ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จากราชอาณาจักรฮังการี ของรัชกาลที่ 7

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จากราชอาณาจักรฮังการี ประกอบด้วยดวงตรา จี้ พร้อมสายสะพายสีเขียวเดินทองสีขาวและสีแดง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2477 ขณะเสด็จเยือนประเทศในทวีปยุโรป ประวัติ รูปลักษณะ และนัยสำคัญ 1. ประวัติความเป็นมา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูล เดอะ ฮังกาเรียน ครอส ออฟ เมริต “The Cross of Merit Order of the Kingdom of Hungary” เครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ครอส ออฟ เมริต” ในภาษาอังกฤษ หรือในภาษาฝรั่งเศส “ครัว เดอ เมริต” (Le Croix de Merite) ชั้นสูงสุด สายสะพายพื้นสีเขียวเดินทองสีขาวและสีแดง ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยฯพณฯนายพลเรือโทมิคลอส ฮอร์ธีย์ (Miklos Horthy) (Vice Admiral ) “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” หรืออาจใช้ว่า “ผู้รักษาพระนคร” ( The Honthy Era ค.ศ.1920-1944) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ถูกสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) ซึ่งขณะนั้นประเทศฮังการีถือว่าเป็นราชอาณาจักร (Kingdom) แม้ว่าจะยังไม่ได้ตกลงว่าจะเชิญเจ้านายพระองค์ใดเป็นพระมหากษัตริย์จากนั้นฮอร์ธีย์ มิคลอส ก็ได้ออกคำสั่งให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเดอะ ฮังกาเรียน เมริตโดยวิวัฒนาการรูปแบบมาจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเดอะ ฮังกาเรียน ครอส ออฟ เมริต เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1935 ฯพณฯนายพลเรือโท มิคลอส ฮอร์ธีย์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้รักษาราชการแผ่นดินของราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งก่อตั้งขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) เป็นระยะเวลาร่วม 25 ปี ซึ่งราชอาณาจักรนี้ใช้ระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม โดยมีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากพรรคหลายพรรค และมีรัฐบาลดำเนินการปกครอง หากแต่มีการจำกัดเสรีภาพของพลเมือง การปกครองเช่นนี้ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูรากฐานเชิงชาตินิยมคริสเตียนของสังคม และจำกัดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์จากโซเวียตรัสเซียเพื่อให้ได้ดินแดนที่ฮังการีสูญเสียไป เมื่อมีการทำสนธิสัญญาตริอานง (Treaty of Trianon) เมื่อมิถุนายน ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) ในการที่จะได้มาซึ่งดินแดนเหล่านั้นคืน ฮังการีจึงเข้าร่วมเป็นกลุ่มพันธมิตร (Axis Powers) ที่มีเยอรมนีและอิตาลีเป็นแกนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้ร่วมในการรบต้านกองทัพของสหภาพโซเวียตไว้ทางทิศตะวันตก (The Eastern Front) ตั้งแต่ 1941-1945 (พ.ศ. 2484-2487) จนกระทั่ง ฮังการีถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมันถือเป็นจุดจบของราชอาณาจักรฮังการี 2. รูปแบบ จากข้อมูลของดร.พานดูลา อัตติลา (Professor Dr. Pandula Attila) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชอาณาจักรฮังการี กล่าวว่า เดอะ ครอส ออฟ เมริต ไฮเอสท์ คลาส ออฟ ออร์เดอร์ (the cross of merit highest class of order) อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะมอบแก่บุคคลต่างๆเป็นการเฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “the first class of the Hungary cross of merit) ดังนั้นจึงมีบุคคลสำคัญเพียง18คนที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ระหว่างค.ศ.1922-1934 โดยเป็นชาวฮังกาเรียน 3 คน ชาวต่างประเทศ15คน รูปแบบของตรากางเขน (cross of order) รูปแบบของตรากางเขน (Cross of order) มีแกนเคลือบขวางเข้าหาแกนกลาง ขอบของกางเขนทำเป็นสีเขียว ตรงส่วนยอดของเหรียญตรงกลางทำเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรฮังการี คือ เนินเขาสีเขียวสามลูกล้อมด้วยทุ่งหญ้าสีแดง กลางยอดเนินนั้นมีมงกุฎสีทองวางรับด้วยใบพฤกษพรรณ และยังมีกางเขนเงินยื่นออกมาทั้งสองด้านด้วย ภายในรูปเหรียญทรงกลมตรงกลางนั้นทำเป็นดอกไม้เคลือบสีเขียว(green enamel laurel wreath) สยายช่อจากบนแผ่ลงล่าง ที่เชิงของเหรียญอีกด้านหนึ่งนั้นมีข้อความจารึกภาษาละตินว่า “ SI DEUS/ PRO NOBIS/ QUIS CONTRA NOS/ 1922” แปลว่า “หากพระเจ้าทรงเข้าข้างเรา แล้วใครจะต่อต้านเรา 1922” สำหรับในกรณีของดวงตราดารา(The Order star)นั้น มีสัญลักษณ์รัศมี 8 ประกายประดับ นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีลำแสงทอออกจากก้านของกางเขนสีทองด้านละ 5 ประกอบด้วยสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (Order ribbon) และดุม (rosetle) เป็นผ้าสีเขียว ขลิบสีแดงและขาว ซึ่งสีแดง ขาวและเขียวเป็นสีประจำชาติของฮังการี 3.นัยสำคัญ การทูลเกล้าฯถวายฯเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากราชอาณาจักรฮังการีแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแม้จะไม่ปรากฏในทะเบียนฐานันดรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ปัจจุบันสำรับหนึ่งอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งยังปรากฏหลักฐานการทูลเกล้าฯถวายในหนังสือจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2476-2477 ซึ่งพลโทพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. สิทธิ สุทัศน์) บันทึกไว้ว่า “ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินยังพระราชวังกรุงบูดาเปสต์บนเขาสูงฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำดานูบ นครเก่า...ท่านผู้รักษาราชการแผ่นดินถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศฮังการี เรียกว่า “ครัวเดอเมริต”(Le Croix de Merite) ชั้นสูงสุด สายสะพายพื้นเขียวเดินทองสีขาวและสีแดง แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลา 13 นาฬิกาหย่อนๆ เสด็จกลับถึงที่ประทับ ...เวลา 16.00 นาฬิกา ท่านผู้รักษาราชการแผ่นดินแต่งเครื่องยศนายพลเรือกับมาดามฮอร์ธีย์มาเฝ้าทูลละอองฯ...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกชั้นสูงสุดแด่ท่านผู้รักษาราชการ” (หมายถึงพระราชทานแด่ ท่านนายพล ฮอร์ธีย์) จากจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปดังกล่าวยังบันทึกไว้ด้วยว่ามีการแลกเปลี่ยนเครื่องราชอิสริยาภรณ์กันทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายสยามได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ครัว เดอ เมริตชั้นสูงสุด ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ตามลำดับฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งในกระบวนเสด็จฯ ได้แก่ 1. พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 1 (สายสะพายสีเขียวล้วน) 2. นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 1 3. พระยาสุพรรณสมบัติ อัครราชทูต ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 1 4. นายพลเรือตรี หม่อมเจ้าถาวรมงคล ไชยันต์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 2 5. นายพันตรี หม่อมเจ้าประสบศรี จิระประวัติ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 3 6. หม่อมราชวงศ์สมัคสมาน กฤดากร กรมราชเลขานุการ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 3 7. หลวงสิริสมบัติ กระทรวงวัง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 3 8. หลวงดำรงดุริตเรข กรมราชเลขานุการ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 3 9. หลวงภัทรวาทิ เลขานุการสถานทูต เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัว เดอ เมริต ชั้นที่ 3 ฝ่ายข้าราชการประเทศฮังการี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตอบแทนแต่บัญชีต้นฉบับขาดหายไป แสดงว่าในขณะนั้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ของราชอาณาจักรฮังการีมีอยู่ 4 ชั้น คือ ชั้นสูงสุด ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ผู้รักษาราชการของราชอาณาจักรฮังการีเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรงในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนฮังการี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ มีใช้อยู่เพียง 23 ปี ในขณะที่ประเทศฮังการีเป็นราชอาณาจักรที่ตั้งขึ้นใหม่ในช่วงเวลาหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงเกือบตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงเวลาที่ยุโรปมีความระส่ำระสายทางการเมือง การปกครองอันเนื่องมาจากแนวคิดหรือลัทธิที่ขัดแย้งกันส่งผลให้ราชอาณาจักรฮังการีที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นอยู่ในภาวะที่อาจไม่มั่นใจในความมั่นคงในความเป็นเอกราชของตนเองเท่าใดนัก ฮังการีจึงอยู่ในฐานะที่ต้องการมีมิตรประเทศ จึงแสดงความยินดีมากในการที่จะรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ถวายพระเกียรติยศอย่างยิ่ง การทูลเกล้าฯถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงสุดของตระกูลนี้นับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการนั้น อีกทั้งการแลกเปลี่ยนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระหว่างกันยังเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างหนึ่ง ต่อมาในค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) มีการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฮังกาเรียน ออร์เดอร์ ออฟเมริต (The Hungarian Order of Merit) ขึ้น ซึ่งในขณะนั้นฮังการีได้กลายเป็นสาธารณรัฐแล้ว แต่ได้ยกเลิกไปในค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492) และต่อมาเมื่อค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้มีการสถาปนาอีกครั้งถือเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับสูงเป็นลำดับที่สอง ตั้งแต่ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) เป็นต้นมา เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์สตีเวนส์ แห่งฮังการี (The Order of Saint Stephen of Hungary) ถือเป็นตระกูลลำดับสูงสุดของสาธารณรัฐฮังการี ฮังการีเป็นประเทศในยุโรปประเทศหนึ่ง ซึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนในครั้งนั้น คือระหว่างวันที่ 7-18 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ประเทศนี้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี แต่เมื่อถึงเวลาที่รัชกาลที่ 7 เสด็จเยือนได้สู้รบและประกาศตนเป็นอิสระแล้ว แต่ได้ตกลงกันว่าจะปกครองโดยระบบกษัตริย์ตามพระธรรมนูญตามเดิม และระหว่างนั้นได้ตั้งนายพลเรือฮอร์ธีย์ (Horthy) ผู้กู้ชาติสำเร็จเป็นผู้รักษาราชการแผ่นดินไปพลางก่อน การเสด็จฯครั้งนี้จึงเป็นทั้งการสานพระราชไมตรีที่มีมา และการริเริ่มแผ้วถางทางสู่การมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไป แม้ว่าจะเป็นพระราชประสงค์ที่จะเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ก็ตาม แต่ทางฮังการีได้แสดงความยินดีอย่างยิ่ง และได้จัดการรับเสด็จฯอย่างสมพระเกียรติ ทั้งยังได้เสนอจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ฝ่ายสยามตอบไปว่าจะรับผิดชอบเอง แต่ก็ยินดีที่จะรับไมตรีของฮังการีเป็นบางส่วน ในการเตรียมการเสด็จฯ ฝ่ายสยามแจ้งไปว่าสนพระราชหฤทัยที่จะได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศที่สวยงามและขนบประเพณีและเครื่องแต่งกายประจำถิ่นของชาวบ้านของฮังการี ประเทศซึ่งขึ้นชื่อทางด้านกสิกรรม และหัตถกรรม โดยแจ้งด้วยว่า สมเด็จพระบรมราชินีสนพระทัยมากที่จะทอดพระเนตรวิธีการปักผ้าของแท้ดั้งเดิมของฮังการี ส่วนฝ่ายฮังการีทราบเองด้วยว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดดอกไม้มาก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดดนตรีเป็นพิเศษและสนพระราชหฤทัยในกิจการด้านวิทยาศาสตร์มากด้วย ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชอัธยาศัยที่เรียบง่าย แต่ทรงมีความละเอียดละออ ดังนั้น เมื่อเสด็จฯจริง หลังจากพิธีการ เช่น งานเลี้ยงใหญ่รับเสด็จฯที่วัง การแลกเปลี่ยนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับ ครัว เดอ เมริท (Croix de Merite) ชั้นสูงสุด และการทอดพระเนตรโบราณสถานและอาคารรัฐสภาที่สง่างามโดดเด่นที่ริมแม่น้ำแล้ว ทางฮังการีได้จัดรายการให้ได้ทรงพระสำราญเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงการได้ทรงเทนนิสที่สวนในวังแห่งหนึ่ง วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2477 ทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสเขตชนบท และทอดพระเนตรการดนตรี การเต้นรำ พิธีแต่งงาน การแห่พืชผล อีกทั้งโรงเรียนการฝีมือและการช่างต่างๆของชาวบ้าน ในวันรุ่งขึ้น เสด็จฯ ยังโรงงานของบริษัทสแตนดาร์ด เวิ้กส์ ทำเครื่องไฟฟ้าและวิทยุ ทรงลองเสวยอาหารที่โรงอาหารของคนงาน ช่วงบ่ายเสด็จฯยังพิพิธภัณฑ์กสิกรรมซึ่งแสดงเครื่องมือและธัญญาหารต่างๆ อย่างเป็นสมัยใหม่มาก วันที่ 14 สิงหาคม เสด็จฯ ทอดพระเนตรกองผสมพันธุ์สัตว์ของรัฐบาลมี ฝูงม้า ฝูงสุกร และโคนม วันที่ 18 สิงหาคม เสด็จฯโรงงานทำเข็มเย็บผ้า เป็นต้น สรุปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลครัว เดอ เมริต ที่ประเทศฮังการีทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 7 มีอายุใช้งานอยู่เพียงประมาณ 23 ปี และมอบแก่บุคคลเพียง 18 ท่าน สำรับหนึ่งอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงนับได้ว่าเป็นสิ่งของที่หายากในโลก แล ะเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ซึ่งเอื้อต่อการนำเสนอเรื่องราวทั้งของการเจริญพระราชไมตรีของสยามในสมัยรัชกาลที่ 7 และประวัติความเป็นมาของประเทศฮังการี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...