ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

“นิตยสารสตรี”สมัยรัชกาลที่ 7

สังคมและวัฒนธรรมของไทยในอดีตนั้น ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความคิดทางการเมืองการปกครองมิได้เปิดโอกาสให้สตรีเข้ามามีบทบาทได้เท่าเทียมบุรุษ ดังนั้นสตรีไทยส่วนใหญ่จึงไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและบทบาทโดยตรง หากแต่สตรีนั้นมีบทบาทหน้าที่เป็นแม่บ้านการเรือน จนหยั่งรากลึกกลายเป็นวัฒนธรรมที่พึงปฏิบัติของกุลสตรีไทย สถานภาพและบทบาทของสตรีไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลังจากการเข้ามาของชาติตะวันตก กล่าวคือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้บรรดาหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกเข้าไปสอนหนังสือให้แก่พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวัง ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงอนุญาตให้พวกเขาเปิดโรงเรียนสอนสตรีสามัญทั้งในพระนครและนอกพระนครได้ อีกทั้งพระองค์ยังทรงปฏิรูปกฎหมาย ทำให้มีการตีพิมพ์นิตยสารสตรีมากถึง 18 ฉบับ ในสมัยรัชกาลที่ 7 “สตรีไทย”นิตยสารสตรีฉบับหนึ่งที่ดำเนินงานตามหลักการเริ่มแรกได้อย่างต่อเนื่องช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 7 สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมของกฎหมายการสมรสเวลานั้น แม้ว่าข้อมูลกฎหมายเป็นเรื่องค่อนข้างยากต่อการทำความเข้าใจ เพราะมีความซับซ้อนและยังแตกประเด็นไปตามกฎหมายอื่น ๆ นิตยสารสตรีไทยจึงพยายามรณณรงค์ให้มีการระดมทุนเพื่อหาตัวคนร้ายที่ก่อคดีมาตกรรมหญิงสาว เพื่อนำขึ้นสู่ศาลด้วยในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2469 นิตยสารสตรีไทยตีพิมพ์ภาพสตรีถูกฆาตกรรม เจ้าของร่างเปลือยที่ถูกจับยัดใส่กระสอบและโยนทิ้งทางน้ำในกรุงเทพฯสายหนึ่ง และยังเสนอให้เงินรางวัลนำจับฆาตกรที่ฆ่าหญิงสาวถึง 100 บาท (เมื่อประมาณ 97 ปีที่แล้ว -ผู้เขียน) ด้วยอัตราที่สูงกว่าเงินเดือนข้าราชการทั้งเดือนและให้รางวัล 20 บาท แก่ผู้ที่ชี้ตัวว่าเธอคือใคร บรรณาธิการสตรีไทย แจ้งว่า เธอรู้สึกสะเทือนใจจากการฆ่าผู้หญิงอย่างเหี้ยมโหดและยังเรียกร้องผู้อ่านที่ได้เบาะแสช่วยติดต่อมาที่นิตยสารสตรีไทย ก่อนแจ้งความตำรวจ ประเด็นดังกล่าวนี้วิเคราะห์ได้ว่า หากไม่มีแรงกดดันจากภายนอก คดีความนี้คงยุติได้โดยง่าย สตรีไทยยังใช้ภาพการ์ตูนเป็นปกล้อเลียนเสียดสี นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่า สตรีไทยมีโฆษณาไม่มากนักและยังไม่มีคอลัมน์นิยายเรื่องยาวมากนัก และที่จริงก็ไม่มีนิยายพงศาวดารจีนที่เป็นเรื่องยาวลงตีพิมพ์อย่างศรีกรุง ซึ่งอาจเป็นคอลัมน์ที่ดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามในแง่นี้ สตรีไทยยังสามารถออกเผยแพร่ได้ในระยะยาวย่อมสะท้อนให้เห็นความสำเร็จของนิตยสาร เมื่อเปรียบเทียบกับนิตยสารฉบับอื่นที่มีอายุสั้น แสดงให้เห็นว่า นิตยสารสตรีไทยต้องมีสมาชิกของผู้อ่านที่เป็นขาประจำและมีพันธสัญญาอย่างเหนียวแน่น “สุภาพนารี” นิตยสารตัวแทนชนชั้นกลางอย่างชัดเจนด้วยการประกาศจุดยืนว่าไม่เพียงแต่เพียงการเมืองเท่านั้น แต่ต้องการสะท้อนปัญหาการประกอบอาชีพของสตรีโดยเฉพาะอาชีพครู ที่ยังไม่มีสถานภาพที่มั่นคง ขาดสวัสดิการ ตลอดจนไม่ได้รับการยกย่องให้เท่าเทียมกับครูผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีครูสตรีในโรงเรียนรัฐบาล จึงเสนอให้มีระบบการเลื่อนวิทยะฐานะครู ด้วยระบบการสอบเพื่อให้ได้รับเงินเดือนและบำนาญเช่นเดียวกับข้าราชการ “นารีเขษม” นิตยสารสตรีมีหม่อมหลวงวนิดา ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นบรรณาธิการ เปิดตัวด้วยบทบรรณาธิการยืนยันว่า มีหลักการที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าให้สตรี ทว่านารีเขษมอาจไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมืองนัก เพราะให้เหตุผลว่า “การเมืองไม่ใช่กงการอะไรของสตรี” “สยามยุพดี” เป็นนิตยสารสำหรับสตรีชนชั้นกลางและสามัญชนที่สนใจสถานภาพของสตรีและปัญหาของผู้หญิงในยุคสมัย มีสาระสำคัญในการเสนอข่าวผู้หญิงเพื่อป้องกันเกียรติยศผู้หญิง มีคอลัมน์ช่วยเหลือสตรีทางด้านอาชีพ ทำหน้าที่ปากเสียงแทนสตรี และต้องการให้ผู้หญิงมีบทบาททั้งการเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่มีความรู้และความคิดอ่านทางการเมือง ผ่านคอลัมน์อาหารและการเรือน และคอลัมน์สตรีกับการเมือง “หญิงสยาม” เป็นนิตยสารที่มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้เพื่อ “ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน ตามแบบขนบเดิม ที่กำหนดหน้าที่ผู้หญิงให้เป็นภรรยาที่ดี คือเป็นแม่ศรีเรือน” เป็นแม่ที่ดีของลูกและสามารถควบคุมดูแลบริหารจัดการบ่าวไพร่ให้ปฏิบัติงานในครัวเรือน ขณะเดียวกันก็มีบทความประเภทความรู้รอบตัว ข่าวในประเทศและต่างประเทศและคอลัมน์ “สตรีกับกฎหมาย” ทำให้สาระของนิตยสารเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของสตรีชนชั้นกลางที่ต้องดูแลครัวเรือนและรับรู้ข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมืองรวมถึงสังคมโลกด้วย “นารีนาถ”เป็นนิตยสารที่เจ้าของและบรรณาธิการเป็นสตรี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชินี มีความตั้งใจที่จะทำงานที่ตนเองชอบและมีความถนัด ประกอบกับการตั้งข้อสังเกตว่า ในทศวรรษ 2470 นั้น นิตยสารสตรีส่วนใหญ่มีอายุสั้นทั้ง ๆที่มีนักเขียนสตรีเพิ่มจำนวนมากขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2460 ทำให้นางสาวสุมน กาญจนาคม ด้วยการสนับสนุนจากมารดา คุณหญิงแหวน ศรีราชอักษร เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ให้ นารีนาถฉบับปฐมฤกษ์ได้รับเกียรติจาก หม่อมเจ้าพิจิตราภา เทวกุล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีได้เขียนคำนำให้ เนื่องจากทรงยินดีที่นางสาวสุมนจะได้มีงานทำตามความถนัดและพึงพอใจ นารีนาถจึงมีนักเขียนประจำที่เป็นเจ้านายและเชื้อพระวงศ์สตรี ได้แก่ หม่อมเจ้าเครือมาศวิมล ทองแถม หม่อมราชวงศ์สดสี สุทัศนพงศ์พิสุทธิ์ หม่อมหลวงบุปผา กุญชร (นิมมานเหมินทร์) และศิษย์เก่าโรงเรียนราชินี หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณรัชนี (นามปากกา พ.พ.พ.) แปลเรื่องสั้น ขโมยความลับในสงคราม ตีพิมพ์เป็นตอนๆในนารีนาถ ที่สำคัญอีกอย่างคือ เจ้าของนิตยสารนารีนาถยังมีนโยบายที่ต้องการให้สตรีริเริ่มและมีอิสระในการตัดสินใจดำเนินการ แม้ว่าขั้นตอนการทำงานบางอย่างเปิดให้ผู้ชายมากกว่า ด้วยเหตุที่นารีนาถ ดำเนินการโดยคณะสตรีชั้นสูงที่ได้รับการศึกษาดี และตระหนักในขนบแบบแผนการจัดทำหนังสือที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ “วรรณคดีสโมสร” กำหนดไว้ จึงให้ความสำคัญกับการสืบทอดงานเขียนขนบโบราณควบคู่กับงานเขียนแนวใหม่จากอิทธิพลตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “พระนลคำหลวง” ตอนธรรมะ 5 ประการ สำหรับภรรยา ในฉบับวาระคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ ถือเป็นการถวายความยกย่องในพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบรรณาธิการ ที่ต้องการ “ยกระดับการประพันธ์ของสตรีให้สูงขึ้นและกระตุ้นให้สตรีเกิดความสนใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานประพันธ์” โดยที่งานประพันธ์นั้น ต้องเป็นผลงานของผู้มีฐานะ การศึกษา มีชื่อเสียงดีงาม และมีตวามประพฤติเรียบร้อย” นารีนาถจึงตีพิมพ์บทร้อยกรอง ที่แต่งเป็นกวีนิพนธ์ชั้นสูง เนื่องในวโรกาศเฉลิมพระเกียรติอย่างสม่ำเสมอ งานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ จึงมีภาษาประณีต บรรจบด้วยศัพท์ที่คัดสรร เช่นเดียวกันกับงานร้อยแก้วประเภท นิยาย เรื่องสั้น ที่ใช้ภาษาสนทนาโต้ตอบสุภาพ ทำให้นารีนาถมีภาพลักษณ์ของความเป็นนิตยสารชนชั้นสูงที่โดดเด่นเป็นพิเศษ แนวคิดที่ปรากฏในนิตยสารนารีนาถ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรม นิยายและเรื่องสั้นนั้นไม่แตกต่างจากนิตยสารสตรีส่วนใหญ่ในห้วงเวลานั้นที่ตระหนักถึงปัญหาที่สตรีได้รับ เช่น สถานะสตรีที่ด้อยกว่าบุรุษ แม้แต่หญิงผู้ดีมีการศึกษาเรียนจบออกมาก็ไม่มีงานรองรับ และยังคงมีเป้าหมายในชีวิต เพื่อการออกเรือนหรือการแต่งงาน เป็นแม่บ้านใช้ชีวิตไร้สาระ ไม่ดูแลลูก ไม่สนใจปัญหาสังคมและเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่สังคมภายนอกมีปัญหาเด็กกำพร้าและหญิงโสเภณี นอกจากนี้สตรียังไม่มีความสามารถแม้แต่การขับรถยนต์ นารีนาถจึงมีความคาดหวังเช่นเดียวกันกับนิตยสารหัวอื่น ๆ อีกหลายฉบับที่ใฝ่ฝันให้สตรีมีสถานภาพที่ดีขึ้น ทว่านารีนาถก็ไม่ได้แสดงออกถึงวิธีการที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ในขณะที่ “เนตร์นารี”เป็นนิตยสารสตรีรายปักษ์ที่ออกรายเดือน เดือนละ 2 เล่ม นายพร้อม สำเร็จประสงค์ เป็นบรรณาธิการ นางสาว ซิ้วเฮียง ธันวาธรและนางสาวพะยอม ธันวาธร ซึ่งเป็นน้องสาวและบุตรีของนาย ต. เง็กชวน เป็นเจ้าของและผู้จัดการ โดยนาย ต.เง็กชวนนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จเจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านบางลำพูเป็นผู้อุปถัมภ์ นาย ต. เง็กชวนยังนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศและจัดฉายหนังยังต่างจังหวัด รวมทั้งทำธุรกิจสื่อนิตยสารภาพยนตร์มาก่อนได้ใช้ประสบการณ์ ทุนและเครือข่ายนักเขียน ในการทำนิตยสารเนตร์นารี ซึ่งเป็นนิตยสารสตรีอีกฉบับหนึ่ง "เนตร์นารี" มีเนื้อหาประกอบด้วยกวีนิพนธ์ บทร้อยกรอง และคอลัมน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เช่น วิธีการแต่งกาย งานประดิษฐ์ดอกไม้ การปรุงอาหาร คอลัมน์สุขภาพ นิยายเรื่องสั้นจบในเล่ม และบทสัมภาษณ์สตรี แหล่งข้อมูลของนิตยสารฉบับนี้ เล่าว่า นักเขียนประจำส่วนใหญ่เคยร่วมงานเขียนหนังสือนิตยสารภาพยนตร์มาก่อน มีทักษะการเขียนเรื่องย่อภาพยนตร์และนิยายเรื่องสั้น แม้ว่านักเขียนของเนตร์นารีส่วนมากจะเป็นผู้ชาย เช่น เจ้าเงาะ สุจริตชน ไตรทวาร สาวสวรรค์ ศศิรังสี ฉะอ้อน นาครทรรพ ม.เลื่อน จ.กรลักษณ์ สร้อยสน ศุกรวรรณ แม่เล็ก ชดช้อย และพราหมณี เป็นต้น มีความเป็นไปได้ว่า นักแปลหญิง “แร่ม” หรือ คุณหญิงแร่ม พรหมโลบล ซึ่งเคยอยู่ในคณะผู้แปลและเรียบเรียงบทภาพยนตร์ต่างประเทศในนิตยสารภาพยนตร์ของ นาย ต. เง็กชวน ก็น่าจะเป็นนักเขียนให้นิตยสารเนตร์นารี ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สถานะของเนตร์นารี นับเป็นนิตยสารสตรีเชิงพาณิชย์ตอบสนองผู้อ่านสตรีส่วนใหญ่ที่ยังคงพอใจกับการเรียนรู้ประสบการณ์การเป็นแม่บ้านแม่เรือน และด้วยภาษาที่สื่อสารให้สตรีที่พออ่านออกเขียนได้ กล่าวโดยภาพรวมแล้ว นิตยสารสตรีเกือบทุกเล่ม ต่างให้ความสำคัญกับข้อถกเถียงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เป็นต้นว่า การศึกษาในวิชาที่ผู้หญิงควร และไม่ควรเรียน เช่นเดียวกับอาชีพอะไรที่ผู้หญิงควรทำและไม่ควรทำ หรือการยอมรับวัฒนธรรมตะวันตกในระดับใดจึงจะเหมาะสม การวางตัวของผู้หญิงให้ถูกต้องตามกาละ เทศะ การปฏิบัติตนต่อเพศตรงข้ามให้เหมาะสม ปัญหาด้านการใช้ชีวิตคู่และความรุนแรงในครอบครัว สำคัญที่สุด คือเรื่องประเด็นในการปฏิรูปกฎหมายให้ชายมีภรรยาเพียงคนเดียว อันนำไปสู่ปัญหาว่าสตรีควรเรียนกฎหมายหรือไม่ และยังเรียกร้องให้รัฐกำหนดนโยบายยกระดับสถานภาพสตรี และการประกอบอาชีพสตรีอย่างเป็นอิสระ จากการศึกษานิตยสารสตรีหลายฉบับพบว่า ระดับความเข้มข้นของการขับเคลื่อนปัญหาให้นำไปสู่การปฏิบัติมีเพียงนิตยสารสตรีไทย เพียงฉบับเดียวที่พยายามเชื่อมโยงปัญหาสตรีเข้ากับการเมือง ขณะที่นิตยสารสตรีส่วนใหญ่ให้พื้นที่นิยาย เรื่องสั้นและบันเทิงคดีมากกว่าเรื่องอื่น ๆ อย่างไรก็ตามนิยายในนิตยสารสตรีเหล่านี้ก็มีเค้าโครงเรื่องและเป้าหมายที่แตกต่างกัน การปฏิรูปกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพสตรีไทย ย้อนหลังไปประมาณสองร้อยกว่าปี เมื่อครั้งแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งพระราชจักรีวงศ์ พระองค์ทรงเห็นว่ากฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาไม่เหมาะแก่กาลสมัยแล้ว สาเหตุมาจากคดีระหว่างอำแดงป้อมกับสามี โดยนายบุญศรีซึ่งเป็นช่างตีเหล็กได้ทูลเกล้าถวายฎีกาว่า อำแดงป้อมภรรยาของตนมีชู้กับนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องขอหย่า คณะลูกขุนได้ตัดสินว่าเป็นกรณีหญิงหย่าชายให้หย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงมีพระราชวินิจฉัยให้แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น โดยทรงตั้งคณะราชบัณฑิตย์ขึ้นชำระคดี นายบุญศรีกล่าวหาว่าคณะลูกขุนตัดสินคดีไม่เป็นธรรม เนื่องจากผัวใหม่ของอำแดงป้อมเป็นข้าราชสำนัก แต่เมื่อสอบสวนแล้วไม่พบว่ามีความผิดเพราะเอกตำราหลวงยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น รัชกาลที่ 1 จึงทรงเห็นว่าตำรากฎหมายที่หลงเหลือมาจากตอนเสียกรุงศรีอยุธยามีความล้าสมัย ดังนั้นจึงควรมีการแก้ไขปรับปรุงตำราเก่า และโปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะกรรมการชำระแก้ไขกฎหมายแล้วประทับตราสามดวงให้เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง อันมีตราราชสีห์เป็นเครื่องหมายแทนกระทรวงมหาดไทย ตราคชสีห์เป็นเครื่องหมายแทนกระทรวงกลาโหม และตราบัวแก้วเป็นเครื่องหมายแทนกระทรวงต่างประเทศ แล้วให้ใช้กฎหมายตราสามดวงเป็นต้นฉบับในการตัดสินคดีความ ซึ่งในกฎหมายตราสามดวงนี้ประกอบด้วย กฎหมายลักษณะผัวเมียที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดูอันมีลักษณะถือ”ระบบชายเป็นใหญ่” หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy) ซึ่งเป็นระบบสังคมอาศัยที่อำนาจของบิดาเป็นรากฐานของอำนาจเพศชายโดยรวมซึ่งแฝงเร้นอยู่กับการเมือง เศรษฐกิจและกฎหมายครอบคลุมไปถึงบทบาท พฤติกรรมและวิธีคิดของผู้คนในสังคมทั้งเพศหญิงและเพศชาย กฎหมายผัวเมียฉบับดังกล่าวถือว่า ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว สามารถมีภรรยาได้หลายคน และมีสิทธิเฆี่ยนตีภรรยาได้เพื่อสั่งสอน หากภรรยาคนใดดุด่าสามีต้องเอาข้าวตอกดอกไม้มาขอขมาสามีอีกด้วย เนื่องจากกฎหมายลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้หญิงมีความลำบากมาก เพราะบิดามารดาสามารถนำลูกสาวไปขายให้เป็นทาสหรือจำนำได้และสามีก็สามารถนำภรรยาไปขายหรือจำนำได้เช่นกัน