเรื่องย่อและเบื้องหลัง.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั