ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี : พระคู่ขวัญองค์ประชาธิปกในต่างแดน

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในทุกครั้ง จะมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยเสด็จเคียงพระองค์ด้วยเสมอ การเสด็จเยือนดินแดนแห่งแรกของทั้งสองพระองค์ คือ สิงคโปร์ เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ตามด้วยเกาะชวา และเกาะบาหลีที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ในปีพ.ศ. 2472 แห่งที่สองคือ อินโดจีนอาณานิคมของฝรั่งเศสเฉพาะ เวียดนามและกัมพูชา ในปีพ.ศ. 2473 และแห่งที่สามคือ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในปีพ.ศ. 2474 และครั้งที่สี่ คือการเสด็จประพาสยุโรปในพ.ศ. 2476-2477 เกร็ดประวัติศาสตร์จากหนังสือพิมพ์ที่ผู้เขียนจะเล่าสู่กันฟัง คือจากการเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดาและญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2473 ถึง 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 เป็นเวลานานถึง 7 เดือน ในช่วงเวลานั้นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 27 พรรษาเท่านั้น นักหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ (New York Times) ชื่อ นายแฮโรลด์ เอ็น. เดนนี (Harold N. Dennys กล่าวถึงพระองค์พระอิริยาบถของพระองค์ไว้ว่า “ทรงมีพระอิริยาบถที่งามสง่าแฝงไว้ด้วยความเอียงอายในที ฉลองพระองค์ชุดผ้าไหมสีน้ำตาลอ่อน พระภูษายาวฉลองพระองค์แจ๊คแก็ตสั้น พระองค์ทรงได้รับการกล่าวถึงว่าทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งพระองค์หนึ่งในบรรดาสตรีในโลกตะวันออกและยิ่งกว่านั้นทรงงามพร้อมอย่างมีเสน่ห์” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่นายแฮโรลด์ เอ็น.เดนนี ด้วยเช่นกันว่า “สตรีในประเทศสยามนอกจากจะมีเสรีภาพ มิได้ถูกกีดกันให้อยู่ในบ้านดังเช่นสตรีในหลายประเทศทางตะวันออกอยู่แล้ว ยังได้รับแบบอย่างการแต่งกายแบบยุโรป และพากันไว้ทรงผมบ๊อบ ซึ่งทรงแสดงความรู้สึกว่า ‘ก็ดูงามดี’และสตรีสยามบางคนกำลังศึกษาวิชาแพทย์อยู่ในกรุงเทพฯด้วย” การเสด็จประพาสครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญครั้งแรกทำให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯเสด็จออกแทนพระองค์ให้คณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาเข้าเฝ้าในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรไข้หลอดลมอักเสบ ผู้สื่อข่าวหญิงชื่อ ดอรอธี แบรนดอน ผู้เคยทำงานกับหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ของกรมพระคลังข้างที่ของสยาม รายงานว่า “สมเด็จพระบรมราชินีแห่งสยามประเทศทรงเป็นศูนย์กลางความสนใจและตกตะลึงของบรรดาผู้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ในฉลองพระองค์สีเทาอ่อนคลุมด้วยเขาสัตว์ ทรงพระดำเนินอย่างราบเรียบขึ้นบันไดกว้างของเรือเอมเปรสออฟแจแปนมาเพื่อให้ผู้คนจำนวนร้อยได้เฝ้าฯ ตามระเบียงและห้องโถงซึ่งเป็นทางผ่านเข้าไปยังห้องรับรองสีทองกับแดงชาดอันหรูหรา บนพระดัชนี (นิ้วมือ) พระธำมรงค์เม็ดเดียวส่องประกายอยู่ พระอุระ(หน้าอก) ประดับด้วยเข็มกลัดฝังเพชรหลายเม็ด ไม่มีเพชรนิลจินดาเครื่องประดับอื่นใดเลยสมกับที่ทรงมีพระราชนิยมในความพอเหมาะพอควรมาตลอด และแน่นอนว่า ทรงแย้มพระสรวล...พระอิริยาบถไม่แสดงการกระดากอายแม้แต่น้อย แม้ว่าแท้จริงแล้วสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะขี้อาย ทรงพระดำเนินตรงไปยังข้าราชการชาวแคนาดาผู้แต่งเครื่องแบบสีทองกับแดงเข้มซึ่งยืนสง่าอยู่เป็นแถว ตากล้องกดชัดเตอร์เปิดแฟลชส่องแสงแววาว สมเด็จฯมิได้ทรงสะทกสะท้านแต่อย่างใด กลับทรงพระดำเนินต่อไปอย่างงามสง่า...” สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อย่างสง่างามในพระราชสถานะพระบรมราชินี เนื่องจากพระองค์ทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้ดีมาก รวมถึงภาษาฝรั่งเศสด้วยพระราชอัธยาศัยยิ้มแย้มและนุ่มนวล อีกสองวันต่อมา ผู้สื่อข่าวหญิงคนเดียวกันนั้นได้รายงานในหนังสือพิมพ์อเมริกันว่า สมเด็จพระราชินีทรงเป็น “สตรีที่สวยที่สุดในโลก”

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...