ในกฎหมายลักษณะกู้หนี้ถ้าหากพ่อแม่นำลูกมาขายให้เป็นทาสแล้วเจ้าหนี้รักใคร่ได้เสียเป็นภรรยาต้องลดดอกเบี้ยให้ คือ ลูกสาวใช้ได้แค่ขัดดอก แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้ทาสเป็นสามีต้องปลดหนี้ให้ทั้งต้นและดอก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดกรณีอำแดงเหมือนได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาว่าถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับนายภู อำแดงเหมือนไม่ยอมนั่งตากยุงตากน้ำค้างที่นอกชานบ้านตลอดทั้งคืน จนรุ่งเช้ากลับบ้านก็ถูกพ่อแม่ทุบตีขู่จะฆ่าหากไม่ยอมแต่งงานกับนายภู ทำให้อำแดงเหมือนหนีไปหานายริดคนรักของตน และให้นายริดแต่งขันหมากมาขอขมาพ่อแม่ แต่เมื่อถึงเวลาจัดขันหมากมาขอขมากลับถูกนายภูแจ้งจับตัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าถ้าลูกสาวมีอายุที่จะมีสามีนั้น การแต่งงานต้องเป็นไปตามสมัครใจทั้งของชายและหญิง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯประกาศพระราชบัญญัติลักพา พ.ศ. 2408 โดยทรงสั่งห้ามพ่อแม่ขายลูก และทรงยกเลิกประเพณีคลุมถุงชน อีกกรณีหนึ่งคือ อำแดงจั่นได้ทูลเกล้าถวายฎีกาว่าถูกนายเอี่ยม สามีลักเอาชื่อตนไปขายโดยที่อำแดงจั่นไม่รู้เรื่องด้วย รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า “กฎหมายนี้พิเคราะห์ดูเหมือนผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน หาเป็นยุติธรรมไม่ให้ยกเสีย” แล้วจึงประกาศพระราชบัญญัติผัวขายเมีย พ.ศ. 2410 กฎหมายห้ามผู้ชายขายเมีย ถ้ากรณีต้องขายต้องให้เมียยินยอมก่อนจึงจะขายได้ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าจะไม่มีการออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับสตรีโดยตรง อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ทรงมีพระมเหสีและเจ้าจอมจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ในสมัยนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ทรงมีบทบาทในการจัดตั้งสถานศึกษาสำหรับสตรีรวมถึงสถานพยาบาลอันส่งผลให้สตรีชนชั้นนำได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีบทบาทต่อสังคมภายนอกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในระบบไพร่ทาสเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนวิถีชีวิต การยกเลิกระบบทาสทำให้หญิงจำนวนมากถูกปล่อยเป็นอิสระ การขาดแหล่งพักพิงทำให้มีการรวบรวมทาสหญิงแล้วตั้งเป็นซ่องโสเภณี นำไปสู่การออกพระราชบัญญัติสัญจรโรค รศ. 127 (พ.ศ. 2451) ซึ่งอนุญาตให้มีการค้าประเวณีในซ่องโสเภณีที่จดทะเบียนไว้กับทางราชการ ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้เล็กน้อย ศ.ดร.แคเธอรีน โบวี่ (Katherine Bowie) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ได้พบหลักฐานเอกสารสำคัญ “พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ในมาตรา 9 ที่ระบุแสดงให้เห็นว่า สตรีไทยได้สิทธิการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านมาพร้อมกับบุรุษอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเร็วกว่าประเทศในโลกตะวันตกที่ต้องผ่านการต่อสู้ของขบวนการสตรีอย่างยาวนานราว 30-40 ปี การศึกษาจำนวนมากจะอ้างว่าผู้หญิงในสมัยนี้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น จากวรรคทองที่ว่า "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" หรือจากประกาศพระราชบัญญัติลักพาที่ให้โอกาสผู้หญิงได้เลือกแต่งงานกับ ผู้ชายที่พึงพอใจกันได้เอง และประกาศพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร แต่นี่ก็จำกัดอยู่เพียงอิสรภาพของผู้หญิงชนชั้นล่างและผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ ในวงจรการเชื่อมโยงของกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น สิทธิเสรีภาพที่ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้รับจึงแทบจะไม่ได้สร้างความแตกต่างอย่าง ใดกับสถานภาพที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เลย เพราะผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นเป็นตัวค้ำจุนทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่ต้องออก ไปค้าขายในสังคมและมีอิสระที่จะตัดสินใจได้เองอยู่แล้ว รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานภาพของผู้หญิงได้รับการเน้นให้สำคัญยิ่งขึ้นในฐานะของเพื่อนคู่คิดและ ภรรยาที่สามารถช่วยเหลือสามีได้ เห็นได้ชัดในกรณีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถที่ได้เป็นผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวที่เสด็จประพาสยุโรป เช่นเดียวกับในหนังสือที่นิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง "คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ชีวประวัติของผู้หญิงทุกคนล้วนแล้วแต่ได้รับการเน้นในฐานะของภรรยาและมารดา และผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อชาติทั้งสิ้นจนแทบจะไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้โรงเรียนที่เปิดสอนให้กับผู้หญิงก็ได้ถูกริเริ่มขึ้นในสมัยนี้เช่น กัน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะฝึกฝนผู้หญิงให้มีความรู้ในการออกรับแขก เข้าสมาคม และการเป็นแม่บ้านแม่เรือน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468) ทรงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมสถานภาพสตรีไทยให้สูงกว่าแต่ก่อนมาก คือ นอกจากการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2464 เป็นการศึกษาภาคบังคับให้ทั้งเด็กชายหญิงอายุตั้งแต่ 7-14 ปี เข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนประชาบาล แล้วยังทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่ให้การศึกษาแก่ชายและหญิงโดยทั่วหน้ากันแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับสตรีไทยอีกหลายประการ คือ ทรงตั้งพระราชประสงค์ที่จะมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว และให้ข้าราชบริพารมีภรรยาคนเดียวเช่นกัน “มีผู้พูดกันอยู่หลายคนว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรจะใช้ธรรมเนียมมีเมียคนเดียว แต่ก็ดูไม่มีใครเต็มใจจะเป็นผู้เริ่มธรรมเนียมนั้นโดยเคร่งครัดเลย แม้ผู้ที่ไปเรียนยุโรปกลับมาก็มีเมียมากๆเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะหวังความเปลี่ยนแปลงจากคนพวกที่เรียกว่า “หัวนอก” อย่างไรก็ได้ ใครมีเมียคนเดียวออกจะถูกหาว่าเป็นคนโง่ซ้ำ การมีเมียหลายๆคนไม่ทำให้ต้องรับความเสื่อมเสียอย่างไรเลย ฉะนั้นจะมีหวังอยู่ก็แต่ที่ตัวผู้หญิงเองเท่านั้น ถ้าเมื่อไรผู้หญิงไทยดีๆ พร้อมใจกันตั้งกติกาไม่ยอมเป็นเมียคนที่เลี้ยงผู้หญิงไว้อย่างเลี้ยงไก่เป็นฝูงๆ เท่านั้นแหละ ผู้ชายพวกมักมากในกาม จึงจะต้องกลับความคิดและเปลี่ยนความประพฤติ” ข้อความที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ต่อการปฏิบัติของบุรุษต่อสตรีในครอบครัวและสังคม อาทิ การใช้ความรุนแรงต่อสตรีอันเนื่องมาจากการหึงหวง หรือความเชื่อทางศาสนา ทรงมีพระราชดำริว่า การที่ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนเป็นการดูหมิ่นสถานภาพของผู้หญิงอย่างมาก ในบทความเรื่อง “เครื่องหมายแห่งความรุ่งเรือง คือสภาพแห่งสตรี” โดยใช้พระนามแฝง “อัศวพาหุ” กล่าวถึง การที่จะแก้ไขสภาพสัตรีดีขึ้น ต้องแก้ทั้งประเพณีและกฎหมายแผ่นดิน “...ในคณะคนป่าหรือในคณะที่รุ่งเรืองกว่ามันก็ย่อมจะมีความเป็นอยู่เป็นไปเช่นเดียวกัน คือทั้งกฎหมาย แบบธรรมเนียม และประเพณีทั้งปวง ผู้ชายเป็นผู้บัญญัติขึ้น สำหรับความสะดวกของผู้ชายเท่านั้น” ข้อความข้างต้นแสดงถึงพระราชดำริของรัชกาลที่ 6 ต่อโครงสร้างทางสังคมและการปฏิบัติต่อสตรีในทางกฎหมายและเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ที่เน้นประโยชน์ของบุรุษผู้ถืออำนาจบริหารจัดการและปกครองสังคมเป็นสำคัญ พระองค์ทรงอธิบายโดยใช้ตัวอย่างที่ปรากฏในสังคมจากนานาประเทศ และยังทรงสนับสนุนให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพระองค์เองก็ไม่อาจปฏิบัติตามพระราชดำรินี้ได้ เพราะพระองค์ทรงมีพระมเหสีมากกว่าหนึ่งองค์เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะได้มีพระราชโอรสสืบราชสมบัติ นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ยังมีการประกาศกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชสำนักพระพุทธศักราช 2457 รวมถึงการออกพระราชบัญญัติการแต่งกายสตรีและคุณลักษณะเกี่ยวกับความงามของสตรีอีกด้วย ผู้หญิงในสมัยนี้จึงมีลักษณะภายนอกที่สอดคล้องกับค่านิยมตะวันตก คือสามารถสมาคมออกรับแขกได้ มีความรู้พื้นฐานมากพอที่จะรับฟังปัญหาของสามีได้ อันเนื่องมาจากบริบทของสยามเอง ที่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมแบบวิคตอเรียน การแสดงพระองค์ว่ามีความศิวิไลซ์เช่นเดียวกับฝรั่งของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการสร้างมาตรฐานของผู้หญิงให้ออก มาในลักษณะดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตามบทบาทของผู้หญิงได้เริ่มถูกจำกัดและลดทอนให้เหลือเพียงสถานะ ของภรรยา มารดา และผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อชาติไปโดยปริยายและในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครอบครัวเดี่ยวที่พระองค์พยายามจะเน้นมาตลอดทั้งรัชสมัยนั้นก็ทำให้ผู้หญิง กับผู้ชายมีหน้าที่ของตนเองทั้งสิ้น และหน้าที่ที่สำคัญที่สุดก็คือหน้าที่ต่อชาตินั่นเอง ในสมัยนี้ผู้หญิงได้รับการสนับสนุนให้ออกนอกบ้านมาทำงานทัดเทียมกับผู้ชาย มากขึ้น แม้ในตอนแรกจะจำกัดอยู่ในอาชีพที่ผู้หญิงมีทักษะมาก่อน เช่น นางพยาบาล ครู ช่างตัดเสื้อ แต่ต่อมาก็ได้เริ่มขยายอาชีพออกไปมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างไรก็ตามคุณลักษณะของผู้หญิงในสมัยนี้ได้ถูกเน้นให้เป็นผู้หญิงในแบบไทย ที่มีความเป็นกุลสตรีและยึดเอาธรรมะจากพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง วัฒนธรรมตะวันตกเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและไม่น่าเอาเยี่ยงอย่าง พระบรมราโชวาทและพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนแล้วแต่เน้นหน้าที่ต่อชาติโดย มีคุณธรรมและคุณลักษณะแบบไทยเป็นหลักนั่นเอง จะเห็นได้ว่าผู้หญิงที่ชาติต้องการจึงเป็นผู้หญิงในสถานะของ "ภรรยา" "มารดา” และผู้หญิงของชาติ ทั้งสิ้น แม้จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่เนื้อหาหลักล้วนสืบเนื่องต่อกันมา และผู้หญิงที่สามารถปฏิบัติตัวได้ตามนี้ก็ดูจะได้รับการยกย่องมาในทุกสมัย กรอบความคิดเช่นนี้ก็ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปมากเพียงใดก็ตาม แต่ความคิดเช่นนี้ก็ได้รับการตอกย้ำอยู่เสมอมา ผู้หญิงไทยจำนวนมากจึงมุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่ ในด้านของการประสบความสำเร็จของผู้หญิงในสถานภาพของภรรยาและมารดานั้น ความเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่สามารถจัดการงานภายในบ้านให้เรียบร้อยที่เคยชื่น ชมกันมาในยุคก่อนหน้า ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชายที่จะใช้เลือกผู้หญิงมาเป็นคู่ชีวิตได้ อีกต่อไปในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ผู้ชายและผู้หญิงต่างก็ออกมาทำงานนอกบ้าน ด้วยกันทั้งคู่ "ความสวยความงาม" จึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนพยายามจะไขว่คว้า ไม่ว่าจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมายเพียงใดที่เริ่มตั้งแต่ศีรษะจรดปลาย เท้า ก็ดูจะไม่มีผู้หญิงคนใดยอมแพ้กับอุปสรรคดังกล่าว จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เราจะเห็นพวกเธอเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตัวเองไป ตามที่สมัยนิยมตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องมาจาก "ต้นทุน" ของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ต่างจากกลุ่มชนชั้นสูงในอดีต ที่มีทั้งต้นทุนทางสังคม สถานภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และยังรวมไปถึงทรัพย์สินจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน ชนชั้นกลางที่ปราศจากมรดก สินทรัพย์ที่ดิน และไม่มีสายตระกูลที่สามารถนับขึ้นไปได้หลายสิบหรือหลายร้อยปี จึงมีแต่ต้นทุนทางร่างกายเท่านั้นที่เป็นแรงดึงดูดสำคัญต่อเพศตรงข้าม กล่าวโดยสรุปแล้ว ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จนถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพสตรี และสะท้อนที่มาของกฎหมายซึ่งเปลี่ยนไปจากแนวคิดดั้งเดิม ทำให้เห็นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้พระราชอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมายเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปสังคมไทยให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การรวมกลุ่มกันของผู้หญิงเพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อันเป็นจุดหักเหสำคัญจุดหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งสภาพความเป็นจริงในระบอบประชาธิปไตยและความเสมอภาคเท่าเทียมของบุคคลทั้งชายและหญิง ในช่วงบั้นปลายของสมัยรัชกาลที่ 7 ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และช่วงเปลี่ยนผ่านของระบอบประชาธิปไตยในสยาม สตรีที่มีการศึกษาใช้พื้นที่สื่อสิ่งพิมพ์สร้างพื้นที่ท้าทายอำนาจที่กดขี่พวกเธอทั้งทางการเมืองและสถานภาพทางเพศของผู้หญิง ดังปรากฎในตัวอย่างงานเขียนของสตรีในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง เช่น นางสาวอนงค์ บุนนาค เธอได้เขียนอธิบายรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส เดนมาร์ก รัสเซีย จีนและสยาม โดยการเสนอเป็นตารางแบ่งออกเป็นราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐ นับเป็นความก้าวหน้าทางการเมืองของสตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านประการหนึ่ง แม้ว่าเธอจะได้ลงชื่อเป็นตัวแทนรับสมัครเลือกตั้งจากจังหวัดธนบุรีในขณะนั้น (ช่วงวันที่ 6 ตุลาคม 2476) แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้งก็ตาม แต่นับเป็นก้าวแรกของสตรีด้านการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 7

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...